หลักสากลในการดำเนินคดีต่อเด็กและเยาวชน

ภาสกร ญี่นาง

.

การปกป้องคุ้มครองสิทธิในกระบวนการยุติธรรมของประชาชน ถือเป็นหลักการพื้นฐานที่รัฐควรยึดถือและปฏิบัติให้เกิดขึ้นจริง เพื่อป้องกันการใช้อำนาจตามอำเภอใจของผู้บังคับใช้กฎหมายและเป็นหลักประกันสิทธิเสรีภาพของประชาชน ผู้มีอำนาจจะบังคับใช้กฎหมายหรือใช้อำนาจต่อพลเมืองในเรื่องใดๆ ก็ตาม ต้องปฏิบัติตามกฎหมายที่เป็นบรรทัดฐานไว้แล้วอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปฏิบัติต่อประชากรกลุ่มเปราะบางอย่างเด็กและเยาวชน ไม่ว่าจะเป็นผู้เสียหายหรือผู้ต้องหา เจ้าหน้าที่รัฐจะต้องปฏิบัติในรูปแบบที่พิเศษแตกต่างจากการดำเนินการต่อกลุ่มคนทั่วไป และคำนึงถึงผลประโยชน์ของเด็กและเยาวชนเป็นสำคัญ

เนื้อหาในบทความนี้จะพยายามอภิปรายถึงสิทธิของผู้ต้องหาซึ่งเป็นเด็กและเยาวชนในกระบวนการยุติธรรมตามมาตรฐานในกฎหมายระหว่างประเทศว่ามีอยู่อย่างไรบ้าง

.

สำหรับกฎหมายระหว่างประเทศ ที่กำหนดพันธกรณีแก่รัฐไทยให้ต้องคุ้มครองเด็กและเยาวชนระหว่างการดำเนินกระบวนการยุติธรรมบนฐานของการคำนึงถึงผลประโยชน์และความเปราะบางจากการเป็นเด็กและเยาวชนเป็นสำคัญ ประกอบไปด้วย

1) กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR)

สิทธิในกระบวนการยุติธรรมของเด็กและเยาวชน กำหนดไว้อย่างชัดเจนตามบทบัญญัติข้อ 10 ที่กำหนดว่า บุคคลทั้งปวงที่ถูกลิดรอนเสรีภาพต้องได้รับการปฏิบัติด้วยความมีมนุษยธรรม และความเคารพในศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ตั้งแต่กำหนด การดำเนินกระบวนการยุติธรรมแยกผู้ต้องหาที่เป็นเด็กและเยาวชนออกจากผู้ต้องหาที่เป็นผู้ใหญ่ และให้ตัวขึ้นพิจารณาพิพากษาคดีให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ ขณะเดียวกันระบบราชทัณฑ์ต้องปฏิบัติต่อเด็กและเยาวชนให้เหมาะสมกับวัยและสถานะทางกฎหมาย

นอกจากนี้ ในข้อ 14 (1) และ (4) ยังกำหนดให้ การดำเนินคดีอาญาทั้งปวงที่ต้องดำเนินคดีโดยเปิดเผย เว้นแต่จะมีความจำเป็นเพื่อประโยชน์ของเด็กและเยาวชน ก็อาจดำเนินการเป็นการลับได้ อีกทั้ง กรณีบุคคลที่เป็นเด็กหรือเยาวชน วิธีพิจารณาความที่ดำเนินไปต้องคำนึงถึงอายุและความปรารถนาที่จะส่งเสริมการแก้ไขฟื้นฟูความประพฤติของบุคคลนั้นเป็นสำคัญ

.

สรุปเนื้อหาอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก โดย UNICEF

.

2) อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก

เด็กทุกคนต้องได้รับการคุ้มครองโดยปราศจากการเลือกปฏิบัติและผลประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นสิ่งที่รัฐต้องคำนึงถึงเป็นลำดับแรกเสมอ

อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก นิยามให้ “เด็ก” หมายถึงมนุษย์ทุกคนที่อายุต่ำกว่า 18 ปี เว้นแต่จะบรรลุนิติภาวะก่อนหน้านั้นตามกฎหมายของประเทศ เด็กและเยาวชนแต่ละคนจะต้องได้รับประกันสิทธิตามที่ระบุไว้ในอนุสัญญาฉบับนี้ โดยปราศจากการเลือกปฏิบัติอันเนื่องจากความแตกต่างด้านเชื้อชาติ สีผิว เพศ ภาษา ศาสนา ความคิดเห็นทางการเมืองหรือทางอื่นๆ

ในเรื่องสิทธิในกระบวนการยุติธรรม บทบัญญัติข้อ 3 กำหนดว่า การกระทำทั้งปวงที่เกี่ยวกับเด็ก ไม่ว่าจะกระทำโดยสถาบันสังคมสงเคราะห์ของรัฐหรือเอกชน ศาลยุติธรรม หน่วยงานฝ่ายบริหาร หรือองค์กรนิติบัญญัติ ผลประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นสิ่งที่รัฐต้องคำนึงถึงเป็นลำดับแรกเสมอ ซึ่งหมายความว่า ไม่ว่ากฎหมายหรือกฎเกณฑ์ของรัฐจะบุไว้เช่นไร แต่หน้าที่ที่สำคัญที่สุดของรัฐภายใต้อนุสัญญานี้ ก็คือ การต้องคำนึงถึงประโยชน์ของเด็กเป็นสำคัญ

.

การลิดรอนเสรีภาพเด็กด้วยกระบวนการทางกฎหมายต้องเป็นไปโดยเหมาะสมและเป็นมาตรการสุดท้ายที่รัฐจะนำมาใช้

ขณะเดียวกัน รัฐภาคีต้องประกันว่า[1] จะไม่มีเด็กคนใดถูกทรมาน หรือถูกปฏิบัติหรือลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือต่ำช้า จะต้องไม่มีการลงโทษประหารชีวิตหรือจำคุกตลอดชีวิตบุคคลที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี การรลิดรอนเสรีภาพโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือโดยพลการ เป็นเรื่องที่ไม่อาจยอมรับได้ การจับกุม กักขังหรือจำคุกเด็กต้องเป็นไปตามกฎหมายซึ่งแตกต่างจากผู้ใหญ่ พร้อมกับต้องได้รับการปฏิบัติด้วยมนุษยธรรมและด้วยความเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ การลิดรอนเสรีภาพเด็กต้องเป็นมาตรการสุดท้ายเท่านั้น และให้มีระยะเวลาที่สั้นที่สุดอย่างเหมาะสม

เด็กทุกคนถูกลิดรอนเสรีภาพล้วนมีสิทธิที่จะขอความช่วยเหลือทางกฎหมาย หรือทางอื่นที่เหมาะสมโดยทันที ตลอดจนมีสิทธิที่จะคัดค้านความชอบด้วยกฎหมายของการลิดรอนเสรีภาพต่อศาล หรือหน่วยงานที่มีอำนาจอื่นที่เป็นอิสระและเป็นกลาง

.

การดำเนินคดีอาญาต่อเด็กต้องเน้นการแก้ไขฟื้นฟู

การเป็นรัฐภาคีในอนุสัญญาฯ รัฐนั้นต้องยอมรับสิทธิของเด็กและเยาวชนทุกคนที่ถูกกล่าวหา ตั้งข้อหา หรือถูกถือได้ว่าฝ่าฝืนกฎหมายอาญา ในการได้รับการปฏิบัติที่สอดคล้องกับการส่งเสริมสำนึกในศักดิ์ศรีและคุณค่าของเด็ก ซึ่งจะเสริมให้เด็กเคารพต่อสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของบุคคลอื่น ในลักษณะที่ต้องคำนึงถึงอายุของเด็กและความปรารถนาที่จะส่งเสริมการกลับคืนสู่สังคม และการมีบทบาทเชิงสร้างสรรค์ของเด็กในสังคม[2]

ขณะเดียวกัน รัฐต้องจัดให้มีหน่วยงาน ตรากฎหมาย และกำหนดกระบวนการพิจารณาที่จะใช้เป็นการเฉพาะกับเด็กที่ถูกกล่าวหา ตั้งข้อหา หรือถูกถือว่าได้ฝ่าฝืนกฎหมายอาญา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกำหนดอายุขั้นต่ำ ซึ่งเด็กที่มีอายุต่ำกว่านั้นจะถูกถือว่าไม่มีความสามารถที่จะฝ่าฝืนกฎหมายอาญาได้ และเมื่อเห็นว่าเหมาะสมหรือเป็นที่พึงปรารถนา รัฐต้องกำหนดมาตรการที่จะใช้กับเด็กเหล่านั้นโดยไม่ต้องอาศัยกระบวนการทางตุลาการ โดยมีเงื่อนไขว่าสิทธิมนุษยชนและการคุ้มครองตามกฎหมาย จะได้รับการเคารพอย่างเต็มที่อยู่

.

เด็กต้องได้รับการประสิทธิในกระบวนการอันชอบธรรมของกฎหมาย (Due process of Law)

เด็กและเยาวชนทุกคนที่ถูกกล่าวหาหรือตั้งข้อหาว่าได้ฝ่าฝืนกฎหมายที่มีโทษทางอาญา รัฐมีหน้าที่ในการทำให้แน่ใจและมีหลักประกันได้ว่า[3]

  • เด็กทุกคนได้รับการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์ จนกว่าจะได้รับการพิสูจน์จนสิ้นข้อสงสัยว่าทำผิดกฎหมาย
  • ได้รับการแจ้งข้อหาทันทีโดยตรง และเหมาะสม ผ่านบิดามารดาหรือผู้ปกครองตามกฎหมาย และจะได้รับความช่วยเหลือทางกฎหมายหรือทางอื่นที่เหมาะสมเพื่อการตระเตรียมและการสู้คดีของเด็ก
  • ได้รับการตัดสินโดยไม่ชักช้า โดยหน่วยงานหรือองค์กรทางตุลาการที่มีอำนาจเป็นอิสระและเป็นกลาง ในการพิจารณาความอย่างยุติธรรมตามกฎหมาย ทั้งนี้ ให้มีความช่วยเหลือทางกฎหมายหรือทางอื่นที่เหมาะสม เว้นเสียแต่เมื่อพิจารณาแล้วเห็นว่า ไม่เป็นประโยชน์สูงสุดต่อเด็ก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อคำนึงถึงอายุของเด็กหรือสถานการณ์บิดามารดาหรือผู้ปกครองตามกฎหมาย
  • เด็กจะไม่ถูกบังคับให้เบิกความหรือสารภาพผิด และยังสามารถซักถามซักค้านพยานและให้พยานของตนเข้ามามีส่วนร่วม และให้มีการซักถามพยานแทนตนภายใต้เงื่อนไขแห่งความเท่าเทียมกัน
  • หากพิจารณาได้ว่าได้มีการฝ่าฝืนกฎหมายอาญา ก็ให้การวินิจฉัยหรือมาตรการใดที่กำหนดโดยผลของการวินิจฉัยนั้น ได้รับการทบทวนโดยหน่วยงานหรือองค์กรทางตุลาการที่มีอำนาจเป็นอิสระและเป็นกลางในระดับสูงขึ้นไป
  • รัฐต้องให้ความช่วยเหลือของล่ามแปลภาษา โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย หากเด็กไม่สามารถเข้าใจหรือพูดภาษาที่ใช้อยู่ได้
  • ในทุกขั้นตอนของกระบวนการพิจารณา ให้เคารพต่อเรื่องส่วนตัวของเด็กอย่างเต็มที่

.

.

3) กฎมาตรฐานขั้นต่ำขององค์การสหประชาชาติว่าด้วยการบริหารกระบวนการยุติธรรมสำหรับเยาวชน ค.ศ. 1985 (พ.ศ. 2528) หรือกฎแห่งกรุงปักกิ่ง

กฎดังกล่าว มีแนวความคิดพื้นฐานที่ต้องการให้ประเทศสมาชิกสหประชาชาติ ควรส่งเสริมความเป็นอยู่ของเด็กและเยาวชนพร้อมทั้งครอบครัวให้ดียิ่งขึ้น กระบวนการยุติธรรมเกี่ยวกับคดีเด็กและเยาวชนเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในกระบวนการพัฒนาชาติของแต่ละประเทศ ขณะเดียวกัน รัฐควรจัดให้มีนโยบายทางสังคมโดยรวม ที่มุ่งสร้างสวัสดิการแก่เด็กและเยาวชนให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อลดความเสี่ยงในการตัดสินใจก่ออาชญากรรมของเด็กและเยาวชน ซึ่งส่งผลทำให้การใช้ระบบความยุติธรรมเกี่ยวกับคดีเด็กมีความจำเป็นน้อยลงตามไปด้วย[4]

มาตรฐานขั้นต่ำในการบริหารกระบวนการยุติธรรมสำหรับเด็กและเยาวชน สามารถอภิปรายให้เห็นสาระสำคัญ พอสังเขปได้ดังนี้

หลักความได้สัดส่วนเป็นหลักการสำคัญในกระบวนการยุติธรรมคดีเด็กและเยาวชน

จุดมุ่งหมายของกฎนี้ คือ[5] การส่งเสริมระบบความยุติธรรมเกี่ยวกับคดีเด็กและเยาวชนให้มุ่งเน้นถึงความเป็นอยู่ที่ดีของเด็กและเยาวชนและให้เกิดความมั่นใจว่าการปฏิบัติหรือการบังคับใช้กฎหมายต่อผู้กระทำผิดที่เป็นเด็กและเยาวชนจะได้สัดส่วนกับสภาพแวดล้อม ทั้งของผู้กระทำผิดและความผิดที่ได้กระทำลง

หลักการเรื่องการได้สัดส่วน ในที่นี้ หมายถึง การปฏิบัติต่อผู้กระทำความผิดที่เป็นเด็กและเยาวชนนั้นมิใช่พิจารณาแต่ความรุนแรงของความผิดเท่านั้น แต่จะต้องพิจารณาถึงสภาพแวดล้อมรอบตัวของผู้กระทำความผิดด้วย ซึ่งต้องมองไปถึงรายละเอียดเฉพาะตัวของผู้กระทำความผิดแต่ละบุคคล เช่น สถานภาพทางสังคม สภาพครอบครัว ความเสื่อมเสียที่เกิดจากการรบกวนสิทธิส่วนบุคคล และการกระทำบางอย่างที่มุ่งในการบรรเทาความเสียหายก็ควรถูกนำไปพิจารณาด้วย เช่น เรื่องความพยายามของผู้กระทำความผิดในการชดใช้ค่าเสียหาย หรือเรื่องความตั้งใจจริงของผู้กระทำความผิดที่จะกลับตนเป็นคนดีและใช้ชีวิตอย่างมีประโยชน์ต่อส่วนรวม เป็นต้น

ขณะเดียวกัน ในเรื่องขอบเขตการใช้ดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่รัฐเกี่ยวกับคดีเด็กและเยาวชน กระบวนการยุติธรรมคดีเด็กและเยาวชนควรเปิดโอกาสให้มีการใช้ดุลยพินิจอย่างเหมาะสม เพื่อผลประโยชน์ของเด็กและเยาวชน และเป็นไปตามกรอบมนุษยธรรม การปฏิบัติหน้าที่ ควรเป็นอำนาจหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญ และได้รับการอบรม ฝึกฝน ในการพิจารณาการใช้ดุลยพินิจในเรื่องเหล่านั้น เช่น นักสังคมสงเคราะห์ นักจิตวิทยาเด็ก เป็นต้น[6]

.

สิทธิในการกระบวนการยุติธรรมอันชอบธรรมต้องได้รับการคุ้มครอง

กฎมาตรฐานขั้นต่ำขององค์การสหประชาชาติว่าด้วยการบริหารกระบวนการยุติธรรมสำหรับเยาวชน เน้นย้ำให้รัฐทุกรัฐต้องทำให้แน่ใจได้ว่า ทุกขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรม สิทธิขั้นมูลฐานทั้งหลายจะต้องได้รับการคุ้มครอง เช่น สิทธิในการได้รับการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ สิทธิที่จะได้รับการแจ้งข้อหา สิทธิที่จะไม่ให้คำให้การในชั้นสอบสวน สิทธิที่จะได้รับคำปรึกษา สิทธิที่จะให้บิดามารดาหรือผู้ปกครองอยู่ร่วมด้วยขณะดำเนินกระบวนการยุติธรรม สิทธิที่จะต้องสู้คดี ซักค้านพยาน รวมทั้งสิทธิที่จะอุทธรณ์[7]

และในตลอดกระบวนการ รัฐจะต้องเคารพสิทธิความเป็นส่วนตัวของเด็กและเยาวชนที่ตกเป็นผู้ต้องหาทุกคน[8] เพื่อหลีกเลี่ยงความเสียหายที่จะเกิดขึ้น อันเนื่องมาจากการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารอย่างไม่ถูกต้อง หรือจากกระบวนการตีตราที่อาจเป็นการสร้างตราบาป

.

การจับกุมเด็กและเยาวชนต้องแจ้งบิดามารดาหรือผู้ปกครองให้ทราบทันที [9]

การจับกุมเด็กและเยาวชนที่ต้องหาว่ากระทำความผิด เจ้าหน้าที่รัฐมีหน้าที่ต้องแจ้งกับบิดามารดาหรือผู้ปกครองให้ทราบทันที หรือโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ ขณะที่ผู้พิพากษาหรือเจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจ ควรรีบรับพิจารณาเรื่องปล่อยตัวชั่วคราวโดยชักช้า

การติดต่อระหว่างหน่วยงานที่บังคับใช้กฎหมายและผู้กระทำความผิดที่เป็นเด็กและเยาวชน ควรจัดให้อยู่ในลักษณะของการเคารพสถานภาพทางกฎหมาย ส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดี และหลีกเลี่ยงความเสื่อมเสียหรือความเสียหายที่อาจเกิดแก่ผู้ถูกจับซึ่งเป็นเด็กและเยาวชน ตั้งแต่ในขั้นตอนแรกของกระบวรการพิจารณาคดี ทั้งนี้ การสร้างความเสื่อมเสียหรือความเสียหายเพิ่มเติม อาจส่งผลร้ายต่อตัวเยาวชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งทัศนคติที่จะมองสังคมและรัฐในแง่ลบ

.

การควบคุมตัวต้องเป็นมาตรการสุดท้ายและต้องควบคุมโดยใช้เวลาน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ [10]

การควบคุมตัวเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพของเด็กและเยาวชนที่สุ่มเสี่ยงที่จะเกินสัดส่วนและกระทบกระเทือนต่อหลักการปฏิบัติบนฐานเรื่องมนุษยธรรมตามสถานภาพของเด็ก ดังนั้น การควบคุมตัวควรเป็นมาตรการสุดท้ายและต้องควบคุมโดยใช้เวลาน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ และหากเป็นไปได้ รัฐควรใช้มาตรการอื่นแทนการควบคุมตัวไว้พิจารณาคดี เช่น การสอดส่องอย่างใกล้ชิด การดูแลที่เพิ่มขึ้น หรือให้อยู่กับบ้าน สถานศึกษาหรืออยู่กับครอบครัว

การควบคุมตัวเด็กและเยาวชนต้องแยกออกจากผู้ใหญ่ และจะต้องได้รับการเอาใจใส่ ได้รับความคุ้มครอง รวมถึงความช่วยเหลือที่จำเป็นด้านสังคม การศึกษา การงาน จิตใจ ร่างกาย และยารักษาโรค ซึ่งเป็นไปตามความต้องการตามอายุ เพศ และบุคลิกภาพ

.

แนวทางการดำเนินคดีเด็กและเยาวชนต้องกำหนดไว้เป็นการเฉพาะ

ผู้มีอำนาจบังคับใช้กฎหมาย ต้องได้รับการแนะนำให้ดำเนินคดีตามหลักการ ต่อไปนี้[11]

  • มาตรการการลงโทษและความผิดที่กระทำลงต้องได้สัดส่วนกันเสมอ ไม่เพียงแต่ได้สัดส่วนกับสภาพและความรุนแรงของความผิดเท่านั้น แต่จะต้องได้สัดส่วนกับสภาพและความต้องการของเด็ก เยาวชน และสังคมโดยรวม
  • การจำกัดสิทธิเสรีภาพหรืออิสรภาพของเด็กและเยาวชนควรกำหนดขึ้นหลังจากที่มีการพิจารณาอย่างถี่ถ้วนและควรจะจำกัดให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้
  • ไม่ควรมีการลงโทษหรือมาตรการจำกัดอิสรภาพของบุคคล เว้นแต่เด็กและเยาวชนจะต้องคดีที่ได้กระทำความรุนแรงเกี่ยวกับกรณีทำร้ายผู้อื่น หรือกระทำผิดร้ายแรงเป็นอาจิณ และปรากฏพฤติการณ์ว่าไม่มีหนทางแก้ไขด้วยวิธีอื่นที่เหมาะสม
  • ในการพิจารณาคดีเด็กและเยาวชน ปัจจัยชี้นำ คือ ผลประโยชน์สูงสุดของเด็ก

นอกจากนี้ ต้องไม่มีการกำหนดโทษประหารชีวิตสำหรับอาชญากรรมใดๆ ก็ตามที่กระทำโดยเด็กและเยาวชน รวมถึงการลงโทษที่เป็นการทำร้ายร่างกาย และขณะเดียวกันผู้มีอำนาจควรมีอำนาจในการยุติการดำเนินคดีเมื่อไหร่ก็ได้ หากเห็นว่าการดำเนินคดีจะส่งผลเสียแก่ตัวเด็กมากเกินสัดส่วนและความจำเป็น

.

การดำเนินคดีต้องหลีกเลี่ยงความล่าช้าอันไม่จำเป็น [12]

การดำเนินคดีเด็กและเยาวชนอย่างรวดเร็วตามกระบวนการยุติธรรมอันชอบธรรมและเป็นไปตามกฎหมายกำหนด เป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด เพราะต้องตระหนักอยู่เสมอว่า เวลาที่ผ่านไป เด็กและเยาวชนที่ต้องอยู่ในกระบวนการ อาจต้องเผชิญหน้ากับความยากลำบากเพิ่มขึ้นทุกชั่วขณะ ซึ่งอาจส่งผลเสียต่อด้านความคิดและจิตใจอย่างมีนัยสำคัญ

.

ประวัติของผู้กระทำความผิดที่เป็นเด็กต้องเป็นความลับ [13]

ประวัติการกระทำความผิดหรือประวัติอาชญากรรมที่บุคคลเคยได้กระทำความผิดขณะเป็นเด็ก ควรเก็บไว้เป็นความลับอย่างเข้มงวด ต้องไม่มีการเปิดเผยต่อบุคคลอื่น ผู้ที่รู้ประวัติเหล่านี้ควรได้แก่ผู้ที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการวางข้อกำหนดหรือทิศทางของคดีนั้นๆ ที่สำคัญ ประวัติความผิดของผู้กระทำความผิดขณะเป็นเด็ก ไม่ควรถูกใช้ในขั้นตอนการดำเนินคดีสำหรับบุคคลคนเดียวกันที่กระทำความผิดเมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่

.

ทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้น เป็นมาตรฐานสากลที่กำหนดกระบวนการขั้นตอนที่เหมาะสม สำหรับการดำเนินกระบวนการยุติธรรมที่มีเด็กและเยาวชนเป็นผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดี ซึ่งจะเห็นว่า เนื้อหาสาระสำคัญอยู่ที่การพยายามนำเครื่องมือทางกฎหมาย มาเป็นสิ่งที่ใช้ในการฟื้นฟูเยียวยา และแก้ไขจากเด็กที่เคยกระทำความผิดให้กลับกลายเป็นที่สามารถอยู่ร่วมกับสังคมโดยทั่วไปได้ การลงโทษและการจำกัดสิทธิเสรีภาพเป็นสิ่งควรต้องหลีกเลี่ยงให้ได้มากที่สุด มิฉะนั้น อาจส่งผลให้เด็กและเยาวชน เกิดความโกรธแค้นหรือมีทัศนคติต่อต้านสังคมและรัฐ จนสุ่มเสี่ยงที่จะมีการกระทำความผิดซ้ำในภายภาคหน้า

กล่าวอีกนัยหนึ่ง การดำเนินคดีอาญาที่เด็กเป็นผู้กระทำความผิดต้องได้รับการปฏิบัติเป็นพิเศษ โดยมีหลักการว่าเด็กควรได้รับการดูแลด้วยความเมตตาและได้รับการบำบัดแก้ไขจิตใจมากกว่าการลงโทษโดยการจำคุก

นอกจากนี้ หัวใจสำคัญที่กรอบมาตรการสากลพยายามเน้นย้ำให้เห็น คือ การที่รัฐและผู้มีอำนาจ รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีหน้าที่จำต้องคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของเด็กและเยาวชน ระหว่างการดำเนินกระบวนการพิจารณาคดีในทุกขั้นตอน

หันมองกลับมายังรัฐไทย จะพบว่า ได้มีการตรากฎหมายเพื่อการคุ้มครองสิทธิเด็กและเยาวชนอยู่เป็นจำนวนมาก กระจัดกระจายอยู่ในกฎหมายหลายฉบับ ซึ่งแต่ละฉบับล้วนอยู่ภายใต้เจตนารมณ์ในการปกป้องคุ้มครองสิทธิของเด็กและเยาวชนตามกรอบมาตรฐานสากลที่รัฐไทยมีพันธกรณีต้องปฏิบัติตาม อย่างไรก็ตาม รัฐไทยยังต้องเผชิญกับอุปสรรคและปัญหาหลายอย่างที่ทำให้การทำงานคุ้มครองสิทธิเด็กและเยาวชนในรัฐไทยขาดความเป็นหนึ่งเดียว ผู้คนในสังคมบางส่วนยังขาดความรู้ความเข้าใจเรื่องของความจำเป็นในการคุ้มครองสิทธิเด็ก จนออกวิพากษ์วิจารณ์อยู่บ้างว่า กฎหมายมุ่งคุ้มครองสิทธิเด็กมากเกินไป และในทางปฏิบัติ เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีอาญาต่อเด็กและเยาวชนยังคงขาดความชัดเจน ซึ่งประเด็นเหล่านี้ ก็จะได้อภิปรายถึงในบทความชิ้นถัดไป

.


อ้างอิงท้ายบทความ

[1] อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ข้อ 37

[2] อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ข้อ 40

[3] อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ข้อ 40 (2)(b)

[4] กฎมาตรฐานขั้นต่ำขององค์การสหประชาชาติว่าด้วยการบริหารกระบวนการยุติธรรมสำหรับเยาวชน ค.ศ.1985 ข้อ 1

[5] กฎมาตรฐานขั้นต่ำขององค์การสหประชาชาติว่าด้วยการบริหารกระบวนการยุติธรรมสำหรับเยาวชน ค.ศ.1985 ข้อ 5

[6] กฎมาตรฐานขั้นต่ำขององค์การสหประชาชาติว่าด้วยการบริหารกระบวนการยุติธรรมสำหรับเยาวชน ค.ศ.1985 ข้อ 6

[7] กฎมาตรฐานขั้นต่ำขององค์การสหประชาชาติว่าด้วยการบริหารกระบวนการยุติธรรมสำหรับเยาวชน ค.ศ.1985 ข้อ 7

[8] กฎมาตรฐานขั้นต่ำขององค์การสหประชาชาติว่าด้วยการบริหารกระบวนการยุติธรรมสำหรับเยาวชน ค.ศ.1985 ข้อ 8

[9] กฎมาตรฐานขั้นต่ำขององค์การสหประชาชาติว่าด้วยการบริหารกระบวนการยุติธรรมสำหรับเยาวชน ค.ศ.1985 ข้อ 10

[10] กฎมาตรฐานขั้นต่ำขององค์การสหประชาชาติว่าด้วยการบริหารกระบวนการยุติธรรมสำหรับเยาวชน ค.ศ.1985 ข้อ 13

[11] กฎมาตรฐานขั้นต่ำขององค์การสหประชาชาติว่าด้วยการบริหารกระบวนการยุติธรรมสำหรับเยาวชน ค.ศ.1985 ข้อ 17

[12] กฎมาตรฐานขั้นต่ำขององค์การสหประชาชาติว่าด้วยการบริหารกระบวนการยุติธรรมสำหรับเยาวชน ค.ศ.1985 ข้อ 20

[13] กฎมาตรฐานขั้นต่ำขององค์การสหประชาชาติว่าด้วยการบริหารกระบวนการยุติธรรมสำหรับเยาวชน ค.ศ.1985 ข้อ 21

.

X