“ธนกร” ให้การคดี #ม็อบ1พฤศจิกา การดำเนินคดีกับ “เยาวชน” ขัดอนุสัญญาสิทธิเด็ก “อย่างร้ายแรง”

วันนี้ (14 มิถุนายน 2564) เวลา 09.00 น. ศาลเยาวชนและครอบครัวกลางนัดพร้อมสอบคำให้การ ธนกร (สงวนนามสกุล) นักกิจกรรมเยาวชน ในคดีปราศรัยในการชุมนุม #ม็อบ1พฤศจิกา หรือการชุมนุมแบบไร้แกนนำที่บริเวณแยกอุดมสุข – บางนา เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2563 

ในคดีนี้ธนกรถูกฟ้อง 4 ข้อหาด้วยกัน ได้แก่ ฝ่าฝืนข้อกำหนดที่ออกตาม พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ, กีดขวางการจราจร ตาม พ.ร.บ.จราจรฯ, กีดขวางทางสาธารณะ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 385 และฝ่าฝืน พ.ร.บ. ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงฯ 

ก่อนหน้านี้ธนกรได้รับทราบคำฟ้องแล้ว วันนี้ศาลได้อ่านและอธิบายฟ้องให้ฟัง ธนกรให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา เนื่องจากไม่ได้กระทำความผิดตามที่ถูกฟ้อง และได้ยื่นคำให้การเป็นหนังสือ มีเนื้อหาดังต่อไปนี้

1.ขณะเกิดเหตุจำเลยเป็นเยาวชนอายุ 17 ปี มีความสนใจเกี่ยวกับประเด็นความเสมอภาคระหว่างเพศ สิทธิของกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ+) รัฐสวัสดิการ เรียกร้องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 และเรียกร้องประชาธิปไตย

2. การถูกฟ้องว่ากระทําความผิดในคดีนี้ สืบเนื่องจากการใช้สิทธิแสดงความคิดเห็น เสรีภาพในการแสดงออก และเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ อันเป็นการแสดงออกซึ่งเจตจํานงอย่างเสรีของพลเมืองผู้เป็นเจ้าของอํานาจอธิปไตย การใช้เสรีภาพดังกล่าวเป็นกลไกสำคัญอย่างยิ่งในการตรวจสอบการบริหารราชการแผ่นดิน และเป็นไปตามความมุ่งหมายของ “รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย” และกติการะหว่างประเทศว่าด้วย “สิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง” (International Covenant on Civil and Political Rights : ICCPR) 

รวมไปถึง “อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก” (Convention on the Rights of the Child : CRC) ซึ่งประเทศไทยได้ให้สัตยาบัน และต้องปฏิบัติตามพันธกรณี กล่าวคือ “รัฐภาคียอมรับสิทธิของเด็กที่จะมีเสรีภาพในการสมาคม และเสรีภาพในการชุมนุมอย่างสงบ อนุญาตให้เด็กได้รวมกลุ่มและเรียกร้องหรือแสดงความคิดเห็นอย่างเปิดเผยในประเด็นที่ส่งผลกับเด็กเอง” รวมทั้งมีหน้าที่ในการปกป้องสิทธิเด็ก การดำเนินการทั้งหลายต้องคำนึงถึงผลประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นอันดับแรก

3. สํานักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ได้แถลงแนวปฏิบัติเกี่ยวกับมาตรการฉุกเฉินกรณีโควิด 19 เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2564 ไว้ว่า “การใช้อํานาจฉุกเฉินต้องอยู่ภายใต้กรอบของกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่ง กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR)” สําทับอีกชั้นหนึ่งอีกด้วย

ฉะนั้น การดําเนินคดีกับจำเลยซึ่งเป็นเยาวชน จึงไม่ได้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมายเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 แต่มุ่งประสงค์จํากัดสิทธิเสรีภาพการชุมนุมเพื่อยับยั้งไม่ให้มีความเห็นทางการเมืองที่แตกต่างจากรัฐ เป็นการขัดขวางการมีส่วนร่วมของเยาวชนที่ต้องการแสดงความคิดเห็นต่อการทํางานของรัฐ ขัดกับหลักสิทธิในการมีส่วนร่วมและเสรีภาพแสดงในการออกและเสรีภาพในการชุมนุมอย่างสันติ และขัดกับพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 อีกทั้งยังขัดกับอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก “อย่างร้ายแรง” 

.

ด้านโจทก์ซึ่งเป็นพนักงานอัยการได้ยื่นบัญชีพยานต่อศาล ระบุพยานที่จะนำเข้าสืบรวม 8 ปาก และที่ปรึกษากฎหมายของจำเลยได้ยื่นบัญชีพยาน ระบุพยานบุคคลที่จะนำเข้าสืบ 4 ปาก ได้แก่ ตัวจำเลย บิดา พยานผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิเด็ก และพยานผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิในการชุมนุม พร้อมทั้งพยานเอกสารอีก 3 รายการ ได้แก่ กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR), อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (CRC) และคำแถลงแนวปฏิบัติเกี่ยวกับมาตรการฉุกเฉินกรณีโควิด 19 ของสํานักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ

ที่ปรึกษากฎหมายของจำเลยยังได้แถลงต่อศาลว่า เนื่องจากในคดีนี้มีพยานเอกสารจำนวนมาก จึงขอให้ศาลกำหนดนัดตรวจพยานหลักฐานก่อนวันนัดสืบพยาน ศาลมีคำสั่งอนุญาตและนัดตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 3 สิงหาคม 2564 เวลา 09.00 น.

ธนกร เป็นเยาวชนผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ) ถูกดำเนินคดีจากกิจกรรมทางการเมืองแล้วทั้งหมด 5 คดี โดยเป็นคดีตามมาตรา 112 จำนวน 2 คดี คดีตามมาตรา 116 จำนวน 1 คดี และคดีตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ 2 คดี และจากการติดตามข้อมูลของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ตั้งแต่ปี 2563 มีเยาวชนถูกดำเนินคดีจากการแสดงออกและชุมนุมทางการเมือง แล้วทั้งสิ้นอย่างน้อย 43 ราย ใน 43 คดีแล้ว

>> สถิติเยาวชนถูกดำเนินคดีจากการแสดงออกและการชุมนุม ปี 2563-64

.

การชุมนุมเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2563 ที่แยกอุดมสุข มีนักกิจกรรมถูกดำเนินคดีรวมทั้งหมด 5 ราย ในส่วนที่ไม่ใช่เยาวชน 4 ราย ได้แก่ ณัฐวุฒิ สมบูรณ์ทรัพย์, “จัสติน” ชูเกียรติ แสงวงค์, นันทพงศ์ ปานมาศ และ “นิว” สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ พนักงานสอบสวน สน.บางนา ได้แยกดำเนินคดีต่างหาก โดยอัยการได้ยื่นฟ้องต่อศาลอาญาพระโขนงแล้ว 3 ราย เหลือเพียงนิวที่ยังติดภารกิจการเรียนที่ต่างประเทศ

    >> ฟ้อง “จัสติน” ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ 2 คดีรวด กรณี #ม็อบ29ตุลา และ #ม็อบ1พฤศจิกา ที่บางนา

.

อ่านเรื่องราวที่เกี่ยวข้อง: 

รัฐต้องฟังเสียงของเยาวชน: บทสนทนากับ ‘ธนกร’ เยาวชนรายแรกที่ถูกตั้งข้อหา ม. 116

คุยเรื่องสิทธิเด็กกับวรางคณา มุทุมล: เลนส์มองปรากฏการณ์เด็กโต้กลับในวันผู้ใหญ่ยังไม่พร้อม

X