ฟ้อง “ธนกร” นักกิจกรรม “เยาวชน” อีกราย ฝ่าฝืน พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ เหตุร่วม #ม็อบ1พฤศจิกา แยกอุดมสุข / บางนา

2 มีนาคม 2564 – ที่ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง ธนกร (สงวนนามสกุล) นักกิจกรรมเยาวชนที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดฐานฝ่าฝืนข้อกำหนดที่ออกโดย พ... ฉุกเฉินฯ, “เดินเป็นขบวนแห่กีดขวางการจราจร ตาม พ... จราจรฯ, “ร่วมกันกีดขวางทางสาธารณะเป็นอุปสรรคต่อการจราจร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 385 และ ใช้เครื่องเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต ตาม พ... ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงฯ เข้ารายงานตัวต่อศาล และรับทราบคำฟ้องคดี จากการเข้าร่วม #ม็อบ1พฤศจิกา หรือการชุมนุมแบบไร้แกนนำที่บริเวณแยกอุดมสุข บางนา เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2563 หลังพนักงานอัยการ (สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีเยาวชนและครอบครัว 3) สำนักงานอัยการสูงสุด ได้ยื่นฟ้องคดีดังกล่าวต่อศาลเยาวชนฯ เมื่อวันที่ 28 มกราคม ที่ผ่านมา

การชุมนุมในวันดังกล่าว มีนักกิจกรรมถูกดำเนินคดีรวมทั้งหมด 5 ราย ในส่วนที่ไม่ใช่เยาวชน 4 ราย ได้แก่ ณัฐวุฒิ สมบูรณ์ทรัพย์, “จัสติน” ชูเกียรติ แสงวงค์, นันทพงศ์ ปานมาศ และ “นิว” สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ พนักงานสอบสวน สน.บางนา ได้แยกดำเนินคดีต่างหาก โดยอัยการได้ยื่นฟ้องต่อศาลอาญาพระโขนงแล้ว 3 ราย เหลือเพียงนิวที่ยังติดภารกิจการเรียนที่ต่างประเทศ

     >> ฟ้อง “จัสติน” ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ 2 คดีรวด กรณี #ม็อบ29ตุลา และ #ม็อบ1พฤศจิกา ที่บางนา

หลังจากธนกรรับทราบคำฟ้องแล้ว ได้ให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา เนื่องจากในชั้นสอบสวน พนักงานสอบสวนได้ขออำนาจศาลเยาวชนฯ ให้ควบคุมตัวธนกร และศาลได้ให้ประกันตัวแล้ว ในชั้นพิจารณาคดีหลังศาลรับฟ้อง ศาลจึงไม่ได้ให้ที่ปรึกษากฎหมายยื่นประกันตัวธนกรใหม่ จากนั้น ศาลได้กำหนดนัดพร้อมเป็นวันที่ 26 เมษายน 2564 

สำหรับเนื้อหาในคำสั่งฟ้องของอัยการ ระบุว่า จำเลยคือธนกรและพวกได้กระทำความผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกันเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2563 จากนั้นคำฟ้องได้บรรยายเกี่ยวกับบริบทของการที่นายกรัฐมนตรีต้องประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน อาศัยอำนาจของ พ... ฉุกเฉินฯ เนื่องจากเกิดสถานการณ์ไวรัสโควิดระบาดในประเทศไทย และได้มีการออกข้อกำหนดต่างๆ เพื่อป้องกันการระบาดของเชื้อไวรัส และได้มีการประกาศขยายระยะเวลาการใช้กฎหมายความมั่นคงต่อไปอีกหลายครั้ง

ในวันเวลาดังกล่าว จำเลยและพวกได้ร่วมกันเป็นผู้จัดการชุมนุมทางการเมือง บริเวณถนนสุขุมวิท แยกอุดมสุขถึงบริเวณแยกบางนา โดยมีผู้เข้าร่วมชุมนุมประมาณ 200 คน ในการชุมนุมดังกล่าวไม่ได้มีมาตรการในการคัดกรองและป้องกันเชื้อไวรัสตามที่ทางรัฐบาลได้กำหนด อีกทั้งยังมีการเดินขบวนจากบริเวณแยกอุดมสุขจนถึงแยกบางนาในลักษณะที่เป็นการกีดขวางการจราจร และยังมีการใช้เครื่องขยายเสียงในการชุมนุมโดยที่ไม่ได้รับอนุญาตจากทางเจ้าหน้าที่ ซึ่งในชั้นสอบสวน จำเลยได้ปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา

ก่อนหน้าที่อัยการจะมีคำสั่งฟ้องคดีนี้ ในวันที่ธนกรเดินทางไปรับทราบข้อกล่าวหา เธอเคยถูกพนักงานสอบสวนนำตัวไปตรวจการแจ้งข้อกล่าวหา และขออำนาจศาลให้ควบคุมตัว ทั้ง ๆ ที่เป็นการเข้ารับทราบข้อกล่าวหาตามหมายเรียกของพนักงานสอบสวน ไม่ได้มีพฤติการณ์จะหลบหนีแต่อย่างใด ต่อมาศาลได้อนุญาตให้ควบคุมตัวผู้ต้องหา และอนุญาตให้ประกันตัวโดยไม่ต้องมีหลักประกัน แต่หากผิดนัดจะปรับเป็นเงินจำนวน 3,000 บาท ซึ่งระหว่างรอประกัน เพชรได้สะท้อนความรู้สึกเกี่ยวกับความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นกับเธอ (อ่าน: รัฐต้องฟังเสียงของเยาวชน: บทสนทนากับ ‘ธนกร’ เยาวชนรายแรกที่ถูกตั้งข้อหา ม. 116)

สำหรับคดีถือเป็นหนึ่งในคดีความทั้งหมด 5 คดี ของธนกร ในจำนวนนี้เป็นคดีความมั่นคง (ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และมาตรา 116) ทั้งหมด 3 คดี เกิดจากการขึ้นปราศรัยในที่ชุมนุม รวมทั้งการชูป้ายข้อความ จากข้อมูลที่ศูนย์ทนายมีในขณะนี้ ตั้งแต่ราวกลางปี 2563 – 2564 มีเยาวชนถูกดำเนินคดีจากการแสดงออกทางการเมืองทั้งหมด 13 ราย ใน 21 คดี โดยหลายคนถูกดำเนินคดีซ้อนกันหลายคดี

     >> สถิติเยาวชนถูกดำเนินคดีจากการแสดงออกและการชุมนุม ปี 2563-64

 

X