รัฐต้องฟังเสียงของเยาวชน: บทสนทนากับ ‘ธนกร’ เยาวชนรายแรกที่ถูกตั้งข้อหา ม.116

อธิกัญญ์ แดงปลาด

.

ท่ามกลางสายฝนช่วงเย็นของกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2563 ที่ผ่านมา ตามนัดหมายเดิมที่ถูกส่งต่อ ๆ กันในโลกออนไลน์ (ซึ่งก็ไม่ทราบที่มาแน่ชัด) ระบุว่า ในราว 5 โมงเย็นที่บริเวณสกายวอร์คหน้า MBK จะมีการจัดชุมนุม  #กรุงเทพจะไม่ทน #ให้มันจบที่รุ่นเรา แต่ด้วยความที่ไม่รู้ว่าใครเป็นผู้จัดงานหลัก บวกรวมกับสภาพอากาศที่ไม่เอื้อต่อการชุมนุมกลางแจ้งเท่าไหร่ และข้อกังวลเรื่องความปลอดภัย ทำให้สุดท้ายเพจ ‘ราษฎรรำพัน’ ออกมาประกาศยกเลิกการชุมนุมครั้งนี้

อย่างไรก็ตาม ในการชุมนุมที่เหมือนจะไม่มีใครเข้าร่วม ปรากฏว่ามีเยาวชนรายหนึ่งที่เดินทางเข้ามาในพื้นที่ชุมนุมภายใต้การเฝ้ามองของนักข่าวที่มาเฝ้ารอ พร้อมกับที่ในสองแขนหอบหิ้วโทรโข่งมาอีก 2 ตัว เธอเริ่มต้นการปราศรัยเรื่องปัญหาในระบบการศึกษาไทย และการไร้ซึ่งรัฐสวัสดิการ ทำให้นักเรียนและผู้ปกครองต้องแบกภาระค่าใช้จ่ายจำนวนมาก

“รัฐบาลไม่ฟังข้อเรียกร้องนักเรียน นิสิตนักศึกษา ว่าพวกหนูชังชาติจริง ถ้าหนูชังชาติจริง คงไม่พูดปัญหานี้หรอกค่ะ ที่หนูออกมาพูดเพราะต้องอยู่จนไปแก่ ถ้าไม่พูดจะปล่อยให้เศรษฐกิจบ้านเราเป็นอย่างนี้เหรอคะ ถ้าหลายคนไม่เสี่ยงชีวิตออกมาพูด แล้วประเทศจะพัฒนาหรือไม่”

ทราบภายหลังว่าเยาวชนคนดังกล่าวคือ “ธนกร” (สงวนนามสกุล) หรือ “น้องเพชร” เยาวชนนักเคลื่อนไหวและผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTIQ+) หลังจากการขึ้นพูดในวันนั้น เพชรยังคงเดินสายขึ้นพูดในการชุมนุมอีกหลายแห่งพร้อมกับประเด็นที่แหลมคมขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทั่งในวันนี้ – วันที่รัฐเลือกที่จะใช้มาตรการขั้นเด็ดขาดทางกฎหมายเพื่อกดปรามการเคลื่อนไหวของเยาวชน เพชรกลายเป็นเยาวชนรายแรกที่ถูกตั้งข้อหาด้านความมั่นคงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 หรือ “ยุยงปลุกปั่นให้เกิดความกระด้างกะเดื่องในหมู่ประชาชน”

แม้ชั่วโมงบินในสนามการต่อสู้เพื่อความเปลี่ยนแปลงอาจจะยังไม่สูงเท่าแกนนำรุ่นพี่ แต่เมื่อต้องเผชิญหน้ากับความอยุติธรรมที่เร้นกายมาในนามของกฎหมาย เพชรขอยืนยันที่จะสู้จนถึงที่สุดของกระบวนการ เพื่อยืนยันว่า ถึงเวลาแล้วที่สังคมไทยจะต้องฟังเสียงของเยาวชนอย่างแท้จริง

.

จากเยาวชนผู้ตื่นรู้สู่การเป็นนักปราศรัยทางการเมือง

เพชรเล่าว่า ก่อนที่จะขึ้นมาเป็นนักปราศรัยในม็อบอย่างเต็มตัว เธอแทบจะไม่ได้แตกต่างไปจากเด็ก ๆ คนอื่นในรุ่นราวคราวเดียวกันที่เริ่มสะสมความไม่พอใจในการทำงานของรัฐบาลผ่านการติดตามข่าวสารบนโซเชี่ยลมีเดีย จากความไม่พอใจที่ถูกระบายออกผ่านแค่ทางสเตตัสเฟซบุ๊คและทวิตเตอร์ เพชรลงถนนครั้งแรกในฐานะผู้ชุมนุมภายหลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคอนาคตใหม่ ในช่วงเวลาที่ประกายไฟของความเปลี่ยนแปลงยังไม่ลุกโชนเท่าในตอนนี้

“ก่อนหน้าที่จะมาเคลื่อนไหว หนูมองเห็นว่าการทำงานของนายกเป็นยังไง ทราบอยู่ประมาณหนึ่ง แต่ยังไม่ได้รู้ข้อมูลรายละเอียดลึกๆ จนกระทั่งเริ่มมาม็อบ ซึ่งพอมา มันเป็นประสบการณ์ที่แปลกใหม่มาก ๆ บางคีย์เวิร์ดที่เขาฮิตๆ กันในวงการเมืองในตอนนั้นหลายคำเราก็ยังไม่รู้ว่าคืออะไร ก็ได้แต่ยืนฟังแบบงง ๆ ว่าเขาพูดอะไรกัน (หัวเราะ) แต่หลังจากที่ไป ก็ได้คำตอบกับตัวเองว่าทำไมคนถึงออกมาเรียกร้อง”

“สิ่งที่ได้กลับมาอีกอย่างคือการมองภาพสังคมที่กว้างขึ้น พอลองย้อนดูตัวเองในอดีต หนูเคยเป็นเด็กที่ไม่ได้ตั้งคำถามอะไรกับสังคมมากมาย อาจจะเพราะรู้สึกชินกับทุกอย่าง เวลาเดินผ่านป้ายรถเมย์ เห็นคนกระจุกตัวต่อแถวยืนรอ ก็ไม่ได้คิดว่ามันเป็นปัญหา แต่พอมาร่วมในการชุมนุม เราถึงมองทุกอย่างลึกขึ้นแล้วตั้งคำถาม ป้ายรถเมย์ที่ให้คนยืนอัดกันรออย่างนี้ได้เหรอ? สภาพรถเมย์แบบนี้ได้เหรอ? นี่หรือคือสวัสดิการที่ประชาชนควรได้รับ หนูถึงเริ่มมองเห็นว่า ทุกรายละเอียดในชีวิตประจำวันที่จริงมันมีปัญหาซ้อนทับกันไปหมด”

จนกระทั่งเมื่อช่วงต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่าน ภายหลังจากที่มีการจับกุมทนายอานนท์และไมค์ ระยอง เพชรเริ่มการปราศรัยครั้งแรกที่ด้านหน้า สน. บางเขน ในระหว่างการชุมนุมเพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัวแกนนำทั้ง 2 การแสดงจุดยืนในครั้งนั้นนอกจากจะเป็นจุดเริ่มต้นสู่การเป็นผู้ปราศรัยทางการเมืองอย่างเต็มตัว แต่สำหรับเพชร นั่นยังเป็นเวทีแรกที่เธอลุกขึ้นมาประกาศขอท้าสู้กับรัฐที่ไม่เคยมองเห็นพลังของเยาวชน

“การที่ขึ้นไปปราศรัย เหตุผลหนึ่งคือตอนนั้นหนูยังไม่ค่อยเห็นเยาวชนต่ำกว่า 18 ที่ขึ้นไปพูดบนเวที หนูตั้งคำถามกับตัวเองว่าทำไมเด็ก ๆ ถึงยังไม่ค่อยออกมาเคลื่อนไหว ก็เลยอยากที่จะใช้พื้นที่ตรงนั้นเพื่อแสดงออกทางการเมืองในฐานะเยาวชนคนหนึ่ง ถึงแม้จะโดนตราหน้าว่าเป็นเด็ก แต่หนูไม่ได้กลัวอำนาจของรัฐ หนูกล้าที่จะสู้ หลังจากพูดเสร็จ ความรู้สึกแรกมันไม่ใช่ความกลัวว่าจะถูกรัฐเพ่งเล็ง น้าของหนูเคยพูดปรามาศว่า ‘พวกที่ขึ้นไปปราศรัย ยังไงลงมาก็ขาสั่นหมดแหละ’ เคยคิดว่ามันน่าจะจริง แต่พอถึงเวลาที่ออกไปพูดเอง มันไม่มีความกลัวเลยซักนิด ณ ตรงนั้น”

.

เมื่อเยาวชนกลายเป็นภัยความมั่นคงในสายตาของรัฐ

จากเวทีแรกที่หน้า สน. สู่อีกหลายสิบเวทีนับไม่ถ้วนตลอดช่วงหลายเดือนนับจากนั้น เพชรก้าวขึ้นมายืนร่วมกับขบวนในด่านหน้าของการเคลื่อนไหว พร้อมกับคดีความอีกจำนวนหนึ่ง ตั้งแต่ข้อหาเล็ก ๆ อย่าง พ.ร.บ. เครื่องขยายเสียงฯ พ.ร.บ. จราจรฯ กฎหมายเฉพาะอย่าง พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ ไปจนถึงข้อหาด้านความมั่นคงอย่าง มาตรา 116 ของประมวลกฎหมายอาญา และด้วยการสถาปานทางอาญาโดยกฎหมาย เพชรจึงได้กลายเป็นเยาวชนคนแรกของขบวนที่ถูกตั้งข้อหาด้านความมั่นคง ข้อหาเดียวที่ใช้กับแกนนำมวลชนที่ขึ้นมาปราศรัยในประเด็นการกดทับเชิงโครงสร้างและระบอบศักดินา

“สิ่งแรกที่หนูรู้สึกหลังจากได้หมาย ม. 116 มันไม่ใช่ความกลัว จำได้วันที่พ่อโทรมาบอกว่ามีหมายนี้ส่งมาที่บ้านคือเรากรี๊ดเลย (หัวเราะ) สำหรับหนู มันเหมือนเป็นเครื่องหมายยืนยันว่าเราคือนักสู้ การที่รัฐเพ่งเล็งนั่นแสดงว่าการเคลื่อนไหวของเรามันสร้างแรงสั่นสะเทือนจริง ก็เลยมองมันในฐานะที่เป็นหมุดหมายหนึ่งในการเคลื่อนไหว”

“เวลาที่ขึ้นปราศรัย หนูจะพยายามหยิบเรื่องที่บางเวทีคนยังไม่ค่อยกล้าพูดถึง อย่างเรื่องการศึกษา แต่หนูจะมองในแง่ที่มันเกี่ยวข้องยังไงกับระบอบศักดินา เด็ก ๆ ที่ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองส่วนใหญ่ไม่ค่อยกล้าพูดเรื่องศักดินาหรือสถาบันหลักของชาติอย่างตรงไปตรงมา หนูเลยอยากที่จะพูด ก็เลยได้ ม. 116 มาเลยหนึ่งคดี (หัวเราะ)”

เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา เพชรได้เดินทางไปรับทราบข้อกล่าวหาหลักคือฝ่าฝืน พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ ที่ สน. บางนา จากการเข้าร่วมชุมนุม #ม็อบ1พฤศจิกา ที่บริเวณแยกอุดมสุข (เธอเป็นเยาวชนรายที่ 5 ที่ถูกกล่าวหาจากการร่วมชุมนุมทางการเมือง) ภายหลังจากการเสร็จกระบวนการที่สถานีตำรวจ เพชรถูกส่งตัวต่อไปยังศาลเยาวชนเพื่อให้ศาลตรวจสอบว่า กระบวนการรับทราบข้อกล่าวหาของตำรวจเป็นไปโดยชอบหรือไม่ และเจ้าหน้าที่ตำรวจยังได้ยื่นคำร้องต่อศาลขอให้ควบคุมตัวเพชร ซึ่งในระหว่างที่อยู่ที่ศาลเพื่อรอทำเรื่องประกันตัว เธอได้สะท้อนประสบการณ์ระหว่างที่ถูกคุมขังด้านในห้องขังศาลเป็นเวลาเกือบ 2 ชั่วโมง – ประสบการณ์แรกที่ต้องเผชิญกับความอยุติธรรมโดยรัฐ

“คดีที่หนูโดนมันเป็นคดีเล็ก ๆ มาก ซึ่งก็ไปตามหมายเรียก แต่สิ่งที่ศาลทำคือเอาเราไปไว้ที่ห้องขังศาลระหว่างที่รอทำเรื่องประกันตัว ความรู้สึกแรกหลังจากที่เดินเข้าไปคือ ความเป็นมนุษย์มันอยู่ตรงไหน? มันคือห้องขังสี่เหลี่ยมเล็ก ๆ ส้วมกับอ่างล้างมืออัดอยู่ในห้องห้องเดียว มีแค่กำแพงเตี้ย ๆ กั้น มันหดหู่นะ เพราะต่อให้คนที่เข้ามาเขาทำผิดจริง รัฐอาจจะคุมขังเขาได้ แค่นั้นก็มากพอแล้ว ไม่ควรจะต้องมีการลดทอนความเป็นมนุษย์ของเขาเพิ่มไปอีก”

“วันนั้นมีคนอื่นโดนขังด้วยราว 10 คนได้ พอลองถามดูว่าแต่ละคนโดนคดีอะไรมากัน บ้างก็บอกว่าเสพยา ติดยา ขณะที่เราโดนคดีทางการเมือง มันเป็นความรู้สึกที่บอกไม่ถูก ทางทนายเขาก็ถามว่ากลัวไหม หนูตอบว่าไม่ เพราะรู้อยู่แล้วว่ากำลังสู้กับพญาครุฑ ก็มองว่าตรงนั้นมันเป็นประสบการณ์”

.

ความหลากหลายทางเพศบนหนทางสู่ประชาธิปไตย

ในอดีต ประเด็นเรื่องความหลากหลายทางเพศและความเท่าเทียมทางเพศในประเทศไทยมักจะเดินขนานไปกับการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย แต่ในการเคลื่อนไหวที่นำโดยนักศึกษาและเยาวชนตลอดปีที่ผ่านมา ประเด็นความเป็นชายขอบทั้งหลายในสังคมได้ถูกรวมเข้าสู่ภายใต้ร่มของการต่อสู่เพื่อประชาธิปไตยเป็นเนื้อเดียวกัน ในฐานะผู้มีความหลากหลายทางเพศคนหนึ่งที่เข้าร่วมในขบวน เพชรมองว่า หมุดหมายนี้คือจุดเริ่มต้นสำคัญที่สังคมจะได้เรียนรู้ที่จะเคารพในทุกความต่างและความเสมอภาค

“(การที่ LGBTIQ+ เข้ามามีบทบาทนำร่วมในการเคลื่อนไหว) มันเป็นการพลิกแพลงสังคมในหลายแง่ โดยเฉพาะกับคนหลายคนที่ยังไม่เข้าใจนิยามของคำว่าเพศที่แตกต่างออกไปจากชายและหญิง เขามองเห็นภาพความเป็นมนุษย์ของพวกเรามากขึ้นในการออกมาเรียกร้อง การที่ยึดมั่นใน 3 นิ้ว เสรีภาพ ภราดรภาพ ความเสมอภาค มันคือการยึดมั่นในหลักการที่ว่า ไม่ว่าคุณจะเกิดมาเป็นเพศอะไร ทุกคนล้วนเท่าเทียมกันหมดภายใต้หลักการประชาธิปไตย แล้วพอคนในวงกว้างเห็นภาพความเกี่ยวข้องของสองเรื่องนี้ มันช่วยลดการเหยียดเพศและไม่ความเข้าใจอย่างเห็นได้ชัด”

ถึงแม้ในฟากประชาธิปไตยจะยอมรับและให้พื้นที่กับความหลากหลายทางเพศ แต่เมื่อต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ประเด็นเรื่องการเลือกปฏิบัติเหตุจากความแตกต่างทางเพศกลายเป็นข้อกังวลสำคัญ ทับซ้อนไปกับกระบวนการของศาลเยาวชนที่ควรถูกตั้งคำถาม นี่คือสิ่งที่เพชรตกตะกอนได้ในช่วงเวลาระหว่างถูกขังเพื่อรอประกันตัว

“ตอนที่ต้องเข้าพบจิตแพทย์ตามกระบวนการ หนูเจอคำถามในแบบสอบถามที่ว่า ‘คุณเคยมีเพศสัมพันธ์กับเพศเดียวกันหรือไม่?’ หนูไม่เข้าใจว่าเขาจะถามทำไม ถามแบบเจาะจงด้วย มันคือการเลือกปฏิบัติหรือเปล่า เพราะคำถามแบบนี้มันไม่ใช่สิ่งที่ควรถาม”

“ระหว่างที่โดนขังชั่วโมงกว่าที่ศาล มันเกิดคำถามที่ว่า แล้วถ้าคนที่เขาเป็นทอม เป็นตุ๊ด เป็นเพศหลากหลายล่ะ? การที่ห้องขังมีแค่ชายกับหญิง คนกลุ่มนี้เขาจะทำยังไง? อย่างสมมติถ้าต้องใช้ห้องน้ำร่วมกันจะทำยังไง? เพราะห้องน้ำมันก็เปิดโล่งด้วย เราอาจจะต้องมานั่งหาทางออกร่วมกันหรือเปล่าสำหรับการออกแบบที่คุมขังเพื่อให้รองรับกับคนที่มีเพศหลากหลาย เพราะเราก็ได้ยินจากสื่อกันเยอะว่าคนกลุ่มนี้หลายกรณีต้องเสี่ยงเจอการทารุณกรรมทางเพศ เราเห็นข่าวกันบ่อย ๆ พอนึกอย่างนี้แล้วก็ยิ่งรู้สึกไม่รู้สึกโอเคกับสภาพแบบนั้น”

.

ไม่มีความกล้าใดที่ปราศจากความกลัว

ในห้วงเวลาที่รัฐนำกระบวนการทางกฎหมายกลับมาใช้อย่างเข้มข้นเพื่อกำราบคนที่เห็นต่างและผู้ที่หาญกล้าต่อรองกับรัฐอีกครั้ง เพชรยืนยันอย่างมั่นคงว่าเธอไม่กลัว แม้การเดิมพันครั้งนี้อาจจะต้องจ่ายด้วยเสรีภาพและอนาคต แต่สำหรับเธอ หากนั่นคือราคาที่ต้องจ่ายเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง เธอก็พร้อมขอยอมแลก

“ไม่มีความกล้าไหนที่ปราศจากความกลัว แต่ถ้าเรายึดหลักในความถูกต้อง เพื่อการเปลี่ยนแปลง การทำเพื่อคนอื่น หนูยอมที่จะเป็นหนึ่งในคนที่เสียสละ ไม่มีใครรู้หรอกว่า ในอนาคตเราจะชนะหรือเราจะแพ้ อาจจะต้องเข้าคุก แต่อย่างน้อยหนูก็ได้ทำอะไรซักอย่าง นี่คือสิ่งที่อยากจะบอก”

“การที่เด็กอย่างหนูต้องออกมาพูดเรื่องสถาบันหลัก เพระเห็นว่าสังคมได้รับผลกระทบเรื่องนี้มาก อย่างระบบการศึกษา ชนชั้นศักดินาเองพยายามกล่อมเกลาเราทุกคนให้เชื่องเพื่อที่จะได้ปกครองง่าย สังคมเรามันมาถึงตรงจุดนี้แล้ว ซึ่งไม่ใช่แค่เยาวชนกับแกนนำที่ต้องออกมาพูด แต่มันคือสิ่งที่ทุกคนต้องพูด เพราะเราต่างถูกกดทับโดยระบอบนี้มานานเกินไป”

.

อ่านเรื่องราวที่เกี่ยวข้อง:

แจ้งข้อหาฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ 3 แกนนำนักเรียน ปราศรัยชุมนุม #15ตุลาไปราชประสงค์

แจ้งข้อหาฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เยาวชน 17 ปีอีกราย หลังร่วมชุมนุม #ม็อบ1พฤศจิกา แยกอุดมสุข

สน.ลุมพินีออกหมายเรียกนักเรียน 3 ราย ข้อหาพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ คาดเหตุชุมนุม #15ตุลาไปราชประสงค์

.

X