วันนี้ (8 เม.ย. 64) พนักงานสอบสวน สภ.เมืองนนทบุรี ได้นัดหมายให้ “เพชร” ธนกร (สงวนนามสกุล) เยาวชนผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ) อายุ 17 ปี เดินทางมาพบเพื่อทำการส่งตัวผู้ต้องหาพร้อมสำนวนการสอบสวนให้พนักงานอัยการ ที่สำนักงานอัยการคดีเยาวชนและครอบครัว จังหวัดนนทบุรี โดยธนกรได้ยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมต่ออัยการขอให้ไม่สั่งฟ้องคดี ยืนยันพฤติการณ์ไม่เป็นความผิดตามข้อกล่าวหา และการสั่งฟ้องคดีนี้ไม่เป็นประโยชน์แก่สาธารณะ
สำหรับการส่งตัวผู้ต้องหาให้อัยการในวันนี้ สืบเนื่องมาจากวันที่ 8 ธ.ค. 63 ธนกร ได้เดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหาพร้อมกับผู้ปกครอง ทนายความและที่ปรึกษากฎหมาย โดยได้ถูกแจ้งข้อกล่าวหา “ยุยงปลุกปั่น” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 จากกรณีเนื้อหาคำปราศรัยของธนกรในการชุมนุม #คนนนท์ท้าชนเผด็จการ บริเวณท่าน้ำนนท์ เมื่อวันที่ 10 ก.ย. 2563 นับเป็นเยาวชนรายแรก ที่ถูกดำเนินคดีในข้อหาตามมาตรา 116 ซึ่งมีอัตราโทษจำคุกสูงถึง 7 ปี
>> สภ.เมืองนนทบุรี แจ้งข้อหา ม.116 “ธนกร” เยาวชนอายุต่ำกว่า 18 รายแรก เหตุชุมนุมที่ท่าน้ำนนท์
>> รัฐต้องฟังเสียงของเยาวชน: บทสนทนากับ ‘ธนกร’ เยาวชนรายแรกที่ถูกตั้งข้อหา ม.116
หลังจากอัยการรับสำนวนคดี ได้นัดให้ธนกรเดินทางมาฟังคำสั่งอัยการว่าจะฟ้องคดีหรือไม่ต่อไป ในวันที่ 16 มิ.ย. 64 เวลา 10.00 น. ที่สำนักงานอัยการคดีเยาวชนและครอบครัว จ.นนทบุรี
ขณะเดียวกัน เยาวชนพร้อมผู้ปกครองและทนาย ได้ยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมต่ออัยการ ขอให้สั่งไม่ฟ้องคดีเนื่องจาก พฤติการณ์แห่งการกระทำตามข้อหาข้างต้นนั้น ไม่เป็นความผิดในการฝ่าฝืนกฎหมาย และการสั่งฟ้องคดีนี้ไม่เป็นประโยชน์แก่สาธารณะ
หนังสือขอความเป็นธรรมชี้แจงเหตุผลว่า การกระทำของตนเป็นการใช้สิทธิในการแสดงความคิดเห็น เสรีภาพในการแสดงออก และเสรีภาพในการชุมนุมโดยสุจริต อีกทั้งยังเป็นการชุมนุมอย่างสลบและปราศจากอาวุธ ที่สามารถกระทำได้ตามระบอบประชาธิปไตย ซึ่งเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายตามพันธกรณีระหว่างประเทศ และตามความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
พร้อมทั้งยืนยันในตอนท้ายว่า สิทธิในการแสดงความคิดเห็น เสรีภาพในการแสดงออก ตลอดจนเสรีภาพในการชุมนุม เป็นเครื่องแสดงออกซึ่งเจตจำนงอย่างเสรีของพลเมืองที่มีอุดมการณ์หรือเป้าหมายร่วมกัน
กฎหมายตามพันธกรณีระหว่างประเทศและตามความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
การใช้สิทธิในการแสดงความคิดเห็น เสรีภาพในการแสดงออก และเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบ เป็นไปตามความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญ และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights – ICCPR) ได้รับรองเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและแสดงออกไว้ในข้อบทที่ 19 วรรคหนึ่ง และวรรคสอง และได้รับรองสิทธิในการชุมนุมไว้ในข้อบทที่ 21 ซึ่งไทยได้ลงนามเป็นภาคีในข้อกติกานี้ จึงมีพันธะต้องปฏิบัติตาม
นอกจากนี้ เสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมยังถือเป็นสิทธิในกลุ่มเดียวกันกับสิทธิในการมีส่วนร่วมตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (Convention on the Rights of the Child – CRC) ซึ่งไทยได้ให้สัตยาบัน รัฐภาคีจะต้องยอมรับสิทธิเสรีภาพของเด็กในการสมาคม ชุมนุมอย่างสงบเพื่อเรียกร้องหรือแสดงความคิดเห็นในประเด็นที่ส่งผลกับเด็กเอง อีกทั้งในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ในมาตรา 44 วรรคหนึ่ง และวรรคสอง ก็ได้รับรองหลักการดังกล่าวไว้ด้วยเช่นกัน
การเข้าร่วมในการชุมนุมและปราศรัยเมื่อวันที่ 10 ก.ย. 2563 ตามที่พนักงานสอบสวนกล่าวหาจึงเป็นเพียงการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุม เป็นไปโดยชอบทางกฎหมายและกติการะหว่างประเทศ และตามความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญ
ขณะนี้ ธนกร ซึ่งเป็นเยาวชน LGBTQ ถูกดำเนินคดีจากกิจกรรมทางการเมืองแล้วทั้งหมด 5 คดี โดยเป็นคดีตามมาตรา 112 จำนวน 2 คดี คดีตามมาตรา 116 จำนวน 1 คดี และคดีตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ 2 คดี
จากข้อมูลของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ขณะนี้มีเยาวชนถูกดำเนินคดีจากการแสดงออกและชุมนุมทางการเมือง แล้วทั้งสิ้นอย่างน้อย 33 ราย ใน 34 คดี โดยในจำนวนนี้ มี 6 รายที่ถูกตั้งข้อหาด้านความมั่นคงอย่างมาตรา 116 และมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา
>> สถิติเยาวชนถูกดำเนินคดีจากการแสดงออกและการชุมนุม ปี 2563-64
อ่านเรื่องราวที่เกี่ยวข้อง:
แจ้งข้อหาฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เยาวชน 17 ปีอีกราย หลังร่วมชุมนุม #ม็อบ1พฤศจิกา แยกอุดมสุข
รัฐต้องฟังเสียงของเยาวชน: บทสนทนากับ ‘ธนกร’ เยาวชนรายแรกที่ถูกตั้งข้อหา ม. 116
คุยเรื่องสิทธิเด็กกับวรางคณา มุทุมล: เลนส์มองปรากฏการณ์เด็กโต้กลับในวันผู้ใหญ่ยังไม่พร้อม