ตร.ส่งสำนวนคดี ม.116 ชุมนุมเชียงใหม่ ให้อัยการโดยมีความเห็นสั่งฟ้อง หลัง 7 ผตห.ยื่นให้การสู้

26 พ.ย. 63 ที่สำนักงานอัยการจังหวัดเชียงใหม่ นักศึกษาและประชาชนรวม 7 คน ที่ถูกกล่าวหาในคดีการชุมนุม #เชียงใหม่จะไม่ทน ที่ประตูท่าแพ เมื่อวันที่ 9 ส.ค. 63 ซึ่งถูกแสดงหมายจับและแจ้ง 5 ข้อกล่าวหา ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116, พ.ร.บ.ชุมนุมฯ, พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ และพ.ร.บ.เครื่องขยายเสียงฯ เดินทางเข้ารายงานตัวตามนัดของพนักงานสอบสวนสภ.เมืองเชียงใหม่ เพื่อส่งสำนวนคดีให้กับพนักงานอัยการ พร้อมกับทนายความ นักวิชาการที่เป็นนายประกัน และเพื่อนนักศึกษา

ผู้ต้องหาทั้ง 7 คน ได้แก่ ธนาธร วิทยเบญจางค์ นักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่, วัชรภัทร ธรรมจักร นักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่, วิธญา คลังนิล นักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่, สุปรียา ใจแก้ว นักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย, ณัฐวุฒิ ตติเวชกุล นักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่, สุริยา แสงแก้วฝั้น นักต่อสู้เพื่อสิทธิคนพิการ และเพ็ญสุภา สุขคตะ นักวิชาการอิสระและกวี

>> 7 นศ.-ปชช.เข้าแสดงตัว ตร.แสดงหมายจับ 5 ข้อกล่าวหา คดีชุมนุม #เชียงใหม่จะไม่ทน

ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจแจ้งว่าคณะพนักงานสอบสวนได้สรุปสำนวนคดี โดยมีความเห็นควรสั่งฟ้องทั้ง 7 คน ในทุกข้อหา ส่วนกรณีของ นายอานนท์ นำภา และนายประสิทธิ์ ครุธาโรจน์ ผู้ต้องหาในคดีนี้อีก 2 คนนั้น พนักงานสอบสวนระบุว่าสำนวนคดีของผู้ต้องหาทั้งสองได้อยู่ในการพิจารณาของพนักงานอัยการจังหวัดเชียงใหม่แล้ว จึงไม่ต้องส่งตัวอีก

หลังส่งตัวผู้ต้องหาและสำนวนคดี ทางพนักงานอัยการได้ให้ทั้ง 7 คน ทำสัญญาการประกันตัวใหม่อีกครั้ง โดยตีวงเงินเท่ากับชั้นตำรวจ คือ 105,000 บาท แต่ให้ใช้ตำแหน่งนักวิชาการ 2 คน เป็นนายประกันได้ พร้อมกับนัดหมายมาฟังคำสั่งทางคดีต่อไปในวันที่ 1 ธ.ค. 63

หลังเสร็จสิ้นการส่งสำนวนคดี เครือข่ายภาคประชาสังคมเพื่อความเท่าเทียมระหว่างเพศ ร่วมกับเพื่อนนักศึกษาและนักวิชาการ ที่เดินทางมาติดตามคดี ยังได้ร่วมกันอ่านแถลงการณ์ที่หน้าสำนักงานอัยการ เรียกร้องให้มีการยุติการดำเนินคดีนี้ และเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ของรัฐ ทั้งตำรวจและทหาร หยุดการคุกคามประชาชน และหยุดใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการแสดงออกทางการเมืองของประชาชน

 

 

คำให้การ 8 ประการ โต้แย้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่ 7 ผู้ต้องหาถูกกล่าวหา

ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 25 พ.ย. 63 ผู้ต้องหาทั้ง 7 คน ยังได้เข้ายื่นคำให้การเพิ่มเติมเป็นหนังสือต่อพนักงานสอบสวนสภ.เมืองเชียงใหม่เอาไว้ พร้อมนำพยานนักวิชาการ คือ รศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล เข้าให้การสนับสนุนข้อต่อสู้ เพื่อให้พนักงานสอบสวนมีคำสั่งไม่ฟ้องคดีเสนอไปยังพนักงานอัยการ มีเนื้อหาประเด็นโดยสรุปว่า

1. การกระทำของผู้ต้องหาเป็นการใช้สิทธิในการแสดงความคิดเห็นและเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ ตามความมุ่งหมายของกติการะหว่างประเทศและรัฐธรรมนูญ

2. ในการแจ้งข้อกล่าวหาของพนักงานสอบสวนได้แจ้งว่าการปราศรัยของผู้ต้องหาทั้งหมดร่วมกับนายอานนท์ นำภา มีเนื้อหาโดยรวมเป็นการละเมิดถึงสถาบันพระมหากษัตริย์นั้น ผู้ต้องหาขอโต้แย้งว่าการปราศรัยของนายอานนท์นั้นได้เกิดขึ้นภายหลังจากที่ผู้ต้องหาคนอื่นๆ ได้กล่าวปราศรัยแล้วทั้งสิ้น การปราศรัยของผู้ต้องหาคนอื่นๆ จึงไม่เกี่ยวข้องกับการปราศรัยของคนหลังแต่อย่างใด อย่างไรก็ตามคำปราศรัยของผู้ต้องหาทั้งหมดก็ไม่ได้มีข้อความใดมีลักษณะดูหมิ่น หมิ่นประมาท เสียดสี ยุยงปลุกปั่น ให้ประชาชนชิงชังต่อพระมหากษัตริย์และคณะรัฐบาล แต่เป็นการแสดงออกภายในความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญเป็นการแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต

3. การแจ้งข้อกล่าวหาว่าผู้ต้องหามีการนำเอกสารมาแจกจ่าย โดยที่เอกสารมีเนื้อหาโดยรวมเป็นการละเมิดถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นการกล่าวถึงรัฐบาลที่บิดเบือนข้อความจริง ผู้ต้องหาขอปฏิเสธว่าไม่ทราบว่าในวันดังกล่าวมีการแจกจ่ายเอกสารใดบ้าง และผู้ต้องหาก็ไม่ทราบว่าเอกสารที่แจกจ่ายจะมีข้อความเนื้อหาที่แท้จริงเช่นไร เนื่องจากในขณะที่พนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหาต่อผู้ต้องหาทั้งเจ็ดนั้นก็มิได้มีการนำตัวอย่างเอกสารมาแสดงต่อผู้ต้องหาทั้งเจ็ดแต่ประการใด

4. พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ถูกประกาศใช้โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อควบคุมโรคระบาด แต่การบังคับใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินต่อผู้ต้องหานั้นเป็นการบังคับใช้กฎหมายเกินกว่าเจตนารมณ์กฎหมาย จากวันที่มีการจัดการชุมนุมขึ้นนั้น เมื่ออ้างอิงจากข้อเท็จจริงของกระทรวงสาธารณสุขและการรายงานข่าวจากสำนักข่าวต่างๆ นั้น เป็นเวลามากกว่า 2 เดือนแล้วที่ไม่พบผู้ป่วยติดเชื้อโควิดรายใหม่ภายในประเทศไทย การบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวจึงมิได้เป็นการบังคับใช้ตามเจตนารมณ์เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 แต่มุ่งประสงค์จะจำกัดสิทธิเสรีภาพการชุมนุมเป็นการทั่วไปเพื่อยับยั้งบุคคลไม่ให้มีความเห็นต่างจากรัฐบาล

5. ผู้ต้องหาเป็นเพียงผู้เข้าร่วมการชุมนุม มิใช่เป็นผู้จัดการชุมนุมหรือผู้ประสงค์จะจัดการชุมนุม จึงไม่มีหน้าที่แจ้งการชุมนุมต่อเจ้าพนักงาน อีกทั้งสิทธิในการชุมนุมแม้จะมีข้อจำกัดอยู่บ้าง แต่ก็ต้องมีเป้าหมายของกฎหมายเพื่ออำนวยความสะดวกในการใช้สิทธิในการชุมนุมโดยสงบ มิใช่เพื่อแสวงหาการจำกัดการใช้สิทธิโดยไม่จำเป็นและไม่ได้สัดส่วน การแจ้งการชุมนุมเป็นไปเพื่อให้เจ้าพนักงานผู้รับแจ้งทราบ และจะได้ดูแลการชุมนุมสาธารณะให้เป็นไปด้วยความสงบเรียบร้อยและอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนที่จะใช้สถานที่สาธารณะเท่านั้น

6. การชุมนุมที่เกิดขึ้นบริเวณลานข่วงประตูท่าแพ เป็นสถานที่ทำกิจกรรมโล่งแจ้งและไม่แออัด ในขณะที่มีการชุมนุม ผู้เข้าร่วมชุมนุมได้มีการสวมใส่หน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อโรค อีกทั้งภายในการชุมนุมดังกล่าวไม่มีกิจกรรมที่ต้องสัมผัสใกล้ชิดกันแต่อย่างใด และผู้ร่วมชุมนุมยังใช้ระยะเวลาทำกิจกรรมไม่นาน จึงไม่ได้เป็นความผิดตามพ.ร.บ.โรคติดต่อ แต่อย่างใด

7. หลังมีการออกข้อกำหนด (ฉบับที่ 13) ลงวันที่ 31 กรกฎาคม 2563 จึงเป็นการออกข้อกำหนดขึ้นมาใหม่ ถือว่าเป็นการออกกฎหมายที่บัญญัติขึ้นในภายหลังและมีเนื้อหาสาระเช่นเดียวกับกฎหมายก่อน จึงเป็นการยกเลิกข้อกำหนด (ฉบับที่ 1) ลงวันที่ 25 มีนาคม 2563 ข้อ 5 และประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคง เรื่องห้ามการชุมนุม การทํากิจกรรม การมั่วสุม ลงวันที่ 3 เมษายน 2563 แล้ว

8. ข้อหาร่วมกันโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาตนั้น กฎหมายดังกล่าวไม่ได้ถูกบังคับใช้เป็นการทั่วไปมาเป็นระยะเวลานานแล้ว โดยประชาชนทั่วไปหากมีความประสงค์จะใช้เครื่องขยายเสียงก็สามารถใช้ได้ทันทีโดยไม่ต้องแจ้งหรือขออนุญาตกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งสามารถพบเห็นได้ในชีวิตประจำวันเป็นการทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นการโฆษณาขายสินค้า หรือประกาศโฆษณาในกิจการต่างๆ ของประชาชน เสมือนว่ากฎหมายดังกล่าวได้ถูกยกเลิกโดยปริยายมาเป็นระยะเวลานานแล้ว เนื่องจากไม่ได้ถูกบังคับใช้เป็นการทั่วไปในทุกพื้นที่ของประเทศ แต่สาเหตุที่ผู้ต้องหาถูกแจ้งข้อหาความผิดดังกล่าวจึงเชื่อได้ว่าเนื่องมาจากผู้ต้องหามีความเห็นแย้งกับรัฐบาล ในขณะที่บุคคลทั่วไปซึ่งปฏิบัติเช่นเดียวกับผู้ต้องหา กลับไม่ปรากฏว่าถูกดำเนินคดีแต่อย่างใด จึงเป็นการเลือกปฏิบัติต่อผู้ต้องหาซึ่งถือเป็นการบังคับใช้กฎหมายที่ไม่สุจริต

ผู้ต้องหายังขออ้างพยานบุคคลเพื่อสนับสนุนข้อต่อสู้และพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของผู้ต้องหา ได้แก่ รศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล หัวหน้าศูนย์วิจัยและพัฒนากฎหมายและอาจารย์ประจำ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ให้พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนเพิ่มเติม

 

 

นักวิชาการกฎหมายให้การยืนยันการกระทำของผู้ต้องหาทั้ง 9 คน ไม่เป็นความผิดตามที่ถูกกล่าวหา

หลังยื่นคำให้การของผู้ต้องหาทั้ง 7 คนแล้ว ทนายความของผู้ต้องหาได้นำ รศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล พยานนักวิชาการ เข้าให้การต่อพนักงานสอบสวน โดยที่รศ.สมชายได้จัดทำคำให้การเป็นหนังสือเข้ายื่น โดยมีเนื้อหาว่า

1. เจตนารมณ์การประกาศบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่มีวัตถุประสงค์ 2 ประการด้วยกันคือ ควบคุมการแพร่ระบาดของโรค และควบคุมการกักตุนสินค้าที่เกี่ยวกับการป้องกันโรคและเครื่องอุปโภคบริโภคพื้นฐาน โดยมิได้ต้องการมุ่งเน้นกับการชุมนุมสาธารณะของประชาชนแต่อย่างใด

อีกทั้ง ยังเห็นว่าการชุมนุมของประชาชนในวันที่ 9 สิงหาคม 2563 สถานที่จัดการชุมนุมคือบริเวณลานข่วงประตูท่าแพ ซึ่งเป็นสถานที่ทำกิจกรรมโล่งแจ้งและไม่แออัด เป็นการชุมนุมอยู่ในพื้นที่จำกัดเฉพาะลานข่วงประตูท่าแพเท่านั้น และในขณะที่มีการชุมนุม ผู้เข้าร่วมชุมนุมได้มีการสวมใส่หน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ อีกทั้งภายในการชุมนุมดังกล่าวไม่มีกิจกรรมที่ต้องสัมผัสใกล้ชิดกันแต่อย่างใด และผู้ร่วมชุมนุมยังใช้ระยะเวลาทำกิจกรรมไม่นาน จึงมิได้เป็นการมั่วสุมในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค หรือการกระทำอันเป็นการฉวยโอกาสซ้ำเติมความเดือดร้อนของประชาชน หรือการกลั่นแกล้งเพื่อแพร่เชื้อโรค

ประกอบกับในวันและเวลาที่มีการจัดการชุมนุม อ้างอิงจากข้อเท็จจริงของกระทรวงสาธารณสุข และการรายงานข่าวจากทางราชการ และสำนักข่าวต่างๆ นั้นเป็นเวลาเกินกว่า 2 เดือนแล้ว ก่อนที่จะมีการทำกิจกรรมในวันเกิดเหตุ ที่ประเทศไทยไม่พบผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ภายในจังหวัดเชียงใหม่และภายในประเทศไทย ในช่วงเวลาดังกล่าว นายกรัฐมนตรีและศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ได้มีการออกข้อกำหนดเพื่อการผ่อนปรนมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ตามลำดับ เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดได้คลี่คลายลงแล้ว

ทั้งนับแต่วันที่มีการชุมนุมดังกล่าวจนถึงปัจจุบัน ยังไม่ปรากฏว่ามีการพบผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ภายในจังหวัดเชียงใหม่แต่อย่างใด จึงเป็นการแสดงให้เห็นว่าการชุมนุมในวันเวลาดังกล่าวไม่เป็นกระทำการหรือดำเนินการใดๆ ซึ่งอาจก่อให้เกิดสภาวะที่ไม่ถูกสุขลักษณะซึ่งอาจเป็นเหตุให้โรคติดต่ออันตรายหรือโรคระบาดแพร่ออกไปตามประกาศฉบับนี้

 

2. การออกข้อกำหนดตามความใน มาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ลงวันที่ 31 กรกฎาคม 2563 เช่นเดียวกันกับการออกข้อกำหนดตามความในมาตรา 9 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ซึ่งได้มีการระบุถึงเจตนารมณ์ไว้ว่าเป็นไปเพื่อควบคุมการแพร่กระจายของโรคโควิด-19 เป็นสำคัญ ดังนี้ “โดยแม้การควบคุม และป้องกันการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 มีแนวโน้มที่ดีอย่างต่อเนื่อง แต่สถานการณ์การระบาดในต่างประเทศยังคงอยู่ในระดับรุนแรงและจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นในอัตราสูง เนื่องจากการผ่อนคลายมาตรการต่างๆ รวมถึงการเปิดให้มีการเดินทางเข้ามาจากต่างประเทศ รัฐบาลจึงเห็นความจำเป็นที่ต้องคงการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินไว้ต่อไปเพื่อให้ประชาชนสามารถดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้ โดยยังคงตระหนักและปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรค และเพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติงานของพนักงานเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายนอก”

การออกข้อกำหนดตามข้อ 1 ซึ่งมุ่งเน้นต่อการจัดกิจกรรมรวมกลุ่ม การจัดให้มีกิจกรรมรวมกลุ่มหรือการใช้สิทธิของประชาชนเพื่อการชุมนุมใดๆ ก็ได้ กำหนดให้กระทำได้ภายใต้ขอบเขตการใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย รวมทั้งตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ตามกฎหมายว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะ และให้ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบในการจัดกิจกรรมจัดให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนด ดังนั้นหากการชุมนุมได้มีการดำเนินการตามมาตรการป้องกันโรคและไม่มีการแพร่กระจายเกิดขึ้น จึงย่อมมิใช่การฝ่าฝืนต่อข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แต่อย่างใด

 

3. เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบตามรัฐธรรมนูญ พันธกรณีระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน และกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุม รัฐธรรมนูญของไทยได้ยอมรับหลักการเรื่องการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธมาอย่างต่อเนื่อง โดยถือว่าเป็นเสรีภาพพื้นฐานที่สำคัญประการหนึ่งของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย แต่การชุมนุมสาธารณะเป็นเสรีภาพที่อาจส่งผลกระทบต่อบุคคลอื่นๆ รัฐจึงสงวนไว้ซึ่งอำนาจในการที่จะจำกัดการใช้สิทธิหรือเสรีภาพนั้นๆ ได้

อย่างไรก็ตาม การจำกัดเสรีภาพต้องไม่กระทบกระเทือนต่อสาระสำคัญของการชุมนุมสาธารณะ รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ได้รับรองเสรีภาพในการชุมนุมไว้ในมาตรา 44 และกติการะหว่างประเทศว่าสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ก็ได้มีการบัญญัติรับรองไว้ในมาตรา 21

สำหรับประเทศไทย ได้มีการตรา พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ ขึ้นเมื่อ พ.ศ.2558 เหตุผลของการตรากฎหมายฉบับนี้ก็เพราะต้องการกำหนดหลักเกณฑ์ในการใช้สิทธิชุมนุมสาธารณะให้ชัดเจนและสอดคล้องกับ ICCPR ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคี และเพื่อให้การชุมนุมสาธารณะเป็นไปด้วยความสงบเรียบร้อย ไม่กระทบต่อความมั่นคงสาธารณะ ความปลอดภัยสาธารณะ ความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดี และไม่กระทบกระเทือนสิทธิเสรีภาพและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้อื่น และยังมีเจตนารมณ์ที่ต้องการอำนวยความสะดวกและส่งเสริมการชุมนุมสาธารณะให้ชอบด้วยกฎหมาย โดยครอบคลุมถึงการชุมนุมที่เกิดจากประชาชนผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนหรือต้องการเรียกร้องประเด็นต่างๆ รวมทั้งการชุมนุมทางการเมือง

 

ภาพการชุมนุมที่ข่วงประตูท่าแพ เมื่อวันที่ 9 ส.ค. 63 (ภาพโดยสำนักข่าวประชาไท)

 

4. ส่วนประเด็นความผิดเกี่ยวกับ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 นั้น ตามมาตรา 10 วรรคแรกของ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ ได้กำหนดให้ผู้ประสงค์จัดการชุมนุมสาธารณะ เป็นผู้มีหน้าที่แจ้งการชุมนุมสาธารณะต่อหัวหน้าสถานีตำรวจแห่งท้องที่ที่มีการชุมนุมสาธารณะ และในมาตรา 10 วรรค 2 บัญญัติว่า “ให้ถือว่าผู้เชิญชวนหรือนัดให้ผู้อื่นมาร่วมชุมนุมในวัน เวลา และสถานที่ที่กำหนดไม่ว่าด้วยวิธีการใดๆ รวมทั้งผู้ขออนุญาตใช้สถานที่หรือเครื่องขยายเสียงหรือขอให้ทางราชการอำนวยความสะดวกในการชุมนุมเป็นผู้ประสงค์จะจัดการชุมนุมตามวรรคหนึ่ง”

ในความเป็นจริงของการจัดการชุมนุม คณะผู้จัดการชุมนุมในฐานะที่เป็นผู้ริเริ่มให้มีการชุมนุมนั้นๆ อาจมีการแบ่งหน้าที่กัน เช่น การขออนุญาตใช้สถานที่ การขออนุญาตใช้เครื่องเสียง รวมถึงการประชาสัมพันธ์ ตามที่กฎหมายใช้คำว่า “เชิญชวนหรือนัดให้ผู้อื่นมาร่วมชุมนุม” การทำโปสเตอร์ในการประชาสัมพันธ์ ในสังคมปัจจุบัน อาจเป็นการทำรูปแบบของการโฆษณาการจัดชุมนุมโดยการเผยแพร่ในสื่อสาธารณะทั้งหลายได้ โดยยังคงอยู่ภายในขอบเขตของการเป็นทีมผู้จัดการชุมนุมที่ประสงค์จะให้เกิดการชุมนุมนั้นขึ้น โดยผู้ที่เชิญชวนต้องเป็นส่วนหนึ่งของผู้ประสงค์จะจัดการชุมนุมสาธารณะ ซึ่งต้องรู้ถึงรายละเอียดต่างๆ เช่น วัตถุประสงค์ วัน ระยะเวลา สถานที่ ดังที่กำหนดไว้ในมาตรา 10 วรรค 3 ได้ จึงจะเป็นผู้แจ้งการชุมนุมได้ตามวรรค 1 ได้

ดังนั้น ผู้ที่ทราบถึงการจัดชุมนุมแต่ไม่ได้เป็นผู้มีส่วนร่วมในคณะผู้จัดการชุมนุมดังที่กล่าวมาข้างต้น จึงไม่ควรจัดอยู่ในขอบเขตของผู้ประสงค์จะจัดการชุมนุมในขอบเขตของมาตรา 10 เพราะนอกจากจะไม่ทราบถึงข้อกำหนดในรายละเอียดของการชุมนุม ไม่ได้มีส่วนร่วมในการรับรู้ถึงการจัดการต่างๆ แล้วนั้น บางครั้งการเผยแพร่ข้อความในการชุมนุม แม้ว่าจะระบุข้อความเชิญชวนก็ไม่อาจทำให้กลายเป็นผู้ประสงค์จะจัดการชุมนุมไปได้ ยิ่งไปกว่านั้น การเป็นผู้พบเห็นการเผยแพร่ข้อความเกี่ยวกับการชุมนุมแล้วนำมาเผยแพร่ซ้ำในสื่อสาธารณะ อาจจะไปร่วมหรือไม่ได้ไปร่วมการชุมนุมหรือไม่ก็ได้ การกำหนดขอบเขตของผู้มีหน้าที่แจ้งการชุมนุมจึงควรจำกัดอยู่เพียงคณะผู้จัดการชุมนุมเท่านั้น

 

5. การตีความประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 ภายในระบอบประชาธิปไตย มาตรานี้บัญญัติว่า “ผู้ใดกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือหรือวิธีอื่นใดอันมิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต (1) เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกฎหมายแผ่นดินหรือรัฐบาล โดยใช้กำลังข่มขืนใจหรือใช้กำลังประทุษร้าย (2) เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร”

ตามหลักกฎหมายอาญานั้น การกระทำที่จะเป็นความผิดตามกฎหมายนั้นต้องปรากฏอย่างชัดเจนว่าบุคคลดังกล่าวได้กระทำการเข้าข่ายองค์ประกอบแห่งความผิดตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ ซึ่งกรณีของมาตรา 116 ต้องเป็นการกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนโดยมีความต้องการ หนึ่ง เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้วยการบังคับขืนใจหรือใช้กำลัง และสอง เพื่อให้เกิดความกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนจนถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบให้เกิดขึ้น

หากพิจารณาจากการกระทำของผู้ถูกกล่าวหาทั้งหมด ล้วนเป็นการแสดงออกที่เป็นไปตามเสรีภาพที่ได้รับการรับรองไว้ตามรัฐธรรมนูญ การเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออกจากตำแหน่งหรือการเรียกร้องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็เป็นการกระทำที่สามารถกระทำได้ โดยมิได้เป็นไปด้วยการใช้กำลังในลักษณะใดๆ อีกทั้งภายหลังจากการชุมนุมสาธารณะที่บริเวณข่วงประตูท่าแพ ผู้เข้าร่วมชุมนุมต่างก็เดินทางแยกย้ายกันไป โดยมิได้มีการรวมกลุ่มเพื่อไปก่อความไม่สงบเกิดขึ้นแต่อย่างใด ดังจะเห็นว่าภายหลังจากการชุมนุมเสร็จสิ้น ประชาชนทั่วไปก็สามารถดำเนินชีวิตต่อไปได้ตามปกติสุข การชุมนุมสาธารณะที่เกิดขึ้นจึงเป็นการใช้เสรีภาพตามบทบัญญัติที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้เป็นสำคัญ

 

 

X