แจ้งข้อหา ม.116-พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ 33 นศ.-ปชช. ชุมนุม #เชียงใหม่จะไม่ทน มากสุดตั้งแต่ชุมนุมปี 63

16 ก.พ. 64 จากกรณีพนักงานสอบสวนสภ.เมืองเชียงใหม่ ออกหมายเรียกนักศึกษา นักกิจกรรม และประชาชน 37 คน ที่เข้าร่วมการชุมนุม #เชียงใหม่จะไม่ทน ที่ข่วงประตูท่าแพ เมื่อวันที่ 29 ก.ค. 63 แม้การชุมนุมดังกล่าวจะผ่านมากว่าครึ่งปีแล้ว โดยหมายเรียกระบุข้อกล่าวหา “ร่วมกันทำให้เกิดความปั่นป่วน ล่วงละเมิดกฎหมาย, ร่วมชุมนุม หรือมั่วสุม ณ ที่ใดๆ”

หมายเรียกดังกล่าวออกโดยสารวัตรสอบสวนสภ.เมืองเชียงใหม่ ที่ไม่ได้ระบุชื่อชัดเจนในหมาย มีเพียงการลงลายมือชื่อเอาไว้ หมายระบุข้อความว่าเป็นเหตุจาก “กรณีเข้าร่วม flash mob เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2563 เวลาประมาณ 18.00 น. ณ ลานท่าแพ เชียงใหม่” และระบุว่ามีนายบัญชา บุญพยุง เป็นผู้กล่าวหา

ผู้ได้รับหมายเรียกทยอยเข้ารับทราบข้อกล่าวหาในวันนี้จำนวน 33 คน และบางรายที่ติดภารกิจจะเข้ารับทราบข้อหาในวันพรุ่งนี้ (17 ก.พ. 64) กรณีนี้นับเป็นการออกหมายเรียกจำนวนผู้ต้องหาในคดีเดียวมากที่สุดตั้งแต่เริ่มการชุมนุม #เยาวชนปลดแอก เป็นต้นมา

หมายเรียกของสภ.เมืองเชียงใหม่ ที่ “เยล” สุริยา แสงแก้วฝั้น นักต่อสู้เพื่อสิทธิคนพิการได้รับ

 

 

อาจารย์นศ.ปชช. รวมตัวให้กำลังใจ พร้อมแสดง Performance Art ด้านตร.คุมเข้ม

ก่อนวันรับทราบข้อกล่าวหา โลกออนไลน์มีการแชร์เอกสารบันทึกข้อความของ สภ.เมืองเชียงใหม่ ถึงผู้บัญชาการตำรวจภูธรจังหวัดเชียงใหม่ ลงนามโดย พ.ต.อ.ภูวนาถ ดวงดี ผู้กำกับ สภ.เมืองเชียงใหม่ ระบุมีการขอกำลังสนับสนุนภารกิจ เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดควบคุมฝูงชน 1 กองร้อย ในวันที่ 16 และ 17 ก.พ. และเพจของ สภ.เมืองเชียงใหม่ ยังมีการประชาสัมพันธ์ถึงการตั้งจุดคัดกรองและตั้งเต้นท์รับสถานการณ์การเข้ารับทราบข้อหาของนักศึกษาและประชาชนด้วย

วันนี้ตั้งแต่ก่อน 8.00 น. พบว่าตำรวจมีการกั้นแผงรั้วเหล็กหน้าป้าย สภ.เมืองเชียงใหม่ และกั้นตัวอาคารสถานีตำรวจ เว้นให้เหลือช่องจุดคัดกรองสำหรับคนผ่านเข้าออก และยังมีการตั้งเต้นท์พร้อมเก้าอี้สำหรับผู้ติดตามมาให้กำลังใจ และมีจุดลงทะเบียนสำหรับผู้จะเข้าออกสถานี’

 

 

เวลา 8.20 น. พบว่ามีเจ้าหน้าที่ตำรวจในเครื่องแบบไม่น้อยกว่า 50 นาย จัดกำลังบริเวณสถานีตำรวจ และยังมีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบกระจายตัวอยู่โดยรอบ ในร้านค้า-ร้านกาแฟ ทั้งยังพบว่ามีตำรวจหน่วยปฏิบัติการพิเศษตำรวจภูธรจังหวัดเชียงใหม่ ติดตัวอักษรย่อ “CMPD” ในชุดเครื่องแบบสีเขียวทหาร อยู่บริเวณ สภ.ด้วย

ขณะเดียวกันบนรั้วเหล็กที่ติดตั้งรอบอาคาร ตำรวจมีการติดป้ายห้ามนำสิ่งของต้องห้ามมาใน “พื้นที่ควบคุม” ระบุว่ามี “อาวุธโดยสภาพทุกชนิด, เครื่องขยายเสียง และป้ายข้อความหรือสัญลักษณ์อันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบ” โดยไม่ทราบแน่ชัดว่าการสั่งห้ามและกำหนดพื้นที่ควบคุมดังกล่าว อาศัยอำนาจตามกฎหมายฉบับใด

 

 

เวลา 9.30 น. ผู้ถูกออกหมายเรียก นักศึกษา และประชาชน ทยอยเดินทางมาที่ สภ.เมืองเชียงใหม่ เจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบได้พยายามเก็บอุปกรณ์ที่อาจแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ เช่น พานทองเหลือง รองเท้าบูท ไม่ให้นำเข้ามาในบริเวณสภ. ส่วนผู้เขียนป้ายข้อความมา ก็ไม่ให้เข้าในบริเวณ สภ. แต่ให้รออยู่ข้างนอกแทน ทั้งตำรวจยังประกาศให้งดจัดกิจกรรม และงดทำอาหารในสถานที่ราชการ

เวลา 9.55 น. นักศึกษาผู้ถูกออกหมายเรียกได้เดินทางมาแสดง Performance Art โดยนำสีขาวและสีฟ้ามาสาดตัวที่เปลือยเปล่า ก่อนค่อยๆ เดินเข้ามาในบริเวณ สภ.เมืองเชียงใหม่ ตำรวจมีการประกาศให้งดทำกิจกรรม และระบุขอให้มาให้กำลังใจเท่านั้น แต่นักศึกษายังคงแสดงต่อไป ทั้งยังมีผู้นำ “หม้อ” มาตี และนำดับเบิลเบสมาสีบริเวณสถานี

 

 

10.30 น. ระหว่างรอการรับทราบข้อหา นักศึกษาและประชาชนยังทยอยแสดง Performance Art หลายรูปแบบ ทั้งการเขียนป้ายผ้า การแสดงสด การแสดงเชิงสัญลักษณ์ ชูสามนิ้ว ตะโกนศักดินาจงพินาศฯ การใส่กระสอบเดิน  เป็นต้น โดยตำรวจพยายามประกาศเตือนไม่ให้ทำกิจกรรม ขอให้เก็บสิ่งของ “ต้องห้าม” และขอให้อยู่ในความสงบ พร้อมจะให้เทศบาลนำรถฉีดน้ำมาล้างสีที่เปื้อน และพยายามยึดป้ายผ้าที่นักศึกษานำมาแสดง แต่ประชาชนเคาะหม้อตอบสนอง ต่อมายังมีการนำกำลังตำรวจในเครื่องแบบเข้ามาเสริมในสถานีตำรวจ

 

แจ้งข้อหา พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ม.116 “ยุยงปลุกปั่น” ทั้ง 37 ราย แม้แต่ผู้ไปร่วมชุมนุมเฉยๆ

ขณะที่ในการแจ้งข้อกล่าวหา เจ้าหน้าที่ตำรวจได้จัดห้องประชุมชั้นสามของสถานีตำรวจ เป็นสถานที่รับทราบข้อกล่าวหา พร้อมจัดชุดผู้ต้องหาให้ทยอยขึ้นรับทราบข้อกล่าวหา โดยมีชุดพนักงานสอบสวนประมาณ 15 คน คอยดำเนินกระบวนการ และให้ทนายความของผู้ต้องหารายละ 1 คน พร้อมกับผู้ไว้วางใจ 1 คน ติดตามเข้าไปในสถานีได้

สำหรับผู้เข้ารับทราบข้อกล่าวหาในวันนี้มีทั้งหมด 33 คน มีทั้งนักศึกษา นักกิจกรรมในจังหวัดเชียงใหม่ นักต่อสู้เพื่อสิทธิคนพิการ นักต่อสู้เพื่อความหลากหลายทางเพศ แกนนำและมวลชนกลุ่มคนเสื้อแดงในจังหวัดเชียงใหม่ โดยยังเหลือผู้ถูกออกหมายเรียกอีก 4 ราย ที่ยังไม่ได้เดินทางมาในวันนี้

ทั้งหมดถูกแจ้งข้อกล่าวหาใน 3 ข้อหา ได้แก่ ข้อหายุยงปลุกปั่น ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 (2) และ (3) (โทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี), ข้อหาฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ (โทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาท) และข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ มาตรา 34 (6) (โทษปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท)

พนักงานสอบสวนระบุพฤติการณ์ว่าเมื่อวันที่ 3 เมษายน 2563 หัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคง ได้ประกาศห้ามการชุมนุม การทำกิจกรรม หรือการมั่วสุมในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค ณ ที่ใดๆ ทั่วราชอาณาจักร และยังไม่ได้มีการยกเลิกประกาศดังกล่าว และในช่วงดังกล่าวยังมีโรคระบาดโควิด-19 ระบาดอยู่ เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อได้มีคำสั่งห้ามกระทำการหรือดำเนินการใดๆ ซึ่งอาจเป็นเหตุให้โรคแพร่ะระบาดออกไป

เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2563 นายธนาธร วิทยเบญจางค์ กับพวก ได้ร่วมกันโพสต์ข้อความผ่านเพจเฟซบุ๊ก “พรรควิฬาร์” ชักชวนประชาชนทั่วไปให้มาร่วมชุมนุมกัน ทำกิจกรรม และรับอาสาสมัครนักร้องในเวทีชุมนุม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพูดจาปราศรัยประเด็นเกี่ยวกับการทำงานของรัฐบาล ที่ลานอเนกประสงค์ท่าแพ จังหวัดเชียงใหม่

ต่อมาวันที่ 29 กรกฎาคม 2563 เวลาประมาณ 17.00 – 20.30 น. ผู้ต้องหากับพวก และประชาชนทั่วไป ประมาณ 200 คน (แต่ระบุตัวได้จำนวน 40 คน) ได้ร่วมกันมาชุมนุมที่ลานอเนกประสงค์ท่าแพ โดยมี 5 แกนนำขึ้นปราศรัยโดยใช้เครื่องขยายเสียงด้วยกำลังไฟฟ้าโดยไม่ได้รับอนุญาต พูดปราศรัยวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาล ร่วมกันชูป้ายและร้องเพลง ร่วมกันแสดงสัญลักษณ์ชูสามนิ้ว พร้อมเปิดไฟแฟลตโทรศัพท์มือถือ

การกระทำของผู้ต้องหากับพวกเป็นความผิดฐาน “ร่วมกันทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือหรือวิธีอื่นใด เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร หรือเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน, ร่วมกันชุมนุมทำกิจกรรมหรือมั่วสุม ณ ที่ใดๆ ในสถานที่แออัด หรือกระทำการอันเป็นยุยงให้เกิดความไม่เรียบร้อย ภายในพื้นที่ที่หัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคงประกาศกำหนด, ร่วมกันกระทําการหรือดําเนินการใด ๆ ซึ่งอาจก่อให้เกิดสภาวะที่ไม่ถูกสุขลักษณะซึ่งอาจเป็นเหตุให้โรคติดต่ออันตรายหรือโรคระบาดแพร่ออกไป”

ผู้ต้องหาที่เข้ารับทราบข้อกล่าวหา ได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และจะให้การเป็นหนังสือเพิ่มเติมต่อไปภายใน 30 วัน พนักงานสอบสวนได้ให้ทั้งหมดพิมพ์ลายนิ้วมือและปล่อยตัวไป โดยไม่มีการควบคุมตัวไว้

ทั้งนี้ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนมีข้อสังเกตว่าในการบรรยายพฤติการณ์ข้อกล่าวหา ไม่มีการระบุชัดเจนว่าพฤติการณ์หรือการกระทำใดที่เข้าข่ายข้อหาตามมาตรา 116 โดยที่นักศึกษาและประชาชนแทบทั้งหมดเพียงแต่ไปร่วมการชุมนุมเท่านั้น ไม่ได้กล่าวปราศรัยหรือเป็นแกนนำในการจัดชุมนุม หรือแม้แต่แกนนำนักศึกษาที่ร่วมปราศรัยก็ไม่ได้มีการระบุชัดเจนว่าคำปราศรัยใดที่เข้าข่ายความผิดข้อหามาตรา 116 ทั้งพฤติการณ์ตามข้อเท็จจริงการชุมนุมดังกล่าวก็เป็นไปโดยสงบเรียบร้อย ไม่ได้มีเหตุวุ่นวายใดๆ เกิดขึ้น การแจ้งข้อกล่าวหาดังกล่าวต่อนักศึกษาประชาชนจำนวนมากเช่นนี้ จึงเข้าข่ายการตั้งข้อกล่าวหาเกินจริงและไม่เป็นธรรม

 

 

3 แกนนำนักศึกษายังโดนแจ้ง 5 ข้อหา จากการชุมนุม #ม็อบ17พฤศจิกา เรียกร้องเจ้าหน้าที่หยุดใช้ความรุนแรง

ขณะเดียวกัน สามแกนนำนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้แก่ ธนาธร วิทยเบญจางค์, วัชรภัทร ธรรมจักร และวิธญา คลังนิล ยังได้ถูกพนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหาในอีกคดีหนึ่ง จากการชุมนุม #ม็อบ17พฤศจิกา ซึ่งมีการเดินขบวนจากอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ไปยัง สภ.เมืองเชียงใหม่ เพื่อแจ้งความดำเนินคดีเรื่องการปฏิบัติหน้าที่มิชอบ กับเจ้าหน้าที่ที่ใช้ความรุนแรงเข้าสลายการชุมนุมที่หน้ารัฐสภา ในกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 17 พ.ย. 63 โดยคดีมี พ.ต.ท.มนัสชัย อินทร์เถื่อน รองผู้กำกับสืบสวน สภ.เมืองเชียงใหม่ เป็นผู้กล่าวหา

พ.ต.ท.สมคิด ภูสด สารวัตร (สอบสวน) สภ.เมืองเชียงใหม่ ได้แจ้งข้อหา 5 ข้อหาต่อทั้งสามคน ได้แก่ ข้อหาตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ เดินขบวนและเคลื่อนย้ายการชุมนุมหลัง 18.00 น., ชุมนุมมั่วสุมฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, ฝ่าฝืน พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ มาตรา 34 (6), ใช้เครื่องเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต และเดินขบวนกีดขวางการจราจร ตาม พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ มาตรา 108

พนักงานสอบสวนกล่าวหาว่าผู้ต้องหาทั้งสามคน พร้อมประชาชนประมาณ 200 คน (แต่ระบุตัวได้จำนวน 3 คน) ได้ร่วมกันชุมนุมที่อนุสาวรีย์สามกษัตริย์ เมื่อวันที่ 17 พ.ย. 63 เวลา 17.20 น. โดยไม่มีการป้องกันโรคติดต่ออันตราย และได้พูดผ่านเครื่องขยายเสียงที่ติดตั้งไว้บนรถยนต์กระบะ โดยไม่ได้รับอนุญาต และมีประชาชนสวมเสื้อกันฝน ถือร่ม มาร่วมชุมนุมหรือมั่วสุมตามที่ผู้จัดชักชวน

เวลา 19.05 น. ผู้ต้องหากับพวกได้นำมวลชนเคลื่อนย้ายไปยังสภ.เมืองเชียงใหม่ โดยให้ผู้ร่วมชุมนุมเดินบนถนนพระปกเกล้า และถนนราชดำเนิน อันมีลักษณะกีดขวางการจราจร จากนั้นผู้ต้องหาได้ร่วมกันทำกิจกรรมโดยขอลงบันทึกประจำวัน พูดปราศรัยและถ่ายรูปร่วมกันที่หน้า สภ. ก่อนที่เวลา 20.18 น. จะทยอยแยกย้ายกันกลับ ผู้กล่าวหาซึ่งปฏิบัติหน้าที่ชุดความมั่นคงงานสืบสวน สภ.เมืองเชียงใหม่ พบว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการฝ่าฝืนและเข้าข่ายมีความผิดตามกฎหมาย จึงได้เข้าร้องทุกข์กล่าวโทษไว้

ทั้งสามคนได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และจะให้การเพิ่มเติมเป็นหนังสือต่อไปภายใน 30 วัน แต่ทางพนักงานสอบสวนระบุว่าคดีมีอัตราโทษในเขตอำนาจของศาลแขวงเชียงใหม่ จึงจะนัดหมายส่งสำนวนให้กับพนักงานอัยการในวันที่ 8 มี.ค. 64

กระบวนรับทราบข้อกล่าวหาทั้งสองคดีเสร็จสิ้นในเวลาประมาณ 13.00 น.

 

 

เผยผู้แจ้งความเป็นหัวหน้ากลุ่ม “คนรักแผ่นดิน” พยายามแจ้งความผู้ชุมนุมในหลายพื้นที่

สำหรับการชุมนุมที่ข่วงประตูท่าแพ เมื่อวันที่ 29 ก.ค. 63 นั้น จัดขึ้นโดยกลุ่มพรรควิฬาร์ ในชื่อ #เชียงใหม่จะไม่ทน โดยเป็นการจัดการชุมนุมครั้งที่ 2 ในจังหวัดเชียงใหม่ ภายหลังจากเริ่มการชุมนุมของเยาวชนปลดแอกในเดือนกรกฎาคมเป็นต้นมา ในการชุมนุมครั้งแรกที่ประตูท่าแพ เมื่อวันที่ 19 ก.ค. 63 มีแกนนำนักศึกษา 4 คน ถูกกล่าวหาดำเนินคดีในข้อหาฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ ตั้งแต่หลังการชุมนุมไม่นาน ซึ่งปัจจุบันคดียังอยู่ในชั้นอัยการ

ขณะที่การชุมนุมดังกล่าวผ่านมา 6 เดือนกว่าแล้ว ก็ยังไม่มีรายงานว่าทำให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เกิดขึ้นแต่อย่างใด ทั้งกลับเพิ่งมีการออกหมายเรียกผู้เข้าร่วมชุมนุมไปรับทราบข้อกล่าวหา และยังเป็นการออกหมายเรียกบุคคลจำนวนมากที่สุดในคดีเดียวตั้งแต่หลังการชุมนุมเยาวชนปลดแอกเป็นต้นมา

ในส่วนนายบัญชา บุญพยุง ซึ่งเป็นผู้แจ้งความกล่าวหาในคดี พบว่าประกอบอาชีพเป็นทนายความ เคยเคลื่อนไหวในนามหัวหน้ากลุ่ม “คนรักแผ่นดินเกิด” และมีรายงานข่าวว่าเคยเข้าแจ้งความกล่าวหาบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวกับการชุมนุมทางการเมืองของเยาวชนปลดแอกและกลุ่มอื่นๆ ที่ สน.สำราญราษฎร์ ในช่วงปลายเดือนกรกฎาคม 2563 และเคยเข้าแจ้งความอธิการบดีและรองอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ สภ.คลองหลวง โดยอ้างว่าสนับสนุนการชุมนุม #ธรรมศาสตร์จะไม่ทน ซึ่งมีการปราศรัยเรื่องสถาบันกษัตริย์ ในช่วงเดือนสิงหาคม 2563 ด้วย

 

X