24 ก.ค. 2563 จะมีการสืบพยานจำเลยนัดแรกที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ ในคดี 9 แกนนำ MBK39 หรือคดีชุมนุมของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งที่สกายวอล์คแยกปทุมวัน หน้า MBK Center เมื่อวันที่ 27 ม.ค. 2561 หลังจากมีการเลื่อนมาจากเดือนมีนาคม เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19
นับตั้งแต่มีการแจ้งข้อกล่าวหาเมื่อวันที่ 8 ก.พ. 2561 เป็นเวลาเกือบ 2 ปีครึ่งแล้ว คดีนี้ยังไม่เสร็จสิ้น ยังต้องสืบพยานจำเลยอีก 12 ปาก ในวันที่ 24 ก.ค., 13-14 ส.ค., 22 ก.ย. และ 15 ต.ค. 2563 ก่อนหน้านี้ศาลได้สืบพยานโจทก์ไปแล้ว 12 ปาก รวม 10 นัด ในช่วงเดือน มิ.ย. 2562 จนถึง มี.ค. 2563
จากชุมนุมค้านเลื่อนเลือกตั้งครั้งแรก สู่คดีแรกของ “คนอยากเลือกตั้ง” ลากยาวมากว่า 2 ปี
เย็นวันที่ 27 ม.ค. 2561 กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย (DRG) และกลุ่ม Start Up People นัดจัดกิจกรรม ‘หยุดยื้อเลือกตั้ง หยุดสืบทอดอำนาจ’ ครั้งแรก ที่สกายวอล์คปทุมวัน หน้า MBK Center เพื่อเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จัดการเลือกตั้งตามที่ได้ให้คำมั่นสัญญาไว้ หลังสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช). มีมติขยายเวลาการบังคับใช้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ออกไป 90 วัน ทำให้โรดแมปที่ พล.อ.ประยุทธ์ เคยประกาศไว้ว่าน่าจะจัดการเลือกตั้งประมาณเดือนพฤศจิกายน 2561 ต้องเลื่อนออกไปเป็นปี 2562 ในวันนั้นนอกจากจะมีข่าวว่าตำรวจจะไม่ใช้กำลังเข้าจับกุมแล้ว ยังมีการขอกับผู้เข้าร่วมให้ขยับจุดที่ยืนกันอยู่บนสกายวอล์คช่วงบริเวณทางเข้าห้างสรรพสินค้า MBK และหอศิลป์ ไปที่บริเวณลานกว้างกลางแยกสี่แยกปทุมวันแทน กิจกรรมดำเนินไปจนเสร็จสิ้นในเวลาประมาณ 20.00 น. พร้อมประกาศนัดชุมนุมครั้งต่อไปในวันที่ 10 ก.พ. 2561 ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย
การชุมนุมเรียกร้องการเลือกตั้งครั้งแรกของประชาชน ที่ต่อมาถูกเรียกขานว่า “กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง” นำมาซึ่งการถูกดำเนินคดีเป็นคดีแรก จากนั้น การชุมนุมอีกหลายครั้งต่อมา ก็ถูกทั้งผู้รับมอบอำนาจจาก คสช.และตำรวจดำเนินคดี หลัก ๆ รวม 10 คดี มีประชาชนถูกดำเนินคดี 130 ราย
ในคดีจากการชุมนุมครั้งแรกที่สกายวอล์คปทุมวัน หน้า MBK Center มีผู้ถูกดำเนินคดีทั้งหมด 39 ราย เป็นที่มาของชื่อคดี MBK39 แยกเป็นกลุ่มซึ่งถูกระบุว่าเป็นแกนนำรวม 9 ราย ถูกดำเนินคดีในข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ข้อ 12 ห้ามชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป, ยุยงปลุกปั่น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 และจัดการชุมนุมสาธารณะในรัศมี 150 เมตร จากวังของพระบรมวงศ์ฯ ตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 อีกกลุ่มหนึ่งเป็นกลุ่มผู้ชุมนุมรวม 30 ราย ซึ่งถูกในข้อหาเช่นเดียวกับแกนนำ ยกเว้นข้อหายุยงปลุกปั่น
ในส่วนของผู้ชุมนุมนั้น คดีจบไปแล้ว โดยจำเลย 2 ราย ที่รับสารภาพ ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้ลงโทษตาม พ.ร.บ.ชุมนุมฯ จำคุก 6 วัน และปรับ 3,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษ 1 ปี แม้นพเก้าจะยื่นอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ก็พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ขณะที่ผู้ชุมนุมอีก 28 ราย ซึ่งยืนยันให้การปฏิเสธ อัยการและสำนักงานตำรวจแห่งชาติมีความเห็นพ้องกันสั่งไม่ฟ้องคดี หลังจากคดีดำเนินมากว่า 1 ปี 9 เดือน เนื่องจากคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ข้อ 12 ถูกยกเลิกไปแล้ว และเห็นว่า ผู้ต้องหาเป็นเพียงผู้ร่วมชุมนุม พฤติการณ์ไม่ถึงขนาดจะฟังได้ว่าเป็นผู้สนับสนุนผู้จัดการชุมนุม รวมทั้งการชุมนุมเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มาตรา 44
หากแต่คดีของกลุ่มที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นแกนนำยังเดินหน้าต่อไป จำเลยซึ่งต่างเป็นนักกิจกรรมที่เคลื่อนไหวต่อต้าน คสช. ในวาระโอกาสต่างๆ อันได้แก่ วีระ สมความคิด, รังสิมันต์ โรม, สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์, ณัฏฐา มหัทธนา, อานนท์ นำภา, เอกชัย หงส์กังวาน, สุกฤษฎ์ เพียรสุวรรณ, เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล และสมบัติ บุญงามอนงค์ ต้องต่อสู้คดีในศาลนานกว่า 2 ปีแล้ว โดยที่คดีอื่นๆ ของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งที่ถูกดำเนินคดีทีหลัง ทยอยจบหรือมีคำพิพากษากันไปแล้วหลายคดี นอกจากคดีผู้ชุมนุม MBK39 ที่อัยการไม่ฟ้อง ก็มีคดีชุมนุมที่ถนนราชดำเนิน หรือ RDN50 ซึ่งอัยการถอนฟ้องคดี ในส่วนของผู้ชุมนุม และศาลยกฟ้อง 6 แกนนำ, คดีการชุมนุมที่หน้ามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หรือ CMU06 ที่ศาลพิพากษายกฟ้องข้อหาชุมนุมทางการเมือง แต่ปรับฐานใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต
นอกจากนี้ยังมีคดีผู้ชุมนุมหน้ากองทัพบก หรือ ARMY57 ที่ศาลพิพากษายกฟ้องผู้ชุมนุม 45 คน ยกเว้น “ลูกเกด” ชลธิชา แจ้งเร็ว ที่ศาลสั่งปรับ 1,000 บาท ฐานเป็นผู้จัดการชุมนุม แต่ไม่สามารถดูแลและควบคุมผู้ชุมนุมได้ ซึ่งลูกเกดยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาอยู่ และคดีชุมนุมที่พัทยา ซึ่งศาลยกฟ้องผู้ชุมนุม 9 คน แต่ปรับ “นิว” สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ และผู้ร่วมชุมนุมอีก 2 คน คนละ 3,000 บาท ฐานร่วมกันจัดการชุมนุมโดยไม่แจ้งก่อนล่วงหน้า โดยคดีนี้จะอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในวันที่ 30 ก.ค. ที่จะถึงนี้
ฟ้อง 9 แกนนำ 3 ข้อหา ภายหลังจำหน่ายข้อหาฝ่าฝืน 3/58 เหตุกฎหมายถูกยกเลิกไปแล้ว
พนักงานอัยการสำนักงานคดีอาญากรุงเทพใต้ได้ยื่นฟ้องคดีแกนนำ MBK39 เป็นสองคดี เนื่องจากจำเลยมีวันว่างไม่ตรงกัน โดยยื่นฟ้องวีระ สมความคิด เมื่อวันที่ 22 ต.ค. 2561 และยื่นฟ้องคนอื่นๆ อีก 8 คน เมื่อวันที่ 1 พ.ย. 2561 ต่อมา ศาลมีคำสั่งให้รวมการพิจารณาคดีเข้าด้วยกัน เนื่องจากคดีทั้งสองมีมูลเหตุเดียวกัน พยานหลักฐานชุดเดียวกัน
คำฟ้องบรรยายว่าเมื่อวันที่ 25 ม.ค. 61 จำเลยทั้ง 9 ได้ร่วมกันแชร์โพสต์ในเฟซบุ๊กของกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย Democracy Restoration Group มีข้อความว่า “นัดรวมพล ประชาชนอยากเลือกตั้ง แสดงพลังต้านสืบทอดอำนาจ คสช. ในวันเสาร์ที่ 27 ม.ค. 61 เวลา 17.30 น. ที่สกายวอล์คปทุมวัน” และในวันที่ 26 ม.ค. 61 จำเลยกับพวกได้ร่วมกันโพสต์ข้อความนัดหมายอีกครั้ง นอกจากนั้นจำเลยกับพวกยังได้ร่วมกันจัดงานเสวนาพูดคุยและแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองก่อนที่จะไปรวมตัวกันต่อต้านรัฐบาลและ คสช. ที่สกายวอล์ค
ในคำฟ้องยังบรรยายอีกว่า ต่อมาวันที่ 27 ม.ค. 61 จำเลยกับพวกได้ร่วมกันจัดการชุมนุมสาธารณะกับกลุ่มประชาชนที่สกายวอล์ค ซึ่งเป็นที่สาธารณประโยชน์ และอยู่ห่างจากวังสระปทุม อันเป็นวังของพระบรมวงศ์ ในรัศมี 148.53 เมตร โดยจำเลยกับพวกได้ผลัดกันปราศรัยโจมตีการทำงานรัฐบาลและ คสช. ว่ามีการทุจริต ใช้อำนาจโดยไม่เป็นธรรม และเลื่อนการเลือกตั้ง พร้อมกับปลุกระดมชักชวนประชาชนให้ออกมาร่วมชุมนุมในครั้งต่อไปให้มาก ๆ ขึ้น อันเป็นการสร้างความวุ่นวาย ทั้งนี้ เพื่อร่วมกันโค่นล้มและขับไล่รัฐบาลและ คสช. ซึ่งอยู่ในห้วงเวลาที่ใกล้จะมีการจัดการเลือกตั้งแล้ว
การกระทำของจำเลยกับพวกจึงเป็นการร่วมกันชุมนุมทางการเมืองในที่สาธารณประโยชน์ และเป็นการกระทำที่มีเจตนาอันมิใช่ในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน ถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร หรือเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน โดยได้ชุมนุมตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป และการชุมนุมดังกล่าวอยู่ห่างจากวังสระปทุมซึ่งเป็นวังของพระบรมวงศ์ในรัศมี 150 เมตร อันถือเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116, พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ มาตรา 7 และคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ข้อ 12 (ดูคำฟ้องฉบับเต็ม)
จำเลยทั้งเก้าให้การปฏิเสธ ขอต่อสู้คดี โดยยืนยันว่า การชุมนุมเป็นไปโดยชอบภายใต้รัฐธรรมนูญ จำเลยไม่ได้ยุยงปลุกปั่นหรือก่อให้เกิดความกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน โดยคดีนี้ศาลมีคำสั่งให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยทั้งหมดโดยไม่ใช้หลักทรัพย์ประกัน
ทั้งนี้ หลังมีคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 22/2561 ลงวันที่ 11 ธ.ค. 2561 ให้ยกเลิกคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 ข้อ 12 ซึ่งเป็นข้อกล่าวหาในคดีนี้ ทนายจำเลยได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลจำหน่ายข้อหาดังกล่าว เนื่องจากบทบัญญัติถูกยกเลิกไปแล้ว แต่ศาลมีคำสั่งให้ยกคำร้อง เนื่องจากเห็นพ้องกับโจทก์ว่า คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 22/2561 ระบุข้อยกเว้นไว้ว่า ให้การยกเลิกประกาศ/คำสั่ง คสช. และคำสั่งหัวหน้า คสช. ไม่กระทบกระเทือนถึงการดำเนินคดีที่ได้กระทำไปก่อนที่จะมีคำสั่งนี้ อย่างไรก็ตามในระหว่างการสืบพยานโจทก์ ศาลได้มีคำสั่งให้จำหน่ายข้อหานี้ไปแล้ว
ขณะที่เอกชัย หงส์กังวาน จำเลยที่ 6 ได้ยื่นคำร้องขอความเป็นธรรมต่ออัยการสูงสุด เพื่อขอให้อัยการสูงสุดพิจารณามีคำสั่งให้ถอนฟ้องคดีนี้ ขณะนี้คำร้องยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของอัยการสูงสุด
ในการสืบพยานโจทก์ 12 ปาก ซึ่งได้แก่ พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ ผู้กล่าวหา, ทหารที่แฝงตัวอยู่ในที่ชุมนุม 1 นาย, ตำรวจที่แฝงตัวในที่ชุมนุม 3 นาย, อดีตผู้อำนวยการสำนักงานเขตปทุมวัน, เจ้าหน้าที่โยธาจากสำนักงานเขตปทุมวัน, รอง ผอ.สำนักงานจราจรและการขนส่งกรุงเทพฯ, ทนายความ, เจ้าหน้าที่จากราชบัณฑิตยสภา และพนักงานสอบสวนในคดีนี้ รวมทั้งพนักงานสอบสวนในคดี RDN มีประเด็นต่างๆ ที่น่าสนใจดังนี้
การชุมนุมเป็นไปโดยสงบ ปราศจากอาวุธ ใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ
โจทก์นำพยานในที่เกิดเหตุ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบทั้งทหารและตำรวจที่แฝงตัวอยู่ในที่ชุมนุมเข้าเบิกความรวม 4 นาย พยานโจทก์ทั้งสี่เบิกความต่อศาลในทำนองเดียวกันคล้ายคำฟ้องของโจทก์ว่า ในวันที่ 25 ม.ค. 61 พยานพบว่ามีการโพสต์ในเฟซบุ๊กเชิญชวนให้คนมาร่วมชุมนุมกันที่บริเวณสกายวอล์ค แยกปทุมวัน ในวันที่ 27 ม.ค. 61 เวลา 16.00 น. พยานจึงลงพื้นที่โดยแต่งกายนอกเครื่องแบบปะปนไปกับกลุ่มผู้ชุมนุม เวลาประมาณ 17.00 น. จำเลย 6 คน ได้ปราศรัยผ่านโทรโข่งโจมตี คสช. พร้อมทั้งเรียกร้องให้ประชาชนออกมาชุมนุมต่อต้านการสืบทอดอำนาจของ คสช. และเร่งให้มีการเลือกตั้งโดยเร็ว มีนายเอกชัยชูภาพนาฬิกา พล.อ.ประวิตร ส่วนนายวีระ และนายสมบัติ ยืนให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน พยานได้ถ่ายภาพและบันทึกเสียงทั่วไป รวมทั้งบันทึกภาพการพูดของแต่ละบุคคลไว้ด้วย หลังจากนั้น ส.อ.ศราวุธ ดวงแก้ว ซึ่งเป็นผู้ถอดเทปคำปราศรัยไว้ตามคำสั่งผู้บังคับบัญชา เห็นว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการยุยงปลุกปั่นจึงรายงานให้ผู้บังคับบัญชาทราบ
ส.อ.ศราวุธ ยังเบิกความด้วยว่า ก่อนหน้าการชุมนุมได้ไปที่งานเสวนาที่สวนครูองุ่น ซอยทองหล่อ ซึ่งจัดขึ้นในช่วงบ่ายวันเดียวกัน ในงานเสวนามีการถึงการคอรัปชั่น 4.0 โดยนายวีระไปเป็นวิทยากร หลังจบงาน คนกลุ่มหนึ่งได้เดินทางมาชุมนุมต่อที่สกายวอล์ค แยกปทุมวัน
พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ ผู้กล่าวหาจำเลยทั้งเก้าในคดีนี้ ก็เบิกความในลักษณะเดียวกับพยานผู้อยู่ในเหตุการณ์ พร้อมทั้งระบุว่า การที่จำเลยทั้งเก้าปราศรัยและให้สัมภาษณ์โจมตีรัฐบาล และ คสช. ว่าไม่ยอมจัดการเลือกตั้ง และเรียกร้องให้คนออกมาชุมนุมกดดันให้จัดการเลือกตั้งภายในปี 61 ไปจนถึงขับไล่รัฐบาล และ คสช. เป็นการเรียกคนมาชุมนุม อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมายและทำให้เกิดความไม่สงบในบ้านเมือง ซึ่งในขณะนั้นมีคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ที่ห้ามชุมนุม ประกอบกับมี พ.ร.บ.ชุมนุมฯ และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 พยานจึงได้เข้าแจ้งความดำเนินคดีจำเลยทั้งเก้า โดยได้รับมอบอำนาจจาก คสช.
พยานเจ้าหน้าที่เหล่านี้ รวมทั้งพยานโจทก์ปากอื่นๆ ยอมรับตรงกันว่าการชุมนุมครั้งนี้เป็นไปโดยสงบ ปราศจากอาวุธ ไม่มีความวุ่นวาย หรือก่อให้เกิดความเสียหาย และการชุมนุมโดยสงบเป็นสิทธิที่ได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญและกติการะหว่างประเทศ
มีการพูดคุยแบ่งงานกันทำที่สวนครูองุ่น?
พ.อ.บุรินทร์ ยังได้เบิกความต่อศาลในทำนองว่า นายวีระกับกลุ่มที่ร่วมชุมนุมมีการประชุมเตรียมการกันที่สวนครูองุ่น แต่ภายหลัง พ.อ.บุรินทร์ยอมรับกับทนายจำเลยว่า ไม่ได้ไปสังเกตการณ์ทั้งที่สวนครูองุ่น และที่สกายวอล์ค จึงไม่ทราบในรายละเอียดของเหตุการณ์ในทั้งสองที่ เพียงแต่ดูเอกสารการถอดเทปและคลิปเหตุการณ์ ซึ่งพยานไม่ได้ให้การไว้กับพนักงานสอบสวนเช่นนี้ ทั้งยังมี ส.อ.ศราวุธ พยานคนเดียวที่ได้ไปสังเกตการณ์ที่สวนครูองุ่น เบิกความว่า จำไม่ได้ว่า มีการพูดชักชวนให้มาชุมนุมกันที่สกายวอล์คหรือไม่ แต่ไม่เห็นว่า แกนนำกลุ่มมีการตกลงแบ่งหน้าที่กันทำ สอดคล้องกับที่ พ.ต.ท.สมัคร ปัญญาวงศ์ พนักงานสอบสวน เบิกความว่า จากการสอบสวนไม่มีรายงานว่า ที่สวนครูองุ่นมีการพูดคุยแบ่งงานกันทำก่อนไปชุมนุมที่สกายวอล์ค
การเรียกร้องการเลือกตั้งและวิจารณ์รัฐบาลอยู่ในความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญ
พยานโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ ทั้งสายข่าวที่แฝงตัวในที่ชุมนุม ผู้กล่าวหา และพนักงานสอบสวน ยังยอมรับว่า การที่ผู้ชุมนุมมีการเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งและการปกครองตามระบอบประชาธิปไตย รวมทั้งต่อต้านการคอรัปชั่นหรือวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาล เป็นการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ และอยู่ในความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่การยุยงให้เกิดความกระด้างกระเดี่อง
อย่างไรก็ตาม ในการตอบคำถามทนายจำเลยในรายละเอียดของถ้อยคำที่จำเลยปราศรัยหรือให้สัมภาษณ์ พยานเจ้าหน้าที่เหล่านี้ ส่วนใหญ่จะระบุว่า จำไม่ได้ว่าจำเลยแต่ละคนปราศรัยเรื่องอะไร และเลี่ยงที่จะไม่ยืนยันว่า ถ้อยคำปราศรัยของจำเลยในเรื่องการทุจริตของ คสช.เป็นข้อเท็จจริงหรือไม่ หรือแม้กระทั่งไม่ยืนยันว่า คสช.เป็นเผด็จการหรือไม่ โดยเฉพาะ พ.อ.บุรินทร์ ระบุว่า ไม่ทราบเรื่องการทุจริตในโครงการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์และการจัดซื้อ GT200 ทั้งไม่แน่ใจว่าการทุจริตของ พล.อ.ประวิตร ในเรื่องนาฬิกา และของ พล.อ.ประยุทธ์ ในเรื่องการขายที่ดิน เป็นเรื่องจริงหรือไม่ แต่เจ้าหน้าที่บางคนรับว่า เรื่องดังกล่าวก็มีปรากฏเป็นข่าววิพากษ์วิจารณ์โดยทั่วไป ส่วนในเรื่องการเลื่อนเลือกตั้ง พยานต่างยอมรับว่า รัฐบาลมีการเลื่อนเลือกตั้งจริง แต่ พ.อ.บุรินทร์ ระบุว่า รัฐบาลก็กำลังทำตามโรดแมป ดังนั้น การวิพากษ์วิจารณ์ในเรื่องดังกล่าวจึงเป็นการกล่าวโจมตีรัฐบาล
นอกจากนี้ พยานเจ้าหน้าที่ยังมักจะหลีกเลี่ยงที่จะแสดงความเห็นตอบทนายจำเลยว่า ถ้อยคำที่ปราศรัย ให้สัมภาษณ์ รวมทั้งโพสต์เชิญชวนมาชุมนุมในเฟซบุ๊ก มีลักษณะยุยงปลุกปั่นหรือไม่ จะมีคำพูดที่หยาบคายหรือก่อให้เกิดความรุนแรง หรือทำลายสถานที่ราชการ อันจะเป็นความผิดตามมาตรา 116 หรือไม่ โดยมีการระบุว่า เป็นดุลพินิจของพนักงานสอบสวน แต่ในหลายครั้งพยานเจ้าหน้าที่ก็ยอมรับว่า การปราศรัยของจำเลยไม่มีข้อความปลุกระดม หรือยุยงปลุกปั่น อีกทั้งหลายนายยังระบุว่า ไม่รู้ว่ามีการแจ้งข้อหาตามมาตรา 116 จากเหตุชุมนุมในครั้งนี้
ทั้งนี้ ส.อ.ศราวุธ ตอบคำถามทนายจำเลยว่า ที่พยานเบิกความในตอนแรกว่า หลังถอดเทปคำปราศรัยของจำเลยแล้วพยานเห็นว่า ถ้อยคำมีลักษณะยุยงปลุกปั่นจึงรายงานผู้บังคับบัญชานั้น เป็นเพียงการแสดงความเห็นส่วนตัว ไม่ใช่หน้าที่ของพยานโดยตรง
พนักงานสอบสวนจัดพิมพ์บันทึกคำให้การพยานขึ้นเอง
ขณะที่ บดีศร เผ่าสุทอ ทนายความอาสา ประจำสถานีตำรวจต่าง ๆ ในกรุงเทพฯ ซึ่งพนักงานสอบสวน สน.ปทุมวัน เรียกมาให้ความเห็นต่อถ้อยคำดังกล่าวของจำเลยทั้ง 9 คน เบิกความต่อศาลว่า ในชั้นสอบสวนพยานอ่านถ้อยคำแล้วให้ความเห็นเหมือนกันทุกถ้อยคำว่า อาจผิดกฎหมาย มาตรา 116, คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/58, และ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ เนื่องจากใกล้วังน้อยกว่า 150 เมตร
ต่อมา บดีศรเบิกความตอบคำถามค้านของทนายจำเลยว่า ไม่ได้ไปชุมนุม และไม่ทราบว่ามีการชุมนุมดังกล่าว คำให้การชั้นสอบสวนของพยานที่ระบุและให้ความเห็นเกี่ยวกับการชุมนุม เป็นข้อความที่พนักงานสอบสวนจัดพิมพ์ขึ้นเอง ในส่วนความเห็นต่อถ้อยคำของจำเลยทั้งเก้าที่ถูกนำมาดำเนินคดี ซึ่งปรากฏในบันทึกคำให้การของพยานโดยให้ความเห็นเหมือนกันทุกถ้อยคำว่า อาจผิดกฎหมายในทั้งสามข้อหานั้น พนักงานสอบสวนก็พิมพ์และคัดลอกมาใส่ จึงทำให้ข้อความเหมือนกันหมด
ในการตอบคำถามทนายจำเลยในชั้นศาลนี้ บดีศรระบุว่า สิ่งที่จำเลยปราศรัยเรื่องประชาธิปไตย ไม่เอาเผด็จการ และไม่ให้เลื่อนเลือกตั้ง เป็นเรื่องจริง การเรียกร้องในเรื่องดังกล่าวและวิพากษ์วิจารณ์ถึงความไม่โปร่งใสของรัฐบาล รวมทั้งการสืบทอดอำนาจของ คสช. เป็นสิทธิในการแสดงความเห็นของประชาชนที่ได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญและ ICCPR จึงไม่ใช่ถ้อยคำที่ก่อให้เกิดความไม่สงบ หรือยุยงปลุกปั่นให้เกิดความกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน โดยพยานทราบองค์ประกอบของความผิดตามมาตรา 116 ซึ่งหากการกระทำใดเป็นไปตามความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญ หรือทำโดยสุจริต จะไม่เป็นความผิดตามมาตรานี้
พยานระบุด้วยว่า ถ้อยคำของจำเลยบางคนที่พนักงานสอบสวนนำมาให้อ่านแล้วให้ความเห็นนั้นไม่ครบถ้วน อีกทั้งพยานฟังพยานหลักฐานของตำรวจฝ่ายเดียว แต่พอมาฟังพยานหลักฐานของฝ่ายจำเลยก็ฟังได้ว่า พยานหลักฐานของฝ่ายจำเลยนั้นมีเหตุผล จึงให้ความเห็นใหม่
นัดหมายชุมนุมครั้งต่อไปเป็นการยุยงปลุกปั่นให้ละเมิดกฎหมาย?
ประเด็นที่จำเลยนัดหมายการชุมนุมครั้งต่อไป และขอให้คนออกมาชุมนุมให้มาก ซึ่ง พ.อ.บุรินทร์เบิกความว่า เป็นการเรียกคนมาชุมนุม อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมายและทำให้เกิดความไม่สงบในบ้านเมืองนั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งสายสืบและพนักงานสอบสวนรับกับทนายจำเลยว่า จำเลยเพียงแต่นัดหมายชุมนุมครั้งต่อไปโดยสงบ ไม่ได้ปลุกระดม ยุยงปลุกปั่น หลังชุมนุมครั้งนี้ก็ไม่ได้มีประชาชนออกมาใช้ความรุนแรงหรือมีเหตุวุ่นวายใดๆ และ คสช. ก็ยังคงอยู่ได้ โดยรองสารวัตรสืบสวน สน.ปทุมวัน ระบุว่า จำเลยเคยจัดกิจกรรมหลายครั้ง แต่ใช้เวลาสั้นๆ ไม่ได้สร้างความเดือดร้อนให้ใคร และตามความเห็นพยานแล้ว จากจำนวนผู้เข้าร่วมชุมนุมในแต่ละครั้งไม่สามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองได้
แจ้ง 116 วีระ-สมบัติ ภายหลังแกนนำ 7 คน จากเหตุเคยร่วมชุมนุมที่อื่น
พ.อ.บุรินทร์ เบิกความในครั้งแรกว่า เป็นผู้แจ้งความกล่าวหาจำเลยทั้งเก้า แต่ต่อมาตอบทนายจำเลยว่า ไม่แน่ใจว่า พยานได้รับมอบหมายให้มาแจ้งความดำเนินคดีวีระและสมบัติหรือไม่ โดย พ.ต.ท.สมัคร พนักงานสอบสวนเบิกความว่า ภายหลัง พ.อ.บุรินทร์ เข้าแจ้งความดำเนินคดีจำเลย 7 คน และมีการตั้งคณะพนักงานสอบสวน ซึ่งมีการประชุมกันในวันที่ 2 ก.พ. 61 และมีมติร้องทุกข์กล่าวโทษบุคคลในข้อกล่าวหาเดียวกับกลุ่มแรกอีก 2 คน คือ วีระและสมบัติ โดย พ.ต.ท.สมัครระบุว่า เนื่องจากก่อนเกิดเหตุคดีนี้วีระเคยไปร่วมการชุมนุมอื่นอยู่เป็นระยะ และยังไปร่วมกิจกรรมที่สวนครูองุ่นก่อนที่จะมาชุมนุมในครั้งนี้
4 คน ถูกกล่าวหาว่ายุยงปลุกปั่นทั้งที่ไม่ได้ปราศรัย
1 ใน 3 ข้อหา ที่จำเลยทั้งเก้าในคดีนี้ถูกกล่าวหาคือ ยุยงปลุกปั่น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ที่อยู่ในเหตุการณ์หลายนายให้การสอดคล้องกันว่า ในวันเกิดเหตุวีระและสมบัติไม่ได้ปราศรัยผ่านโทรโข่ง เพียงแต่ยืนให้สัมภาษณ์นักข่าว อยู่ด้านหน้าหอศิลป์ ซึ่งอยู่ห่างจากจุดที่มีการชุมนุม เช่นเดียวกับเอกชัยที่ยืนชูภาพนาฬิกาอยู่คนเดียว พร้อมกับตอบคำถามนักข่าว โดยถ้อยคำที่ให้สัมภาษณ์ของทั้งสามก็ไม่ได้มีถ้อยคำที่รุนแรงหรือก่อให้เกิดความไม่สงบ การเสวนาที่สวนครูองุ่นก็เป็นเรื่องการต่อต้านคอรัปชั่นซึ่งอยู่ในความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญ ส่วนเนติวิทย์มาถึงที่เกิดเหตุหลังการปราศรัยยุติลงแล้ว และผู้ชุมนุมเริ่มแยกย้ายกันกลับแล้ว
โจทก์นำพนักงานสอบสวนคดี RDN เบิกความ ชี้จำเลยชอบกระทำผิดต่อเนื่อง
พ.ต.ท. ไพรัช ไสยเลิศ รองผู้กำกับ (สอบสวน) สน.นางเลิ้ง พยานตำรวจอีก 1 ปาก เข้าเบิกความว่า เป็นผู้ร่วมสอบสวนในคดีนี้ และมาให้การยืนยันว่าจำเลยในคดีนี้ 5 คน ได้แก่ รังสิมันต์, สิรวิชญ์, ณัฏฐา, อานนท์ และสุกฤษฎ์ เป็นผู้ต้องหาในคดีของ สน.นางเลิ้ง ด้วย โดยคดีของ สน.นางเลิ้ง เกิดเหตุเมื่อวันที่ 10 ก.พ. 61 กลุ่มแกนนำมีการโพสต์ให้ประชาชนไปร่วมชุมนุมที่ถนนราชดำเนิน บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย
แต่ในการตอบคำถามทนายจำเลย พ.ต.ท.ไพรัช กล่าวว่า ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องและไม่ทราบเหตุการณ์ในคดีนี้ แต่ได้รับหมายเรียกจาก สน.ปทุมวัน ให้มาให้การในฐานะพยาน โดยในคดีของ สน.นางเลิ้ง พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ เป็นผู้เข้าแจ้งความร้องทุกข์ พ.ต.ท.ไพรัช ยังระบุว่า ในคดีนั้นพยานก็ไม่ได้ไปในที่เกิดเหตุ และจำไม่ได้ว่าผู้ชุมนุมใช้ถ้อยคำที่เข้าข่ายยุยงปลุกปั่นหรือไม่ แต่จากการสอบสวนทราบว่า ผู้ชุมนุมต้องการให้มีการเลือกตั้งเท่านั้น ที่พยานมาเบิกความในคดีนี้ก็เพื่อให้ศาลเห็นว่าจำเลยในคดีนี้เป็นบุคคลที่ชอบกระทำความผิดต่อเนื่อง แต่พยานก็รับว่า จำเลยเป็นเพียงผู้ที่มีความคิดเห็นแตกต่างจากรัฐบาล ไม่ใช่อาชญากร โดยที่การชุมนุมโดยสงบ ปราศจากอาวุธ และการแสดงความเห็นวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาล เป็นสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ
ไม่ได้ตรวจสอบเพื่อยืนยันตัวตนผู้โพสต์เชิญชวน
พ.ต.ท.สมัคร พนักงานสอบสวน เบิกความตอบทนายจำเลยว่า ไม่เคยขอให้กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) ตรวจสอบโพสต์ในเฟซบุ๊กที่เชิญชวนประชาชนให้มาร่วมการชุมนุมว่า มีอยู่ในระบบคอมพิวเตอร์จริงหรือไม่ และไอพีแอดเดรสที่ใช้โพสต์ข้อความดังกล่าวเป็นของบุคคลใด
ราชบัณฑิตยสภาไม่ให้ความเห็น ยืนยันความหมายคำตามพจนานุกรมเท่านั้น
คดีนี้พนักงานสอบสวนยังได้ขอให้เจ้าหน้าที่ของสำนักงานราชบัณฑิตยสภามาเป็นพยานที่ให้ความเห็นเกี่ยวกับความหมายของคำว่า “การเมือง” และ “ชุมนุมทางการเมือง” ซึ่ง กุลศิรินทร์ นาคไพจิตร เบิกความต่อศาลเช่นเดียวกับที่ให้การต่อพนักงานสอบสวนว่า สำนักงานราชบัณฑิตยสภามีหน้าที่ในการให้คำปรึกษาด้านหลักเกณฑ์การใช้ภาษา ส่งเสริมภาษาไทยให้เป็นเอกลักษณ์ของชาติ ดังนั้น การตีความหมายของคำและถ้อยคำต่างๆ ซึ่งจะต้องพิจารณาประโยคที่เกี่ยวเนื่องกัน ตลอดจนพฤติการณ์การกระทำของผู้ถูกกล่าวหา ตลอดจนความรู้สึกนึกคิดของผู้ที่เกี่ยวข้อง ประชาชนทั่วไปที่มีทัศนคติที่แตกต่างกัน เหล่านี้ที่จะมีผลในการพิจารณาคดีความทางอาญา และน่าจะเป็นดุลพินิจของพนักงานสอบสวน ซึ่งสำนักงานราชบัณฑิตยสภาไม่สามารถให้ความเห็นในภาพรวมได้ แต่สามารถให้ความหมายของคำเหล่านี้เป็นคำๆ ตามที่ปรากฎในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ซึ่งจะแยกให้ความหมายเป็น “การ” “ชุมนุม” “ทาง” “การเมือง” และพยานไม่สามารถให้ความหมายที่นอกเหนือไปจากที่พจนานุกรมบัญญัติไว้แล้วได้
ในการตอบคำถามค้านของทนายจำเลยเจ้าหน้าที่ของสำนักงานราชบัณฑิตยสภาปฏิเสธที่จะตีความถ้อยคำหรือข้อความต่างๆ และหากถามถึงความหมาย พยานก็ยืนยันความหมายตามพจนานุกรม ซึ่งต้องไปเปิดดู เนื่องจากพยานก็จำความหมายทั้งหมดไม่ได้
ชุมนุมห่างจากเขตวังน้อยกว่า 150 เมตร แต่ผู้วัดระยะทางไม่รู้จุดชุมนุมที่แท้จริง
ในการกล่าวหาจำเลยทั้งเก้าว่า ชุมนุมอยู่ในรัศมี 150 เมตร จากวังสระปทุม โจทก์มีพยานคือ พ.ต.ท.สมัคร พนักงานสอบสวน, นางนวพร กลิ่นบางบัว ผู้อำนวยการเขตปทุมวัน, นายธีรวุฒิ เกื้อหนุน นายช่างโยธาจากสำนักงานเขตปทุมวัน และนายประภาส เหลืองศิรินภา เจ้าหน้าที่สำนักงานวิศวกรรมจราจร กทม. มาเบิกความต่อศาลได้ความว่า หลัง พ.ต.ท.สมัคร ได้รับแจ้งความจาก พ.อ.บุรินทร์ วันต่อมาเขาได้ประสานไปยังสำนักงานเขตปทุมวันเพื่อขอให้มาวัดระยะจากจุดชุมนุมไปยังวังสระปทุม นางนวพรจึงมอบหมายให้นายธีรวุฒิ ไปวัดระยะทางร่วมกับตำรวจ โดยในการวัดมีตำรวจ สน.ปทุมวัน เป็นผู้ชี้จุดชุมนุม วัดจากแนวเขตวังสระปทุมบริเวณที่ต่อกับศูนย์การค้าสยามดิสคัฟเวอรี่ ไปจุดกลับรถแยกปทุมวัน และวัดจากจุดกลับรถแยกปทุมวันตั้งฉากกับแนวแรกไปยังป้อมตำรวจ จากนั้นนายธีรวุฒิใช้สูตรคณิตศาสตร์คำนวณระยะจากแนวเขตวังไปป้อมตำรวจซึ่งอยู่หลังจุดชุมนุมไปเล็กน้อย ได้ระยะทางไม่ถึง 150 เมตร จึงรายงานนางนวพร นางนวพรก็ได้มอบหมายให้นายธีรวุฒิแจ้งผลการวัดให้ตำรวจทราบ ต่อมา พ.ต.ท.สมัคร ได้สอบปากคำนายประพาส โดยได้รับมอบเอกสารที่ระบุว่าพื้นที่สกายวอล์คเป็นที่สาธารณะ จึงได้ดำเนินการร้องทุกข์กล่าวโทษจำเลยในคดีนี้เพิ่มเติมในข้อหาดังกล่าว
ในการเบิกความตอบทนายจำเลย พยานโจทก์ทั้งสี่นี้ระบุว่า ในวันเกิดเหตุไม่ได้ไปในที่เกิดเหตุ โดยเฉพาะ พ.ต.ท.สมัคร และนายธีรวุฒิ ซึ่งลงพื้นที่วัดระยะทาง ทั้งสองจึงไม่ทราบจุดชุมนุมที่แท้จริง อาศัยการดูจากแผนผังที่มีการมาร์คจุดมาแล้ว พ.ต.ท.สมัครยังระบุว่า ไม่ทราบว่าคนที่ไปร่วมวัดระยะทาง ซึ่งได้แก่ ตำรวจสายสืบและเจ้าหน้าที่จราจร จะอยู่ในที่เกิดเหตุในวันเกิดเหตุด้วยหรือไม่ จึงไม่สามารถยืนยันได้ว่า จุดชุมนุมตามที่ปรากฏบนแผนที่ซึ่งใช้ในการวัดระยะทางนั้นถูกต้องตามความเป็นจริงหรือไม่
พ.ต.ท.สมัคร และนายธีรวุฒิ ยังเบิกความตรงกันว่า ในการวัดระยะทางไม่ได้เข้าไปวัดจากที่ประทับ แต่วัดจากแนวเขตกำแพงวังเท่านั้น จึงไม่ทราบระยะทางจากที่ประทับถึงจุดชุมนุม อีกทั้งไม่มีบุคคลในวังสระปทุมมาแสดงโฉนดหรือชี้แนวเขตที่ดินของวัง ทั้งนี้ พ.ต.ท.สมัคร รับว่า พ.ร.บ.ชุมนุมฯ มาตรา 7 ไม่ได้บัญญัติไว้อย่างชัดเจนว่า รัศมี 150 เมตร จากวังนั้นต้องวัดจากจุดใด
วัดระยะห่างจากวังตามแนวราบ ขณะจุดชุมนุมอยู่บนสกายวอล์ค
ในประเด็นวิธีการวัดระยะทาง พนักงานสอบสวนและนายช่างโยธา เบิกความตอบทนายจำเลยว่า เป็นการวัดในแนวราบขนานไปกับถนน ไม่มีการวัดในแนวตั้งจากถนนขึ้นไปยังจุดชุมนุมบนสกายวอล์ค นายช่างโยธายังระบุว่า มีการตรวจสอบระยะทางที่ได้จากการคำนวณโดยการวัดด้วยกล้องวัดระยะทางไกลที่มีความแม่นยำสูง ได้ค่าใกล้เคียงกัน แต่การวัดด้วยกล้องก็เป็นการวัดตามแนวราบ ไม่ได้วัดในมุมเงยจากกำแพงวังไปยังจุดชุมนุม และไม่ได้นำกล้องขึ้นไปวัดบนสกายวอล์ค ซึ่งกล้องก็ไม่สามารถมองผ่านผนังโดยรอบสกายวอล์คได้ ทั้งนี้ นายธีรวุฒิรับว่า หากวัดหรือคำนวณระยะทางจากเขตวังถึงจุดชุมนุมในมุมเงยจะได้ระยะทางมากกว่า 148.5 เมตร รวมทั้งการวัดระยะด้วยกล้องก็อาจจะมีความคลาดเคลื่อนได้จากการตั้งธงจุดที่จะวัดคลาดเคลื่อนไป
พนักงานสอบสวนยืนยันกับทนายจำเลยว่า ระยะทาง 148.5 เมตร มาจากการวัดด้วยกล้อง ไม่ใช่การคำนวณโดยใช้สูตร และนายช่างโยธาไม่ได้ส่งมอบข้อมูลการวัดอย่างละเอียดมาให้ ขณะนายธีรวุฒิ ระบุว่า ระยะดังกล่าวที่พยานให้การไว้กับพนักงานสอบสวนได้จากการคำนวณ ซึ่งอาจคลาดเคลื่อนได้ โดยพยานจำไม่ได้ว่าไปให้การด้วยวาจาภายหลังวันที่ไปทำการวัดกี่วัน และจำไม่ได้ว่าได้มอบสมุดที่จดบันทึกข้อมูลจากการวัดให้กับพนักงานสอบสวนหรือไม่ ส่วนระยะทางได้จากการตรวจสอบด้วยกล้อง พยานไม่ได้ให้การหรือส่งให้พนักงานสอบสวน เนื่องจากพนักงานสอบสวนไม่ได้เรียก
ในประเด็นการตรวจสอบการวัดด้วยกล้อง นายธีรวุฒิยังระบุว่า ภาพหลักฐานซึ่งพยานเบิกความตอบอัยการว่า เป็นภาพในวันที่ไปวัดตรวจสอบด้วยกล้องนั้น คนที่ส่องกล้องเป็นพนักงานบริษัทเอกชนที่สำนักงานเขตขอความร่วมมือให้มาช่วย ซึ่งพยานจำชื่อไม่ได้ สอดคล้องกับที่ ผอ.เขตปทุมวัน ระบุว่า บุคคลในภาพซึ่งส่องกล้องอยู่ไม่ใช่เจ้าหน้าที่ฝ่ายโยธาของเขต
ส่วนนายบดีศรซึ่งให้ความเห็นต่อพนักงานสอบสวนว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานชุมนุมในรัศมี 150 เมตร จากเขตวัง ได้ตอบทนายจำเลยว่า พยานไม่เคยทราบว่าบริเวณชุมนุมห่างจากวังสระปทุม 150 เมตร จริงหรือไม่ ที่ปรากฏในคำให้การ พนักงานสอบสวนพิมพ์ขึ้นเอง
ไม่มีป้าย ไม่ห้ามชุมนุม ไม่สั่งแก้ไข
พ.ต.ท.สมัคร ตอบทนายจำเลยว่า ตามสำนวนการสอบสวน ไม่ปรากฏว่า ในวันเกิดเหตุผู้กำกับการ สน.ปทุมวัน ได้สั่งให้ผู้ชุมนุมแก้ไขการชุมนุมตามมาตรา 7 ซึ่งห้ามชุมนุมในรัศมี 150 เมตร จากวังของพระบรมวงศ์ ขณะที่ทหารตำรวจที่แฝงตัวในที่ชุมนุมก็รับว่า ในวันดังกล่าวตำรวจประกาศไม่ได้ห้ามการชุมนุม โดยตำรวจสายสืบ สน.ปทุมวัน ระบุว่า ผู้กำกับมาในที่เกิดเหตุ และพูดกับผู้ชุมนุมว่าให้ชุมนุมถึงเวลาประมาณเท่านี้ ซึ่งผู้ชุมนุมก็ปฏิบัติตาม พยานเองก็ไม่ได้รับคำสั่งให้เข้าจับกุมผู้ชุมนุม
สายสืบ สน.ปทุมวัน และสายข่าวทหาร ตอบทนายจำเลยว่า วันเกิดเหตุมีการเริ่มชุมนุมที่บีทีเอสสนามกีฬาแห่งชาติ แต่ไม่ทราบว่ามีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบพยายามให้แกนนำขยับการชุมนุมจากบริเวณดังกล่าวไปยังจุดเกิดเหตุซึ่งใกล้วังมากกว่า ทั้งสองรับด้วยว่า บริเวณที่เกิดเหตุไม่มีป้ายประกาศว่า ห้ามชุมนุม เนื่องจากอยู่ห่างจากวังในรัศมี 150 เมตร ทั้งที่รู้ว่าจะมีการชุมนุม เช่นเดียวกับพนักงานสอบสวน รวมทั้งเจ้าหน้าที่จากเขตปทุมวัน และ กทม.ที่เบิกความว่า ไม่เคยมีการติดตั้งป้ายดังกล่าว ทั้งในส่วนของ สน.ปทุมวัน และ กทม. นอกจากนี้บริเวณสกายวอล์คมีคนเดินผ่านไปมาเนื่องจากเป็นพื้นที่รอรถไฟฟ้า และเป็นทางเดินเข้าห้าง ดังนั้นจึงไม่อาจทราบว่าใครคือผู้ชุมนุมใครคือคนผ่านทาง
เจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ปทุมวัน ระบุด้วยว่า ก่อนหน้านี้มีการชุมนุมหลายครั้งในบริเวณที่เกิดเหตุ แต่ไม่มีการดำเนินคดีตาม พ.ร.บ.ชุมนุมฯ คดีนี้เป็นคดีแรกที่มีการดำเนินคดีในข้อหาดังกล่าว
ทนายจำเลยยังได้ถามพยานโจทก์ถึงบริเวณลานหน้าหอศิลป์ กรุงเทพฯ ซึ่งพยานโจทก์หลายปากรับว่า บริเวณดังกล่าวมีการจัดกิจกรรมหรือชุมนุมอยู่บ่อยครั้ง ทั้งกิจกรรมทั่วไปและกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการเมือง แต่ทั้ง พ.อ.บุรินทร์ และพยานทหารตำรวจคนอื่นๆ ระบุว่า ไม่มีการจับกุมดำเนินคดีตาม พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ทั้งที่หอศิลปตั้งอยู่ระหว่างทางจากวังสระปทุมไปจุดชุมนุมในคดีนี้ และหากประเมินด้วยสายตาก็อยู่ห่างจากวังสระปทุม น้อยกว่าจุดชุมนุม
ไม่มีเอกสารยืนยันว่า ที่เกิดเหตุเป็นที่สาธารณะในความดูแลของ กทม.
ในการยืนยันว่า จุดเกิดเหตุเป็นที่สาธารณะ นายประพาส เจ้าหน้าที่สำนักงานวิศวกรรมจราจร กทม. ได้เบิกความว่า เดิมสกายวอล์คที่เกิดเหตุเป็นสะพานลอยข้ามถนน หลังจากนั้นบริษัทขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ได้ขออนุญาตก่อสร้างสกายวอล์ค เป็นทางเชื่อมทางเดินเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชนในการเดินทางและสัญจรบริเวณดังกล่าว กทม.ให้อนุญาต
ประภาสตอบคำถามทนายจำเลยว่า หลังจากบริษัทขนส่งมวลชนกรุงเทพฯ สร้างเสร็จแล้วได้มีการส่งมอบให้ กทม. ทำให้ปัจจุบันสกายวอล์คอยู่ในความดูแลรับผิดชอบของ กทม.ทั้งหมด อย่างไรก็ตาม พยานรับว่า ไม่มีเอกสารที่บริษัทขนส่งมวลชนกรุงเทพฯ ส่งมอบพื้นที่สกายวอล์คทั้งหมดให้กับ กทม.แล้ว มามอบให้พนักงานสอบสวน มีเพียงเอกสารส่งมอบสกายวอล์คบริเวณสถานีสนามกีฬาแห่งชาติกับอาคารสยามดิสคัฟเวอรี่บางส่วนเท่านั้น
พนักงานสอบสวนเป็นผู้กล่าวโทษเองในข้อหาตาม พ.ร.บ.ชุมนุมฯ
พ.ต.ท.สมัคร พนักงานสอบสวนตอบทนายจำเลยว่า เป็นผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษจำเลยในความผิดตาม พ.ร.บ.ชุมนุมฯ เอง ไม่ใช่ผู้กำกับ สน.ปทุมวัน ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะ รวมทั้งไม่ได้สอบปากคำผู้กำกับในฐานะเจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะด้วย
ติตตามจำเลยมานาน
คำเบิกความของพยานโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ ในคดีนี้ ยังทำให้เห็นว่า รัฐติดตามประชาชนที่ออกมาใช้เสรีภาพในการแสดงออกเพื่อต่อต้าน คสช. อย่างต่อเนื่องและเข้มข้น โดย พ.ต.อ.สุรศักดิ์ รองผู้กำกับการ 6 กองบังคับการตำรวจสันติบาล 1 เบิกความว่า พยานเริ่มติดตามกลุ่มผู้ชุมนุมตั้งแต่ปี 2558 โดยกลุ่มผู้ชุมนุมได้ออกมาต่อต้าน คสช. พร้อมทั้งเรียกร้องให้มีการเลือกตั้ง ขณะที่ พ.อ.บุรินทร์ ระบุว่า รัฐบาลมีข้อมูลเกี่ยวกับกลุ่มจำเลยตั้งแต่ปี 57 โดยพฤติการณ์ในการติดตามกลุ่มต่อต้านนั้น จับใจความได้จากคำเบิกความของฝ่ายข่าวทหารที่แฝงตัวในที่ชุมนุมว่า ในวันเกิดเหตุมีทหารนอกเครื่องแบบไปปะปนกับกลุ่มผู้ชุมนุมประมาณ 20 นาย ทำหน้าที่ถ่ายภาพและบันทึกเสียงทั่วไป รวมทั้งถ่ายภาพของแต่ละบุคคลไว้ด้วย