จับตาคำพิพากษา 9 แกนนำ MBK39 เรียกร้องเลือกตั้ง กลับถูกฟ้องคดี “ยุยงปลุกปั่น”

25 ธ.ค. 2563 ศาลอาญากรุงเทพใต้นัดฟังคำพิพากษา ในคดี 9 แกนนำ MBK39 หรือคดีชุมนุมของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งที่สกายวอล์คแยกปทุมวัน หน้า MBK Center เมื่อวันที่ 27 ม.ค. 2561 หลังคดียืดเยื้อมาเกือบ 3 ปี

การชุมนุมครั้งนั้นเป็นการชุมนุมค้านการเลื่อนเลือกตั้งครั้งแรก หลัง สนช. มีมติขยายเวลาการบังคับใช้ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ออกไป 90 วัน ซึ่งเป็นเหตุให้การเลือกตั้งหลังการรัฐประหารเมื่อปี 2557 ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ภายในปี 2561 ตามที่ คสช.เคยประกาศโรดแมปไว้ ทำให้กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย (DGR) และกลุ่ม Start Up People นัดจัดกิจกรรม ‘หยุดยื้อเลือกตั้ง หยุดสืบทอดอำนาจ’ ส่งสัญญาณถึง คสช. ว่า ประชาชนไม่ต้องการให้การเลือกตั้งเลื่อนออกไปอีกแล้ว และนำมาสู่คดีแรกของ “คนอยากเลือกตั้ง” โดย พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ หัวหน้าคณะทำงานด้านกฎหมาย คสช. (ยศและตำแหน่งขณะนั้น) ซึ่งได้รับมอบอำนาจจาก คสช. เข้าร้องทุกข์ดำเนินคดี 

      >>อ่านความเป็นมาและความคืบหน้าคดีโดยละเอียดที่ รวมพลคนอยากเลือกตั้งชุมนุมหน้ามาบุญครอง ถูกดำเนินคดี (MBK39)

 

ฟ้องนักกิจกรรม 9 คน โจมตี คสช. เลื่อนการเลือกตั้ง มีเจตนาอันมิใช่ “ในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ”

ปลายปี 2561 พนักงานอัยการสำนักงานคดีอาญากรุงเทพใต้เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนักกิจกรรมที่เข้าร่วมชุมนุมดังกล่าวรวม 9 คน ได้แก่ วีระ สมความคิด, รังสิมันต์ โรม, “นิว” สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์, “โบว์” ณัฏฐา มหัทธนา, อานนท์ นำภา, เอกชัย หงส์กังวาน, สุกฤษฎ์ เพียรสุวรรณ, เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล และ “บก.ลายจุด” สมบัติ บุญงามอนงค์  รวม 3 ข้อหา คือ ฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ข้อ 12 ห้ามชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป, ยุยงปลุกปั่น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116  และจัดการชุมนุมสาธารณะในรัศมี 150 เมตร จากวังของพระบรมวงศ์ฯ ตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 

คำฟ้องของโจทก์บรรยายว่า “ในวันเกิดเหตุ จำเลยกับพวกได้ร่วมกันจัดการชุมนุมสาธารณะห่างจากวังสระปทุม อันเป็นวังของพระบรมวงศ์ ในรัศมี 148.53 เมตร โดยจำเลยกับพวกได้ผลัดกันปราศรัยโจมตีการทำงานรัฐบาลและ คสช. ว่ามีการทุจริต ใช้อำนาจโดยไม่เป็นธรรม และเลื่อนการเลือกตั้ง พร้อมกับปลุกระดมชักชวนประชาชนให้ออกมาร่วมชุมนุมในครั้งต่อไปให้มาก ๆ ขึ้น อันเป็นการสร้างความวุ่นวาย ทั้งนี้ เพื่อร่วมกันโค่นล้มและขับไล่รัฐบาลและ คสช. ซึ่งอยู่ในห้วงเวลาที่ใกล้จะมีการจัดการเลือกตั้งแล้ว การกระทำของจำเลยกับพวกจึงเป็นการร่วมกันชุมนุมทางการเมืองในที่สาธารณประโยชน์ และเป็นการกระทำที่มีเจตนาอันมิใช่ในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร…” 

จำเลยทั้งเก้าให้การปฏิเสธ ขอต่อสู้คดี โดยยืนยันว่า การชุมนุมเป็นไปโดยชอบภายใต้รัฐธรรมนูญ จำเลยไม่ได้ยุยงปลุกปั่นหรือก่อให้เกิดความกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน ระหว่างการพิจารณาคดีศาลมีคำสั่งให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยทั้งหมดโดยไม่ใช้หลักทรัพย์ประกัน 

ต่อมา ระหว่างการสืบพยานโจทก์ ศาลได้มีคำสั่งให้จำหน่ายข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 ข้อ 12 หลังมีคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 22/2561 ลงวันที่ 11 ธ.ค. 2561 ให้ยกเลิกบทบัญญัติดังกล่าวไปแล้ว 

จำเลย 2 ใน 9 คือสุกฤษฎ์และเนติวิทย์ ยังเป็นนักศึกษา และขณะคดีอยู่ระหว่างการพิจารณา เอกชัยและสิรวิชญ์ถูกทำร้ายร่างกายได้รับบาดเจ็บ จนต้องฟักฟื้นและรักษาตัวที่โรงพยาบาล ขณะที่รังสิมันต์ได้รับเลือกเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ ติดภารกิจในการประชุมสภา ส่วนณัฏฐาและสมบัติก็มีภารกิจในการประกอบอาชีพ จำเลยส่วนใหญ่จึงขอให้ศาลพิจารณาคดีลับหลัง 

 

พยานโจทก์รับ จำเลยใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญเรียกร้องเลือกตั้ง ผกก.สน.ปทุมวันไม่ได้สั่งแก้ไขการชุมนุม

การสืบพยานโจทก์ในคดีนี้ อัยการนำพยานบุคคลเข้าสืบรวม 12 ปาก ใช้เวลา 10 นัด ในช่วงเดือน มิ.ย. 2562 จนถึง มี.ค. 2563 คำเบิกความของพยานโจทก์เหล่านี้ รวมทั้งคำตอบต่อคำถามของทนายจำเลย มีประเด็นต่างๆ ที่น่าสนใจดังนี้ 

เกี่ยวกับประเด็นที่จำเลยถูกกล่าวหาว่า “ยุยงปลุกปั่น” พยานซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่รัฐยอมรับตรงกันว่าการชุมนุมครั้งนี้เป็นไปโดยสงบ ปราศจากอาวุธ ไม่มีความวุ่นวาย หรือก่อให้เกิดความเสียหาย และการชุมนุมโดยสงบเป็นสิทธิที่ได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญและกติการะหว่างประเทศ

พยานโจทก์เหล่านั้นยังยอมรับว่า การที่ผู้ชุมนุมเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งและการปกครองตามระบอบประชาธิปไตย รวมทั้งต่อต้านการคอรัปชั่นหรือวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาล เป็นการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ  และอยู่ในความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่การยุยงให้เกิดความกระด้างกระเดี่อง แม้ว่าพยานเจ้าหน้าที่ส่วนใหญ่หลีกเลี่ยงที่จะแสดงความเห็นตอบทนายจำเลยว่า  ถ้อยคำที่ปราศรัย ให้สัมภาษณ์  รวมทั้งโพสต์เชิญชวนมาชุมนุม มีลักษณะยุยงปลุกปั่นหรือไม่

รองสารวัตรสืบสวน สน.ปทุมวัน ยังระบุว่า จำเลยเคยจัดกิจกรรมหลายครั้ง แต่ใช้เวลาสั้นๆ ไม่ได้สร้างความเดือดร้อนให้ใคร และตามความเห็นพยานแล้ว จากจำนวนผู้เข้าร่วมชุมนุมในแต่ละครั้งไม่สามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองได้

นอกจากนี้ จำเลย 4 คน ถูกกล่าวหาว่า “ยุยงปลุกปั่น” ทั้งที่ไม่ได้ปราศรัย โดยเจ้าหน้าที่ที่อยู่ในเหตุการณ์เบิกความสอดคล้องกันว่า ในวันเกิดเหตุวีระและสมบัติเพียงแต่ยืนให้สัมภาษณ์นักข่าวอยู่ด้านหน้าหอศิลป์ ซึ่งอยู่ห่างจากจุดที่มีการชุมนุม เช่นเดียวกับเอกชัยที่ยืนชูภาพนาฬิกาอยู่คนเดียวพร้อมกับตอบคำถามนักข่าว โดยถ้อยคำที่ให้สัมภาษณ์ของทั้งสามก็ไม่ได้มีถ้อยคำที่รุนแรงหรือก่อให้เกิดความไม่สงบ ส่วนเนติวิทย์มาถึงที่เกิดเหตุหลังการปราศรัยยุติลง และผู้ชุมนุมเริ่มแยกย้ายกันกลับแล้ว

ส่วนในประเด็น “ชุมนุมในรัศมี 150 ม.จากเขตวัง” พยานโจทก์ซึ่งลงพื้นที่วัดระยะทาง ในวันเกิดเหตุไม่ได้ไปในที่เกิดเหตุ จึงไม่ทราบจุดชุมนุมที่แท้จริง อาศัยการดูจากแผนผังที่มีการมาร์คจุดมาแล้ว การวัดระยะทางก็วัดจากแนวเขตกำแพงวังเท่านั้น ไม่ได้เข้าไปวัดจากที่ประทับ จึงไม่ทราบระยะทางจากที่ประทับถึงจุดชุมนุม โดยที่ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ มาตรา 7 ไม่ได้บัญญัติไว้อย่างชัดเจนว่า รัศมี 150 เมตร จากวังนั้นต้องวัดจากจุดใด อีกทั้งยังเป็นการวัดในแนวราบขนานไปกับถนน ไม่ได้วัดในมุมเงยจากกำแพงวังไปยังจุดชุมนุมซึ่งอยู่บนสกายวอล์ค โดยนายช่างโยธายอมรับว่า หากวัดหรือคำนวณระยะทางจากเขตวังถึงจุดชุมนุมในมุมเงยจะได้ระยะทางมากกว่า 148.5 เมตร 

พยานเจ้าหน้าที่ยังตอบทนายจำเลยสอดคล้องกันว่า ในวันเกิดเหตุผู้กำกับ สน.ปทุมวัน ไม่ได้ประกาศห้ามหรือสั่งให้แก้ไขการชุมนุม อีกทั้งบริเวณที่เกิดเหตุไม่มีป้ายประกาศว่า ห้ามชุมนุม เนื่องจากอยู่ห่างจากวังในรัศมี 150 เมตร ก่อนหน้านี้มีการชุมนุมหลายครั้งในบริเวณที่เกิดเหตุ แต่ก็ไม่เคยมีการดำเนินคดีในข้อหานี้ 

       >>อ่านสรุปประเด็นสืบพยานโจทก์โดยละเอียดที่ อัพเดตแกนนำ MBK39 คดีแรกของคนอยากเลือกตั้ง ก่อนสืบพยานจำเลย

 

อดีตเลขาฯ สมช.ชี้ การชุมนุมเรียกร้องการเลือกตั้งไม่กระทบความมั่นคง

ในการสืบพยานจำเลย มีจำเลยอ้างตนเองเป็นพยานเข้าเบิกความรวม 5 คน ได้แก่ วีระ, ณัฏฐา, สิรวิชญ, รังสิมันต์ และอานนท์ รวมทั้งมีพยานบุคคลภายนอกอีก 1 ปาก คือ พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เข้าเบิกความในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงของชาติ

จำเลยทั้งห้าเบิกความโดยรวมถึงเหตุผลที่ต้องออกไปชุมนุมในวันนั้นว่า เนื่องจาก พล.อ.ประยุทธ์ เคยสัญญากับประชาชนไว้หลายครั้งว่าจะมีการเลือกตั้ง แต่ก็ผิดคำสัญญามาโดยตลอด ก่อนหน้าวันที่จะออกมาชุมนุม สนช.ก็เห็นชอบให้กฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งมีผลใช้บังคับขยายออกไป 90 วัน ทำให้การเลือกตั้งล่าช้าไปอีก 90 วัน ทั้งที่ก่อนหน้านี้กฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งไม่ว่าจะเป็นปี 41 หรือปี 50 เมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาก็มีผลใช้บังคับทันที แต่ฉบับนี้กำหนดไว้ว่าให้มีผลบังคับใช้หลังประกาศในราชกิจจาฯ 90 วัน จำเลยเห็นว่า ไม่เป็นเหตุเป็นผล และถ้าเป็นลักษณะนี้การเลือกตั้งจะยืดออกไปเรื่อยๆ จึงได้ออกไปชุมนุมเพื่อแสดงความไม่เห็นด้วย และเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งโดยเร็ว 

จำเลยยังเบิกความยืนยันว่า การชุมนุมเรียกร้องให้เกิดการเลือกตั้งก็เป็นสิ่งที่กำหนดอยู่ในรัฐธรรมนูญ อีกทั้งการชุมนุมในวันดังกล่าวก็เป็นไปโดยสงบ ไม่ได้ก่อให้เกิดความวุ่นวาย หรือเป็นอันตราย หรือเกิดความไม่สงบขึ้นในบ้านเมือง อีกทั้งเมื่อไปจำเลยรวมถึงประชาชนไปชุมนุมเรียกร้องการเลือกตั้งอีกในเวลาต่อมาที่ถนนราชดำเนินเมื่อวันที่ 10 ก.พ. 61 และถูกดำเนินคดีในศาลอาญาในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 เช่นกัน ศาลอาญาก็มีคำพิพากษายกฟ้องจำเลยในคดีดังกล่าวไปแล้ว 

ด้าน พล.ท.ภราดร เบิกความว่า   คำว่า “ความมั่นคงของชาติ” นั้น มีทั้งมิติทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม รวมทั้งความเข้มแข็งของประชาชนก็เป็นปัจจัยสำคัญ สิ่งที่จะถือเป็น “ภัยคุกคาม” ต่อความมั่นคงของชาติ ตามหลักเกณฑ์ของสภาความมั่นคงแห่งชาติ จะต้องเป็นการกระทำที่มีความรุนแรงและสลับซับซ้อน ซึ่งตามนิยามและหลักเกณฑ์ดังกล่าว พยานเห็นว่า การชุมนุมเรียกร้องให้เกิดการเลือกตั้งไม่ได้มีลักษณะที่จะกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงของชาติ

 

3 ปี ในการต่อสู้คดี “หากผมเป็นคนหาเช้ากินค่ำ คงลำบากมากๆ อย่างแน่นอน” 

สุกฤษฎ์ 1 ใน 9 จำเลยซึ่งขณะสืบพยานในคดียังติดภารกิจด้านการเรียนอยู่ที่ มหาวิทยาลัยเเห่งชาติเจิ้งจื้อ (National Chengchi University) ไต้หวัน เปิดเผยความรู้สึกต่อการตกเป็นจำเลยในคดีนี้ว่า “ผมคิดว่า การเรียกร้องสิทธิในการเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรมเป็นสิ่งที่ทำได้ แต่การที่พวกเราถูกฟ้องด้วยข้อหาที่ค่อนข้างรุนแรงขนาดนี้สะท้อนให้เห็นชัดว่า รัฐมองไม่เห็นหัวประชาชนแม้แต่น้อย ผมมองว่า รัฐเก่งกล้าที่จะทำลายคนตัวเล็กตัวน้อย ทำให้ชีวิตของพวกเขาลำบากที่สุด หากพวกเขาหาญกล้าเรียกร้องจากรัฐบาลเผด็จการ ถ้าหากผมเป็นคนหาเช้ากินค่ำ มีรายได้แบบวันต่อวัน แล้วถูกดำเนินคดีลากยาวถึง 3 ปี ผมคงจะลำบากมากๆ อย่างแน่นอน”

นอกเหนือจากการถูกดำเนินคดี สุกฤษฎ์ยังเล่าถึงการคุกคามอื่นๆ “ที่ผมตัดสินใจไปเรียนต่างประเทศ ก็เพราะว่าไม่ต้องการให้รัฐมาสอดส่องเรามาก ตำรวจเคยไปที่บ้าน ถามแม่ของผมว่า ผมเป็นยังไงบ้าง สบายดีไหม แม่บอกว่า สบายดี ตอนนี้เรียนอยู่ต่างประเทศ ไม่ได้เคลื่อนไหวแล้ว ไม่ต้องเป็นห่วง ตั้งแต่นั้นตำรวจก็แทบไม่ได้มาที่บ้านอีก ซึ่งก็ดีมาก สบายใจมากขึ้น แต่ช่วงแรกๆ ที่ต้องขึ้นศาล ผมบินกลับไทยบ่อยมาก เสียค่าใช้จ่ายพอสมควร แต่ก็ทำอะไรไม่ได้ ผมอยากเรียกร้องจากคนที่ดำเนินคดีกลั่นแกล้งเรา แต่ก็คงจะลำบาก คนพวกนี้ก็คงลอยหน้าลอยตาต่อไป” 

สุกฤษฎ์ถูกดำเนินคดีนี้เป็นคดีแรก แต่เป็นคดีที่ 2 ที่ฟังคำพิพากษา ในคดีแกนนำการชุมนุมคนอยากเลือกตั้งที่ถนนราชดำเนิน หรือ RDN50 ซึ่งเกิดขึ้นทีหลังแต่ศาลมีคำพิพากษาไปแล้วตั้งแต่วันที่ 20 ก.ย. 2562 ยกฟ้องเขาและเพื่อนนักกิจกรรมคนอื่นๆ อีก 5 คน สำหรับคำพิพากษาที่ศาลจะอ่านในวันพรุ่งนี้นั้น “เราคาดหวังว่า คำพิพากษาจะยืนยันว่า การชุมนุมโดยสันติเพื่อเรียกร้องสิทธิเสรีภาพเป็นสิ่งที่ทำได้ แต่ก็น่าขันตรงที่ทำไมต้องให้ศาลตัดสิน มันควรจะอยู่ในสามัญสำนึกของตำรวจที่ไม่ควรแจ้งข้อหาเรา มันควรอยู่ในสามัญสำนึกของอัยการที่ไม่ควรสั่งฟ้อง นี่ก็แสดงถึงกระบวนการยุติธรรมของไทยที่บิดเบี้ยว”

“ตอนนี้หลายคนก็กำลังต่อสู้เรียกร้องสิทธิเสรีภาพ เพื่อให้ประเทศเราจะมีประชาธิปไตยที่มั่นคง มีความยุติธรรม ซึ่งผมหวังว่า  จะไม่มีการดำเนินคดีกลั่นแกล้งทางการเมืองที่ยืดเยื้ออีก เพราะเสียทั้งเวลาและทรัพยากรของรัฐที่มาจากภาษีประชาชน” สุกฤษฎ์กล่าวในที่สุด

ด้านทีมทนายจำเลย หลังจบกระบวนการต่อสู้คดีในศาลชั้นต้น นรเศรษฐ์ นาหนองตูม ให้ความเห็นสั้นๆ ว่า “ถ้าศาลตัดสินตามพยานหลักฐานมั่นใจว่า ศาลจะยกฟ้องข้อหา มาตรา 116 เพราะว่าการเรียกร้องการเลือกตั้งเป็นการเรียกร้องตามที่รัฐธรรมนูญและกติการะหว่างประเทศรับรองไว้ ในวันเกิดเหตุไม่ได้มีความวุ่นวายเกิดขึ้น และจำเลยทั้งหมดที่ถูกฟ้องใช้สิทธิเสรึภาพในการแสดงความคิดเห็นเท่านั้น”

การอ่านคำพิพากษาของศาลอาญากรุงเทพใต้ในวันพรุ่งนี้เป็นที่น่าจับตา เนื่องจากก่อนหน้านี้ คดีการชุมนุมเรียกร้องการเลือกตั้งเช่นเดียวกันนี้ที่ถนนราชดำเนิน ซึ่งนักกิจกรรม 6 คนถูกฟ้องในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 เหมือนคดีนี้ ศาลอาญามีคำพิพากษาไว้แล้วว่า “การชุมนุมดังกล่าวเป็นไปโดยสงบ ปราศจากอาวุธ ไม่มีความรุนแรง ความวุ่นวาย… โดยมีเนื้อหาหลักให้มีการเลือกตั้งในปี 2561 การเรียกร้องของจำเลยจึงเป็นการกระทำตามความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญ ไม่ได้เป็นไปเพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน… แม้ถ้อยคำจะไม่เหมาะสมหรือก้ำเกินไปบ้าง แต่ก็เพื่อวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลตามหลักประชาธิปไตย การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิด พิพากษายกฟ้อง” 

 

เลือกตั้งแล้วเกือบ 2 ปี “คนอยากเลือกตั้ง” ยังต้องสู้คดี แม้หลายคดียกฟ้องแล้ว

นับจากการชุมนุมครั้งแรกที่สกายวอล์คปทุมวัน หน้า MBK Center ซึ่งนอกจากคดีแกนนำ 9 คนนี้แล้ว ยังมีผู้ชุมนุมถูกดำเนินคดีอีก 30 ราย ในข้อหาเช่นเดียวกัน ยกเว้นข้อหายุยงปลุกปั่น การชุมนุมของ “คนอยากเลือกตั้ง” ก็มีขึ้นอีกหลายครั้ง และก็ถูกทั้ง คสช. และตำรวจดำเนินคดี หลัก ๆ รวม 10 คดี มีประชาชนถูกดำเนินคดี 130 ราย นอกจากคดีนี้ซึ่งจะฟังคำพิพากษาพรุ่งนี้แล้ว อีก 6 คดี มีคำสั่งหรือพิพากษาแล้ว ที่เหลือ 3 คดี จะเริ่มสืบพยานในปีหน้า รายละเอียดดังนี้   

  1. คดีผู้ชุมนุมหน้า MBK 
  • ผู้ชุมนุม 2 ราย ที่รับสารภาพ ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้ลงโทษตาม พ.ร.บ.ชุมนุมฯ จำคุก 6 วัน และปรับ 3,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษ 1 ปี 
  • ผู้ชุมนุมอีก 28 ราย ซึ่งยืนยันให้การปฏิเสธ อัยการและสำนักงานตำรวจแห่งชาติมีความเห็นพ้องกันสั่งไม่ฟ้องคดี หลังจากคดีดำเนินมากว่า 1 ปี 9 เดือน เนื่องจากคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ข้อ 12 ถูกยกเลิกไปแล้ว และเห็นว่า ผู้ต้องหาเป็นเพียงผู้ร่วมชุมนุม รวมทั้งการชุมนุมเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มาตรา 44

2. คดีผู้ชุมนุมที่ถนนราชดำเนิน (RDN50) อัยการถอนฟ้องคดี ชุมนุม 41 ราย

3. คดีแกนนำการชุมนุมที่ถนนราชดำเนิน (RDN50) ศาลพิพากษายกฟ้อง 6 แกนนำ และอัยการถอนฟ้องรังสิมันต์ โรม

4. คดีการชุมนุมที่หน้ามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (CMU06) ศาลพิพากษายกฟ้อง 6 ผู้ชุมนุม ข้อหาชุมนุมทางการเมือง แต่ปรับฐานใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต

5. คดีผู้ชุมนุมหน้ากองทัพบก (ARMY57) ที่ศาลพิพากษายกฟ้องผู้ชุมนุม 45 คน แต่สั่งปรับ “ลูกเกด” ชลธิชา แจ้งเร็ว 1,000 บาท ฐานเป็นผู้จัดการชุมนุม แต่ไม่สามารถดูแลและควบคุมผู้ชุมนุมได้ ซึ่งลูกเกดยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาอยู่ 

6. คดีการชุมนุมที่พัทยา ศาลจังหวัดพัทยายกฟ้องผู้ชุมนุม 9 คน แต่ปรับ “นิว” สิรวิชญ์​ เสรีธิวัฒน์ และผู้ร่วมชุมนุมอีก 2 คน คนละ​ 3,000​ บาท ฐานร่วมกันจัดการชุมนุมโดยไม่แจ้งก่อนล่วงหน้า ขณะที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ให้ปรับนิวเพียงคนเดียว

7. คดี 10 แกนนำการชุมนุมหน้ากองทัพบก (ARMY57) ศาลอาญานัดสืบพยานในเดือนมีนาคมถึงเมษายน 2564 

8. คดีผู้ชุมนุมหน้าธรรมศาสตร์และสหประชาชาติ (UN62) ศาลแขวงดุสิตนัดผู้ชุมนุม 39 ราย สืบพยานในเดือนมิถุนายนถึงสิงหาคม 2564 ขณะที่อัยการยังไม่สั่งฟ้องอีก 1 ราย

9. คดี 18 แกนนำการชุมนุมหน้าธรรมศาสตร์และสหประชาชาติ (UN62) ศาลอาญานัดสืบพยานในเดือนมกราคมถึงมีนาคม 2564

 

X