ศาลยกฟ้องคดีผู้ชุมนุม ARMY57 ชี้หลักฐานโจทก์ยังไม่เพียงพอ แต่ปรับ 1 พันบาท “ลูกเกด” ในฐานะผู้จัดชุมนุม

วันนี้ (26 ธ.ค. 62) เวลา 9.00 น. ศาลแขวงดุสิตนัดฟังคำพิพากษาในคดีของผู้ชุมนุมกลุ่มคนอยากเลือกตั้งที่เดินขบวนจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ไปยังหน้ากองบัญชาการกองทัพบก เมื่อวันที่ 24 มี.ค. 61 หรือคดี “Army57”

คดีนี้ อัยการเป็นโจทก์ยื่นฟ้องผู้เข้าร่วมชุมนุม จำนวน 47 คน ใน 3 ข้อหาหลัก ได้แก่ 1. ฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ห้ามชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป 2. ร่วมกันเป็นผู้ชุมนุมก่อให้เกิดความไม่สะดวกแก่ประชาชน, เดินขบวนหรือเคลื่อนย้ายการชุมนุมหลัง 18.00 น., ไม่เลิกการชุมนุมภายในระยะเวลาที่ได้แจ้งไว้ ตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 และ 3. เดินเป็นขบวนในลักษณะการกีดขวางการจราจร ตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 (ภายหลังระหว่างการพิจารณา จำเลยได้เสียชีวิต 1 คน ทำให้ศาลสั่งจำหน่ายคดี เหลือจำเลยในคดีทั้งสิ้น 46 คน)

                                                    จำเลยเดินขบวนเข้าศาล

เวลา 10.15 น. เมื่อจำเลยทั้ง 46 คน ทยอยเข้ามานั่งในห้องพิจารณาคดีที่ 407 จนครบทั้งหมด เวลา 10.18 น. ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนขึ้นบัลลังก์อ่านคำพิพากษา โดยศาลอนุญาตให้จำเลยทั้งหมดนั่งฟังได้ เนื่องด้วยพื้นที่เบียดเสียด จากนั้นผู้พิพากษาอ่านชื่อจำเลยตามลำดับหมายเลข จนครบ 46 คน

ศาลได้พิพากษาให้ยกฟ้องจำเลย 45 คน ยกเว้น “ลูกเกด ชลธิชา แจ้งเร็ว” ซึ่งศาลเห็นว่ามีความผิดตาม พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 มาตรา 15 (2) (4) ในฐานะผู้จัดการชุมนุม แต่ไม่สามารถดูแลการชุมนุมให้เลิกภายในเวลาตามที่แจ้งไว้ได้ และไม่สามารถควบคุมกลุ่มผู้ชุมนุมไม่ให้เดินบนพื้นผิวการจราจรได้ ลงโทษตามมาตรา 31 ปรับ 1,000 บาท ประเด็นคำพิพากษา โดยสรุป มีดังนี้

 

ศาลวินิจฉัยว่า เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2561 คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ยังมีผลบังคับใช้

ศาลได้อ่านสรุปข้อเท็จจริงของคดีว่าทางฝ่ายโจทก์ฟ้องว่า ชลธิชา แจ้งเร็ว จำเลยที่ 2 ได้แจ้งการชุมนุมสาธารณะต่อผู้กำกับสน.ชนะสงคราม ตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 ว่าจะจัดกิจกรรมเรียกร้องการเลือกตั้ง ในวันที่ 24 มีนาคม 2561 เวลา 16.00-20.00 น. โดยจะมีการชุมนุมเคลื่อนจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ไปถนนราชดำเนินใน ราชดำเนินกลาง ราชดำเนินนอก สิ้นสุดที่กองทัพบก ทางผู้รับแจ้งได้กำหนดเงื่อนไขการชุมนุมโดยระบุว่าว่าไม่ให้ขัดกับคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 และจะต้องควบคุมการชุมนุม ไม่ให้เกินภายในเวลา 18.00 น.

ฝ่ายโจทก์ได้ระบุว่าในการชุมนุมเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2561 การชุมนุมได้ฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ข้อ 12 โดยมีการปราศรัยโจมตี คสช. และเรียกร้องขับไล่รัฐบาล และผู้ชุมนุมบางส่วนได้ล้ำเข้าไปในทางจราจรสาธารณะ เป็นที่เดือดร้อนและก่อให้เกิดความไม่สะดวกแก่ประชาชนคนทั่วไป ทั้งยังมีการเคลื่อนขบวนระหว่างเวลา 18.00-20.00 น. โดยไม่ได้รับอนุญาต เป็นการไม่เลิกภายในระยะเวลาที่ได้แจ้งไว้ และการเคลื่อนขบวนคนกว่า 350 คน ยังเป็นการกระทำในลักษณะกีดขวางทางจราจร

ทั้งนี้ ฝ่ายโจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 2, 10, 24 ซึ่งเป็นผู้จัดการชุมนุม เมื่อเจ้าพนักงานแจ้งให้ยุติการชุมนุม เพื่อไม่ให้ขัดขวางทางจราจร แต่จำเลยที่ 2 (ชลธิชา แจ้งเร็ว) ฝ่าฝืนไม่ดูแลรับผิดชอบ เท่ากับไม่ให้ความร่วมมือแก่เจ้าพนักงานในการจัดการชุมนุม

ศาลได้วินิจฉัยในประเด็นแรก เรื่องโจทก์มีคำอำนาจฟ้องในข้อหาตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 หรือไม่ โดยศาลเห็นว่า โดยศาลเห็นว่าแม้จะมีคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 22/2561 ลงวันที่ 11 ธันวาคม 2561 กำหนดให้มีการยกเลิกความผิดในข้อ 12 ของคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 แล้ว แต่คำสั่งดังกล่าวได้ระบุไว้ในข้อ 2 ว่าการยกเลิกดังกล่าว ไม่กระทบกระเทือนถึงการดำเนินคดี หรือการดำเนินการที่ได้กระทำไปก่อนหน้านั้น

ศาลจึงเห็นว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องในข้อหามั่วสุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไปโดยไม่ได้รับอนุญาต ตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ในเวลาที่คำสั่งดังกล่าวยังบังคับใช้อยู่ ไม่สามารถนำมาตรา 2 ของประมวลกฎหมายอาญา ในเรื่องไม่มีกฎหมายกำหนดโทษไว้ จึงไม่มีความผิด มาใช้ได้

ยกฟ้อง เพราะพยานหลักฐานบอกไม่ได้ว่าจำเลยคนใดชุมนุมขัดต่อกฎหมายบ้าง จึงยกประโยชน์ความสงสัยให้

ในประเด็นที่สอง ศาลได้วินิจฉัยว่าจำเลยทั้งหมดมีความผิดตามฟ้องในทั้งสามข้อหาหรือไม่ โดยศาลเห็นว่าการที่ผู้ชุมนุมรุกล้ำเข้าไปเดินขบวนบนผิวถนน ย่อมก่อให้เกิดผลกระทบต่อการจราจร และประชาชนที่สัญจรแล้ว และการที่ผู้ชุมนุมเคลื่อนขบวนในเวลา 17.00 น. ไปจนถึงหน้ากองทัพบก ในเวลา 20.00 น.เศษ ย่อมเป็นการเคลื่อนย้ายการชุมนุมหลังเวลา 18.00 น. และไมได้เลิกการชุมนุมตามเวลาที่ได้แจ้งการชุมนุมไว้ จึงต้องด้วยความผิดตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ และ พ.ร.บ.การจราจรทางบก

แต่เมื่อพิจารณาพยานหลักฐานของโจทก์ คือพยานโจทก์ทั้ง 10 ปาก ทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจฝ่ายต่างๆ และพยานผู้ขับรถจักรยานยนต์รับจ้าง ต่างก็ไม่ได้เบิกความยืนยันได้ว่าเห็นจำเลยคนใดมั่วสุมหรือก่อกวน หรือได้ไปเดินบนพื้นผิวถนน มีแต่เพียงภาพรวมของการชุมนุมเท่านั้น ภาพถ่ายของโจทก์ พยานที่มาเบิกความก็ไม่ได้เป็นผู้ถ่ายภาพด้วยตนเอง ทั้งยังมีผู้ร่วมชุมนุมที่ไม่ได้ถูกฟ้องคดีนี้นับร้อยคน จำเลยที่ได้ไปชุมนุมก็ไม่แน่ว่าได้อยู่ตลอดจนกระทั่งเลิกการชุมนุม พยานหลักฐานโจทก์จึงยังมีข้อสงสัยตามสมควร จึงยกประโยชน์ความสงสัยให้แก่จำเลยทั้งหมด

พิพากษาปรับผู้จัดการชุมนุม 1 พัน เหตุไม่สามารถดูแลการชุมนุมตามที่แจ้งได้

ประเด็นสุดท้าย ศาลได้วินิจฉัยถึงกรณีผู้ถูกกล่าวหาเรื่องการเป็นผู้จัดการชุมนุม ได้แก่ จำเลยที่ 2, 20 และ 46 โดยศาลเห็นว่าจำเลยที่ 2 คือ น.ส.ชลธิชา แจ้งเร็ว เป็นผู้ประสงค์จัดและได้แจ้งการชุมนุม ต้องด้วยความหมายผู้จัดการชุมนุม ตาม พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 แล้ว จำเลยที่ 2 จึงเป็นผู้จัดการชุมนุม

ส่วนจำเลยที่ 20 ได้แก่ นายฉัตรมงคล วัลลีย์ และจำเลยที่ 46 ได้แก่ นายอภิสิทธิ์ ทรัพย์นภาพันธ์ เพียงแค่โพสต์เชิญชวนในเฟซบุ๊กส่วนตัว ทั้งข้อความก็กำกวมว่า เป็นการเชิญชวนให้ไปร่วมชุมนุม หรือประกาศว่าตนจะไปร่วมชุมนุม พยานหลักฐานพิสูจน์ไม่ได้ว่าทั้งสองคนเป็นผู้จัดการชุมนุม จึงยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลยทั้งสอง

ศาลจึงตัดสินให้เฉพาะจำเลยที่ 2 มีความผิดตามมาตรา 15 (2) (4) ลงโทษตามมาตรา 31 ปรับ 1,000 บาท และพิพากษายกฟ้องจำเลยที่เหลือทั้งหมด คำขอและข้อหาอื่นให้ยก

 

ข้อสังเกต: ศาลไม่ได้พิจารณาข้อต่อสู้ของฝ่ายจำเลย

ทั้งนี้ คำพิพากษาของศาลเน้นไปทางเรื่องการวินิจฉัยข้อหา เวลาการชุมนุม และลักษณะการชุมนุม โดยไม่ได้วินิจฉัยไปถึงส่วนของข้อต่อสู้ของฝ่ายจำเลย ซึ่งได้นำสืบไว้ในชั้นศาล ทั้งในประเด็นเรื่องเสรีภาพในการชุมนุมโดยสุจริต โดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และกฎหมายตามกติการะหว่างประเทศ หรือประเด็นเรื่องที่เจ้าหน้าที่มีการดำเนินการขัดขวางการชุมนุม โดยข้อต่อสู้หนึ่งของฝ่ายจำเลยในคดี คือเหตุที่การชุมนุมล่าช้าไปกว่าที่แจ้งไว้ เกิดจากการพยายามขัดขวางและแทรกแซงของเจ้าหน้าที่เอง

หลังการอ่านคำพิพากษา ชลธิชา แจ้งเร็ว ในฐานะสมาชิกกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย ยังได้เปิดเผยว่าเตรียมที่จะยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาต่อไป เพื่อยืนยันว่าการชุมนุมดังกล่าวชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากมีการแจ้งการชุมนุมตามกฎหมาย พร้อมแสดงเส้นทางการเดินขบวน โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจมีหน้าที่ตาม พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ ในการอำนวยความสะดวกด้านการจราจรแก่ผู้ชุมนุม และประชาชน จึงถือได้ว่าผู้จัดการชุมนุมปฏิบัติตามกฎหมายแล้ว ในส่วนการเลิกชุมนุมเกินเวลาที่แจ้งไว้ ก็มีสาเหตุมาจากการขัดขวางการเดินขบวนโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ

สำหรับการชุมนุม “Army57” ในวันที่ 24 มีนาคม 2561 เป็นกิจกรรมซึ่งรวมตัวกันที่สนามฟุตบอลมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ท่าพระจันทร์) แล้วเดินขบวนไปยังบริเวณหน้ากองทัพบก อันเป็นพื้นที่เชิงสัญลักษณ์ที่ทำการของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เป็นหนึ่งในการชุมนุมอย่างต่อเนื่องตลอดต้นปี 2561 ของกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง

นอกจากคดีของผู้ชุมนุมแล้ว ยังมีคดีในส่วนของแกนนำจำนวน 10 คน ซึ่งถูกฟ้องในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 ด้วยนั้น คดียังอยู่ระหว่างการพิจารณาในศาลอาญา โดยมีกำหนดวันนัดตรวจความพร้อมของคู่ความในวันที่ 23 มีนาคม 2563 และจะเริ่มกระบวนการนัดสืบพยานโจทก์ ในวันที่ 26-29 พฤษภาคม 2563 ไปจนถึงเดือนกรกฎาคม 2563

 

X