พิพากษา พ.ร.บ.ชุมนุมคดีแรก กรณีย้าย บขส. ขอนแก่น

20 มิ.ย. 59 นายภัตธนสันต์ เสงี่ยมศรี พร้อมนายสมเดช คำสุ่ย และนายสวาท อุปฮาด จำเลยที่ 6 เดินทางไปศาลแขวงขอนแก่น หลังศาลนัดพร้อมตรวจพยานหลักฐาน ในคดีฝ่าฝืน พ.ร.บ.ชุมนุมฯ โดยโจทก์ยื่นสืบพยาน 4 ปาก ส่วนจำเลยยื่นสืบพยาน 12 ปาก  ทั้งนี้ ศาลได้นัดสืบพยานวันที่ 24-26 ส.ค. 59

สืบเนื่องจาก 21 เม.ย.59 ศาลแขวงขอนแก่น อ่านคำพิพากษาคดีฝ่าฝืน พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ ซึ่งอัยการคดีศาลแขวงขอนแก่นเป็นโจทก์ฟ้องแกนนำคัดค้านการย้ายสถานีขนส่งจังหวัดขอนแก่น 7 คน ฐานร่วมกันจัดการชุมนุมสาธารณะที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยไม่แจ้งการชุมนุมก่อนเริ่มการชุมนุมไม่น้อยกว่า 24 ชม., กีดขวางทางเข้าออกหรือรบกวนการใช้บริการในสถานีขนส่งสาธารณะและในสถานที่ทำการหน่วยงานของรัฐ ทั้งนี้  ก่อนศาลอ่านคำพิพากษา นายภัตธนสันต์ เสงี่ยมศรี นายสมเดช คำสุ่ย และนายสวาท อุปฮาด จำเลยที่ 1, 3 และ 6 ได้แถลงต่อศาลขอถอนคำให้การรับสารภาพ และให้การใหม่ปฏิเสธ ขอสู้คดีต่อ เพื่อพิสูจน์ความจริง

นายภัตธนสันต์ แถลงต่อศาลว่า เนื่องจากการสืบพยานครั้งแรกเมื่อวันที่ 8 มี.ค. 59  ศาลบอกให้รับสารภาพไปก่อน แต่โทษยังหนักอยู่ ทั้งที่จำเลยบางคนไม่ได้กระทำความผิด หากยอมรับผิดก็เท่ากับว่าต้องรับโทษเท่าเพื่อน จึงปฏิเสธเพื่อพิสูจน์ความจริงว่า ไม่ใช่ภาครัฐจะถูกต้องเสมอไป

ศาลจึงอ่านคำพิพากษาในส่วนของจำเลยที่ 2, 4, 5 และ 7 ที่รับสารภาพ พิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามฟ้อง การกระทำของจำเลยทั้ง 4 เป็นความผิดหลายกรรม ให้ลงโทษทุกกรรม ลงโทษจำเลยที่ 2 และ 4 ฐานร่วมกันจัดการชุมนุมสาธารณะไม่แจ้งการชุมนุม รวม 2 กระทง ปรับกระทงละ 2,000 บาท และฐานร่วมกันชุมนุมสาธารณะกีดขวางทางเข้าออกสถานที่ทำการหน่วยงานของรัฐ รวม 2 กระทง จำคุกกระทงละ 2 เดือน ปรับกระทงละ 2,000 บาท รวมเป็นจำคุกจำเลยที่ 2 และ 4 คนละ 4 เดือน ปรับคนละ 8,000 บาท  ลงโทษจำเลยที่ 5 และ 7 ฐานร่วมกันจัดการชุมนุมสาธารณะไม่แจ้งการชุมนุม ปรับคนละ 2,000 บาท และฐานร่วมกันชุมนุมสาธารณะกีดขวางทางเข้าออกสถานที่ทำการหน่วยงานของรัฐ จำคุกคนละ 2 เดือน ปรับคนละ 2,000 บาท รวมเป็นจำคุกจำเลยที่ 5 และ 7 คนละ 2 เดือน ปรับคนละ 4,000 บาท  จำเลยทั้ง 4 ให้การรับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุกจำเลยที่ 2 และ 4 คนละ 2 เดือน ปรับคนละ 4,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 5 และ 7 คนละ 1 เดือน ปรับคนละ 2,000 บาท

พิเคราะห์คำฟ้องประกอบรายงานการสืบเสาะและพินิจ พร้อมเอกสารประกอบคำรับสารภาพแล้ว เห็นว่า จำเลยทั้ง 4 กระทำในฐานะที่เป็นราษฎรที่เชื่อว่าจะได้รับผลกระทบจากการบริหารราชการของรัฐ ไม่ได้มุ่งหมายให้เกิดความวุ่นวาย การชุมนุมไม่มีอาวุธหรือก่อให้เกิดความเสียหาย ยุติการชุมนุมในช่วงเวลาสั้นๆ พฤติการณ์ไม่ร้ายแรง โทษจำคุกจึงให้รอลงอาญาไว้ 1 ปี ส่วนจำเลยที่ 1, 3 และ 6 ศาลให้โจทก์แยกฟ้องเป็นคดีใหม่ 

นับเป็นคดีแรกที่ติดตามได้ว่ามีการอ่านคำพิพากษาในความผิดตาม พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 12 ส.ค. 58

  • เหตุแห่งคดี

จำเลยทั้ง 7 คน ประกอบด้วย 1.นายภัตธนสันต์ เสงี่ยมศรี 2.นายสมเดช คำสุ่ย 3.นายวัชรินทร์ เสริมศิริกาญจนา 4.นายบุญมี เต็งเจริญกุล 5.นายทวีวัฒน์ อนันตรักษ์ 6.นายสวาท อุปฮาด 7.นางสาวสมพร ศรีจำนง ถูกอัยการยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 11 ธ.ค. 2558 ฐานร่วมกันจัดการชุมนุมสาธารณะ โดยไม่แจ้งการชุมนุมต่อผู้รับแจ้งก่อนการชุมนุมไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง, ร่วมกันชุมนุมสาธารณะโดยกีดขวางทางเข้าออกหรือรบกวนการปฏิบัติงานหรือการใช้บริการสถานีขนส่งสาธารณะและในสถานที่ทำการหน่วยงานของรัฐ อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย

ฟ้องโจทก์บรรยายว่า สืบเนื่องจากวันที่ 24 ส.ค. 2558 จำเลยที่ 1 ถึงจำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นผู้ร่วมเชิญชวนหรือเป็นผู้ร่วมจัดการชุมนุม ได้จัดการชุมนุมของบุคคลในที่ สาธารณะเพื่อเรียกร้อง สนับสนุน คัดค้าน หรือแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับ การย้ายสถานีขนส่งแห่งที่ 1 และแห่งที่ 2 ไปยังสถานีขนส่งแห่งที่ 3 ของจังหวัดขอนแก่น โดยแสดงออกต่อประชาชนทั่วไปและบุคคลอื่น สามารถร่วมกันชุมนุมนั้นได้ ณ บริเวณด้านหน้าทางเข้าอาคารสถานีขนส่ง 3 จังหวัดขอนแก่น อันเป็นสถานีขนส่งสาธารณะ โดยจำเลยที่ 1 ถึงจำเลยที่ 4 ไม่แจ้งการชุมนุมต่อผู้กำกับ สภ.เมืองขอนแก่น ซึ่งเป็นหัวหน้าสถานีตำรวจท้องที่ที่มีการชุมนุมสาธารณะ ผู้รับแจ้ง ก่อนเริ่มชุมนุมไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง ทั้งมิได้มีการผ่อนผันต่อผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดขอนแก่นก่อนเริ่มการชุมนุม

และเมื่อวันที่ 25 ส.ค. 2558 เวลากลางวัน จำเลยที่ 1 ถึงจำเลยที่ 7 ซึ่งเป็นผู้ร่วมกันจัดการชุมนุม ได้ร่วมกันจัดให้มีการชุมนุมของบุคคลในที่สาธารณะเพื่อเรียกร้อง สนับสนุน คัดค้านหรือแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการย้ายสถานีขนส่งแห่งที่ 1 และแห่งที่ 2 ไปยังสถานีขนส่งแห่งที่ 3 ของจังหวัดขอนแก่น โดยแสดงออกต่อประชาชนทั่วไปและบุคคลอื่นสามารถเข้าร่วมได้ ณ บริเวณบันไดทางขึ้นศาลากลางจังหวัดขอนแก่น อันเป็นสถานที่หน่วยงานของรัฐ โดยรวมตัวกันไปชุมนุมสาธารณะพร้อมกลุ่มผู้ชุมนุมจำนวนมากกว่า 200 คน การชุมนุมของจำเลยทั้งเจ็ดและผู้ร่วมชุมนุมดังกล่าวเป็นการกีดขวางทางเข้าออกอาคารศาลากลางจังหวัดขอนแก่น อันเป็นที่ทำการหน่วยงานของรัฐ และรบกวนการปฏิบัติงานหรือการใช้บริเวณสถานที่ดังกล่าว ท้ายคำฟ้องระบุว่า จำเลยทั้งเจ็ด ได้กระทำความผิดตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 มาตรา 4,6,8,10,12,14,27,28

  • ศาลไกล่เกลี่ยจำเลยรับสารภาพ 

ในนัดพร้อมโจทก์และจำเลย เมื่อวันที่ 8 มี.ค. 59 ศาลได้ไกล่เกลี่ยให้จำเลยรับสารภาพ โดยแจ้งว่าหากรับสารภาพ ศาลจะลดโทษให้ และไม่ให้ติดคุก คือ จะลงโทษปรับกระทงละ 10,000 บาท ลดเหลือกระทงละ 5,000 บาท ทั้งนี้ ศาลกล่าวกับจำเลยว่า เหตุที่ลงโทษปรับ 10,000 บาท ซึ่งเป็นอัตราโทษสูงสุดนั้น เพราะผู้ใหญ่อยากปรามประชาชน ไม่อยากให้เอาเป็นเยี่ยงอย่าง ไม่อยากให้มีคนออกมาก่อความวุ่นวาย

ทนายจำเลยถามศาลว่า ในกรณีที่บางคนไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ของวันที่ฟ้อง โดยมีหลักฐานชัดเจนว่าวันเกิดเหตุเขาประชุมอยู่ต่างจังหวัดอีกที่หนึ่ง หากสารภาพศาลจะมีช่องทางช่วยลดโทษให้อีกหรือไม่ ศาลตอบว่า ถ้ารับสารภาพก็ต้องลงโทษเท่ากัน เท่าที่ศาลดูก็น่าจะมีกำลังจ่ายกันอยู่ จ่ายแล้วก็จบ จะได้ไม่เป็นบรรทัดฐานให้คนอื่นๆ ทำตาม

สุดท้าย จำเลยทั้งเจ็ดยินยอมถอนคำให้การเดิมที่ให้การปฏิเสธ และให้การใหม่เป็นรับสารภาพ เนื่องจากศาลกล่าวว่า หากเห็นว่ายังไม่ได้รับความเป็นธรรม ให้มาแถลงต่อศาลได้ตลอดเวลา โดยจำเลยบางคนยังติดใจที่จะสู้คดี เพื่อยืนยันการปกป้องสิทธิของผู้ได้รับผลกระทบ และจะรอไปแถลงต่อศาลในวันที่ศาลนัดอ่านคำพิพากษา

  • เหตุผลของผู้ที่สู้ต่อ

นายสวาท อุปฮาด จำเลยที่ 6 ขอกลับคำให้การ ให้สัมภาษณ์ถึงเหตุผลที่ต้องการต่อสู้คดีว่า เนื่องจากรัฐกล่าวหาว่าประชาชนชุมนุมขัดขวางการทำหน้าที่ของราชการ ซึ่งเขายอมรับไม่ได้เพราะไม่ได้กระทำความผิด จึงไม่ยอมรับในข้อกฎหมายด้วย เขาทำเพื่อปกป้องสิทธิและเสรีภาพ ไม่ได้มีผลตามข้อกล่าวหา และยังยืนยันว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ตามสิทธิอยู่

นายสวาทยืนยันว่า เขาเรียกร้องมันไม่ใช่เพื่อตนเอง แต่มันคือการเรียกร้องต่อสาธารณะ คนที่อยู่ในละแวกสถานีขนส่งผู้โดยสาร ( บขส.) และคนที่ใช้บริการ บขส. เพื่อนำเสนอข้อเท็จจริงและผลกระทบที่เกิดขึ้น ส่วนคนที่ยอมรับสารภาพก็เป็นสิทธิและเสรีภาพของแต่ละคน ทุกคนมีข้อจำกัดไม่เหมือนกัน

“สำหรับ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ในฐานะที่เราเป็นประชาชน บอกตรงๆ ว่าเรายอมรับไม่ได้เพราะมันเป็นการลิดรอนสิทธิ ซึ่งจากการที่เราโดนคดีตาม พ.ร.บ.นี้ สิ่งที่เรายืนยันก็คือ เราต้องต่อสู้เพื่อที่จะยืนยันว่าการใช้เสรีภาพ และการปกป้องเสรีภาพมันควรที่จะเปิดกว้างให้กับประชาชนทุกภาคส่วนในการนำเสนอ ไม่ใช่ใช้เงื่อนไขข้อกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม ผมเชื่อว่าถ้าเป็นรัฐบาลปกติคงยากที่จะมี พ.ร.บ.ชุมนุมฉบับนี้ แต่ถึงแม้ว่าตอนนี้จะมี พ.ร.บ.ชุมนุม เราก็ยังจะต่อสู้เพื่อยืนยันไม่ให้รัฐปิดกั้นสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ซึ่งผมมองว่ามันเป็นเรื่องใหญ่กว่าทุกเรื่อง เพราะถ้าเมื่อไหร่ที่ประชาชนถูกปิดกั้นการใช้เสรีภาพก็จะทำให้เกิดความไม่เป็นธรรม และผลที่จะเกิดขึ้นคือ ประชาชนได้รับผลกระทบมากขึ้น”

  • การคัดค้านที่ยืดเยื้อ

การคัดค้านการย้ายสถานีขนส่งผู้โดยสารจังหวัดขอนแก่น เริ่มจากเมื่อวันที่ 2 พ.ย. 2554 กรมการขนส่งทางบกได้ติดประกาศที่สถานีขนส่งผูโดยสารขอนแก่นแห่งที่ 1 และ 2  แจ้งให้ย้ายเส้นทางการเดินรถปรับอากาศทั้งหมดและประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์ ของ บขส.ขอนแก่น (สีส้ม) ไปอยู่ที่สถานีแห่งใหม่ (แห่งที่ 3) ทั้งหมด

ต่อมา วันที่ 8 พ.ย. 2554 มีประชาชนออกมาชุมนุมบริเวณศาลากลางจังหวัดขอนแก่นคัดค้านการย้ายสถานีขนส่งดังกล่าว เนื่องจากสถานีขนส่งแห่งที่ 1 และ 2 ตั้งอยู่ในเมืองขอนแก่น ใกล้สถานที่ราชการหลายแห่ง เช่น ศาล หรือศาลากลางจังหวัด ขณะที่แห่งใหม่อยู่ไกลจากตัวเมือง ห่างออกไปประมาณ 10 กิโลเมตร ทำให้ผู้ใช้บริการ ซึ่งมีทั้งนักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไป ทั้งในจังหวัดขอนแก่นและใกล้เคียงได้รับผลกระทบ ต้องใช้เวลาในการเดินทางมากขึ้น มีค่าใช้จ่ายในการเดินทางเพิ่มขึ้น และอาจมีอันตรายในระหว่างการเดินทาง เพราะยังไม่มีมาตรการรักษาความปลอดภัย นอกจากนี้ ในละแวก บขส. แห่งที่ 1 มีผู้ค้ารายย่อยกว่า 300 ร้าน การย้าย บขส. จึงส่งผลกระทบให้กับกลุ่มผู้ค้าเหล่านี้

นโยบายของกรมการขนส่งทางบกไม่สามารถผลักดันให้เป็นจริงได้ เนื่องจากมีกระแสคัดค้านของประชาชน แต่ความพยายามผลักดันก็ยังมีขึ้นเป็นระยะ ในปี 2556-2558 แต่ก็ต้องเผชิญกับการชุมนุมคัดค้านทุกครั้ง

อย่างไรก็ตาม ไม่มีครั้งไหนที่มีการดำเนินคดีกับกลุ่มประชาชนที่ออกมาคัดค้าน จนกระทั่ง สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ที่แต่งตั้งโดย คสช. ผ่านร่าง พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 และมีผลบังคับใช้

  • เสียงของผู้ได้รับผลกระทบหากมีการย้าย บขส.

นางฉลวย รัตนภักดี แม่ค้าขายเสื้อในย่าน บขส. หนึ่งในผู้ที่มารอให้กำลังใจอยู่นอกห้องพิจารณาคดี ในวันที่จำเลยทั้งเจ็ด  เข้ารับฟังคำพิพากษาที่ศาลแขวงขอนแก่น สะท้อนปัญหาเรื่องการย้าย บขส. ซึ่งเป็นต้นเหตุของคดีนี้ว่า หากย้าย บขส. ทั้งหมดไปรวมกันที่ บขส. แห่งใหม่ เราก็ต้องย้ายไปหาอยู่หากินที่ใหม่ ซึ่งก็ไม่รู้จะไปที่ไหน ที่นี่เราค้าขายกันมานาน รายได้ก็พอได้เลี้ยงปากเลี้ยงท้อง ส่งลูกไปโรงเรียน แต่เขาเปลี่ยนที่ใหม่แล้วจะให้เราไปอยู่ไหน

ทั้งนี้ แกนนำในการคัดค้านการย้าย บขส. ไปรวมกันแห่งเดียว ที่ตกเป็นจำเลยและรับสารภาพในคดีนี้ เนื่องจากมีภาระหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบ อย่างนายบุญมี เต็งเจริญกุล ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับการย้าย บขส. ว่าการย้าย บขส.1 และ 2 ไปไว้ที่ บขส. 3 ที่เดียวนั้น เป็นการสร้างภาระให้กับประชาชนผู้ใช้บริการ เนื่องจากสถานที่ราชการส่วนใหญ่อยู่ในเมือง และ บขส. 3 ห่างจากในเมืองประมาณ 10 กิโลเมตร ส่งผลให้คนต่างอำเภอที่ต้องการเข้ามาทำธุระกับศูนย์ราชการต้องลำบากเพราะต้องมีค่าใช้จ่ายในการต่อรถเข้าในเมือง รวมถึงการเอา บขส. เก่า 2 แห่งไปไว้กับ บขส. 3 ที่เดียวนั้นเป็นการกระจุกตัวเกินไป ควรจะทำให้ บขส.มีความหลากหลายในเรื่องสถานที่ เพื่อประชาชนจะได้มีสิทธิเลือกใช้บริการได้  ส่วนในเรื่องคดีเขากล่าวว่า ยังจะไปให้กำลังใจสำหรับคนที่ยังสู้ต่อ

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

X