แค่คิดจะวิ่ง แต่สถานการณ์ (คุกคาม) ไม่นิ่งอย่างที่คิด: ประมวลสถานการณ์ “วิ่งไล่ลุง” ในอีสาน  

กระแสการจัดกิจกรรม “วิ่งไล่ลุง” ในวันที่ 12 ม.ค. 2563 เริ่มจากในกรุงเทพฯ โดย “คณะกรรมการแนวร่วมสมาพันธ์ผู้จัดงานวิ่งไล่ลุงเพื่อประโยชน์ประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนแห่งประเทศไทย” และค่อย ๆ ผุดขึ้นในต่างจังหวัดทุกภูมิภาค ล่าสุด มีการประกาศจัดกิจกรรมใน 34 จังหวัด 39 จุด เฉพาะในภาคอีสาน 12 จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา, อุบลราชธานี, ขอนแก่น, มหาสารคาม, กาฬสินธ์ุ, ร้อยเอ็ด, อุดรธานี, บุรีรัมย์, นครพนม, ยโสธร, สกลนคร และ บึงกาฬ 

ควบคู่ไปกับการประกาศจัดกิจกรรม คือการติดตามคุกคามของเจ้าหน้าที่ เพื่อหวังผลในการสกัดกั้นไม่ให้เกิดกิจกรรม “วิ่งไล่ลุง” ในแต่ละจังหวัด ส่วนใหญ่หลังมีการประกาศจัดกิจกรรมได้ไม่นาน เจ้าหน้าที่ก็จะไปพบผู้โพสต์บ้าง ผู้แชร์บ้าง หรือคนที่เจ้าหน้าที่คาดว่าน่าจะเป็นผู้จัดกิจกรรม การคุกคามยังมาในรูปแบบของอ้างกฎหมาย เช่น พ.ร.บ.ชุมนุมฯ, กฎหมายความมั่นคง หรือ พ.ร.บ.จราจรฯ รวมไปถึงการไม่ให้ใช้สถานที่ เส้นทาง แม้กระทั่งการจัดกิจกรรมซ้อนในสถานที่เดียวกัน เพื่อให้กิจกรรม “วิ่งไล่ลุง” ไม่สามารถจัดได้  ซึ่งบางกรณีการคุกคามก็มีผลให้ประชาชนที่ถูกคุกคามยุติการโพสต์ชวนคนออกไปวิ่งในวันที่ 12 ม.ค. หรือยุติบทบาทในฐานะผู้จัดกิจกรรม แต่ส่วนใหญ่ผู้ที่ถูกคุกคามหรือปิดกั้นยังพยายาม “ไปต่อ” เพื่อให้กิจกรรมจัดขึ้นได้ 

ก่อนถึงวันจัดกิจกรรม ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรวบรวมสถานการณ์คุกคามในพื้นที่ภาคอีสาน ซึ่งเป็นเพียงบางส่วนของสิ่งที่เกิดขึ้นจริง เนื่องจากยังไม่สามารถติดตามสถานการณ์บางจังหวัดที่มีการประกาศจัดกิจกรรม  

 

เป้าหมายใหญ่การจับตา: อดีตผู้สมัคร ส.ส.อนาคตใหม่ ไปจนถึงอดีตเจ้าหน้าที่

ก่อนถึงวัน “วิ่งไล่ลุง” ไม่กี่วัน ในวันที่ 8 ม.ค. 2563 เพียงวันเดียว ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้รับแจ้งว่า อดีตผู้สมัคร ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ 4 ราย ใน 3 จังหวัด ถูกติดตามไปพบที่บ้าน ซึ่งบางแห่งเป็นศูนย์ประสานงานพรรคด้วย และสอบถามโดยใช้คำถามในลักษณะเดียวกัน คือ กิจกรรมจะจัดยังไง จะทำเสื้อไหม มีการปราศรัยหรือใช้เครื่องเสียงหรือไม่ และจบลงด้วยการถ่ายรูปเพื่อไปรายงาน “นาย” โดยอดีตผู้สมัคร ส.ส.ที่เจ้าหน้าที่ไปพบ ได้แก่

จังหวัดนครพนม ตำรวจนอกเครื่องแบบในพื้นที่ไปพบนายพิศาล บุพศิริ และอดีตผู้สมัคร ส.ส.อีกราย ที่บ้าน หลังนายพิศาลโพสต์ภาพโปสเตอร์งานวิ่งไล่ลุงของจังหวัดนครพนม แต่ตำรวจไม่พบนายพิศาล ซึ่งย้ายออกจากบ้านหลังดังกล่าวไปแล้ว ส่วนอีกรายตำรวจสอบถามว่า พรรคอนาคตใหม่ให้เงินมาจัดกิจกรรมวิ่งไล่ลุงหรือไม่ ซึ่งเขาได้ตอบปฏิเสธ ตำรวจก็ถามต่อว่า จะเข้าร่วมวิ่งหรือไม่ อดีตผู้สมัครจึงกล่าวว่า หากจังหวัดนครพนมจัดกิจกรรม ตนก็จะไปวิ่งเป็นการส่วนตัว เพราะเป็นเสรีภาพในการแสดงออก

ที่จังหวัดบึงกาฬก็เช่นกัน พบว่า มีตำรวจไปที่บ้านนายสำรวย ศรีทิน หลังภรรยาของเขาโพสต์เฟซบุ๊กชวนคนไปร่วมวิ่งไล่ลุง โดยตั้งค่าให้เห็นเฉพาะเพื่อน ตำรวจไปพบถึง 2 ครั้ง สอบถามเหมือน ๆ กันถึงรายละเอียดของกิจกรรม โดยระบุว่า นายให้มาถาม ภรรยานายสำรวยให้ข้อมูลกับเจ้าหน้าที่ว่า แค่โพสต์ชวนคนไปวิ่งออกกำลังกาย เพราะปกติตนเองก็วิ่งอยู่แล้ว ไม่ได้จัดเป็นกิจกรรมหรือทำเสื้อแจกแต่อย่างใด 

วันเดียวกัน น.ส.อิสรีย์ อภิสิริรุจิภาส อดีตผู้สมัคร ส.ส. เขต 2 จังหวัดบุรีรัมย์ ก็ถูกตำรวจติดตามไปพบที่บ้าน สอบถามเกี่ยวกับกิจกรรมวิ่งไล่ลุง เนื่องจาก น.ส.อิสรีย์ ได้โพสต์คลิปว่า จะไปร่วมกิจกรรมวิ่งไล่ลุงที่สวนสาธารณะอำเภอสตึก ในเช้าวันที่ 12 ม.ค. แต่อดีตผู้สมัคร ส.ส. กล่าวว่า ตนแค่จะไปร่วมวิ่งเท่านั้น ไม่ได้เป็นผู้จัดกิจกรรม จึงไม่ทราบรายละเอียด ตำรวจยังถามถึงนายณัฐพงษ์ ธรรมโชติ หรือ “เจมส์” ว่า เป็นคนรุ่นใหม่ของพรรคอนาคตใหม่หรือไม่ ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้นายณัฐพงษ์ประกาศจัดวิ่งที่อำเภอสตึก แต่ถูกตำรวจเรียกไปห้าม  และถูกกดดันถึงที่ทำงาน จนต้องงดจัดกิจกรรม 

9 ม.ค. 2563 หลังจากตำรวจนครพนมไปติดตามที่บ้านนายพิศาล บุพศิริ แต่ไม่พบ ตำรวจได้โทรศัพท์เรียกให้นายพิศาลเข้าไปพบผู้กำกับการ สภ.บ้านแพง โดยผู้กำกับระบุว่า ไม่สบายใจที่จะมีการจัดวิ่งไล่ลุง และสอบถามว่า กิจกรรมที่จังหวัดนครพนมจะระดมคนกี่คน พร้อมทั้งชุดคำถามดังกล่าวข้างต้น ขณะที่คุยกับผู้กำกับอยู่ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดนครพนมก็ได้โทรศัพท์มาหานายพิศาลอีก และถามด้วยคำถามเดียวกัน นายพิศาลจึงยืนยันกับตำรวจว่า พรรคอนาคตใหม่ไม่ได้เป็นคนจัดกิจกรรมวิ่งไล่ลุง และไม่มีการทำเสื้อแจก เราแค่จะไปวิ่งออกกำลังกาย ไม่ได้ทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ 

นายพิศาลยังเปิดเผยกับศูนย์ทนายความฯ อีกว่า แกนนำชาวบ้านที่อำเภอนาแกก็ถูกตำรวจโทรศัพท์ไปสอบถามว่า จะระดมคนเข้าไปร่วมวิ่งไล่ลุงที่กรุงเทพฯ หรือไม่

ก่อนหน้านี้ ตำรวจก็ไปพบอดีตผู้สมัคร ส.ส.รวมถึงเจ้าหน้าที่ของพรรคอนาคตใหม่ ในจังหวัดที่มีข่าวว่าจะมีกิจกรรมวิ่งไล่ลุง เพื่อกดดันไม่ให้จัดหรือพาคนไปร่วม เช่น ที่จังหวัดอุบลฯ หลังเพจ วิ่งไล่ลุง อุบลราชธานี ประชาสัมพันธ์จัดวิ่งจากหน้าศาลหลักเมือง ในเวลา 05.00 น. หลังจากนั้นไม่กี่วัน สันติบาลและสืบเมืองก็ไปพบนายฉัตรชัย แก้วคำปอด ขอความร่วมมือไม่ให้จัดงานวิ่งไล่ลุงที่ จ.อุบลฯ 

ที่จังหวัดบุรีรัมย์ ก่อนสิ้นปี 62 ตำรวจกว่า 10 นาย ไปพบนายปรัญชญา ตรีกาญจนา อดีตผู้สมัคร ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ เขต 5 ที่สำนักงาน สอบถามและขอให้ความร่วมมืองดกิจกรรมวิ่งไล่ลุง 

หรือที่จังหวัดนครพนม ก็มีตำรวจนอกเครื่องแบบไปพบหัวหน้าและรองหัวหน้าศูนย์ประสานงานพรรคฯ สอบถามคล้ายกันๆ ว่า  ใครเป็นคนจัดกิจกรรมวิ่งไล่ลุง จะพาคนไปร่วมหรือไม่ รวมทั้งห้ามไม่ให้เอาคนไปร่วมด้วย 

แม้แต่อดีตเจ้าหน้าที่ของศูนย์ประสานงานพรรคฯ จ.ยโสธร ก็ยังถูกสันติบาลติดตามไปพบระหว่างเดินทางไปต่างอำเภอเพื่อสอบถามถึงกิจกรรมวิ่งไล่ลุงนี้ 

 

ประชาชนก็ถูกข่มขู่คุกคาม กดดันที่ทำงาน มหาลัย หวังสกัดไม่ให้จัดกิจกรรม

กระแสข่าว “วิ่งไล่ลุง” ในกรุงเทพฯ ที่มีมาตั้งแต่ปลายเดือนพฤศจิกายน 2562 ทำให้บางคนรู้สึกอยากมีส่วนร่วมในจังหวัดของตนเอง ประกอบกับสื่อโซเชียลมีเดียที่แทบทุกคนมีอยู่ในมือ ทำให้มีการโพสต์เพื่อชักชวนกันไปวิ่งในหลายจังหวัด จนตกเป็นเป้าหมายการคุกคาม และต้องยุติการโพสต์หรือการจัดกิจกรรม เช่น กรณีนักเรียนมัธยม ร.ร.อนุกูลนารี จ.กาฬสินธุ์ โพสต์เฟซบุ๊กว่า จะมีการจัดกิจกรรมวิ่งไล่ลุงคู่ขนานกับทางกรุงเทพฯ ทำให้มีตำรวจไปพบนักเรียนคนดังกล่าวที่บ้านในเวลาต่อมา บอกให้ยุติกิจกรรม ทำให้เขาต้องลบโพสต์ดังกล่าวไป

เช่นเดียวกับที่จังหวัดบุรีรัมย์ หลังนายณัฐพงษ์ หรือ เจมส์ หนุ่มพนักงานบริษัทโพสต์เฟซบุ๊กว่า จะจัดงานวิ่งไล่ลุงที่ อ.สตึก และเชิญชวนให้คนมาวิ่ง ตำรวจฝ่ายสืบก็ไปหาเขาที่บ้าน และที่โรงงาน สอบถามว่า จะวิ่งเส้นทางไหน แจ้งการชุมนุมหรือยัง เจมส์ตั้งคำถามกลับว่า ทำไมต้องแจ้ง เขาแค่วิ่งออกกำลังกาย วันต่อมา ตำรวจโทรศัพท์ตามเจมส์ให้เข้าไปพบรองผู้กำกับการ สภ.สตึก โดยรองผู้กำกับ ขอให้เขาเลื่อนไปจัดกิจกรรมในวันอื่น อ้างว่าไม่อยากให้เขากลายเป็นเบี้ยให้พรรคการเมือง ไม่เพียงเท่านั้น รองผู้กำกับยังเข้าไปพบกับผู้จัดการของเจมส์อีกในวันรุ่งขึ้น ทำให้เขาตัดสินใจบอกตำรวจว่า เขาจะยุติการจัดวิ่งไล่ลุงแล้ว โดยเจมส์เปิดเผยภายหลังว่า เขารู้สึกกังวลเรื่องความปลอดภัยของตนเอง และกลัวจะมีผลกระทบกับงาน

แต่ก็มีกรณีกลุ่มนิสิต ม.มหาสารคาม ที่มีคนถูกคุกคามและกิจกรรมถูกปิดกั้น แต่กลุ่มยังหาทางจัดกิจกรรมต่อไป โดยนิสิตปี 1 วิทยาลัยการเมืองการปกครอง  นายพงศธรณ์ ตันเจริญ ถูกตำรวจจากมหาสารคาม 2 นาย ขับรถไปพบถึงที่บ้านใน จ.กาฬสินธุ์​ สอบถามเกี่ยวกับงาน “แล่น.ลัก.ลุง” ที่เขาแชร์จากเพจ แนวร่วมนิสิตมมส.เพื่อประชาธิปไตย ทั้งยังมีอาจารย์ในคณะนัดให้เขาเข้าไปพูดคุยที่มหาวิทยาลัย ซึ่งทำให้เขาทราบว่า ฝ่ายความมั่นคงกดดันทางมหาวิทยาลัย ห้ามไม่ให้มีการจัดกิจกรรมดังกล่าว และทางมหาวิทยาลัยก็มีข้อสรุปว่า ไม่อยากให้จัดในวันที่ 12 ม.ค. เพจแนวร่วมนิสิตมมส.เพื่อประชาธิปไตย จึงประกาศย้ายสถานที่จัดกิจกรรม จากเดิมที่ประชาสัมพันธ์ว่าจะวิ่งในมหาวิทยาลัย เปลี่ยนไปวิ่งในเมืองมหาสารคาม โดยเริ่มที่หอนาฬิกาในตอนเช้ามืด 

ขณะที่ตำรวจยังพยายามคุกคามอีก โดยโทรศัพท์มาสอบถามพงศธรณ์ถึงอาชีพของพ่อแม่ ระบุว่า “นายฝากมาถาม” ซึ่งทำให้เขารู้สึกไม่สบายใจ อย่างไรก็ตาม เพจแนวร่วมฯ ยังคงยืนยันจัดกิจกรรม และแจ้งการชุมนุมต่อ สภ.เมืองมหาสารคามแล้ว พงศธรณ์ระบุว่า เหตุที่แจ้งการชุมนุม เพราะหลังการวิ่งจะมีการชูป้ายและรณรงค์แก้ไขรัฐธรรมนูญ  

 

กำหนดเงื่อนไข ไม่ให้ใช้เส้นทาง แถมจัดกิจกรรมซ้อน

ผู้ประกาศจัดกิจกรรมบางจังหวัดยังถูกเจ้าหน้าที่งัดมาตรการทางกฎหมาย หรือใช้กลไกรัฐในมือ เพื่อปิดกั้น “วิ่งไล่ลุง” เช่น ที่จังหวัดนครราชสีมา ต้นเดือน ธ.ค. 62 เพจ วิ่งไล่ลุง โคราช ประกาศจัดกิจกรรมในช่วงเย็น เวลา 15.00 น. ที่ลานย่าโม โดยใช้เส้นทางวิ่งบนถนนเลียบคูเมือง ต่อมา วันที่ 6 ม.ค. 63 มีกระแสข่าวว่า ตำรวจปฏิเสธไม่ให้ใช้ผิวถนนจราจรเป็นเส้นทางวิ่ง โดยอ้างว่า อาจสร้างความเดือดร้อนให้ผู้ใช้รถใช้ถนน นอกจากนี้ ยังอ้างว่ามีกฎหมายความมั่นคงภายใน ซึ่งต้องให้ผู้ว่าฯ ในฐานะ ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัดนครราชสีมา พิจารณาอนุมัติให้จัดกิจกรรม ถึงแม้ผู้จัดจะออกมาปฏิเสธข่าวดังกล่าว และยืนยันจัดการวิ่งและกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์ แต่ต่อมา เพจ วิ่งไล่ลุง โคราช ก็โพสต์เปลี่ยนสถานที่รวมพลเป็นสวนรักษ์ สวนสาธารณะที่อยู่ด้านขวาของลานย่าโม และล่าสุด มีการโพสต์หนังสือลงวันที่ 9 ม.ค. 63 ซึ่งลงนามโดยนายอำเภอเมืองนครราชสีมา ระบุว่า จะมีกิจกรรมเนื่องในงานวันเด็กแห่งชาติที่บริเวณลานย่าโมในเย็นวันที่ 12 ม.ค. ด้วย ทั้งที่พ้นวันเด็กแห่งชาติไปแล้ว อย่างไรก็ตาม ทางเพจยังยืนยันจัดกิจกรรมเช่นเดิม 

ที่อุบลราชธานี เพจ วิ่งไล่ลุง อุบลราชธานี ประชาสัมพันธ์จัดวิ่งพร้อมกรุงเทพฯ และผู้จัดกิจกรรมได้เข้าแจ้งการชุมนุมตาม พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ในวันที่ 6 ม.ค. 63 โดยตำรวจอุบลฯ มีหนังสือ “อนุญาต” ให้ชุมนุม ก่อนมีคำสั่งและหนังสือ “ไม่อนุญาต” ตามมาในวันเดียวกัน อ้างเหตุว่ากีดขวางทางสัญจรของประชาชนและอาจนำไปสู่ความวุ่นวาย อย่างไรก็ตาม ทางเพจยังคงยืนยันจัดกิจกรรม อีกทั้งศูนย์ทนายความฯ เผยแพร่ข้อสังเกตทางกฎหมายว่า คำสั่งดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงไม่มีสภาพบังคับ ตำรวจจึงเรียกตัวแทนผู้จัดกิจกรรมไปพูดคุย สุดท้าย “อนุญาต” ให้จัดกิจกรรม โดยมีข้อกำหนดหลายข้อ เช่น ให้เปลี่ยนโลโก้โดยไม่ให้มีคำว่า “ลุง” ห้ามชูป้ายต่อต้านรัฐบาล ทั้งยังห้ามการแสดงออกที่ขัดคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 ทั้งนี้ ทางผู้จัดเปิดเผยว่า แม้ตำรวจจะจำกัดไม่ให้มีคำว่า “ลุง” ในแผ่นป้ายหมายเลขผู้เข้าวิ่ง หรือ BIB แต่ผู้จัดจะทำจุดไข่ปลาให้สามารถเพิ่มข้อความ​ได้เอง ซึ่งจะทำให้ผู้ที่มาร่วม​​วิ่ง สามารถกำหนดได้เองว่าต้องการวิ่งไล่ใคร

ต่อกรณีการใช้กฎหมายปิดกั้นกิจกรรม “วิ่งไล่ลุง” ศูนย์ทนายความฯ ได้เผยแพร่ วิ่งไล่ลุงทำได้ : ข้อพิจารณาทางกฎหมายเบื้องต้นต่อการจัดกิจกรรม “วิ่งไล่ลุง” ชี้ให้เห็นว่า กิจกรรมวิ่งไล่ลุง เป็นเสรีภาพในการแสดงออกอย่างหนึ่งซึ่งรัฐธรรมนูญรับรองไว้ ไม่เข้าข่ายเป็นการชุมนุมสาธารณะ แต่หากผู้จัดกิจกรรมต้องการจัดกิจกรรมในลักษณะการชุมนุม ก็จะต้องแจ้งการชุมนุมสาธารณะเพื่อให้เจ้าหน้าที่ตำรวจทราบ ซึ่งตำรวจไม่มีอำนาจ “อนุญาต” หรือ “ไม่อนุญาต” ให้จัดกิจกรรม อีกทั้ง วิ่งไล่ลุงเป็นกิจกรรมทางการเมืองที่สามารถจัดและเข้าร่วมได้ เพราะไม่มีกฎหมายห้ามจัดกิจกรรมทางการเมือง เนื่องจากคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 3/2558 ข้อ 12 ที่ห้ามชุมนุมทางการเมือง ได้ถูกยกเลิกไปแล้ว ปัจจุบันจึงไม่มีกฎหมายฉบับใดห้ามประชาชนชุมนุมหรือทำกิจกรรมทางการเมือง 

ยังมีกรณีที่ประสบความยากลำบากในการจัดกิจกรรมจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งอยู่ใกล้ชิดประชาชน แต่หลังยุค คสช.กลายเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับอำนาจรัฐส่วนกลาง ได้แก่ ที่จังหวัดยโสธร ซึ่งผู้จัดกิจกรรม “วิ่งไล่ลุงเพื่อสุขภาพ(จ.ยโสธร)” ได้ไปยื่นหนังสือขอใช้สวนสาธารณะพญาแถน เป็นสถานที่จัดกิจกรรมในเย็นวันที่ 12 ม.ค. กับเทศบาลเมืองยโสธร แต่ทางเทศบาลขอเรียกเก็บเงินค่าสถานที่ 3,000 บาท พร้อมกับระบุว่า เก็บเฉพาะงานวิ่งไล่ลุง ถ้าเป็นงานวิ่งอื่น ๆ จะไม่เก็บ แต่หลังผู้จัดเข้าพูดคุย ทางเทศบาลอนุญาตให้ใช้สถานที่ได้โดยไม่เรียกเก็บเงิน นอกจากนี้ ผู้จัดกิจกรรมได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า มีอาจารย์และนักเรียนที่สนใจจะมาร่วมวิ่งไล่ลุงเพื่อสุขภาพ แต่ถูกตำรวจไปขู่ว่าอาจจะถูกดำเนินคดี

สถานการณ์ในอีก 2 วัน ที่เหลือ คาดว่า เจ้าหน้าที่ยังคงมีการคุกคาม หรือใช้มาตรการอื่นๆ เพื่อสกัดกั้นการ “วิ่งไล่ลุง” หรือสกัดไม่ให้คนเข้าร่วมจำนวนมาก หากผู้จัดกิจกรรมวิ่งไล่ลุง หรือประชาชนทั่วไป ประสบปัญหาการใช้เสรีภาพในการแสดงออกหรือเสรีภาพในการชุมนุมจากกรณีดังกล่าว สามารถติดต่อเพื่อให้ข้อมูลหรือขอคำปรึกษาทางกฎหมายได้

–>โทรศัพท์หมายเลข  096 7893173, 092 2713172 

–>อีเมล [email protected]

–>เฟซบุ๊กเพจ “ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน 

–>ทวิตเตอร์ @tlhr2014

 

X