“โตโต้” ยืนยัน “วิ่งไล่ลุง” กาฬสินธุ์ เป็นกิจกรรมกีฬา ไม่ต้องแจ้งการชุมนุม

1 ก.ย. 2563 ศาลจังหวัดกาฬสินธุ์นัดคุ้มครองสิทธิ คดีไม่แจ้งการชุมนุม ตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 มาตรา 10 ซึ่งพนักงานอัยการจังหวัดกาฬสินธุ์เป็นโจทก์ฟ้อง “โตโต้” ปิยรัฐ จงเทพ นักกิจกรรมและอดีตผู้สมัคร ส.ส.เขต 1 จ.กาฬสินธุ์  พรรคอนาคตใหม่ จากกรณีที่มีการจัดกิจกรรม “วิ่งไล่ลุง” จ.กาฬสินธุ์ ในวันที่ 12 ม.ค. 2563  

เวลาประมาณ 11.00 น. ปิยรัฐพร้อมทนายความเข้าพบผู้พิพากษาในห้องคุ้มครองสิทธิ หลังจากอธิบายสิทธิของจำเลยในการต่อสู้คดีแล้ว ศาลได้ถามคำให้การจำเลย ปิยรัฐยืนยันให้การปฏิเสธ ตามคำให้การเป็นเอกสารที่ได้ยื่นไว้แล้ว เนื่องจากการจัดกิจกรรมของจำเลยเป็นกิจกรรมในรูปแบบการวิ่ง ซึ่งเป็นกีฬาประเภทหนึ่ง จึงไม่อยู่ภายใต้บังคับของ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ ตามมาตรา 3(3) ผู้จัดกิจกรรมจึงไม่มีหน้าที่ตามกฎหมายที่ต้องแจ้งการจัดกิจกรรมดังกล่าวแต่อย่างใด โดยจำเลยจะพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของจำเลยในชั้นพิจารณาของศาลต่อไป

ปิยรัฐยังรับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1308/2562 ของศาลอาญา (คดีแกนนำคนอยากเลือกตั้ง UN62) ที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ ซึ่งคดีดังกล่าวมีนัดสืบพยานในเดือน ม.ค.- มี.ค. 2564

ในวันนี้ ทนายจำเลยยังได้ยื่นบัญชีพยานจำเลยต่อศาล โดยระบุพยานบุคคลที่จะนำเข้าสืบ 1 ปาก คือตัวจำเลย และพยานเอกสารอีก 4 รายการ ได้แก่ พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 ที่ให้ความหมายของคำว่า “กีฬา” และภาพตัวอย่างกิจกรรมการวิ่ง, ชุดนักกีฬาวิ่ง และป้ายประจำตัวผู้วิ่ง (ฺBib)

นัดต่อไปในคดีนี้เป็นนัดตรวจพยานหลักฐานก่อนการสืบพยาน โดยมีกำหนดนัดในวันที่ 28 ก.ย. 2563

คำฟ้องของพนักงานอัยการจังหวัดกาฬสินธุ์ในคดีนี้ระบุว่า เมื่อวันที่ 12 ม.ค. 2563 จำเลยได้เป็นผู้จัดให้มีการชุมนุมสาธารณะในกิจกรรม “วิ่งไล่ลุง” ใน อ.เมือง จ.กาฬสินธุ์ โดยจำเลยได้เชิญชวนหรือนัดให้ผู้อื่นมาร่วมกิจกรรมดังกล่าว, พูดเชิญชวนให้ผู้มาร่วมชุมนุมลงทะเบียน, อำนวยความสะดวกให้ผู้มาชุมนุม และพูดผ่านเครื่องขยายเสียงโจมตีและวิจารณ์การทำงานของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โดยผู้ร่วมชุมนุมมีการแสดงสัญลักษณ์ชูนิ้วมือ 3 นิ้ว ต่อต้านการทำรัฐประหาร ทั้งยังมีป้ายข้อความว่า “มาไล่ลุง ให้ไป ออกไป” อันเป็นการแสดงออกต่อประชาชนทั่วไป ซึ่งมิใช่กรณีการชุมนุมสาธารณะที่ได้รับการยกเว้นตามกฎหมาย โดยจำเลยไม่ได้แจ้งโดยวิธีการใดๆ ต่อผู้รับแจ้งก่อนเริ่มการชุมนุมไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง 

>>ฟ้องอีกคดี “วิ่งไล่ลุง” กาฬสินธุ์ ชี้ “โตโต้” มีพฤติการณ์เป็นผู้จัดแต่ไม่แจ้งชุมนุม

กิจกรรม “วิ่งไล่ลุง” กาฬสินธุ์ ภาพโดย โพสต์ทูเดย์

กิจกรรมวิ่งไล่ลุงทั่วประเทศ มีผู้ถูกดำเนินคดีฐานไม่แจ้งการชุมนุม ทั้งสิ้น 14 คดี รวม 18 ราย ผู้ต้องหาหรือจำเลยรับสารภาพและถูกปรับแล้วรวม 6 ราย คดีอยู่ในชั้นอัยการที่ยังไม่มีคำสั่งฟ้อง 3 คดี รวม 7 ราย และคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล 5 คดี รวม 5 ราย โดย 2 คดีที่ศาลสืบพยานเสร็จแล้ว จำเลยได้ยื่นคำร้องต่อศาลขอให้ส่งคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า พ.ร.บ.ชุมนุมฯ มาตรา 10 วรรคสอง, 14, 28 ซึ่งเป็นกฎหมายที่จะใช้บังคับกับจำเลย ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ และศาลได้ส่งคำร้องของจำเลยให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแล้ว 

>> ลุงก็ต้องไล่ โรงพัก-ศาลก็ยังต้องไป: เปิดตารางความเคลื่อนไหวคดีจากกิจกรรม “วิ่งไล่ลุง”

 

X