ฟ้องอีกคดี “วิ่งไล่ลุง” กาฬสินธุ์ ชี้ “โตโต้” มีพฤติการณ์เป็นผู้จัดแต่ไม่แจ้งชุมนุม

13 ก.ค. 2563 เวลาประมาณ 09.00 น. “โตโต้” ปิยรัฐ จงเทพ นักกิจกรรมและอดีตผู้สมัคร ส.ส.เขต 1 จ.กาฬสินธุ์  พรรคอนาคตใหม่ เดินทางเข้ารายงานตัวต่อพนักงานอัยการจังหวัดกาฬสินธุ์ หลังเมื่อวันที่ 2 ก.ค. ที่ผ่านมา พนักงานสอบสวน สภ.เมืองกาฬสินธุ์ มีความเห็นควรสั่งฟ้องปิยรัฐ ในข้อหา เป็นผู้จัดให้มีการชุมนุมในที่สาธารณะโดยไม่แจ้งต่อเจ้าพนักงานก่อนเริ่มการชุมนุมไม่น้อยกว่า 24 ชม. ตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 มาตรา 10 จากกรณีที่มีการจัดกิจกรรม “วิ่งไล่ลุง” จ.กาฬสินธุ์ ในวันที่ 12 ม.ค. 2563 และส่งสำนวนการสอบสวนให้อัยการ

 >> ตร.ปล่อย “โตโต้” ไม่ต้องประกัน นัดส่งอัยการ 2 ก.ค. ยังข้องใจใครคือ “กลุ่มคนนิรนาม”

เมื่อเข้ารายงานตัว อัยการซึ่งมีคำสั่งฟ้องคดีเช่นกัน แจ้งว่า ยังทำคำฟ้องไม่เสร็จ ขอเวลาไม่เกินเที่ยง ต่อมา อัยการนัดหมายปิยรัฐไปที่ศาลจังหวัดกาฬสินธุ์เพื่อยื่นฟ้องคดีในเวลาประมาณ 11.00 น. 

หลังเจ้าหน้าที่ศาลรับคำฟ้อง ปิยรัฐถูกควบคุมตัวเข้าห้องขังใต้ถุนศาล จนกระทั่งเวลาประมาณ 15.00 น. ศาลจึงได้ถามคำให้การเบื้องต้นผ่านระบบวีดิโอคอนเฟอเรนซ์ ปิยรัฐยืนยันให้การปฏิเสธ ศาลนัดพร้อมเพื่อสอบคำให้การอีกครั้งในวันที่ 1 ก.ย. 2563 และแจ้งให้นำเงินสด 5,000 บาท ยื่นประกันตัวในวันนี้ ปิยรัฐแถลงว่า ประสงค์ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวโดยไม่มีหลักประกัน แต่ศาลยังไม่เห็นคำร้อง จึงขอพิจารณาคำร้องก่อน จากนั้นในเวลาประมาณ 16.10 น. ศาลจึงมีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวโดยไม่ต้องวางหลักประกัน ปิยรัฐจึงได้รับการปล่อยตัวหลังถูกขังอยู่ 5 ชั่วโมง ในห้องขังใต้ถุนศาล

คำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวโดยไม่มีหลักประกัน  ระบุเหตุผลว่า ข้อหา เป็นผู้จัดการชุมนุมสาธารณะไม่แจ้งการชุมนุมก่อนเริ่มการชุมนุมตามมาตรา 10 ของ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ที่โจทก์ฟ้องจำเลยนั้น มีโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท อันเป็นความผิดลหุโทษที่มีโทษปรับสถานเดียว ซึ่งศาลสามารถใช้ดุลพินิจปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยโดยไม่มีหลักประกัน ให้เป็นไปตามข้อบังคับของประธานศาลฎีกา ได้  

โตโต้เปิดเผยหลังได้รับการปล่อยตัวว่า ก่อนหน้าที่เจ้าหน้าที่ศาลจะนำคำสั่งให้ประกันตัวมาแจ้ง ซึ่งเหลือเวลาอีก 20 นาที รถเรือนจำจะต้องนำผู้ต้องขังที่ไม่ได้ประกันตัวจากศาลไปส่งเข้าเรือนจำ เขาคุยกับผู้ต้องขังที่เหลืออยู่ในห้องขังใต้ถุนศาลแค่ 3 คนว่า ต้องได้ไปเปลี่ยนกางเกงขาสั้นเตรียมเข้าเรือนจำแล้ว โดยเขาตั้งใจมาแต่ต้นว่า ถ้าศาลไม่อนุญาตปล่อยตัวโดยไม่ต้องวางเงินประกัน เขาก็จะไม่ยื่นประกัน

คดีของโตโต้นับเป็นคดีที่ 14 ที่ถูกกล่าวหาว่า ไม่แจ้งการชุมนุม จากกิจกรรมวิ่งไล่ลุงทั่วประเทศ และเป็นคดีที่ 5 ที่อัยการยื่นฟ้องต่อศาล ขณะที่มีอีก 4 คดีที่อัยการยังไม่มีคำสั่งฟ้อง โดย 2 คดีที่ศาลสืบพยานเสร็จแล้ว จำเลยได้ยื่นคำร้องต่อศาลขอให้ส่งคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า พ.ร.บ.ชุมนุมฯ มาตรา 10 วรรคสอง, 14, 28 ซึ่งเป็นกฎหมายที่จะใช้บังคับกับจำเลยในคดีนี้ ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 26, มาตรา 34 และมาตรา 44 หรือไม่ และศาลเห็นควรให้ส่งคำร้องของจำเลยต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย 

 >> ลุงก็ต้องไล่ โรงพัก-ศาลก็ยังต้องไป: เปิดตารางความเคลื่อนไหวคดีจากกิจกรรม “วิ่งไล่ลุง”

กิจกรรม “วิ่งไล่ลุง” กาฬสินธุ์ ภาพโดย โพสต์ทูเดย์

อีกหลายคดีจากการใช้เสรีภาพแสดงออก/ชุมนุม ยังรออยู่

นอกจากคดี “วิ่งไล่ลุง” นี้แล้ว ในวันเดียวกันนี้ ปิยรัฐยังต้องเข้ารับทราบข้อกล่าวหาตามหมายเรียกจากกิจกรรม “ลบยังไงก็ไม่ลืม” รำลึก 88 ปี การเปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อเช้ามืดวันที่ 24 มิ.ย. ที่ผ่านมา พร้อมคนอื่นๆ อีก 6 คน แต่เนื่องจากติดนัดหมายในคดีนี้ ทำให้เขาต้องเข้ารับทราบข้อกล่าวหาในภายหลัง

และในวันที่ 21 ก.ค. ที่จะถึงนี้ ปิยรัฐยังมีนัดฟังคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีฉีกบัตรประชามติในปี 59 โดยคดีนี้ศาลจังหวัดพระโขนงมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 26 ก.ย. 2560 ลงโทษปิยรัฐฐานทำลายบัตรออกเสียง และทำให้เสียทรัพย์ ปรับ 2,000 บาท จำคุก 2 เดือน โทษจำคุกรอลงอาญา 1 ปี ยกฟ้องจิรวัฒน์ เอกอัครนุวัฒน์ และทรงธรรม แก้วพันพฤกษ์ ต่อมา ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็น ลงโทษปิยรัฐฐานทำลายบัตรออกเสียง และก่อความวุ่นวายตาม พ.ร.บ.ประชามติฯ จำคุก 4 เดือน ปรับ 4,000 บาท โทษจำคุกให้รอลงอาญา 1 ปี รวมทั้งพิพากษาลงโทษอีก 2 คน ฐานก่อความวุ่นวาย ในอัตราโทษเท่ากับปิยรัฐ

รวมทั้งยังมีคดีแกนนำผู้ชุมนุมคนอยากเลือกตั้งหน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และสหประชาชาติ (UN62) ซึ่งศาลอาญานัดสืบพยานต้นปีหน้า (ม.ค.-มี.ค. 64)

…  

คำฟ้องของพนักงานอัยการจังหวัดกาฬสินธุ์ระบุพฤติการณ์ที่เป็นเหตุแห่งการดำเนินคดีว่า 

เมื่อวันที่ 12 ม.ค. 2563 เวลากลางวันจำเลยได้เป็นผู้จัดให้มีการชุมนุมสาธารณะในกิจกรรม “วิ่งไล่ลุง” ซึ่งมีการจัดขึ้นในเขตพื้นที่ ต.กาฬสินธุ์ อ.เมือง จ.กาฬสินธุ์ โดยจำเลยได้เชิญชวนหรือนัดให้ผู้อื่นมาร่วมการชุมนุมสาธารณะในกิจกรรมดังกล่าว และพูดเชิญชวนให้ผู้มาร่วมชุมนุมลงทะเบียน และอำนวยความสะดวกให้ผู้มาชุมนุม โดยแสดงออกหรือมีพฤติการณ์ทำให้ผู้อื่นเข้าใจว่าจำเลยเป็นผู้จัดหรือร่วมจัดให้มีการชุมนุมนั้น 

มีประชาชนจำนวนประมาณ 200 คน เดินทางมาเข้าร่วมการชุมนุมกันที่ถนนภิรมย์บริเวณหน้าโรงเรียนอนุกูลนารี แล้วร่วมกันวิ่งไปที่อนุสาวรีย์พระยาชัยสุนทร และวิ่งไปตามถนนกาฬสินธุ์ ผ่านหน้าโรงพยาบาลกาฬสินธุ์ จนถึงบริเวณหน้าโรงเรียนกาฬสินธุ์พิทยาสรรพ์ ซึ่งเป็นทางสาธารณะ โดยในระหว่างที่มีการชุมนุมกันดังกล่าว จำเลยได้ขึ้นไปพูดผ่านเครื่องขยายเสียงซึ่งตั้งอยู่บนรถยนต์ ซึ่งมีถ้อยคำโจมตีและวิจารณ์การทำงานของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และเรียกร้องให้พลเอกประยุทธ์ลาออกจากตำแหน่งนายกฯ โดยผู้ร่วมชุมนุมมีการแสดงสัญลักษณ์ชูนิ้วมือ 3 นิ้ว ซึ่งเป็นการต่อต้านการทำรัฐประหาร 

ทั้งยังมีป้ายข้อความว่า “มาไล่ลุง ให้ไป ออกไป” อันเป็นการแสดงออกต่อประชาชนทั่วไป ซึ่งมิใช่กรณีการชุมนุมสาธารณะที่ได้รับการยกเว้นตามกฎหมาย โดยจำเลยไม่ได้แจ้งเป็นหนังสือแจ้งโดยวิธีการใดๆ ต่อผู้รับแจ้งคือ ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรเมืองกาฬสินธุ์ ก่อนเริ่มการชุมนุมไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง หรือไม่ได้ยื่นคำขอผ่อนผันต่อผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดกาฬสินธุ์ก่อนเริ่มการชุมนุม ในกรณีไม่สามารถแจ้งการชุมนุมได้ทันกำหนดเวลาดังกล่าว 

ตอนท้ายคำฟ้อง อัยการผู้ฟ้องคดียังระบุว่า ก่อนคดีนี้ จำเลยเคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดของศาลจังหวัดพระโขนง ให้ลงโทษจำคุก 2 เดือนและปรับ 2,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปี ในความผิดฐานทำลายบัตรที่มีไว้สำหรับออกเสียงโดยไม่มีอำนาจกระทำได้ ซึ่งศาลได้พิพากษาเมื่อวันที่ 29 ก.ย. 2560 ทั้งนี้ เพื่อประกอบดุลพินิจในการพิจารณาพิพากษาลงโทษจำเลย

จำเลยเป็นบุคคลเดียวกับจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1308/2563 ของศาลอาญา (คดีแกนนำคนอยากเลือกตั้ง UN62)

หลังกิจกรรมวิ่งไล่ลุงที่เป็นเหตุในการดำเนินคดีในวันที่ 12 ม.ค. 2563 นั้น ปิยรัฐให้สัมภาษณ์ในวันนั้นว่า ประชาชนชาว จ.กาฬสินธุ์ หลายคนอึดอัดเบื่อการบริหารประเทศเพราะเศรษฐกิจไม่ดี จากการสืบทอดอำนาจ มีการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ก็ยิ่งแย่กว่าเดิมอีก วันนี้ไม่มีแกนนำใดๆ ทั้งสิ้นเราเห็นเขาแชร์ในโลกโซเชียล ทุกคนตั้งใจมากันเอง เป็นการวิ่งออกกำลังกายจริงๆ ไม่ได้มีอาวุธหรือใช้ความรุนแรงใดๆ ทั้งสิ้น ปิยรัฐยังได้เข้าพบตำรวจ สภ.เมืองกาฬสินธุ์ เพื่อจ่ายค่าปรับ ฐานใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้ขออนุญาต และใช้เส้นทางผิวการจราจร โดยไม่ได้รับอนุญาต ตำรวจได้เปรียบเทียบปรับตามความผิดทั้ง 2 ข้อหา รวมเป็นเงิน 700 บาท แต่ไม่มีการแจ้งข้อหาตาม พ.ร.บ.ชุมนุมฯ แต่อย่างใด

 

X