29 พฤศจิกายน 2564 “โตโต้” ปิยรัฐ จงเทพ แกนนำมวลชนอาสา We Volunteer หรือวีโว่ เดินทางไปศาลจังหวัดกาฬสินธุ์ในนัดฟังคำพิพากษา คดีไม่แจ้งการชุมนุม ตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 มาตรา 10 จากกิจกรรม “วิ่งไล่ลุง” ในจังหวัดกาฬสินธุ์เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2563
ย้อนไปนัดสืบพยานเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา โตโต้ตัดสินใจให้การรับสารภาพ เนื่องจากอยากให้คดีนี้จบโดยไว ไม่เป็นภาระต่อตัวเขา ทนายความ และผู้เกี่ยวข้องในการมาศาลอีกหลายนัด โดยได้ยื่นคำร้องประกอบคำรับสารภาพ ใจความว่า เดิมจำเลยให้การปฏิเสธ เนื่องจากข้อเท็จจริงที่ว่า ในวันเกิดเหตุ ภายหลังกิจกรรมสิ้นสุดลง จำเลยได้เข้าติดต่อสอบถามพนักงานสอบสวน สภ.เมืองกาฬสินธุ์ เกี่ยวกับการจัดกิจกรรมดังกล่าวตามฟ้องว่าเป็นความผิดอย่างใดหรือไม่ ซึ่งพนักงานสอบสวนแจ้งว่ามีความผิดฐานใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่รับอนุญาตเท่านั้น
จำเลยสอบถามว่ามีความผิดอื่นอีกหรือไม่ ตำรวจแจ้งว่าไม่มี จำเลยจึงได้เสียค่าปรับในวันนั้น แต่ภายหลัง สภ.เมืองกาฬสินธุ์ ได้ออกหมายเรียกให้จำเลยไปรับทราบข้อกล่าวหาตาม พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ต่อมาวันที่ 24 มิถุนายน 2563 จำเลยได้เข้ามอบตัวที่ สน.ชนะสงคราม แต่กลับถูกควบคุมตัวส่งให้ สภ.เมืองกาฬสินธุ์ และจำเลยได้ให้การปฏิเสธตลอดมาเพราะเชื่อว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ตามที่พนักงานสอบสวนได้แจ้งในวันที่เสียค่าปรับ
อย่างไรก็ตาม หลังโตโต้ให้การรับสารภาพ ผู้พิพากษาแจ้งว่ายังไม่สามารถอ่านคำพิพากษาในนัดนั้นได้เลย เนื่องจากต้องส่งคำพิพากษาไปให้อธิบดีผู้พิพากษาภาค 4 ตรวจก่อน จึงนัดมาฟังคำพิพากษาอีกครั้ง
เวลา 9.40 น. ในห้องพิจารณาคดีที่ 2 อรุณ ดีวังพล ผู้พิพากษาอ่านคำพิพากษา ระบุว่า จำเลยมีความผิดตามฟ้อง ให้ลงโทษปรับ 2,000 บาท จำเลยให้การสารภาพเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา ลดโทษให้กึ่งหนึ่งเหลือปรับ 1,000 บาท ส่วนที่โจทก์ขอให้นับโทษจำคุกในคดีนี้ต่อจากโทษจำคุกในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1308/2562 (คดีแกนนำคนอยากเลือกตั้ง UN62) เนื่องจากคดีนี้มีโทษปรับสถานเดียว จึงไม่อาจนับโทษจำคุกต่อได้
หลังชำระค่าปรับเสร็จสิ้น โตโต้ ปิยรัฐ กล่าวถึงการตัดสินใจให้การรับสารภาพครั้งนี้ว่า หลังเสร็จสิ้นการชุมนุมวันดังกล่าว เขาได้เข้าพบตำรวจ สภ.เมืองกาฬสินธุ์ เพื่อจ่ายค่าปรับ ฐานใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้ขออนุญาต และใช้เส้นทางผิวการจราจรโดยไม่ได้รับอนุญาต ตำรวจได้เปรียบเทียบปรับตามความผิดทั้ง 2 ข้อหา ไปแล้ว แต่ไม่มีการแจ้งข้อหาตาม พ.ร.บ.ชุมนุมฯ และตัวเขาเองคิดว่าพนักงานสอบสวนน่าจะมีอำนาจในการใช้ดุลพินิจในการไม่แจ้งข้อหา พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ตามที่บอกไว้ครั้งแรก
แต่กลับมาดำเนินคดีในภายหลังจึงยืนยันความบริสุทธิ์โดยการปฏิเสธมาตลอด กระทั่งตัดสินใจให้การรับสารภาพในชั้นสืบพยาน โตโต้ยังกล่าวอีกว่า เขายอมรับการถูกตัดสินว่าเป็นผู้จัดชุมนุมโดยไม่แจ้งการชุมนุมได้ เพราะตั้งแต่ปี 2563-2564 สถานการณ์ทางการเมืองในประเทศก็เป็นที่ประจักษ์แล้วว่ามีคนหลายกลุ่มทั่วประเทศ ต่างออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ลาออก ซึ่งเป็นข้อเรียกร้องของกิจกรรมวิ่งไล่ลุงในช่วงเวลานั้น และถึงตอนนี้ประชาชนไทยมีข้อเสนอปฏิรูปทั้งโครงสร้างการเมืองและสถาบันกษัตริย์ไปไกลกว่านั้นแล้ว
นอกจากนี้เหตุที่อยากให้คดีนี้จบโดยไว เนื่องจากมีเพียงโทษปรับ เพราะตัวเขายังมีคดีจากการแสดงออกทางการเมืองอีกหลายคดี ทั้งที่กรุงเทพฯ และอุบลราชธานี ซึ่งต้องขึ้นศาลในช่วงปลายปีนี้ยาวจนถึงสิ้นปี 2565 จึงไม่อยากให้เป็นภาระในการเดินทางไปศาลของทนายความและผู้เกี่ยวข้องในคดีอีกด้วย
สำหรับคำฟ้องในคดีนี้อัยการจังหวัดกาฬสินธุ์ ระบุว่า เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2563 ปิยรัฐเป็นผู้จัดให้มีการชุมนุมสาธารณะในกิจกรรม “วิ่งไล่ลุง” ในอำเภอเมือง จังหวัดกาฬสินธุ์ โดยเชิญชวนหรือนัดให้ผู้อื่นมาร่วมกิจกรรมดังกล่าว, พูดเชิญชวนให้ผู้มาร่วมชุมนุมลงทะเบียน, อำนวยความสะดวกให้ผู้มาชุมนุม และพูดผ่านเครื่องขยายเสียงโจมตีและวิจารณ์การทำงานของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โดยผู้ร่วมชุมนุมมีการแสดงสัญลักษณ์ชูนิ้วมือ 3 นิ้ว ต่อต้านการทำรัฐประหาร ทั้งยังมีป้ายข้อความว่า “มาไล่ลุง ให้ไป ออกไป” อันเป็นการแสดงออกต่อประชาชนทั่วไป ซึ่งมิใช่กรณีการชุมนุมสาธารณะที่ได้รับการยกเว้นตามกฎหมาย โดยจำเลยไม่ได้แจ้งโดยวิธีการใดๆ ต่อผู้รับแจ้งก่อนเริ่มการชุมนุมไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง
ดูข้อมูลคดีทั้งหมด>> คดีไม่แจ้งการชุมนุม วิ่งไล่ลุงกาฬสินธุ์
จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน คดีนี้นับเป็นคดี “วิ่งไล่ลุง” คดีที่ 5 ซึ่งมีการต่อสู้คดีในชั้นศาล และศาลมีคำพิพากษา ต่างกันที่ในคดีนี้จำเลยให้การรับสารภาพก่อนการสืยพยาน
ก่อนหน้านี้ได้มีคำพิพากษาในคดีวิ่งไล่ลุงนนทบุรี ศาลแขวงนนทบุรีลงโทษปรับ 3,000 บาท คดีวิ่งไล่ลุงนครพนม ซึ่งศาลจังหวัดนครพนมมีคำพิพากษายกฟ้องคดี เนื่องจากเห็นว่าจำเลยมีพฤติการณ์เพียงแค่โพสต์เชิญชวน ไม่มีพฤติการณ์เป็นผู้จัดในระหว่างทำกิจกรรม จึงเห็นว่าไม่มีหน้าที่ต้องแจ้งการชุมนุมสาธารณะ คดีวิ่งไล่ลุงพังงา พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามฟ้อง แต่เนื่องจากจำเลยไม่เคยต้องโทษทางคดีอาญามาก่อน และไม่ปรากฏว่าการทำกิจกรรมในวันเกิดเหตุมีความรุนแรงเกิดขึ้น จึงให้รอการกำหนดโทษจำเลยไว้ 4 เดือน คดีวิ่งไล่ลุงบุรีรัมย์ ซึ่งศาลยกฟ้อง ระบุว่าแม้จำเลยไลฟ์ชวนผู้อื่น แต่ไม่ปรากฏพฤติการณ์เป็นผู้จัดชุมนุม
ขณะที่ยังมีคดีวิ่งไล่ลุงอีก 3 คดี ที่อยู่ระหว่างการต่อสู้คดี ได้แก่ คดีวิ่งไล่ลุงกรุงเทพฯ, คดีวิ่งไล่ลุงนครสวรรค์ และคดีวิ่งไล่ลุงเชียงราย
>> ลุงก็ต้องไล่ โรงพัก-ศาลก็ยังต้องไป: เปิดตารางความเคลื่อนไหวคดีจากกิจกรรม “วิ่งไล่ลุง”
ช่วงบ่ายวันเดียวกัน ศาลจังหวัดกาฬสินธุ์ยังนัดตรวจพยานหลักฐาน คดีที่ปิยรัฐถูกกล่าวหาว่า “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และนำเข้าข้อมูลอันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 จากกรณีปรากฏป้ายไวนิลวิจารณ์การจัดหาวัคซีนโควิดที่ริมถนนในจังหวัดกาฬสินธุ์ และมีการนำภาพไปโพสต์ในเฟซบุ๊ก-ทวิตเตอร์ เหตุเกิดเมื่อเดือนมกราคม 2564
พนักงานอัยการจังหวัดกาฬสินธุ์แถลงจะสืบพยานบุคคลรวม 21 ปาก ใช้เวลา 5 นัด ส่วนทนายจำเลย นรเศรษฐ์ นาหนองตูม แถลงจะสืบพยานจำเลย 8 ปาก ใช้เวลา 2 นัด เนื่องจากทั้งตัวทนายและปิยรัฐมีนัดพิจารณาคดีในชั้นสืบพยานคดีแสดงออกทางการเมืองเกือบตลอดทั้งปี 2565 จึงได้วันนัดสืบพยานที่ไม่ต่อเนื่อง คือสืบพยานโจทก์ในวันที่ 12 กรกฎาคม, 19, 26 สิงหาคม, 25-26 ตุลาคม 2565 และสืบพยานจำเลยในวันที่ 27 ตุลาคม และ 13 ธันวาคม 2565
ดูข้อมูลคดี>> “โตโต้” ปิยรัฐ คดี 112 กรณีป้ายวัคซีนหาซีนให้วังที่กาฬสินธุ์
ทั้งนี้ โตโต้ยังถูกดำเนินคดีตามมาตรา 112 อีก 2 คดี ได้แก่ คดีจากการปราศรัยในการชุมนุม #เด็กพูดผู้ใหญ่ฟัง ที่ศาลหลักเมืองอุบลราชธานี และอีกคดีจากเหตุโพสต์เฟซบุ๊กพาดพิงการใช้ภาษีของกษัตริย์
.