ฟ้องแล้ว “โตโต้” กรณีป้ายวิจารณ์ผูกขาดวัคซีนผุดที่กาฬสินธุ์ อ้างผิด 112 ก่อนศาลให้ประกัน – ให้ถอด EM ชี้ไม่มีพฤติการณ์หลบหนี 

28 มิ.ย. 2564 เวลา 09.30 น. “โตโต้” ปิยรัฐ จงเทพ แกนนำมวลชนอาสา We Volunteer หรือวีโว่ เข้ารายงานตัวที่ศาลจังหวัดกาฬสินธุ์ตามนัดหมาย หลังได้ประกันตัวเมื่อวันที่ 5 พ.ค. 2564 ในคดีที่ถูกกล่าวหาว่า “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และนำเข้าข้อมูลอันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 จากกรณีปรากฏป้ายไวนิลวิจารณ์การจัดหาวัคซีนโควิดที่ริมถนนใน จ.กาฬสินธุ์ และมีการนำภาพไปโพสต์ในเฟซบุ๊ก-ทวิตเตอร์

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 25 มิ.ย. 2564 ซึ่งครบกำหนดฝากขังปิยรัฐรวม 84 วัน กิตติกรณ์ บุญโล่ง พนักงานอัยการจังหวัดกาฬสินธุ์ ได้ยื่นฟ้องปิยรัฐต่อศาลแล้ว ในฐานความผิดทั้งสอง โดยศาลรับฟ้องเป็นคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.959/2564 

ในวันนี้เมื่อปิยรัฐเข้ารายงานตัว เจ้าหน้าที่จึงมอบสำเนาคำฟ้องของอัยการให้ ขณะที่ทนายความได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างพิจารณา จากนั้นเจ้าหน้าที่ได้นำตัวปิยรัฐไปควบคุมที่ห้องขังด้านหลังศาล เพื่อรอศาลอ่านฟ้องและพิจารณามีคำสั่งเรื่องการประกันตัว

คำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวปิยรัฐ นอกจากขอให้ศาลอนุญาตปล่อยชั่วคราวในชั้นพิจารณาคดีต่อไป โดยใช้หลักประกันเดิมคือ เงินสด 200,000 บาทแล้ว ยังขอให้ศาลมีคำสั่งปลดอุปกรณ์อิเลคทรอนิกส์ติดตามตัวหรือ EM ระบุเหตุผลว่า หลังได้รับการปล่อยชั่วคราวในชั้นสอบสวนปิยรัฐไม่เคยมีพฤติการณ์จะหลบหนี หรือก่อเหตุลักษณะเดียวกันกับที่ถูกกล่าวหาในคดีนี้ซ้ำอีก โดยปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ศาลกําหนดอย่างเคร่งครัด นอกจากนี้ศาลอาญาได้เคยให้ประกันผู้ต้องหาและจําเลยซึ่งถูกกล่าวหาในฐานความผิดเดียวกันนี้หลายราย โดยไม่ได้กําหนดให้ผู้ต้องหาหรือจําเลยต้องติด EM เนื่องจากหลักประกันเป็นเงินจํานวนที่สูง ซึ่งน่าเชื่อถือ 

ประกอบกับปิยรัฐมีโรคประจําตัวเป็นโรคภูมิแพ้ ซึ่งการติด EM ก่อความระคายเคืองต่อผิวหนัง ทําให้เกิดบาดแผลบริเวณข้อเท้า ได้รับความเจ็บปวดอยู่ตลอดเวลา กระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันอย่างหนัก อีกทั้งปิยรัฐเป็นสมาชิกพรรคก้าวไกล ปัจจุบันอยู่ระหว่างช่วงที่พรรคการเมืองต่างๆ กําลังเตรียมการเพื่อรองรับการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต จําเป็นอย่างยิ่งต้องเดินทางไกลในหลายพื้นที่เพื่อรับฟังปัญหาและเสนอนโยบายต่อประชาชน การที่จําเลยต้องติด EM ตลอดเวลาทําให้เกิดความยากลําบากเป็นอย่างมากในเรื่องของการชาร์จแบต 

เวลาประมาณ 11.30 น. ศาลได้ออกพิจารณาคดีผ่านวีดิโอคอนเฟอเรนซ์จากห้องพิจารณามายังห้องขังด้านหลังศาล โดยได้อธิบายเฉพาะฐานความผิดที่อัยการฟ้องให้ปิยรัฐเข้าใจ ไม่ได้อ่านคำฟ้องทั้งหมด ก่อนถามคำให้การเบื้องต้น ปิยรัฐให้การปฏิเสธ ศาลจึงนัดคุ้มครองสิทธิในวันที่ 7 ก.ย. 2564 และนัดตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 11 ต.ค. 2564

จากนั้นศาลได้พิจารณาคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยระหว่างพิจารณาคดี ก่อนมีคำสั่งอนุญาต ระบุว่า “พิเคราะห์แล้วเห็นว่าจำเลยไม่มีพฤติการณ์หลบหนี ทั้งการใช้อุปกรณ์ EM เป็นภาระเกินสมควรแก่จำเลย จึงอนุญาตให้ปลด EM ได้ แต่เงื่อนไขอื่นในการปล่อยชั่วคราวให้คงเดิม และให้จำเลยปฏิบัติตามโดยเคร่งครัด” 

ทำให้ในเวลาประมาณ 12.00 น. ปิยรัฐได้รับการปล่อยตัวออกจากห้องขังของศาล และถอดอุปกรณ์ EM ด้วย

ทั้งนี้ ในชั้นสอบสวนศาลได้อนุญาตปล่อยตัวชั่วคราวปิยรัฐ หลังอนุญาตให้พนักงานสอบสวนฝากขังมาแล้วเป็นเวลา 33 วัน โดยให้วางหลักประกันเป็นเงินสด 200,000 บาท และให้ติด EM พร้อมทั้งกําหนดเงื่อนไข “ห้ามเกี่ยวข้องกับการกระทำที่ถูกกล่าวหาในคดีนี้ รวมทั้งห้ามทำกิจกรรมที่เสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ และห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักร เว้นจะได้รับอนุญาตจากศาล”

คดีนี้นับเป็นการถูกกล่าวหาและถูกฟ้องในข้อหามาตรา 112 คดีแรกของปิยรัฐ ปัจจุบัน ปิยรัฐยังถูกแจ้งข้อกล่าวหาตามมาตรา 112 อีก 2 คดี คือ คดีโพสต์พาดพิงเรื่องการใช้ภาษีของกษัตริย์ ซึ่งนพดล พรหมภาสิต เข้าแจ้งความ และคดีปราศรัยเรื่อง “พระราชอํานาจกษัตริย์ฯ” ในการชุมนุม #เด็กพูดผู้ใหญ่ฟัง ศาลหลักเมืองอุบลราชธานี ทั้งสองคดียังอยู่ในชั้นสอบสวน 

นอกจากนี้ ปิยรัฐยังถูกกล่าวหาในคดีจากการชุมนุมและแสดงออกทางการเมืองตั้งแต่ปี 2563 ในข้อหาอื่นๆ อีก 10 คดี โดยถูกฟ้องขึ้นสู่ศาลแล้ว 3 คดี

และในการนำมาตรา 112 มาใช้ดำเนินคดีต่อประชาชนที่ใช้เสรีภาพในการแสดงออกอีกครั้ง หลังการเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยในห้วงครึ่งปีหลังของปี 2563 เป็นต้นมา คดีของปิยรัฐนับเป็นคดีที่ 21 ที่ฟ้องขึ้นสู่ศาล โดยยังมีอีกถึง 77 คดีที่ยังอยู่ในการดำเนินการของพนักงานสอบสวนหรืออัยการ

     >> สถิติผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ปี 2563-64

คำฟ้องชี้ ป้ายวิจารณ์การผูกขาดวัคซีนโควิดพาดพิงกษัตริย์ สร้างความเสียหายต่อพระเกียรติยศของพระองค์อย่างร้ายแรง 

อัยการบรรยายฟ้องในคดีนี้ว่า โดยที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 2 บัญญัติว่า “ประเทศไทยมีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” และมาตรา 6 บัญญัติว่า “องค์พระมหากษัตริย์ทรงดํารงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้” ขณะเกิดเหตุรัชกาลที่ 10 แห่งราชวงศ์จักรีเป็นประมุขของประเทศ 

เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2564 เวลากลางวัน ปิยรัฐกับพวกอีกหลายคนที่ยังไม่ได้ตัวมาฟ้อง ได้ร่วมกันจัดทําป้ายไวนิลติดประกาศให้ประชาชนทั่วไปได้เห็นเพื่อวิพากษ์วิจารณ์การจัดหาวัคซีนไวรัสโคโรนา (โควิด-19) ของรัฐบาล แล้วได้ใส่ข้อความที่เป็นการดูหมิ่น หมิ่นประมาทรัชกาลที่ 10 ลงในแผ่นป้ายไวนิลจํานวน 7แผ่น มีข้อความดังนี้ 

แผ่นที่ 1 มีข้อความว่า “หาซีนให้วัง”

แผ่นที่ 2 มีข้อความว่า “ผูกขาดบริษัทวัคซีน”

แผ่นที่ 3 มีข้อความว่า “ถ้าเป็นนักการเมืองเราเรียกว่า”

แผ่นที่ 4 มีข้อความว่า “ผลประโยชน์ทับซ้อน”

แผ่นที่ 5 มีข้อความว่า “แต่พอเป็น…”

แผ่นที่ 6 มีข้อความว่า “เราเรียกว่า”

แผ่นที่ 7 มีข้อความว่า “น้ำพระทัย, พระราชทาน”

หลังจากนั้นได้ร่วมกันนําเอาแผ่นป้ายดังกล่าวไปติดไว้ที่ต้นไม้และเสาไฟฟ้าส่องสว่างบนเกาะกลางถนน รวมทั้งซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติ ถนนสายยางตลาด – กาฬสินธุ์ และได้นําภาพถ่ายป้ายทั้งเจ็ดที่ถูกติดตั้งไว้ โพสต์ลงในเฟซบุ๊ก ชื่อ โตโต้ ปิยรัฐ – Piyarat chongthep และทวิตเตอร์ ชื่อ We Volunteer ของจําเลย ในลักษณะที่ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ 

ซึ่งบุคคลทั่วไปที่ได้อ่านข้อความดังกล่าวแล้วเข้าใจได้ว่า รัชกาลที่ 10 ผูกขาดการจัดหาวัคซีนโควิด-19 ในลักษณะเสียดสีประชดประชัน สร้างความเสียหายต่อพระเกียรติยศของพระองค์อย่างร้ายแรง อันเป็นการจาบจ้วง ล่วงเกิน หมิ่นประมาท ดูหมิ่น และแสดงความอาฆาตมาดร้าย พระมหากษัตริย์ และเป็นการนําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง ซึ่งโจทก์ถือว่าเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14

ทั้งนี้ อัยการได้คัดค้านการปล่อยตัวจําเลยชั่วคราวระหว่างการพิจารณาคดี อ้างเหตุผลว่า เนื่องจากเป็นคดีที่กระทบกระเทือนต่อความมั่นคงในราชอาณาจักร และมีอัตราโทษสูง หากปล่อยตัวไปเกรงว่าจะหลบหนี 

นอกจากโจทก์จะขอให้ศาลพิพากษาลงโทษจําเลยตามกฎหมายแล้ว ยังขอให้นับโทษจําคุกของปิยรัฐในคดีนี้ต่อกับโทษจําคุกในคดีอาญาหมายเลขดําที่ อ.1130/2563 ของศาลนี้ (คดีวิ่งไล่ลุงกาฬสินธุ์) และคดีอาญาหมายเลขดําที่ อ.920/2564 ของศาลอาญา (คดีอั้งยี่-ซ่องโจร การ์ดวีโว่-ปชช. 45 ราย) รวมทั้งขอศาลสั่งริบของกลาง ได้แก่ แผ่นป้ายไวนิล 7 แผ่น และลวดมัดเหล็ก 2 เส้น

อ่านความเคลื่อนไหวคดีก่อนหน้านี้>> “โตโต้” ปิยรัฐ คดี 112 กรณีป้ายวัคซีนหาซีนให้วังที่กาฬสินธุ์

X