ศาลกาฬสินธุ์ให้ฝากขัง “โตโต้” อีก 12 วัน – ไม่ให้ประกัน เกรงก่อเหตุร้ายอีก แม้ทนายยกคำสั่งศาลอาญาแย้ง ไม่มีพฤติกรรมร้ายแรง 

9 เม.ย. 2564 ที่ศาลจังหวัดกาฬสินธุ์ หลังพนักงานสอบสวน สภ.ยางตลาด ยื่นคำร้องขอฝากขัง “โตโต้” ปิยรัฐ จงเทพ แกนนำกลุ่มการ์ดอาสา We Volunteer หรือ WeVo เป็นครั้งที่ 2 ในคดีมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ กรณีป้าย #วัคซีนหาซีนให้วัง ก่อนช่วงวันหยุดยาว ทนายความได้เข้ายื่นคำร้องคัดค้านการฝากขังดังกล่าว เนื่องจากการสอบสวนเสร็จแล้ว ไม่จำเป็นต้องฝากขัง และปิยรัฐไม่มีพฤติการณ์หลบหนี พร้อมทั้งขอให้ศาลไต่สวนพนักงานสอบสวนถึงเหตุจำเป็นในการขอฝากขัง  

อย่างไรก็ตาม หลังศาลมีคำสั่งให้ไต่สวนตามที่ทนายความร้อง ศาลยังมีคำสั่งอนุญาตให้ฝากขังอีก 1 ผัด เป็นเวลา 12 วัน ตั้งแต่ 15-26 เม.ย. 2564 ทั้งยังไม่อนุญาตให้ประกันตัวเป็นครั้งที่ 2 ระบุว่า เชื่อว่าจะไปก่อเหตุอันตรายประการอื่นอีก และจะเป็นอุปสรรคต่อการสอบสวนและการสืบพยานคดีวิ่งไล่ลุงในสิ้นเดือนนี้ ทำให้โตโต้ยังถูกขังที่เรือนจำจังหวัดกาฬสินธุ์ในระหว่างการสอบสวนต่อไป หลังถูกขังมาแล้ว 7 วัน ในคดีนี้ และอีก 26 วัน ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ในคดีอั้งยี่                                                                    

ที่มาภาพ: เพจ โตโต้ ปิยรัฐ – Piyarat Chogthep
ตำรวจขอฝากขังครั้งที่ 2 – คัดค้านประกันตัว อ้างติดตามตัวยาก-ไปก่อเหตุอื่น ทนายแย้ง การชุมนุมเป็นสิทธิ-วีโว่ไม่มีพฤติกรรมร้ายแรง 

เวลา 10.15 น. ศาลมีคำสั่งให้ไต่สวนพนักงานสอบสวน เจ้าหน้าที่ศาลต่อสัญญาณวีดิโอคอนเฟอเรนซ์ไปที่เรือนจำจังหวัดกาฬสินธุ์ เนื่องจากจะทำการไต่สวนผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ โดยไม่ได้เบิกตัวโตโต้มาศาล ขณะที่ พ.ต.ท.ไพศาล ใจเกษม สารวัตร (สอบสวน) สภ.ยางตลาด พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบคดี และเป็นผู้ยื่นคำร้องขอฝากขังเดินทางมาชี้แจงเหตุจำเป็นในการขอฝากขัง

บรรยากาศที่ศาลจังหวัดกาฬสินธุ์ในวันดังกล่าว มีเพียงมาตรการคัดกรองโควิด โดยการตรวจวัดอุณหภูมิของผู้ที่มาติดต่อศาลเท่านั้น ในห้องพิจารณาคดีมีทนายความผู้ต้องหา 2 คน ผู้สังเกตการณ์จากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน และผู้ไว้วางใจของโตโต้เข้าร่วมฟังการไต่สวนด้วย แตกต่างจากการไต่สวนคำร้องขอฝากขังครั้งแรกในวันที่ 3 เม.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งมีการปิดประตูศาล วางกำลังตำรวจควบคุมฝูงชน ราว 20 นาย และไม่อนุญาตให้ประชาชน แม้แต่ทนายความที่ยังไม่ได้เซ็นแต่งตั้งทนายความ และ ส.ส.ซึ่งเดินทางมาเป็นนายประกัน เข้าไปในบริเวณศาล 

จนกระทั่ง 11.30 น. เจ้าหน้าที่จึงเชื่อมต่อสัญญาณวีดิโอคอนเฟอเรนซ์ระหว่างศาลและเรือนจำจังหวัดกาฬสินธุ์ได้สำเร็จ ณัชฐปกรณ์ เจริญรัตนวานนท์ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะชั้นต้น จึงออกนั่งพิจารณาคดี ก่อนการไต่สวน ศาลได้ถามพนักงานสอบสวน โตโต้ และทนายความว่า จะคัดค้านวิธีการไต่สวนผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ซึ่งเป็นไปเพื่อคุ้มครองทุกฝ่ายจากการติดเชื้อโรคโควิด-19 หรือไม่ ทั้งหมดไม่คัดค้าน 

จากนั้น ศาลได้สรุปคำร้องขอฝากขังครั้งที่ 2 ของพนักงานสอบสวน อ้างเหตุผลว่า การสอบสวนยังไม่เสร็จ ต้องสอบพยานอีก 4 ปาก, รอผลการตรวจสอบประวัติอาชญากรรม, รอผลการตรวจสอบการใช้อินเตอร์เน็ต เว็บเพจ และทวิตเตอร์ของผู้ต้องหา จากปลัดกระทรวงดิจิทัลฯ และรวบรวมพยานหลักฐานอื่นที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งระบุว่า เนื่องจากคดีนี้มีอัตราโทษสูง และเกรงว่า ผู้ต้องหาจะไปก่อเหตุร้ายประการอื่น จึงคัดค้านการประกันตัว

ส่วนคำร้องคัดค้านการฝากขังครั้งที่ 2 ที่ทนายผู้ต้องหายื่นต่อศาล ระบุเหตุผลว่า ไม่มีความจำเป็นใดที่จะต้องฝากขังผู้ต้องหา  เนื่องจากพนักงานสอบสวนทำการสืบสวน สอบสวน รวบรวมพยานหลักฐานต่างๆ มาเป็นเวลานานแล้ว การสอบสวนที่เหลือไม่เกี่ยวข้องกับผู้ต้องหา อีกทั้งผู้ต้องหาไม่เคยหลบหนีกระบวนการทางกฎหมายใดๆ ไปรายงานตัวตามนัดหมายโดยตลอด มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง ที่สำคัญคดีนี้พนักงานสอบสวนได้ทำการสอบสวนผู้ต้องหาเสร็จแล้ว   

การไต่สวนเริ่มโดย พ.ต.ท.ไพศาล สาบานตนต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ว่า จะเบิกความตามความเป็นจริง ก่อนเบิกความตอบคำถามของศาลว่า คดีนี้ปิยรัฐได้ให้การกับพยานแล้ว แต่อาจจะมีข้อเท็จจริงอย่างอื่นที่จะต้องสอบเพิ่มเติม ซึ่งขณะนี้ยังไม่สามารถสรุปได้ว่า จะมีการแจ้งข้อหาอื่นเพิ่มเติมหรือไม่

ส่วนพยานที่ต้องสอบปากคําอีก 4 ปาก คือ ตำรวจชุดสืบสวนในคดีนี้, ชุดจับกุม,  นักกฎหมายและผู้ชํานาญการด้านภาษาไทยที่จะให้ความเห็นทางกฎหมายต่อข้อความในแผ่นป้ายทั้ง 7 แผ่น ซึ่งยังไม่ได้มีหมายเรียก แต่คาดว่าจะสอบพยานทั้ง 4 ปาก เสร็จภายในเดือนนี้

พยานได้ส่งลายพิมพ์นิ้วมือผู้ต้องหาไปตรวจสอบประวัติการต้องโทษที่กองทะเบียนประวัติอาชญากร สํานักงานตํารวจแห่งชาติ แล้ว คาดว่าไม่เกิน 1 เดือน จะได้รับผลการตรวจสอบดังกล่าว รวมทั้งได้ทําหนังสือถึงปลัดกระทรวงดิจิตอลฯ ขอให้ตรวจสอบการใช้อินเตอร์เน็ท เว็บเพจ และทวิตเตอร์ของผู้ต้องหา ซึ่งสํานักงานปลัดกระทรวงดิจิตอลฯ ได้รับแล้วเมื่อวันที่ 16 มี.ค. 2564 

ศาลถามพนักงานสอบสวนว่า พยานหลักฐานอื่นที่จะต้องรวบรวมคืออะไร พ.ต.ท.ไพศาล ตอบว่า หลายอย่าง และรอคำให้การเป็นลายลักษณ์อักษรที่ผู้ต้องหาเคยให้ถ้อยคําว่าจะส่งใน 30 วัน ซึ่งปัจจุบันยังไม่ได้รับ

พ.ต.ท.ไพศาล เบิกความตอบศาลด้วยว่า หากผู้ต้องหาได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวไป เชื่อว่าจะเป็นอุปสรรคต่อการสอบสวน โดยเกรงว่าจะหลบหนีและไปก่อเหตุอื่นอีก และจากการสืบสวนผู้ต้องหาเป็นหัวหน้ากลุ่มการ์ดวีโว่ ถ้ามีประเด็นที่จะสอบเพิ่มจะยากแก่การติดตาม ทั้งนี้ หากพยานทําคดีไม่แล้วเสร็จภายในระยะเวลาที่กฎหมายกําหนด ก็อาจจะถูกดําเนินการทางวินัย แต่ถ้าผู้ต้องหาถูกควบคุมตัวในระหว่างการสอบสวน การสอบสวนจะรวดเร็วและจะแล้วเสร็จภายในระยะเวลาที่กําหนดตามกฎหมาย

หลังศาลหมดคำถามเกี่ยวกับเหตุจำเป็นที่ขอฝากขัง ได้ให้ทนายผู้ต้องหาซักถาม โดย พ.ต.ท.ไพศาล ตอบทนายว่า นับตั้งแต่วันเกิดเหตุจนถึงปัจจุบันเป็นเวลาประมาณ 2 เดือนเศษ ซึ่งชุดสืบสวนได้ติดตามความเคลื่อนไหวของผู้ต้องหามาโดยตลอด ตั้งแต่วันที่ 10 ธ.ค. 2562 เป็นต้นมา ปรากฏตามรายงานการสืบสวนแนบท้ายคําร้อง หากชุดสืบสวนพบข้อเท็จจริงใหม่จะทํารายงานส่งให้พยาน แต่ปัจจุบันยังไม่มี

พยานที่ยังต้องสอบสวนอีก 4 ปาก ล้วนแต่เป็นข้าราชการ มีเพียง 1 ปากที่เป็นทนายความ ซึ่งตั้งแต่เกิดเหตุพยานยังไม่ได้ออกหมายเรียกมาให้ปากคำ ในส่วนของหลักฐานที่พยานส่งให้กระทรวงดิจิตอลฯ ตรวจสอบ หากผู้ต้องหาได้รับการประกันตัว ก็ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขหลักฐานดังกล่าวได้

พ.ต.ท.ไพศาล ยังรับว่า เมื่อวันที่ 3 เม.ย. 2564 ได้เบิกความไว้ว่า ได้สอบปากคําผู้ต้องหาเสร็จสิ้นแล้ว ส่วนที่พยานเบิกความว่า ผู้ต้องหามีพฤติการณ์หลบหนี จริงๆ แล้ว ในคดีนี้ผู้ต้องหายังไม่เคยหลบหนี แต่ในคดีอื่นพยานไม่ทราบ ซึ่งจากรายงานการสืบสวน ผู้ต้องหาเป็นแกนนำกลุ่มวีโว่ พยานเชื่อว่าจะติดตามตัวมาดําเนินคดีได้ยาก ทนายถามย้ำว่า เป็นความเชื่อของพยานเองใช่หรือไม่ พนักงานสอบสวนตอบว่า ใช่ 

ที่พยานเบิกความว่า เกรงว่าผู้ต้องหาจะไปก่อเหตุอื่นอีก เนื่องจากพยานทราบจากสื่อว่า ผู้ต้องหาไปร่วมชุมนุมก่อเหตุหลายที่ ทนายถามว่าการชุมนุมเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ พยานรับว่าเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญหากปราศจากอาวุธ แต่ที่ปรากฏในสื่อ ผู้ต้องหามีอาวุธ ทนายถามว่า พยานยืนยันข้อเท็จจริงหรือไม่ว่า ผู้ต้องหามีอาวุธ พยานรับว่า ทราบจากสื่อเท่านั้น และไม่ได้นำข่าวดังกล่าวมาประกอบสำนวน แต่มีรายงานสันติบาลว่า ผู้ต้องหาถูกจับที่รัชโยธิน   

ทนายให้พยานดูคำสั่งศาลอาญาอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวปิยรัฐ ซึ่งปรากฏข้อเท็จจริงจากการไต่สวนของศาลอาญาว่า ในการจับกุมปิยรัฐที่เมเจอร์รัชโยธิน ชุดจับกุมตรวจพบเสื้อคล้ายเสื้อเกราะ พยานรับว่า ชุดจับกุมพบเสื้อคล้ายเสื้อเกราะ ซึ่งไม่ใช่อาวุธ และไม่มีข้อความระบุว่า พบอาวุธ อีกทั้งตามรายงานการสืบสวน กลุ่มวีโว่ยังได้ระดมเงินซื้อเครื่องกระตุกหัวใจ ซึ่งเป็นอุปกรณ์ช่วยเหลือชีวิตกรณีฉุกเฉิน 

ที่มาภาพ: เพจ We Volunteer

พยานตอบทนายผู้ต้องหาว่า เป็นผู้ขอออกหมายจับปิยรัฐในคดีนี้ และไปขออายัดตัวผู้ต้องหาหลังได้รับการประกันตัวในคดีอั้งยี่ ซึ่งเป็นคดีเดียวกันกับที่ทนายให้ดูคำสั่งให้ประกันเมื่อครู่ แต่ปฏิเสธว่า ไม่ทราบก่อนขอออกหมายจับว่า ปิยรัฐได้รับการประกันตัว มาทราบภายหลัง

ทนายถามว่า เหตุใดพยานจึงไปขอออกหมายจับในเมื่อในความเข้าใจของพยานผู้ต้องหาอยู่ในความควบคุมของศาลอาญาอยู่แล้ว พยานตอบว่า เนื่องจากการสอบปากคำเมื่อวันที่ 30 มี.ค. 2564 ผู้ต้องหาไม่ยินยอมลงลายมือชื่อและโต้แย้ง ไม่ยอมรับการสอบสวนนั้น พยานจึงขอออกหมายจับ เพื่อเอาตัวผู้ต้องหามาสอบสวน หากในวันนั้นปิยรัฐไม่โต้แย้ง พยานก็คงไม่ขอออกหมายจับ เพราะการสอบสวนชอบด้วยกฎหมายแล้ว 

ทนายผู้ต้องหาถามอีกว่า การที่ผู้ต้องหาไม่ยอมลงลายมือชื่อทำให้การสอบสวนไม่ชอบด้วยกฎหมายอย่างไร พยานตอบว่า ไม่ใช่ว่าไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่เป็นเพราะผู้ต้องหาโต้แย้ง ซึ่งเท่ากับว่า ไม่ได้มีการแจ้งข้อกล่าวหาใด ๆ เลย อย่างไรก็ตาม พยานยอมรับว่า ในวันดังกล่าวพยานได้ลงลายมือชื่อในบันทึกการแจ้งข้อกล่าวหาดังกล่าวแล้ว และก่อนหน้าการขอออกหมายจับ พยานยังไม่เคยได้ออกหมายเรียกผู้ต้องหามารับทราบข้อกล่าวหาเลย 

หลังทนายหมดคำถาม ได้ขอให้โตโต้เบิกความ ศาลบอกว่า การไต่สวนนี้เป็นเรื่องระหว่างศาลและพนักงานสอบสวนเท่านั้น

ศาลสอบถามโตโต้ว่า คดีนี้อยู่ในระหว่างสอบสวน ผู้ต้องหามีสิทธิโดยชอบให้พนักงานสอบสวนดําเนินการสอบพยานบุคคล และเรียกพยานเอกสารที่เกี่ยวข้องที่จะพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตนเองได้ โตโต้แถลงว่าขณะนี้ยังไม่มี และเนื่องจากถูกควบคุมตัว ทำให้ไม่สามารถออกไปแสวงหาพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ได้ 

 

ศาลอนุญาตให้ฝากขังอีก 12 วัน ระบุโตโต้ถูกกล่าวหาอีกหลายคดี หากไม่ขังไว้จะยากติดตามมาสอบสวน 

15.00 น. ศาลอ่านคำสั่งอนุญาตให้ฝากขังโตโต้อีก 1 ผัด เป็นเวลา 12 วัน ตั้งแต่ 15 – 26 เม.ย. 2564 ระบุเหตุผลว่า 

“เมื่อพนักงานสอบสวนเบิกความยืนยันว่า จําเป็นต้องสอบพยานอีก 4 ปาก ซึ่งล้วนเป็นพยานปากสําคัญ คาดว่าสอบปากคําพยานดังกล่าวแล้วเสร็จไม่เกิน 1 เดือน และอยู่ระหว่างขั้นตอนรอผลตรวจสอบลายพิมพ์นิ้วมือ ประวัติการต้องโทษของผู้ต้องหาจากสํานักงานตํารวจแห่งชาติ และข้อมูลการใช้อินเตอร์เน็ตของผู้ต้องหาจากสํานักงานปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม น่าเชื่อว่าการสอบสวนคงแล้วเสร็จอีกไม่นาน 

ประกอบกับผู้ต้องหาแต่งตั้งทนายความปรึกษาคดี อันเป็นสิทธิพื้นฐานที่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายแล้ว ผู้ต้องหาชอบที่จะขอให้พนักงานสอบสวนสอบปากคําพยานฝ่ายผู้ต้องหาเพื่อใช้พิสูจน์ความบริสุทธิ์ในชั้นสอบสวน เมื่อผู้ต้องหาถูกกล่าวหาอีกหลายคดี หากไม่อยู่ในความควบคุมเกรงว่าเป็นการยากที่จะติดตามมาสอบสวนเพิ่มเติม และอาจทําให้คดีอาจล่าช้า 

ดังนั้น การควบคุมตัวผู้ต้องหาเพื่อสอบสวนคดีนี้จะทําให้พนักงานสอบสวนสรุปสํานวนมีความเห็นและเป็นประโยชน์แก่ผู้ต้องหาพิสูจน์ความบริสุทธิ์อย่างรวดเร็วและเป็นธรรม ด้วยเหตุผลดังกล่าว กรณีจึงมีเหตุจําเป็นที่ต้องควบคุมผู้ต้องหาเพื่อทําการสอบสวนต่อไป กําชับพนักงานสอบสวนให้รวบรวมพยานหลักฐานและสรุปสํานวนการสอบสวนให้เสร็จโดยเร็ว” 

ก่อนจบกระบวนพิจารณาในวันนี้ ศาลได้แจ้งโตโต้ว่า หากให้ศาลออกหมายขังในคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.1130/2563 ของศาลนี้ (คดีวิ่งไล่ลุงกาฬสินธุ์) ด้วย จะเท่ากับโตโต้ถูกขังทีเดียวใน 2 คดี พร้อมกัน ถ้าคดีนั้นตัดสินลงโทษก็หักวันขังหรือหักค่าปรับวันละ 500 บาท โดยให้โตโต้นำไปคิดดูแล้วมาแถลงต่อศาลในนัดหน้า 

 

ไม่ให้ประกันครั้งที่ 2 ศาลชี้เช่นเดิม แม้ไม่พฤติการณ์หลบหนี แต่เกรงไปก่อเหตุร้ายประการอื่น ระบุที่ผ่านมาโตโต้ผิดคำสาบาน 

หลังศาลให้ฝากขังอีก 12 วัน ทนายความได้ยื่นคำร้องขอประกันโตโต้เป็นครั้งที่ 2 โดยเสนอหลักประกันเป็นเงินสด 300,000 บาท พร้อมทั้งระบุเหตุผลสำคัญเพิ่มเติมจากครั้งก่อนว่า

1. ที่พนักงานสอบสวนเคยเบิกความคัดค้านการประกันตัวว่า “เนื่องจากคดีนี้เป็นคดีเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ซึ่งมีอัตราโทษสูง ผู้ต้องหาเป็นหัวหน้ากลุ่มการ์ดวีโว่ ซึ่งเป็นองค์กรที่เข้าร่วมชุมนุมทางการเมือง ก่อให้เกิดความวุ่นวาย ผู้ต้องหาถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดคดีอื่นหลายคดีนอกจากคดีนี้ เกรงว่าผู้ต้องหาจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานหรือก่อเหตุร้ายประการอื่นและเกรงว่าผู้ต้องหาจะหลบหนี” นั้นเป็นการกล่าวอ้างพฤติการณ์ของผู้ต้องหาในคดีอื่น ซึ่งศาลอาญาก็อนุญาตให้ประกันตัวจากคดีดังกล่าว  เนื่องจากผู้ต้องหาไม่ได้มีพฤติการณ์ก่อความรุนแรงหรือจะไปก่อเหตุอันตรายประการอื่น อีกทั้งคดีนี้ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ได้กล่าวในส่วนหนึ่งของคำสั่งไม่ให้ประกัน เมื่อวันที่ 4 เม.ย. 2564 ว่า “ไม่ปรากฏว่าผู้ต้องหามีพฤติการณ์หลบหนี” ย่อมชี้ให้เห็นว่าผู้ต้องหาไม่มีพฤติการณ์ที่จะหลบหนีอย่างที่พนักงานสอบสวนกล่าวอ้างแต่อย่างใด

2. ผู้ต้องหาเพิ่งเคยถูกดำเนินคดีข้อหาในความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์เป็นครั้งแรก สำหรับคดีอื่น ๆ ที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดนั้น ก็เป็นแต่เพียงการแสดงออกและการใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญเท่านั้น และการถูกตั้งข้อกล่าวหาในคดีอื่น ๆ ก็เป็นเพียงการกล่าวหาของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ยังไม่มีคดีใดที่พนักงานอัยการสั่งฟ้องคดี และยังไม่มีคดีใดที่ศาลพิพากษาลงโทษ จึงต้องถือว่าผู้ต้องหาเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่ หากยึดถือเพียงข้อกล่าวหาจากเจ้าหน้าที่ตำรวจมาเป็นเหตุผลประกอบว่าผู้ต้องหาถูกดำเนินคดีในคดีอื่นลักษณะเดียวกันกับที่ถูกกล่าวหาหลายคดี และมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัวนั้น จะเป็นการสร้างบรรทัดฐานให้อำนาจเบ็ดเสร็จแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐในการแจ้งข้อกล่าวหาแก่บุคคลต่าง ๆ แล้วนำตัวมาฝากขังอ้างเป็นเหตุให้ศาลไม่อนุญาตให้ประกัน โดยไม่มีกลไกการถ่วงดุลตรวจสอบตามหลักนิติรัฐ

ที่มาภาพ: เพจ โตโต้ ปิยรัฐ – Piyarat Chongthep

อย่างไรก็ตาม เวลา 17.00 น. ศาลมีคำสั่งแจ้งทนายและนายประกันเป็นเอกสาร และจะแจ้งให้โตโต้ทราบที่เรือนจำในภายหลัง คำสั่งดังกล่าว ไม่อนุญาตให้ประกันเช่นเดิม ระบุเหตุผลว่า 

“พิเคราะห์แล้วเห็นว่า แม้ไม่ปรากฏว่า ผู้มีพฤติการณ์หลบหนี แต่ศาลเคยให้ผู้ต้องหาได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวโดยให้ผู้ต้องหาสาบานตนต่อศาลว่า ผู้ต้องหาจะประพฤติตนเป็นคนดี ไม่ทำผิดกฎหมายใดๆ หรือไม่ก่อเหตุอันตรายประการอื่นไว้ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.1130/2563 ของศาลนี้ เมื่อพิจารณาความหนักเบาแห่งข้อหาและพฤติการณ์แห่งคดี ประกอบเหตุปัจจัยอื่นๆ ความประพฤติที่ผิดคำสาบานต่อศาลแล้ว หากปล่อยชั่วคราวน่าเชื่อว่า ผู้ต้องหาจะไปก่อเหตุอันตรายประการอื่นอีก และจะเป็นอุปสรรค หรือก่อความเสียหายต่อการสอบสวนและการดำเนินคดีในศาล ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 108/1 (3) (5) ที่นัดสืบพยานโจทก์จำเลยในวันที่ 28 เม.ย. 2564 กรณีจึงไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม” 

 

คดีวิ่งไล่ลุงกาฬสินธุ์: ศาลให้ปล่อยตัวชั่วคราวโดยไม่มีหลักประกัน กฎหมายกำหนดเพียงให้สาบานว่าจะมาตามนัด

ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.1130/2563 หรือคดีวิ่งไล่ลุง จ.กาฬสินธุ์ ที่กล่าวถึงในคำสั่งไม่ให้ประกันของศาลจังหวัดกาฬสินธุ์นั้น  โตโต้ถูกฟ้องในฐานความผิด เป็นผู้จัดให้มีการชุมนุมในที่สาธารณะโดยไม่แจ้งต่อเจ้าพนักงานก่อนเริ่มการชุมนุมไม่น้อยกว่า 24 ชม. ตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ มาตรา 10 จากกรณีที่มีการจัดกิจกรรม “วิ่งไล่ลุง” จ.กาฬสินธุ์ ในวันที่ 12 ม.ค. 2563  ซึ่งโตโต้ยืนยันให้การปฏิเสธ เนื่องจากกิจกรรมดังกล่าวเป็นกิจกรรมกีฬา จึงไม่อยู่ภายใต้บังคับของ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ 

โดยหลังอัยการเป็นโจทก์ยื่นฟ้องโตโต้ต่อศาลจังหวัดกาฬสินธุ์เมื่อวันที่ 13 ก.ค. 2563 ทนายความได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวโดยไม่มีหลักประกัน  ระบุเหตุผลว่า ข้อหาตาม พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ที่โจทก์ฟ้องจำเลยนั้น มีโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท อันเป็นความผิดลหุโทษที่มีโทษปรับสถานเดียว ซึ่งศาลสามารถใช้ดุลพินิจปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยโดยไม่มีหลักประกัน ให้เป็นไปตามข้อบังคับของประธานศาลฎีกา ได้ ในวันดังกล่าวศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวโดยไม่มีหลักประกัน 

     >> ฟ้องอีกคดี “วิ่งไล่ลุง” กาฬสินธุ์ ชี้ “โตโต้” มีพฤติการณ์เป็นผู้จัดแต่ไม่แจ้งชุมนุม

ทั้งนี้ มีข้อสังเกตเกี่ยวกับการสาบานตนในการที่ศาลอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจำเลยโดยไม่มีหลักประกัน โดยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 111 บัญญัติไว้เพียงว่า “เมื่อจะปล่อยชั่วคราวโดยไม่มีประกันเลย ก่อนที่จะปล่อยไป ให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยสาบานหรือปฏิญาณตนว่าจะมาตามนัดหรือหมายเรียก” เท่านั้น และพบว่า ในคดีดังกล่าวหลังได้รับการประกันตัวโดยไม่มีหลักประกัน โตโต้ได้เดินทางมาศาลตามนัดหมายทุกครั้ง 

     >> คดีไม่แจ้งการชุมนุม วิ่งไล่ลุงกาฬสินธุ์

 

ในคดีที่ปิยรัฐถูกขังระหว่างสอบสวนอยู่นี้ สืบเนื่องมาจากเมื่อวันที่ 30 มี.ค. 2564 คณะพนักงานสอบสวน ตำรวจภูธรจังหวัดกาฬสินธุ์ ได้เดินทางเข้าแจ้งข้อกล่าวหา หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ผ่านวีดิโอคอนเฟอเรนซ์ โดยมีทนายความเข้าร่วม ขณะปิยรัฐถูกขังระหว่างสอบสวนในคดีที่ถูกกล่าวหาว่า เป็นอั้งยี่และซ่องโจร โดยกล่าวหาว่า ปิยรัฐได้ร่วมกับพวกจัดทำป้ายไวนิลวิจารณ์การจัดหาวัคซีนโควิด-19 ของรัฐบาล แล้วใส่ข้อความที่เป็นการหมิ่นประมาทรัชกาลที่ 10 ก่อนนำไปติดตั้งริมถนนในเขตอำเภอยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์ และนำภาพเผยแพร่ทางเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ ปิยรัฐให้การปฏิเสธ

อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 2 เม.ย. 2564 หลังศาลอาญามีคำสั่งอนุญาตให้ประกัน และปิยรัฐได้รับการปล่อยตัวที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เขากลับถูกตำรวจเข้าอายัดตัวตามหมายจับของศาลจังหวัดกาฬสินธุ์ที่ออกในวันนั้นในคดีหมิ่นประมาทกษัตริย์ที่ได้มีการแจ้งข้อกล่าวหาไปแล้วดังกล่าวอีก ก่อนถูกควบคุมตัวไปที่ สภ.ยางตลาด แจ้งข้อกล่าวหาและสอบปากคำอีกครั้ง จากนั้นพนักงานสอบสวนได้ขออำนาจศาลจังหวัดกาฬสินธุ์ฝากขังครั้งที่ 1 แม้ทนายความผู้ต้องหาจะยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนหมายจับ และคัดค้านการฝากขัง แต่ศาลยกคำร้องให้เพิกถอนหมายจับ และอนุญาตให้ฝากขัง 12 วัน รวมทั้งไม่อนุญาตให้ประกัน อ้างเหตุว่า เกรงจะไปก่อเหตุร้ายประการอื่นอีก       

      >> ตร.กาฬสินธุ์ไปแจ้งข้อหา ม.112 ‘โตโต้’ ถึงในเรือนจำ กรณีติดป้ายวัคซีนโควิดพระราชทาน 

      >> ศาลกาฬสินธุ์ไม่ให้ประกันตัว “โตโต้” คดี 112 อ้างเป็นหัวหน้ากลุ่มการ์ดวีโว่ สนับสนุนการชุมนุม ก่อให้เกิดความวุ่นวาย ทนายยื่นอุทธรณ์วันนี้

 

X