ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ไม่ให้ประกัน ‘โตโต้’ คดี 112 แม้ยกเหตุโตโต้ช่วยเหลือสังคม-นโยบาย ปธ.ศาลฎีกา “ขยายสิทธิประกัน-ลดความแออัดเรือนจำ”

21 เม.ย. 2564 เวลา 09.30 น. ที่ศาลจังหวัดกาฬสินธุ์ ทนายความเข้ายื่นคำร้องอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์ภาค 4 คัดค้านคำสั่งของศาลจังหวัดกาฬสินธุ์เมื่อวันที่ 9 เม.ย. 2564 ที่ไม่ให้ประกัน “โตโต้” ปิยรัฐ  จงเทพ นักกิจกรรมและแกนนำกลุ่มการ์ดอาสา We Volunteer หรือ วีโว่ ในคดีที่ถูกกล่าวหาตามมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากกรณีปรากฏป้ายวิจารณ์วัคซีนโควิดในจังหวัดกาฬสินธุ์ 

    >>ศาลกาฬสินธุ์ให้ฝากขัง “โตโต้” อีก 12 วัน – ไม่ให้ประกัน เกรงก่อเหตุร้ายอีก แม้ทนายยกคำสั่งศาลอาญาแย้ง ไม่มีพฤติกรรมร้ายแรง

หลังยื่นคำร้อง เจ้าหน้าที่นัดให้ทนายความมาฟังคำสั่งของศาลอุทธรณ์ภาค 4 ในเวลา 13.00 น. กระทั่งเวลา 16.30 น. ศาลอุทธรณ์ภาค 4 จึงได้อ่านคำสั่งผ่านวีดิโอคอนเฟอเรนซ์ ไม่อนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว ระบุ “คดีนี้ศาลเคยมีคำสั่งไม่อนุญาตปล่อยชั่วคราวแล้ว พฤติการณ์ตามคำร้องไม่มีเหตุสมควรให้เปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม ให้ยกคำร้อง”

ทำให้ขณะนี้โตโต้ถูกขังระหว่างสอบสวนอยู่ที่เรือนจำกาฬสินธุ์มา 19 วันแล้ว และจะยังคงถูกคุมขังต่อไป ก่อนหน้านี้ทนายความได้คัดค้านการฝากขัง 2 ครั้ง ยื่นประกัน 2 ครั้ง รวมทั้งยื่นอุทธรณ์คำสั่งไม่ให้ประกัน 1 ครั้ง แต่ศาลยังไม่อนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว

คำร้องอุทธรณ์ที่ยื่นต่อศาลอุทธรณ์ภาค 4 ระบุเหตุผลที่แตกต่างไปจากเดิมดังนี้   

1. ที่ศาลชั้นต้นพิจารณาว่าผู้ต้องหาเคยสาบานว่าจะปฏิบัติตัวเป็นคนดีไม่ทำผิดกฎหมายใดๆ หรือไม่ก่ออันตรายประการอื่นอีกนั้น ผู้ร้องขอชี้เจงว่า ภายหลังที่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว ปิยรัฐได้ช่วยเหลือสังคม โดยร้านจำหน่ายสินค้าเบ็ดเตล็ดซึ่งมีการจ้างพนักงาน 2-3 คน แต่ได้รับผลกระทบหลังจากตนถูกขังและต้องหยุดกิจการลง, เป็นตัวกลางจำหน่ายสินค้าจากเกษตรกรฟาร์มกุ้งซึ่งได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด

อีกทั้งมีการจัดหาอุปกรณ์ทางการแพทย์ เช่น เครื่องกระตุกหัวใจ ยาสามัญประจำบ้านฉุกเฉิน เพื่อช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ในระหว่างชุมนุมเรียกร้องตามสิทธิที่รัฐธรรมนูญให้การรับรอง รวมทั้งในคดีนี้ที่มีการแจ้งข้อกล่าวหาก็เป็นเรื่องเกี่ยวกับการตรวจสอบงบประมาณวัคซีน เพื่อหยุดการแพร่ระบาดของโควิด ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อประชาชนและประเทศชาติ 

การที่ศาลชั้นต้นนำเรื่องการสาบานตัวในการปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาในคดีหมายเลขดำที่ อ.1130/2564 (คดีวิ่งไล่ลุงกาฬสินธุ์) มาพิจารณาไม่ปล่อยตัวชั่วคราวไม่ชอบด้วยกฎหมายและหลักการ เพราะในคดีดังกล่าวมีโทษปรับเท่านั้น ไม่ใช่คดีร้ายแรง และผู้ต้องหาไม่ได้มีพฤติการณ์ร้ายแรง คดีดังกล่าวศาลชั้นต้นก็ไม่ได้มีคำสั่งว่าผู้ต้องหาผิดสัญญาประกัน หากศาลเห็นว่าผู้ต้องหาผิดสัญญาประกันก็เป็นเรื่องที่จะต้องไปว่ากล่าวในคดีนั้น หาใช่เหตุในการไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวในคดีนี้

2. ผู้ร้องไม่เห็นพ้องกับคำสั่งศาลชั้นต้นที่ว่า “มีเหตุรับฝากขังตัวผู้ต้องหาต่อไป”  เนื่องจากเมื่อวันที่ 4 เม.ย. 2564  ศาลอุทธรณ์ภาค 4 เคยมีคำสั่งว่าการสอบสวนผู้ต้องหาเป็นอันเสร็จสิ้นแล้ว และผู้ต้องหาก็ไม่ปรากฏว่าจะมีพฤติการณ์หลบหนี แต่ผู้ต้องหามีพฤติการณ์จะก่อเหตุร้ายขึ้นอีก ซึ่งผู้ร้องขอชี้แจงว่า พฤติการณ์แห่งคดีนี้มีที่มาจากเรื่องของการตรวจสอบวัคซีนป้องกันโควิด ซึ่งเพียงแต่เป็นการแสดงออกตามสิทธิทางการเมืองอันประชาชนพึงมีตามรัฐธรรมนูญ เพื่อรักษาผลประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติ ผู้ต้องหาไม่ได้มีพฤติการณ์ร้ายแรง ดังนั้นจึงไม่มีเหตุต้องขังผู้ต้องหาไว้

3. ผู้ต้องหาไม่เคยมีประวัติเกี่ยวกับการกระทำความผิดอาชญากรรมใดๆ และไม่เคยต้องโทษในคดีอาญาใดๆ มาก่อน จึงไม่มีพฤติการณ์จะไปก่อเหตุอันตรายอย่างอื่นอย่างแน่นอน การที่ศาลชั้นต้นนำเหตุการณ์อนาคตมาคาดการณ์จึงไม่ชอบด้วยหลักเหตุผล อีกทั้งที่ผ่านมาผู้ต้องหาไม่เป็นอุปสรรคต่อสอบสอบสวนแต่อย่างใด หากมีความจำเป็นที่จะสอบสวนเพิ่มเติม ตามกฎหมายก็ได้กำหนดให้มีการออกหมายเรียกให้ผู้ต้องหามาสอบสวนอยู่แล้ว จึงไม่มีความจำเป็นที่จะขังผู้ต้องหาระหว่างการสอบสวน

4. การขังผู้ต้องหาไม่เป็นประโยชน์แก่ผู้ต้องหาเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ ตามหลักการที่ต้องสันนิษฐานว่าผู้ต้องหาเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะพิสูจน์ตามกฎหมายได้ว่ามีความผิด ดังที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มาตรา 29 วรรคสอง อีกทั้งมาตรา 29 วรรคสาม ยังบัญญัติว่า “การควบคุมหรือคุมขังผู้ต้องหาหรือจำเลยให้กระทำได้เพียงเท่าที่จำเป็น เพื่อป้องกันมิให้มีการหลบหนี” ผู้ร้องจึงขอศาลอุทธรณ์ภาค 4 มีคำสั่งปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหา โดยยึดหลักตามรัฐธรรมนูญที่เป็นกฎหมายสูงสุดนี้ด้วย

5. การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่ปล่อยตัวชั่วคราวย่อมไม่สอดคล้องกับนโยบายของประธานศาลฎีกาที่ว่า “ตราบใดที่ยังไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าบุคคลใดมีความผิด ต้องได้รับความคุ้มครองอย่างเต็มที่” เพื่อให้เป็นไปตามแนวนโยบายดังกล่าวที่ประธานศาลฎีกาได้ให้คำมั่นสัญญาไว้ต่อภาคประชาชน

รวมทั้งเพื่อให้สอดคล้องกับแนวปฏิบัติของคณะอนุกรรมการศึกษา ติดตามและแก้ไขปัญหาการบริหารจัดการคดีภายใต้สถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ฉบับที่ 6 เดือนเมษายน 2564 ข้อ 2.10 ที่ระบุว่า ให้ปฏิบัติตามคำแนะนำของประธานศาลฎีกาที่ว่า “การสั่งคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวในทุกศาล ให้ปฏิบัติตามคำแนะนำของประธานศาลฎีกาว่าด้วยการขยายโอกาสในการเข้าถึงสิทธิที่จะได้รับการปล่อยชั่วคราว พ.ศ. 2562 และเพื่อมิให้เป็นการเพิ่มความแออัดในเรือนจำอันอาจนำไปสู่การแพร่ระบาดของโควิด-19 ศาลอาจอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวโดยกำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับที่อยู่ของจำเลยหรือเงื่อนไขอื่นใด…” จึงขอศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิจารณาปล่อยตัวผู้ต้องหาด้วย

ย้อนอ่านความเป็นมาคดี>> “โตโต้” ปิยรัฐ คดี 112 กรณีป้ายวัคซีนหาซีนให้วังที่กาฬสินธุ์

 

ขอบคุณภาพจาก เพจ โตโต้ ปิยรัฐ – Piyarat Chongthep

 

X