4 เม.ย. 64 เวลา 14.30 น. ศาลอุทธรณ์ภาค 4 อ่านคำสั่งผ่านวีดิโอคอนเฟอเรนซ์ไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว “โตโต้” ปิยรัฐ จงเทพ แกนนำการ์ดอาสา We Volunteer และผู้ต้องหาคดีมาตรา 112 จากการเผยแพร่ภาพป้ายข้อความ #วัคซีนหาซีนให้วัง ในเขต อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ หลังจากวานนี้ ศาลจังหวัดกาฬสินธุ์มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัวปิยรัฐ และทนายความได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวในช่วงเช้าวันนี้
คำสั่งของศาลอุทธรณ์ภาค 4 ระบุว่า “พิเคราะห์แล้วเห็นว่าข้อเท็จจริงได้จากการไต่สวนคำร้องฝากขังว่า พนักงานสอบสวนสอบปากคำผู้ต้องหาเสร็จสิ้นแล้ว ไม่ปรากฏว่าผู้ต้องหามีพฤติการณ์หลบหนี แต่ผู้ต้องหามีพฤติกรรมที่เกี่ยวข้องและต่อเนื่องกับการกระทำที่ถูกกล่าวหาในคดีนี้ และหากผู้ต้องหาได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวแล้ว อาจไปกระทำการเช่นเดิมอีก อันเป็นการก่อเหตุอันตรายประการอื่น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 108/1 (3) ไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาระหว่างสอบสวน จึงให้ยกคำร้อง”
คำร้องอุทธรณ์ ชี้ศาลชั้นต้นสั่งเกินคำร้อง และการขอฝากขังเป็นไปโดยไม่สุจริต
ในช่วงเช้านี้ ทนายความได้เข้ายื่นคำร้องอุทธรณ์เพื่อคัดค้านคำสั่งไม่ให้ประกันของศาลชั้นต้น (ศาลจังหวัดกาฬสินธุ์) เมื่อวันที่ 3 เม.ย. 64 ซึ่งให้เหตุผลว่า “ผู้ต้องหาถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดเป็นคดีอาญาร้ายแรง มีอัตราโทษสูง ประกอบกับปรากฏพฤติการณ์ตามทางไต่สวนคำร้องขอฝากขังว่า ผู้ต้องหาเป็นหัวหน้ากลุ่มการ์ดวีโว่ ซึ่งเป็นองค์กรที่สนับสนุนการชุมนุมทางการเมือง ก่อให้เกิดความวุ่นวาย สร้างความแตกแยกขึ้นในราชอาณาจักร จนเป็นเหตุให้ผู้ต้องหาถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดในคดีอื่นอีกหลายคดี
“ประกอบกับพนักงานสอบสวนคัดค้านการประกันตัวผู้ต้องหา เนื่องจากเกรงว่าจะหลบหนี หรือไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือก่อเหตุร้ายประการอื่น ดังนั้น หากปล่อยชั่วคราวเกรงว่าผู้ต้องหาจะไปก่อเหตุร้ายประการอื่น หรือก่อเหตุช้ำในทำนองเดียวกันอีก จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว”
คำร้องอุทธรณ์คัดค้านคำสั่งดังกล่าวว่า
1. ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง และรัฐธรรมนูญไทย ได้บัญญัติรับรองหลักการสันนิษฐานว่าผู้ต้องหาเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะพิสูจน์ตามกฎหมายได้ว่ามีความผิด เพื่อคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของบุคคลในกรณีที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดทางอาญา ส่งผลให้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาบัญญัติถึงสิทธิในการได้รับการปล่อยชั่วคราวของผู้ต้องหาหรือจำเลยที่อยู่ระหว่างการถูกดำเนินคดี
ผู้ต้องหาต้องมีโอกาสพิสูจน์ว่าเป็นผู้บริสุทธิ์และไม่ต้องรับโทษทางอาญา การที่ผู้ต้องหาถูกคุมขังเสมือนว่าได้รับโทษทางอาญา ก่อนที่ศาลจะมีคำพิพากษาถึงที่สุด จึงขัดต่อหลักการดังกล่าว
2. คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ไม่ปล่อยตัวชั่วคราวไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากศาลชั้นต้นได้หยิบยกประเด็นนอกจากคำร้องขอฝากขังครั้งที่ 1 มาวินิจฉัยในประเด็นว่า “ผู้ต้องหาเป็นหัวหน้ากลุ่มการ์ดวีโว่ ซึ่งเป็นองค์กรที่สนับสนุนการชุมนุมทางการเมือง ก่อให้เกิดความวุ่นวาย สร้างความแตกแยกขึ้นในราชอาณาจักร” ซึ่งเป็นเหตุผลที่ไม่ได้บรรยายในคำร้องขอฝากขังครั้งที่ 1 อันเป็นการพิจารณาสั่งเกินคำสั่งนอกคำร้อง หรือสั่งเกินคำขอที่ยื่นต่อศาล ผิดหลักกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาที่ว่าห้ามศาลพิพากษาเกินคำขอ
3. ระหว่างไต่สวนคำร้องขอฝากขังครั้งที่ 1 โดยมี พ.ต.ท.ไพศาล ใจเกษม เป็นพยานเบิกความ พ.ต.ท.ไพศาล ได้เบิกความว่า “ในส่วนของผู้ต้องหา ข้าฯ สอบปากคำเสร็จสิ้นแล้ว” ด้วยเหตุนี้ จึงไม่มีเหตุผลที่จะฝากขังผู้ต้องหาเพื่อทำการสอบสวน
คดีนี้ พ.ต.ท.ไพศาล ได้ดำเนินการสอบปากคำผู้ต้องหารวม 2 ครั้ง คือ เมื่อวันที่ 30 มี.ค. 64 และ วันที่ 3 เม.ย. 64 ซึ่ง พ.ต.ท.ไพศาล เองก็เบิกความแล้วว่า สอบสวนผู้ต้องหาเสร็จแล้ว จะฝากขังเพื่อจะสอบพยานอีก 7 ปาก ซึ่งพยานทั้ง 7 ปากที่อ้าง ผู้ต้องหาก็ไม่ทราบว่าเป็นบุคคลใดบ้าง การฝากขังจึงเป็นไปโดยไม่สุจริต ไม่คำนึงถึงความเป็นธรรม และเป็นเพราะความบกพร่องในการทำหน้าที่ของพนักงานสอบสวนเอง ไม่ใช่เพราะการสอบสวนไม่เสร็จสิ้น
4. ผู้ต้องหามีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง อยู่ในพื้นที่ของพนักงานสอบสวนอยู่แล้ว ซึ่งพนักงานสอบสวนสามารถออกหมายเรียกให้ผู้ต้องหามาพบเพื่อสอบปากคำเพิ่มเติมหรือส่งตัวพนักงานอัยการตามนัดได้ ในการจับกุมก็ไม่ปรากฏว่าผู้ต้องหาต่อสู้หรือขัดขืนการจับกุม ประกอบกับผู้ต้องหาถูกฟ้องเป็นคดีหมายเลขดำที่ อ.1130/2563 ในความผิดตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ ของศาลจังหวัดกาฬสินธุ์นี้ โดยได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว และมาตามนัดศาลทุกนัด อันเป็นการแสดงถึงความรับผิดชอบต่อตนเองและสังคม และสัจจะที่ให้ไว้ต่อศาลว่าจะไม่หลบหนี
ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 108/1 การสั่งไม่ให้ปล่อยตัวชั่วคราวจะกระทำได้ต่อเมื่อมีเหตุอันควรเชื่อเหตุใดเหตุหนึ่งดังต่อไปนี้ (1) ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะหลบหนี (2) ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน (3) ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะไปก่อเหตุอันตรายประการอื่น (4) ผู้ร้องขอประกันหรือหลักประกันไม่น่าเชื่อถือ (5) การปล่อยชั่วคราวจะเป็นอุปสรรคหรือก่อให้เกิดความเสียหายต่อการสอบสวนของเจ้าพนักงานหรือการดำเนินคดีในศาล
แต่จำเลยไม่มีพฤติการณ์ที่เป็นเหตุดังกล่าวแต่อย่างใด กล่าวคือผู้ต้องหาไม่มีพฤติการณ์จะหลบหนี มีที่อยู่เป็นหลักแหล่งแน่นอน เป็นเพียงบุคคลธรรมดา ไม่มีอิทธิพลหรือความสามารถที่จะไปยุ่งเกี่ยวกับพยานหลักฐานในคดีนี้ได้ อีกทั้งพยานหลักฐานในคดีนี้ พนักงานสอบสวนก็ได้รวบรวมพยานหลักฐานและอยู่ในความครอบครองของศาลชั้นต้นแล้วทั้งสิ้น
5. ผู้ต้องหาไม่เคยมีประวัติเกี่ยวกับการกระทำความผิดอาชญากรรมใดๆ และไม่เคยต้องโทษในคดีอาญาใดๆ มาก่อนจึงไม่มีพฤติการณ์จะไปก่อเหตุอันตรายประการอื่นอย่างแน่นอน และไม่อาจไปก่ออุปสรรคหรือความเสียหายต่อการสอบสวนของเจ้าพนักงานหรือการดำเนินคดีในศาลได้
6. การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่ปล่อยตัวชั่วคราวย่อมไม่สอดคล้องกับนโยบาย 5 ข้อของประธานศาลฏีกา ข้อที่ 1 ว่า “ยกระดับการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานผู้ต้องหาและจำเลย…” เป็นความพยายามของประธานศาลฏีกาที่จะเปลี่ยนแปลงนโยบายของศาลที่ดำเนินการอยู่ โดยมีประเด็นที่เป็นหัวใจ คือ “ตราบใดที่ยังไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าบุคคลใดมีความผิด ต้องได้รับความคุ้มครองอย่างเต็มที่ และ “ศาลอาจจะปล่อยชั่วคราวโดยไม่มีประกันอะไรเลยก็ได้ หากโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือมีประกันเพียงทำสัญญาไว้แต่ไม่ต้องมีหลักทรัพย์ประกัน”
เมื่อการสอบสวนหรือสอบปากคำผู้ต้องหาเสร็จสิ้นแล้ว จึงไม่มีเหตุผลที่จะคุมขังผู้ต้องหาต่อไป รวมถึงข้อเท็จจริงที่ว่าผู้ต้องหาเป็นหัวหน้าการ์ด อันเป็นข้อเท็จจริงที่กล่าวอ้างขึ้นใหม่ ไม่ใช่ข้อความที่บรรยายในคำร้องขอฝากขังครั้งที่ 1 ที่ศาลชั้นต้นจะนำมาพิจารณาไม่ปล่อยตัวชั่วคราวได้ การพิจารณาไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย
อนึ่ง การที่ พ.ต.ท.ไพศาล เบิกความวินิจฉัยหรือเข้าใจเองว่าผู้ต้องหาผิด และผู้ต้องหาถูกดำเนินคดีอื่นอีก ศาลชั้นต้นไม่ควรต้องเชื่อ หรือบันทึกข้อความดังกล่าวไว้สำนวนเพื่อนำมาพิจารณา เพราะในชั้นนี้ผู้ต้องหาเองไม่สามารถอธิบายโต้แย้งคัดค้านชี้แจงข้อเท็จจริงได้ จึงเป็นกระบวนการพิจารณามุ่งร้ายต่อตัวผู้เสียหายเพียงอย่างเดียว
การอายัดตัวปิยรัฐ หลังจากได้รับการประกันตัวในคดีที่เขาถูกกล่าวหาเป็นอั้งยี่-ซ่องโจรนั้น เกิดขึ้นในช่วงเย็นวันที่ 2 เม.ย. 64 โดยมีการใช้หมายจับของศาลจังหวัดกาฬสินธุ์ ลงวันที่ 2 เม.ย. 64 ในคดีที่เขาได้ถูกแจ้งข้อกล่าวหาไปก่อนหน้านั้นแล้วในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 30 มี.ค. 64
อีกทั้ง หมายจับดังกล่าวซึ่งมีปวริศ หวังพินิจกุล ผู้พิพากษาเป็นผู้อนุมัติออกหมายจับ ไม่มีการติ๊กระบุสาเหตุของการออกหมายจับใดๆ การไม่ได้ประกันตัวดังกล่าว ทำให้ปิยรัฐถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำจังหวัดกาฬสินธุ์
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
ตร.กาฬสินธุ์ไปแจ้งข้อหา ม.112 ‘โตโต้’ ถึงในเรือนจำ กรณีติดป้ายวัคซีนโควิดพระราชทาน