ศาลกาฬสินธุ์ไม่ให้ประกันตัว “โตโต้” คดี 112 อ้างเป็นหัวหน้ากลุ่มการ์ดวีโว่ สนับสนุนการชุมนุม ก่อให้เกิดความวุ่นวาย ทนายยื่นอุทธรณ์วันนี้

หลังจากเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2564 ศาลอาญามีคำสั่งอนุญาตให้ประกัน “โตโต้” ปิยรัฐ จงเทพ แกนนำการ์ดอาสา We Volunteer หรือ WeVo ระหว่างสอบสวน ในคดีที่ถูกกล่าวหาว่า เป็นอั้งยี่และซ่องโจร และปิยรัฐได้รับการปล่อยตัวที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เขาได้ถูกตำรวจเข้าอายัดตัวตามหมายจับของศาลจังหวัดกาฬสินธุ์ที่ 76/2564 ลงวันที่ 2 เมษายน 2564 ในข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ และควบคุมตัวไปที่ สน.ประชาชื่น ก่อนเวลาประมาณ 20.30 น. ปิยรัฐถูกควบคุมตัวขึ้นรถผู้ต้องขังส่งตัวไป สภ.ยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์ เพื่อดำเนินคดีตามหมายจับดังกล่าว กรณีมีผู้ติดป้าย #วัคซีนหาซีนให้วัง เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา 

ท่ามกลางความสงสัยว่า ในทางกฎหมายไม่น่าจะมีเหตุให้ตำรวจไปขอออกหมายจับ และไม่มีเหตุผลในทางกฎหมายที่ศาลจะอนุญาตให้ออกหมายจับ เนื่องจากคดีนี้คณะพนักงานสอบสวน ตำรวจภูธรจังหวัดกาฬสินธุ์ เข้าไปแจ้งข้อกล่าวหาปิยรัฐที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ แล้วตั้งแต่วันที่ 30 มีนาคม 2564 แต่กลับไปขอศาลออกหมายจับอีกเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2564 และใช้หมายจับดังกล่าวไปอายัดตัวปิยรัฐขณะได้รับการปล่อยตัว อีกทั้ง หมายจับดังกล่าวซึ่งมีปวริศ หวังพินิจกุล ผู้พิพากษาเป็นผู้อนุมัติออกหมายจับ ไม่มีการติ๊กระบุสาเหตุของการออกหมายจับใดๆ 

3 เมษายน 2564 ปิยรัฐถูกควบคุมตัวถึง สภ.ยางตลาด ในเวลาประมาณ 06.00 น. โดยมีเพื่อนนักกิจกรรมในจังหวัดกาฬสินธุ์และขอนแก่นมารอพบ แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจนำรั้วเหล็กกั้นปิดทางเข้า ไม่อนุญาตให้ผู้ไม่เกี่ยวข้องยกเว้นญาติและทนายความเข้าในบริเวณสถานีตำรวจ โดยมีกำลังตำรวจและ อส. ราว 30 นาย ควบคุมพื้นที่

จากนั้นเวลา 07.30 น. คณะพนักงานสอบสวน ตำรวจภูธรจังหวัดกาฬสินธุ์ นำโดย พ.ต.ท.สุธน สีหามาตย์ ดำเนินการแจ้งข้อกล่าวหาและสอบปากคำปิยรัฐอีกครั้ง อ้างว่า กระบวนการแจ้งข้อกล่าวหาและสอบปากคำในวันที่ 30 มีนาคม 2564 ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ปิยรัฐไม่ยอมรับและไม่พิมพ์ลายนิ้วมือ พนักงานสอบสวนเกรงว่ากระบวนการจะไม่ชอบด้วยกฎหมายจึงได้แจ้งข้อกล่าวหาอีกครั้ง 

ปิยรัฐโต้แย้งว่า เหตุที่ไม่พิมพ์ลายนิ้วมือในวันที่ 30 มีนาคม 2564 เนื่องจากหลังการสอบปากคำผ่านวีดิโอคอนเฟอเรนซ์ เจ้าหน้าที่ไม่ได้นำบันทึกคำให้การมาให้ตนอ่านและเซ็น แต่กลับนำแบบลายพิมพ์นิ้วมือมาและให้ตนพิมพ์ลายนิ้วมือโดยไม่แจ้งใดๆ เมื่อตนแจ้งผ่านวีดิโอคอนเฟอเรนซ์ว่า ขออ่านบันทึกคำให้การก่อน แต่เจ้าหน้าที่กลับแจ้งว่า พนักงานสอบสวนนำเอกสารเดินทางกลับกาฬสินธุ์แล้ว ตนจึงไม่พิมพ์ลายนิ้วมือในเอกสารที่ไม่ทราบที่มาที่ไป นอกจากนี้ การที่ตนไม่ได้พิมพ์ลายนิ้วมือ ไม่ใช่เหตุในการไปขอออกหมายจับ เนื่องจากพนักงานสอบสวนก็ดำเนินคดีข้อหาขัดคำสั่งเจ้าพนักงานเพิ่มได้ พ.ต.ท.สุธน ตอบเพียงว่า เรื่องนั้นให้ไปถามศาล

ในการแจ้งข้อกล่าวหาและสอบปากคำครั้งนี้ ปิยรัฐไม่ตอบคำถามของพนักงานสอบสวน ระบุว่า “ให้การไปแล้วในวันที่ 30 มี.ค. 2564 ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ กับพนักงานสอบสวนพร้อมทนายความของข้าฯ” และไม่ลงลายมือชื่อในบันทึกคำให้การ เขียนแทนว่า ประสงค์อ้างตามบันทึกคำให้การวันที่ 30 มีนาคม 2564 

หลังเสร็จกระบวนการประมาณ 09.00 น. พนักงานสอบสวนแจ้งว่า จะฝากขังผ่านวีดิโอคอนเฟอเรนซ์จาก สภ.ยางตลาด ไปที่ศาลจังหวัดกาฬสินธุ์ โดยพนักงานสอบสวนส่งคำร้องขอฝากขังต่อศาลแบบออนไลน์ ด้านทนายความได้เดินทางไปที่ศาลจังหวัดกาฬสินธุ์เพื่อยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนหมายจับ คำร้องคัดค้านการขอฝากขัง และขอให้ศาลไต่สวนพนักงานสอบสวน โดยขอให้ศาลเบิกตัวปิยรัฐไปทำการไต่สวนที่ศาล 

เบื้องต้นศาลไม่อนุญาตให้เบิกตัวปิยรัฐไปศาล ระบุว่าเป็นระเบียบเรื่องมาตรการป้องกันโควิด จึงให้ไต่สวนผ่านวีดิโอคอนเฟอเรนซ์ โดยให้ปิยรัฐฟังการไต่สวนอยู่ที่ สภ.ยางตลาด แต่ให้พนักงานสอบสวนไปเบิกความที่ศาล อย่างไรก็ตาม เวลาประมาณ 10.30 น. ศาลมีคำสั่งให้เบิกตัวปิยรัฐไปร่วมไต่สวนคำร้องขอเพิกถอนหมายจับและคัดค้านฝากขังที่ศาล 

ทั้งนี้ เนื่องจากเป็นวันเสาร์ซึ่งศาลเปิดทำการเพียงครึ่งวันเช้า ทนายความจึงได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวไปพร้อมกัน เพื่อให้ศาลพิจารณาโดยไม่ล่าช้า

 

โตโต้ขอให้ศาลเพิกถอนหมายจับและไม่รับฝากขัง เหตุไม่ชอบด้วยกฎหมาย 

คำร้องของปิยรัฐขอให้ศาลเพิกถอนหมายจับ ระบุเหตุผลว่า คดีนี้ไม่มีเหตุที่จะออกหมายจับผู้ต้องหาไว้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 59/1 และมาตรา 66 เนื่องจากพนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อกล่าวหาดำเนินคดีกับผู้ต้องหาแล้วเมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2564 ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ซึ่งผู้ต้องหาให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา พยานหลักฐานในคดีนี้ก็อยู่ในความดูแลของพนักงานสอบสวนแล้วทั้งสิ้น การไม่จับกุมควบคุมตัวผู้ต้องหาจึงไม่เป็นอุปสรรคต่อการสอบสวนของพนักงานสอบสวน ที่สำคัญเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2564 ศาลอาญา (รัชดา) ก็ได้อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหา เนื่องจากไม่มีพฤติการณ์ที่ผู้ต้องหาจะหลบหนี 

ส่วนคำร้องคัดค้านการฝากขัง ปิยรัฐระบุว่า ในวันนี้ผู้ต้องหาได้ยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนหมายจับ ผู้ต้องหาจึงไม่ใช่บุคคลที่ถูกจับ พนักงานสอบสวนจึงไม่มีอำนาจขอศาลฝากขัง อีกทั้งการขอฝากขังในวันนี้ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากพนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อกล่าวหาและสอบปากคำผู้ต้องหาเสร็จสิ้นแล้ว ในวันที่ 30 มีนาคม 2564 ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ หากจะสอบสวนผู้ต้องหาเพิ่มเติม หรือจะส่งตัวและสำนวนคดีให้พนักงานอัยการ พนักงานสอบสวนก็สามารถออกหมายเรียกในภายหลังได้ ไม่มีเหตุจำเป็นในการออกหมายจับและขอฝากขัง

คดีนี้เหตุเกิดเมื่อวันที่ 23 มกราคม  2564  ในเขตพื้นที่ของพนักงานสอบสวนซึ่งมีระยะเวลาพอสมควรที่จะสอบสวนเสร็จแล้ว การที่พนักงานสอบสวนกล่าวอ้างในคำร้องขอฝากขังว่า ยังต้องสอบพยานและรวบรวมพยานหลักฐานต่างๆ ก็ล้วนเป็นเรื่องการดำเนินการของพนักงานสอบสวนกับบุคคลอื่น ไม่เกี่ยวข้องกับผู้ต้องหา ไม่จำต้องร้องขอฝากขังผู้ต้องหา อันเป็นการกระทบต่อหน้าที่การงาน สิทธิเสรีภาพและโอกาสในการต่อสู้คดีของผู้ต้องหาเกินจำเป็น  

และหากพนักงานสอบสวนเกรงว่า ผู้ต้องหาจะไปใช้เสรีภาพร่วมหรือทำกิจกรรมใดต่อไปในอนาคตอันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย พนักงานสอบสวนหรือเจ้าหน้าที่รัฐก็สามารถที่จะใช้อำนาจดำเนินการตามกฎหมายได้เป็นคดีอื่นอยู่แล้ว ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องนำตัวผู้ต้องหามาฝากขังต่อศาลในคดีนี้  เพราะเป็นเสมือนการใช้ดุลพินิจพิจารณาไว้ในอนาคตแล้วว่าการทำกิจกรรมนั้นๆ เป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย และเป็นการกระทำที่มุ่งจะแทรกแซงยับยั้งการใช้เสรีภาพตามที่รัฐธรรมนูญมุ่งคุ้มครองไว้                 

และคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวระบุเหตุผลว่า คดีนี้ปิยรัฐให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และประสงค์จะนำหลักฐาน เพื่อเสนอต่อศาลประกอบการต่อสู้คดีว่าไม่ได้ทำผิดตามที่พนักงานสอบสวนกล่าวหา เชื่อว่าศาลจะให้ความเป็นธรรม พฤติการณ์ในคดีก็เป็นการกล่าวหาจากเจ้าหน้าที่ฝ่ายเดียว ยังไม่ผ่านการพิสูจน์โดยศาล ทั้งไม่ได้มีลักษณะเป็นอาชญากรรมร้ายแรงหรือการก่อความวุ่นวายในบ้านเมืองแต่อย่างใด อีกทั้งปิยรัฐเป็นเพียงผู้ถูกกล่าวหาในความผิดทางอาญา ต้องได้รับการสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะพิสูจน์ตามกฎหมายได้ว่ามีความผิด ตามที่กฎหมายระหว่างประเทศและรัฐธรรมนูญให้การรับรอง หากศาลใช้ดุลพินิจมีคำสั่งไม่ปล่อยตัวชั่วคราว โดยเชื่อว่าผู้ต้องหามีพฤติการณ์กระทำผิดตามพนักงานสอบสวนกล่าวหาจริงแล้วย่อมถือว่าเป็นการใช้ดุลพินิจที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ

 

ถ้อยคำพนักงานสอบสวน

บรรยากาศการไต่สวนคำร้องขอฝากขังของพนักงานสอบสวนตามที่ปิยรัฐและทนายความยื่นคำร้องที่ศาลจังหวัดกาฬสินธุ์ พบว่ามีการปิดประตูทางเข้าศาล มีการวางกำลังชุดควบคุมฝูงชนราว 20 นาย ไม่อนุญาตให้ประชาชน แม้แต่ทนายความที่นั่งร่วมกระบวนการสอบปากคำที่ สภ.ยางตลาด ที่ปิยรัฐยังไม่ได้เซ็นแต่งตั้งทนายความ และ อภิชาติ ศิริสุนทร ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล ซึ่งเดินทางมาเป็นนายประกัน เข้าไปในบริเวณศาล อ้างว่าผู้ต้องหามีทนายความอยู่แล้ว และยังไม่ถึงขั้นตอนการประกันตัว

เวลา 10.50 น. ศาลเริ่มการไต่สวน โดยมี ยุทธนา แสนจันทร์ ผู้พิพากษา ออกนั่งพิจารณาคดี และมี พ.ต.ท.ไพศาล ใจเกษม พนักงานสอบสวน สภ.ยางตลาด เข้าเบิกความเพียง 1 ปาก ระบุว่า เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2564 มีกลุ่มคนร้ายเอาแผ่นป้ายไวนิลซึ่งมีข้อความหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์จำนวน 7 แผ่น ไปติดอยู่บริเวณถนนและซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติริมถนนสายยางตลาด-กาฬสินธุ์ ตำรวจได้รับแจ้งเรื่องป้ายดังกล่าว จึงออกไปตรวจสอบและตรวจยึดป้ายนั้น

ต่อมา ปรากฏภาพป้ายทั้งเจ็ด ถูกนำไปโพสต์ในเฟซบุ๊กชื่อ “โตโต้ ปิยรัฐ -Piyarat Chongthep” และทวิตเตอร์ชื่อ “We Volunteer” ซึ่งเป็นของปิยรัฐ พร้อมทั้งโพสต์ข้อความเชิญชวนประชาชนให้เข้าร่วมกลุ่มประสานงาน ซึ่งเป็นความผิดฐานร่วมกันหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ และความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(3) และมายื่นขออนุมัติหมายจับที่ศาลในวันที่ 2 เมษายน 2564

วันเดียวกันทราบข่าวว่าผู้ต้องหาจะถูกปล่อยตัวจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ที่ผู้ต้องหาถูกขังในความผิดคดีอั้งยี่และความผิดเกี่ยวกับการชุมนุม จึงประสานตำรวจท้องที่แห่งนั้น นำหมายจับไปจับกุมที่เรือนจำ

พ.ต.ท.ไพศาล เบิกความอีกว่าได้รับตัว ปิยรัฐ ในช่วง 06.15 น. ในวันที่ 3 เมษายน 2564 จะครบกำหนดควบคุมตัว 48 ชั่วโมง ในวันที่ 5 เมษายน 2564 แต่การสอบสวนยังไม่เสร็จสิ้น ต้องสอบปากคำพยานอีก 7 ปาก และรอผลการตรวจประวัติการต้องโทษของผู้ต้องหาจากกองทะเบียนประวัติอาชญากร และรวบรวมหลักฐานอื่นที่เกี่ยวข้อง จึงขออำนาจศาลฝากขัง มีกำหนด 12 วัน 

พนักงานสอบสวน สภ.ยางตลาด ยังเบิกความในตอนท้ายว่า เนื่องจากคดีนี้เป็นคดีความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรซึ่งมีอัตราโทษสูง ผู้ต้องหาเป็นหัวหน้ากลุ่มการ์ดวีโว่ ซึ่งเป็นองค์กรที่เข้าร่วมชุมนุมทางการเมือง ก่อให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในประเทศไทย และผู้ต้องหาถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดคดีอื่นหลายคดีนอกจากคดีนี้ จึงขอคัดค้านการประกันตัวผู้ต้องหาเนื่องจากเกรงว่าผู้ต้องหาจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานหรือก่อเหตุร้ายประการอื่น และเกรงว่าผู้ต้องหาจะหลบหนี 

จากนั้น พ.ต.ท.ไพศาล ตอบคำถามที่ทนายความของปิยรัฐถามค้าน โดยรับว่า ตามกระบวนการของกฎหมาย หากผู้ต้องหาปรากฏตัวต่อหน้าพนักงานสอบสวน จะมีการแจ้งสิทธิและสอบปากคำ หากพยานยังรวบรวมพยานหลักฐานไม่แล้วเสร็จ ต้องสอบปากคำผู้ต้องหาเพิ่มก็จะออกหมายเรียกผู้ต้องหามาพบ หากผู้ต้องหาไม่มาตามหมายเรียก จึงจะขอศาลออกหมายจับ 

พ.ต.ท.ไพศาล รับอีกว่า เกี่ยวกับคดีนี้ เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2564 พยานได้ไปพบผู้ต้องหาและแจ้งข้อกล่าวหาที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพแล้ว ผู้ต้องหาให้การปฏิเสธ และในช่วงเช้าของวันนี้ พยานก็ได้สอบปากคำผู้ต้องหา โดยมีข้อเท็จจริงเป็นข้อเท็จจริงกับที่สอบปากคำไปเมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2564 ในส่วนพยานบุคคลอีก 7 ปาก ที่พยานจะสอบปากคำ และการตรวจสอบประวัติอาชญากรรม ก็ไม่ต้องสอบถามจากผู้ต้องหา ดังนั้น ในส่วนของผู้ต้องหา พยานได้สอบปากคำเสร็จสิ้นแล้ว 

พ.ต.ท.ไพศาล ใจเกษม  ตอบคำถามค้านของทนายความด้วยว่า ในคดีความผิดของปิยรัฐทุกคดี ยังไม่มีคำพิพากษาว่ามีความผิด อยู่ในชั้นพิจารณาของศาล บางคดีอยู่ในชั้นสอบสวน และพยานไม่ได้รับรายงานว่า ในชั้นจับกุม ผู้ต้องหาขัดขืนการจับกุมของตำรวจ

เสร็จการไต่สวนเวลาประมาณ 11.30 น. ศาลมีคำสั่งให้ยกคำร้องขอเพิกถอนหมายจับ โดยอ้างว่าหมายจับสิ้นผลไปเอง นับแต่วันที่จับ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 68 จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องขอเพิกถอนหมายจับอีก ในส่วนของคำสั่งต่อคำร้องขอฝากขัง ศาลนัดอ่านคำสั่งในช่วงบ่าย

 

คำสั่งศาล 

ประมาณ 14.00 น. ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ฝากขัง ระบุว่า พิเคราะห์แล้วเห็นว่า พนักงานสอบสวนขอฝากขังผู้ต้องหาครั้งที่ 1 โดยยืนยันว่า ผู้ต้องหาเป็นเจ้าของเพจในสื่อออนไลน์ (เฟซบุ๊กและทวิตเตอร์) และนำข้อความอันมีลักษณะหมิ่นประมาทหรือดูหมิ่นพระมหากษัตริย์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ลงเผยแพร่ในสื่อดังกล่าว

ภาพจากเฟซบุ๊กเพจ โตโต้ ปิยรัฐ – Piyarat Chongthep

จึงมีพยานหลักฐานตามสมควรว่า ผู้ต้องหาน่าจะได้กระทำความผิดทางอาญาร้ายแรง และมีเหตุจำเป็นที่พนักงานสอบสวนต้องสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานต่อไป ประกอบกับคำเบิกความของพนักงานสอบสวนระบุว่า ผู้ต้องหาเป็นหัวหน้ากลุ่มการ์ดวีโว่ ซึ่งเป็นองค์กรที่เข้าร่วมชุมนุมทางการเมือง ก่อให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในราชอาณาจักร จนเป็นเหตุให้ผู้ต้องหาถูกดำเนินคดีอาญาอีกหลายคดี  จึงมีหลักฐานตามสมควรว่า ผู้ต้องหาน่าจะได้กระทำความผิดทางอาญาร้ายแรง  และน่าจะไปก่อเหตุอันตรายประการอื่นในทำนองเดียวกันอีก จึงอนุญาตให้ฝากขัง 12 วัน และอนุญาตให้ฝากขังครั้งต่อไปผ่านระบบการประชุมทางจอภาพ 

ส่วนที่ผู้ต้องหาขอให้ปล่อยชั่วคราวในระหว่างสอบสวน ศาลพิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหาและพฤติการณ์แห่งคดีแล้วเห็นว่า คดีที่ถูกกล่าวหาเป็นคดีอาญาร้ายแรง มีอัตราโทษสูง ประกอบกับปรากฏพฤติการณ์ตามการไต่สวนคำร้องขอฝากขัง ผู้ต้องหาเป็นหัวหน้ากลุ่มการ์ดวีโว่ ซึ่งเป็นองค์กรที่สนับสนุนการชุมนุมทางการเมือง ก่อให้เกิดความวุ่นวาย สร้างความแตกแยกในราชอาณาจักร จนเป็นเหตุให้ผู้ต้องหาถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดอื่นอีกหลายคดี 

ประกอบกับพนักงานสอบสวนคัดค้านการประกันตัวผู้ต้องหาเนื่องจากเกรงว่าผู้ต้องหาจะหลบหนีหรือไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานหรือก่อเหตุร้ายประกันอื่น หากปล่อยตัวชั่วคราวเกรงว่าผู้ต้องหาจะไปก่อเหตุร้ายประการอื่นหรือก่อเหตุซ้ำในทำนองเดียวกันอีก จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว 

หลังศาลจังหวัดกาฬสินธุ์ไม่อนุญาตให้ประกันตัว ทำให้โตโต้ปิยรัฐจะถูกขังระหว่างการสอบสวนไว้ที่เรือนจำจังหวัดกาฬสินธุ์ โดยคดีนี้นับเป็นการถูกกล่าวหาในข้อหามาตรา 112 คดีแรกของปิยรัฐ และทำให้เขาถูกกล่าวหาในคดีจากการชุมนุมและแสดงออกทางการเมืองตั้งแต่ปี 2563 รวมแล้วเป็น 11 คดี 

ทั้งนี้ ทนายความจะเข้ายื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่ให้ประกันของศาลจังหวัดกาฬสินธุ์ในเช้าวันนี้ (4 เมษายน 2564)

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง 

ตร.กาฬสินธุ์ไปแจ้งข้อหา ม.112 ‘โตโต้’ ถึงในเรือนจำ กรณีติดป้ายวัคซีนโควิดพระราชทาน 

 

X