ตร.อุบลฯ แจ้ง ม.112 “โตโต้” เพิ่มเติม เป็นคดีที่ 3 จากคำปราศรัย “พระราชอํานาจกษัตริย์ฯ” ตั้งแต่สิงหา 63  

15 มิ.ย. 2564 “โตโต้” ปิยรัฐ จงเทพ แกนนำมวลชนอาสา We Volunteer หรือวีโว่ เดินทางจากจังหวัดกาฬสินธุ์เข้ารับทราบข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เพิ่มเติม ตามหมายเรียกผู้ต้องหาของ สภ.เมืองอุบลราชธานี ในคดีจากการปราศรัยในการชุมนุม #เด็กพูดผู้ใหญ่ฟัง ที่ศาลหลักเมืองอุบลฯ เมื่อวันที่ 22 ส.ค. 2563 โดยมีวัฒนา จันทศิลป์ ทนายความเครือข่ายของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เข้าร่วมรับฟัง

คดีนี้ ปิยรัฐได้ถูกตำรวจเข้าจับกุมตัวที่เขตทวีวัฒนา กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 24 พ.ย. 2563 หมายจับศาลจังหวัดอุบลฯ ก่อนการชุมนุม #25พฤศจิกาไปSCB นำตัวมาแจ้งข้อกล่าวหาที่ สภ.เมืองอุบลฯ ในข้อหา “ยุยงปลุกปั่น” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 และนำเข้าข้อมูลอันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) ตำรวจคุมขังปิยรัฐอยู่ที่ สภ.เมืองอุบลฯ เป็นเวลา 32 ชั่วโมง จึงนำตัวไปขออำนาจศาลจังหวัดอุบลฯ ฝากขังในวันที่ 26 พ.ย. 2563 ก่อนศาลไม่อนุญาตให้ฝากขัง และปล่อยตัวโดยไม่ต้องประกัน 

ในครั้งนั้นปิยรัฐซึ่งทราบจากรายงานข่าวว่าตนมีชื่อเป็นผู้ถูกออกหมายเรียกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ในคดีนี้ ภายหลังจากที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศดำเนินการบังคับใช้กฎหมายทุกมาตรากับผู้ชุมนุม ได้สอบถามพนักงานสอบสวน แต่ได้รับคำปฏิเสธจากพนักงานสอบสวนว่า ยังไม่ปรากฏเรื่องดังกล่าว

>> แจ้งข้อหา ม.116-พ.ร.บ.คอมฯ “โตโต้” ก่อนคุมตัวต่อที่สภ.อุบลฯ ตร.ระบุยังไม่ปรากฏเรื่องม.112

ต่อมา พนักงานสอบสวนได้สรุปสำนวนการสอบสวนมีความเห็นควรสั่งฟ้องปิยรัฐและ “เพนกวิน” พริษฐ์ ชิวารักษ์ จากการปราศรัยในการชุมนุมครั้งเดียวกัน ใน 2 ข้อหาดังกล่าว โดยที่เห็นควรสั่งฟ้องพริษฐ์ในข้อหาตามมาตรา 112 ด้วย และได้ส่งสำนวนการสอบสวนให้พนักงานอัยการจังหวัดอุบลฯ เมื่อวันที่ 29 ม.ค. 2564  

อย่างไรก็ตาม คดีนี้พนักงานอัยการจังหวัดอุบลฯ ได้ส่งสำนวนให้อัยการสูงสุดพิจารณา โดยสำนักงานอัยการสูงสุดได้ส่งสำนวนกลับมายังพนักงานอัยการเจ้าของสำนวน เพื่อให้ดำเนินการแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมแก่ปิยรัฐ ตามมาตรา 112

เวลา 09.50 น. พ.ต.อ.อุทัย ปุชิน ผกก.สภ.นาโพธิ์ (บุณฑริก) คณะพนักงานสอบสวน ตามคําสั่ง ภ.จว.อุบลราชธานี ลงวันที่ 25 ธ.ค. 2563 ได้นำบันทึกการแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมซึ่งได้พิมพ์พฤติการณ์ในคดีไว้แล้วให้ปิยรัฐอ่าน โดยมีเนื้อความเช่นเดียวกับที่เคยได้แจ้งไปแล้ว ระบุว่า เมื่อวันที่ 22 ส.ค. 2563 ฉัตรชัย แก้วคําปอด ได้จัดให้มีการชุมนุมสาธารณะขึ้นที่บริเวณลานศาลหลักเมือง จ.อุบลฯ โดยมีวิศรุต สวัสดิ์วร เป็นผู้ดําเนินรายการบนเวที เชิญให้พริษฐ์และปิยรัฐขึ้นกล่าวปราศรัยให้ผู้ร่วมชุมนุมประมาณ 200 คน ฟัง มีการถ่ายทอดภาพและเสียงทางเฟซบุ๊กเพจ คณะอุบลปลดแอก เพื่อให้ประชาชนทั่วไปได้รับฟัง โดยพริษฐ์และปิยรัฐได้พูดปราศรัยในลักษณะที่ไม่บังควรต่อสถาบันกษัตริย์ ยุยงปลุกปั่นเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดต่อกฎหมายแผ่นดิน

บันทึกแจ้งข้อกล่าวหาได้ยกบางตอนในคำปราศรัยของพริษฐ์ ซึ่งปราศรัยเรื่อง “กษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ” อธิบายถึงข้อเสนอปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ทั้ง 10 ข้อ และคําปราศรัยบางตอนของปิยรัฐ ซึ่งปราศรัยในประเด็น “พระราชอํานาจของพระมหากษัตริย์กับบทบาทของกองทัพไทย” ระบุว่า เป็นหัวใจสําคัญของปัญหาโครงสร้างการเมืองของไทย เนื่องจากมีบทบาทในการเซ็นรับรองรัฐประหารที่ผ่านมาในอดีต อีกทั้ง สภาผู้แทนฯ ได้ผ่าน พ.ร.ก.โอนย้ายกำลังพลและงบประมาณของกรมทหารราบที่ 11 และกรมทหารราบที่ 1 ให้เป็นส่วนราชการในพระองค์ ซึ่งที่ผ่านมามีบทบาทเป็นกำลังหลักในการรัฐประหาร จึงมีข้อเสนอให้แยกพระราชอํานาจของพระมหากษัตริย์ออกจากกองทัพอย่างเด็ดขาดทั้งทางตรงและทางอ้อม 

บันทึกแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมระบุในตอนท้ายว่า พนักงานสอบสวนได้รับหนังสือจากอัยการจังหวัดอุบลราชธานี ที่ อส 0059(อบ)/1784 ลงวันที่ 31 พ.ค. 2564 เรื่อง สอบสวนเพิ่มเติม คดีตามนัยความเห็นของสํานักงานอัยการสูงสุด ให้พนักงานอัยการจังหวัดอุบลราชธานี แจ้งพนักงานสอบสวนทําการสอบสวนเพิ่มเติม โดยให้พนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมแก่ผู้ต้องหาว่า “ร่วมกันหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์” 

พ.ต.อ.อุทัย จึงได้แจ้งข้อหาเพิ่มเติมแก่ปิยรัฐว่า “ร่วมกันหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ปิยรัฐได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา 

หลังเสร็จการสอบปากคำเพิ่มเติม พนักงานสอบสวนไม่ได้ควบคุมตัวปิยรัฐไว้ เนื่องจากเป็นการแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติม และปิยรัฐมาพบตามหมายเรียก โดยพนักงานสอบสวนจะได้ส่งสำนวนการแจ้งข้อกล่าวหาและสอบปากคำเพิ่มเติมให้พนักงานอัยการจังหวัดอุบลฯ ดำเนินการต่อไป 

ทั้งนี้ โตโต้ได้โพสต์เฟซบุ๊กภายหลังเสร็จกระบวนการที่สถานีตำรวจว่า “ผมได้เดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหาเพิ่มเติม ตามที่พนักงานสอบสวนนัดหมาย ณ สภ.เมืองอุบลราชธานี กรณีการปราศรัยของผมเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 63 ที่ศาลหลักเมืองอุบลฯ ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับ ประวัติศาสตร์การรัฐประหาร และเนื้อหาเกี่ยว พรก.โอนย้ายกำลังพลฯ ร่วมถึง การแต่งตั้ง และปลดทหารหญิง  ซึ่งมีความไม่ปกติเกิดขึ้น ผมขอยืนยันว่าเนื้อหาในวันนั้นโดยรวมไม่มีคำใดเลยเป็นคำหยาบคายหรือดูหมิ่น ทุกคำพูด และทุกกิริยาเป็นไปเพื่อความถูกต้อง และความสง่างามของทุกสถาบันการเมืองไทย ภายใต้ระบอบประชาธิปไตย”

คดีนี้นับเป็นคดีมาตรา 112 คดีที่ 3 ของปิยรัฐ หลังถูกกล่าวหาเมื่อวันที่ 30 มี.ค. 2564 ว่าจัดทำป้ายไวนิลวิพากษ์วิจารณ์การจัดหาวัคซีนโควิดเป็นคดีแรก และถูกขังระหว่างสอบสวนรวม 33 วัน ก่อนได้ประกันตัว โดยต้องติด EM และมีเงื่อนไขห้ามทำกิจกรรมเสื่อมเสียต่อสถาบันกษัตริย์ ต่อมา วันที่ 27 พ.ค. ที่ผ่านมา ถูกแจ้งข้อกล่าวหาเป็นคดีที่ 2 จากเหตุโพสต์เฟซบุ๊กพาดพิงการใช้ภาษีของกษัตริย์  

>> สถิติผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ปี 2563-64

การชุมนุม  #เด็กพูดผู้ใหญ่ฟัง เมื่อวันที่ 22 ส.ค. 2563 ซึ่งจัดโดย “คณะอุบลปลดแอก” เพื่อสนับสนุนข้อเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ลาออก, ยกเลิก สว. และให้มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ นอกจากพริษฐ์และปิยรัฐ ผู้ปราศรัย ที่ถูกดำเนินคดีแล้ว นักกิจกรรมคณะอุบลปลดแอกอีก 2 ราย คือ ฉัตรชัย แก้วคำปอด ผู้แจ้งการชุมนุม และวิศรุต สวัสดิ์วร พิธีกร ก็ถูกดำเนินคดีในข้อหา ยุยงปลุกปั่น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 

ในส่วนของฉัตรชัยและวิศรุต อัยการได้เร่งรัดยื่นฟ้องต่อศาลไปก่อนหน้านี้แล้ว เมื่อวันที่ 11 พ.ย. 2563 แต่ในนัดตรวจพยานหลักฐาน อัยการได้ยื่นคำร้องขอเลื่อนคดี ระบุเหตุผลว่า เนื่องจากทั้งสองถูกกล่าวหาว่าร่วมกันกระทำความผิดกับพริษฐ์และปิยรัฐ เป็นสำนวนการสอบสวนเดียวกัน มีพยานหลักฐานชุดเดียวกัน ซึ่งอัยการประสงค์จะขอรวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกัน

ดูข้อมูลคดีทั้งหมดที่>> คดี 112,116 พริษฐ์-ปิยรัฐ ชุมนุมอุบลฯ 22 สิงหา อีก 2 คน ถูกฟ้อง 116

 

X