ตำรวจเข้าจับกุม “โตโต้” วันก่อนการชุมนุมใหญ่หน้าธ.ไทยพาณิชย์
หลังจากวานนี้ (24 พ.ย. 63) เวลาประมาณ 14.39 น. นายปิยรัฐ จงเทพ หรือ “โตโต้” แกนนำการ์ดอาสาคณะราษฎร ได้ถูกชุดเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบ นำโดย ร.ต.ต.อัศวิน มะลัยสิทธิ์ รองสารวัตร (สส.) กก.สส.1 บก.สส.บช.น. เข้าจับกุมตัวบริเวณย่านเขตทวีวัฒนา โดยมีการแสดงหมายจับซึ่งออกโดยศาลจังหวัดอุบลราชธานี ในข้อหา “ยุยงปลุกปั่น” ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 และนำเข้าข้อมูลอันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) อันเนื่องจากการขึ้นปราศรัยในเวที “เด็กพูดผู้ใหญ่ฟัง” ที่หน้าศาลหลักเมืองจังหวัดอุบลราชธานี เมื่อวันที่ 22 ส.ค. 63
หลังจากนั้น นายปิยรัฐได้ขอขับรถเดินทางมายัง สน.ศาลาแดงด้วยตนเอง เพื่อให้เจ้าหน้าที่ตำรวจทำบันทึกการจับกุม ก่อนจะถูกนำตัวขึ้นรถตู้เดินทางต่อไปถึง สภ.เมืองอุบลราชธานี ในเวลาประมาณ 23.30 น. ก่อนจะถูกนำตัวเข้าห้องควบคุมผู้ต้องหา โดยตำรวจระบุว่าต้องรอทำการสอบสวนในวันรุ่งขึ้น
ในคดีการชุมนุม “เด็กพูดผู้ใหญ่ฟัง” นั้น ก่อนหน้านี้มีการจับกุมและดำเนินคดีนักกิจกรรมไปแล้ว 3 ราย ได้แก่ “ทนายแชมป์” ฉัตรชัย แก้วคำปอด และวิศรุต สวัสดิ์วร สองนักกิจกรรมจาก “คณะอุบลปลดแอก” และนายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือ “เพนกวิน” โดยทั้งหมดถูกแจ้งสองข้อหาเช่นเดียวกัน เหตุจากเนื้อหาการปราศรัยในประเด็นข้อเรียกร้องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์
ภาพขณะเจ้าหน้าที่เข้าจับกุมปิยรัฐ และเจ้าหน้าที่นำตัวมาถึงสภ.เมืองอุบลราชธานี
แจ้งข้อหา ม.116-พ.ร.บ.คอมฯ ก่อนตำรวจไม่ให้ประกันตัวชั้นสอบสวน อ้างคดีร้ายแรง
วันที่ 25 พ.ย. 63 เวลา 10.40 น. นายปิยรัฐ จงเทพ ถูกนำตัวไปสอบสวนโดยคณะพนักงานสอบสวนของ สภ.เมืองอุบลราชธานี โดยมีทนายความและบุคคลที่ปิยรัฐไว้วางใจเข้าร่วมฟังการสอบสวนได้
พนักงานสอบสวนได้แจ้งสิทธิเบื้องต้น ว่าผู้ต้องหาจะให้การหรือไม่ก็ได้ เพราะถ้อยคำจะเป็นพยานหลักฐานในชั้นศาลต่อไป ก่อนสอบถามข้อมูลส่วนตัวตั้งแต่ครอบครัว การศึกษา การประกอบอาชีพ รวมถึงประวัติการถูกดำเนินคดีทางอาญา ซึ่งปิยรัฐชี้แจงว่าเขาเคยถูกดำเนินคดีกรณีฉีกบัตรออกเสียงประชามติ เมื่อวันที่ 7 ส.ค. 59 ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ด้วยข้อหาทำให้เสียทรัพย์และทำลายทรัพย์สินของทางราชการ ซึ่งศาลฎีกาพิพากษายืนตามตามศาลอุทธรณ์ คือจำคุก 6 เดือน ปรับ 6,000 บาท และโทษจำคุกรอลงอาญาไว้ 1 ปี
จากนั้นพนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อกล่าวหา 2 ข้อหา พร้อมรายละเอียดพฤติการณ์แห่งคดี ซึ่งเป็นเนื้อหาการถอดคำปราศัยของปิยรัฐ ในการชุมนุมเมื่อวันที่ 22 ส.ค. 63 โดยให้ปิยรัฐอ่านเอง ไม่ได้เป็นการอ่านให้ฟังเพราะพนักงานสอบสวนแจ้งว่า “เป็นถ้อยคำที่ล่อแหลม ละเอียดอ่อน อาจมีผลต่อคดีเพิ่มเติม” จากนั้นปิยรัฐได้ให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา และขอให้การในรายละเอียดเมื่อชั้นพิจารณาของศาลต่อไป
ในการสอบสวน พนักงานสอบสวนยังได้สอบถามลงรายละเอียดเกี่ยวกับเวทีปราศรัย #เด็กพูดผู้ใหญ่ฟัง เป็นอย่างมาก อาทิ รายละเอียดของผู้จัด ผู้เกี่ยวข้องกับการชุมนุม รายละเอียดผู้เชิญให้ปิยรัฐมาปราศรัย ค่าใช้จ่ายในการเดินทางมาปราศรัย หรือที่มาของเนื้อหาในการปราศรัย รวมทั้งความเกี่ยวโยงของคณะราษฎรและกลุ่มอุบลปลดแอก เป็นต้น ซึ่งปิยรัฐได้ขอไม่ให้การทั้งหมด พร้อมระบุว่าจะให้การรายละเอียดในชั้นศาล
ภาพการปราศรัยของปิยรัฐ เมื่อวันที่ 22 ส.ค. 63
เมื่อสอบสวนแล้วเสร็จ เสนาะ เจริญพร นักวิชาการจากคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ได้เตรียมเอกสารและหลักทรัพย์มายื่นขอประกันตัวปิยรัฐในชั้นสอบสวน
จนเวลา 14.00 น. พ.ต.ท.สมอาจ แคนเภาว์ หัวหน้าพนักงานสอบสวน ได้มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวผู้ต้องหา โดยอ้างเหตุว่าเกรงผู้ต้องหาจะหลบหนีและไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน ทั้งคดียังมีอัตราโทษสูงและเป็นภัยต่อความมั่นคงของประเทศอย่างร้ายแรง รวมถึงเกรงว่าผู้ต้องจะไปชักชวนโน้มน้าวให้ประชาชนก่อความรุนแรงในการชุมนุมสาธารณะ ซึ่งอาจก่อความไม่สงบในบ้านเมืองอีก และผู้ต้องหาอาจก่ออุปสรรคต่อการสอบสวนโดยการนำมวลชนหรือประชาชนมากดดันการสอบสวน
หลังจากมีคำสั่ง พนักงานสอบสวนไม่ได้นำตัวปิยรัฐไปขออำนาจศาลในการฝากขัง โดยยืนยันจะควบคุมตัวไว้ที่สภ.เมืองอุบลราชธานีต่อ ตามอำนาจการควบคุมของพนักงานสอบสวน คือสามารถควบคุมตัวได้ไม่เกิน 48 ชั่วโมง และจะนำส่งศาลในเช้าวันที่ 26 พ.ย. 63
โตโต้ขอลงบันทึกเรื่องข่าวถูกออกหมายเรียก ม.112 ตร.ระบุยังไม่ปรากฏเรื่องนี้
หลังจากนั้น นายปิยรัฐยังได้ขอลงบันทึกประจำวันกับทางเจ้าหน้าที่ตำรวจเอาไว้ เนื่องจากทราบจากรายงานข่าวว่าตนมีชื่อเป็นผู้ถูกออกหมายเรียกตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เลขที่คดี 3805/2563 ในพื้นที่ สภ.เมืองอุบลราชธานี จึงต้องการลงบันทึกและสอบถามข้อเท็จจริงว่าหมายคดีดังกล่าวเป็นจริงหรือไม่
ทางพนักงานสอบสวนชี้แจงว่ายังไม่ปรากฏเรื่องดังกล่าวตามที่ปิยรัฐทราบข่าวมา ปิยรัฐจึงแจ้งว่าหากมีการแจ้งความในข้อหามาตรา 112 ขอให้พนักงานสอบสวนมีหมายเรียก จะได้มาพบตามวันเวลาที่นัดหมาย เพื่อเป็นการแสดงความบริสุทธิ์ใจ
ปิยรัฐตั้งข้อสังเกตว่าการจับกุมครั้งนี้เป็นเพียงเกมส์การเมือง ไม่ใช่เรื่องการก่ออาชญากรรมหรือการจับตัวอาชญากร เพราะเจ้าหน้าที่รัฐต้องการสกัดกั้นการชุมนุม ทำให้เกิดความยุ่งยาก และทำให้ตนไม่สามารถเข้าร่วมการชุมนุมในวันนี้ได้ ทั้งการชุมนุมที่ผ่านมา ผู้ชุมนุมได้ยึดหลักการชุมนุมอย่างสงบสันติมาโดยตลอด กลุ่มการ์ดได้ทำหน้าที่คอยห้ามปรามอารมณ์ของผู้ชุมนุม ไม่ให้ปะทะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ และคอยอธิบายชี้แจงวัตถุประสงค์และแนวทางการชุมนุมของประชาชนให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าใจอยู่เสมอ
นายวัฒนา จันทศิลป์ ทนายความที่ร่วมกันสอบสวน ยังได้ตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติมหลังการแจ้งข้อหาว่า การสอบถามเกี่ยวกับประวัติการถูกดำเนินคดีทางอาญาของพนักงานสอบสวนนั้น อาจถูกนำไปใช้ในการขอเพิ่มโทษในคำขอท้ายฟ้องของพนักงานอัยการต่อไปหรือไม่
ช่วงเช้าวันที่ 26 พ.ย. 2563 พนักงานสอบสวนจะนำตัวนายปิยรัฐไปขอฝากขังที่ศาลจังหวัดอุบลราชธานีต่อไป โดยทางทนายความจะยื่นคัดค้านการฝากขัง และเตรียมการยื่นขอปล่อยตัวชั่วคราวเอาไว้ต่อไป