12-13 พ.ค. 63 ที่ห้องพิจารณาคดี 908 ศาลอาญารัชดา มีการสืบพยานโจทก์และจำเลยในคดีที่ “ธเนตร อนันตวงษ์” หรือ “ตูน” นักเคลื่อนไหวทางการเมือง ถูกฟ้องในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 และ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 14 หลังเสร็จการสืบพยานใน 2 วันนี้ ศาลได้นัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 25 มิ.ย. ที่จะถึงนี้
การสืบพยานจำเลยในช่วงบ่ายของการสืบพยานวันสุดท้าย ธเนตรถูกควบคุมตัวมาในห้องพิจารณา ชายร่างเล็ก ซูบผอมและมีใบหน้าตอบ ซึ่งกลายเป็นภาพติดตาของผู้ที่ติดตามคดี สวมชุดเสื้อ-กางเกงขาสั้น สีน้ำตาล มีกุญแจล่ามข้อเท้าเหมือนทุกครั้งที่เขา “ออกศาล” ธเนตรยังสวมหน้ากากผ้าสีแดงคาดดำ เพื่อป้องกันโควิด-19 เหมือนอย่างทุกคนในห้องพิจารณา ในวันนี้มีอัยการทั้งหญิงและชายในชุดสูทสีดำเข้าร่วมฟังการพิจารณากว่า 10 คน เนื่องจากคดีในศาลส่วนใหญ่ยังคงเลื่อนนัดพิจารณา อัยการจึงสามารถมาติดตามการพิจารณาคดีในคดีที่มีการสืบพยานได้
ในห้องพิจารณาคดีดูคล้ายกับมีเพียงคนอายุไล่เลี่ยกัน หากไม่นับอัยการอาวุโสและผู้พิพากษาบางท่านแล้ว ผู้ที่อยู่ในห้องพิจารณาทั้งทนายจำเลยและอัยการ ล้วนแต่น่าจะมีอายุ 20 ปลายๆ ถึง 30 กลางๆ แม้แต่จำเลย อย่าง “ธเนตร” ก็เช่นกัน
หลายคนคงลืมไปแล้วว่า ธเนตรผู้ติดอยู่ในเรือนจำมานานเกือบจะ 4 ปีแล้ว ถูกจำคุกตั้งแต่ในช่วงอายุราว 26 ปี เขาก็เป็นคนหนุ่มคนหนึ่งที่มีความฝัน มีสิ่งที่อยากทำ เช่นคนวัยเดียวกันที่นั่งฟังการพิจารณาคดีในวันนี้ แต่สถานภาพของพวกเขากลับช่างแตกต่างกันเหลือเกิน ช่วงปลายเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา ธเนตรก็มีอายุครบ 30 ปีเต็มแล้ว นอกจากเรือนจำจะพรากอิสระเสรีภาพไปจากเขา ยังได้พรากช่วงชีวิตวัยหนุ่มที่มีพลังของเขาไปอย่างไม่อาจย้อนคืน
.
ควบคุมตัวอย่างไร้มนุษยธรรม-ยัด ม.116 จากเหตุแค่โพสต์วิจารณ์รัฐบาล คสช.
(ภาพจากเฟซบุ๊ก Piyarat Chongthep)
“ธเนตร” เป็นหนึ่งในผู้ร่วมกิจกรรม “นั่งรถไฟไปอุทยานราชภักดิ์ ส่องแสงหากลโกง” เมื่อวันที่ 7 ธ.ค. 58 เพื่อตรวจสอบการทุจริตในโครงการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ ภายหลังธเนตรเข้าร่วมกิจกรรม ในวันที่ 13 ธ.ค. 58 เขาก็ถูกเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบไม่ทราบสังกัด ควบคุมตัวไปจากโรงพยาบาลสิรินธร ขณะที่เขากำลังรักษาอาการลำไส้อักเสบและกำลังรอเข้ารับการผ่าตัด โดยมีเพื่อนอีก 2 คน ซึ่งกำลังเดินทางไปเยี่ยมเขาที่โรงพยาบาล ได้พบเห็นจังหวะที่เจ้าหน้าที่ควบคุมตัวธเนตรออกไป ทั้งนี้เจ้าหน้าที่ไม่ได้แจ้งชื่อ-นามสกุล และสังกัดแต่อย่างใด และยังไม่แจ้งว่าจะควบคุมตัวธเนตรไปที่ใด หรือควบคุมตัวเพราะเหตุใด อีกทั้งไม่ได้แสดงหมายจับของศาลขณะเข้าควบคุมตัว
จนกระทั่งวันที่ 18 ธ.ค. 58 ธเนตรจึงถูกนำตัวส่งให้ตำรวจดำเนินคดีในข้อหายุยงปลุกปั่นให้เกิดความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 และพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำผิดทางคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 ธเนตรให้การปฏิเสธ จากนั้นพนักงานสอบสวนได้นำตัวธเนตรไปขอฝากขัง โดยศาลทหารอนุญาตให้ฝากขังนายธเนตรผัดแรกเป็นเวลา 12 วัน ตั้งแต่วันที่ 18-29 ธ.ค. 58 ตามคำขอของพนักงานสอบสวน จากนั้นเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์และทหารคุมตัวไปยังเรือนจำพิเศษกรุงเทพ ก่อนที่ทนายความของธเนตรได้ยื่นขอประกันตัวโดยวางเงินประกัน 4 แสนบาท ศาลทหารพิจารณาแล้วอนุญาตให้ประกันตัวในวงเงิน 1 แสนบาท โดยไม่มีมีเงื่อนไข แต่กำหนดให้มารายงานตัวทุกๆ 12 วัน
ในการดำเนินคดีธเนตร มี พล.ต.วิจารณ์ จดแตง ฝ่ายกฎหมายของ คสช. เป็นผู้เข้าแจ้งความ โดยกล่าวหาว่า ธเนตรเป็นผู้ใช้เฟซบุ๊กบัญชีชื่อ “ธเนตร อนันตวงษ์ รักเสื้อแดง ตลอดไป” โพสต์และแชร์ภาพและข้อความซึ่งมีเนื้อหาโจมตีรัฐบาลและกองทัพ รวมทั้งปลุกปั่นให้ประชาชนเกิดความเกลียดชัง ต่อต้านรัฐบาล เป็นเหตุให้รัฐบาลและกองทัพได้รับความเสียหาย
การถูกดำเนินคดีด้วยข้อหาที่รุนแรงจากการที่เขาเพียงแค่โพสต์แสดงความเห็นวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล ทั้งอาจจะต้องเผชิญความยากลำบากและล่าช้าในการต่อสู้คดีในศาลทหาร รวมถึงประสบการณ์การถูกควบคุมตัวในค่ายทหาร ทำให้ต่อมาธเนตรไม่เดินทางไปตามนัดรายงานตัว ของศาลทหารเพื่อฝากขังครั้งที่ 2 ก่อนจะกลับมามอบตัวตามหมายจับ ในวันที่ 26 ก.ค. 59
นอกจากคดีนี้ หลังกิจกรรม “นั่งรถไฟไปอุทยานราชภักดิ์ ส่องแสงหากลโกง” ธเนตรยังตกเป็น 1 ใน 11 คนที่ถูกดำเนินคดีฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/58 ชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป จากกิจกรรมดังกล่าว เมื่อเขากลับมามอบตัว วันที่ 29 ส.ค. 59 อัยการทหารได้ยื่นฟ้องธเนตรในคดี “ส่องโกงราชภักดิ์” นี้ก่อน และศาลทหารกรุงเทพไม่อนุญาตให้ประกันตัวโดยอ้างว่า ธเนตรเคยมีพฤติการณ์หลบหนีระหว่างประกันตัวมาก่อน
ธเนตรเลือกที่จะรับสารภาพในคดี “ส่องโกงราชภักดิ์” ศาลทหารกรุงเทพจึงมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 25 ม.ค. 60 ให้จำคุก 6 เดือน เพิ่มโทษอีก 2 เดือน ฐานกระทำผิดซ้ำหลังเคยถูกจำคุกในคดีชุมนุมปี 53 จำเลยให้การรับสารภาพลดโทษกึ่งหนึ่ง คงจำคุก 4 เดือน ซึ่งธเนตรถูกคุมขังเกินโทษแล้ว ศาลจึงสั่งให้ปล่อยตัว แต่ธเนตรก็ถูกควบคุมตัวต่อในคดีตามมาตรา 116 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ซึ่งยังอยู่ในระหว่างพิจารณาคดี และธเนตรไม่มีหลักทรัพย์ยื่นประกันตัว ทำให้เขาถูกคุมขังในเรือนจำพิเศษกรุงเทพระหว่างการพิจารณาคดีนี้มานับตั้งแต่นั้นจนถึงปัจจุบัน รวมระยะเวลากว่า 3 ปี 4 เดือน
.
คดีที่ยาวนานและการต่อสู้จากที่คุมขัง
คดีจากการวิจารณ์รัฐบาล คสช. ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกันกับกระแสวิพากษ์วิจารณ์การทุจริตในโครงการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์เป็นไปอย่างกว้างขวาง และเป็นหนึ่งในประเด็นที่ธเนตรวิจารณ์ ถูกพิจารณาในศาลทหารอย่างล่าช้า โดยเพิ่งมีการสืบพยานโจทก์ครั้งแรกเมื่อวันที่ 24 เม.ย. 62 หลังอัยการทหารยื่นฟ้องถึง 2 ปี 6 เดือน
ในช่วงเวลาที่ยืดเยื้อยาวนานโดยธเนตรถูกขังอยู่ในเรือนจำตลอดเวลานี้ นอกจากธเนตรจะยังยืนยันคำให้การปฏิเสธ เขายังได้ยืนยันต่อสู้กับกระบวนการที่ไม่ชอบธรรมของศาลทหาร ทั้งการยื่นคำร้องโต้แย้งว่า การกระทำของเขาไม่เข้าองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 116 ทำให้ศาลทหารไม่มีอำนาจพิจารณาคดีของเขาซึ่งเป็นพลเรือน ซึ่งศาลใช้เวลากว่า 8 เดือน จึงจะมีคำวินิจฉัยให้คดีอยู่ในเขตอำนาจศาลทหาร และการยื่นคำร้องขอให้เปลี่ยนองค์คณะตุลาการที่พิจารณาคดี เนื่องจากมีการตัดพยานบุคคลคือ พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร ประธานจัดสร้างอุทยานราชภักดิ์ และ พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา อดีตรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรม และพยานเอกสารอีก 8 รายการออกจากบัญชีพยานที่จะพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของจำเลย แต่ตุลาการองค์คณะที่ถูกร้องก็ยกคำร้องดังกล่าวนั้นเอง
ในขั้นตอนการสืบพยานก็มีความล่าช้า จากเหตุพยานโจทก์ไม่มาศาลหลายครั้ง ทำให้ต้องเลื่อนการพิจารณาคดี ประกอบกับมีการโอนย้ายคดีมาสู่ศาลยุติธรรมในช่วงปลายปี 2562 ซึ่งทำให้การสืบพยานหยุดชะงักไปเกือบ 1 ปีเต็ม
.
เปิดคำฟ้องและโพสต์เจ้าปัญหา เหตุแห่งภัยความมั่นคง
ธเนตรถูกกล่าวหาว่า เป็นผู้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัว ชื่อว่า ธเนตร อนันตวงษ์ รักเสื้อแดง ตลอดไป จำนวน 5 ข้อความ โดยในคำฟ้องระบุว่าข้อความตามโพสต์ “เป็นไปในลักษณะให้ประชาชนเกิดความเกลียดชังและต่อต้านรัฐบาล และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ อันมิใช่เป็นการกระทำในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต ทั้งนี้จำเลยมีเจตนาเพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อให้เกิดความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร”
โพสต์ที่ 1 วันที่ 16 ก.ย. 58 ได้โพสต์ภาพ 2 ภาพ ระบุข้อความว่า “ไปบ้านหมาเปรมตัดสินจำคุก ไม่เกี่ยวกับประชาชน กปปส. ยึดปิดสถานที่ราชการรอด ? ประชาชนเดือดร้อน” และพิมพ์ข้อความประกอบภาพว่า “ประเทศ ไทยเอย ทำไม่ เธอ มัน (หน้าหีจริงจริง)”
โพสต์ที่ 2 วันที่ 9 พ.ย. 58 จำเลยได้โพสต์ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการเสียชีวิตอย่างปริศนาของ “หมอหยอง” หมอดูชื่อดัง ข้อความว่า “ผมเชื่อว่าคงมีกระบวนการอะไรสักอย่างที่กระทำกับหมูหยองภายในคุกทหาร มทบ.11 แขวงนครไชยศรี ตั้งแต่รอบแรกที่ถูกจับและไม่มีใครได้เห็นหน้าอีกเลย จากนั้นค่อยมีข่าว ‘รายชื่อคนใหญ่คนโต’ ในกองทัพและ สตช. ออกมากว่า 50 รายชื่อ คนมียศใหญ่โต และแหล่งข่าวระบุว่า “หมอหยองซักทอด” … คงมีการกระทำอะไรบางอย่างกับหมอหยองในห้องลับปิดตายเหนือการตรวจสอบของสาธารณะห้องนั้นเช่นเดียวกับที่ปรากรมโดนถึงได้การซัดทอดครั้งใหญ่นี้ออกมา …”
โพสต์ที่ 3 วันที่ 24 พ.ย. 58 โพสต์ภาพที่มีข้อความประกอบว่า “ลอยกระทงขับไล่ (เผด็จการ) อัปมงคล 25 พ.ย. 2015 18.00 น. เป็นต้นไป ลานปรีดี พนมยงค์ มธ.ท่าพระจันทร์ ริมแม่น้ำเจ้าพระยา…”
โพสต์ที่ 4 วันที่ 1 ธ.ค. 58 ได้โพสต์ภาพบุคคลระบุข้อความประกอบว่า “กรณีโหนเจ้าหาแดกอุทยานราชภักดิ์ ภาษามวยเขาเรียกว่าแผลแตกเล็กน้อย ไม่ได้โกงเยอะแยะมากมายแต่มันอยู่ที่หัวคิ้ว ชัดเจน เราแค่ต่อยย้ำ ๆ ให้มันขยาย ตอนนี้ เลือดแม่งเข้าตาออกหมัดมั่วไปหมดสะใจกูจริง ๆ 555”
โพสต์ที่ 5 1 ธ.ค. 58 ได้โพสต์ภาพบุคคลระบุข้อความประกอบว่า “รณรงค์ใส่เสื้อสีแดงไปเที่ยวอุทยานราชภักดิ์”
คำเบิกความพยานโจทก์
ศาลทหารกรุงเทพสืบพยานโจทก์ไปได้เพียง 2 ปาก คือ พล.ต.ต.สุรศักดิ์ ขุนณรงค์ เจ้าหน้าที่ตำรวจที่ทำหน้าที่สืบสวน หาข่าว และ ร.ต.ท.วีระบุตร บุตรดีขันธ์ เจ้าพนักงานซึ่งทำหน้าที่ตรวจสอบอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ของจำเลย ก่อนที่จะมีการโอนย้ายคดีมาที่ศาลอาญา
อ่านคำเบิกความพยานโจทก์ในศาลทหาร
- คดี “ธเนตร” ยุยงปลุกปั่นฯ พยานจำไม่ได้ว่ารธน. 50 ให้นายกฯ มาจากการเลือกตั้ง
- “คดีธเนตร” พยานชี้โพสต์ว่า “ประเทศหน้า …ี” เป็นการยุยงให้เกลียดรัฐบาลคสช.
ศาลอาญาได้นัดสืบพยานอีก 2 วัน ประกอบด้วยพยานโจทก์ 3 ปาก คือ พล.ต.วิจารณ์ จดแตง ผู้กล่าวหา, รศ.ดร.เจษฎ์ โทณะวณิก พยานผู้เชี่ยวชาญที่มาให้ความเห็น และ ร.ต.อ.ธิติ เปฎะพันธุ์ พนักงานสอบสวน และพยานจำเลยอีก 1 ปาก คือตัวธเนตรเอง
ในการสืบพยานโจทก์ 3 ปากสุดท้าย พล.ต.วิจารณ์ เบิกความตอบทนายจำเลยเกี่ยวกับกระบวนการซักถามในค่ายทหารว่า ขณะนำตัวธเนตรไปซักถาม เจ้าหน้าที่ไม่ได้แจ้งธเนตรว่า ข้อความที่ถูกซักถามจะนำมาใช้ในชั้นศาล และที่ไม่ให้ธเนตรติดต่อทนายและผู้ไว้วางใจเข้าร่วมการซักถามด้วย เนื่องจากธเนตรไม่ได้อยู่ในฐานะผู้ต้องหา
นอกจากนี้ พล.ต.วิจารณ์ยังระบุว่าเหตุที่ทำการจับกุม และแจ้งความธเนตรเนื่องจากเขาร่วมเคลื่อนไหวทางการเมือง โดยจากโพสต์ทั้งห้าของจำเลย พยานเข้าใจได้ว่าจำเลยเป็นปฏิปักษ์กับรัฐบาล เป็นการระดมคนเพื่อล้มล้างรัฐบาล คสช. เนื่องจากมีการสั่งให้รัฐบาลรักษาการยุติการใช้อำนาจ ยุบวุฒิสภา
ขณะที่ รศ.ดร.เจษฎ์ เข้าเบิกความ ทนายจำเลยได้ตั้งคำถามถึงความเกี่ยวพันของตัวพยานกับ คสช. โดย ดร.เจษฎ์ยอมรับว่าตนได้ทำงานร่วมกับ คสช. โดยเข้าไปเป็นคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญและได้รับการแต่งตั้งให้เป็นคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ แม้ไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร แต่ก็ตอบรับเข้าร่วมเนื่องจากพยานทำงานกับทั้งในรัฐบาลเลือกตั้งและไม่ใช่รัฐบาลเลือกตั้ง เพื่อทำประโยชน์ให้ประเทศชาติ
ทั้งนี้ ร.ต.อ. ธิติ พนักงานสอบสวน ยอมรับว่าไม่ทราบเรื่องตำแหน่งหน้าที่ที่ ดร.เจษฎ์ได้รับมอบหมายจาก คสช. ที่เลือก ดร.เจษฎ์ มาเป็นพยานให้ความเห็นเนื่องจากเป็นผู้ที่สะดวกในช่วงนั้น โดยหากทราบว่า ดร.เจษฎ์มีส่วนเกี่ยวข้องกับ คสช. อาจพิจารณาเลือกนักวิชาการคนอื่นมาให้ความเห็น
นอกจากนี้ ร.ต.อ.ธิติยังรับว่า ในการสอบถามพยานความเห็นนั้น พยานไม่ได้ให้ความเห็นว่าทุกโพสต์ที่จำเลยถูกดำเนินคดีมีเนื้อหายุยงปลุกปั่น แต่พยานพิจารณาในภาพรวมว่าการโพสต์แสดงความเห็นของจำเลยเข้าข่ายเป็นความผิดตามฟ้อง พนักงานสอบสวนยังระบุว่าโพสต์ที่นำมาดำเนินคดีเกือบทั้งหมดเป็นโพสต์ที่ธเนตรเป็นเพียงผู้แชร์มา แต่เขาไม่ได้เรียกผู้โพสต์ครั้งแรกมาสอบปากคำแต่อย่างใด
.
โพสต์หน้าหี กระทบความมั่นคง
จากโพสต์แรกของธเนตร “ประเทศ ไทยเอย ทำไม่ เธอ มัน (หน้าหีจริงจริง)” พล.ต.วิจารณ์ รับว่าการด่าประเทศไทยหน้าหีในโพสต์จำเลยไม่ได้เกี่ยวกับ คสช. เป็นเรื่องก่อน คสช. จะยึดอำนาจ แต่เข้าใจได้ว่าจำเลยด่ากระบวนการยุติธรรมทั้งระบบ ซึ่งตอนไปแจ้งความ พยานคิดว่าการด่ากระบวนการยุติธรรมเป็นสิ่งที่ทำไม่ได้
ร.ต.อ. ธิติ ก็ตอบทนายจำเลยในลักษณะเดียวกัน โดยแม้จะรับว่า เคยได้ยินคนด่ากันว่าหน้าหี และหากคนเราต้องการวิพากษ์วิจารณ์อะไร ไม่จำเป็นต้องใช้ภาษาสุภาพ แต่ประโยคที่จำเลยโพสต์นั้น ตนเห็นว่า เป็นเรื่องกระทบความมั่นคงเพราะทำให้ประชาชนรู้สึกว่ารัฐบาลมีความโน้มเอียงและไม่มีความยุติธรรม
ขณะที่ ดร.เจษฎ์ พยานความเห็นเบิกความตอบทนายจำเลยว่า โพสต์ของธเนตรสื่อถึงความไม่เป็นธรรม ซึ่งกระบวนการยุติธรรมก็มีความไม่เป็นธรรมให้เห็นอยู่จริง
.
โพสต์หมอหยอง-ปรากรมตายในเรือนจำ ส่อให้ร้ายรัฐบาล
พล.ต.วิจารณ์ ซึ่งเคยเป็นผู้ซักถามหมอหยองและ พ.ต.ต.ปรากรม กล่าวว่าขณะมีการซักถามทั้งสองคนไม่ได้มีอาการผิดปกติแต่อย่างใด และตนไม่ทราบว่าทั้งสองจะซัดทอดใครจนนำไปสู่การถูกทำร้ายหรือไม่ นอกจากนี้ยังไม่ทราบเรื่องที่ทั้งสองเสียชีวิตในเรือนจำ และการเผาศพทันทีโดยไม่มีการไต่สวนการตาย แต่เมื่ออ่านข้อความในโพสต์ของจำเลยแล้ว ตนรู้สึกว่าหมอหยองถูกทำร้ายให้ตาย เพราะให้การซัดทอดคนในรัฐบาล
ส่วน ร.ต.อ. ธิติ เบิกความว่า ภาพนี้ทำให้คนที่ไม่ทราบรายละเอียดเข้าใจว่าทหารมีการเรียกคนเหล่านี้ไปสอบและรัฐบาลโหดร้าย ไม่ยุติธรรม แต่เรื่องดังกล่าวจะเป็นความจริงหรือไม่พยานก็ไม่ทราบ เนื่องจากไม่ได้เรียกเอกสารที่เกี่ยวข้องกับกรณีเข้ามาในสำนวน
ทั้งนี้ ดร.เจษฎ์ รับกับทนายจำเลยว่าเท่าที่ทราบ หมอหยองและ พ.ต.ต.ปรากรม มีการซัดทอดผู้อื่น แต่จำไม่ได้ว่าซัดทอดใคร บุคคลที่ตายระหว่างการควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่ต้องทำการไต่สวนการตายตามกฏหมาย แต่กรณีนี้ไม่มีการไต่สวนการตาย การเสียชีวิตของทั้งคู่เป็นข่าวดังที่ทราบกันโดยทั่วไป มีการลือกันว่าถูกทำร้าย โพสต์ของจำเลยจึงไม่ถึงกับบิดเบือน แต่เป็นการชี้ให้เห็นว่าการติดเชื้อในกระแสเลือดไม่ได้เป็นไปโดยธรรมชาติ หากถูกกลุ่มบุคคลในโพสต์ซึ่งหมายถึงคนในกองทัพและข้าราชการชั้นสูงกระทำ
.
ลอยกระทงขับไล่ (เผด็จการ) อัปมงคล คือ ขับไล่ คสช.และสถาบัน
ในการเบิกความเกี่ยวกับภาพโปสเตอร์ประชาสัมพันธ์กิจกรรมวันลอยกระทง พล.ต.วิจารณ์ ให้ความเห็นตอบทนายจำเลยว่า เผด็จการเข้ามาเพื่อควบคุมรักษาความสงบเรียบร้อย ไม่ใช่สิ่งอัปมงคลชั่วร้าย และเห็นว่ากิจกรรมลอยกระทงดังกล่าวไม่ใช่กิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ แต่รับว่าเป็นกิจกรรมสันติวิธี ปราศจากอาวุธ
ด้าน ดร.เจษฎ์ เบิกความว่า ภาพโปสเตอร์ดังกล่าวที่มีรูปพล.อ.ประยุทธ์ และพล.อ.ประวิตร ด้านหลังเป็นวัดพระแก้ว พยานเห็นว่าเป็นการยุยงปลุกปั่น เนื่องจากเป็นการรณรงค์ขับไล่เผด็จการ โดยแฝงนัยเรื่องความเป็นเผด็จการไว้สองนัย คือ คสช. และสถาบันพระมหากษัตริย์ อย่างไรก็ตาม ดร.เจษฎ์ ตอบทนายจำเลยว่า ตามความเชื่อของไทยการลอยกระทงเป็นการลอยความชั่วร้ายออกไป ทั้งยังเป็นการบูชาแม่น้ำและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งในความเห็นของฝ่ายที่ไม่ชอบ คสช. ก็อาจเห็นว่าเผด็จการเป็นสิ่งอัปมงคลได้ ทั้งนี้ สถานที่ลอยกระทงอยู่ที่ลานปรีดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งไม่ได้อยู่ใกล้ หรืออยู่ในละแวกเดียวกันกับวัดพระแก้ว
ขณะที่ ร.ต.อ. ธิติ เห็นว่ากิจกรรมลอยกระทงดังกล่าวถือเป็นกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ โดยไม่ได้รับรายงานว่าหลังจากนั้นมีความรุนแรงเกิดขึ้น และพยานไม่ได้เชิญตัวสิรวิชญ์ผู้จัดกิจกรรมมาสอบปากคำเกี่ยวกับเรื่องงานดังกล่าว ในทางสืบสวนไม่มีรายงานว่าธเนตรและกลุ่มนักศึกษาจะไปก่อความรุนแรง หรือก่อความไม่สงบ
.
รณรงค์ใส่เสื้อแดงไปอุทยานราชภักดิ์ = ยุยงให้ต่อต้านกษัตริย์
สิ่งที่พยานโจทก์ทุกปากรับข้อเท็จจริง คือมีการวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับการทุจริตโครงการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์อย่างแพร่หลาย ส่วนการใส่ระดมใส่เสื้อแดงเดินทางไปอุทยานราชภักดิ์จะไม่ผิดกฏหมาย แต่เป็นการแสดงออกถึงการต่อต้านรัฐบาล ซึ่งเป็นสิ่งไม่เหมาะสม
อย่างไรก็ตาม พล.ต.วิจารณ์ ยังตอบทนายจำเลยว่า ป.ป.ช. ได้ออกมายืนยันแล้วว่า ไม่มีการทุจริตในโครงการอุทยานราชภักดิ์
ส่วน ดร.เจษฎ์ เบิกความว่า การที่จำเลยโพสต์ว่าแผลเล็กๆ แต่แตกที่หางคิ้วชี้ให้เห็นว่า เรื่องทุจริตอุทยานราชภักดิ์เป็นเรื่องเล็ก แต่ถ้าขยายผลก็เป็นเรื่องใหญ่ขึ้นมาได้ ซึ่งเป็นการยุยงให้ผู้คนทั้งหลายทำเรื่องเล็กให้เป็นเรื่องใหญ่ ภายหลังพยานรับกับทนายจำเลยว่า หากมีการทุจริตโดยรัฐในโครงการเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ก็เป็นเรื่องที่ดีที่ประชาชนจะวิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบ ส่วนเรื่องการใส่เสื้อสีแดงไปอุทยานราชภักดิ์พยานเห็นว่าเป็นสิ่งไม่สมควร เนื่องจากโดยทั่วไปสีที่แทนกษัตริย์คือสีน้ำเงิน และตลอดรัชสมัยของรัชกาลที่ 9 คนจะคุ้นกับสีเหลืองซึ่งเป็นสีประจำพระองค์ การรณรงค์ให้ใส่เสื้อสีแดงไปอุทยานราชภักดิ์จึงเป็นการยุยงให้ต่อต้านพระมหากษัตริย์ และการที่มีรูปทหารคือการยุยงให้ต่อต้านกองทัพ โดยพยานรับว่าไม่ทราบว่าทหารในภาพ คืออดีตนายทหารที่ต่อต้าน คสช.
ด้าน ร.ต.อ.ธิติ เบิกความว่า ตนไม่รู้สึกว่าการใส่เสื้อแดงเป็นปัญหา แต่การที่จำเลยโพสต์ว่ามีการทุจริตในโครงการอุทยานราชภักดิ์แน่ๆ ขณะที่เรื่องนี้กำลังอยู่ในระหว่างการสอบสวน เมื่อประชาชนมาอ่านก็เข้าใจได้ว่ารัฐบาลนี้โกง ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสม
.
“ถ้าข้อความที่แชร์ยุยงปลุกปั่นได้จริง ผมคงไม่มานั่งอยู่ตรงนี้”
ธเนตรเบิกความเป็นพยานให้ตัวเองว่า ตัวเขาเกี่ยวข้องกับกลุ่มประชาธิปไตยศึกษา เป็นผู้คอยซื้อของและซื้ออาหารให้กับนักศึกษาที่มาทำกิจกรรม โดยไม่ได้รับค่าจ้างและไม่ได้เป็นการ์ดแต่อย่างใด ภายหลังจากที่เขาร่วมกิจกรรมเดินทางไปตรวจสอบอุทยานราชภักดิ์ แต่ไปไม่ถึงเพราะถูกทหารสกัด เขาก็ล้มป่วยเป็นลำไส้อักเสบและถูกทหารนำตัวออกมาจากโรงพยาบาลไปซักถามในค่ายทหาร โดยเขาไม่ได้รับอนุญาตให้ติดต่อใครและไม่มีทนาย
หลังเขาถูกควบคุมตัวได้ 3 วัน โดยไม่มีเจ้าหน้าที่มาซักถาม ธเนตรถูกปลุกในเวลาประมาณตี 3-4 โดย พล.ต.วิจารณ์ จดแตง และพ.ต.ต.สุรศักดิ์ ขุนณรงค์ ได้ปรินท์ภาพโพสต์ในเฟสบุ๊กของเขามาซักถาม และให้เขาลงลายมือชื่อรับรอง เจ้าหน้าที่ต้องการทราบว่าใครเป็นผู้โพสต์แผนผังทุจริตอุทยานราชภักดิ์แต่ตัวเขาไม่ทราบ หลังจากถูกควบคุมตัวครบ 7 วัน จึงถูกนำตัวมาแจ้งข้อกล่าวหาตามประมวลกฏหมายอาญา มาตรา 116 และ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ ที่กองปราบปราม
ธเนตรกล่าวถึงเจตนาของการโพสต์เกี่ยวกับเรื่องต่างๆ ว่าต้องการให้สังคมรับรู้เรื่องราวเหล่านั้น โดยเขารู้สึกว่าโพสต์ของแทบทั้งหมดเป็นการระบายเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมที่เขารู้สึกว่าไม่เป็นธรรม ในโพสต์แรกซึ่งเกี่ยวกับคดีความของกลุ่ม นปก. บุกบ้านป๋าเปรม และคดีของกลุ่ม กปปส. ธเนตรต้องการบอกว่าเขารู้สึกว่าคนกลุ่มหนึ่งทำอะไรก็ไม่ผิด ส่วนอีกกลุ่มทำอะไรก็ผิด โดยในวันที่โพสต์คือวันที่ 16 ก.ย. 58 ซึ่งเป็นช่วงวันที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา ให้จำคุกนายวีระกานต์, นายณัฐวุฒิ, น.พ.เหวง และนายวิภูแถลง คนละ 4 ปี 4 เดือน ส่วนนายนพรุจ ให้จำคุก 2 ปี 8 เดือน
ในโพสต์ที่สองซึ่งกล่าวถึงเรื่องการคุมขังหมอหยองและ พ.ต.ต.ปรากรม ตัวเขารู้สึกว่าสาเหตุการตายของทั้งสองและการนำร่างไปเผาโดยทันทีเป็นเรื่องผิดปกติ
การโพสต์เรื่องงานลอยกระทงที่โพสต์ตรงกับวันที่จัดงานก็เพื่อเชิญชวนให้คนมาลอยกระทง และกิจกรรมในวันดังกล่าวก็มีงานลอยกระทงร้องรำทำเพลง จัดที่ลานปรีดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จริง โดยเหตุที่แชร์ข้อความ “มาลอยเสนียดจัญไร ขับไล่เผด็จการ” และมีรูป พล.อ.ประยุทธ์ และพล.อ.ประวิทย์ประกอบอยู่ด้วย เพราะทั้งคู่เป็นเผด็จการในความเข้าใจของเขา
ส่วนโพสต์ที่เกี่ยวกับอุทยานราชภักดิ์ ก็เป็นการแสดงความคิดเห็น ให้ประชาชนสนใจเกี่ยวกับความโปร่งใสของการจัดซื้อจัดจ้างโครงการดังกล่าว และเหตุที่ไม่ไปร้องเรียนกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในช่องทางปกติเนื่องจากหน่วยงานที่เข้าไปตรวจสอบมาจากการแต่งตั้งของ คสช. ไม่ได้คัดเลือกโดยรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง
ในช่วงท้ายของการสืบพยาน อัยการโจทก์ถามธเนตรว่าที่จำเลยด่ากระบวนการยุติธรรมเพราะจำเลยเป็นคนเสื้อแดงด้วยใช่หรือไม่ ธเนตรตอบว่าแม้ได้เข้าไปร่วมชุมนุมกับ นปช. และเคยถูกดำเนินคดี แต่การโพสต์ก็ไม่เกี่ยวอะไรกับการที่ตนเป็นเสื้อแดง
อัยการโจทก์ยังได้เอ่ยถามว่า หากการแชร์โพสต์รณรงค์ให้ใส่เสื้อแดงของธเนตร ทำให้เกิดการรวมตัวกันต่อต้านรัฐบาล ธเนตรจะทำอย่างไร ธเนตรตอบคำถามอัยการโจทก์ว่า เนื่องจากตัวเขาไม่ได้เป็นแกนนำ โพสต์ของเขามีคนให้ความสนใจมาไลค์เพียงหลักสิบ ทั้งยังไม่มีการแชร์ จึงไม่อาจก่อให้เกิดเรื่องดังกล่าวได้ เพราะถ้าหากทำได้ ตัวเขาคงไม่มาอยู่ในสภาพเช่นนี้
.
คำแถลงปิดคดี: การกล่าวหาจำเลยถือเป็นการปิดปากไม่ให้จำเลยได้เคลื่อนไหวทางการเมืองและตรวจสอบการทุจริตของทหาร
หลังการสืบพยานเสร็จสิ้นลง ธเนตรได้ยื่นคำแถลงปิดคดีต่อศาลมีเนื้อหาว่า เหตุที่จำเลยถูก คสช. กล่าวหาและจับกุม เนื่องจากจำเลยได้ร่วมเดินทางไปตรวจสอบการทุจริตคอรัปชั่นของกองทัพบกเกี่ยวกับโครงการอุทยานราชภักดิ์ที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โดยระหว่างที่จำเลยถูกควบคุมตัวในค่ายทหารนั้น เจ้าหน้าที่ทหารพยายามจะสอบถามเกี่ยวกับแผนผังการทุจริตในโครงการดังกล่าวที่มีการเผยแพร่ในเฟซบุ๊ก แต่เขาไม่ทราบถึงที่มาและผู้จัดทำ ทหารจึงได้ดำเนินคดีกับจำเลยโดยนำเอาข้อความที่จำเลยได้โพสต์ในเฟซบุ๊กส่วนตัว จำนวน 5 ข้อความ มากล่าวหาว่าจำเลยกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 และพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทําความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 ซึ่งเป็นการยัดเยียดข้อกล่าวหาเพื่อปิดปากไม่ให้จำเลยได้เคลื่อนไหวทางการเมืองและตรวจสอบการทุจริตคอรัปชั่นของทหาร
.
การวิพากษ์วิจารณ์รัฐคือการใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญและกติการะหว่างประเทศ
ธเนตรยืนยันในคำแถลงดังกล่าวว่า ข้อความที่ผู้กล่าวหานำมากล่าวหานั้นเป็นข้อความที่จำเลยใช้สิทธิและเสรีภาพที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ. ศ. 2557 มาตรา 4 และยังถูกรับรองไว้ในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) การโพสต์ข้อความทั้ง 5 ข้อความของจำเลยเป็นการแสดงออกโดยสุจริตและติชมวิพากษ์วิจารณ์ตามความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเหตุการณ์บ้านเมืองซึ่งเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์นั้นในสังคมประชาธิปไตย การที่จะมีประชาชนออกมาแสดงความคิดเห็นย่อมเป็นเรื่องปกติธรรมดา และหากประชาชนนั้นกล่าวหาหรือใส่ความต่อบุคคลใดก็เป็นสิทธิทางกฎหมายของบุคคลนั้นที่จะไปแจ้งความดำเนินคดี ไม่ใช่กรณีที่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116
ในส่วนนี้โจทก์ก็ได้นำสืบพยานโจทก์ทุกปากแล้วว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตามข้อความที่เคยโพสต์นั้นเป็นเหตุการณ์ที่มีประชาชนสนใจและมีข่าวรวมทั้งการวิเคราะห์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง มิใช่เรื่องที่จำเลยคิดค้นขึ้นเองหรือกุเรื่องขึ้นมา เพื่อจะก่อให้เกิดความเข้าใจผิดหรือให้ประชาชนกระด้างกระเดื่องต่อรัฐแต่อย่างใด นอกจากนี้จำเลยเป็นเพียงสามัญชนคนธรรมดาซึ่งมีความสนใจทางการเมืองและถือเป็นคนตัวเล็กตัวน้อยในสังคมซึ่งมีโอกาสได้แสดงความคิดเห็นทางการเมืองบ้าง
แต่เมื่อจำเลยได้เดินทางไปตรวจสอบการทุจริตของกองทัพบก กลับถูกเจ้าหน้าที่ทหารใช้กฎหมายในการควบคุมจำกัดสิทธิเสรีภาพของจำเลย ทั้งที่เมื่อพิจารณาจากข้อความทั้งหมดดังกล่าวแล้วบุคคลโดยทั่วไปย่อมเห็นได้ว่า ไม่ใช่ข้อความที่จะถึงขนาดไปก่อให้เกิดความไม่สงบในบ้านเมือง หรือก่อให้บุคคลทั่วไปกระทำผิดกฎหมายบ้านเมือง นอกจากนี้พยานโจทก์ยังเป็นบุคคลผู้มีส่วนได้เสียและมีผลประโยชน์กับคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และเบิกความขัดกับหลักเหตุผล ยิ่งไปกว่านั้น ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่ามีประชาชนผู้หนึ่งผู้ใดไปกระทำความผิดโดยเหตุที่ได้รับทราบข้อมูลหรือการโพสต์จากจำเลยแต่อย่างใด
.
จำเลยเป็นพลเรือนผู้ตกอยู่ภายใต้กระบวนการพิจารณาของทหารซึ่งเป็นคู่ขัดแย้งมาโดยตลอด
คำแถลงยังระบุด้วยว่า จำเลยเป็นผู้ถูกดำเนินคดีโดยกระบวนการของทหาร เริ่มตั้งแต่กระบวนการการจับกุมและถูกสอบสวนใน “ค่ายทหาร” การสั่งฟ้องดำเนินคดีโดย “อัยการศาลทหาร” และถูกพิจารณาคดีใน “ศาลทหาร” เป็นระยะเวลายาวนานกว่า 5 ปี โดยกระบวนการเหล่านี้แม้จะกล่าวอ้างว่าเป็นกระบวนการตามกฎหมาย แต่กลับมีความอยุติธรรมทางกฏหมาย จนเมื่อคดีได้ถูกย้ายมาพิจารณาในศาลพลเรือน จำเลยจึงมีความหวังว่า ศาลยุติธรร จะได้พิจารณาทบทวนกระบวนการดำเนินคดีในศาลทหารทั้งหมดและคืนความยุติธรรมแก่จำเลย โดยการพิจารณาพิพากษาด้วยความเป็นธรรม
ความเคลื่อนไหวที่ผ่านมาในคดีธเนตร
บิดาของ “ธเนตร” ป่วยเสียชีวิต ขณะลูกชายถูกคุมขังระหว่างต่อสู้คดี ม.116 มากว่า 3 ปี 8 เดือน
มีการสั่งตัดพยาน-เปลี่ยนองค์คณะผู้พิจารณาคดี
ขัง “ตูน” ธเนตร คดีม.116 จากโพสต์ FB ต่อ หลังศาลพิพากษาคุก 6+2 เดือน ในคดีรถไฟไปราชภักดิ์ฯ
ศาลไม่ให้ประกันตัว ธเนตร คดีส่องโกงราชภักดิ์ อ้างเคยหนีคดี