ศาลยกฟ้องคดี ม.116 “ธเนตร” ชี้เพียงแสดงความเห็นต่างผู้มีอำนาจ ติชมโดยสุจริตในฐานะพลเมือง

25 มิ.ย. 63 เวลา 9.00 น. ศาลอาญานัดฟังคำพิพากษาในคดีของนายธเนตร อนันตวงษ์ นักกิจกรรมทางการเมือง ซึ่งถูกกล่าวหาดำเนินคดีในข้อหา “ยุยงปลุกปุั่น” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ พ.ศ. 2550 มาตรา 14 (3) จากการโพสต์และแชร์ข้อความวิพากษ์วิจารณ์ คสช. และกองทัพ ในเฟซบุ๊กส่วนตัว จำนวน 5 ข้อความ ตั้งแต่เมื่อปี 2558

คดีนี้เคยถูกพิจารณาในศาลทหารกรุงเทพ ซึ่งกระบวนการเป็นไปอย่างล่าช้า สืบพยานไปได้เพียง 3 ปาก ทั้งจำเลยยังถูกคุมขังในเรือนจำระหว่างการพิจารณา ก่อนคดีจะถูกโอนย้ายมาที่ศาลอาญาช่วงปลายปี 2562 และได้มีการนัดสืบพยานที่เหลืออยู่ต่อจนเสร็จสิ้นเมื่อวันที่ 12-14 พ.ค. 63 จนศาลนัดฟังคำพิพากษาในวันนี้

ดูเนื้อหาของข้อความที่ธเนตรถูกกล่าวหา และประมวลการต่อสู้คดีนี้ใน

ฉันถูกขังตั้งแต่ยุคประยุทธ์1 และสู้คดีจนถึงยุคประยุทธ์2 : อ่านคำเบิกความพยานในคดีธเนตร ก่อนถึงวันพิพากษา

1,396 วันของการจองจำ: ทบทวนคดี “ธเนตร” โพสต์วิจารณ์กองทัพ-คสช. ก่อนถึงวันพิพากษา

(ภาพจาก BBC Thai)

เวลา 9.20 น. ธเนตรถูกเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์พาตัวมาถึงห้องพิจารณา โดยมีประชาชนมาให้กำลังใจประมาณ 8 คน เขาได้แสดงความขอบคุณทุกคนที่มาร่วมฟังคำพิพากษาในวันนี้

เวลา 9.28 น. ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนได้เริ่มอ่านคำพิพากษา โดยพิเคราะห์ว่าพยานโจทก์ในคดีนี้ ได้แก่ พล.ต.วิจารณ์ จดแตง และพล.ต.ต.สุรศักดิ์ ขุนณรงค์ เบิกความว่าเมื่อวันที่ 10 ธ.ค. 58 พยานทำหน้าที่ติดตามหาข่าวตามคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และพบเฟซบุ๊กของจำเลย ซึ่งเป็นแนวร่วม นปช. มีการโพสต์ข้อความโจมตีพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีในขณะนั้น โจมตีกองทัพเรื่องการเสียชีวิตของ “หมอหยอง” และการทุจริตในเรื่องอุทยานราชภักดิ์ ชักชวนให้ประชาชนเข้าร่วมกิจกรรมลอยกระทงขับไล่เผด็จการ และชักชวนให้ใส่เสื้อสีแดงไปเที่ยวอุทยานราชภักดิ์ หากประชาชนได้เห็นข้อความดังกล่าว จะทำให้ไม่ชอบรัฐบาล นำไปสู่การขับไล่รัฐบาล และความไม่สงบขึ้น

โจทก์ยังมีพยานปาก เจษฎ์ โทณะวณิก ที่เบิกความเห็นว่าข้อความของจำเลยมีลักษณะเป็นการยุยงให้เกิดการต่อต้านอำนาจรัฐ ปลุกปั่นให้คนมารวมตัวขับไล่ คสช. ทำเรื่องเล็กให้เป็นเรื่องใหญ่ ทั้งการชักชวนให้ใส่เสื้อสีแดงเป็นการยุยงให้ประชาชนต่อต้านสถาบันพระมหากษัตริย์ เพราะสีของพระมหากษัตริย์คือสีเหลือง

ศาลพิเคราะห์ว่าจากเอกสารฝ่ายโจทก์ในชั้นสอบสวน พล.ต.วิจารณ์ จดแตง และพล.ต.ต.สุรศักดิ์ ขุนณรงค์ เบิกความแต่เพียงว่าพยานได้พบข้อความที่จำเลยโพสต์ และผู้บังคับบัญชาได้สั่งการให้แจ้งความดำเนินคดี โดยพยานให้การถึงการที่จำเลยเดินทางไปในกิจกรรมตรวจสอบอุทยานราชภักดิ์ ก่อนถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวไปยังกองพันทหารราบที่ 11 พยานได้ให้จำเลยดูเอกสารข้อความที่โพสต์ และจำเลยได้ยอมรับว่าโพสต์ข้อความดังกล่าวจริง แต่ไม่ได้มีการยืนยันว่ามีประชาชนที่พบเห็นข้อความดังกล่าวของจำเลย ออกมาต่อต้าน ชุมนุม หรือทำให้เกิดลักษณะความไม่สงบขึ้นในรูปแบบใด

ส่วนพยานโจทก์ปาก เจษฎ์ โทณะวณิก ก็เบิกความเพียงแต่ให้ความเห็นต่อภาพที่จำเลยโพสต์ โดยมิได้ยืนยันว่าการกระทำของจำเลยถึงขนาดที่จะทำให้ประชาชนก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร อีกทั้งความเห็นดังกล่าว วิญญูชนทั่วไปจะเห็นตามหรือไม่ก็ได้ ดังจะเห็นได้ว่าพยานโจทก์ปากนี้เบิกความตอบคำถามค้านทนายจำเลย ว่าพยานให้ความเห็นต่อพนักงานสอบสวนไปตามภาพ แต่ความจริงจะเป็นเช่นใด พยานก็ไม่ทราบ และบุคคลอื่นก็สามารถเห็นต่างได้

ศาลวินิจฉัยว่าจากคำเบิกความของจำเลย จำเลยยังเป็นเพียงผู้เข้าร่วมการชุมนุม ไม่ใช่แกนนำ การโพสต์ข้อความดังกล่าวจึงมิน่าจะเป็นการชักชวนให้ประชาชนมาก่อความวุ่นวาย แต่น่าเชื่อว่ากระทำไปในฐานะพลเมืองคนหนึ่ง

การที่จำเลยโพสต์เฟซบุ๊ก แม้จะมีความเห็นต่างกับฝ่ายผู้มีอำนาจในขณะนั้น แต่ก็ได้กระทำภายในความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญ เชื่อได้ว่าความคิดเห็นของจำเลยมิได้มีเจตนาเพื่อให้เกิดความปั่นป่วน หรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน ถึงขนาดเกิดความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร หรือทำให้เกิดการล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน แต่เป็นการแสดงความคิดเห็นติชมโดยสุจริต พยานหลักฐานของโจทก์ที่นำสืบ ยังไม่มีน้ำหนักที่จะรับฟังได้ว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้อง จึงพิพากษายกฟ้อง

หลังอ่านคำพิพากษา ธเนตรได้ก้มหน้าร้องไห้ออกมา ก่อนประชาชนที่เข้าฟังการพิจารณาจะเข้ามาร่วมแสดงความยินดี โดยเขายังต้องรอการนำตัวกลับเรือนจำ และจะได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพในช่วงเย็นวันนี้

ธเนตร อนันตวงษ์ หรือ “ตูน” อายุ 30 ปี เป็นคนจังหวัดอุทัยธานี เคยประกอบอาชีพขับรถจักรยานยนต์รับจ้าง และเคยเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองในการชุมนุมใหญ่ของคนเสื้อแดงเมื่อปี 2553 ช่วงนั้นเขายังถูกกล่าวหาดำเนินคดีในเรื่องการฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ทำให้ธเนตรต้องถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำราว 1 ปีเศษ ก่อนเข้าร่วมกิจกรรมต่อต้านการรัฐประหารของ คสช. ต่อมา

ในส่วนคดีนี้นับตั้งแต่ธเนตรถูกแจ้งข้อกล่าวหา จนถึงวันพิพากษานับเป็นเวลากว่า 4 ปี 6 เดือนเศษ ขณะที่เขาต้องถูกคุมขังในเรือนจำมาแล้วเกือบ 3 ปี 10 เดือน หรือรวมเป็นระยะเวลาทั้งสิ้น 1,396 วันแล้ว โดยนับรวมคดีที่เขาถูกคุมขังจากการทำกิจกรรมนั่งรถไฟไปอุทยานราชภักดิ์ ซึ่งธเนตรถูกศาลทหารพิพากษาจำคุก 4 เดือน การถูกคุมขังอย่างยาวนานยังทำให้ธเนตรสูญเสียพ่อไป โดยเขาไม่มีโอกาสได้ออกมาพบกับพ่อในช่วงสุดท้ายของชีวิต

 

X