1,396 วันของการจองจำ: ทบทวนคดี “ธเนตร” โพสต์วิจารณ์กองทัพ-คสช. ก่อนถึงวันพิพากษา

25 มิถุนายนนี้ เวลา 9.00 น. ศาลอาญานัดฟังคำพิพากษาในคดีของ “ธเนตร อนันตวงษ์” นักกิจกรรมทางการเมือง ผู้ถูกดำเนินคดีในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ พ.ศ. 2550 มาตรา 14 (3) จากการโพสต์และแชร์เฟซบุ๊กข้อความวิพากษ์วิจารณ์ คสช. และกองทัพ จำนวน 5 ข้อความ

คดีนี้นับตั้งแต่ธเนตรถูกแจ้งข้อกล่าวหา จนถึงวันพิพากษานับเป็นเวลากว่า 4 ปี 6 เดือนเศษ ขณะที่เขาต้องถูกคุมขังในเรือนจำมาแล้วเกือบ 3 ปี 10 เดือน หรือรวมเป็นระยะเวลาทั้งสิ้น 1,396 วันแล้ว (นับรวมคดีที่ถูกคุมขังจากการทำกิจกรรมนั่งรถไฟไปอุทยานราชภักดิ์) คดีนี้ได้ถูกพิจารณาผ่านศาลทหารอย่างยาวนาน ก่อนถูกโอนย้ายมายังศาลพลเรือนพิจารณาต่อ ผ่านยุครัฐประหารของ คสช. มาสู่ยุคที่ไม่มี คสช. แล้ว แต่ตัวละครที่เคยดำรงตำแหน่งใน คสช. ยังคงครองอำนาจ

ก่อนฟังคำพิพากษา ชวนย้อนรู้จักกับ “ธเนตร” นักกิจกรรมที่ไม่ได้มีชื่อเสียง ผู้เพียงแค่พยายามเข้าร่วมกิจกรรมการเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตย และตกเป็นเป้าหมายของเจ้าหน้าที่จนถูกควบคุมตัว ทบทวนที่มาที่ไปของคดีที่เขาถูกคุมขัง พร้อมฟังเรื่องคดีของธเนตร และชีวิตในช่วงของการถูกคุมขัง ผ่านมุมมองของเพื่อนนักกิจกรรมอย่าง ‘นิว สิรวิชญ์’ และทนายความที่ว่าความให้เขาอย่าง ‘ทนายอานนท์ นำภา’

วันพิพากษาที่มาถึงจะชี้ชะตาชายร่างเล็กคนนี้ ว่าจะได้รับการปลดปล่อย หรือยังต้องเผชิญกับความอยุติธรรมต่อเนื่องยาวนานออกไปอีก

 

ธเนตรเป็นใคร? ทำอะไรจึงถูกดำเนินคดี?

ธเนตร อนันตวงษ์ หรือ “ตูน” เพิ่งอายุครบ 30 ปี เมื่อปลายเดือนพฤษภาคม 2563 ที่ผ่านมา พื้นเพเป็นคนอำเภอหนองขาหย่าง จังหวัดอุทัยธานี เขาสูญเสียแม่ตั้งแต่อายุ 8 ขวบ เนื่องจากอุบัติเหตุไฟช็อต ส่วนพ่อ ก็จัดได้ว่าเป็นกลุ่มผู้ใช้แรงงาน เมื่อมีอาชีพหลักคือการเป็นคนงานก่อสร้างอยู่หลายปี

ธเนตรจบการศึกษาระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ในช่วงวัยรุ่น เขาเข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ โดยประกอบอาชีพขับรถจักรยานยนต์รับจ้าง และได้เข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองในการชุมนุมใหญ่ของคนเสื้อแดงเมื่อปี 2553 ช่วงนั้นเขายังถูกกล่าวหาดำเนินคดีในเรื่องการฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ซึ่งเคยถูกประกาศใช้ควบคุมการชุมนุมของคนเสื้อแดง ทำให้ธเนตรต้องถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำราว 1 ปีเศษ

หลังการรัฐประหาร 2557 เขายังคงเป็นมวลชนที่เข้าร่วมการเคลื่อนไหวต่อต้านการรัฐประหาร โดยเฉพาะการเข้าร่วมกิจกรรมกับกลุ่มประชาธิปไตยศึกษา ที่มี ”จ่านิว” หรือสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ เป็นแกนนำ

ธเนตรเข้าร่วมทำกิจกรรมผูกผ้าดำรอบอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เพื่อคัดค้านการรัฐประหาร ในช่วงวันที่ 25 มิ.ย. 58 (ภาพโดย Tawan Pongphat) 

วันที่ 7 ธ.ค. 58 ธเนตรได้เดินทางไปร่วมกิจกรรมนั่งรถไฟไปตรวจสอบการทุจริตโครงการจัดสร้างอุทยานราชภักดิ์ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พร้อมกับผู้เข้าร่วมประมาณ 30-40 คน แต่ยังไม่ถึงเป้าหมาย ไปถึงเพียงสถานีรถไฟบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี กลุ่มผู้ทำกิจกรรมก็ได้ถูกเจ้าหน้าที่หยุดยั้งขบวนรถ ก่อนถูกควบคุมตัวไปยังค่ายทหารที่อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม เหตุการณ์นี้เป็นที่มาของการกลายเป็น 1 ใน 11 คน ผู้ถูกดำเนินคดีเรื่องการฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. เรื่องการห้ามชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคนขึ้นไปอีกด้วย

หลังจากถูกปล่อยตัว ไม่กี่วันหลังจากนั้น คือในวันที่ 13 ธ.ค. 58 ธเนตรได้ถูกเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบไม่ทราบสังกัด ควบคุมตัวไปจากโรงพยาบาลสิรินธร ขณะที่เขากำลังรักษาอาการลำไส้อักเสบและรอเข้ารับการผ่าตัด โดยมีเพื่อนอีก 2 คน ซึ่งกำลังเดินทางไปเยี่ยมที่โรงพยาบาล ได้พบเห็นจังหวะที่เจ้าหน้าที่ควบคุมตัวธเนตรออกไป ทั้งนี้เจ้าหน้าที่ไม่ได้แจ้งชื่อ-นามสกุล และสังกัดแต่อย่างใด และยังไม่แจ้งว่าจะควบคุมตัวธเนตรไปที่ใด หรือควบคุมตัวเพราะเหตุใด อีกทั้งไม่ได้แสดงหมายจับของศาลขณะเข้าควบคุมตัว

ธเนตรระหว่างรอรับการผ่าตัดช่วงเดือนธันวาคม 2558 แต่ได้ถูกเจ้าหน้าที่รัฐบุกเข้าควบคุมตัวถึงโรงพยาบาลก่อน (ภาพโดย Piyarat Chongthep)

จนกระทั่งวันที่ 18 ธ.ค. 58 ฝ่ายทหารได้นำธเนตรส่งตัวให้กับตำรวจ โดยมี พล.ต.วิจารณ์ จดแตง ฝ่ายกฎหมายของ คสช. เป็นผู้แจ้งความกล่าวหาดำเนินคดีเขา ในข้อหายุยงปลุกปั่นและพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากการโพสต์และแชร์เฟซบุ๊กวิพากษ์วิจารณ์ คสช. และกองทัพ จำนวน 5 ข้อความ โดยธเนตรได้รับการประกันตัวด้วยหลักทรัพย์ 1 แสนบาท แต่ต้องต่อสู้คดีในศาลทหารต่อ

การถูกดำเนินคดีด้วยข้อหาที่รุนแรงจากการที่เขาเพียงแค่โพสต์แสดงความเห็นวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล ทั้งอาจจะต้องเผชิญความยากลำบากและล่าช้าในการต่อสู้คดีในศาลทหาร รวมถึงประสบการณ์การถูกควบคุมตัวในค่ายทหาร ทำให้ต่อมาธเนตรไม่เดินทางไปตามนัดรายงานตัวของศาลทหาร ทำให้ถูกออกหมายจับ ก่อนเขาจะกลับเข้ามอบตัวคดีนี้เมื่อวันที่ 26 ก.ค. 59

จากนั้นธเนตรได้ถูกคุมขังในเรือนจำพิเศษกรุงเทพระหว่างต่อสู้ทั้งคดีนั่งรถไฟไปอุทยานราชภักดิ์และคดีมาตรา 116 มาตั้งแต่วันที่ 29 ส.ค. 59 จนถึงปัจจุบัน ด้วยเขาไม่มีเงินประกันตัว และศาลทหารเองก็ปฏิเสธการประกันตัว โดยอ้างการมีพฤติการณ์เคยหลบหนีมาก่อน การถูกคุมขังอย่างยาวนานยังทำให้ธเนตรสูญเสียพ่อไป โดยเขาไม่มีโอกาสได้ออกมาพบกับพ่อในช่วงสุดท้ายของชีวิต

ดูเนื้อหาโพสต์ที่ธเนตรถูกกล่าวหาและประมวลการต่อสู้คดีนี้ใน

ฉันถูกขังตั้งแต่ยุคประยุทธ์1 และสู้คดีจนถึงยุคประยุทธ์2 : อ่านคำเบิกความพยานในคดีธเนตร ก่อนถึงวันพิพากษา

บิดาของ “ธเนตร” ป่วยเสียชีวิต ขณะลูกชายถูกคุมขังระหว่างต่อสู้คดี ม.116 มากว่า 3 ปี 7 เดือน

 

คดีธเนตรในมุมมองของ “นิว” เพื่อนนักกิจกรรม

“นิว” สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ เล่าว่าเขารู้จักธเนตรตั้งแต่สมัยทำกิจกรรมในนามกลุ่มประชาธิปไตยศึกษา จากการพบเห็นในกิจกรรมการเคลื่อนไหว ต่อมาได้ทราบว่าธเนตรเคยถูกคุมขังในคดีการเมืองจากเหตุการณ์ชุมนุมเมื่อปี 2553 จนกระทั่งสิรวิชญ์เริ่มเคลื่อนไหวในประเด็นการตรวจสอบทุจริตอุทยานราชภักดิ์ ธเนตรก็ได้มาร่วมอย่างต่อเนื่อง ในมุมมองของสิรวิชญ์ ธเนตรเป็นคนมีจิตอาสา โดยเขามักมาช่วยเหลืองานต่างๆ เวลามีการจัดกิจกรรม

ในจังหวะก่อนถูกควบคุมตัวไปค่ายทหารครั้งที่ 2 ระหว่างธเนตรเข้ารักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลเนื่องจากอาการลำไส้อักเสบ แล้วได้ถูกเจ้าหน้าที่บุกไปจับกุมถึงโรงพยาบาล โดยตอนนั้นไม่มีใครทราบว่าถูกพาตัวไปที่ใด สิรวิชญ์เมื่อทราบเรื่อง ก็พยายามติดตามหา เพราะเห็นว่าเป็นเรื่องความเป็นความตาย อยู่ดีๆ เจ้าหน้าที่จะมาควบคุมตัวคนหายไป โดยที่ไม่ทราบสถานที่เช่นนี้ไม่ได้

ในระหว่างการถูกควบคุมตัว สิรวิชญ์ได้พยายามยื่นคำร้องต่อศาลถึงสองครั้ง ว่าการควบคุมตัวธเนตรเป็นไปโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 90 และขอให้ศาลมีคำสั่งให้ปล่อยตัว แต่ศาลก็ได้ยกคำร้องทั้งสองครั้ง โดยครั้งแรก เห็นว่าสิรวิชญ์เป็นเพียงเพื่อน และไม่สามารถยืนยันข้อเท็จจริงได้ว่าธเนตรถูกควบคุมตัวโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ส่วนครั้งที่ ศาลอ้างว่ามีคำสั่งหัวหน้าคสช. ซึ่งให้อำนาจเจ้าพนักงานในการควบคุมตัวบุคคลได้ไม่เกิน 7 วัน

สิรวิชญ์ พร้อมบิดาของธเนตร เดินทางไปยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอให้มีคำสั่งให้ปล่อยตัวธเนตร เมื่อวันที่ 17 ธ.ค. 58 (ภาพโดย Banrasdr Photo)

สิรวิชญ์ย้อนเล่าถึงความพยายามในครั้งนั้นว่า “ที่ผมยื่นคำร้อง เพราะตอนนั้นเขาเองก็รักษาตัวที่โรงพยาบาล แล้วผมเองก็กำลังจะไปเยี่ยม พอไปถึง ก็พบว่าเขาถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวไปแล้ว พอไปถามโรงพยาบาล ก็ไม่สามารถให้ข้อมูลอะไรได้เลย เราเลยไปตามตัวที่สถานีตำรวจ ก็ไม่ได้มีความคืบหน้า แล้วก็ไม่มีใครแจ้งอะไรมาเลย แม้แต่ทางญาติก็ไม่ทราบเรื่อง ทุกคนก็ได้แต่งงว่าเกิดอะไรขึ้น ผมก็เลยคุยกับทนายความ ทนายก็บอกว่ามีมาตรา 90 เรื่องการควบคุมตัวโดยมิชอบ เราก็เลยคิดว่ายังไงก็คงต้องลองใช้อำนาจศาลในการทำให้เรื่องนี้มันกระจ่างชัดเจน”

“ตอนนั้นได้ขอให้ศาลเรียกเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในการควบคุมตัวธเนตรมาชี้แจง ว่ามีการควบคุมตัวได้อย่างไร ที่ไหน เพราะตอนนั้นทุกคนก็ไม่รู้ชะตากรรมว่าธเนตรเป็นอย่างไร แต่ผลที่ออกมาคือศาลไม่มีการเรียกตัวเจ้าหน้าที่มาไต่สวนเลย ในช่วงค่ำวันเดียวกัน ก็มีข่าวออกมาว่าได้มีการควบคุมตัวธเนตรไว้ที่มณฑลทหารราบที่ 11 ผมก็เลยรู้สึกแปลกใจว่าทำไมเพิ่งจะมาบอก แทนที่พวกคุณจะมีการประกาศตั้งแต่แรกที่มีการควบคุมตัว”

สิรวิชญ์ยังได้สรุปประสบการณ์การพยายามติดตามการควบคุมตัวธเนตร ว่าเป็นสิ่งสะท้อนถึงปัญหาขององค์กรตุลาการ เมื่อศาลก็ไม่ได้มีการปฏิบัติที่ตรงตามบรรทัดฐานที่ควรจะเป็น กลับกลายเป็นบอกว่าต้องทำตามอำนาจของ คสช. และรับรองการกระทำของ คสช. ทั้งที่ประชาชนแค่ต้องการให้อำนาจศาลเป็นสิ่งที่คุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน

เวทีเสวนา “สอ-อิ-ดอ=สิทธิ ว่าด้วยสิทธิของผู้ต้องหา” จัดโดยกลุ่มภาคีนักกิจกรรมนักศึกษาเพื่อสังคม เมื่อวันที่ 27 ธ.ค. 58 เพื่อสะท้อนถึงปัญหาการควบคุมตัวโดยมิชอบด้วยกฎหมายของเจ้าหน้าที่รัฐ จากกรณีของธเนตร (ภาพโดย Banrasdr Photo)

หลังจากธเนตรถูกดำเนินคดีและถูกคุมขังเรื่อยมา สิรวิชญ์ระบุว่าเขาได้ไปเยี่ยมธเนตรที่เรือนจำอยู่บ้าง และคอยช่วยเหลือเงินเล็กน้อยในการเป็นค่าใช้จ่ายในเรือนจำ ตอนหลังอาการป่วยของเขาก็ดีขึ้นแล้ว ขณะเดียวกันสิรวิชญ์ยังได้ช่วยติดต่อกับลุงของธเนตรอยู่บ้าง จึงได้คอยบอกเล่าเรื่องของธเนตรเท่าที่รู้ให้ญาติของธเนตรทราบ เนื่องจากลุงคิดถึงและอยากให้หลานได้ออกมา ซึ่งสิรวิชญ์ก็หวังในสิ่งเดียวกันนี้

 

คดีธเนตรในมุมมองทนายความ 

อานนท์ นำภา ทนายความของธเนตร เล่าว่าก่อนหน้านี้ เขาไม่ได้รู้จักกับธเนตรเป็นการส่วนตัว ได้พบเพียงผ่านๆ ขณะมีกิจกรรมต่อต้าน คสช. ในช่วงปี 2557-58 จนกระทั่งได้เข้ามาว่าความในคดีมาตรา 116 ของธเนตร

อานนท์เล่าว่าเท่าที่เขาได้รู้จักพูดคุยกับธเนตรนั้น เขาเป็นคนที่ค่อนข้างน่าสนใจ นิสัยคล้ายเด็กๆ เพราะมีความอยากรู้อยากเห็น อยากเข้าร่วมเคลื่อนไหว อยากเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมทางการเมือง โดยไม่ได้มีต้นทุนทางสังคมมากมาย แต่ก็ยังพร้อมออกมาร่วมกิจกรรมในฐานะมวลชน จนกระทั่งโดนดำเนินคดีไปพร้อมกับกลุ่มนักศึกษา

อานนท์เผยว่าตั้งแต่ธเนตรติดคุก ก็ได้ไปเยี่ยมที่เรือนจำอยู่บ่อยๆ เพื่อเตรียมต่อสู้คดีและถามไถ่ความเป็นอยู่ เมื่อธเนตรถูกคุมขังในเรือนจำ เขายังคงมีอาการป่วยอยู่ โดยมีทั้งโรคกระเพาะและอาการเกี่ยวกับปัญหาในช่องท้อง เขาได้พยายามทำเรื่องขอไปรักษาในโรงพยาบาลของราชทัณฑ์ จนกระทั่งได้รับการส่งตัวไป และได้รับยาอย่างต่อเนื่อง จนอาการในปัจจุบันดีขึ้นมากแล้ว

ส่วนในเรื่องความเป็นอยู่ในเรือนจำ ธเนตรเคยบอกในช่วงแรกๆ ของการถูกคุมขังว่าเขานอนไม่ค่อยหลับ เพราะต้องนอนเบียดกับผู้ต้องขังจำนวนมาก ต้องใช้เวลาระยะหนึ่งในการปรับตัว ธเนตรยังเคยเล่าว่าเขาเคยมีปัญหากับผู้คุม ทำให้โดนเพ็งเล็งอยู่บ้างในเรือนจำ โดยธเนตรเคยถูกด่าทอเสียดสี ต้องถูกย้ายแดน และถูกห้ามเยี่ยมญาติอยู่ช่วงหนึ่ง แต่ทนายความยังสามารถเข้าเยี่ยมได้

ธเนตรขณะถูกเจ้าหน้าที่ทหารนำตัวจากค่ายทหาร มายังกองปราบปราม เพื่อแจ้งข้อกล่าวหา เมื่อวันที่ 18 ธ.ค. 58

ส่วนเรื่องทางคดี อานนท์เล่าว่าหลังธเนตรถูกจับกุมดำเนินคดีนั่งรถไฟไปตรวจสอบทุจริตอุทยานราชภักดิ์ เจ้าหน้าที่ได้ไปตรวจค้นในเฟซบุ๊กของเขาว่ามีการโพสต์อะไรบ้าง นอกจากนี้ยังมีความพยายามให้ธเนตรซัดทอดไปถึงคนต้นโพสต์บางโพสต์เกี่ยวกับการตรวจสอบอุทยานราชภักดิ์ ว่าใครเป็นคนทำ การถูกจับกุมเข้าค่ายทหาร ทำให้ธเนตรไม่ได้มีทนายความหรือบุคคลที่ไว้ใจอยู่ด้วยในระหว่างถูกเจ้าหน้าที่สอบสวน และเอกสารการสอบสวนกลับถูกนำมาใช้เป็นพยานหลักฐานในคดี

อานนท์เผยว่าความยากในคดีของธเนตร ยังอยู่ที่การถูกพิจารณาในศาลทหาร โดยจำเลยไม่ได้รับการประกันตัว ทำให้ใช้เวลายาวนานในการต่อสู้คดี ศาลทหารยังมีการตัดพยานบางปากที่เป็นบุคคลสำคัญในกองทัพที่เกี่ยวกับอุทยานราชภักดิ์ พยานโจทก์ในคดีหลายคนก็ไม่ค่อยอยากมาให้การในศาล ทำให้เลื่อนบ่อยครั้ง และคดียังเกี่ยวกับการวิพากษ์วิจารณ์กองทัพ แต่กลับถูกพิจารณาภายในอัยการทหารและศาลทหาร จนกระทั่งคดีถูกโอนมาที่ศาลพลเรือน ซึ่งต้องจับตาผลของคำพิพากษาต่อไป

 

X