จำคุก 2 ปี 8 เดือน คดี ม.112-116 “อานนท์ นำภา” เหตุ #ม็อบแฮร์รี่พอตเตอร์ เห็นว่าปราศรัยเรื่องกษัตริย์แทรกแซงแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ผ่านประชามติ เป็นการใส่ร้าย ขัดต่อ รธน. ม.6

วันที่ 19 ธ.ค. 2567 เวลา 09.00 น. ศาลอาญานัดฟังคำพิพากษาในคดีของ “อานนท์ นำภา” ทนายความสิทธิมนุษยชนและนักกิจกรรมทางการเมือง วัย 40 ปี ซึ่งถูกฟ้องในข้อหาหลัก “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112  สืบเนื่องมาจากการปราศรัยในการชุมนุม #เสกคาถาผู้พิทักษ์ปกป้องประชาธิปไตย หรือม็อบแฮร์รี่ พอตเตอร์ บริเวณหน้าร้านแมคโดนัลด์ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 3 ส.ค. 2563 

ศาลพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามมาตรา 112 และมาตรา 116 (2) (3) การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท จึงให้ลงโทษตามมาตรา 116 ลงโทษจำคุก 4 ปี จำเลยให้การเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาอยู่บ้าง เห็นควรลดโทษให้หนึ่งในสาม คงจำคุก 2 ปี 8 เดือน

.

ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 711 มีประชาชน, นักวิชาการ, สื่อมวลชน, เจ้าหน้าที่องค์กรเพื่อสิทธิมนุษยชน, ตัวแทนจากสถานทูตอังกฤษ, ตัวแทนจากสถานทูตเยอรมนี, ตัวแทนจากสถานทูตฝรั่งเศส, ตัวแทนจากสถานทูตสวิสเซอร์แลนด์, ตัวแทนจากสถานทูตเบลเยียม และคณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย เดินทางมาสังเกตการณ์คดี จนเต็มบริเวณทั้งภายในและภายนอกห้องพิจารณาคดี 

อานนท์ถูกเบิกตัวมาศาลล่าช้า โดยเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์แจ้งว่า ลืมเบิกตัวมา ทำให้ต้องกลับไปนำตัวอานนท์จากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ จนเวลาประมาณ 11.00 น. อานนท์ในชุดนักโทษและถูกพันธนาการด้วยกุญแจข้อเท้าถูกนำตัวขึ้นมาที่ห้องพิจารณาคดี 

หลังศาลออกนั่งพิจารณาคดีและอ่านคำพิพากษาคดีอื่นเสร็จสิ้น ศาลได้กล่าวว่าจะอ่านคำพิพากษาในคดีของอานนท์ โดยจะอ่านแบบธรรมดาก่อน แต่ถ้าก่อความวุ่นวาย ศาลจะพิจารณาคดีลับ และศาลจะสั่งขังเลย เนื่องจากศาลออกข้อกำหนดไว้แล้ว 

ต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจศาล 2 นาย ซึ่งเฝ้ารักษาความปลอดภัยอยู่บริเวณประตูห้องพิจารณาคดีได้ทยอยให้ประชาชนเข้ามาในห้องพิจารณาคดี แต่หากเก้าอี้ในห้องพิจารณาคดีเต็มแล้วจะไม่อนุญาตให้ประชาชนเข้ามาเพิ่มอีก ทนายจำเลยจึงแถลงว่า ขอให้ประชาชนได้เข้ามายืนในห้องพิจารณาอย่างเรียบร้อยได้หรือไม่ เนื่องจากประชาชนหลายคนเดินทางมาศาลแต่เช้าเพื่อจะเข้าฟังคำพิพากษาคดีนี้ แต่ศาลไม่อนุญาต โดยกล่าวว่า ไม่มีใครรับประกันได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ศาลต้องรับผิดชอบความเรียบร้อยในห้องพิจารณาคดี ทนายไม่ได้มารับผิดชอบด้วย

ทำให้มีประชาชนเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้นที่สามารถเข้ามาในห้องพิจารณาคดีได้ แต่ภายนอกห้องพิจารณาคดีก็มีประชาชนอีกกว่า 50 คน อยู่เต็มบริเวณหน้าห้องพิจารณาคดีที่ 711 ถึง 714 เพื่อรอเจออานนท์หลังเสร็จการพิจารณาคดี

.

ในระหว่างการสืบพยานคดีนี้ มีประเด็นโต้แย้งกันระหว่างทนายจำเลยและศาลในเรื่องการออกหมายเรียกพยานเอกสารสำคัญที่จะใช้ประกอบการถามค้านพยานโจทก์ ได้แก่ ตารางการเดินทางของรัชกาลที่ 10 และเอกสารเกี่ยวกับงบประมาณของสถาบันพระมหากษัตริย์ มาโดยตลอด จนในนัดสืบพยานวันที่ 4 มิ.ย. 2567 โดย เรืองฤทธิ์ บัวลอย ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนยืนยันไม่ออกหมายเรียกพยานเอกสารดังกล่าวให้ อานนท์จึงถอดเสื้อนักโทษประท้วง เพื่อยืนยันสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรมของตนเอง

ต่อมาในนัดสืบพยานวันที่ 27 พ.ย. 2567 ศาลยังคงยืนยันไม่ออกหมายเรียกพยานเอกสารที่จะใช้ประกอบการถามค้านพยานโจทก์ให้ โดยอ้างว่าการออกหมายเรียกเอกสารดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 6 และให้ทนายจำเลยถามค้านพยานโจทก์ต่อ อานนท์ ในฐานะจำเลย จึงได้ถอดเสื้อประท้วงศาลเป็นครั้งที่สอง และยืนยันว่าไม่สามารถถามค้านได้เนื่องจากไม่มีพยานเอกสาร

ทันทีที่อานนท์ถอดเสื้อออก ศาลได้มีคำสั่งให้พิจารณาคดีลับ และให้ตำรวจศาลเชิญประชาชนที่มาสังเกตการณ์คดีออกจากห้องพิจารณาคดีพร้อมทั้งยืนเฝ้าประตู ทั้งสั่งห้ามนำข้อมูลในห้องพิจารณาคดีไปเผยแพร่ อ้างว่าเนื่องจากเป็นคดีที่เกี่ยวกับความมั่นคง ทำให้อานนท์เขียนคำร้องขอตั้งข้อรังเกียจศาลและเปลี่ยนตัวผู้พิพากษา แต่อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญามีคำสั่งยกคำร้อง  

นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 28 พ.ย. 2567 ผู้พิพากษายังสั่งห้ามอานนท์แถลงโต้แย้งคำสั่งศาลที่ห้ามนำข้อมูลในห้องพิจารณาคดีไปเผยแพร่โดยอ้างว่าเป็นคดีที่เกี่ยวกับความมั่นคง แต่อานนท์ยืนยันจะโต้แย้ง ผู้พิพากษาจึงให้ตำรวจศาลนำตัวอานนท์ออกจากห้องพิจารณาคดีลงไปขังที่ห้องขังใต้ถุนศาลแม้จะยังไม่จบการพิจารณาคดี พร้อมสั่งให้งดการสืบพยานจำเลย และนัดวันฟังคำพิพากษาต่อมา

เมื่อวันที่ 3 ธ.ค. 2567 จากเหตุการณ์ข้างต้น อานนท์ยังได้ยื่นคำร้องตั้งข้อรังเกียจศาล, คำร้องคัดค้านกระบวนพิจารณาคดีที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย, คำร้องขอคัดตรวจดูวิดีโอในห้องพิจารณาคดีที่ 711 และขอให้จัดเก็บกล้องวิดีโอในห้องพิจารณาคดี 711 ตลอดจนยื่นคำร้องให้มีการสอบสวนและดำเนินการทางวินัย ต่ออธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา ประธานศาลฎีกา และคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม เพื่อโต้แย้งความไม่เป็นธรรมในกระบวนการพิจารณาคดีนี้ 

วันนี้ (19 ธ.ค. 2567) ศาลอ่านคำสั่งตามคำร้องดังกล่าว พร้อมให้ทนายจำเลยดูเอกสารคำสั่งในแต่ละคำร้อง สามารถสรุปได้ดังนี้ 

คำร้องตั้งข้อรังเกียจศาลและขอเปลี่ยนตัวผู้พิพากษา ยื่นเมื่อวันที่ 3 ธ.ค. 2567 ศาลได้เสนอคำร้องต่ออธิบดีศาลอาญาให้พิจารณาแล้ว เห็นว่า ข้อเท็จจริงตามคำร้องของจำเลยยังไม่มีเหตุที่จะตั้งข้อรังเกียจหรือคัดค้านองค์คณะผู้พิพากษา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 27 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาคดีความแพ่ง มาตรา 11, มาตรา 13 และมาตรา 14 ให้ยกคำร้อง

คำร้องคัดค้านกระบวนพิจารณาคดีที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ยื่นเมื่อวันที่ 3 ธ.ค. 2567 ศาลได้ตรวจสำนวนใหม่วันนี้ (19 ธ.ค. 2567) ก่อนอ่านคำสั่งว่า กรณีไม่มีเหตุอันที่จะเพิกถอนกระบวนพิจารณาคดี ให้ยกคำร้อง 

คำร้องขอให้เลื่อนนัดอ่านคำพิพากษา เนื่องจากอยู่ระหว่างการยื่นคำร้องให้มีการสอบสวนและดำเนินการทางวินัย ต่ออธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา ประธานศาลฎีกา และคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม ยื่นเมื่อวันที่ 16 ธ.ค. 2567 ไม่มีเหตุที่จะเลื่อน ให้ยกคำร้อง 

คำร้องขอตรวจดูวิดีโอในห้องพิจารณาคดีที่ 711 ยื่นเมื่อวันที่ 28 พ.ย. 2567 ศาลให้ยกคำร้องเนื่องจากไม่มีการสืบพยาน กรณีไม่มีเหตุให้คัดถ่าย 

คำร้องขอให้จัดเก็บกล้องวิดีโอในห้องพิจารณาคดี 711 ยื่นเมื่อวันที่ 28 พ.ย. 2567 กรณีไม่มีการสืบพยาน จึงไม่อนุญาต 

คำร้องให้มีการสอบสวนและดำเนินการทางวินัย ต่ออธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา ประธานศาลฎีกา และคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม เพื่อโต้แย้งความไม่เป็นธรรมในกระบวนการพิจารณาคดีนี้ ยื่นเมื่อวันที่ 3 ธ.ค.2567 อยู่ระหว่างการดำเนินการ

ศาลกล่าวเพิ่มเติมว่า มีอะไรก็ให้อุทธรณ์ไปตามกฎหมาย ศาลอาจจะถูกหรือผิดก็ได้

.

หลังจากนั้นศาลเริ่มต้นอ่านคำพิพากษา โดยสรุปคำฟ้องให้จำเลยฟังโดยย่อ และอ่านต่อไปว่า โจทก์นำสืบได้ความว่า วันที่ 1 ส.ค. 2563 จำเลยโพสต์เฟซบุ๊กว่าได้รับเชิญจากผู้จัดให้ไปปราศรัยเรื่องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ การชุมนุมได้รับอนุญาตชุมนุมจาก สน.ชนะสงคราม ไม่พบว่ามีการขออนุญาตใช้เครื่องขยายเสียง แต่เจ้าหน้าที่ตรวจความเข้มเสียงพบว่าไม่เกิน 115 เดซิเบลเอ ไม่เกินกว่าที่กฎหมายกำหนด (ประกาศคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ฉบับที่ 15 พ.ศ. 2540 เรื่อง กําหนด มาตรฐานระดับเสียงโดยทั่วไป ข้อ 2 กําหนดมาตรฐานระดับเสียงโดยทั่วไปไว้สูงสุดไม่เกิน 115 เดซิเบลเอ)

สถานที่ชุมนุมเป็นพื้นที่เปิดโล่ง มีจุดคัดกรองโดยกลุ่มมอกะเสด จำเลยเป็นเพียงผู้ร่วมชุมนุม การชุมนุมเป็นไปโดยสงบเรียบร้อย ไม่พบความวุ่นวาย

ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า การชุมนุมได้รับอนุญาตโดย สน.ชนะสงคราม มีปัญหาต้องวินิจฉัยว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่

.

เห็นว่า ในการชุมนุม ผู้ชุมนุมใช้เครื่องขยายเสียงขนาดเล็ก นักวิชาการสุขาภิบาลชำนาญการ สำนักงานเขตพระนคร วัดความเข้มเสียงแล้ว ปรากฏว่าต่ำกว่า 115 เดซิเบลเอ ไม่เกินกว่าที่กฎหมายกำหนด

ในขณะเกิดเหตุมีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จึงต้องปฏิบัติตามมาตรการควบคุมโรคด้วย พยานโจทก์ซึ่งเป็นตำรวจเบิกความว่า มีผู้ชุมนุมประมาณ 50 คน ตั้งเวทีขนาดเล็ก ส่วนใหญ่สวมหน้ากากอนามัย มีจุดคัดกรองโดยกลุ่มมอกะเสด สถานที่ชุมนุมเป็นพื้นที่โล่ง สัญจรไปมาได้สะดวก ในวันเกิดเหตุการชุมนุมเรียบร้อยดี เป็นไปโดยสงบ ไม่มีเหตุวุ่นวาย เป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพตามกฏหมาย และได้รับอนุญาตการชุมนุมจากหัวหน้า สน.ชนะสงคราม

ดังนั้น จำเลยกับพวกจึงใช้เสรีภาพในการชุมนุมตามกฏหมาย จำเลยเพียงแค่ได้รับเชิญมาปราศรัย ทางการนำสืบของโจทก์ ยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยเป็นผู้จัดการชุมนุม จำเลยจึงไม่มีความผิดตามฟ้องข้อ 1.1 และ 1.4

.

เห็นว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่า จำเลยโพสต์ข้อความลงเฟซบุ๊ก และปราศรัยพาดพิงสถาบันพระมหากษัตริย์อยู่บ่อยครั้ง ทั้งในวิดีโอปรากฏว่าจำเลยพูดข้อความตามฟ้องข้อ 1.2 จริง จำเลยพูดพาดพิงการกระทำของพระมหากษัตริย์ตามฟ้องข้อ 1.2 หลายครั้ง โดยการปราศรัยในการชุมนุม จำเลยกล่าวถึงสถาบันพระมหากษัตริย์เกี่ยวกับเหตุการณ์ในอดีต และเสนอให้มีการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ 

แม้การกระทำของจำเลยจะไม่เหมาะสม และไม่สมควรกระทำเช่นนี้ แต่ไม่ถึงขนาดเป็นความผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ พ.ศ. 2550 ตามฟ้องข้อ 1.2 

.

โจทก์มีพยานโจทก์ซึ่งเป็นตำรวจยืนยันว่าจำเลยปราศรัยตามฟ้องข้อ 1.3 และมีพยานโจทก์ซึ่งเป็นตำรวจได้บันทึกภาพและเสียงไว้ อัฑฒ์ มาฆลักษณ์ พยานโจทก์เบิกความว่า การกระทำของจำเลยเป็นการดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ การแสดงความคิดเห็นแม้สามารถทำได้ แต่จำเลยทำให้ประชาชนเข้าใจผิด จาบจ้วง ให้ร้ายพระมหากษัตริย์

ปรากฏข้อเท็จจริงว่า จำเลยพูดว่าพระมหากษัตริย์แทรกแซงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เมื่อฟังประกอบข้อความบางส่วนที่จำเลยลงในเฟซบุ๊กของจำเลยเพื่อเชิญชวนให้ประชาชนมาฟังการปราศรัยในวันที่ 3 ส.ค. 2563 มีข้อความที่ว่า “…กฎหมายที่มีล้วนแล้วแต่ปิดปากไม่ให้ผู้ที่มีความคิดเห็นต่างจากฝ่ายกษัตริย์นิยมสามารถแสดงความคิดเห็นได้ ซึ่งผิดหลักการเสรีภาพในการแสดงออก และการแสดงความคิดเห็น หลายคนถูกจำคุก หลายชีวิตต้องลี้ภัย หลายคนต้องเสียชีวิต และหลายชีวิตต้องสูญหายโดยไม่สามารถสืบหาร่อยรอยได้ เพียงเพราะมีความแตกต่างทางความคิด” แม้ว่าความนี้ไม่ได้กล่าวถึงพระมหากษัตริย์โดยตรง ซึ่งเป็นข้อความตามที่ระบุไว้ในฟ้องข้อ 1.2 และศาลวินิจฉัยว่าไม่มีความผิดก็ตาม 

แต่เมื่อฟังเชื่อมโยงประกอบกับการที่จำเลยเชิญชวนคนมาฟังการปราศรัย และที่จำเลยได้พูดข้อความตามที่ฟ้องในข้อ 1.3 นี้ กล่าวหาพระมหากษัตริย์ ซึ่งมีข้อความบางส่วนว่า “…พอมีการผ่านการออกเสียงประชามติมา เกิดการแทรกแซงการประกาศใช้รัฐธรรมนูญโดยสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นครั้งแรก คือเมื่อมีการผ่านประชามติออกมา ประยุทธ จันทร์โอชา นำรัฐธรรมนูญ ขึ้นทูลเกล้า พระมหากษัตริย์รับสั่งให้แก้รัฐธรรมนูญในสาระสำคัญอยู่หลายประการ ซึ่งถ้าในประเทศที่ปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขเหตุการณ์นี้ไม่มีทางเกิดขึ้น เพราะนี่เป็นการแทรกแซงการประกาศใช้รัฐธรรมนูญอย่างเป็นทางการ…” กรณีจำเลยกล่าวปราศรัยในส่วนนี้เป็นการใส่ร้ายพระมหากษัตริย์ว่าแทรกแซงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ อันฝ่าฝืนต่อความเป็นจริง เป็นการหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ และเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย จึงเห็นเจตนาจำเลยได้ว่า จำเลยกล่าวอ้างใส่ร้ายพระมหากษัตริย์โดยมุ่งหวังให้เกิดความวุ่นวายในสังคม และการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองการปกครอง

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 6 ห้ามไม่ให้ผู้ใดล่วงละเมิดพระมหากษัตริย์ จำเลยเป็นนักกฎหมายจะต้องตระหนักในกฎหมายข้อนี้ดีกว่าบุคคลทั่วไป แต่จำเลยปราศรัยใส่ร้ายพระราชกรณียกิจของพระมหากษัตริย์ เป็นการละเมิดต่อพระมหากษัตริย์ดังกล่าว อันเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 6

พยานโจทก์มีน้ำหนักเพียงพอที่จะวินิจฉัยคดีได้แล้ว และศาลวินิจฉัยว่าจำเลยกระทำผิดในส่วนนี้มิเกี่ยวกับเอกสารที่จำเลยขอให้มีหมายเรียก คดีศาลพอวินิจฉัยได้ ศาลจึงมีคำสั่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 174 วรรคท้าย การที่จำเลยมิได้สืบพยานหาทำให้ข้อเท็จจริงและคำวินิจฉัยของศาลเปลี่ยนแปลงไปไม่  อีกทั้งหากศาลเรียกเอกสารมาตามที่จำเลยร้องขอ จักเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 6 ทั้งจะทำให้จำเลยกับบุคคลที่เกี่ยวข้องมีความผิดและเกิดความวุ่นวายในสังคมไม่หยุดหย่อน ส่งผลเสียต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนและขัดต่อการปกครองแห่งราชอาณาจักรไทย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

ที่จำเลยอ้างในทำนองว่ามีเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญนั้น เห็นว่า หลักการตามมาตรา 34 ของรัฐธรรมนูญ ระบุว่าบุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การโฆษณา หรือสื่อความหมายอื่น จำเลยจะได้รับสิทธิตามบทบัญญัติมาตรานี้ก็ต่อเมื่อจำเลยกระทำเพื่อคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานในการมีสิทธิเสรีภาพของบุคคลอันจะต้องแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การโฆษณา หรือสื่อความหมายอื่น ซึ่งต้องไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน และไม่เป็นการละเมิดต่อสิทธิเสรีภาพของบุคคลอื่น

การปราศรัยและการประกาศโฆษณาปราศรัยของจำเลยตามฟ้องข้อ 1.3 ทำให้พระมหากษัตริย์และสถาบันพระมหากษัตริย์เสื่อมเสียพระเกียรติ การกระทำของจำเลยไม่อยู่ในความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญที่จำเลยจะอ้างว่าวิพากษ์วิจารณ์ตามเจตนาแห่งรัฐธรรมนูญ การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ และฐานกระทำการโดยวาจาหรือกระทำการอื่นประกาศโฆษณาเพื่อแสดงความเห็นอันไม่ใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต ทั้งเป็นการกระทำเพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักรหรือเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแห่งแผ่นดิน

พิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามมาตรา 112 และมาตรา 116 (2) (3) การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท จึงให้ลงโทษฐานกระทำการโดยวาจาหรือกระทำการอื่นประกาศโฆษณาเพื่อแสดงความเห็นอันไม่ใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต ลงโทษจำคุก 4 ปี จำเลยให้การเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาอยู่บ้าง เห็นควรลดโทษให้หนึ่งในสาม คงจำคุก 2 ปี 8 เดือน

ศาลยังให้นับโทษจำคุกจำเลยต่อจากโทษจำคุกของจำเลยในคดีอาญาของศาลนี้ ได้แก่ อ.649/2562 (คดีชุมนุมคนอยากเลือกตั้ง ARMY57 คดีนี้ศาลพิพากษายกฟ้อง), อ.1308/2562 (คดีชุมนุมคนอยากเลือกตั้ง UN62 ยังอยู่ระหว่างพิจารณา), อ.287/2564 และ อ.539/2564 (คดีชุมนุม 19 กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร ยังอยู่ระหว่างพิจารณา)  ข้อหาและคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

ผู้พิพากษาที่ลงนามในคำพิพากษา ได้แก่ เรืองฤทธิ์ บัวลอย และ เทอดศักดิ์ อินทรปรีชา

.

ทั้งนี้ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนมีข้อสังเกตว่า ระวางโทษจำคุกตามมาตรา 116 กำหนดไว้ไม่เกิน 7 ปี ในขณะที่ระวางโทษจำคุกตามมาตรา 112 กำหนดไว้ตั้งแต่ 3 ปี ถึง 15 ปี บทบัญญัติที่มีโทษจำคุกหนักสุดจึงเป็นมาตรา 112 มิใช่มาตรา 116 ดังที่ศาลได้ระบุไว้ในคำพิพากษา

หลังการอ่านคำพิพากษา เอกชัย หงส์กังวาน ได้ยกมือและแถลงต่อศาลว่า เหตุใดจึงลงโทษจำคุก  4 ปี ไม่หยิบยกมาเพียง 3 ปี ศาลกล่าวว่า ให้เอาตัวไปขัง ศาลจะไต่เอง ทำให้เกิดความวุ่นวาย เอกชัยแถลงว่า ไม่ได้ก่อความวุ่นวาย เพียงต้องการสอบถาม อย่างไรก็ตามหลังจากที่ตำรวจศาลนำตัวเอกชัยออกไปจากห้องพิจารณาคดี ก็ไม่ได้เกิดเหตุการณ์นำตัวเอกชัยไปขังที่ห้องขังใต้ถุนศาลต่อแต่อย่างใด 

หลังจากนั้น เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ได้เข้านำตัวอานนท์กลับไปที่ห้องขังใต้ถุนศาล เพื่อรอขึ้นรถผู้ต้องขังกลับเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ทันที โดยเมื่อเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์เปิดประตูห้องพิจารณาคดีออกไป มีประชาชนยืนรอให้กำลังใจอานนท์จำนวนมาก โดยประชาชนทุกคนชูมือทำสัญลักษณ์ 3 นิ้ว พร้อมตะโกนว่า “ยกเลิก 112” ตลอดระยะเวลาที่อานนท์เดินผ่าน จนเสียงดังเข้ามาในห้องพิจารณาคดี ก่อนอานนท์จะถูกนำตัวเดินลับไป

ปัจจุบันอานนท์ถูกพิพากษาจำคุกในคดีมาตรา 112 คดีนี้เป็นคดีที่ 6 แล้ว และยังมีคดีตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่ถูกลงโทษจำคุก 2 เดือนด้วย ทำให้ปัจจุบันอานนท์มีโทษจำคุกรวมแล้ว 18 ปี 10 เดือน 20 วัน ทุกคดียังอยู่ระหว่างอุทธรณ์คำพิพากษา ยังไม่มีคดีใดสิ้นสุด

(อัปเดทวันที่ 20 ธ.ค. 2567) วันเดียวกันนี้ หลังศาลอ่านคำพิพากษาทนายความได้ยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวในคดีนี้ตามความประสงค์ของอานนท์ ต่อมาในเวลาประมาณ 16.00 น. ศาลอาญามีคำสั่งให้ส่งคำร้องขอปล่อยชั่วตัวคราวให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย

X