“อานนท์” ตั้งข้อรังเกียจศาลในคดี 112 #ม็อบแฮร์รี่พอตเตอร์1 หลังสั่งพิจารณาลับ-ห้ามเผยแพร่ โดยไม่มีเหตุตามกฎหมาย ทั้งห้ามโต้แย้ง “ถ้าใครพูด จะขังให้หมด” 

วันที่ 3 ธ.ค. 2567 ที่ศาลอาญา อานนท์ นำภา ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน  และหนึ่งในแกนนำกลุ่มคณะราษฎร 2563 วัย 40 ปี ยื่นคำร้องตั้งข้อรังเกียจศาล และคัดค้านกระบวนการพิจารณาคดีโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย พร้อมเรียกร้องให้คณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมสอบสวนและดำเนินการทางวินัยตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ.2543 มาตรา 62 ในคดีมาตรา 112 ที่สืบเนื่องมาจากการปราศรัยในการชุมนุม #เสกคาถาผู้พิทักษ์ปกป้องประชาธิปไตย หรือม็อบแฮร์รี่ พอตเตอร์ บริเวณหน้าร้านแมคโดนัลด์ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 3 ส.ค. 2563 

ก่อนหน้านี้ (27 พ.ย. 2567) ในนัดสืบพยานคดีดังกล่าว ได้เกิดเหตุการณ์ที่กระทบต่อการพิจารณาคดีด้วยความเป็นธรรม กล่าวโดยสรุปคือ เรืองฤทธิ์ บัวลอย ในฐานะผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนคดี ยืนยันไม่ออกหมายเรียกพยานเอกสารสำคัญที่จะใช้ประกอบการถามค้านพยานโจทก์ ได้แก่ ตารางการเดินทางของรัชกาลที่ 10 และเอกสารเกี่ยวกับงบประมาณ  โดยอ้างว่าการออกหมายเรียกเอกสารดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 6 และให้ทนายจำเลยถามค้านพยานโจทก์ต่อ อานนท์ ในฐานะจำเลย จึงได้ถอดเสื้อประท้วงศาลเป็นครั้งที่สอง หลังจากเคยถอดเสื้อประท้วงมาแล้วครั้งหนึ่งในนัดสืบพยานโจทก์เมื่อวันที่ 4 มิ.ย. 2567

ทันทีที่อานนท์ถอดเสื้อออก ศาลมีคำสั่งให้พิจารณาคดีลับ แม้ทนายจะแถลงเหตุผลตามหลักการทางกฎหมายหลายประการ แต่ผู้พิพากษา เรืองฤทธิ์ บัวลอย ยังคงยืนยันให้พิจารณาคดีโดยลับ และให้ตำรวจศาลเชิญประชาชนที่มาสังเกตการณ์คดีออกจากห้องพิจารณาคดีพร้อมทั้งยืนเฝ้าประตู ทั้งสั่งห้ามนำข้อมูลในห้องพิจารณาคดีไปเผยแพร่ อ้างว่าเนื่องจากเป็นคดีที่เกี่ยวกับความมั่นคง ทำให้อานนท์เขียนคำร้องขอตั้งข้อรังเกียจศาลและเปลี่ยนตัวผู้พิพากษา แต่อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญามีคำสั่งยกคำร้อง  

นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 28 พ.ย. 2567 ผู้พิพากษาคนดังกล่าวยังสั่งห้ามอานนท์แถลงเพื่อโต้แย้งคำสั่งศาลเองที่ห้ามนำข้อมูลในห้องพิจารณาคดีไปเผยแพร่โดยอ้างว่าเป็นคดีที่เกี่ยวกับความมั่นคง งดการสืบพยานจำเลย และนัดวันฟังคำพิพากษาทันทีในวันที่ 19 ธ.ค. 2567 


จากเหตุการณ์ดังกล่าว นำมาสู่การยื่นคำร้องตั้งข้อรังเกียจศาล, คำร้องคัดค้านกระบวนพิจารณาคดีที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตลอดจนยื่นคำร้องให้มีการสอบสวนและดำเนินการทางวินัยต่ออธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา, ประธานศาลฎีกา และคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม ของอานนท์เพื่อโต้แย้งความไม่เป็นธรรมในกระบวนการพิจารณาคดีนี้ นอกเหนือจากการถอดเสื้อประท้วงในห้องพิจารณา 

.

คำร้องตั้งข้อรังเกียจศาลของ “อานนท์” ระบุ พฤติกรรมของผู้พิพากษามีอคติต่อคดี 112 และมีเจตนาปกปิดการใช้อำนาจโดยมิชอบในการพิจารณาคดี อาจทำให้เสียความยุติธรรมในการพิพากษา

อานนท์ ในฐานะจำเลยของคดีนี้ ได้ยื่นคำร้องตั้งข้อรังเกียจศาลและขอเปลี่ยนตัวผู้พิพากษา โดยครั้งแรกยื่นในวันที่ 27 พ.ย. 2567 แต่อธิบดีศาลอาญา ได้ยกคำร้อง โดยระบุว่า กรณีตามคำร้องไม่เป็นเหตุให้ตั้งข้อรังเกียจผู้พิพากษา

ในวันที่ 3 ธ.ค. 2567 อานนท์ได้ยื่นคำร้องอีกครั้ง โดยมีใจความสำคัญระบุไว้หลายประการ ดังนี้

เมื่อวันที่ 27 พ.ย. 2567 จำเลยได้ยื่นคำร้องตั้งข้อรังเกียจนายเรืองฤทธิ์ บัวลอย ไว้แล้ว ต่อมา อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาได้ยกคำร้องของจำเลย ซึ่งจำเลยไม่เห็นด้วย เนื่องจากอธิบดีสั่งคำร้องไปโดยไม่ได้ดำเนินการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 14 ที่ศาลจะต้องฟังคำของคู่ความที่เกี่ยวข้องและของผู้พิพากษาที่ถูกคัดค้าน และทำการสืบพยานบุคคลเหล่านั้นได้นำมาตามสมควร แล้วจึงออกคำสั่ง

การมีคำสั่งยกคำร้องของอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาทั้งที่ปรากฏข้อเท็จจริงว่านายเรืองฤทธิ์ บัวลอย มีอคติชัดเจนกับคดีมาตรา 112 ส่งผลให้การปฏิบัติหน้าที่ในการพิจารณาคดีดังกล่าวในวันถัดมา (28 พ.ย. 2567) ยังคงดำเนินไปภายใต้อคติ ด้วยพฤติการณ์หลายประการ ดังต่อไปนี้

  1. นายเรืองฤทธิ์ ผู้พิพากษาในคดีนี้ ได้ออกข้อกำหนดห้ามนำข้อมูลในห้องพิจารณาคดีไปเผยแพร่ เนื่องจากเป็นคดีที่เกี่ยวกับความมั่นคงและสั่งพิจารณาคดีลับ จำเลยได้โต้แย้งโดยมีใจความโดยสรุปว่า ไม่มีการสืบพยาน ไม่มีการเบิกความในประเด็นที่ละเอียดอ่อน ไม่มีเหตุห้ามที่เข้าใจได้ ขอให้ศาลชี้แจงเหตุผล ศาลจะทำตามอำเภอใจไม่ได้

จำเลยเห็นว่าคำสั่งและข้อกำหนดดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย อันเป็นผลที่สืบเนื่องมาจากการสั่งพิจารณาคดีลับโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และภายใต้สิทธิของจำเลยที่ควรจะได้รับการพิจารณาคดีอย่างเปิดเผย การสั่งห้ามเผยแพร่สิ่งที่เกิดขึ้นในห้องพิจารณานี้ ซึ่งไม่มีเนื้อหาใดที่เกี่ยวกับความมั่นคงหรือกระทบต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน จึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และมีเจตนาปกปิดพฤติกรรมการใช้อำนาจที่ล้นเกินในทางมิชอบของตัวเองไม่ให้ปรากฏต่อสาธารณชน ทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย เป็นเหตุอันมีสภาพร้ายแรงซึ่งอาจทำให้การพิจารณาหรือพิพากษาคดีเสียความยุติธรรมไป   

  1. ทนายจำเลยได้ถามกับศาลว่า ท่าทีของศาลต่อการพิจารณาคดีเป็นแบบนี้ในทุกคดีความที่ศาลรับผิดชอบหรือไม่ นายเรืองฤทธิ์ได้ตอบโดยมีใจความว่า เป็นแบบนี้ถ้าเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ และในระหว่างการโต้แย้งของจำเลยด้วยเหตุผล เกี่ยวกับเหตุผลและขอบเขตที่ห้ามเผยแพร่ข้อมูลในห้องพิจารณาคดี นายเรืองฤทธิ์ได้สั่งให้จำเลยหยุดพูด ถ้าไม่เช่นนั้นจะเอาตัวลงไปขัง เมื่อจำเลยไม่หยุด ศาลจึงให้ตำรวจศาลนำตัวจำเลยลงไปขัง อีกทั้งยังพูดกับทนายจำเลยในทำนองเดียวกันว่า ถ้ามีใครพูดอะไร จะเอาไปขังให้หมด และห้ามทนายจำเลยยื่นคำร้องผ่านเจ้าหน้าที่ประจำห้องพิจารณาคดี อ้างเหตุว่า วุ่นวาย การพิจารณาคดีมันไม่สงบมานานแล้ว 

ต่อพฤติกรรมดังกล่าวของนายเรืองฤทธิ์ จำเลยได้ยื่นหนังสือร้องเรียนไปยังคณะกรรมการตุลาการในวันที่ 3 ธ.ค. 2567 เพื่อขอให้ดำเนินการสอบสวนทางวินัยตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ.2543 มาตรา 62 เนื่องด้วยพฤติกรรมของศาลในคดีนี้ ย่อมมีฐานะเป็นคู่กรณีของจำเลย และไม่อยู่ในฐานะอันควรจะเป็นผู้พิพากษาร่วมในคดีนี้ 

พฤติกรรมของนายเรืองฤทธิ์ข้างต้นแสดงให้เห็นถึงการใช้อำนาจภายใต้อคติต่อคดีมาตรา 112 ที่ชัดเจน ถือว่ามีพฤติกรรมอันขัดต่อประมวลจริยธรรมข้าราชการตุลาการ ข้อ 3 ที่กำหนดว่า “ในการนั่งพิจารณาคดี ผู้พิพากษาจักต้องวางตนเป็นกลางและปราศจากอคติ ทั้งพึงสำรวมตนให้เหมาะสมกับตำแหน่งหน้าที่ แต่งกายเรียบร้อย ใช้วาจาสุภาพ ฟังความจากคู่ความและผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายอย่างตั้งใจ ให้ความเสมอภาค และมีเมตตาธรรม” นายเรืองฤทธิ์ บัวลอย จึงไม่มีคุณสมบัติเพียงพอและไม่สมควรเป็นผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีพิพากษาคดี เพราะไม่สามารถอำนวยความเป็นธรรมแก่จำเลยได้ และย่อมมีเหตุอันควรรังเกียจ ซึ่งกรณีดังกล่าวนอกจากส่งผลกระทบต่อจำเลยแล้ว ยังกระทบต่อมาตรฐานของระบบงานยุติธรรมทางอาญาหรือสิทธิเสรีภาพพื้นฐานของประชาชนอย่างมาก โดยเฉพาะประชาชนที่ถูกฟ้องเป็นจำเลยในความผิดตามมาตรา 112  

จำเลยจึงขอเรียนต่อศาลว่า กระบวนการยุติธรรมจะดำรงความน่าเชื่อถือได้นั้น ผู้พิพากษาและตุลาการที่ทำหน้าที่พิจารณาคดีจะต้องอยู่ในฐานะที่เป็นกลาง ปราศจากอคติ แต่เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงดังกล่าว อันมีสภาพร้ายแรง จำเลยจึงขอตั้งข้อรังเกียจ และคัดค้านกระบวนการพิจารณาคดีของผู้พิพากษา คือ นายเรืองฤทธิ์ บัวลอย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 27 และมาตรา 15 ประกอบกับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง หมวด 2 ว่าด้วยการคัดค้านผู้พิพากษา และขอให้ศาลงดกระบวนพิจารณาทั้งปวงไว้ก่อนจนกว่าศาลซึ่งมีอำนาจสูงกว่าตามลำดับจะได้ผู้ชี้ขาดคำคัดค้านนี้ 

ทั้งนี้ ในการสั่งคำร้องนี้ ขอให้อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาปฏิบัติให้เป็นไปตามขั้นตอนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 14 คือ ให้อธิบดีฯ ฟังคำแถลงของคู่ความที่เกี่ยวข้องและของผู้พิพากษาที่ถูกคัดค้าน กับทำการสืบพยานหลักฐานที่บุคคลเหล่านั้นได้นำมาและพยานหลักฐานอื่นตามที่เห็นสมควรก่อน แล้วจึงมีคำสั่งต่อไป 

โดยจำเลยขอให้อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญามีคำสั่งให้จัดเก็บวีดิโอจากกล้องวงปิด, ไฟล์ภาพและเสียงกระบวนพิจารณาคดีที่เกิดขึ้นในห้องพิจารณาคดีที่ 711 ตั้งแต่เริ่มจนจบกระบวนพิจารณาคดีวันที่ 27 และ 28 พ.ย. 2567 เป็นการเร่งด่วน เพื่อให้จำเลยได้ตรวจดูและคัดลอกข้อมูลเพื่อใช้เป็นหลักฐานสำคัญ และเพื่อให้อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญามีข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเพียงพอในการสั่งคำร้องตั้งข้อรังเกียจศาลอย่างเป็นธรรมต่อไป

.

อย่างไรก็ตาม อานนท์ได้ยื่นหนังสืออีก 2 ฉบับ คือคำร้องคัดค้านกระบวนการพิจารณาคดีโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และส่งหนังสือขอให้สอบสวนและดำเนินการทางวินัยตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ.2543 มาตรา 62  ต่อประธานศาลฎีกา คณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม และอธิบดีศาลอาญา เพื่อให้มีการสอบสวนข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในห้องพิจารณาคดีดังกล่าวแล้ว ซึ่งต้องติดตามต่อว่าองค์กรศาลยุติธรรมจะมีผลตอบกลับหนังสืออย่างไรต่อไป

.

X