แถลงการณ์ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
เรื่อง ขอให้ยุติการคุกคามการใช้เสรีภาพในการแสดงออก
ตามที่ 12 องค์กรภาคประชาสังคม และรายชื่อบุคคล 17 รายได้ออกแถลงการณ์ไม่ร่วมปฏิรูปกับคณะรักษาความสงบแห่งชาติเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2557 ที่ผ่านมาโดยแถลงการณ์ประกาศจุดยืนในการไม่ยอมรับอำนาจรัฐประหารจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และไม่ยอมรับกลไกและเครื่องมือที่เกิดจากรัฐประหาร เช่น คณะรัฐมนตรี สภานิติบัญญัติแห่งชาติ และสภาปฏิรูปแห่งชาติ และปฏิเสธการเข้าร่วมเวทีหรือกระบวนการใด ๆ ที่กำลังจัดทำข้อเสนอให้คณะรัฐมนตรี สภานิติบัญญัติแห่งชาติ และสภาปฏิรูปแห่งชาติ เนื่องจากกลไกดังกล่าทำลายความเข้มแข็งของภาคประชาชนและไม่สามารถตรวจสอบนโยบายรัฐ กฎหมายหรือโครงการพัฒนาใดๆในช่วงรัฐประหารได้
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้รับข้อมูลในวันที่ 4 พฤศจิกายน 2557 ว่าบุคคลที่ร่วมลงชื่อในแถลงการณ์ดังกล่าวได้รับการติดต่อทางโทรศัพท์ให้ไปพบเจ้าหน้าที่ทหารในพื้นที่และบางกรณีเจ้าหน้าที่ทหารพร้อมฝ่ายปกครองและเจ้าหน้าที่ตำรวจได้นำกำลังพร้อมอาวุธไปที่บ้านเพื่อเชิญตัวบุคคลดังกล่าวไปให้ข้อมูลแต่ในวันดังกล่าวมีเพียง 2 รายได้ไปพบเจ้าหน้าที่ทหารแล้วที่ค่ายประจักษ์ จังหวัดอุดรธานี โดยเจ้าหน้าที่ทหารได้สอบถามถึงสาเหตุและความคิดเห็นในการออกแถลงการณ์ดังกล่าว พร้อมให้ลงนามว่าหากเจ้าหน้าที่เรียกไปพบเมื่อใดต้องไปพบในทันที ส่วนรายอื่นๆมีนัดหมายในวันถัดไปในพื้นที่จังหวัดต่างๆ เช่น มหาสารคาม ขอนแก่น เป็นต้น
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนขอแสดงความห่วงกังวลถึงการปฏิบัติการดังกล่าวของเจ้าหน้าที่ทหารดังต่อไปนี้
- การออกแถลงการณ์ของกลุ่มบุคคลดังกล่าวเป็นเสรีภาพในการแสดงออก ซึ่งกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ข้อ 19 รับรองว่าบุคคลมีสิทธิที่จะมีการแสดงความเห็นโดยปราศจากการแทรกแซง และประเทศไทยมีพันธกรณีที่ต้องปฏิบัติตาม พฤติการณ์ซึ่งเจ้าหน้าที่ทหารเรียกตัวกลุ่มบุคคลดังกล่าวไปพบอันเนื่องจากสาเหตุการออกแถลงการณ์ย่อมสร้างความหวาดกลัวให้แก่ประชาชนและเป็นการคุกคามต่อเสรีภาพดังกล่าวโดยตรง
- แม้ปัจจุบันประเทศไทยจะตกอยู่ภายใต้กฎอัยการศึกซึ่งให้อำนาจเจ้าหน้าที่ทหารควบคุมตัวบุคคลได้ไม่เกินเจ็ดวัน แต่การใช้อำนาจดังกล่าวก็มีเงื่อนไขจำกัดเพียงกรณีมีเหตุอันควรสงสัยว่า บุคคลใดจะเป็นราชศัตรูหรือได้ฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติของพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก หรือต่อคำสั่งของเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารเท่านั้น ทั้งนี้มาตราดังกล่าวไม่ได้ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ทหารในการกระทำใดๆก็ได้ตามที่ปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ทหารได้ใช้อำนาจอย่างกว้างขวาง
- พฤติการณ์ดังกล่าวของเจ้าหน้าที่ทหารย่อมเป็นการตอกย้ำแถลงการณ์ของ 12 องค์กรภาคประชาชนสังคม ว่าภายใต้สถานการณ์รัฐประหาร ประชาชนไม่อาจตรวจสอบนโยบายรัฐ กฎหมายหรือโครงการพัฒนาใดๆได้ แม้การวิจารณ์รัฐโดยสุจริตก็ไม่สามารถกระทำได้
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนจึงขอเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ทหารยุติการคุกคามการใช้เสรีภาพในการแสดงออกของกลุ่มบุคคลดังกล่าวและกลุ่มอื่นๆ ยกเลิกการประกาศกฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักร และเคารพนิติรัฐในการปกครองประเทศ ทั้งนี้เพราะการปฏิรูปไม่อาจเกิดขึ้นได้โดยปราศจากการรับฟังความคิดเห็นของทุกฝ่าย และความยุติธรรมในการบังคับใช้กฎหมายอย่างเสมอภาค
ด้วยความเคารพในอำนาจอธิปไตยของประชาชน
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน