ศาลอาญาสั่งพิจารณาลับคดี 112 #ม็อบแฮร์รี่พอตเตอร์1 ด้าน “อานนท์” ถอดเสื้อประท้วง – ตั้งข้อรังเกียจศาล หลังศาลไม่ออกหมายเรียกพยานเอกสาร

วันที่ 27 พ.ย. 2567 เวลา 09.00 น. ศาลอาญานัดสืบพยานโจทก์ในคดีมาตรา 112, มาตรา 116 และ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ของ “อานนท์ นำภา” ทนายความสิทธิมนุษยชน และหนึ่งในแกนนำกลุ่มคณะราษฎร 2563 วัย 40 ปี กรณีปราศรัยในการชุมนุม #เสกคาถาผู้พิทักษ์ปกป้องประชาธิปไตย หรือม็อบแฮร์รี่ พอตเตอร์ บริเวณหน้าร้านแมคโดนัลด์ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 3 ส.ค. 2563

ในวันนี้อานนท์ได้ถอดเสื้อประท้วงศาลเป็นครั้งที่สอง เนื่องจากศาลยืนยันไม่ออกหมายเรียกพยานเอกสารสำคัญที่จะใช้ถามค้านพยานโจทก์ ได้แก่ ตารางการเดินทางของรัชกาลที่ 10 และเอกสารเกี่ยวกับงบประมาณ  โดยอ้างว่าการออกหมายเรียกเอกสารดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 6 และให้ทนายจำเลยถามค้านพยานโจทก์ต่อ 

หลังจากนั้น ศาลได้มีคำสั่งให้พิจารณาคดีโดยลับ และให้ตำรวจศาลเชิญทุกคนที่ไม่เกี่ยวข้องออกจากห้องพิจารณาคดีพร้อมทั้งยืนเฝ้าประตู อานนท์จึงได้ยื่นคำร้องตั้งข้อรังเกียจศาลและเปลี่ยนตัวผู้พิพากษา ซึ่งอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญามีคำสั่งยกคำร้อง โดยระบุว่า กรณีตามคำร้องไม่เป็นเหตุให้ตั้งข้อรังเกียจผู้พิพากษา

ต่อมา ทนายจำเลยยืนยันไม่ถามค้าน เนื่องจากศาลไม่ออกหมายเรียกพยานเอกสารสำคัญเข้ามาในคดี ศาลจึงถือว่าจำเลยไม่ติดใจถามค้าน ทำให้การสืบพยานโจทก์เสร็จสิ้น และศาลได้สั่งให้ทนายจำเลยนำพยานจำเลยเข้าสืบต่อในวันพรุ่งนี้ (28 พ.ย. 2567)

.

วันนี้ (27 พ.ย. 2567) ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 711 อานนท์ถูกเบิกตัวจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ มาศาล โดยมีประชาชนจำนวนมากเดินทางมาให้กำลังใจและร่วมฟังการสืบพยาน รวมถึงธงชัย วินิจจะกูล นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ ต่อมา เรืองฤทธิ์ บัวลอย ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนและองค์คณะออกนั่งพิจารณาคดีระบุว่า วันนี้ให้ทนายจำเลยถามค้านพยานโจทก์ต่อจากที่ค้างไว้ 

ทนายความแถลงโต้แย้งว่า ศาลยังไม่ออกหมายเรียกพยานเอกสารให้ ทำให้ฝ่ายจำเลยไม่มีเอกสารในการถามค้าน อานนท์แถลงว่า เนื่องจากศาลไม่ออกหมายเรียกพยานเอกสารเรื่องการเดินทางของรัชกาลที่ 10  และเรื่องการใช้เงินงบประมาณให้ ฝ่ายจำเลยจึงยังไม่สามารถถามค้านได้ แม้ประสงค์จะถามค้าน

ศาลกล่าวว่า ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 6 แล้ว เรื่องพยานเอกสารที่ฝ่ายจำเลยขอมานั้น เป็นเรื่องที่จะล่วงละเมิดมิได้ ศาลขอสั่งให้ท่านสืบพยานไปเลยหรืองดสืบพยาน อานนท์แถลงโต้แย้งว่า รัฐธรรมนูญ มาตรา 6 กับเรื่องการออกหมายเรียกพยานเอกสารนั้น เป็นคนละเรื่องกัน ศาลจึงเพิ่มเติมว่า การเดินทางของพระมหากษัตริย์ เป็นเรื่องปกติที่ท่านจะเดินทางไปต่างประเทศ ส่วนเรื่องงบประมาณ ท่านก็ใช้เงินส่วนพระองค์ โดยศาลยืนยันว่าไม่ออกหมายเรียกพยานเอกสารดังกล่าวให้

ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญ มาตรา 6 วางหลักไว้ว่า “องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใด ๆ มิได้”

อานนท์จึงแถลงว่า หากท่านไม่ออกหมายเรียกให้ก็สั่งไป ผมขอถอดเสื้อประท้วงอีกครั้ง พร้อมถอดเสื้อนักโทษสีน้ำตาลออก

ทันทีที่อานนท์ถอดเสื้อออก ศาลกล่าวว่า ศาลสั่งให้พิจารณาคดีลับ และไม่อนุญาตให้ไปแถลงข่าว มิฉะนั้นจะลงโทษฐานละเมิดอำนาจศาล และสั่งให้ตำรวจศาลเชิญทุกคนออกจากห้องพิจารณาคดี โดนหากไม่ออกจะถือเป็นการละเมิดอำนาจศาล และจะให้ตำรวจศาลนำตัวไปขัง ประชาชนคนหนึ่งจึงยกมือขอลุกขึ้นแถลง แต่ศาลไม่อนุญาต หลังทุกคนออกไปจากห้องพิจารณาคดี ตำรวจศาลได้ยืนเฝ้าประตูห้องพิจารณาคดีไว้ทั้งภายในและภายนอก

ทนายจำเลยเปิดเผยว่า หลังศาลสั่งพิจารณาคดีเป็นการลับ อานนท์ได้เขียนคำร้องขอตั้งข้อรังเกียจศาลและเปลี่ยนตัวผู้พิพากษา ระบุว่า ระหว่างพิจารณา จำเลยแถลงคัดค้านการไม่ออกหมายเรียกพยานเอกสารซึ่งเป็นเอกสารสำคัญ ศาลยืนยันไม่ออกหมายเรียกให้โดยให้เหตุผลว่า การออกหมายเรียกพยานจะผิดรัฐธรรมนูญ มาตรา 6 จากนั้นจึงสั่งพิจารณาคดีลับ ไล่ผู้เข้าฟังออกจากห้องพิจารณา ห้ามแถลงข่าว และยกตัวอย่างต่อไปว่า ถ้านักการเมืองทำไม่ดี การไปด่าเขาก็ผิดกฎหมายแล้ว รวมทั้งมีถ้อยคำอื่น ๆ ที่แสดงถึงอคติ ซึ่งทำให้จำเลยรับรู้ถึงความไม่ยุติธรรมในการพิจารณาคดีของผู้พิพากษาคนนี้ ซึ่งต่อมา อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญามีคำสั่งยกคำร้อง 

นอกจากนี้ หลังจากการปรึกษากับผู้บริหารศาลอาญา ศาลยืนยันให้พิจารณาคดีโดยลับและให้พนักงานอัยการนำพยานโจทก์เข้าสืบ แต่ทนายจำเลยยืนยันไม่ถามค้าน เนื่องจากศาลไม่ออกหมายเรียกพยานเอกสารสำคัญเข้ามาในคดี ศาลจึงถือว่าจำเลยไม่ติดใจถามค้าน ทำให้การสืบพยานโจทก์เสร็จสิ้น และศาลได้สั่งให้ทนายจำเลยนำพยานจำเลยเข้าสืบต่อในวันพรุ่งนี้ (28 พ.ย. 2567) โดยไม่อนุญาตให้เลื่อนคดี แม้ฝ่ายจำเลยแถลงว่า ตามที่นัดไว้เดิมพรุ่งนี้เป็นนัดสืบพยานโจทก์ ทำให้ฝ่ายจำเลยยังไม่ได้ขอหมายเรียกพยานจำเลย และยังไม่ได้เตรียมเอกสารในการสืบพยานจำเลย

อีกทั้งศาลได้ตั้งเรื่องละเมิดอำนาจศาลกับอานนท์กรณีถอดเสื้อในห้องพิจารณาคดี โดยระบุว่า ศาลเคยได้ปรามจำเลยในการถอดเสื้อในครั้งก่อนแล้ว ครั้งนี้จำเลยยังมาทำการถอดเสื้อ เป็นการก่อความวุ่นวายและแสดงตนไม่เรียบร้อยในศาล ไม่เคารพการพิจารณาคดี 

.

เกี่ยวกับประเด็นที่ศาลอ้างว่า เอกสารที่ฝ่ายจำเลยขอออกหมายเรียกขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 6 นั้น ทนายจำเลยมีความเห็นทางกฎหมายว่า อำนาจในการออกหมายเรียกพยานเอกสารเป็นอำนาจหน้าที่โดยตรงของศาล เพื่ออำนวยความยุติธรรมให้เกิดขึ้นในคดีอาญา ซึ่งเป็นคดีที่กระทบต่อสิทธิเสรีภาพของบุคคลอย่างร้ายแรง สิทธิในการต่อสู้คดีอย่างเต็มที่และสิทธิในการได้รับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรมเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานอย่างยิ่งในกระบวนการยุติธรรม การเข้าถึงหรือได้มาซึ่งพยานหลักฐานเพื่อต่อสู้คดีและพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของจำเลยก็เป็นหนึ่งในสิทธิขั้นพื้นฐานตามกฎหมาย, ตามรัฐธรรมนูญและกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) และจำเลยพึงได้รับสิทธินั้น 

การที่ศาลให้เหตุผลว่า เอกสารที่จำเลยขอหมายเรียกนั้นเป็นเอกสารเกี่ยวข้องกับในหลวง รัชกาลที่ 10 ซึ่งตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 6 ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะล่วงละเมิดมิได้ นั้น ทนายความเห็นว่า เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ มาตรา 6 ไม่ได้มุ่งหมายให้ตีความบังคับใช้ไปในลักษณะดังกล่าว อีกทั้งการออกหมายเรียกเป็นอำนาจหน้าที่ของศาลตามกฎหมาย และไม่มีบทบัญญัติใดห้ามศาลออกหมายเรียกพยานเอกสารดังกล่าวไว้ 

ในกรณีที่ห้าม เช่น ห้ามมิให้ศาลออกหมายเรียกพระมหากษัตริย์ พระราชินี พระรัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ก็จะบัญญัติไว้ชัดเจน แต่อำนาจออกหมายเรียกพยานเอกสารไม่ได้บัญญัติไว้ ศาลจึงมีอำนาจออกหมายเรียกได้ ส่วนเมื่อออกหมายเรียกไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว หากหน่วยงานไม่ส่งเอกสารตามหมายเรียกด้วยเหตุผลประการใด ก็เป็นเรื่องของหน่วยงานนั้น ๆ จะพิจารณาต่อไป การที่ศาลปฏิเสธไม่ออกหมายเรียกพยานเอกสารให้จำเลย ส่งผลให้จำเลยไม่สามารถเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานในการได้รับการพิจารณาคดีที่เป็นธรรมและไม่อาจเข้าถึงความยุติธรรมได้

ส่วนการที่ศาลมีคำสั่งให้พิจารณาคดีลับนั้นเป็นไปโดยชอบหรือไม่ ทนายจำเลยมีความเห็นทางกฎหมายว่า  อำนาจสั่งให้พิจารณาคดีลับเป็นอำนาจของศาล ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 177 ซึ่งบัญญัติเหตุผลหรือเงื่อนไขในการสั่งพิจารณาลับไว้ว่า ต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์แห่งความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อป้องกันความลับอันเกี่ยวกับความปลอดภัยของประเทศมิให้ล่วงรู้ถึงประชาชน อย่างไรก็ตาม ในการสั่งพิจารณาคดีลับของศาลในคดีนี้ ไม่ปรากฏเหตุผลชัดเจนว่า มีเหตุตามกฎหมายประการใด 

ทั้งนี้ ก่อนที่ศาลจะสั่งพิจารณาคดีลับ ประชาชนที่เข้ามาฟังการพิจารณาก็นั่งฟังอย่างสงบเรียบร้อย ไม่ได้ก่อความวุ่นวายใด ๆ ปรากฏเพียงประชาชนบางคนยกมือขึ้นเพื่อขออนุญาตศาล ซึ่งยังไม่ปรากฏว่าประชาชนดังกล่าวยกมือขออนุญาตศาลเพื่อการใด เพราะศาลไม่อนุญาตให้พูดและสั่งให้ทุกคนออกไปจากห้องพิจารณาคดี และไม่ปรากฏว่า ศาลให้เหตุผลในการสั่งพิจารณาคดีลับโดยอ้างเหตุว่าเพื่อป้องกันความลับอันเกี่ยวกับความปลอดภัยของประเทศมิให้ล่วงรู้ถึงประชาชนแต่อย่างใด ซึ่งหากอ้างเหตุผลเรื่องนี้ก็จะเป็นเรื่องประหลาด เพราะในช่วงสืบพยานโจทก์ก็เป็นการพิจารณาคดีโดยเปิดเผยตลอดมา และที่ผ่านมากระบวนการยุติธรรมในคดีมาตรา 112 ซึ่งเคยสั่งพิจารณาคดีลับเมื่อนานมาแล้ว แต่ปัจจุบันมีพัฒนาการในส่วนนี้ คือ พิจารณาโดยเปิดเผยเป็นส่วนใหญ่ 

การพิจารณาคดีโดยเปิดเผย นอกจากจะมีส่วนช่วยทำให้จำเลยได้รับการพิจารณาคดีที่เป็นธรรม (fair trial) แล้ว ยังทำให้ประชาชนคงความเชื่อมั่นต่อสถาบันศาลว่าจะไม่มีการใช้อำนาจอย่างไม่เป็นธรรมเมื่อการพิจารณาคดีอยู่ในสายตาประชาชนอย่างเปิดเผย

X