“อานนท์” ถอดเสื้อประท้วง ยืนยันสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม หลังศาลไม่ออกหมายเรียกพยานเอกสาร ระหว่างสืบพยานคดี 112 #ม็อบแฮร์รี่พอตเตอร์1

วันที่ 4 มิ.ย. 2567 เวลา 9.00 น. ศาลอาญานัดสืบพยานโจทก์ในคดีข้อหาหลักตามมาตรา 112, มาตรา 116 และ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ของ “อานนท์ นำภา” ทนายความสิทธิมนุษยชน และหนึ่งในแกนนำกลุ่มคณะราษฎร 2563 วัย 39 ปี กรณีปราศรัยในการชุมนุม #เสกคาถาผู้พิทักษ์ปกป้องประชาธิปไตย หรือม็อบแฮร์รี่ พอตเตอร์ บริเวณหน้าร้านแมคโดนัลด์ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 3 ส.ค. 2563

คดีนี้ เดิมมีนัดสืบพยานต่อเนื่องทั้งสัปดาห์ตั้งแต่วันที่ 4 – 7 มิ.ย. 2567 โดยในวันนี้ พนักงานอัยการได้ซักถามพยานโจทก์ไปทั้งสิ้น 2 ปาก เป็นพยานความคิดเห็น และ พนักงานสอบสวน สน.ชนะสงคราม แต่เนื่องจากทนายความยังไม่ได้รับพยานเอกสารที่ขอหมายเรียกมาใช้ประกอบในการถามค้าน ศาลจึงอนุญาตให้เลื่อนไปสืบพยานต่อในวันที่ 27 – 28 พ.ย. 2567 เวลา 9.30 – 16.30 น.

นอกจากนี้ ศาลยังมีคำสั่งตามคำร้องขอให้ศาลออกหมายเรียกพยานเอกสาร ฉบับลงวันที่ 2 พ.ย. 2565 ว่า เอกสารการเดินทางของพระมหากษัตริย์และเอกสารอื่นที่เกี่ยวข้อง กรณีเห็นว่าคดีสามารถวินิจฉัยได้โดยไม่จำเป็นต้องใช้เอกสารดังกล่าว จึงไม่อนุญาต 

อานนท์และทนายความได้ทวงถามเหตุผลศาลที่ไม่ออกหมายเรียกพยานเอกสารให้ แต่ศาลตอบเพียงเหตุผลในข้างต้น และหากฝ่ายจำเลยไม่เห็นด้วย ก็ขอให้ทำคำร้องคัดค้านคำสั่งศาล

อานนท์จึงลุกขึ้นแถลงว่า เมื่อผมไม่สามารถได้รับความยุติธรรมในกระบวนการยุติธรรมที่ล้มเหลวขนาดนี้ได้ ผมขอถอดเสื้อประท้วงท่าน พร้อมถอดเสื้อนักโทษสีน้ำตาลออก เพื่อยืนยันสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรมของตนเอง

.

วันนี้ (4 มิ.ย. 2567) เวลาประมาณ 9.30 น. ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 711 อานนท์ถูกเบิกตัวมาจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ โดยถูกพันธนาการด้วยกำไลข้อเท้า มีนักกิจกรรมและประชาชนเดินทางมาร่วมสังเกตการณ์คดีและให้กำลังใจจำนวนมาก เช่น เบนจา อะปัญ และ ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ เป็นต้น

ต่อมาผู้พิพากษาออกนั่งพิจารณาคดี แจ้งว่าหลังจากนี้ศาลจะจัดให้มีการบันทึกคำเบิกความพยานโดยวิธีการบันทึกภาพและเสียง (e-hearing) พนักงานอัยการจึงนำพยานความคิดเห็นเข้าซักถามจนจบ 

ทนายความแถลงต่อศาลว่า จะขอเลื่อนการถามค้านออกไปก่อน เพื่อรอพยานเอกสารที่ได้ขอหมายเรียกไปในคดี โดยอานนท์แถลงเสริมว่า พยานเบิกความถึงคำปราศรัยของจำเลยว่ามีข้อเท็จจริงหลายเรื่องที่มีคลาดเคลื่อนจากความจริง โดยส่วนหนึ่งในคำปราศรัยของจำเลยกล่าวถึงเรื่องที่พระมหากษัตริย์เดินทางไปพำนักอยู่ที่ประเทศเยอรมนี และเรื่องการใช้งบประมาณของสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งต้องใช้พยานเอกสารในการพิสูจน์ข้อเท็จจริง

ศาลกล่าวว่า พยานปากนี้เป็นเพียงพยานความเห็น จึงเห็นควรให้ทนายจำเลยถามค้านไป และในประเด็นดังกล่าว ศาลสามารถวินิจฉัยเองได้ ไม่จำเป็นต้องใช้พยานเอกสารในการถามค้านพยาน และย้ำว่า ไม่ต้องกังวลเรื่องพยานเอกสาร เนื่องจากศาลมีความเป็นอิสระ หากเห็นว่าควรเรียกพยานเอกสารก็เรียก แต่พยานเอกสารเรื่องการเดินทางของรัชกาลที่ 10  และเรื่องการใช้เงินงบประมาณนั้น ศาลสามารถพิจารณาเองได้ การที่พยานต้องมาศาลอีกครั้งจะเป็นการเสียเวลา

อานนท์จึงถามศาลว่าท่านเห็นชุดที่ผมใส่หรือไม่ (ชุดนักโทษสีน้ำตาล) โดยทนายความกล่าวต่อว่า ไม่อยากให้ศาลพูดว่าเสียเวลา เพราะสิทธิในการต่อสู้คดีของจำเลยสำคัญกว่าเรื่องนั้น ในประเด็นนี้มีการโต้แย้งกันอยู่เป็นเวลานาน 

ทนายความแถลงว่า จำเลยต้องการยืนยันว่ากระบวนการถามค้านเป็นวิธีการหนึ่งในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม จึงขอทำอย่างเต็มที่ โดยมีพยานเอกสารในการถามค้าน 

อานนท์กล่าวเสริมว่า การไม่นำเอาพยานเอกสารมาให้เป็นเรื่องที่ไม่ยุติธรรม ในคดีที่แล้วของศาลนี้ เมื่อไม่มีพยานเอกสาร ศาลก็พิพากษาว่าผมพูดเท็จ โดยอานนท์ยืนยันว่าพยานเอกสารที่ขอให้ศาลออกหมายเรียกไปทั้งหมดเป็นพยานเอกสารสำคัญ ซึ่งไม่ได้จะส่งผลแค่ในคดีนี้เท่านั้น แต่จะส่งผลถึงคดีมาตรา 112 ทุกคดี

พนักงานอัยการกล่าวว่า พยานปากที่สืบไปมีลักษณะการเบิกความคล้ายพยานปาก อภิวัฒน์ ขันทอง ซึ่งเจ้าของสำนวนเดิมให้เลื่อนการถามค้านไปจนกว่าจะได้พยานเอกสารมาพิสูจน์ข้อเท็จจริง 

ศาลกล่าวว่า ประเทศไทยปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เมื่อพระมหากษัตริย์เป็นประมุขจะไปก้าวก่ายได้หรือไม่ 

ศาลกล่าวว่า แม้เป็นความจริงก็เป็นความผิดหมิ่นประมาทได้ อานนท์จึงแถลงโต้แย้งว่า เรื่องการใช้งบประมาณแผ่นดินเป็นเรื่องสาธารณะ โดยมีทนายความเสริมว่า นอกจากมาตรา 112 แล้ว จำเลยยังถูกฟ้องตามมาตรา 116 ด้วย ซึ่งจำเป็นต้องพิสูจน์ว่าจำเลยพูดโดยสุจริตหรือไม่ 

หลังจากการโต้แย้งกัน ศาลขอพักการพิจารณาเป็นเวลา 10 นาที เพื่อขึ้นไปปรึกษากับองค์คณะ โดยกล่าวว่า การพิจารณาคดีจะเอาแต่ใจไม่ได้ ศาลไม่ได้รังเกียจรังงอนจำเลย แต่ทุกคนมีหน้าที่ เป็นบุญแล้วที่จำเลยได้ผู้พิพากษาแบบนี้ ความจริงศาลไม่ได้อยากได้คดีการเมือง หากท่านไปเจอองค์คณะอื่นอาจแย่กว่านี้

ต่อมาศาลกลับมานั่งพิจารณาคดีพร้อมกล่าวว่า ฝ่ายจำเลยเคยตกลงกับผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนเดิมว่า จะให้ถามค้านหลังจากได้พยานเอกสาร จึงจะให้เลื่อนการถามค้านไปก่อน 

หลังจากนั้น ศาลให้พนักงานอัยการนำพยานปาก พ.ต.ท.โชคอำนวย วงษ์บุญฤทธิ์ พนักงานสอบสวน สน.ชนะสงคราม เข้าซักถามจนจบ และค้างการถามค้านไว้ ก่อนขึ้นไปปรึกษาผู้บริหารศาลเรื่องการออกหมายเรียกพยานเอกสาร 

ต่อมาศาลกลับมานั่งพิจารณาคดีอีกครั้ง และมีคำสั่งตามคำร้องขอให้ศาลออกหมายเรียกพยานเอกสาร ฉบับลงวันที่ 2 พ.ย. 2565 ว่า เอกสารการเดินทางของพระมหากษัตริย์และเอกสารอื่นที่เกี่ยวข้อง กรณีเห็นว่าคดีสามารถวินิจฉัยได้โดยไม่จำเป็นต้องใช้เอกสารดังกล่าว จึงไม่อนุญาต 

อานนท์และทนายความได้ทวงถามเหตุผลศาลที่ไม่ออกหมายเรียกพยานเอกสารให้ แต่ศาลตอบเพียงเหตุผลในข้างต้น และหากฝ่ายจำเลยไม่เห็นด้วย ก็ขอให้ทำเป็นคำแถลงคัดค้านคำสั่งศาล

อานนท์แถลงว่า หากมาตรา 112 ไม่ให้พิสูจน์ความจริง แล้วผมจะได้ความเป็นธรรมตอนใด ศาลกล่าวว่า จะได้ความเป็นธรรมตอนพิพากษา 

อานนท์จึงลุกขึ้นแถลงว่า เมื่อผมไม่สามารถได้รับความยุติธรรมในกระบวนการยุติธรรมที่ล้มเหลวขนาดนี้ได้ ผมขอถอดเสื้อประท้วงท่าน พร้อมถอดเสื้อนักโทษสีน้ำตาลออก เพื่อยืนยันสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรมของตนเอง

ศาลกล่าวว่า ท่านถอดเสื้อ แต่งตัวไม่เรียบร้อย อาจมีมาตรการ โดยหากยังดื้อดึง จะออกข้อกำหนดให้คดีนี้พิจารณาลับ

ทนายความแถลงว่า ข้อเท็จจริงเท่านี้เพียงพอให้วินิจฉัยแล้วหรือ ศาลทราบเรื่องงบประมาณของสถาบันพระมหากษัตริย์ว่ามีรายละเอียดการใช้จ่ายอย่างไรหรือ ศาลทราบรายละเอียดการเดินทางของในหลวง ร.10 หรือ ศาลกล่าวว่า ศาลวินิจฉัยว่าหมิ่นหรือไม่หมิ่น ไม่ก้าวก่ายเรื่องการใช้งบประมาณของสถาบันพระมหากษัตริย์ 

ทนายความกล่าวว่า จะทำคำร้องคัดค้านคำสั่งของศาลต่อไป และชี้แจงว่า สิ่งที่จำเลยเรียกร้องคือให้กระบวนการยุติธรรมช่วยเป็นธรรมกับเขา โดยพยานเอกสารเรื่องการเดินทางของรัชกาลที่ 10 เป็นข้อมูลในอดีต ไม่สามารถกระทบกระเทือนต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ได้ แต่หากไม่มีพยานเอกสารมายืนยัน จำเลยก็ไม่มีโอกาสได้ต่อสู้คดีเพื่อพิสูจน์ว่าสิ่งที่ตัวเองพูดนั้นเป็นความจริง 

องค์คณะผู้พิพากษาที่ออกนั่งพิจารณาคดีในวันนี้ ได้แก่ เรืองฤทธิ์ บัวลอย, เทอดศักดิ์ อินทรปรีชา, ภัคภร กมลรัตนกุล และ ปภัสสร เที่ยงสุทธิสกุล

X