เลื่อนสืบพยานคดี #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร ศาลชี้เอกสารที่ร้องขอไม่ใช่พยานหลักฐานสำคัญ เพราะ ม.112 ไม่จำเป็นต้องพิสูจน์ว่าพูดจริงหรือเท็จ

28 ต.ค. 2565 เวลา 9.00 น. ศาลอาญานัดสืบพยานโจทก์ ในคดีชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร เมื่อวันที่ 19-20 ก.ย. 2563 ที่บริเวณมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ และสนามหลวง ต่อหลังจากเลื่อนมาแล้วหลายครั้ง จากเหตุที่ศาลยกคำร้องขอออกหมายเรียกพยานเอกสารให้ฝ่ายจำเลย และในพยานเอกสารที่ศาลออกหมายเรียกให้แล้ว หน่วยงานที่ครอบครองเอกสารยังไม่จัดส่งเอกสารให้

.

คดีนี้มีจำเลยเป็นนักกิจกรรมทั้งหมด 22 ราย ถูกฟ้องด้วยข้อหาหลักตามมาตรา 112 จำนวน 7 คน คือ “รุ้ง” ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล, “เพนกวิน” พริษฐ์ ชิวารักษ์, อานนท์ นำภา, “หมอลำแบงค์” ปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม, สมยศ พฤกษาเกษมสุข, “ไมค์” ภาณุพงศ์ จาดนอก และ “ไผ่” จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา อีก 15 คน ถูกฟ้องในข้อหาหลักตามมาตรา 116 นอกจากนี้ยังมีข้อหาอื่นๆ อีกหลายข้อหาตาม พ.ร.บ.โบราณสถานฯ, พ.ร.บ.ความสะอาดฯ, พ.ร.บ.จราจรฯ และ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

.

ศาลชี้พยานเอกสารที่ร้องขอไม่ใช่พยานหลักฐานสำคัญของจำเลย องค์ประกอบมาตรา 112 ไม่จำเป็นต้องพิสูจน์ว่าจริงหรือเท็จ

ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 704 เวลา 10.17 น. เมื่อศาลออกนั่งพิจารณา ได้เรียกพนักงานอัยการและทนายความไปสอบถามเรื่องการสืบพยานที่ค้างไว้จากครั้งก่อน ทนายความจึงแถลงต่อศาลว่ายังไม่มีพยานเอกสารมาประกอบในประเด็นการเดินทางของรัชกาลที่ 10 ไปเยอรมนี เนื่องจากศาลยกคำร้องขอออกหมายเรียกพยานเอกสาร และทนายความขอให้ศาลช่วยอธิบายเหตุผลให้แก่จำเลยในคดี

ศาลอธิบายว่าการพิจารณาเป็นไปตามกฎหมาย โดยขยายความว่าเป็นเรื่องของความเป็นกลางของศาล ไม่ต้องการให้ก้าวล่วง และต้องอยู่ในกรอบของกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพราะมาตรา 112 นี้ แม้ทนายความพยายามพิสูจน์ว่าจำเลยพูดความจริง แต่ไม่ว่าจะเป็นเรื่องจริงหรือไม่จริงก็มีความผิดตามมาตรานี้ได้ ศาลพิจารณาตัดสินตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย ต้องคำนึงถึงหลักการพิจารณาคดีด้วยความรวดเร็ว และหลักกฎหมายตามวิธีพิจารณาความอาญา

“ถ้าโจทก์ไม่นำสืบสิ่งที่ตัวเองกล่าวอ้าง สืบไม่สม สืบไม่ชัดเจน ศาลก็ยกฟ้อง ท่านทนายจำเลยถามค้าน พยานโจทก์ไม่น่าเชื่อถือ ศาลก็ยกฟ้องไป ศาลมองว่าสิ่งที่ทนายขอร้องมาไม่ใช่พยานหลักฐานสำคัญของจำเลย เป็นพยานของโจทก์ ถ้าโจทก์ไม่กล่าวอ้างนำสืบ ก็ยกฟ้องไป” 

ผู้พิพากษา นายกมล สุปรียสุนทร ยังอธิบายเพิ่มเติมว่า กรณีมาตรา 112 มีแนวปฏิบัติ 2 แนว แนวแรกคือวิพากษ์วิจารณ์ไม่ได้โดยเด็ดขาด (Absolute Monarchy) และแนวที่ 2 คือ อาจจะวิพากษ์วิจารณ์ได้ แต่ศาลเห็นว่ากฎหมายห้ามพูดในลักษณะก้าวล่วง (Untouchable) และไม่จำเป็นต้องพิสูจน์ว่าจริงหรือเท็จ

.

ทนายแถลงขอให้เรียกพยานหลักฐานมาเพื่อให้จำเลยได้ต่อสู้คดีอย่างเต็มที่ เนื่องจากไม่ได้มีแค่ข้อหาตาม ม.112 แต่มี ม.116 ซึ่งต้องพิสูจน์ความสุจริตด้วย 

ทนายจำเลยยังแถลงต่อศาลใน 2 ประเด็น ดังนี้

  1. มาตรา 112 ไม่มีข้อยกเว้นก็จริง แต่มีกฎหมายแม่อย่างรัฐธรรมนูญ ต้องเรียกพยานหลักฐานมาเพื่อพิสูจน์สิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นตามรัฐธรรมนูญ
  2. มาตรา 112 ไม่ต้องพิสูจน์ความจริงหรือไม่จริง แต่มีจำเลยในคดีนี้ที่ถูกกล่าวหาตามมาตรา 116 ด้วย ซึ่งองค์ประกอบความผิดต้องมิใช่การกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต ถ้าจำเลยแสดงความคิดเห็นโดยสุจริตก็จะไม่มีความผิด ดังนั้นจึงต้องนำพยานหลักฐานมาพิสูจน์ความจริงในประเด็นนี้

อย่างไรก็ตามศาลก็ให้ความเห็นว่า แค่ดูเจตนา ถ้าไม่มีเจตนาร้ายก็ไม่มีความผิด ทนายจึงแถลงว่าก็จำเป็นต้องพิสูจน์ว่าจำเลยพูดปราศรัยไปตามข้อเท็จจริง ไม่ได้มีเจตนาร้าย

นอกจากนี้ทนายความยังได้มีการแถลงตั้งคำถามว่า ศาลจะใช้หลักในการพิจารณาตามแนวทางความเห็นเรื่องมาตรา 112 ที่ศาลให้ไว้หรือไม่ ทั้งในการดำเนินคดี และการบันทึกถ้อยคำ เพื่อให้มีการตกลงแนวทางในการพิจารณาคดีให้ชัดเจน

.

พยานซึ่งสืบค้างไว้ในนัดก่อนหน้า ติดภารกิจ อัยการจึงนำอดีต ผอ.เขตพระนคร เข้าสืบ

การที่พนักงานอัยการนำพยานอีกปากหนึ่ง ซึ่งเป็นอดีตผู้อำนวยการเขตพระนครมาสืบพยานก่อน เนื่องจาก พ.ต.อ.วรศักดิ์ พิสิษฐบรรณกร อดีตผู้กำกับการ สน.ชนะสงคราม ที่เป็นผู้กล่าวโทษคดีนี้ ซึ่งยังสืบค้างไว้ โดยทนายยังไม่ได้ถามค้าน อาจทำให้จำเลยเสียเปรียบ หากมีการสืบพยานปากปัจจุบันไปก่อน แล้วพยานคนดังกล่าวมาทราบวิธีการและเนื้อหาในการซักค้านของทนาย

นอกจากนี้ทนายความยังแถลงชี้แจงว่า ในพยานหลักฐานที่ศาลออกหมายเรียกให้แล้วนั้น เจ้าหน้าที่ศาลอาญายังไม่ได้ส่งหมายไปยังศาลแพ่งและศาลอุทธรณ์ โดยเจ้าหน้าที่อ้างว่าศาลไม่รับ แต่ไม่ได้มีการปิดหมาย (กฎหมายกำหนดว่าถ้าไม่รับให้ปิดหมาย) เมื่อเจ้าหน้าที่ยังไม่ได้ดำเนินการทำให้ ก็ไม่มีพยานหลักฐานมาสืบพยานในวันนี้

.

“เพนกวิน” ยังขอแถลงต่อศาล 5 ประเด็น ดังนี้

  1. ศาลไม่อยากให้กระบวนการพิจารณาสร้างความเดือดร้อน หรือกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงรัฐ แต่พยานหลักฐานที่ขอให้ศาลเปิดนั้นจะสร้างความเสียหายได้อย่างไร
  2. ศาลกล่าวว่าต้องวิจารณ์สถาบันกษัตริย์ตามกรอบของกฎหมาย ห้ามก้าวล่วง การพิสูจน์ความจริงจะเป็นการก้าวล่วงได้อย่างไร
  3. เมื่อมาตรา 112 ไปขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 34 เป็นเรื่องของข้อกฎหมาย ศาลต้องยึดหลักตามกฎหมายแม่
  4. ก่อนหน้านี้มีคดี 112 ของ สนธิ ลิ้มทองกุล ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าสนธิมีเจตนาสุจริต ไม่มีเจตนาดูหมิ่น หมิ่นประมาท และยกฟ้อง ดังนั้นถ้าในคดีนี้จำเลยสามารถพิสูจน์เจตนาได้ จำเลยในคดีนี้ก็ควรมีสิทธิพิสูจน์เจตนาสุจริตได้เช่นเดียวกัน
  5. ศาลกล่าวว่าฝ่ายโจทก์เป็นผู้มีภาระในการนำสืบ แต่คดีนี้นอกจากจะถูกพิพากษาโดยศาลแล้ว ยังถูกพิพากษาโดยสังคมด้วย สิ่งที่จำเลยพูดปราศรัยจะเป็นประโยชน์สาธารณะหรือไม่ สังคมมาอ่านคำพิพากษาจะได้ทราบ

.
ในเวลา 11.42 น. ขณะที่ทนายความและจำเลยยังปรึกษาหารือกัน พนักงานอัยการก็เริ่มการสืบพยานโจทก์ โดยศาลเห็นว่าการสืบพยานปากที่อัยการนำมาในวันนี้ ไม่ทำให้คดีของจำเลยทั้ง 22 คนเสียเปรียบ จึงให้มีการสืบพยานโดยมิได้ประกาศผ่านไมค์ให้ทราบ ทำให้ทนายความและจำเลยจึงต้องเข้าไปแถลงปัญหาที่เกิดขึ้นที่หน้าบัลลังก์ การสืบพยานจึงหยุดชะงัก 

เมื่อทนายความและจำเลยออกมาจากหน้าบัลลังก์ พนักงานอัยการจึงนำพยานปากนี้เข้าสืบต่อ จนถึงเวลา 12.30 น. อัยการแถลงว่าพยานติดภารกิจสำคัญในช่วงบ่าย ขอเลื่อนไปสืบพยานต่อในนัดหน้า และยกเลิกวันนัดที่เคยนัดไว้ก่อนหน้านี้เนื่องจากเอกสารที่ขอหมายเรียกไปยังศาลแพ่งและศาลอุทธรณ์ยังไม่ได้รับ 

ศาลให้เลื่อนไปนัดสืบพยานปากวันนี้พร้อมกับพยานปาก พ.ต.อ.วรศักดิ์ ไปในวันที่ 23 พ.ย. 2565 เวลา 9.00 น. พร้อมกำชับทนายจำเลยให้เร่งติดตามเอกสารและแจ้งผลให้เรียบร้อยก่อนวันนัด 

.

ย้อนอ่านปัญหาประเด็นการร้องขอออกหมายเรียกพยานเอกสารในคดีนี้

ทบทวนมหากาพย์การร้องขอออกหมายเรียกพยานเอกสารในคดี #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร

X