29 ก.ย. 2565 “เพนกวิน” พริษฐ์ ชิวารักษ์ และ “ไผ่” จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา 2 นักศึกษาและนักกิจกรรมทางการเมือง เดินทางจากกรุงเทพมหานครมายังศาลจังหวัดขอนแก่น ในนัดส่งฟ้องคดีมาตรา 112, มาตรา 116 และ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากเหตุการณ์ชุมนุม “จัดม็อบไล่แม่งเลย” เมื่อวันที่ 20 ส.ค. 2563 ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยจังหวัดขอนแก่น และ “หมายที่ไหนม็อบที่นั่น” เมื่อวันที่ 10 ก.ย. 2563
ประมาณ 14.00 น. เจ้าหน้าที่สำนักงานอัยการจังหวัดขอนแก่นนำคำฟ้องมายื่นต่อศาล ก่อนที่ตำรวจศาลจะพาพริษฐ์และจตุภัทร์ไปที่ห้องควบคุมตัวที่อยู่ใต้ถุนศาล ระหว่างที่ทนายความและแม่ของพริษฐ์เตรียมเอกสารสำหรับยื่นขอปล่อยตัวชั่วคราว ราว 14.20 น. พริษฐ์แจ้งว่าเขาและจตุภัทร์ถูกนำตัวมาที่ห้องพิจารณาคดีที่ 7 ทนายความและแม่ของพริษฐ์จึงตามไป ในห้องพิจารณาคดียังมี ทิวากร วิถีตน จำเลยคดี 112 ที่ศาลเพิ่งอ่านคำพิพากษายกฟ้องไปตอนช่วงเช้าวันเดียวกัน มาให้กำลังใจนักกิจกรรมทั้งสองอีกด้วย
ประดิษฐ์ พงษ์สุวรรณ์ ผู้พิพากษา อ่านคำฟ้องให้จำเลยทั้งสองฟัง จากนั้นสอบถามว่า ทั้งสองจะให้การอย่างไร พริษฐ์และจตุภัทร์ยืนยันให้การปฏิเสธ และขอต่อสู้คดี โดยจะแต่งตั้งทนายความมาในนัดหน้า จากนั้นศาลจึงหารือกับทั้งอัยการและฝ่ายจำเลยในการกำหนดวันนัดสอบคำให้การและตรวจพยานหลักฐาน ซึ่งระบุว่าต้องเป็นวันจันทร์
นรเศรษฐ์ นาหนองตูม ทนายความ แถลงกับศาลว่า ด้วยทั้งตัวพริษฐ์และจตุภัทร์ต่างถูกดำเนินคดีจากการแสดงออกทางการเมืองอยู่หลายคดี โดยในเดือนตุลาคมและเดือนพฤศจิกายน มีนัดสืบพยานที่ศาลในกรุงเทพฯ จำนวนหลายคดี โดยมากจะเริ่มในวันอังคาร หากมาศาลนี้ในวันจันทร์ แล้วต้องเดินทางกลับไปกรุงเทพฯ ด้วยรถโดยสารในช่วงกลางคืนก็จะไม่สะดวกต่อจำเลยทั้งสอง เนื่องจากทั้งสองยังติด EM ตามเงื่อนไขประกันของศาลอื่น ทำให้ไม่สามารถเดินทางด้วยเครื่องบินได้ จึงขอให้ศาลนัดพิจารณาคดีนี้นานกว่าปกติ รวมทั้งนัดสอบคำให้การในเดือนธันวาคม ศาลจึงนัดสอบคำให้การและตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 19 ธ.ค. 2565
เมื่อทนายความสอบถามถึงการขอปล่อยตัวชั่วคราว ศาลกล่าวว่าจะสั่งในรายงานกระบวนพิจารณาเลย ต่อมา ศาลได้อ่านรายงานกระบวนพิจารณา ซึ่งระบุคำสั่งในตอนท้ายรายงานว่า อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยทั้งสอง เนื่องจากจำเลยไม่มีพฤติการณ์หลบหนี โดยให้ทำสัญญาประกันวงเงิน 50,000 บาท แต่ไม่ต้องวางหลักประกัน
หลังจากเสร็จสิ้นกระบวนการ ตำรวจประจำศาลยังนำตัวพริษฐ์และจตุภัทร์กลับลงไปที่ห้องขัง ก่อนที่ทั้งสองจะได้รับการปล่อยตัวราว 15.30 น. และเตรียมตัวเดินทางกลับกรุงเทพฯ ในคืนนั้น
.
ฟ้อง 112 เพนกวิน จากการปราศรัยข้อเสนอ #ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ทําให้ประชาชนรู้สึกต่อกษัตริย์ในทางลบ
คำฟ้องของ พ.ต.ท.วัฒนพงศ์ จันทระ พนักงานอัยการจังหวัดขอนแก่น ระบุฐานความผิดที่ฟ้องพริษฐ์และจตุภัทร์ว่า ร่วมกันจัดให้มีการชุมนุมและร่วมกันชุมนุมในสถานที่แออัด หรือในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค ฝ่าฝืนข้อกำหนดที่ออกตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และร่วมกัน “ยุยงปลุกปั่น” ตามประมวกฎหมายอาญา มาตรา 116 และยังฟ้องพริษฐ์ในอีกฐานความผิด คือ “หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ด้วย
พนักงานอัยการบรรยายการกระทำที่กล่าวหาว่าเป็นความผิด ดังนี้
1. เมื่อวันที่ 20 ส.ค. 2563 พริษฐ์ได้หมิ่นประมาท ดูหมิ่น รัชกาลที่ 9 และรัชกาลที่ 10 โดยได้กล่าวปราศรัยโดยใช้เครื่องขยายเสียงให้กับประชาชนจํานวนมากที่เข้าฟังการปราศรัย และที่ฟังผ่านการถ่ายทอดสดทางเพจเฟซบุ๊ก ชื่อ “ขอนแก่นพอกันที” สรุปใจความได้ว่า เป็นการกล่าวใส่ความพระมหากษัตริย์ทั้งสองพระองค์ว่าเซ็นรับรองการรัฐประหาร และใช้ภาษีของประชาชนตามอําเภอใจ ทําให้ประชาชนที่ได้ฟังมีความรู้สึกในทางลบ โดยประการที่ทําให้พระมหากษัตริย์ทั้งสองพระองค์เสื่อมเสียพระเกียรติยศ
2. ตามวันเวลาดังกล่าว พริษฐ์ได้ร่วมกันกับประชาชนอีกหลายคน จัดให้มีการชุมนุมรวมตัวกันที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จังหวัดขอนแก่น มีประชาชนเข้าร่วมประมาณ 2,000 คน อันเป็นการร่วมกันชุมนุมในสถานที่แออัด หรือในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค
3. ต่อมา วันที่ 10 ก.ย. 2563 พริษฐ์และจตุภัทร์ได้ร่วมกันกับประชาชนอีกหลายคน จัดให้มีการรวมตัวกันตั้งขบวนที่บริเวณอนุสาวรีย์จอมพลสฤษดิ์ มีประชาชนเข้าร่วมประมาณ 50 คน และเดินขบวนไปตามถนนมุ่งหน้าไปที่บริเวณหน้า สภ.เมืองขอนแก่น ปราศรัยเรียกร้องให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ อันเป็นการร่วมกันชุมนุมในสถานที่แออัด หรือในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค
4. เมื่อวันที่ 10 ก.ย. 2563 พริษฐ์และจตุภัทร์ได้ร่วมกันเป็นแกนนําในการจัดกิจกรรมทางการเมืองที่จังหวัดขอนแก่น ทั้ง “จัดม็อบไล่แม่งเลย” และ “หมายที่ไหน ม็อบที่นั่น” มีการประกาศนัดหมายเชิญชวนประชาชนผ่านสื่อสังคมออนไลน์ โดยจําเลยทั้งสองกับพวกอีกหลายคนได้จัดทําป้ายผ้า จํานวน 17 แผ่น มีข้อความดังนี้ 1.มิได้เป็นผู้มีมลทินมัวหมอง, 2.ยุบสภาภายใต้กติกาใหม่, 3.ไม่เอารัฐประหาร, 4.ไม่เอา รบ.แห่งชาติ, 5.กษัตริย์อยู่ใต้ รธน., 6.ยกเลิก รธน.ม.6, 7.ยกเลิก ม.112, 8.ควบคุมตรวจสอบทรัพย์สินกษัตริย์, 9.ลดงบกษัตริย์, 10.ยกเลิกส่วนราชการในพระองค์, 11.ยกเลิกรับบริจาคโดยราชกุศล, 12.ยกเลิกราชอํานาจในการแสดงความเห็นทางการเมือง, 13.ยกเลิกการประชาสัมพันธ์ด้านเดียว, 14.หยุดคุกคามประชาชน, 15.ร่างรัฐธรรมนูญใหม่, 16.ยกเลิกเกณฑ์ทหาร, 17.ยกเลิกรับรอง รปห.
จากนั้นมีการชุมนุมกันที่อนุสาวรีย์จอมพลสฤษดิ์ และเดินแห่ป้ายข้อความดังกล่าวไปตามถนน พร้อมกับกล่าวปราศรัยทางเครื่องขยายเสียงให้ประชาชนเข้าร่วมชุมนุมต่อต้านการปกครองแผ่นดินในความหมายตามป้าย เมื่อถึงหน้า สภ.เมืองขอนแก่น ได้ร่วมกันนําป้ายติดที่ตัวอาคาร แล้วผลัดเปลี่ยนกันกล่าวปราศรัย
การกล่าวปราศรัยของจําเลยทั้งสองตามความหมายในป้ายผ้า ซึ่งมุ่งหมายให้ยกเลิกหรือริดรอนพระราชอํานาจของสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะของปวงชน และให้ยกเลิกรัฐธรรมนูญ มาตรา 6 ซึ่งเป็นข้อกฎหมายโดยตรงของสถาบันพระมหากษัตริย์ ไม่อาจถือได้ว่าเป็นการแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต
และการที่จําเลยทั้งสองได้ร่วมกันชักชวนและกล่าวปราศรัยให้ประชาชนริดรอนพระราชอํานาจ พร้อมทั้งแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าว และมีประชาชนเข้าร่วมเป็นจํานวนมากประมาณ 50 คน กับมีประชาชนที่ได้ยินการปราศรัยจากเครื่องขยายเสียงของจําเลยทั้งสอง ถือเป็นการร่วมกันกระทําให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือ หรือวิธีอื่นใด อันมิใช่การกระทําภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร และเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน
ท้ายคำฟ้อง อัยการไม่ได้คัดค้านการปล่อยตัวชั่วคราว แต่ขอให้ศาลนับโทษของพริษฐ์ในคดีนี้ต่อจากโทษในคดีตาม พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ ของศาลแขวงปทุมวัน และคดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ของศาลแขวงขอนแก่น ซึ่งทั้งสองคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล ทั้งยังขอให้เพิ่มโทษจตุภัทร์ จากเหตุที่พ้นโทษจำคุกในคดี 112 ของศาลนี้ ยังไม่ถึง 5 ปี แล้วมาถูกดำเนินคดีในคดีนี้อีก
การชุมนุม “จัดม็อบไล่แม่งเลย” มีขึ้นเมื่อวันที่ 20 ส.ค. 2563 ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จังหวัดขอนแก่น เป็นนัดชุมนุมใหญ่เรียกร้องให้รัฐบาลปฏิบัติตามข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมทั่วประเทศ ได้แก่ 1.ยุบสภา 2.แก้ไขรัฐธรรมนูญ 3.หยุดคุกคามประชาชน กล่าวกันว่าชุมนุมครั้งนั้นเป็นการเปิดราชดำเนินขอนแก่น นอกจากการปราศรัยและเล่นดนตรี นี้ยังมีการบวงสรวงประชาธิปไตยและเล่นเวฟ คลื่นมนุษย์ อันเป็นเอกลักษณ์ของการเล่นสงกรานต์ที่จังหวัดขอนแก่น บริเวณถนนข้าวเหนียวอีกด้วย ช่วงท้ายๆ เป็นการปราศรัยจากทั้งกลุ่มขอนแก่นพอกันทีและกลุ่มธรรมศาสตร์และการชุมนุม โดยเฉพาะเพนกวิน พริษฐ์ ชิวารักษ์ ที่ขึ้นปราศรัยถึง 10 ข้อเสนอ ในการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ที่ได้มีการนำเสนอในเวทีชุมนุม “ธรรมศาสตร์จะไม่ทน” ก่อนหน้านั้น
ส่วน “หมายที่ไหน ม็อบที่นั่น” ในวันที่ 10 ก.ย. 2563 เป็นกิจกรรมในวันที่พริษฐ์และกลุ่มนักกิจกรรมขอนแก่นเดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหาตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการชุมนุมเมื่อวันที่ 23 ก.ค. 2563 เพื่อตอบโต้ที่ตำรวจใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มาดำเนินคดีประชาชนที่ออกมาใช้เสรีภาพในการชุมนุม พร้อมทั้งจัดเป็นขบวนรณรงค์ 3 ข้อเรียกร้องและข้อเสนอปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ในตัวเมืองขอนแก่นด้วย
โดยในคดีนี้ พนักงานสอบสวนได้เข้าแจ้งข้อกล่าวหาพริษฐ์และจตุภัทร์เมื่อเดือนตุลาคม 2563 ขณะทั้งสองถูกฝากขังอยู่ที่เรือนจำในคดีจากการชุมนุมในกรุงเทพฯ ในครั้งนั้น พนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อกล่าวหาตาม มาตรา 116, พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ, พ.ร.บ.ชุมนุมฯ, พ.ร.บ.จราจรฯ และ พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง ต่อมาในเดือนธันวาคม 2563 พนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อหาตามมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(3) เพิ่มเติมกับพริษฐ์ด้วย หลังเริ่มมีการนำมาตรา 112 มาใช้ดำเนินคดีการกับแสดงออกทางการเมืองอีกครั้ง
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากอัยการยื่นฟ้องคดีนี้ หลังวันเกิดเหตุในคดีเกินกว่า 1 ปี ทำให้ข้อหาที่มีเพียงโทษปรับหมดอายุความไปแล้ว รวมทั้งอัยการพิจารณาสั่งไม่ฟ้องในบางข้อหา
นอกจากพริษฐ์และจตุภัทร์แล้ว เหตุชุมนุมจัดม็อบไล่แม่งเลย ยังมี “ครูใหญ่” อรรถพล บัวพัฒน์ และ “เซฟ” วชิรวิทย์ เทศศรีเมือง นักกิจกรรมขอนแก่นพอกันที อีก 2 รายที่ถูกดำเนินคดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ซึ่งคดียังอยู่ในชั้นอัยการ รวมทั้งถูกสโมสรฟุตบอลขอนแก่นยูไนเต็ดยื่นฟ้องในข้อหา หมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328 จากการปราศรัยพาดพิงไปถึง ซึ่งในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง ศาลมีคำสั่งให้ยกฟ้องวชิรวิทย์ ส่วนอรรถพลต่อสู้คดีจนกระทั่งศาลจังหวัดขอนแก่นพิพากษายกฟ้องไปเมื่อเดือนธันวาคม 2564 ชี้ว่าเป็นการติชมโดยสุจริต ด้วยความเป็นธรรม ซึ่งวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ
.
ดูฐานข้อมูลคดีนี้ คดี 112 – เพนกวิน, 116 – ไผ่ #ม็อบ20สิงหา ขอนแก่น