ย้อนดู “ครูใหญ่” ต่อสู้คดี หมิ่นประมาท “ขอนแก่นยูไนเต็ด” ยืนยันวิจารณ์เพื่อประโยชน์สาธารณะ ขณะโจทก์อ้างไม่เกี่ยวข้องการเมือง 

1 ธ.ค. 2564 ศาลจังหวัดขอนแก่นนัดฟังคำพิพากษาคดี “หมิ่นประมาทโดยการโฆษณา” ซึ่ง บริษัท สโมสรขอนแก่นยูไนเต็ด จํากัด เป็นโจทก์ฟ้อง “ครูใหญ่” อรรถพล บัวพัฒน์ นักกิจกรรมกลุ่ม “ราษฎรขอนแก่น” จากการปราศรัยในการชุมนุม “จัดม็อบไล่ แม่งเลย” ยืนยัน 3 ข้อเรียกร้องต่อรัฐบาล ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จังหวัดขอนแก่น เมื่อวันที่ 20 ส.ค. 2563

คดีนี้ บริษัท สโมสรขอนแก่นยูไนเต็ด จํากัด เจ้าของสโมสรฟุตบอลขอนแก่นยูไนเต็ดมอบอำนาจให้ประธานสภาทนายความจังหวัดขอนแก่นยื่นฟ้อง “ครูใหญ่” จากส่วนหนึ่งของคำปราศรัยในการชุมนุมครั้งดังกล่าวที่กล่าวว่า “ขอนแก่นยูไนเต็ด ผมเคยภาคภูมิใจ แต่สุดท้ายผมก็รู้ว่า อ้อ ที่ฟอกเงินดี ๆ นี่เอง…” ซึ่งโจทก์เห็นว่า ทำให้โจทก์ซึ่งประกอบธุรกิจบริหารทีมฟุตบอลอาชีพเสียหาย เนื่องจากประชาชนที่ได้ฟังเข้าใจว่า สโมสรฟุตบอลขอนแก่นยูไนเต็ดเป็นที่ฟอกเงิน โดยทนายโจทก์นำสืบด้วยว่า ผู้บริหารบริษัทไม่ได้เกี่ยวข้องกับนักการเมือง

ขณะที่ “ครูใหญ่” ต่อสู้คดีว่า คำปราศรัยตามฟ้องมุ่งวิพากษ์วิจารณ์ เอกราช ช่างเหลา ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งเป็นพรรคร่วมรัฐบาล และมีภาพที่ปรากฏตามสื่อว่าเป็นเจ้าของสโมสรฟุตบอลขอนแก่นยูไนเต็ด อันเป็นการติชมโดยสุจริต เพื่อประโยชน์ของสาธารณะ เนื่องจากนายเอกราชเป็นบุคคลสาธารณะ ประชาชนทั่วไปจึงสามารถวิพากษ์วิจารณ์ได้ นอกจากนี้ นายเอกราชยังมีข้อครหาเป็นที่เคลือบแคลงของประชาชน เนื่องจากถูกสหกรณ์ออมทรัพย์ครูจังหวัดขอนแก่นฟ้องคดีฐานยักยอกทรัพย์จำนวน 431 ล้าน

ฝ่ายจำเลยยังมีข้อต่อสู้ที่เป็นประเด็นทางกฎหมาย เนื่องจากผู้รับมอบอำนาจโจทก์เบิกความไม่ตรงคำฟ้อง โดยระบุตัวพร้อมทั้งพฤติการณ์สลับกันระหว่าง “ครูใหญ่” อรรถพล และ “เซฟ” วชิรวิทย์ และจำเลยได้หลงต่อสู้ในข้อบกพร่องดังกล่าวแล้ว ซึ่งอาจเป็นเหตุให้ศาลยกฟ้องได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรค 2

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนชวนทบทวนเส้นทางคดีตั้งแต่ต้น ก่อนศาลมีคำพิพากษา    

“ขอนแก่นยูไนเต็ด” ยื่นฟ้องเอง กล่าวหา 2 นักกิจกรรม “ขอนแก่นพอกันที” ร่วมกันหมิ่นประมาท 

20 ส.ค. 2563 กลุ่ม “ขอนแก่นพอกันที” นัดชุมนุมใหญ่ “จัดม็อบไล่ แม่งเลย” ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จังหวัดขอนแก่น เรียกร้องให้รัฐบาลปฏิบัติตาม 3 ข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมทั่วประเทศ คือ ยุบสภา, แก้รัฐธรรมนูญ และหยุดคุกคามประชาชน โดยมีตัวแทนนักเรียน นักศึกษา กลุ่มประชาชน ขึ้นปราศรัยในประเด็นต่างๆ เช่น การปฏิรูปทหาร ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา และความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ รวมทั้ง “เพนกวิน” พริษฐ์ ชิวารักษ์ ขึ้นปราศรัยถึงข้อเสนอ 10 ข้อในการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ท่ามกลางผู้ชุมนุมมีจำนวนมากจนล้นลงไปบนถนนศรีจันทร์ เป็นหนึ่งในภาพจำของชาวขอนแก่นห้วง 2 ปีของสถานการณ์เข้มข้นในการเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตย

ผ่านไปราว 1 เดือน “ครูใหญ่” อรรถพล บัวพัฒน์ และ “เซฟ” วชิรวิทย์ เทศศรีเมือง 2 นักกิจกรรมกลุ่มขอนแก่นพอกันที ได้รับหมายนัดไต่สวนมูลฟ้องของศาลจังหวัดขอนแก่น พร้อมด้วยสำเนาคำฟ้อง ที่มีบริษัท สโมสรขอนแก่นยูไนเต็ด จํากัด โดยสุรสิทธิ์ ทุมมา ผู้รับมอบอํานาจ เป็นโจทก์ และมีอรรถพล บัวพัฒน์ กับพวกรวม 2 คน เป็นจําเลย ในฐานความผิด “หมิ่นประมาทโดยการโฆษณา” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328

เนื้อหาใจความคำฟ้องบรรยายว่า… เมื่อวันที่ 20 ส.ค. 2563 จําเลยที่ 1 (อรรถพล) ได้จัดตั้งเวทีปราศรัย และจัดให้มีผู้ปราศรัยโจมตีรัฐบาล มีการถ่ายทอดสดทางเฟซบุ๊คและยูทูบ ต่อมาจําเลยที่ 1 ได้จัดให้จําเลยที่ 2 (วชิรวิทย์) ขึ้นกล่าวปราศรัยหมิ่นประมาทใส่ความโจทก์ว่า “ขอนแก่นยูไนเต็ด ผมเคยภาคภูมิใจ แต่สุดท้ายผมก็รู้ว่า อ้อ ที่ฟอกเงินดี ๆ นี่เอง…” ซึ่งหมายความว่า สโมสรขอนแก่นยูไนเต็ดของโจทก์เป็นที่ฟอกเงิน 

ทําให้ผู้ที่ฟังการปราศรัยเข้าใจว่า โจทก์นําเงินจากการกระทําผิดกฎหมายมาลงทุนกับสโมสรขอนแก่นยูไนเต็ดเพื่อฟอกให้เป็นเงินทุนที่ถูกกฎหมาย ทําให้โจทก์ต้องถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชังจากประชนทั้งประเทศ ซึ่งเป็นความเท็จ ความจริงแล้วโจทก์ประกอบธุรกิจบริหารทีมฟุตบอลอาชีพ จัดตั้งทีมฟุตบอลสโมสรขอนแก่นยูไนเต็ดเพื่อร่วมแข่งขันฟุตบอลโปรลีกโดยเงินทุนของโจทก์เอง ไม่ใช่เงินที่ได้มาจากการกระทําผิดกฎหมายแต่อย่างใด 

แนบด้วยเอกสารท้ายคำฟ้องซึ่งระบุว่าเป็นภาพถ่ายการปราศรัยรวม 2 แผ่น แผ่นแรกเป็นรูปอรรถพลยืนถือไมค์อยู่บนเวที แผ่นที่ 2 เป็นรูปคนถือไมค์อยู่บนเวทีเช่นกัน แต่ไม่ใช่วชิรวิทย์

.

ไต่สวนมูลฟ้อง: ตัวแทนขอนแก่นยูไนเต็ด เบิกความไม่ตรงฟ้อง ด้านทนายจำเลยชี้เป็นเสรีภาพของประชาชนในการวิจารณ์ ส.ส.

“คดีนี้ไม่ควรเป็นคดีตั้งแต่แรก ควรเป็นเรื่องเสรีภาพในการแสดงความเห็นที่ประชาชนสามารถแสดงความเห็นวิพากษ์วิจารณ์ได้ เนื่องจากนายเอกราชก็เป็นบุคคลสาธารณะ” 

อานนท์ นำภา ทนายจำเลย

ในการไต่สวนมูลฟ้องเพื่อประกอบการพิจารณาของศาลว่าจะรับฟ้องของโจทก์หรือไม่ สุรสิทธิ์ ทุมมา ประธานสภาทนายความจังหวัดขอนแก่น ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ เบิกความว่า วันเกิดเหตุ จำเลยที่ 2 (วชิรวิทย์) ได้จัดตั้งเวทีปราศรัยโจมตีรัฐบาล และได้เชิญจำเลยที่ 1 (อรรถพล) ขึ้นปราศรัยบนเวทีมีข้อความพาดพิงโจทก์และสโมสรขอนแก่นยูไนเต็ด 

จากนั้นได้ตอบคำถามทนายจำเลยเกี่ยวกับการบริหารงานของบริษัท สโมสรขอนแก่นยูไนเต็ด จำกัด ว่า มีเอกราช ช่างเหลา ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ เป็นประธานที่ปรึกษา, สุวิภา ช่างเหลา ภรรยานายเอกราช เป็นประธานกรรมการบริหาร ในส่วนทีมฟุตบอลสโมสรขอนแก่นยูไนเต็ด มีวัฒนา ช่างเหลา รักษาการรองนายก อบจ.ขอนแก่น เป็นประธานสโมสร โดยปัจจุบันนายเอกราชถูกดำเนินคดีฐานยักยอกทรัพย์สหกรณ์ออมทรัพย์ครูจังหวัดขอนแก่น ขณะที่ตัวนายสุรสิทธิ์ไม่ทราบว่าเงินที่นำมาจดทะเบียนสโมสรขอนแก่นยูไนเต็ดได้มาจากที่ใด 

>> ไต่สวนมูลฟ้องคดีขอนแก่นยูไนเต็ดฟ้องแกนนำ “ขอนแก่นพอกันที” ปราศรัยพาดพิง ฟังคำสั่ง ม.ค.64

ก่อนที่ศาลจะมีคำสั่งว่าจะรับฟ้องคดีหรือไม่ ทนายจำเลยได้ยื่นคำแถลงปิดคดี ขอให้ศาลยกฟ้องจำเลยทั้งสองเนื่องจาก

  • สโมสรขอนแก่นยูไนเต็ด แม้จดทะเบียนเป็นบริษัท มีชื่อ สุวิภา ช่างเหลา เป็นกรรมการบริษัท แต่การแสดงออกในนามสโมสรผ่านช่องทางต่างๆ เป็นที่รับรู้โดยทั่วไปว่า เจ้าของสโมสรคือ เอกราช ช่างเหลา มีอำนาจมากที่สุดในทางปฏิบัติ
  • คำปราศรัยของจำเลยเป็นการวิจารณ์การทำงานของรัฐบาลและพรรคร่วมรัฐบาลที่นายเอกราช สังกัดอยู่ รวมทั้งวิพากษ์วิจารณ์นายเอกราช ซึ่งเป็นบุคคลสาธารณะ และเป็นที่รู้กันว่าถูกสหกรณ์ออมทรัพย์ครูจังหวัดขอนแก่นฟ้องคดี กล่าวหาว่าโกงเงินสหกรณ์ประมาณ 431 ล้านบาท จำเลยจึงแสดงความเห็นโดยสุจริต เพื่อรักษาผลประโยชน์ของบ้านเมือง 
  • โจทก์บรรยายคำฟ้องว่า จำเลยที่ 1 (อรรถพล) จัดตั้งเวทีปราศรัยและเชิญให้จำเลยที่ 2 (วชิรวิทย์) ขึ้นปราศรัยข้อความหมิ่นประมาทโจทก์ แต่ในการนำสืบ กลับเบิกความไม่ตรงคำฟ้อง โดยสลับตัวจำเลยทั้งสองว่า วชิรวิทย์เป็นผู้เชิญอรรถพลขึ้นปราศรัยข้อความหมิ่นประมาท ถือเป็นการสืบพยานนอกประเด็นที่ฟ้อง และทำให้จำเลยทั้งสองหลงต่อสู้ 
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 ห้ามมิให้พิพากษา หรือสั่ง เกินคําขอ หรือที่มิได้กล่าวในฟ้อง

ถ้าศาลเห็นว่าข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้อง ให้ศาลยกฟ้องคดีนั้น เว้นแต่ข้อแตกต่างนั้นมิใช่ในข้อสาระสําคัญและทั้งจําเลยมิได้หลงต่อสู้ ศาลจะลงโทษจําเลยตามข้อเท็จจริงที่ได้ความนั้นก็ได้

.

ศาลรับฟ้อง “ครูใหญ่” เป็นจำเลยคนเดียว 

อย่างไรก็ตาม ศาลมีคำสั่งรับฟ้องอรรถพล และยกฟ้องวชิรวิทย์ ให้เหตุผลว่า อรรถพลได้กล่าวถึงสโมสรฟุตบอลขอนแก่นยูไนเต็ดที่โจทก์เป็นเจ้าของว่า มีการนำเงินจากการทุจริตมาฟอก ทำให้โจทก์เสื่อมเสียชื่อเสียง มีมูลความผิดตามที่โจทก์ฟ้อง ส่วนวชิรวิทย์เป็นเพียงผู้จัดงาน ไม่สามารถรับฟังได้ว่ามีเจตนาร่วมกันกระทำความผิด

“เชื่อว่าต่อสู้คดีได้อย่างแน่นอน และยังคงเดินหน้าทำหน้าที่ตรวจสอบวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลร่วมกับแกนนำ “ขอนแก่นพอกันที” และกลุ่มประชาชนเครือข่ายอื่นๆ ตามเดิม” 

“ครูใหญ่” อรรถพล บัวพัฒน์ จำเลย

หลังศาลรับฟ้องคดี อรรถพลจำเลยเพียงคนเดียวในคดีได้ยื่นคำให้การยืนยันว่า เนื้อหาการปราศรัยเป็นการวิพากษ์วิจารณ์โดยสุจริต เพื่อประโยชน์สาธารณะ ต่อตัวนายเอกราช ซึ่งดำรงตำแหน่ง ส.ส. และมีภาพเป็นเจ้าของสโมสรฟุตบอลขอนแก่นยูไนเต็ด อีกทั้งในชั้นไต่สวนมูลฟ้องโจทก์นำสืบพฤติการณ์การกระทำที่ฟ้องไม่ตรงกับที่บรรยายฟ้อง ซึ่งเป็นเหตุให้ศาลยกฟ้องจำเลยได้  

>> ศาลขอนแก่นรับฟ้องคดีขอนแก่นยูไนเต็ดกล่าวหา ‘ครูใหญ่ ‘ ปราศรัยหมิ่นประมาทฯ – ยกฟ้อง ‘เซฟ’ พิธีกร

.

สืบพยาน: ครึ่งวันจบ โจทก์ขอแก้ฟ้องจังหวะสุดท้าย ก่อนศาลไม่อนุญาต

การสืบพยานในคดีนี้เสร็จในครึ่งวันเช้าของวันที่ 1 ต.ค. 2564 ฝ่ายโจทก์มีสุรสิทธิ์ ทนายโจทก์ และประชาชนทั่วไปที่เป็นแฟนคลับของสโมสรฟุตบอลขอนแก่นยูไนเต็ด เป็นพยานรวม 2 ปาก โดยที่ทั้ง 2 ปาก ทนายโจทก์ได้อ้างคำเบิกความชั้นไต่สวนมูลฟ้องเป็นคำเบิกความพยานชั้นพิจารณาด้วย ทั้งนี้ ทนายจำเลยได้ถามค้านเพิ่มเติมสุรสิทธิ์ แต่พยานอีกปาก ทนายโจทก์ไม่สามารถติดตามตัวมาในนัดนั้นได้ ทนายจำเลยจึงแถลงไม่ติดใจถามค้านเพิ่มเติม 

ด้านพยานจำเลย ทนายจำเลยนำสืบ “ครูใหญ่” อรรถพล ตัวจำเลย และวชิรวิทย์ ผู้จัดการชุมนุม รวม 2 ปาก 

หลังทนายจำเลยถามค้านในประเด็นที่โจทก์เบิกความไม่ตรงคำฟ้อง และไม่ได้แก้ไขคำฟ้อง โจทก์ก็ได้ยื่นคำร้องขอแก้ไขคำฟ้อง แต่ทนายจำเลยแถลงคัดค้าน เนื่องจากฝ่ายจำเลยได้หลงต่อสู้ในประเด็นที่โจทก์ฟ้องผิดมาแล้ว ตามคำให้การจำเลยที่ยื่นต่อศาลไปก่อนหน้านี้แล้ว ศาลมีคำสั่งไม่อนุญาตให้โจทก์แก้ฟ้อง เนื่องจากทำให้จำเลยเสียเปรียบ และนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 1 ธันวาคม 2564

“จำเลยได้ยื่นคำให้การ โดยยกข้อบกพร่องของโจทก์ที่ฟ้องผิดฝาผิดตัวขึ้นมาแล้ว ดังนั้นโจทก์แก้ฟ้องไม่ได้ ศาลก็จะยกเหตุมาอ้างว่าเป็นรายละเอียดเล็กน้อยไม่ได้ เพราะจำเลยให้การต่อสู้ไว้แล้ว”

พัฒนะ ศรีใหญ่ ทนายจำเลย

“การแก้ไขฟ้องแบบผิดฝาผิดตัว ถือว่าผิดมาก ตามกฎหมายคือแก้ไม่ได้” 

เสถียรพงษ์ ล้อศิริรัตน์ ทนายจำเลย

.

ตัวแทนโจทก์รับ เบิกความไม่ตรงฟ้อง – ไม่ทราบว่า “ขอนแก่นยูไนเต็ด” มีการฟอกเงินหรือไม่

ในชั้นไต่สวนมูลฟ้องสุรสิทธิ์ เบิกความว่า วันเกิดเหตุ วชิรวิทย์ได้จัดตั้งเวทีปราศรัยโจมตีรัฐบาล และได้เชิญอรรถพลขึ้นปราศรัยบนเวทีมีข้อความพาดพิงโจทก์และสโมสรขอนแก่นยูไนเต็ดว่า “…ขอนแก่นยูไนเต็ด ผมเคยภาคภูมิใจ แต่สุดท้ายผมก็รู้ว่า เป็นที่ฟอกเงินดีๆ นี่เอง…” ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายต่อชื่อเสียง 

อย่างไรก็ตาม พยานโจทก์รับว่า บริษัท สโมสรขอนแก่นยูไนเต็ด จำกัด มีเอกราช ช่างเหลา ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ เป็นประธานที่ปรึกษา, สุวิภา ช่างเหลา ภรรยานายเอกราช เป็นประธานกรรมการบริหาร โดยปัจจุบันนายเอกราชถูกดำเนินคดีฐานฉ้อโกงสหกรณ์ออมทรัพย์ครูจังหวัดขอนแก่น ขณะที่พยานไม่ทราบว่า เดิมสโมสรขอนแก่นยูไนเต็ดจดทะเบียนในนามบุคคลใด เงินที่นำมาจดทะเบียนได้มาจากที่ใด และพยานไม่เคยตรวจสอบว่า สโมสรขอนแก่นยูไนเต็ดมีการฟอกเงินหรือไม่

สุรสิทธิ์ ผู้รับมอบอำนาจยังเบิกความว่า โจทก์เป็นผู้ตัดสินใจฟ้องจำเลย ส่วนพยานเป็นผู้ร่างคำฟ้องว่า อรรถพลเชิญวชิรวิทย์ขึ้นปราศรัยหมิ่นประมาทโจทก์ แต่ในการเบิกความต่อศาล พยานเบิกความว่า วชิรวิทย์เชิญอรรถพลขึ้นปราศรัย ไม่ตรงกับคำฟ้อง และพยานไม่ได้ยื่นคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องดังกล่าว   

.

FC ไม่ทราบว่าเงินก่อตั้งสโมสรฟุตบอลมาจากไหน แต่เชื่อว่าไม่ได้เป็นตามที่จำเลยกล่าว

พยานโจทก์ปากที่ 2 เป็นแฟนคลับของสโมสรฟุตบอลขอนแก่นยูไนเต็ด เป็นบุคคลที่ 3 ที่ได้ฟังข้อความที่กล่าวพาดพิงถึงสโมสรขอนแก่นยูไนเต็ด เบิกความสอดคล้องกับสุรสิทธิ์ว่า หลังได้ดูคลิปคำปราศรัยดังกล่าว ซึ่งมีการพูดในทำนองว่า สโมสรขอนแก่นยูไนเต็ดเป็นที่ฟอกเงิน อันมีความหมายที่ไม่ดี และไม่เป็นความจริง ทำให้สโมสรเสียชื่อเสียงและได้รับความเสียหาย เนื่องจากคนทั่วไปที่ได้ยินจะพลอยเข้าใจผิดและไม่มาเชียร์ทีมฟุตบอล 

อย่างไรก็ตาม พยานปากนี้ระบุว่า ปัจจุบันทีมขอนแก่นยูไนเต็ด มีแฟนคลับ 3 – 5 พันคน เมื่อมีการปราศรัยพาดพิงดังกล่าว แฟนคลับก็ไม่ได้ลดลง เนื่องจากมีความเชื่อมั่นในการบริหารของสโมสร ที่มีครอบครัว “ช่างเหลา” เป็นผู้บริหาร และมีนายวัฒนา บุตรของนายเอกราช เป็นคนจัดการดูแลทุกอย่าง แต่ถ้าบุคคลอื่นที่ไม่ใช่แฟนคลับได้ฟังคำปราศรัยดังกล่าวก็อาจจะมีทั้งที่เชื่อไปเลยและวิเคราะห์ก่อนว่าข้อความเป็นจริงหรือไม่ แต่พยานระบุไม่ได้ว่า มีใครที่เชื่อไปเลยบ้าง เนื่องจากเห็นจากการคอมเมนต์ในยูทูบ

พยานโจทก์ปากนี้ไม่ทราบเช่นเดียวกับพยานปากแรกว่า เงินที่ก่อตั้งสโมสรมาจากไหน แต่เชื่อว่าไม่ได้เป็นตามที่จำเลยกล่าว เนื่องจากตระกูลช่างเหลามีธุรกิจหลายอย่าง และพยานเคยได้สัมผัสกับนายวัฒนาเห็นว่าเป็นคนซื่อสัตย์ มีความสามารถ แต่พยานก็ทราบว่า นายเอกราชถูกดำเนินคดีฐานฉ้อโกง

.

“ครูใหญ่” ยืนยันปราศรัยวิจารณ์ “เอกราช” บุคคลสาธารณะ เพื่อประโยชน์สาธารณะ

อรรถพลเบิกความเป็นพยานให้ตัวเองว่า ตามความเข้าใจของพยานที่รับรู้ผ่านสื่อทั้งออนไลน์และเป็นรูปเล่ม ผู้ที่เป็นเจ้าของสโมสรฟุตบอลขอนแก่นยูไนเต็ดก็คือ นายเอกราช ช่างเหลา เนื่องจากนายเอกราชให้สัมภาษณ์แสดงตนเป็นเจ้าของควบคู่กับนายวัฒนา ช่างเหลา บุตรชาย และจะส่งมอบสโมสรให้นายวัฒนา 

วันเกิดเหตุ พยานเป็นผู้ปราศรัยเนื้อหาตามที่โจทก์ฟ้อง ซึ่งเป็นการพูดในทางการเมืองสื่อถึงนายเอกราช เนื่องจากนายเอกราชเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ ของพรรคพลังประชารัฐ พยานจึงพูดถึงบุคคลสาธารณะซึ่งมีข้อเท็จจริงปรากฏตามสื่อในขณะนั้นว่า ถูกฟ้องคดีที่ศาลจังหวัดขอนแก่นเรื่องการทุจริตเงินสหกรณ์ออมทรัพย์ครู มีการทำหนังสือยอมรับสภาพหนี้ว่าจะชดใช้เงินคืนสหกรณ์ฯ ด้วย 

พยานเข้าใจว่า ก่อนมาเป็นนักการเมือง นายเอกราชน่าจะเป็นครู ซึ่งมีรายได้ไม่มากนัก อีกทั้งไม่ปรากฏด้วยว่า นายเอกราช หรือตระกูลช่างเหลา มีความมั่งคั่งมาก่อนหน้านั้น จึงมีข้อเคลือบแคลงต่อนายเอกราชที่เป็นครูทั้งชีวิตว่า ไม่น่าจะสามารถซื้อทีมฟุตบอลได้ ทั้งนี้ สโมสรขอนแก่นยูไนเต็ดถือเป็นสโมสรระดับประเทศ ซึ่งพยานพอทราบจากการติดตามวงการบอลว่า สโมสรใหญ่ระดับประเทศใช้เงินในการทำสโมสรเป็นร้อยล้าน 

ภายหลังปราศรัยอรรถพลจึงทราบว่า ผู้ถือหุ้นตัวจริงคือ สุวิภา ช่างเหลา แตกต่างจากหน้าสื่อ แต่ทั้งสองน่าจะเป็นบุคคลเดียวกัน เนื่องจากนามสกุลเดียวกัน ซึ่งพยานไม่เคยได้ยินชื่อสุวิภามาก่อน จึงไม่ทราบว่าเป็นนักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์หรือไม่ 

อรรถพลเบิกความอีกว่า คำปราศรัยดังกล่าวหากเป็นความจริงจะเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ เนื่องจากเห็นความเชื่อมโยงของสหกรณ์ออมทรัพย์ครูกับนายเอกราชซึ่งมีประเด็นทุจริต ทำให้สหกรณ์ไม่สูญเสียผลประโยชน์ และตรวจสอบที่มาที่ไปของสโมสรขอนแก่นยูไนเต็ด หลังจากพยานปราศรัยในประเด็นดังกล่าวไปแล้ว ทำให้เกิดการตรวจสอบของสหกรณ์ออมทรัพย์ครู

อรรถพลยืนยันว่า ไม่ได้มีเจตนาให้โจทก์เสียหาย แต่ติชมเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อสาธารณะ แม้คำปราศรัยของพยานจะกล่าวถึงสโมสรฟุตบอลขอนแก่นยูไนเต็ด ซึ่งโจทก์อ้างว่าเป็นเพียงสโมสรฟุตบอลทั่วไป แต่ข้อเท็จจริงที่ปรากฏต่อสาธารณะ สโมสรฟุตบอลดังกล่าวมีส่วนเกี่ยวข้องกับนายเอกราชซึ่งเป็นบุคคลสาธารณะ และแม้พยานไม่มีหลักฐานว่า สโมสรขอนแก่นยูไนเต็ดเป็นแหล่งฟอกเงินของนายเอกราช แต่เป็นที่เคลือบแคลงของพยานได้

ด้านวชิรวิทย์พยานจำเลยอีกปากก็เบิกความของสอดคล้องกับอรรถพลว่า จากการติดตามสื่อสาธารณะมักปรากฏภาพนายเอกราช เป็นผู้ให้ข่าวหรือมีภาพเป็นเจ้าของสโมสรขอนแก่นยูไนเต็ดโดยตรง รวมทั้งเพจขอนแก่นยูไนเต็ดที่เผยแพร่ในปัจจุบันก็ระบุว่า นายเอกราชเป็นประธานที่ปรึกษาสโมสรขอนแก่นยูไนเต็ด ทำให้เชื่อว่าสโมสรขอนแก่นยูไนเต็ดกับนายเอกราชมีความเกี่ยวข้องกัน ขณะที่นายเอกราชเป็น ส.ส.ซึ่งเป็นบุคคลสาธารณะ และมีคดียักยอกทรัพย์เมื่อปี 2554 ซึ่งเป็นที่สงสัยของประชาชนในจังหวัดขอนแก่น ประชาชนจึงสามารถติชมวิพากษ์วิจารณ์ด้วยความเป็นธรรมได้ตามกฎหมาย ทั้งนี้ พยานฟังคำปราศรัยของอรรถพลแล้วเข้าใจว่า อรรถพลติชมนายเอกราชโดยสุจริต ไม่ได้ล่วงละเมิดส่วนบุคคล

.

“ครูใหญ่” ประสงค์ต่อสู้คดีว่าไม่ใช่ผู้จัดชุมนุมตามคำฟ้อง 

ในประเด็นที่โจทก์บรรยายฟ้องว่า อรรถพลเป็นจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้จัดการชุมนุม แต่ในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง โจทก์กล่าวหาว่า อรรถพลเป็นผู้กล่าวคำหมิ่นประมาทนั้น อรรถพลได้เบิกความว่าประสงค์จะต่อสู้คดีตามคำฟ้องของโจทก์ โดยยืนยันว่าไม่ได้มีส่วนในการติดต่อสถานที่ ตั้งเวที จัดหาเครื่องเสียง จัดหาการ์ดป้องกันผู้ชุมนุม ซึ่งเป็นหน้าที่ของผู้จัดชุมนุม ตนเพียงได้รับการประสานให้ขึ้นปราศรัย ซึ่งมีการใช้เครื่องขยายเสียงและไมค์ แต่ไม่ทราบว่ามีการถ่ายทอดสดทางไลน์และเฟซบุ๊กหรือไม่ 

ขณะที่วชิรวิทย์เบิกความว่า ตนถูกฟ้องว่าเป็นคนปราศรัย แต่ข้อเท็จจริงคือตนเป็นผู้แจ้งการชุมนุม และเป็นพิธีกร ไม่ได้ปราศรัยและไม่ได้กล่าวพาดพิงสโมสรขอนแก่นยูไนเต็ด อีกทั้งไม่ใช่บุคคลตามภาพถ่ายที่โจทก์แนบมาท้ายคำฟ้อง 

.

สถานการณ์ล่าสุดกรณีทุจริตในสหกรณ์ออมทรัพย์ครูขอนแก่น เหตุที่ “ครูใหญ่” หยิบไปปราศรัย

ล่าสุด บ้านเมืองรายงานว่า เมื่อวันที่ 20 พ.ย. 2564 ในการประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2564 สมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์ครูขอนแก่น จำกัด ระเบียบวาระที่ 4 เป็นเรื่องเสนอให้ที่ประชุมพิจารณา เรื่องคดีความอาญา/คดีแพ่ง ศาลจังหวัดขอนแก่น ซึ่งพนักงานอัยการจังหวัดขอนแก่นเป็นโจทก์ สหกรณ์ออมทรัพย์ครูขอนแก่น จำกัด เป็นผู้เสียหาย (โจทก์ร่วม) โดยมีจำเลย 4 คน คดีหนึ่ง และอีกคดีมีนายเอกราช ช่างเหลา เป็นจำเลย ฐานร่วมกันยักยอกทรัพย์ และปลอมแปลงเอกสาร

โดยในนัดคุ้มครองสิทธิเมื่อวันที่ 27 ต.ค. 2564 ทนายจำเลยแถลงว่า ประสงค์จะให้การรับสารภาพข้อหายักยอกทรัพย์ และยินยอมยินดีชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ร่วมโดยจำเลยทำหนังสือรับสภาพหนี้ต่อโจทก์ร่วมแล้วลงวันที่ 27 ธ.ค. 2562 จำนวน 431,862,070.43 บาท พร้อมดอกเบี้ย โดยการผ่อนชำระ 5 ปี ถ้าจำเลยชำระได้ครบ จะขอให้โจทก์ร่วมถอนคำร้องทุกข์ในข้อหายักยอกและแถลงไม่ติดใจเอาความต่อจำเลยในข้อหาผิดเกี่ยวกับเอกสาร 

ซึ่งโจทก์ร่วมแถลงว่าขอนำข้อเสนอที่จำเลยเสนอ ให้ที่ประชุมตัวแทนสมาชิกสหกรณ์ฯ พิจารณา ทั้งนี้ ที่ประชุมมีมติรับพิจารณาข้อเสนอในการประนีประนอมยอมความของจำเลย

.

ยกฟ้อง! ศาลชี้วิจารณ์โดยสุจริต ไม่ได้หมิ่นประมาท “ขอนแก่นยูไนเต็ด” “ครูใหญ่” ย้ำ เป็นการฟ้องปิดปากประชาชน   

1 ธ.ค. 2564 ศาลจังหวัดขอนแก่นพิพากษายกฟ้องอรรถพล คำพิพากษาโดยสรุประบุว่า  พยานโจทก์ 2 ปาก เบิกความยืนยันว่า จำเลยกล่าวปราศรัยใส่ความโจทก์ ทำให้โจทก์เสียชื่อเสียง สอดคล้องกับที่จำเลยเบิกความว่า เป็นผู้กล่าวคำปราศรัย แม้ข้อเท็จจริงที่ได้จากคำเบิกความดังกล่าวแตกต่างจากที่โจทก์บรรยายในคำฟ้อง ที่กล่าวว่า จำเลยร่วมกับจำเลยที่ 2 ใส่ความโจทก์โดยจำเลยเป็นผู้เชิญจำเลยที่ 2 กล่าวปราศรัย แต่ฟังไม่ได้ว่ามีข้อแตกต่างในสาระสำคัญ เนื่องจากความรับผิดของตัวการร่วม กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเหมือนเป็นผู้กระทำ ประกอบกับจำเลยรับว่าเป็นผู้ปราศรัย แต่ไม่ได้มีเจตนาให้โจทก์เสียหาย เป็นการติชมเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อสาธารณะ ถือว่าจำเลยไม่ได้หลงต่อสู้ ศาลจึงมีอำนาจลงโทษจำเลย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรค 2

อย่างไรก็ตาม จําเลยเบิกความว่า จําเลยได้รับทราบข่าวจากสื่อออนไลน์และนิตยสารต่าง ๆ ทําให้เข้าใจว่า นายเอกราช ช่างเหลา เป็นเจ้าของสโมสร เจือสมกับที่ผู้รับมอบอํานาจโจทก์เบิกความตอบคําถามค้านว่า นายเอกราชเป็นประธานที่ปรึกษาสโมสร และรับว่าบุคคลตามภาพข่าว คือนายเอกราช ซึ่งเป็นภาพข่าวที่นายเอกราชเดินทางมาศาลปกครองขอนแก่น ในวันนัดพิจารณาคดีระหว่างสโมสรกับสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย และภาพข่าวที่นายเอกราชจัดกิจกรรมเปิดตัวสโมสร และที่นางนงนภัสเบิกความตอบคําถามค้านว่า สโมสรมีครอบครัวช่างเหลาเป็นผู้บริหาร นายเอกราชเป็นผู้ก่อตั้งสโมสร 

เห็นว่า แม้นายเอกราช ช่างเหลา ไม่ใช่เจ้าของสโมสรขอนแก่นยูไนเต็ด แต่นายเอกราชมีฐานะเป็นประธานที่ปรึกษาสโมสร และนายเอกราชยังร่วมงานแถลงเปิดตัวสโมสร ประกอบกับกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับสโมสร ผู้สื่อข่าวยังไปสัมภาษณ์และเสนอข่าวที่นายเอกราชแสดงความคิดเห็น อันเป็นการแสดงออกต่อบุคคลทั่วไปว่า นายเอกราชเป็นผู้บริหารสโมสร และสโมสรอาจเป็นหนึ่งในธุรกิจของนายเอกราช 

เมื่อนายเอกราชดํารงตําแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร อันเป็นบุคคลสาธารณะ ประกอบกับความปรากฏชัดเจนว่า นายเอกราชมีข้อพิพาทเรื่องการยักยอกเงินของสหกรณ์ออมทรัพย์ครูขอนแก่น ข้อสงสัยว่านายเอกราชยักยอกเงินจริงหรือไม่ และนายเอกราชนําเงินดังกล่าวมาใช้ในการประกอบธุรกิจจริงหรือไม่ จึงเป็นข้อเท็จจริงที่ประชาชนโดยทั่วไปประสงค์จะทราบ 

ทั้งยังเป็นที่รู้กันอยู่ทั่วไปว่า หากมีการฟอกเงินจริง ย่อมมีผลกระทบต่อการติดตามเงินนั้นกลับคืนให้สหกรณ์ออมทรัพย์ครูขอนแก่นอีกด้วย ที่จําเลยกล่าวปราศรัยเช่นนั้น ก็เพื่อเรียกร้องให้มีการตรวจสอบธุรกิจของนายเอกราชและทําให้ข้อเท็จจริงที่ถูกต้องปรากฏ ไม่ปรากฏว่าจําเลยมีสาเหตุโกรธเคืองกับโจทก์มาก่อน เชื่อว่าจําเลยกระทําไปโดยสุจริต เป็นการติชมด้วยความเป็นธรรมซึ่งบุคคลหรือสิ่งใดอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทํา แม้จะมีข้อความหมิ่นประมาท การกระทํานั้นย่อมไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 329(3) พิพากษายกฟ้อง

ก่อนหน้านี้ ภายหลังศาลรับฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 19 ม.ค. 2564 อรรถพลได้ใช้เงินสดวางเป็นหลักทรัพย์ประกันตัวจำนวน 20,000 บาท เมื่อศาลมีคำพิพากษายกฟ้อง อรรถพลจึงติดต่อขอรับเงินประกันจำนวนดังกล่าวคืนจากศาล

อรรถพลกล่าวภายหลังฟังคำพิพากษาว่า “หลังจากนี้ต่อไปเรื่องสหกรณ์ออมทรัพย์ครูซึ่งอาจจะเป็นมูลเหตุที่ทําให้เกิดคดีนี้ ก็เป็นเรื่องที่จะต้องตรวจสอบต่อไป กับ ส.ส.คนดังเมืองขอนแก่น ที่มีข่าวว่า พยายามจะเป่าคดี รวมถึงจับตาไปที่คณะกรรมการสหกรณ์ออมทรัพย์ครูที่มีแนวโน้มว่าจะพยายามไม่ดำเนินคดีในทางอาญา ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ครูทั้งจังหวัดขอนแก่นได้รับผลกระทบ อาจจะต้องดูว่ามีแนวทางไหนที่จะช่วยเหลือพี่น้องครูจังหวัดขอนแก่นให้ได้รับความเป็นธรรมได้บ้าง” 

ในส่วนของคดีที่ถูกฟ้องและยกฟ้องในที่สุดนั้น นักกิจกรรม “ราษฎรขอนแก่น” และ “ขอนแก่นพอกันที” ให้ความเห็นว่า “ทราบมาว่า นายเอกราชให้ทนายเข้าแจ้งความประชาชนจำนวนมาก อาจจะเกี่ยวกับเรื่องนี้หรือเรื่องอื่นด้วย ซึ่งการฟ้องหรือการแจ้งความประชาชนจำนวนมากต่อให้สุดท้ายกระบวนการไปถึงขั้นยกฟ้องแต่ภาระของค่าใช้จ่าย การสูญเสียเวลา และโอกาสหลายอย่างจากการถูกฟ้องมันเกิดขึ้นแล้ว หลายคนเมื่อถูกฟ้อง มีคดีความ ก็อาจจะไปสมัครงานยาก ต่อให้สุดท้ายจะยกฟ้องก็ตาม” 

“อย่างคดีนี้ขนาดไม่มีการเลื่อนอะไรเลย ผมก็ยังต้องมาศาลตั้ง 4 ครั้ง อาจจะต้องรวมถึงพยาน ทนาย ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับทนายความ เป็นภาระและสร้างความเดือดร้อนให้จำเลยที่ถูกฟ้องปิดปากในคดีอาญาแบบนี้ ซึ่งไม่ควรเกิดขึ้น เพราะนายเอกราชก็เป็น ส.ส. เป็นบุคคลสาธารณะ เป็นเรื่องธรรมดาและเป็นเสรีภาพที่ประชาชนทั่วไปจะสามารถวิพากษ์วิจารณ์ได้”   

อย่างไรก็ตาม คดีนี้ฝ่ายจำเลยมีข้อต่อสู้ที่เป็นประเด็นทางกฎหมายด้วยว่า ผู้รับมอบอำนาจโจทก์เบิกความไม่ตรงคำฟ้อง โดยระบุตัวพร้อมทั้งพฤติการณ์สลับกันระหว่างอรรถพล และวชิรวิทย์ และจำเลยได้หลงต่อสู้ในข้อบกพร่องดังกล่าวแล้ว ซึ่งเป็นเหตุให้ศาลยกฟ้องได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรค 2 แต่ศาลเห็นว่า ข้อเท็จจริงจากการเบิกความและคำฟ้องไม่ได้แตกต่างในสาระสำคัญ และจำเลยไม่ได้หลงต่อสู้ จึงไม่ยกฟ้องในประเด็นดังกล่าว 

ทั้งนี้ มีข้อสังเกตว่า ภายหลังการไต่สวนมูลฟ้อง ศาลมีคำสั่งรับฟ้องอรรถพล และยกฟ้องวชิรวิทย์ ซึ่งเป็นผู้แจ้งการชุมนุมและพิธีกรบนเวทีชุมนุมในวันเกิดเหตุ โดยให้เหตุผลในการยกฟ้องวชิรวิทย์ว่า เป็นเพียงผู้จัดงาน ไม่สามารถรับฟังได้ว่ามีเจตนาร่วมกันกระทำความผิด แต่ศาลกลับมีคำพิพากษาโดยวินิจฉัยต่างไปจากคำสั่งดังกล่าวว่า โจทก์บรรยายฟ้องว่าอรรถพลเป็นผู้จัดหรือเชิญคนขึ้นปราศรัยหมิ่นประมาท มีฐานะเป็นตัวการร่วม ซึ่งต้องรับผิดเหมือนผู้กระทำ

X