ตร.สน.ลุมพินีแจ้ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ 9 ปชช. 1 เยาวชน เหตุร่วมชุมนุม #ม็อบ24มีนา “มายด์” ถูกแจ้ง ม.112 เพิ่ม

วันนี้ (8 เมษายน 2564) ที่สน.ลุมพินี เวลา 10.00 น. นักกิจกรรมและประชาชนรวม 9 คน พร้อมทนายความ ได้เดินทางเข้าพบพนักงานสอบสวน สน.ลุมพินี เพื่อรับทราบข้อกล่าวหาฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากกรณีการเข้าร่วมการชุมนุม #ม็อบ24มีนา ที่แยกราชประสงค์ โดยหนึ่งในนั้นเป็นเยาวชนอายุ 16 ปี 

ก่อนหน้านี้ทางพนักงานสอบสวนได้ออกหมายเรียกลงวันที่ 26 มีนาคม 2564 เพียงสองวันภายหลังการชุมนุม โดยระบุว่าคดีมี พ.ต.ต.สิทธิศักดิ์ สุดหอม เป็นผู้กล่าวหา โดยมีผู้ถูกออกหมายเรียกทั้งหมด 10 ราย ประกอบด้วย ชาติชาย แกดำ, ยิ่งชีพ อัชฌานนท์, ชินวัตร จันทร์กระจ่าง, ธนพร วิจันทร์, เบนจา อะปัญ, อรรถพล บัวพัฒน์, ชุมาพร แต่งเกลี้ยง,  ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล, ณัฏฐิดา มีวังปลา และภูมิ (สงวนชื่อและนามสกุล) เยาวชนจากกลุ่มนักเรียนไท ทั้งหมดเป็นผู้ขึ้นปราศรัยในเวทีการชุมนุมเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2564

อีกทั้งทางตำรวจยังระบุในเอกสารว่ามีชายสวมชุดทหารลายพรางไม่ทราบชื่อนามสกุล และยังตามตัวไม่พบ เป็นอีกหนึ่งในผู้ที่ตำรวจกลับติดตามมาดำเนินคดี 

ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 7 เมษายน ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการของโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) ได้เข้ายื่นหนังสือต่อสน.ลุมพินี เพื่อขออนุญาตบันทึกวิดีโอระหว่างการแจ้งข้อกล่าวหาของพนักงานสอบสวน ในวันนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงได้ตอบรับคำร้องขอ แต่ไม่อนุญาตนำกล้องวิดีโอหรือช่างภาพเข้าบันทึกเอง แต่ทางตำรวจจะบันทึกภาพเคลื่อนไหวด้วยกล้องวิดีโอของสน.ลุมพินีเอง และจะนำไฟล์ภาพเคลื่อนไหวดังกล่าวส่งเป็นแผ่นซีดีให้ในภายหลัง

บรรยากาศในการรับทราบข้อกล่าวหาในวันนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจได้นำแผงกั้นจำนวนมากมาวางตั้งไว้บริเวณด้านหน้าสถานี โดยจำกัดพื้นที่ให้เหลือทางเข้าออกจุดเดียวที่มีจุดคัดกรองโควิด พร้อมตั้งจุดตรวจวัดอุณหภูมิและบริการเจลแอลกอฮอล์ล้างมือ โดยมีเจ้าหน้าที่ในเครื่องแบบ 3-4 นาย คอยยืนเฝ้า

ขณะที่ผู้เข้ารับทราบข้อกล่าวหาในช่วงสายวันนี้ มีทั้งหมด 9 ราย เนื่องจาก “ครูใหญ่” อรรถพล บัวพัฒน์ ติดภารกิจการตรวจพยานหลักฐานที่ศาลอาญา ในคดีชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร จึงนัดหมายติดตามมาภายหลังเสร็จสิ้นคดี

พ.ต.ท.เทอดศักดิ์ มนัสชน สารวัตร (สอบสวน) สน.ลุมพินี ได้เป็นผู้นำคณะพนักงานสอบสวน แจ้งข้อหากับทั้งหมดในข้อหาเดียว คือ ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ พ.ศ. 2548 มาตรา 9  เนื่องจาก “ร่วมกันชุมนุมหรือทำกิจกรรมที่มีการรวมคนที่มีความแออัดในลักษณะที่อาจเป็นสาเหตุก่อให้เกิดโรคโควิด 19 ซึ่งมีผู้เข้าร่วมเป็นจำนวนมาก และโอกาสติดต่อสัมผัสกันได้โดยง่าย อันเป็นการร่วมกันฝ่าฝืนประกาศหัวหน้าผู้หน้าผู้รับผิดชอบ ในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินเกี่ยวกับความมั่นคง” 

นอกจากนี้เฉพาะ “มายด์” ภัสราวลี ยังถูกแจ้งข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เพิ่มอีก 1 ข้อหา เหตุเนื่องจากการแจ้งความร้องทุกข์ของประชาชน 2 ราย 

ในบันทึกแจ้งข้อกล่าวหาระบุพฤติการณ์ไว้ว่า นายวราวุธ มากมารศรี (ผู้กล่าวหาที่ 2) ทราบว่าจะมีการชุมนุมเกิดขึ้นที่บริเวณแยกราชประสงค์ จึงส่งตัวแทนในกลุ่มปกป้องสถาบันฯ แฝงตัวเข้าไปเฝ้าสังเกตการณ์และรับฟังการปราศรัย เนื่องจากทราบว่าภัสราวลีจะมีการพูดพาดพิงสถาบันกษัตริย์ ปรากฏว่าภัสราวลีได้ขึ้นปราศรัยพูดในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ทั้งหมด 3 ประเด็น ดังนี้ 

1) พูดว่า “หนึ่งประเทศมีกองทัพเดียว จะแยกกองทัพออกไปเป็นของตนเองไม่ได้” ซึ่งสื่อถึงว่าเป็นการใส่ความพระมหากษัตริย์ว่าก่อตั้งกองทัพส่วนพระองค์เอง 

2) พูดว่า “การแทรกแซงอยู่เบื้องหลังกลุ่มก้อนการเมือง ย่อมนำมาซึ่งความไม่พอใจของประชาชน” ซึ่งสื่อถึงว่าเป็นการใส่ความพระมหากษัตริย์เป็นผู้แทรกแซงทางการเมือง 

3) พูดว่า “ทรัพย์สมบัติของชาติที่ท่านเอาไปซึ่ง ณ ปัจจุบัน อยู่ในนามของท่าน ก็ขอให้โอนกลับคืนสู่ประชาชนเสียโดยไว” สื่อถึงว่าเป็นการใส่ความว่าพระมหากษัตริย์เอาทรัพย์สมบัติของชาติ ไปเป็นส่วนของพระองค์

เพื่อนของผู้แจ้งความได้บันทึกวีดีโอและส่งมาให้กับผู้แจ้งในขณะเกิดเหตุ ผู้แจ้งความเห็นว่าการกระทำของภัสราวลีเป็นการดูหมิ่นองค์พระมหากษัตริย์ ให้เสื่อมเสียพระเกียรติ นำเสนอข้อความอันเป็นเท็จ ทำให้ผู้รับฟังเข้าใจผิด จนอาจนำไปสู่ความเกลียดชังต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ จึงมาร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน 

ต่อมาประชาชนอีกราย คือ นางสาวแทนคุณ ปิตุภูมิ (ผู้กล่าวหาที่ 3) ได้เข้าแจ้งความร้องทุกข์เอาผิดกับภัสราวลี ในข้อหาเดียวกันกับผู้ร้องทุกข์รายแรก โดยระบุพฤติการณ์ว่า การปราศรัยของภัสราวลีมีการพาดพิงและหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ โดยกล่าวหาว่าพระมหากษัตริย์ทรงแทรกแซง และอยู่เบื้องหลังกลุ่มการเมือง และพระมหากษัตริย์ยังเอาทรัพย์สมบัติของชาติไปเป็นของส่วนพระองค์ 

เมื่อผู้แจ้งได้ฟังคำปราศรัยดังกล่าวแล้ว เข้าใจได้ว่าผู้ต้องหาใส่ความพระมหากษัตริย์อันทำให้ได้รับความเสียหาย และอาจทำให้เกิดความเกลียดชังต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นการกระทำที่มิบังควรอย่างยิ่ง จึงมาร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน

หลังรับทราบข้อกล่าวหา นักกิจกรรมทั้งหมดให้การปฎิเสธทุกข้อกล่าวหา โดยภัสราวลี จะยื่นคำให้การเพิ่มเติมเป็นหนังสือภายในวันที่ 7 พ.ค. 64  

ส่วน “ภูมิ” เยาวชนอายุ 16 ปี มีนัดพบกับสถานพินิจในวันที่ 20 เม.ย. 64 และพบอัยการคดีเยาวชนและครอบครัวในวันที่ 5 พ.ค. 64 และผู้ถูกกล่าวหาอีก 7 คน จะให้การเพิ่มเติมเป็นหนังสือภายในวันที่ 23 เม.ย. 64

จากนั้นพนักงานสอบสวนได้ให้ปล่อยตัวทั้งหมดไปโดยไม่มีการควบคุมตัวไว้ 

ในกรณีของยิ่งชีพที่ได้ขอไฟล์บันทึกวิดีโอการสอบสวนในวันนี้นั้น พนักงานสอบสวนได้ปฏิเสธจะให้ไฟล์หรือแผ่นซีดี และยิ่งชีพได้ให้ทางตำรวจทำหนังสือปฏิเสธดังกล่าวไว้ โดยมี พ.ต.อ.จักรกริศน์ โฉสูงเนิน ผู้กำกับสน.ลุมพินี เป็นผู้ลงนาม โดยอ้างเหตุผลที่ไม่ให้ว่าเป็นไปตาม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของทางราชการ พ.ศ. 2540 มาตรา 15 (2) ทั้งสำนวนการสอบสวนถือว่าเป็นความลับในทางคดี ไม่สามารถเปิดเผย ไม่สามารถให้คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไปได้ 

ทั้งนี้ในช่วง 17.00 น. อรรถพล บัวพัฒน์ ได้เดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหา หลังจากเสร็จภารกิจที่ศาล โดยอรรถพลถูกแจ้งข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพียงข้อหาเดียวเช่นเดียวกับผู้ต้องหาอีก 8 คน อรรถพลให้การปฎิเสธข้อกล่าวหาเช่นกัน

จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน การเข้ารับทราบข้อกล่าวหาในวันนี้นับเป็นการถูกแจ้งข้อกล่าวหาจากการเข้าร่วมชุมนุมทางการเมืองครั้งแรกของยิ่งชีพ ผู้ทำงานปกป้องสิทธิมนุษยชนมาหลายปี ขณะที่ผู้ถูกกล่าวหารายอื่นถูกกล่าวหาในคดีทางการเมืองต่างๆ มาก่อนแล้ว

ขณะเดียวกัน กรณีของมายด์ ภัสราวลี นับเป็นคดีมาตรา 112 คดีที่สามที่เธอถูกกล่าวหาจากการเคลื่อนไหวทางการเมือง และนับจากเดือนพฤศจิกายน 2563 เป็นต้น พบว่ามีผู้ถูกดำเนินคดีข้อหานี้ไปแล้วทั้งสิ้นอย่างน้อย 84 ราย ใน 77 คดี 

 

 

X