ต้นเดือน ก.พ. ถึงสิ้นเดือน (11 – 28 ก.พ. 2565) ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนพบว่า อัยการยื่นฟ้องคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ต่อศาลแขวงอีก 2 คดี ได้แก่ คดีจากการชุมนุมเมื่อวันที่ 23 ก.พ. 2564 หรือ #ม็อบตำรวจล้มช้าง ซึ่งนักกิจกรรมตกเป็นจำเลย 4 ราย และคดีสืบเนื่องจากการชุมนุมที่ดินแดงเมื่อวันที่ 7 ส.ค. 2564 มีจำเลยเป็นประชาชน 1 ราย
นอกจากนี้ ยังมีอีก 1 คดีที่ถูกฟ้องไปเมื่อวันที่ 10 ก.พ. 2565 เป็นคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เช่นกัน จากการชุมนุม #ตีหม้อไล่เผด็จการ เมื่อวันที่ 10 ก.พ. 2564 มีนักกิจกรรมเป็นจำเลย 8 ราย โดยหลังศาลแขวงรับฟ้องทั้ง 3 คดี ได้อนุญาตปล่อยชั่วคราวจำเลยทั้งหมด
+++ ฟ้องนักกิจกรรม 8 ราย เหตุร่วมม็อบ #ตีหม้อไล่เผด็จการ 10 ก.พ. 64 สกายวอล์คปทุมวัน ศาลให้ประกัน เรียกเงินรวม 1.6 แสน +++
10 ก.พ. 2565 – พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีศาลแขวง 6 (ปทุมวัน) ได้ยื่นฟ้องนักกิจกรรมรวม 7 ราย ได้แก่ “บอย” ชาติชาย แกดำ, “บอล” ชนินทร์ วงษ์ศรี, ธนพร วิจันทร์, “แอมป์” ณวรรษ เลี้ยงวัฒนา, ศรีไพร นนทรีย์, เซีย จำปาทอง, และ “ไบรท์” ชินวัตร จันทร์กระจ่าง ต่อศาลแขวงปทุมวัน ในข้อหา ร่วมกันฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และร่วมกันใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาตในคดีความสืบเนื่องจากเข้าร่วมการชุมนุม #ตีหม้อไล่เผด็จการ เมื่อวันที่ 10 ก.พ. 2564 ที่บริเวณสกายวอล์ค หน้าห้างมาบุญครอง
คดีนี้ยังมีผู้ถูกดำเนินคดีอีกรายคือ “ตี้” วรรณวลี ธรรมสัตยา แต่ไม่สามารถเดินทางมาในนัดนี้พร้อมคนอื่นได้ และนัดหมายกับอัยการไปส่งฟ้องภายหลัง คือ ในวันที่ 17 ก.พ. 2565 นอกจากนี้ การชุมนุมครั้งนั้น ยังมีผู้ถูกดำเนินอีก 3 ราย คือ “รุ้ง” ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล, “ไมค์” ภาณุพงศ์ จาดนอก, และ “ครูใหญ่” อรรถพล บัวพัฒน์ แต่คดีถูกฟ้องต่อศาลอาญากรุงเทพใต้ เนื่องจากมีข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215 วรรค 3 ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี จึงอยู่นอกเหนือเขตอำนาจศาลแขวง
>>> ‘ราษฎร’ เจออีก 6 ข้อหา 2 คดี #ชุมนุมปล่อยเพื่อนเรา และ #ตีหม้อไล่เผด็จการ ที่สกายวอล์ค ปทุมวัน
ในคดีของนักกิจกรรม 7 ราย รวมทั้งวรรณวลี สุปราณี จิตรทหาร พนักงานอัยการบรรยายฟ้องว่า เมื่อวันที่ 10 ก.พ. 2564 จำเลยทั้งหมด กับพวกอีก 3 คน ซึ่งแยกดำเนินคดี ได้ร่วมกันกระทำผิดกฎหมายหลายกรรมต่างกัน กล่าวคือ ทั้งหมดได้โพสต์เฟซบุ๊กบัญชีชื่อ “ราษฎร” นัดให้มีการชุมนุมในวันเดียวกันนั้นที่สกายวอล์ค หน้าห้างมาบุญครอง
เมื่อถึงเวลานัด ทั้งหมดได้ร่วมกันชุมนุมทำกิจกรรมทางการเมือง ปราศรัยโจมตีรัฐบาล และเรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้ชุมนุมที่ถูกจับกุม ทั้งยังได้ขัดขืนคำสั่งของเจ้าพนักงานที่ให้ยุติการชุมนุม การชุมนุมดังกล่าวมีความเสี่ยงที่จะแพร่โรค ขาดมาตรการป้องกันโรคระบาดตามที่ทางราชการกำหนด ต่อมาได้มีการเคลื่อนขบวนไปชุมนุมที่หน้า สน.ปทุมวัน อีกทั้งยังมีการใช้เครื่องขยายเสียงเพื่อพูดปราศรัยโดยไม่ได้รับอนุญาต
หลังศาลรับฟ้อง ได้อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยในชั้นพิจารณา กำหนดหลักประกันเป็นเงินรายละ 20,000 บาท และนัดพร้อมในวันที่ 30 มี.ค. 2565 เวลา 09.00 น.
+++ ฟ้อง 4 นักกิจกรรม-นักศึกษา เหตุร่วม #ม็อบตำรวจล้มช้าง 23 ก.พ. 64 หน้า สตช. อัยการอ้างผิด 4 ข้อหา ศาลให้ประกันโดยไม่กำหนดหลักประกัน +++
22 ก.พ. 2565 – พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีศาลแขวง 6 (ปทุมวัน) ได้ยื่นฟ้องนักกิจกรรมทางการเมือง – นักศึกษา 4 ราย ได้แก่ “บอย” ชาติชาย แกดำ, ปาริชาต เลิศอัคระรัตน์, นันทพงศ์ ปานมาศ และ “ตี้” วรรณวลี ธรรมสัตยา ต่อศาลแขวงปทุมวัน ในข้อหา ร่วมกันฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, พ.ร.บ.จราจรฯ, ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 385 และ พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงฯ กรณีเข้าร่วม #ม็อบ23กุมภา หรือ #ม็อบตำรวจล้มช้าง เมื่อวันที่ 23 ก.พ. 2564 ซึ่งมีการเดินขบวนจากแยกราชประสงค์ไปยังหน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ภายหลังจากที่ รังสิมันต์ โรม สมาชิกผู้แทนราษฎรพรรคก้าวไกล ได้อภิปรายไม่ไว้วางใจในสภา กล่าวถึงการเลื่อนขั้นภายในองค์กรตำรวจอย่างก้าวกระโดด ทำให้เกิดกระแสการวิพากษ์วิจารณ์สิ่งที่เรียกว่า “ตั๋วช้าง”
>>> 3 น.ศ.-นักกิจกรรมถูกกล่าวหาฝ่าฝืน “พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ” เหตุร่วม #ม็อบตำรวจล้มช้าง ที่แยกราชประสงค์
สำหรับพฤติการณ์ตามคำฟ้อง กมลภพ จิตรณรงค์ พนักงานอัยการ ระบุว่า เมื่อวันที่ 21 ก.พ. 2564 ทั้ง 4 ได้โพสต์ข้อความทางบัญชีเฟซบุ๊ก “ภาคีนิรนาม-Anonymous Party” นัดหมายให้มีการชุมนุมที่แยกราชประสงค์ในวันที่ 23 ก.พ. 2564 เวลา 17.00 น. แฮชแท็ก #ผู้พิทักษ์สันติราษฎรจะฟาดตั๋วช้าง
ในวันที่มีการนัดหมาย ทั้งหมดได้ร่วมกันจัดกิจกรรมและร่วมชุมนุมทางการเมือง มีการผลัดเปลี่ยนกันขึ้นปราศรัยโจมตีการทำงานของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และเรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้ต้องหาที่ถูกจับกุม ผ่านเครื่องขยายเสียงไฟฟ้า โดยผู้ชุมนุมไม่มีการเว้นระยะห่าง เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค และมีการยุยงให้เกิดความไม่สงบ อีกทั้งยังชุมนุมจนเต็มพื้นผิวจราจรถนนพระราม 1 ถือเป็นการกีดขวางการจราจรและทางสาธารณะ ก่อให้เกิดความไม่สะดวกต่อประชาชน
หลังจากที่อัยการยื่นฟ้อง ศาลได้อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยในชั้นพิจารณาโดยไม่เรียกหลักประกัน กำหนดนัดพร้อมในวันที่ 30 มี.ค. 2565
+++ ฟ้อง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ประชาชน 1 ราย หลังถูกกล่าวหา ร่วมม็อบดินแดง เจ้าตัวยืนยัน แค่ไปตามเพื่อนกลับ +++
28 ก.พ. 2565 – พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีศาลแขวง 2 ยื่นฟ้อง วรวุฒิ (สงวนนามสกุล) ต่อศาลแขวงพระนครเหนือ ในความผิดฐาน ฝ่าฝืนข้อกำหนด ประกาศ และคำสั่งที่ออกตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ โดยเขาถูกกล่าวหาว่า เข้าร่วมการชุมนุมที่ถนนดินแดง ใกล้แยกสามเหลี่ยมดินแดง เมื่อวันที่ 7 ส.ค. 2564
ทั้งนี้ วรวุฒิเล่าว่า ที่ตนเข้าไปอยู่ในที่เกิดเหตุก็เพราะเพื่อนที่ไปชุมนุมโทรขอความช่วยเหลือ เนื่องจากโดนแก๊สน้ำตา แต่เมื่อเข้าไปในพื้นที่กลับไม่พบเพื่อน และตนเองยังถูกแก๊สน้ำตา จึงหลบไปยังจุดพยาบาลพร้อมคนรอบ ๆ ที่ได้รับผลกระทบเอาน้ำล้างหน้า แต่ก็ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจฝ่ายสืบสวนถ่ายภาพไว้ และออกหมายเรียกตามมาทีหลัง โดยเขาเข้าไปรับทราบข้อกล่าวหาเมื่อวันที่ 17 ก.ย. 2564 และตำรวจไม่ได้ควบคุมตัวไว้
คำฟ้องของสุวิตา กังวานสุระ พนักงานอัยการ ระบุว่า เมื่อวันที่ 7 ส.ค. 2564 จำเลยกับพวกอีกหลายคนได้ร่วมกันชุมนุมขับไล่รัฐบาลที่บริเวณใกล้แยกสามเหลี่ยมดินแดง อันเป็นสถานที่แออัด และกิจกรรมเสี่ยงต่อการแพร่โรค
อัยการระบุในคำฟ้องด้วยว่า วันที่ 17 ก.ย. 2564 เจ้าหน้าที่ตำรวจได้จับกุมตัวจำเลย นำส่งพนักงานสอบสวน ทั้งที่วรวุฒิเข้าไปรับทราบข้อกล่าวหาตามหมายเรียก นอกจากนี้ อัยการยังอ้างว่า จำเลยกระทำโดยรู้สำนึกแต่ขาดความรับผิดชอบต่อส่วนรวมในการป้องกันและควบคุมโรค เพื่อไม่ให้มีการแพร่ระบาดออกไปในวงกว้าง จึงขอศาลลงโทษสถานหนัก
คดีนี้ขาดผัดฟ้อง แต่ทางรองอัยการสูงสุดซึ่งได้รับมอบหมายอำนาจจากอัยการสูงสุดได้อนุญาตให้ฟ้อง
หลังจากอัยการยื่นฟ้อง ศาลได้อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยในชั้นพิจารณาโดยไม่ต้องวางหลักประกัน นัดพร้อมตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 27 เม.ย. 2565 เวลา 09.00 น.