ยกฟ้อง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ 8 นักกิจกรรม ร่วม #ม็อบ10กุมภา64 #ตีหม้อไล่เผด็จการ ชี้ไม่ใช่ผู้จัดชุมนุม-ใช้เสรีภาพตาม รธน. แต่ปรับคนละ 200 เหตุใช้เครื่องขยายเสียงฯ 

วันที่ 7 ส.ค. 2566 เวลา 9.00 น. ศาลแขวงปทุมวัน นัดฟังคำพิพากษาคดีของนักกิจกรรมและนักการเมือง จำนวน 8 ราย ซึ่งถูกดำเนินคดีในข้อหาฝ่าฝืนข้อกําหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และร่วมกันใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต จากการร่วมชุมนุมและปราศรัยในกิจกรรม #ตีหม้อไล่เผด็จการ เมื่อวันที่ 10 ก.พ. 2564 ที่บริเวณสกายวอล์ค แยกปทุมวัน 

ผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 8 ราย ได้แก่  “บอย” ธัชพงศ์ หรือ ชาติชาย แกดำ (จำเลยที่ 1), “บอล” ชนินทร์ วงษ์ศรี (จำเลยที่ 2), “ไหม” ธนพร วิจันทร์ (จำเลยที่ 3), “แอมป์” ณวรรษ เลี้ยงวัฒนา (จำเลยที่ 4), ศรีไพร นนทรีย์ (จำเลยที่ 5), เซีย จำปาทอง (จำเลยที่ 6), “ไบร์ท” ชินวัตร จันทร์กระจ่าง (จำเลยที่ 7) และ “ตี้” วรรณวลี ธรรมสัตยา (จำเลยที่ 8)

สำหรับการชุมนุม #ม็อบ10กุมภา64 #ตีหม้อไล่เผด็จการ เป็นการชุมนุมครั้งที่ 2 ของปี 2564 ที่กลุ่มราษฎรนัดชุมนุม โดยมีข้อเรียกร้องหลัก คือ ยกเลิก 112 และปล่อยตัวนักกิจกรรมที่ถูกคุมขังระหว่างการพิจารณาคดี 112 กรณีชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร (ดูรายละเอียดการชุมนุมใน Mob Data Thailand)

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 11 มี.ค. 2564 ที่ สน.ปทุมวัน นักกิจกรรมกลุ่มราษฎร เข้ารับทราบข้อกล่าวหาจากการชุมนุม เมื่อวันที่ 9 ก.พ. 2564 จากกิจกรรม #ปล่อยเพื่อนเรา และรับทราบข้อกล่าวหาจากการชุมนุมเมื่อวันที่ 10 ก.พ. 2564 จากกิจกรรม #ตีหม้อไล่เผด็จการ ที่มีผู้ถูกดำเนินคดี 11 ราย 

ต่อมาวันที่ 10 ก.พ. 2565 พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด (สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีศาลแขวง 6) ได้ยื่นฟ้องคดีกับจำเลยทั้ง 7 รายต่อศาลด้วย 2 ข้อกล่าวหา ได้แก่ ร่วมกันฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และร่วมกันใช้เครื่องขยายเสียงด้วยกำลังไฟฟ้าโดยไม่ได้รับอนุญาต และต่อมามีการรวมคดีของวรรณวลีเข้ามาเป็นจำเลยที่ 8 ในคดีนี้

นอกจากจำเลยทั้ง 8 รายในคดีนี้ ยังมีนักกิจกรรมและนักการเมืองอีก 3 ราย ที่ถูกดำเนินคดีจากเหตุชุมนุมในวันเดียวกัน ได้แก่ “รุ้ง” ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล, “ไมค์” ภาณุพงศ์ จาดนอก และ “ครูใหญ่” อรรถพล บัวพัฒน์ ซึ่งถูกฟ้องแยกเป็นอีกคดีที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ เนื่องจากถูกกล่าวหาเพิ่มเติมในอีก 5 ข้อหา ที่มีอัตราโทษจำคุกสูงกว่า

คดีนี้จำเลยทั้งหมดได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และศาลได้สืบพยานโจทก์และจำเลยไปตั้งแต่วันที่ 19-21 เม.ย. และ 3, 10 พ.ค. 2566 ที่ผ่านมา ก่อนนัดฟังคำพิพากษาในวันนี้

วันนี้ (7 ส.ค. 2566) ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 710 เวลาประมาณ 13.30 น. จำเลยทั้งหมดเดินทางมาฟังคำพิพากษา ผู้พิพากษาออกนั่งพิจารณาและอ่านคำพิพากษาสรุปได้ 5 ประเด็น ดังนี้

ประเด็นที่ 1 เรื่องผู้จัดการชุมนุมนั้น เห็นว่า ที่โจทก์อ้างว่าจำเลยเป็นผู้นำเข้าข้อความนัดชุมนุมผ่านบัญชีเฟซบุ๊ก “ราษฎร” นั้น โจทก์ไม่มีพยานหลักฐานยืนยันว่าจำเลยมีส่วนร่วมหรือเป็นผู้โพสต์เชิญชวนการชุมนุม เมื่อข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้ง 8 คนเป็นผู้จัดการชุมนุม จึงไม่มีหน้าที่ต้องจัดมาตรการป้องกันโรคโควิด-19 

ประเด็นที่ 2 เรื่องข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ (ฉบับที่ 15) ว่าเป็นการชุมนุมในสถานที่แออัดหรือไม่นั้น เห็นว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าสถานที่เกิดเหตุตามฟ้องไม่ใช่สถานที่แออัด ยังเหลือที่ว่างอยู่มากให้ผู้ชุมนุมสามารถเดินไปมาได้

ประเด็นที่ 3 เรื่องเป็นการชุมนุมที่ยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยหรือไม่นั้น เห็นว่า ข้อเรียกร้องในการชุมนุมและคำปราศรัยของจำเลยทั้งหมดเป็นข้อเรียกร้องให้นายกลาออก, แก้ไขรัฐธรรมนูญ และปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ รวมถึงเรียกร้องให้ปล่อยตัวแกนนำผู้ที่ถูกจับกุม จึงเป็นข้อเรียกร้องที่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ

แม้ข้อเท็จจริงจะปรากฎว่า มีแกนนำผู้ชุมนุม “ไมค์” ภาณุพงศ์ จาดนอก ประกาศผ่านเครื่องขยายเสียงว่า ให้เวลาตำรวจสอบปากคำไม่เกิน 20.30 น. หากยังไม่ปล่อยตัวผู้ที่ถูกจับกุมจะบุกเข้าไปในสถานีตำรวจ ข้อความดังกล่าวเป็นเพียงข้อความกำหนดเงื่อนเวลาให้เจ้าหน้าที่ตำรวจปฏิบัติตามเท่านั้น ไม่ใช่ข้อความยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย โดยเมื่อครบเวลาดังกล่าวก็ไม่ปรากฏว่ามีผู้ชุมนุมบุกเข้าไปในสถานีตำรวจแต่อย่างใด

แม้จะมีข้อเท็จจริงว่า มีคนร้ายพยายามขว้างปาสิ่งของใส่เจ้าหน้าที่และทำลายทรัพย์สิน ที่บริเวณ สน.ปทุมวัน แต่ไม่ปรากฏว่าจำเลยในคดีนี้เป็นผู้สั่งการหรือเป็นผู้กระทำการดังกล่าว เมื่อข้อเรียกร้องของการชุมนุมเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ แม้จะมีกลุ่มคนร้ายพยายามทำลายทรัพย์สินของราชการหรือขว้างปาสิ่งของใส่เจ้าหน้าที่ ก็ไม่อาจนำพฤติการณ์ของบุคคลดังกล่าวมารวมว่าจำเลยในคดีนี้เป็นตัวการหรือผู้ร่วมกระทำความผิดได้ ข้อเท็จจริงจึงยังฟังไม่ได้ว่าเป็นการชุมนุมที่ยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย

ประเด็นที่ 4 เรื่องการห้ามร่วมชุมนุมเสี่ยงต่อการแพร่โรค ตามประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคงนั้น เห็นว่า ประกาศดังกล่าวเป็นการกำหนดรายละเอียดเพิ่มเติมจากข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ (ฉบับที่ 15) เมื่อการกระทำของจำเลยทั้ง 8 คนไม่เป็นความผิดตามข้อกำหนดฯ ย่อมไม่มีความผิดตามประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบฯ ด้วย จึงไม่ต้องวินิจฉัยข้อเท็จจริงว่าเสี่ยงต่อการแพร่โรคหรือไม่

ประเด็นที่ 5 เรื่องการใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาตนั้น เห็นว่า พยานโจทก์เบิกความยืนยันว่าจำเลยทั้งหมดสับเปลี่ยนกันขึ้นปราศรัย และไม่มีการขออนุญาตใช้เครื่องขยายเสียง ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าจำเลยใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต

ศาลพิพากษายกฟ้องในข้อหาฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และลงโทษปรับตาม พ.ร.บ.เครื่องขยายเสียงฯ กับจำเลยที่ 1-7 คนละ 200 บาท รวมปรับ 1,400 บาท ส่วนจำเลยที่ 8 โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องในข้อหาตาม พ.ร.บ.เครื่องขยายเสียงฯ 

ผู้พิพากษาที่ทำคำพิพากษา ได้แก่ สิริมา วิริยะโพธิ์ชัย

X