‘ราษฎร’ เจออีก 6 ข้อหา 2 คดี #ชุมนุมปล่อยเพื่อนเรา และ #ตีหม้อไล่เผด็จการ ที่สกายวอล์ค ปทุมวัน

*** อัพเดทล่าสุดเมื่อวันที่ 23 มี.ค. 64 ***

วันนี้ (11 มีนาคม 2564) ที่ สน.ปทุมวัน นักกิจกรรมกลุ่มราษฎร เข้ารับทราบข้อกล่าวหาจากการชุมนุม เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2564 จากกิจกรรม  #ปล่อยเพื่อนเรา ที่มีผู้ถูกดำเนินคดี 9 ราย และรับทราบข้อกล่าวหาจากการชุมนุมเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2564 จากกิจกรรม #ตีหม้อไล่เผด็จการ ที่มีผู้ถูกดำเนินคดี 11 ราย ทั้งสองกรณีต่างถูกแจ้งข้อหาร่วมกันฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, พ.ร.บ.โรคติดต่อ และร่วมกันโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต

บรรยากาศที่ สน.ปทุมวัน มีการตั้งจุดคัดกรองโควิด 19 และแลกบัตรสำหรับผู้มาติดต่อ สน. ในทั้งสองคดีมี พ.ต.ท.เอกภพ ลิขิตธนสมบัติ เป็นผู้กล่าวหา และมี พ.ต.ท.เจริญสิทธิ์ จงอิทธิ พร้อมทีมพนักงานสอบสวน เป็นผู้แจ้งข้อกล่าวหา 

สำหรับคดี #ม็อบ9กุมภา พฤติการณ์ข้อกล่าวหาระบุว่า เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2564 เวลา 17.00 น. เฟซบุ๊กชื่อ ‘ราษฎร’ โพสต์ข้อความระดมพลด่วนเวลานี้ที่สกายวอล์ค แยกปทุมวัน ต่อมาเวลา 18.46 น. ที่บริเวณสกายวอล์ค ปรากฎกลุ่มผู้ชุมนุม คือ ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล, สิรภพหรือแร็ปเปอร์, ชินวัตร จันทร์กระจ่าง, วีรวิชญ์ (สงวนนามสกุล), ณวรรษ เลี้ยงวัฒนา, สิรภพ พุ่มพึ่งพุทธ, ชาติชาย แกดำ, ทวีชัย มีมุ่งธรรม และเบนจา อะปัญ มาร่วมชุมนุมและกล่าวปราศรัย โดยนำเครื่องขยายเสียงมาใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต และกลุ่มผู้ชุมนุมผลัดกันขึ้นปราศรัย มีวัตถุประสงค์ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจปล่อยกลุ่มผู้ต้องหาที่ถูกควบคุมตัวอยู่ พร้อมแสดงจุดยืนปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ 

ต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจประกาศให้ยุติการชุมนุม ให้กลุ่มผู้ชุมนุมออกจากพื้นที่เนื่องจากสถานการณ์แพร่ระบาดโรคโควิด 19 ยังคงมีอยู่ เพื่อป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาด จึงห้ามมิให้มีการชุมนุม ทำกิจกรรม หรือมั่วสุมในที่ใดๆ ในสถานที่แออัด หรือกระทำการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย และต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคของกระทรวงสาธารณสุข นอกจากนั้นกลุ่มผู้ชุมนุมยังไม่ได้จัดให้มีมาตรการป้องกันโรคติดต่อ ไม่มีการเว้นระยะห่างให้เกิดความปลอดภัย 

ภาพการชุมนุมวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2564

พนักงานสอบสวนจึงแจ้งข้อกล่าวหา 3 ข้อหา ดังนี้

  1. ร่วมกันฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน
  2. ร่วมกันกระทำหรือดำเนินการใดๆ ซึ่งอาจก่อสภาวะที่ไม่ถูกสุขลักษณะ ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ
  3. ร่วมกันโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต

ผู้ต้องหาทั้ง 8 รายให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และจะให้การเป็นหนังสือภายในวันที่ 29 มีนาคม 2564  

ในส่วนของปนัสยาอีกหนึ่งผู้ถูกกล่าวหา ขณะนี้ถูกควบคุมตัวระหว่างพิจารณาคดีที่ทัณฑสถานหญิงกลาง ในคดีหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ มาตรา 112 จากการชุมนุม #19กันยาทวงคืนอำนาจให้ราษฎร เจ้าหน้าที่ตำรวจแจ้งว่าจะทำเรื่องเข้าไปแจ้งข้อกล่าหาในเรือนจำต่อไป

ภาพการชุมนุมวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2564

ส่วนคดี #ม็อบ10กุมภา #ตีหม้อไล่เผด็จการ พฤติการณ์ข้อกล่าวหาว่า เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2564 เวลาประมาณ 15.00 น. เฟซบุ๊กชื่อ “ราษฎร” โพสต์ข้อความเลื่อนเวลาเจอกัน 16.00 น. เตรียมหม้อ คว้ากะทะ หยิบภาชนะใกล้ตัวมาที่สกายวอล์ค แยกปทุมวัน 

ต่อมาเวลา 16.46 น. ที่บริเวณสกายวอล์ค ปรากฎกลุ่มผู้ชุมนุมได้แก่ ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล, ภาณุพงศ์ จาดนอก, ชาติชาย แกดำ, ชนินทร์ วงษ์ศรี, ธนพร วิจันทร์, ณวรรษ เลี้ยงวัฒนา, วรรณวลี ธรรมสัตยา, ศรีไพร นนทรีย์, เซีย จำปาทอง, อรรถพล บัวพัฒน์ และชินวัตร จันทร์กระจ่าง มาร่วมชุมนุมและกล่าวปราศรัย โดยนำเครื่องขยายเสียงมาใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต และกลุ่มผู้ชุมนุมผลัดกันขึ้นปราศรัย มีวัตถุประสงค์ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจปล่อยกลุ่มผู้ต้องหาที่ถูกควบคุมตัวอยู่ พร้อมแสดงจุดยืนปฏิรูปสถาบันกษัตริย์  

ต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจประกาศให้ยุติการชุมนุม ให้กลุ่มผู้ชุมนุมออกจากพื้นที่เนื่องจากสถานการณ์แพร่ระบาดโรคโควิด 19 ยังคงมีอยู่ เพื่อป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาด จึงห้ามมิให้มีการชุมนุม ทำกิจกรรม หรือมั่วสุมในที่ใดๆในสถานที่แออัดหรือกระทำการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย และต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคของกระทรวงสาธารณสุข นอกจากนั้นกลุ่มผู้ชุมนุมยังไม่ได้จัดให้มีมาตรการป้องกันโรคติดต่อ ไม่มีการเว้นระยะห่างให้เกิดความปลอดภัย

พนักงานสอบสวนจึงแจ้งข้อกล่าวหา 3 ข้อหาดังนี้

  1. ร่วมกันฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน
  2. ร่วมกันกระทำหรือดำเนินการใดๆ ซึ่งอาจก่อสภาวะที่ไม่ถูกสุขลักษณะ ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ
  3. ร่วมกันโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต

วันนี้มีผู้เข้ารับทราบข้อหา 6 ราย ได้แก่ ชาติชาย, ธนพร, ณวรรษ, ศรีไพร, เซีย และชินวัตร ได้ให้การปฏิเสธข้อกล่าวหา และจะยื่นคำให้การเป็นหนังสือภายในวันที่ 31 มีนาคม 2564  ขณะที่อรรถพล, ชนินทร์ และวรรณวลี ขอเลื่อนเข้ารับทราบข้อกล่าวหาเนื่องจากติดภารกิจ ไปเป็นวันที่ 19 มีนาคม 2564 

ส่วนปนัสยาและภาณุพงศ์ ขณะนี้ถูกควบคุมตัวระหว่างพิจารณาคดีจากการชุมนุม #19กันยาทวงคืนอำนาจให้ราษฎร เจ้าหน้าที่ตำรวจแจ้งว่าจะทำเรื่องเข้าแจ้งข้อกล่าวหาในที่เรือนจำต่อไป 

มีข้อมูลเพิ่มเติมว่าพนักงานสอบสวนตกลงไม่ได้แจ้งข้อหามั่วสุมกันตั้งแต่สิบคนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้าย ให้เกิดการวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 215 กับชินวัตร จันทร์กระจ่าง หนึ่งในผู้ต้องหา ตามที่เคยจะแจ้ง

ต่อมา 3 ผู้ต้องหาที่เหลือทยอยเดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหาที่ สน.ปทุมวัน ในคดี #ม็อบ10กุมภา #ตีหม้อไล่เผด็จการ ที่สกายวอล์ค แยกปทุมวัน เมื่อวันที่ 10 ก.พ. 64 หลังก่อนหน้านี้ทั้ง 3 รายได้ขอเลื่อนเข้ารับทราบข้อกล่าวหา เนื่องจากติดภารกิจในวันที่ 11 มี.ค. 64

ชนินทร์ วงษ์ศรี (ผู้ต้องหาที่ 4) เดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวเมื่อวันที่ 19 มี.ค. 64 เวลา 10.30 น., วรรณวลี ธรรมสัตยา (ผู้ต้องหาที่ 7) เดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหาเมื่อวันที่ 22 มี.ค. 64 เวลา 13.30 น. และอรรถพล บัวพัฒน์ (ผู้ต้องหาที่ 10) เดินทางเดินรับทราบข้อกล่าวเมื่อวันที่ 23 มี.ค. 64 เวลา 13.30 น.

ทั้งนี้อรรถพลถูกแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมอีก 5 ข้อหา ได้แก่

      1. มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215 เนื่องจาก “ร่วมกันมั่วสุมกันตั้งแต่สิบคนขึ้นไป ใช้กําลังประทุษร้ายขู่เข็ญว่าจะใช้กําลังประทุษร้าย หรือกระทําการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดการวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง โดยเป็นหัวหน้า หรือเป็นผู้มีหน้าที่สั่งการในการกระทําความผิด” ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
      2. มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 296 เนื่องจาก “ร่วมกันทําร้ายร่างกายเจ้าพนักงานซึ่งกระทําการตามหน้าที่จนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ร่วมกันทำร้ายร่างกายเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่” ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
      3. มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358 เนื่องจาก “ร่วมกันทําให้เสียทรัพย์ที่ใช้หรือมีไว้เพื่อสาธารณะประโยชน์ ร่วมกันทำให้เสียทรัพย์” ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
      4. มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 385 เนื่องจาก “ร่วมกันกีดขวางทางสาธารณะ จนอาจเป็น อุปสรรคต่อความปลอดภัยหรือความสะดวกในการจราจร โดยวาง หรือทอดทิ้งสิ่งของ หรือโดยกระทําด้วย ประการอื่นใด” ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท
      5. มีความผิดตาม พ.ร.บ.ความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2535 มาตรา 12 เนื่องจาก “ร่วมกันขูด กระเทาะ ขีด เขียน พ่นสี หรือทําให้ปรากฏด้วยประการใดๆ ซึ่งข้อความ ภาพ หรือรูปรอยใดๆ บนถนน” ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท

ทั้ง 3 รายให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา จากนั้นพนักงานสอบสวนปล่อยตัวให้กลับโดยไม่ได้ควบคุมตัวแต่อย่างใด เนื่องจากยังไม่ได้เป็นผู้ถูกจับ และทั้งหมดจะยื่นคำให้การเพิ่มเติมภายใน 15 วัน 

ภาพการชุมนุมวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2564 หน้าสน.ปทุมวัน

สำหรับเหตุในคดี #ชุมนุมปล่อยเพื่อนเรา เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2564 เกิดขึ้นท่ามกลางความไม่พอใจของประชาชน หลังจากศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัว พริษฐ์ ชิวารักษ์, อานนท์ นำภา, ปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม และ สมยศ พฤกษาเกษมสุข    

ส่วนเหตุคดีในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2564 เกิดจากกลุ่มประชาชนนัดรวมตัวกันบริเวณสกายวอล์ค ห้างมาบุญครอง ชุมนุมกันในชื่อ ‘รวมพลคนไม่มีจะกิน ตีหม้อไล่เผด็จการ’ ทั้งเพื่อยืนยัน 3 ข้อเรียกร้องของราษฎร และเรียกร้องให้ปล่อยตัวแกนนำ โดยในระหว่างการชุมนุมมีการควบคุมตัวผู้ชุมนุมไปที่ สน.ปทุมวัน ด้วย จึงมีการเคลื่อนขบวนผู้ชุมนุมไปเรียกร้องให้มีการปล่อยตัว

>> จับ 8 คน เหตุชุมนุมรวมพลคนไม่มีจะกิน #ตีหม้อไล่เผด็จการ ที่สกายวอล์กปทุมวัน

X