ต้นกุมภา อัยการฟ้องคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อีก 3 คดี เหตุชุมนุมหน้า สภ.คลองหลวง – #ตีหม้อไล่เผด็จการ – #ปล่อยเพื่อนเรา สกายวอล์คปทุมวัน ตั้งแต่ต้นปี 64 

1 – 10 ก.พ. 2565 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนพบว่า มีคดีชุมนุมฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่อัยการมีคำสั่งฟ้องอีก 3 คดี คดีแรก มีจำเลย 6 ราย หนึ่งในนั้นคือ สุวรรณา ตาลเหล็ก นักกิจกรรมด้านสิทธิแรงงานและประชาธิปไตย ถูกกล่าวหาว่าฝ่าฝืนข้อกำหนดเรื่องการชุมนุมของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เหตุร่วมม็อบให้กำลังใจ “เดฟ” ชยพล ดโนทัย จากแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ในการชุมนุมที่ด้านหน้า สภ.คลองหลวง เมื่อวันที่ 15 ม.ค. 2564 ศาลมีคำสั่งให้ประกันในชั้นพิจารณาทั้งหมด เรียกหลักทรัพย์ประกันรายละ 40,000 บาท

คดีที่ 2 มีจำเลยเป็นนักกิจกรรม 3 ราย ได้แก่ “รุ้ง” ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล, “ไมค์” ภาณุพงศ์ จาดนอก, และ “ครูใหญ่” อรรถพล บัวพัฒน์ ถูกกล่าวหาว่า กระทำความผิดทั้งหมด 7 ข้อหา มีข้อหาหลักคือฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, เป็นแกนนำในการมั่วสุม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215 และทำร้ายร่างกายเจ้าพนักงาน เหตุจากการเข้าร่วมการชุมนุม #ตีหม้อไล่เผด็จการ เมื่อวันที่ 10 ก.พ. 2564 ที่บริเวณด้านหน้าหอศิลป์ กรุงเทพฯ ยาวไปจนถึงหน้า สน.ปทุมวัน อัยการอ้างว่า มีเจ้าหน้าที่ คฝ. ได้รับบาดเจ็บจากการควบคุมการชุมนุม 7 ราย ต่อมา ศาลให้ประกันทั้งหมด เรียกหลักทรัพย์รายละ 50,000 บาท

คดีสุดท้าย มีจำเลยทั้งหมด 7 ราย (มีอีก 2 รายที่ยังไม่ได้ฟ้อง) เป็นนักกิจกรรมทางการเมือง นำโดย รุ้ง, “บอย” ชาติชาย แกดำ, “ไบรท์” ชินวัตร จันทร์กระจ่าง และ เบนจา อะปัญ ทั้งหมดถูกกล่าวหาว่าฝ่าฝืน พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ และใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต เหตุจากการร่วมชุมนุมที่บริเวณสกายวอล์ค แยกปทุมวัน เมื่อวันที่ 9 ก.พ. 2564 เพื่อเรียกร้องสิทธิในการประกันตัวให้กับนักโทษทางการเมือง

+++ 6 นักกิจกรรม ถูกฟ้อง ฝ่าฝืน พรก.ฉุกเฉินฯ เหตุร่วมม็อบให้กำลังใจ “เดฟ” ชยพล หน้า สภ.คลองหลวง ศาลให้ประกันรายละ 40,000 บาท ++

3 ก.พ. 2565 – พนักงานอัยการจังหวัดธัญบุรี ได้มีคำสั่งฟ้อง 6 นักกิจกรรม ได้แก่ ณัฐพงศ์ คำจันทร์, อัรฟาน ดอเลาะ, กิตติศักดิ์ กองเงินงาม, ประนอม พูลทวี, ไพศาล จันปาน และสุวรรณา ตาลเหล็ก โดยยื่นฟ้องต่อศาลจังหวัดธัญบุรี ในคดีความสืบเนื่องจากเข้าร่วมในการชุมนุมเมื่อวันที่ 15 ม.ค. 2564 ที่ด้านหน้าของ สภ.คลองหลวง เพื่อให้กำลังใจ “เดฟ” ชยพล ดโนทัย จากกลุ่ม #แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม โดยทั้งหมดถูกกล่าวหาว่า กระทำความผิดฐานฝ่าฝืนข้อกำหนดเรื่องการชุมนุมของ พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ

>>> 21 นศ.-ปชช. รับทราบข้อหา สภ.คลองหลวง จัดเต็มกำลังจนท.-อุปกรณ์รับมือ ก่อนเปลี่ยนใจไม่ส่งฝากขัง

สำหรับพฤติการณ์ตามคำฟ้อง ระบุว่า เมื่อวันที่ 15 ม.ค. 2564 ซึ่งอยู่ในระหว่างประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน จำเลยทั้งหมดได้ร่วมกันชุมนุม โดยมีผู้เข้าร่วมจำนวนมาก เสี่ยงต่อการแพร่โรคที่ด้านหน้า สภ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี เป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย ทั้งยังไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่

ต่อมา วันที่ 4 ก.พ. 2564 พนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อกล่าวหาแก่ทั้ง 6 ทำการสอบสวนแล้ว ชั้นสอบสวน จำเลยให้การปฏิเสธ ทั้งนี้ พนักงานสอบสวนไม่เคยยื่นคำร้องฝากขังในชั้นสอบสวน คดีพ้นระยะเวลาผัดฟ้องแล้ว แต่ทางอัยการสูงสุดได้อนุญาตให้ฟ้องจำเลยทั้ง 6

ภายหลังจากที่ศาลรับฟ้อง ได้อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวในชั้นพิจารณา กำหนดหลักประกันเป็นเงินรายละ 40,000 บาท และนัดพร้อมในวันที่ 8 มี.ค. 2565 เวลา 09.00 น.

+++ ฟ้อง “รุ้ง” “ไมค์” “ครูใหญ่” กล่าวหาเป็นแกนนำมั่วสุม – ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ชุมนุม #ตีหม้อไล่เผด็จการ 10 ก.พ. 64 หน้าหอศิลปฯ อัยการอ้าง มีเจ้าหน้าที่ได้รับบาดเจ็บ 7 ราย +++

4 ก.พ. 2565 – พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 4 ได้มีคำสั่งฟ้องนักกิจกรรม 3 ราย ได้แก่ “รุ้ง” ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล, “ไมค์” ภาณุพงศ์ จาดนอก, และ “ครูใหญ่” อรรถพล บัวพัฒน์ ต่อศาลอาญากรุงเทพใต้ ในคดีความสืบเนื่องจากการการถูกกล่าวหาว่า เป็นผู้จัดการชุมนุม #ตีหม้อไล่เผด็จการ เมื่อวันที่ 10 ก.พ. 2564 ที่บริเวณด้านหน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ต่อเนื่องไปจนถึงด้านหน้า สน.ปทุมวัน เพื่อเรียกร้องสิทธิในการประกันตัวให้กับนักกิจกรรมทางการเมือง

พวกเขาถูกกล่าวหาว่า กระทำความผิด 7 ข้อหา ได้แก่ ร่วมกันฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, เป็นแกนนำมั่วสุมก่อความวุ่นวาย, ร่วมกันทำร้ายร่างกายเจ้าพนักงาน, ร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ซึ่งมีไว้เพื่อสาธารณประโยชน์, ร่วมกันกีดขวางทางสาธารณะ, ร่วมกันตั้ง วาง กอง วัตถุ ขีดเขียน พ่นสี ลงบนถนน และร่วมกันใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต อันเป็นความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, ประมาลกฎหมายอาญา มาตรา 215,  296, 360, 385, พ.ร.บ.ความสะอาดฯ มาตรา 12,19 และ พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยการใช้เครื่องขยายเสียง มาตรา 4

>>> ‘ราษฎร’ เจออีก 6 ข้อหา 2 คดี #ชุมนุมปล่อยเพื่อนเรา และ #ตีหม้อไล่เผด็จการ ที่สกายวอล์ค ปทุมวัน

>>> ตร.สน.ปทุมวัน เข้าแจ้งข้อหา “รุ้ง” ถึงในเรือนจำ 2 คดีรวด เหตุม็อบ 9-10 กุมภา

สำหรับพฤติการณ์ตามคำฟ้อง ระบุว่า เมื่อวันที่ 10 ก.พ. 2564 จำเลยทั้งสามกับนักกิจกรรมรายอื่นอีก 8 ราย ได้ร่วมกันกระทำความผิดต่อกฎหมายหลายบทต่างกัน กล่าวคือ ทั้งสามได้ร่วมกันจัดการชุมนุมทางการเมืองในนามกลุ่ม #ราษฎร ในระหว่างที่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ที่บริเวณด้านหน้าของของหอศิลป์ แยกปทุมวัน กทม. โดยไม่มีมาตราการป้องกันการแพร่ระบาดของโรค ในระหว่างการชุมนุม ทั้งสามและกลุ่มผู้ชุมนุมยังได้ใช้โทรโข่งขยายเสียงปราศรัย อันเป็นการใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาตจากทางเจ้าหน้าที่

ทั้งสามและผู้ชุมนุมยังได้ร่วมกันตั้งเวทีและเก้าอี้บนถนนบริเวณหน้าหอศิลป์ โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานจราจร ในการชุมนุมพบว่า มีการพ่นสีลงบนถนนหน้าห้างมาบุญครอง มีข้อความว่า #ราษฎรพ่อทุกสถาบัน ผู้ชุมนุมยังได้เดินเท้าไปยัง สน.ปทุมวัน มีจำนวนราว 1,000 คน ทั้งสามซึ่งมีหน้าที่สั่งการในการชุมนุมได้ปล่อยให้ผู้ชุมนุมกีดขวางทางสาธารณะ จนเป็นอุปสรรคต่อการจราจร

ทั้งสามและนักกิจกรรมรายอื่นยังได้ร่วมกันปราศรัยที่หน้า สน. ให้ปล่อยตัวแกนนำที่ถูกจับกุม จากนั้นผู้ชุมนุมได้กระจายตัวล้อม สน. พร้อมทั้งปาประทัด ขวดน้ำ และของแข็งเข้าไปในพื้นที่ สน. อันเป็นการมั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป กระทำการให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง โดยมีจำเลยทั้งสามเป็นผู้สั่งการ มีเจตนาทำร้ายเจ้าหน้าที่ตำรวจที่กำลังวางแนวป้องกันสถานที่ เป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่ 7 ราย ได้รับบาดเจ็บ ได้แก่ พ.ต.ท.อัศวยุทธ นุชพุ่ม ได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะ, พ.ต.ท.มงคล ทองเนื้อห้า ได้รับบาดเจ็บที่ข้อมือขวา, ส.ต.อ.จิรภัทร จั่นมา ได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะ, ส.ต.ท.เจนณรงค์ บุญพรม ได้รับบาดเจ็บที่ขาขวา, ด.ต.ยุทธศักดิ์ ไพคำนาม ได้รับบาดเจ็บที่ขาซ้าย, ส.ต.ท.กิตติศักดิ์ เวฬุวนารักษ์ ได้รับบาดเจ็บที่หัวไหล่ข้างซ้าย, และ ส.ต.ท.ดนัย ศรีสมโภชน์ ได้รับบาดเจ็บที่ท้ายทอย

นอกจากนี้ ผู้ชุมนุมยังได้ร่วมกันพ่นสีและกรองทรายที่เครื่องยนต์ใส่รถยนต์ที่จอดอยู่บริเวณ สน.ปทุมวัน ซึ่งเป็นทรัพย์สินของทางราชการที่ใช้ในการสืบสวนคดีอาญาและใช้จับกุมผู้กระทำความผิด ทำให้เกิดความเสียหาย คิดเป็นค่าเสียหาย 155,586 บาท

ทั้งนี้ หลังจากศาลรับฟ้องเป็นคดีอาญา ได้มีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวในชั้นพิจารณา กำหนดหลักทรัพย์รายละ 50,000 บาท นัดสอบคำให้การในวันที่ 7 ก.พ. 2565 ที่เพิ่งผ่านมา

ขอบคุณรูปจาก Khao Sod Online

+++ 7 นักกิจกรรม ร่วมม็อบสกายวอล์ค 9 ก.พ. 64 ร้องสิทธิประกันตัวนักโทษทางการเมือง ถูกฟ้อง ก่อนศาลให้ประกันรายละ 20,000 +++

9 ก.พ. 2565 – พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีศาลแขวง 6 ได้มีคำสั่งฟ้องนักกิจกรรมทั้งหมด 7 ราย ได้แก่ “ไบรท์” ชินวัตร จันทร์กระจ่าง, วีรวิชญ์ รุ่งเรืองศิริผล, “แอมป์” ณวรรษ เลี้ยงวัฒนา, “ขนุน” สิรภพ พุ่มพึ่งพุทธ, ทวีชัย มีมุ่งธรรม, “บอย” ชาติชาย แกดำ, และ เบนจา อะปัญ ต่อศาลแขวงปทุมวัน ในคดีความสืบเนื่องจากการออกมาชุมนุมเรียกร้องสิทธิในการประกันตัวให้กับนักโทษทางการเมืองที่ถูกคุมขังอยู่ จัดขึ้นที่บริเวณสกายวอล์ค แยกปทุมวัน เมื่อวันที่ 9 ก.พ. 2564 #ปล่อยเพื่อนเรา โดยพวกเขาถูกกล่าวหาว่า กระทำความผิดฐาน ร่วมกันฝ่าฝืนข้อกำหนด ประกาศ หรือคำสั่งที่ออกตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และร่วมกันโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต

สำหรับพฤติการณ์ตามคำฟ้อง ระบุว่า เมื่อวันที่ 9 ก.พ. 2564 จำเลยทั้งเจ็ด กับ “รุ้ง” ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล และ “แรปเตอร์” สิรภพ อัตโตหิ (ซึ่งอัยการยังไม่ได้ยื่นฟ้องมาพร้อมกัน) ได้กระทำผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกัน กล่าวคือ ทั้ง 7 ได้นำเข้าข้อมูลสู่คอมพิวเตอร์ผ่านทางเฟซบุ๊ก ชักชวนให้มวลชนเข้าร่วมในการชุมนุมที่สกายวอล์ค แยกปทุมวัน ตามเวลานัดหมาย ทั้งหมดได้ร่วมกันชุมนุมมากกว่า 5 คนขึ้นไป มีการปราศรัยโจมตีรัฐบาลผ่านทางเครื่องขยายเสียง โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ เรียกร้องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ และตำหนิศาลเรื่องการใช้ดุลยพินิจไม่ปล่อยตัวนักกิจกรรมทางการเมืองที่ถูกคุมขังอยู่ ทั้งเจ็ดยังได้ขัดขืนคำสั่งของเจ้าหน้าที่ให้ยุติการชุมนุม ซึ่งในการชุมนุมไม่ได้มีมาตราการป้องกันโรคติดต่อ เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อไวรัสโควิด 19

ต่อมา วันที่ 11 มี.ค. 2564 พนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อกล่าวหาแก่จำเลยทั้งเจ็ด ชั้นสอบสวน ทั้งหมดให้การปฏิเสธ โดยในคดีนี้ พนักงานสอบสวนไม่เคยยื่นคำร้องฝากขังในชั้นสอบสวนแต่อย่างใด คดีขาดฟัดฟ้อง แต่ทางรองอัยการสูงสุดซึ่งได้รับมอบหมายจากอัยการสูงสุดอนุญาตให้ฟ้อง

ภายหลังจากที่อัยการมีคำสั่งฟ้อง ศาลได้มีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลย กำหนดหลักทรัพย์ประกันรายละ 20,000 บาท ศาลกำหนดนัดสอบคำให้การ ตรวจพยานหลักฐาน วันที่ 30 มี.ค. 2565 เวลา 9.00 น.

X