21 นศ.-ปชช. รับทราบข้อหา สภ.คลองหลวง จัดเต็มกำลังจนท.-อุปกรณ์รับมือ ก่อนเปลี่ยนใจไม่ส่งฝากขัง

5 ก.พ. 64 10.00 น. จากกรณีพนักงานสอบสวนสภ.คลองหลวง ออกหมายเรียกนักกิจกรรม-นักศีกษา-เยาวชนจำนวน 22 คน ให้เข้ารับข้อกล่าวหาใน 2 คดี ได้แก่ กรณีเรียกร้องให้ปล่อยตัว “นิว” สิริชัย นาถึง ซึ่งถูกจับกุมในข้อหามาตรา 112 ยามวิกาลของวันที่ 13 ม.ค. 64 และกรณีไปให้กำลังใจ “เดฟ” ชยพล ดโนทัย เข้ามอบตัวตามหมายจับในกรณีเดียวกัน แม้ไม่อยู่ในที่เกิดเหตุ เมื่อวันที่ 15 ม.ค. 64

ทั้งนี้ จากจำนวน 22 ราย มีผู้ติดภารกิจไม่สามารถเดินทางมาได้ 1 ราย ได้แก่ สุวรรณา ตาลเหล็ก ทำให้วันนี้มีผู้เข้าพบพนักงานสอบสวน 21 ราย ได้แก่ พริษฐ์ ชิวารักษ์, พิมชนก ใจหงษ์, เบนจา อะปัญ, ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล, ณัฐชนน ไพโรจน์, ชลทิศ โชติสวัสดิ์, ชนินทร์ วงษ์ศรี, ปิยรัฐ จงเทพ, สิริชัย นาถึง, ณัฐพงศ์ คำจันทร์, อัรฟาน ดอเลาะ, กิตติศักดิ์ กองเงินงาม, ประนอม พูลทวี, ไพศาล จันปาน, ณวรรษ เลี้ยงวัฒนา, ภาณุพงศ์ จาดนอก, ไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธุ์, อรรถพล บัวพัฒน์, พรหมศร วีระธรรมจารี และยังมีเยาวชนอายุ 17 ปี 2 ราย ซึ่งเคยถูกดำเนินคดีจากการชุมนุมทางการเมืองมาก่อนหน้านี้แล้ว ได้แก่ “ภูมิ หัวลำโพง” (นามสมมติ) และ “สายชล” (นามสมมติ) ถูกออกหมายเรียกมาด้วย

.

.

สภ.คลองหลวง ปิดถนน กั้นแบริเออร์ คฝ.ตรึงกำลัง รถจีโน่จอดรอ รับ “21 นศ.-ปชช.” เข้ารับทราบข้อหา 

ตั้งแต่ช่วงวานนี้ (4 ก.พ.) ได้มีผู้พบว่ามีการติดป้ายแจ้งปิดการจราจรบริเวณถ.บางขันธ์-คลองห้า ใกล้กับสภ.คลองหลวง ในวันที่ 5 ก.พ. ตั้งแต่ 6.00 น. ถึง 24.00 น.

จนเช้าตรู่วันนี้ พบว่าเจ้าหน้าที่มีการปิดการจราจรบริเวณถนนหน้าสภ.คลองหลวง โดยตั้งแนวแบริเออร์ทั้งชนิดพลาสติก และแบริเออร์ปูน ไม่ให้ใครผ่านเข้าออก และตั้งรั้วเหล็กปิดไม่ให้ใช้สะพานลอย ทั้งยังพบว่ามีการนำรถฉีดน้ำแรงดันสูง หรือ “จีโน่” และรถควบคุมผู้ต้องขังมาจอดไว้ ขณะเดียวกันยังมีจัดกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดควบคุมฝูงชนจำนวนมาก ประจำการอยู่ในจุดต่างๆ

เจ้าหน้าที่ตำรวจที่ประจำการอยู่ในจุดกั้นแบริเออร์ได้คอยควบคุมคนเข้าออก แม้จะมีคนที่พักอาศัยอยู่บริเวณดังกล่าวขอกลับเข้าไปบ้าน เจ้าหน้าที่ก็ระบุให้ต้องมีหลักฐานมาแสดง และสื่อมวลชนบางส่วนยังไม่สามารถเดินทางเข้าไปยังสภ.ได้ ส่วนผู้ที่จะข้ามถนนไม่สามารถใช้สะพานลอยได้ ต้องเดินตัดถนนใต้สะพานแทน

ด้านผู้ถูกออกหมายเรียกและทนายความ เจ้าหน้าที่ได้ตรวจสอบรายชื่อและมีการจัดรถตู้รับส่งจากจุดปิดกั้น พาเข้าไปยังสถานีตำรวจ โดยให้ผู้ถูกออกหมายเรียกพาผู้ไว้ใจเข้าไปด้วยได้เพียง 1 คน ทั้งที่บางรายเป็นเยาวชนซึ่งมีผู้ปกครองและบุคคลผู้ไว้วางใจเดินทางมาด้วยมากกว่า 1 คน ในจุดดังกล่าวเจ้าหน้าที่ชุดควบคุมฝูงชนยังคอยถ่ายภาพและวิดีโอประชาชนที่อยู่ในบริเวณดังกล่าวด้วย  ขณะที่นักกิจกรรมปฏิเสธจะนั่งรถตู้ของเจ้าหน้าที่เพื่อเข้าไปยังสภ.คลองหลวง และขอเดินเท้าเข้าไปเอง 

ส่วนที่ทางเท้าด้านหน้าสภ.คลองหลวง มีเจ้าหน้าที่ชุดควบคุมฝูงชนพร้อมโล่และกระบองยืนเรียงตรึงกำลัง ส่วนทางเข้าออกสถานีมีการกั้นแบริเออร์ ให้เหลือช่องทางเดินเข้าออกแคบลง พร้อมมีเจ้าหน้าที่สาธารณสุขตั้งโต๊ะจุดคัดกรองอุณหภูมิ มีเจ้าหน้าที่คอยตรวจบัตรประจำตัวประชาชน ขอค้นกระเป๋า สอบถามความเกี่ยวข้องกับคดี และให้ถอดหน้ากากอนามัยเพื่อบันทึกภาพใบหน้าผู้เข้าออกสถานีตำรวจโดยตรง รวมทั้งให้ลงชื่อสกุลและเบอร์ติดต่อไว้ในสมุดด้วย และยังพบว่ามีโดรนบินอยู่บริเวณสภ.คลองหลวงด้วย

เวลา 10.37 น. ก่อนเข้าพบตำรวจ ทนายความและผู้ถูกออกหมายเรียกยังต้องใช้พื้นที่บริเวณใต้สะพาน เพื่อปรึกษาทางกฎหมายก่อนการเข้ารับทราบข้อกล่าวหา โดยมีเจ้าหน้าที่ชุดควบคุมฝูงชนคอยยืนล้อมเอาไว้โดยรอบตลอดการพูดคุย

ขณะเดียวกันตำรวจยังมีการประกาศผ่านเครื่องขยายเสียง ว่าจังหวัดปทุมธานีเป็นพื้นที่ควบคุมโรคระบาดสูงสุด ขอให้ประชาชนเว้นระยะห่าง และระมัดระวังการปฏิบัติขัดต่อกฎหมาย 

11.10 น. เพนกวิน รุ้ง และผู้ถูกออกหมายเรียกอีกส่วนหนึ่ง ได้พยายามเจรจาต่อรองกับเจ้าหน้าที่ตำรวจให้อนุญาตให้สื่อมวลชนเข้าไปบริเวณหน้าสถานีตำรวจด้วย โดยยืนยันว่าสื่อมวลชนเป็นผู้รายงานข้อเท็จจริง ถ้าตำรวจบริสุทธิ์ใจ ก็ควรให้สื่อเข้าไปสังเกตการณ์ 

จนเวลา 11.27 น. เจ้าหน้าที่จึงยินยอมให้สื่อมวลชนทยอยเข้ามาจากจุดปิดกั้นถนน มายังสภ. ได้ โดยเจ้าหน้าที่ชุดควบคุมฝูงชนได้ตั้งแถวอยู่สองข้างถนนตลอดแนว ระหว่างนักกิจกรรมและสื่อมวลชนเดินเท้าเข้าไปยังสภ. ระหว่างเดินขบวนมีเจ้าหน้าที่จากกองร้อยน้ำหวานเดินปิดขบวน สองข้างทางมีเจ้าหน้าที่ชุดควบคุมฝูงชนประกบข้าง

เวลา 12.00 น. เมื่อกลุ่มนักกิจกรรมมาถึงหน้าสภ. ก็ยังไม่สามารถเข้าไปในสถานีตำรวจได้ เนื่องจากมีแบรริเออร์ปูนกั้นอยู่ จึงใช้เวลาเจรจากับตำรวจอีกราว 15 นาที ทีมของเพนกวินจึงเข้าไปภายในสภ.ได้ 

.

.

ผบก.ภ.จว.ปทุมธานี ดูแลการแจ้งข้อกล่าวหาเอง ยืนยันต้องนำตัวไปฝากขัง 14 คน

อีกด้านหนึ่งภายในสภ.คลองหลวง ผู้ถูกออกหมายเรียกอีกส่วนหนึ่งได้เข้าไปรับทราบข้อหาตั้งแต่เวลา 10.30 น. โดยตำรวจระบุว่าจะแจ้งข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 215 วรรคสาม ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ต่อผู้ถูกออกหมายเรียก 14 คน และจะนำตัวไปขออำนาจศาลในการฝากขัง หลังแจ้งข้อกล่าวหา โดยที่ข้อกล่าวหานี้ไม่ได้มีการระบุไว้ในหมายเรียกในทัั้งสองคดีตั้งแต่แรกแต่อย่างใด 

ทั้งนี้ในกระบวนการแจ้งข้อกล่าวหา ได้มี พล.ต.ต.ชยุต มารยาทตร์ ผู้บัญชาการตำรวจภูธรจังหวัดปทุมธานี เข้ามาดูแลด้วยตนเอง และระบุกับผู้ถูกกล่าวหาและทนายว่าต้องนำตัวไปขอศาลฝากขังตามกฎหมาย 

ในห้องสอบสวนยังมีการติดกล้องวงจรปิด และเจ้าหน้าที่บางส่วนติดกล้องถ่ายวีดีโอไว้ที่หน้าอกเสื้อ รวมทั้งเจ้าหน้าที่ยังแจ้งให้งดการใช้อุปกรณ์สื่อสารทุกชนิดด้วย โดยมีชุดควบคุมฝูงชนอย่างน้อย 1 นาย อยู่ในห้องสอบสวน

ทางทนายความยืนยันกับเจ้าหน้าที่ตำรวจว่ากรณีนี้ไม่มีเหตุจำเป็นต้องนำผู้ต้องหาไปฝากขังแต่อย่างใด เพราะไม่ได้มีพฤติการณ์หลบหนี และทุกคนมาตามหมายเรียก ทางตำรวจได้แจ้งว่าจะปรึกษากับผู้บังคับบัญชาต่อไป

การแจ้งข้อกล่าวหา ได้มีคณะพนักงานสอบสวนจากสภ.คลองหลวง และสภ.อื่นๆ ในจังหวัดปทุมธานี มาร่วมกันแจ้งข้อกล่าวหา โดยแยกเป็นสองคดี ทั้งสองคดีหมายเรียกระบุว่ามี พ.ต.ท.เศกสรรค์ บัวเรือง เป็นผู้กล่าวหา และมีผู้ต้องหา 6 ราย ที่ถูกแจ้งข้อกล่าวหาทั้งสองคดี ได้แก่ พริษฐ์ ชิวารักษ์, เบนจา อะปัญ, ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล, ณัฐชนน ไพโรจน์, ชลทิศ โชติสวัสดิ์, ชนินทร์ วงษ์ศรี

.

.

แจ้ง 4 ข้อหา คดีติดตามการจับกุม “นิว สิริชัย” กล่าวหาโปรยอาหารสัตว์ดูหมิ่นตำรวจ

สำหรับคดีแรก มีผู้ถูกกล่าวหา 12 ราย มูลเหตุคดีเกิดจากกรณีที่นักกิจกรรมและประชาชนเดินทางไปที่หน้า สภ.คลองหลวง เรียกร้องให้ปล่อยตัว “นิว” สิริชัย นาถึง สมาชิกกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ซึ่งถูกจับกุมช่วงดึกของวันที่ 13 ม.ค. 64 ในข้อหามาตรา 112 หลังถูกกล่าวหาว่าพ่นข้อความ “ยกเลิก 112” บนรูปพระบรมวงศานุวงศ์ 

ตำรวจกล่าวหาว่าในช่วงวันที่ 14 ม.ค. 64 เวลา 2.00 – 3.50 น. ทั้ง 12 คน ได้มาร่วมชุมนุมมั่วสุมตั้งแต่สิบคนขึ้นไป ที่หน้าสภ.คลองหลวง โดยมีจุดประสงค์เพื่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง แกนนำมีการพูดปราศรัยโจมตีการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ปลุกเร้า โดยใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต เพื่อกดดันการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจสภ.คลองหลวง และยังเป็นการจัดกิจกรรมซึ่งมีผู้เข้าร่วมเป็นจำนวนมาก ลักษณะมั่วสุมกันหรือมีโอกาสติดต่อสัมผัสกันได้ง่ายในลักษณะแออัดและเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19

ข้อกล่าวหายังระบุว่าผู้ชุมนุมมีการนำผ้าสีขาวมีข้อความสีดำและแดงว่า “คนยังคงยืนเด่นโดยท้าทาย” พร้อมรูปวาดบุคคล จิตร ภูมิศักดิ์ มาปูที่พื้น พร้อมโปรยอาหารสัตว์ และขว้างอาหารใส่เจ้าหน้าที่ตำรวจที่ปฏิบัติหน้าที่ ทั้งยังร่วมกันน้ำเปล่าและน้ำแดงมาเทลงที่บันไดทางขึ้นพร้อมจุดธูป และมีการพูดใส่ไมค์คล้ายการพูดประกอบพิธีงานศพ พร้อมเปิดเพลงธรณีกันแสง เปรียบเสมือนการไว้อาลัยแก่เจ้าหน้าที่ตำรวจที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ อันเป็นการดูถูกเหยียดหยาม ทำให้อับอายเสียหายแก่เจ้าหน้าที่ตำรวจ ผู้กล่าวหากับพวกจึงได้มาแจ้งความร้องทุกข์ไว้

ผู้ถูกกล่าวหา 5 ราย ยังได้นำสีสเปรย์สีขาวมาฉีดพ่นเป็นข้อความบนผนังกำแพง พื้น กระจกบานเลื่อนบริเวณหน้าสภ.คลองหลวง ได้รับความเสียหาย ต่อมาสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้มอบหมายให้ พ.ต.อ.เกียรติศักดิ์ มิตรปราสาท ผู้กำกับ สภ.คลองหลวง ร้องทุกข์เพิ่มเติมไว้ 

พนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อกล่าวหาทั้งหมด 4 ข้อกล่าวหา ได้แก่ 

  1. ร่วมกันมั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปเพื่อก่อให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง โดยเป็นหัวหน้า หรือสั่งการในการกระทำความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215 วรรค 3 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
  2. ร่วมกันกระทำการใดๆ ซึ่งอาจก่อสภาวะที่ไม่ถูกสุขลักษณะ เป็นเหตุให้โรคแพร่ระบาดออกไป ฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ มาตรา 34 (6) ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท
  3. ร่วมกันจัดกิจกรรมซึ่งมีผู้เข้าร่วมจำนวนมากในลักษณะติดต่อสัมผัสกันได้ง่าย ฝ่าฝืนข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
  4. ร่วมกันดูหมิ่นเจ้าพนักงานซึ่งได้กระทำตามหน้าที่ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 136 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ทั้งยังมีผู้ต้องหา 5 ราย ถูกแจ้งข้อกล่าวหาร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358 ด้วย

.

.

คดีให้กำลังใจ เดฟ-ชยพล บางส่วนถูกแจ้งดูหมิ่นเจ้าพนักงาน และพ.ร.บ.ธง กรณีชักธงแดง 112 ขึ้นแทนธงชาติ

ในส่วนคดีที่สอง มีผู้ถูกกล่าวหา 16 ราย เหตุเกิดเมื่อวันที่ 15 ม.ค. 64 เหตุเกิดจากนักกิจกรรมและประชาชนนัดเดินทางไปให้กำลังใจ “เดฟ” ชยพล ดโนทัย ซี่งมีชื่ออยู่ในหมายจับของสิริชัย แม้ไม่ได้อยู่ในที่เกิดเหตุ แต่ได้เข้าแสดงตัวต่อพนักงานสอบสวนสภ.คลองหลวง ก่อนเจ้าหน้าที่จะตัดสินใจไม่แจ้งข้อกล่าวหา และยื่นคำร้องขอยกเลิกหมายจับต่อศาล 

พนักงานสอบสวนได้กล่าวหาว่าเมื่อวันที่ 15 ม.ค. 64 เวลาประมาณ 10.00 น. กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมได้นัดหมายให้กำลังใจนายชยพล ดโนทัย ที่หน้าสภ.คลองหลวง มีการขับรถยนต์ขนเครื่องเสียง มาตั้งบริเวณหน้าสภ. การ์ดของกลุ่มผู้ชุมนุมหลายคนได้ใช้กำลังผลักดันแผงเหล็กฝ่าแนวกั้นของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ยกแผงเหล็กออกเปิดทางให้รถตู้ของกลุ่มผู้ชุมนุมเข้ามาจอด 

ผู้ชุมนุมบางส่วนยังได้นำเอาป้ายไวนิลมีข้อความ “ตื่นเถิดตำรวจกล้า ปวงประชาจะคุ้มภัย” ซึ่งเป็นภาพและข้อความที่ดูถูกเหยียดหยามการทำงานของเจ้าหน้าที่ มากางและตั้งบริเวณหน้าสภ. และยังมีกลุ่มผู้ชุมนุมได้นำผ้าสีแดงมีข้อความ “112” มาที่บริเวณเสาธง แล้วได้ชักธงชาติลงมาจากยอดเสา ก่อนนำธงดังกล่าวผูกแทน และชักขึ้นไปบนยอดเสาธง 

ต่อมากลุ่มผู้ชุมนุมยังได้นำเอาป้ายสีขาวเขียนด้วยตัวหนังสือสีแดง ข้อความว่า “สถานที่จัดแสดง คอกสุนัข ทรงเลี้ยงจากภาษีประชาชน” มากางบริเวณลานจอดรถหน้าสภ.คลองหลวง และนำป้ายผ้าสีขาวตัวหนังสือสีน้ำเงิน ข้อความว่า “สน.นี้ไร้เกียรติภูมิตำรวจ” ออกมากาง พร้อมผูกทั้งสองป้ายกับแผงเหล็ก 

พนักงานสอบสวนกล่าวหาว่าทั้งหมดได้แจ้งข้อกล่าวหาทั้งหมดใน 4 ข้อหาหลัก ได้แก่ 

  1. ร่วมกันมั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปเพื่อก่อให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง โดยเป็นหัวหน้า หรือสั่งการในการกระทำความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215 วรรค 3 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
  2. ร่วมกันกระทำการใดๆ ซึ่งอาจก่อสภาวะที่ไม่ถูกสุขลักษณะ เป็นเหตุให้โรคแพร่ระบาดออกไป ฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ มาตรา 34 (6) ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท
  3. ร่วมกันจัดกิจกรรมซึ่งมีผู้เข้าร่วมจำนวนมากในลักษณะติดต่อสัมผัสกันได้ง่าย ฝ่าฝืนข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
  4. ร่วมกันทำการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงด้วยกำลังไฟฟ้าโดยไม่ได้รับอนุญาต ตาม พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงฯ มาตรา 4 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 200 บาท 

โดยที่มีผู้ต้องหา 5 ราย ได้แก่ ณัฐพงศ์ คำจันทร์, อัรฟาน ดอเลาะ, กิตติศักดิ์ กองเงินงาม, ประนอม พูลทวี และ ไพศาล จันปาน ถูกแจ้งข้อหาตามมาตรา 215 วรรค 1 ร่วมกันมั่วสุมฯ แต่ไม่ได้ถูกระบุว่า มีลักษณะเป็นหัวหน้า ซึ่งข้อหาดังกล่าวมีอัตราโทษต่างไป โดยมีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท เท่านั้น 

ขณะที่ผู้ต้องหา 6 คน ยังถูกแจ้งข้อกล่าวหา ร่วมกันดูหมิ่นเจ้าพนักงาน จากการติดป้ายข้อความวิพากษ์วิจารณ์เจ้าหน้าที่ตำรวจด้วย 

และผู้ต้องหา 2 คน ถูกแจ้งข้อหา ร่วมกันฝ่าฝืนการใช้ ชักหรือแสดงธงที่มีความหมายถึงประเทศไทยหรือชาติไทย ตามมาตรา 45 ของ พ.ร.บ.ธง พ.ศ. 2522 (อัตราโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 4,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ), ร่วมกันกระทำการอันใดๆ อันมีลักษณะเป็นการเหยียดหยามต่อธง รูปจำลองของธง หรือแถบสีธง ตามมาตรา 54 ของ พ.ร.บ.ธง พ.ศ. 2522 (อัตราโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ) และร่วมกันกระทำการอันใดๆ ต่อธงหรือเครื่องหมายอื่นใดอันมีความหมายถึงรัฐ เพื่อเหยียดหยามประเทศชาติ ตามมาตรา 118 ของประมวลกฎหมายอาญา (อัตราโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ) ด้วย

.

.

ตร.เปลี่ยนใจ ไม่ส่งขอฝากขัง ให้ปล่อยตัวทั้งหมดไป

นักกิจกรรมและประชาชนทั้งหมด 21 คน ได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหาในทั้งสองคดี และจะให้การเป็นหนังสือเพิ่มเติมภายใน 30 วัน โดยพนักงานสอบสวนจะนัดมารายงานตัวใหม่อีกครั้ง

ในส่วนกรณีของเยาวชนอายุ 17 ปี 2 คน ได้มีการแจ้งข้อกล่าวหาเอาไว้ แต่ยังไม่ได้สอบสวนและถามคำให้การ เนื่องจากไม่มีนักสังคมสงเคราะห์หรือนักจิตวิทยาเข้าร่วมสอบสวน จึงยังไม่มีการพาตัวไปศาล ตำรวจได้นัดหมายทั้งสองคนมาพบที่สำนักงานอัยการจังหวัดธัญบุรี เพื่อทำการสอบสวนแบบสหวิชาชีพต่อไปในวันที่ 10 ก.พ. 64

นอกจากการให้การในแต่ละคดี ผู้ต้องหาทั้งหมดยังให้การกับตำรวจไว้อีกว่าไม่มีเหตุฝากขังตามกฎหมาย พร้อมระบุตัวอย่างคำสั่งของศาลซึ่งไม่อนุมัติการฝากขังในคดีที่ผู้ต้องหามาพบพนักงานสอบสวนตามหมายเรียก ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา 134 ทำให้ไม่มีเหตุที่จะออกหมายขังผู้ต้องหา ตามมาตรา 71 ประกอบมาตรา 66 และผู้ต้องหาทั้งหมดไม่ได้มีพฤติการณ์จะหลบหนี และหลายคนยังเป็นนักศึกษา ไม่ได้มีพฤติการณ์จะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือจะไปก่อเหตุภยันตรายประการอื่น พร้อมยังมีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง ไม่จำเป็นจะต้องออกหมายขังผู้ต้องหาไว้ระหว่างสอบสวน

ต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจได้เปลี่ยนแปลงคำสั่ง โดยไม่สั่งให้ผู้ต้องหาทั้งหมดเดินทางไปศาลเพื่อขอฝากขังอีก 

พนักงานสอบสวนได้แก้ไขข้อความในบันทึกการแจ้งข้อกล่าวหาใหม่ จากเดิมที่ระบุว่าพนักงานสอบสวนมีเหตุที่จะออกหมายขังผู้ต้องหาไว้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 71 และได้สั่งให้ผู้ต้องหาไปศาลเพื่อขอออกหมายขัง เป็นว่าพนักงานสอบสวนได้ให้ปล่อยตัวผู้ต้องหาไปโดยไม่มีการควบคุมตัวไว้

จนเวลา 15.30 น. นักกิจกรรมและประชาชนที่ถูกกล่าวหาจึงได้ทยอยเดินทางออกจากสภ.คลองหลวง หลังเสร็จสิ้นกระบวนการพิมพ์ลายนิ้วมือและลงบันทึกประจำวันไว้ โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ให้นั่งรถตู้ของตำรวจออกไป โดยระบุว่าไม่ต้องการให้ฝ่ามวลชนออกไป

.

X