ราว 4 ทุ่มของวันที่ 13 มกราคม 2564 ศูนย์ทนายฯ ได้รับแจ้งว่า มีการจับกุม “นิว” สิริชัย นาถึง นักศึกษาชั้นปีที่ 1 วิทยาลัยป๋วย อึ๊งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเป็นหนึ่งในสมาชิกกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ทราบภายหลังว่า นักศึกษารายดังกล่าวถูกจับกุมตั้งแต่ช่วงเวลา 20.50 น. ที่บริเวณหมู่บ้านนวลตอง ใกล้กับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต
ต่อมาในช่วงราว 23.35 น. ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจตั้งแถวด้านหน้า สภ.คลองหลวง ระหว่างที่ “เพนกวิน” พริษฐ์ ชิวารักษ์ และเพื่อน นศ. ที่เพิ่งทราบข่าวเรื่องการจับกุมและเดินทางมาที่ สภ. พยายามเข้าติดตามสอบถามถึงเพื่อนนักศึกษาว่าถูกจับกุมตัวไปไว้ที่ไหน และทางตำรวจใช้อำนาจใดหากจะมีการส่งตัวนักศึกษารายดังกล่าวไปยัง บก. ตชด. ภาค 1 เพียงไม่นานหลังจากนั้น เพนกวินได้แจ้งผ่านทาง Live ของเฟซบุ๊คว่า นิวได้ถูกส่งตัวต่อไปยัง บก. ตชด. ภาค 1 เรียบร้อยแล้ว และได้มีการเรียกระดมมวลชน ขอให้ประชาชนจับตาการจับกุมครั้งนี้ จากนั้น เพนกวินพร้อมนักศึกษาจำนวนหนึ่งได้เดินทางต่อไป บก. ตชด. ภาค 1 เพื่อติดตามสถานการณ์การจับกุม
00.20 น. ของวันที่ 14 ม.ค. 2564 ทนายความเดินทางถึง บก. ตชด. ภาค 1 และทำเรื่องประสานงานเพื่อเข้าเยี่ยม โดยบรรยากาศบริเวณทางเข้า มีเพนกวินและ “รุ้ง” ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล พร้อมเพื่อนนักศึกษา รวมไปถึงอาจารย์จากคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และผู้สื่อข่าว รวมกว่า 20 คน มาติดตามสถานการณ์การจับกุม
ราว 20 นาทีต่อมา เพนกวิน, รุ้ง และเพื่อนนักศึกษารวมตัวกันเดินเข้าไปใน บก. ตชด.ภาค 1 เพื่อทวงถามความคืบหน้า พร้อมกันนั้นเอง ทางเจ้าหน้าที่ ตชด. ได้ออกมาชี้แจงว่านิวไม่ได้ถูกควบคุมตัวมาที่ บก. ตชด. และขอให้นักศึกษาทั้งหมดเดินทางออกจากพื้นที่ เจ้าหน้าที่ยังได้แจ้งว่า การกระทำดังกล่าวนี้ถือเป็นการบุกรุก โดยมีเจ้าหน้าที่ยืนบันทึกภาพนักศึกษาที่เดินทางเข้าไปใน บก. ตชด. ด้านทนายความ เมื่อทราบว่านิวไม่ได้ถูกควบคุมตัวมาที่นี่ จึงเดินทางกลับไปที่ สภ. คลองหลวง อีกครั้งเพื่อขอดูบันทึกประจำวันของเจ้าหน้าที่ อีกด้านในโลก Twitter แฮชแท็ก #saveนิวมธ ปรากฏขึ้นบนเทรนด์ของประเทศไทย
เมื่อกลุ่มเพื่อนนักศึกษาเดินเข้าไปตรวจสอบบริเวณห้องควบคุมตัวภายใน บก.ตชด.ภาค 1 พบว่านิวไม่ได้ถูกควบคุมตัวอยู่ที่นี่ จึงพยายามสอบถามกับเจ้าหน้าที่ แต่ไม่มีเจ้าหน้าที่รายไหนที่สามารถให้ข้อมูลได้ อีกทั้งยังมีท่าทีบ่ายเบี่ยง ไม่ยอมติดต่อประสานงานเพื่อหาตัวผู้ถูกจับกุม ขณะที่ ทนายความก็ได้รับแจ้งจากตำรวจ สภ.คลองหลวง ว่านิวไม่ได้อยู่ที่นั่น
01.33 น. กลุ่มเพื่อนยังพยายามติดตามหานิว โดยไปที่หอพักซึ่งอยู่ฝั่งตรงข้ามมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต พบนิวอยู่ในรถตำรวจด้านล่างหอพัก จึงได้ยืนขวางรถและพยายามตะโกนสื่อสารกับนิว รวมทั้งแจ้งข่าวไปยังทนายความ เมื่อทนายความมาถึง พบว่า เจ้าหน้าที่นำตัวนิวมาเข้าตรวจค้นที่พักเสร็จแล้ว โดยเป็นการตรวจค้นตามหมายค้นที่ออกโดยศาลจังหวัดธัญบุรี โดยในหมายดังกล่าวระบุให้เจ้าหน้าที่สามารถดำเนินการตรวจค้นได้ตั้งแต่เวลา 21.00 น. ขึ้นไป
ศูนย์ทนายฯ ทราบข้อมูลเพิ่มเติมภายหลังว่า หลังจากที่ทำบันทึกการจับกุมเสร็จ โดยนิวให้การปฏิเสธข้อหาและไม่ลงชื่อในบันทึกการจับกุม แต่เขียนเป็นข้อความ “ศักดินาจงพินาศ ประชาราษฎร์จงเจริญ” แทน นิวได้ถูกนำตัวไปที่ บก. ตชด. ภาค 1 จริง แต่อยู่ได้ประมาณ 10 นาทีเท่านั้น ก็ถูกนำตัวไปค้นห้องพัก เมื่อไปถึงห้องพักของนิว ตำรวจได้เข้าตรวจค้นโดยไม่ได้แสดงหมายค้น แต่มีเพื่อนของนิวมาร่วมรับทราบการตรวจค้นด้วย 1 คน หลังจากตรวจค้นแล้วเสร็จ เจ้าหน้าที่จึงได้แสดงหมายค้นและให้นิวลงลายมือชื่อ
02.10 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมตัวนิวกลับมาที่ สภ.คลองหลวง โดยระหว่างพาตัวเข้าห้องสอบสวน พบว่ามีอาการอ่อนเพลีย มีไข้สูงมาก อีกทั้งยังไม่ได้ทานข้าวและทานยา ส่วนบรรยากาศด้านหน้า สภ.คลองหลวง มีนักศึกษาและประชาชนเดินทางมาให้กำลังใจ ขณะที่ตำรวจตั้งแถวปิดประตูด้านหน้า สภ. ไว้
พ.ต.ท.สุชัย แสงส่อง พนักงานสอบสวน ทำการแจ้งข้อกล่าวหานิวในข้อหา “ดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์” และ “ทำให้เสียทรัพย์” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และมาตรา 358 จากการพ่นสีสเปรย์ข้อความ “ภาษีกู”, “ยกเลิก 112” บนรูปของพระบรมวงศานุวงศ์ และป้ายหน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต รวม 6 จุด ซึ่งมีนายสิริภัทร กาฬสิงห์ เจ้าหน้าที่เทศบาลคลองหลวงเป็นผู้เข้าแจ้งความให้ดำเนินคดีข้อหาทำให้เสียทรัพย์
ทั้งนี้ พนักงานสอบสวนยังได้แจ้งข้อกล่าวหา ครอบครองบุหรี่ไฟฟ้าซึ่งตรวจยึดได้ขณะเข้าจับกุมด้วย นิวให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา โดยจะให้การเพิ่มเติมเป็นหนังสือใน 30 วัน
02.45 น. ด้านหน้า สภ.คลองหลวง เกิดเหตุการณ์ที่เจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบนายหนึ่งพยายามถ่ายภาพนักศึกษาและประชาชนที่มาให้กำลังใจนิว เพนกวินจึงได้เข้าไปสอบถามชื่อและตำแหน่งของเจ้าหน้าที่คนดังกล่าว ด้านเจ้าหน้าที่ตำรวจในเครื่องแบบได้เข้ามาห้ามปราม เกิดความวุ่นวายระหว่างเจ้าหน้าที่และมวลชนช่วงหนึ่ง
ราว 03.03 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจจัดทำบันทึกการตรวจค้น โดยระบุรายชื่อสิ่งของที่ตรวจยึดจากห้องพักรวม 15 รายการ ซึ่งสิ่งของดังกล่าวบรรจุใส่ซองพยานวัตถุพยานไว้แล้ว ทนายความไม่สามารถตรวจสอบได้ว่า เป็นสิ่งเดียวกับที่ยึดมาจากห้องพักหรือไม่ โดยภายหลังจัดทำบันทึกจับกุม ทนายความขอให้เขียนหมายเหตุว่า เจ้าหน้าที่ไม่แสดงหมายก่อนการเข้าตรวจค้น และไม่ได้ทำบันทึกการตรวจยึดสิ่งของ ณ สถานที่ตรวจค้น แต่กลับมาทำที่สถานีตำรวจหลังยึดของกลางใส่ถุงไปแล้วหลายชั่วโมง แต่พนักงานสอบสวนไม่ให้เขียน ทนายความจึงไม่ลงชื่อในบันทึกการตรวจยึดดังกล่าว ขณะที่พนักงานสอบสวนไม่มอบสำเนาบันทึกดังกล่าวให้ฝ่ายผู้ต้องหาด้วย
04.45 น. เสร็จกระบวนการทั้งหมด พนักงานสอบสวนแจ้งว่าจะนำตัวนิวมายื่นคำร้องขอฝากขังที่ศาลจังหวัดธัญบุรีในเช้าวันที่ 14 มกราคม 2563 โดยทนายความจะยื่นคำร้องคัดค้านการขอฝากขัง สำหรับคำร้องให้ฝากขังของพนักงานสอบสวน อ้างว่า ยังจำเป็นต้องสืบสวนพยานอีก 8 ปาก ต้องรอตรวจสอบลายพิมพ์นิ้วมือของผู้ต้องหา และยังต้องรอผลการพิสูจน์ของกลาง
ล่าสุด เวลา 11.18 น. ศาลอนุญาตให้ฝากขัง และให้ประกันตัวนิว เนื่องจากพิเคราะห์แล้วว่า ผู้ต้องหาเป็นนักศึกษาระดับอุดมศึกษา โดยมีอาจารย์ของสถาบันที่ศึกษาอยู่เป็นผู้ขอยื่นประกัน หากปล่อยตัวผู้ต้องหาไปเชื่อว่าจะไม่หลบหนี จึงอนุญาตให้ปล่อยตัวระหว่างสอบสวน โดยใช้หลักทรัพย์ประกันเป็นเงินสด และตำแหน่งอาจารย์รวมมูลค่า 150,000 บาท โดยกำหนดเงื่อนไข ห้ามผู้ต้องหากระทำการในทำนองเดียวกันซ้ำอีก
คดีนี้นับว่าเป็นคดีแรกของการนำคดีตามมาตรา 112 กลับมาใช้ระลอกใหม่ ที่ศาลออกหมายจับ โดยในช่วงแรกมีรายงานข่าวว่า ตำรวจได้ไปขอศาลออกหมายจับ แต่ศาลไม่อนุมัติ ทำให้พนักงานสอบสวนออกเป็นหมายเรียกมาโดยตลอด
.
พฤติการณ์การจับกุม: จนท. กว่า 30 ชีวิตบุกจับ นศ. ยามวิกาล เหตุพ่นสีใส่รูปพระบรมวงศานุวงศ์
นิว สิริชัย ให้ข้อมูลกับทนายความว่า ระหว่างที่เขากำลังขี่มอเตอร์ไซค์ออกมาจากบ้านเพื่อนเพื่อไปทานข้าว ได้มีตำรวจนอกเครื่องแบบราว 10 นาย ขับรถมาประกบปิดหัว-ท้ายซอยของหมู่บ้านฯ และเข้าแสดงหมายจับตามมาตรา 112 นักศึกษารายนี้ได้ต่อรองขอติดต่อกับทนายแต่ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่อนุญาต และพยายามยึดโทรศัพท์ไม่ให้โทรหาทนาย พร้อมทั้งใช้กำลังบังคับโดยการลากไปขึ้นรถ เมื่อมาถึง สภ.คลองหลวง ตำรวจได้ยึดโทรศัพท์ของเขาไปและยังไม่ให้ติดต่อทนาย
ตำรวจเริ่มทำบันทึกจับกุมในเวลา 21.30 น. หลังทำบันทึกจับกุมเสร็จและตรวจร่างกายแล้ว ตำรวจจึงให้ผู้ต้องหาคุยกับทนาย แต่ขณะยังคุยยังไม่จบดี ตำรวจก็ดึงโทรศัพท์ไป โดยผู้เข้าจับกุมในครั้งนี้คือตำรวจจาก สภ. คลองหลวง และกองกำกับการสืบสวน ภ.จว.ปทุมธานี
ตามบันทึกการจับกุม การจับกุมครั้งนี้มีขึ้นภายใต้การอํานวยการและสั่งการของ พล.ต.ต.ชยุต มารยาทตร์ ผบก.ภ.จว.ปทุมธานี, พ.ต.อ.สมศักดิ์ นิเต็ม ผกก.สส.ภ.จว.ปทุมธานี และ พ.ต.อ.เกียรติศักดิ์ มิตรปราสาท ผกก.สภ.คลองหลวง โดยชุดจับกุมประกอบด้วย ตํารวจสืบสวน สภ.คลองหลวง รวมกว่า 30 นาย และกองกำกับการสืบสวน ภ.จว.ปทุมธานี อีก 16 นาย ทำการจับกุมตามหมายจับของศาลจังหวัดธัญบุรีที่ 14/2564 ลงวันที่ 13 มกราคม 2564 ในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และทําให้เสียทรัพย์ พร้อมทั้งตรวจยึดของกลางรวม 4 รายการ ได้แก่ รถจักรยานยนต์ 1 คัน, โทรศัพท์มือถือ iphone 1เครื่อง, บุหรี่ไฟฟ้า พร้อมกระเป๋าบรรจุ 1 ชุด
โดยตำรวจชุดจับกุมได้แจ้งข้อหาครอบครองบุหรี่ไฟฟ้า “ช่วยซ่อนเร้น ช่วยจําหน่าย ช่วยพาเอาไปเสีย ซื้อ รับจำนำ หรือรับไว้ด้วยประการใด ๆ ซึ่ง ของอันตนรู้ว่าเป็นของที่ยังมิได้เสียภาษี หรือของต้องจํากัด หรือของต้องห้าม หรือเป็นของที่เข้ามาในราชอาณาจักรไทย โดยหลีกเลี่ยงภาษีอากร” ด้วย
ข้อสังเกตของศูนย์ทนายฯ: สิทธิของผู้ต้องหาที่ถูกละเมิด / คดี 112 คดีแรกที่มีการออกหมายจับ
กรณีการเข้าจับกุมและควบคุมตัวนิว สิริชัย นาถึง ในคืนที่ผ่านมา ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนพบว่ามีประเด็นที่ควรต้องตั้งคำถามต่อการที่เจ้าหน้าที่ตำรวจละเมิดสิทธิของผู้ต้องหาหลายประเด็น ดังนี้
- ศาลได้ออกหมายจับตามมาตรา 112 แม้ว่ารูปบุคคลที่เสียหายจะไม่เข้าข่ายตามตัวความในมาตรา 112 “ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 ปีถึง 15 ปี” ก็ตาม
- ศาลออกหมายค้นให้เจ้าหน้าที่เข้าค้นได้ในยามวิกาล คือตั้งแต่ 21.00 น. เป็นต้นไป ทั้งที่ตามที่กฎหมายกำหนดจะต้องค้นในเวลากลางวัน โดยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 96 ระบุว่า การค้นในที่รโหฐานต้องกระทำระหว่างพระอาทิตย์ขึ้นและตก อย่างไรก็ตาม มีข้อยกเว้นดังนี้ (1) เมื่อลงมือค้นแต่ในเวลากลางวัน ถ้ายังไม่เสร็จจะค้นต่อไปในเวลากลางคืนก็ได้ (2) ในกรณีฉุกเฉินอย่างยิ่ง หรือซึ่งมีกฎหมายอื่นบัญญัติให้ค้นได้เป็นพิเศษ จะทำการค้นในเวลากลางคืนก็ได้ (3) การค้นเพื่อจับผู้ดุร้ายหรือผู้ร้ายสำคัญจะทำในเวลากลางคืนก็ได้ แต่ต้องได้รับอนุญาตพิเศษจากศาลตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในข้อบังคับของประธานศาลฎีกา ซึ่งกรณีนี้ การเข้าค้นเกิดขึ้นในช่วงกลางคืน ไม่ได้เริ่มตั้งแต่ตอนกลางวัน อีกทั้งไม่ได้มีกรณีฉุกเฉินใดๆ แม้ว่าจะอยู่ระหว่างการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ก็ไม่ได้ให้อำนาจกับเจ้าหน้าที่ในการตรวจค้นในเวลากลางคืน อีกทั้งนักศึกษารายนี้ก็ไม่ใช่บุคคลดุร้ายหรือผู้ร้ายแต่อย่างใด เป็นเพียงแค่นักศึกษาปี 1 เท่านั้น
- ตำรวจไม่ให้สิทธิในการเข้าถึงทนายความในชั้นจับกุม ให้ติดต่อเพียงสั้นๆ หลังทำบันทึกจับกุมเสร็จ ซึ่งยังคุยไม่เสร็จ และภายหลังทนายไม่สามารถติดต่อผู้ต้องหาได้ เนื่องจากผู้ต้องหาถูกยึดโทรศัพท์
- ตำรวจไม่ยอมแจ้งสถานที่คุมตัวผู้ต้องหา หลอกล่อไปมาจนเกิดความสับสน อ้างตอนหลังจากพบตัวผู้ต้องหาแล้วว่ากลัวเป็นอุปสรรคในการตรวจค้น ภาวะการณ์เช่นนี้ถือว่าอันตรายมาก เพราะทำให้บุคคลอยู่นอกความคุ้มครองกฎหมาย เป็นการควบคุมตัวโดยมิชอบ ทำให้ผู้ต้องหาถูกบังคับให้สูญหายไปแล้วในขณะหนึ่ง (short term disappearance) เป็นการละเมิดสิทธิขั้นร้ายแรง
- เจ้าหน้าที่ไม่สามารถพาตัวผู้ต้องหาไป บก.ตชด.ภาค 1 ได้ เพราะตามกฎหมายต้องควบคุมตัวในที่ทำการพนักงานสอบสวนเท่านั้น
- ตำรวจเริ่มตรวจค้นโดยไม่แสดงหมายค้นก่อนเข้าตรวจค้น แต่แสดงหมายค้นภายหลังตรวจค้นเสร็จแล้ว โดยมีเจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐานไปร่วมตรวจค้นด้วย อีกทั้งไม่ได้ทำบันทึกการตรวจค้น ณ สถานที่ตรวจค้น กลับมาทำที่สถานีตำรวจหลังยึดของกลางใส่ถุงไปแล้วหลายชั่วโมง ซึ่งยืนยันไม่ได้ว่าของในซองพยานมาจากห้องผู้ต้องหาจริงหรือไม่
- คดีนี้นับเป็นการดำเนินคดี 112 คดีแรก ที่ศาลอนุญาตออกหมายจับ ตั้งแต่พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ออกแถลงการณ์บังคับใช้กฎหมายทุกมาตราเพื่อจัดการผู้ชุมนุมเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2563 โดยก่อนหน้านี้ มีรายงานข่าวว่าในช่วงแรก ตำรวจได้ไปขอศาลออกหมายจับในคดีแกนนำบางคดี แต่ศาลไม่อนุญาต
อ่านเรื่องราวที่เกี่ยวข้อง:
“โตโต้” ถูกแจ้งข้อหาพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เหตุชุมนุมชุดไทยให้กำลังใจผู้ถูกคดี ม.112 หน้าสน.ยานนาวา
เยาวชน 17 ปี กลุ่มเฟมินิสต์ปลดแอก ถูกแจ้ง 2 ข้อหา เหตุชุมนุม #ม็อบ25ตุลา
‘เพนกวิน’ รับทราบ 8 ข้อหา ชุมนุมกดดันปล่อย #คณะราษฎรอีสาน หน้า สตช.