“โตโต้” ถูกแจ้งข้อหาพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เหตุชุมนุมชุดไทยให้กำลังใจผู้ถูกคดี ม.112 หน้าสน.ยานนาวา

วันที่ 12 ม.ค. 64 ที่ สน.ยานนาวา นายปิยรัฐ จงเทพ หรือ “โตโต้” หัวหน้าทีมการ์ด We Volunteer เข้าพบ พ.ต.ต.เกียรติศักดิ์ พิมมานนท์ สารวัตร (สอบสวน) สน.ยานนาวา เพื่อรับทราบข้อกล่าวหาจากกิจกรรมให้กำลังใจผู้ถูกดำเนินคดี “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เมื่อวันที่ 17 ธ.ค. 63 

สำหรับเหตุแห่งการดำเนินคดีนั้น เมื่อวันที่ 17 ธ.ค. 63 จตุพร แซ่อึง สมาชิกกลุ่มบุรีรัมย์ปลดแอก และเยาวชนอายุ 16 ปี ได้เดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหามาตรา 112 ตามหมายเรียก จากกรณีแฟชั่นโชว์ในกิจกรรม #ม็อบ29ตุลา รันเวย์ของประชาชน บริเวณถนนสีลม

>> เปิดข้อกล่าวหา ม.112 เยาวชน – ผู้แต่งคอสเพลย์ชุดไทย เหตุเดินพรมแดงม็อบแฟชั่นโชว์ที่สีลม

ทางกลุ่ม We Volunteer นำโดยปิยรัฐ จงเทพ ได้จัดกิจกรรมให้กำลังใจผู้ถูกดำเนินคดีทั้งสองคน บริเวณหน้าสน.ยานนาวา ในวันดังกล่าวมีการตั้งเวทีจัดกิจกรรมแสดงดนตรีและการละเล่นบริเวณหน้าสถานีตำรวจ ตั้งแต่เวลาประมาณ 10.30 น. โดย ‘เพนกวิน’ พริษฐ์ ชิวารักษ์ ร่วมแต่งชุดไทยสร้างสีสันในกิจกรรมด้วย 

กระทั่ง เวลา 12.00 น. ปิยรัฐได้ขออนุญาตเจ้าหน้าที่ปิดช่องทางเดินรถบนถนนสุรศักดิ์บริเวณหน้า สน.ยานนาวา จำนวนสองช่องทางเพื่อความปลอดภัยของประชาชนเนื่องจากมีผู้ชุมนุมเป็นจำนวนมาก แต่เจ้าหน้าที่อนุญาตให้ปิดเพียงหนึ่งช่องทาง กลุ่ม We Volunteer ยืนยันจะขอปิด 2 ช่องทาง ก่อนจะแยกย้ายกันกลับในเวลา 15.30 น. หลังการเข้ารับทราบข้อหาเสร็จสิ้น

แต่ต่อมา เมื่อวันที่ 6 ม.ค. 64 ปิยรัฐได้รับหมายเรียกลงวันที่ 30 ธ.ค. 63 ให้ไปรับทราบข้อกล่าวหาที่ สน.ยานนาวา โดยคดีมี พ.ต.ท.ประวิทย์ วงษ์เกษม เป็นผู้กล่าวหา

 

“โตโต้” ปราศรัยหน้า สน.ยานนาวา วันที่ 17 ธ.ค. 63 (ภาพจาก The Tempo News)

 

พนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อกล่าวหาปิยรัฐทั้งหมด 4 ข้อหา ดังนี้

  1. ร่วมกันเป็นผู้จัดการชุมนุมสาธารณะโดยไม่แจ้งต่อผู้รับแจ้งก่อนเริ่มการชุมนุมไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง (พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ มาตรา 10)
  2. ร่วมกันจัดกิจกรรมซึ่งมีผู้เข้าร่วมเป็นจำนวนมากในลักษณะมั่วสุมประชุมกัน หรือมีโอกาสติดต่อสัมผัสกันได้ง่าย (ฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ)
  3. วาง ตั้ง ยื่นหรือแขวนสิ่งใดสิ่งหนึ่งหรือกระทำด้วยประการใดๆ ในลักษณะเป็นการกีดขวางการจราจร โดยไม่ได้รับอนุญาต (พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ มาตรา 114)
  4. ใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต (พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงฯ มาตรา 4)

พนักงานบรรยายพฤติการณ์ข้อกล่าวหาว่าปิยรัฐได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัวเมื่อวันที่ 15 ธ.ค. 63 เชิญชวนให้ผู้รักความเป็นธรรมไปให้กำลังใจผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 ที่หน้า สน.ยานนาวา รวมทั้งเฟซบุ๊กชื่อ “We Volunteer” ก็มีการโพสต์เชิญชวนในลักษณะดังกล่าวเช่นกัน โดยระบุให้แต่งชุดไทยไปร่วมด้วย

ต่อมาวันที่ 17 ธ.ค. 63 ได้มีประชาชน 60-70 คน เข้ามาร่วมชุมนุมที่หน้า สน.ยานนาวา โดยมีการตั้งเวทีชั่วคราวอันมีลักษณะกีดขวางการจราจรบนถนนสุรศักดิ์ และปิยรัฐได้ใช้เครื่องเสียงที่จัดเตรียมมาปราศรัยโจมตีการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจและรัฐบาล โดยไม่ได้มีการขออนุญาตกับเจ้าพนักงาน และยังไม่ได้แจ้งการชุมนุมสาธารณะต่อเจ้าพนักงานผู้รับแจ้ง 

เวลาประมาณ 11.00 น. ผู้กำกับ สน.ยานนาวา ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ตำรวจนำประกาศแจ้งให้ผู้ชุมนุมเลิกการชุมนุมในเวลา 11.30 น. แต่ผู้ชุมนุมยังชุมนุมกันต่อไป จึงเป็นการชุมนุมที่ไม่เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะ และเป็นการชุมนุมที่ฝ่าฝืนข้อกำหนดที่ออกตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

 

เหตุการณ์หน้า สน.ยานนาวา วันที่ 17 ธ.ค. 63 (ภาพจาก The Tempo News)

 

ปิยรัฐได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และปฏิเสธลงลายมือชื่อในบันทึกการแจ้งข้อกล่าวหา พนักงานสอบสวนกำหนดวันยื่นคำให้การเป็นหนังสือเพิ่มเติมภายในวันที่ 29 ม.ค. 64 และได้ให้ปล่อยตัวผู้ต้องหาไป โดยไม่มีการควบคุมตัวไว้

ทั้งนี้น่าสังเกตว่าตาม พ.ร.บ.ชุมนุมฯ มาตรา 3 (6) มีบทบัญญัติให้งดเว้นการบังคับใช้ในสถานการณ์ฉุกเฉิน ทำให้ข้อหาตาม พ.ร.บ.ชุมนุมฯ และการฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไม่สามารถนำมาใช้ร่วมกันได้ แต่การแจ้งข้อกล่าวหาที่ผ่านมาตั้งแต่เดือนสิงหาคม 63 ซึ่งมีการออกข้อกำหนดให้การชุมนุมใดๆ สามารถกระทำได้ภายใต้กฎหมายว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะ เจ้าหน้าที่ตำรวจกลับนำข้อหาทั้ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ มาใช้กล่าวหาต่อผู้ชุมนุมทางการเมืองไปพร้อมกันในหลายคดี ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนพบกรณีลักษณะนี้อย่างน้อยใน 23 คดีแล้ว

>> ผลที่แปลกประหลาดยิ่งทางกม.: เมื่อพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ-พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ถูกใช้พร้อมกัน

 

X