การคุกคามผู้แสดงความคิดเห็นต่างจากรัฐบาลเกิดถี่ขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ ในช่วง 1-2 เดือน ที่ผ่านมานี้ และยังเป็นไปอย่างเข้มข้น สังเกตได้จากจำนวนเจ้าหน้าที่ที่เข้าสังเกตการณ์การจัดกิจกรรมมากขึ้น การใช้กลวิธีติดตามหลากหลายรูปแบบขึ้น
เดือนมิถุนายนเป็นเดือนที่มีกิจกรรมเรียกร้องความยุติธรรมจำนวนมากและกระจายตัวทั่วประเทศ เช่น กิจกรรมเรียกร้องความยุติธรรมให้ ‘วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์’ และผู้ถูกอุ้มหายรายอื่นที่หน้าสถานทูตกัมพูชา กิจกรรมผูกโบว์ขาวทวงความยุติธรรม กิจกรรม ‘ลบไม่ได้ ลืมไม่ลง’ เพื่อรำลึกการอภิวัฒน์สยามหรือการเปลี่ยนแปลงการปกครองของไทยปี พ.ศ. 2475 การมีวาระสำคัญเช่นนี้น่าจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เจ้าหน้าที่ใช้มาตรการเชิงรุก เร่งติดตาม สืบสวน และสอบสวนผู้จัดกิจกรรมและประชาชนรายรอบอย่างใกล้ชิด โดยศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้ประมวลภาพรวมการคุกคามที่มีแนวโน้มจะใช้มาตรการนอกกฎหมายหรือมาตรการที่เกินกว่าเหตุจำเป็นมากขึ้น ดังนี้
การใช้กฎหมายเกินกว่าเหตุจำเป็น ต้าน #Saveวันเฉลิม และ #24มิถุนายน
ภาพกลุ่ม People Go เรียกร้องให้ยกเลิกการต่ออายุพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เมื่อวันที่ 9 ก.ค. 63
เมื่อพูดถึงการใช้กลไกทางกฎหมายเพื่อป้องกันไม่ให้ประชาชนออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองในช่วงนี้ พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ยังคงเป็นเครื่องมือสำคัญ โดยเห็นได้จากหลายกรณี เช่น เจ้าหน้าที่ดำเนินคดีผู้เรียกร้องความเป็นธรรมให้วันเฉลิมที่หน้าสถานทูตกัมพูชาโดยแจ้งข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ (ฉบับที่ 1) ข้อที่ 5 “ร่วมกันชุมนุม ทำกิจกรรม หรือมั่วสุมกัน ณ ที่ใดๆ ในสถานที่แออัดหรือกระทำการดังกล่าวเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย” ร่วมกับ พระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2535
>>ตร.ออกหมายเรียก สมาชิกสนท.จากกิจกรรม “ทวงความเป็นธรรมให้วันเฉลิม” อ้างผิด พ.ร.ก.ฉุกเฉิน
>> อีก 4 ผู้ต้องหาพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ หน้าสถานทูตกัมพูชาเข้ารับทราบข้อหา พร้อมขบวนร้องยกเลิกพ.ร.ก.
อีกกรณีหนึ่งคือการดำเนินข้อหากับกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย (Democracy Restoration Group : DRG) ผู้จัดกิจกรรม ‘ลบยังไงก็ไม่ลืม’ เวลาเช้ามืดของวันที่ 24 มิ.ย. หน้าอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และผู้จัดกิจกรรม ‘อ่านประกาศคณะราษฎรอีกครั้ง ให้รู้กันไปเลยว่าใครเป็นเจ้าของประเทศ’ ช่วงเย็นที่สกายวอล์ค แยกปทุมวัน โดยกลุ่มแรกถูกแจ้งข้อกล่าวหาว่ากระทำการฝ่าฝืน พ.ร.บ.รักษาความสะอาดฯ พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 และประมวลกฎหมายอาญามาตรา 35 ส่วนกลุ่มที่สองได้รับหมายเรียกให้ไปรับทราบข้อกล่าวหาว่ากระทำการฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ พ.ร.บ.รักษาความสะอาดฯ และการใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาตตามมาตรา 4 ของ พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง ในวันที่ 17 ก.ค.
>> 88 ปี 24 มิ.ย.: ‘วันประวัติศาสตร์ชาติ’ที่ถูกห้ามรำลึกถึง กิจกรรม 21 จุดถูกปิดกั้นคุกคามทั่วไทย
ปัจจุบันการประกาศบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เปิดช่องให้ตีความกฎหมายอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะ ข้อกำหนดตามมาตรา 9 พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ข้อ 5 ที่ระบุว่า “ห้ามมิให้มีการชุมนุม การทำกิจกรรม หรือการมั่วสุมกัน ณ ที่ใดๆ ในสถานที่แออัดหรือกระทำการดังกล่าวอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย” ทำให้มีการดำเนินคดีกับผู้ทำกิจกรรม ที่ไม่จำกัดแค่กิจกรรมทางการเมือง ซึ่งผู้ถูกดำเนินคดีจาก พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ อีกทั้งภาคประชาชน แสดงความไม่เห็นด้วย และยื่นฟ้องคดีต่อศาลแพ่ง เพื่อยุติการต่ออายุ พ.ร.กก. ฉุกเฉินฯ ซึ่งต้องรอฟังคำพิพากษา ในวันที่ 5 สิงหาคม 2563 นี้
>>เปิดคำสั่ง ไม่คุ้มครองการชุมนุม “บำนาญถ้วนหน้า” ชี้จำเป็นน้อยกว่าการป้องกันโควิด
เจ้าหน้าที่ควานหาแท็กซี่ที่รับ ‘โตโต้’ หลังกิจกรรม 24 มิ.ย.
ภาพหนึ่งในชายลึกลับโบกมือไล่แท็กซี่ จากเพจ โตโต้ ปิยรัฐ – Piyarat Chongthep
รุ่งสางของวันที่ 24 มิ.ย. 63 หลังจบกิจกรรม ‘ลบยังไงก็ไม่ลืม’ รำลึกวันครบรอบ 88 ปี การเปลี่ยนแปลงการปกครอง ที่อนุสาวรีย์ชัยประชาธิปไตย ‘ปิยรัฐ จงเทพ’ (โตโต้) นักกิจกรรมและอดีตผู้สมัคร ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ เขต 1 จ.กาฬสินธุ์ ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบเข้าล้อมระยะประชิด และอ้างว่า “นายอยากคุยด้วย” แต่สื่อมวลชนและประชาชนได้กันตำรวจออกไป จนปิยรัฐเดินทางออกจากพื้นที่ได้อย่างปลอดภัย ภายหลังปิยรัฐได้รับหมายจับ ซึ่งระบุข้อกล่าวหาว่า “เป็นผู้จัดให้มีการชุมนุมในที่สาธารณะ โดยไม่แจ้งให้ผู้รับแจ้งทราบก่อนเริ่มการชุมนุม” ตามหมายจับศาลจังหวัดกาฬสินธุ์ เนื่องจากกิจกรรมวิ่งไล่ลุง ที่จ.กาฬสินธุ์ เมื่อ 1 ม.ค. หรือตั้งแต่ช่วงต้นปี
เบื้องหน้าอาจเห็นการทำงานของเจ้าหน้าที่ซึ่งพยายามเข้าล้อมปิยรัฐและเป็นจังหวะที่ดีที่สื่อมวลชนกับประชาชนเข้าไปช่วยล้อมไม่ให้ตำรวจจับกุมได้ ทว่าสถานการณ์เบื้องหลังจากคำบอกเล่าของนักกิจกรรมรายหนึ่งที่ร่วมจัดกิจกรมและอยู่ร่วมในเหตุการณ์ ระบุว่าภายหลังกิจกรรมเสร็จสิ้นมีเจ้าหน้าที่ตามถ่ายรูปรถแท็กซี่ ที่รับผู้โดยสารจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และมีเจ้าหน้าที่โทรศัพท์มาหาคนขับแท็กซี่คันที่ตนนั่งอยู่ ทั้งๆ ที่คนขับเองไม่เคยมีเบอร์ของเจ้าหน้าที่มาก่อน และไม่เคยติดต่อกัน จากนั้นจึงสอบถามคนขับว่า ได้รับผู้โดยสารจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยหรือไม่และกำลังขับไปที่ไหน และแจ้งว่าต้องสอบถามเนื่องจากเจ้าหน้าที่กำลังตามหาผู้ชายคนหนึ่ง พร้อมบอกรูปพรรณสันฐานของปิยรัฐ
>> ตร.ปล่อย “โตโต้” ไม่ต้องประกัน นัดส่งอัยการ 2 ก.ค. ยังข้องใจใครคือ “กลุ่มคนนิรนาม”
เจ้าหน้าที่ตามติดนักศึกษาหลังอ่านประกาศคณะราษฎร 24 มิ.ย.
ภาพเจ้าหน้าที่ในงาน “อ่านประกาศคณะราษฎรอีกครั้ง ให้รู้กันไปเลยว่าใครเป็นเจ้าของประเทศ”
ช่วงเย็นของวันที่ 24 มิ.ย. สหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนท.) และเครือข่ายได้จัดกิจกรรมการอ่านประกาศคณะราษฎรฯ บริเวณหน้าหอศิลป์ฯ กรุงเทพฯ ท่ามกลางเจ้าหน้าที่ทั้งในและนอกเครื่องแบบที่เฝ้าจับตามองอย่างใกล้ชิด ‘พริษฐ์ ชิวารักษ์’ และ ‘ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล’ จาก สนท. เล่าว่าถูกติดตามทั้งก่อนและหลังทำกิจกรรมวันที่ 24 มิ.ย.
พริษฐ์กล่าวว่าช่วงก่อนทำกิจกรรมมีเจ้าหน้าที่มาเยี่ยมบ้านบ่อยครั้ง และยิ่งโดนจับตามองมากขึ้นหลังจัดกิจกรรมเรียกร้องความยุติธรรมให้วันเฉลิม 22 มิ.ย. พริษฐ์ได้รับเชิญจากเจ้าหน้าที่ไม่ทราบยศและชื่อให้ไปรับประทานอาหารร่วมกัน และมีบุคคลไม่ทราบชื่อนำเบอร์โทรศัพท์มือถือของตนไปโพสต์และมีคนโทรเข้ามาข่มขู่ อีกทั้ง 1 วันก่อนวันจัดกิจกรรมอ่านประกาศคณะราษฎรฯ มีเจ้าหน้าที่มาเยี่ยมบ้านอีกครั้งแต่ตนเองไม่อยู่ ทั้งนี้ ตนยังได้รับแจ้งว่ามีคนพยายามติดสินบนพนักงานรักษาความปลอดภัยให้คอยช่วยสอดส่องและจับตาดูความเคลื่อนไหวตนอีกด้วย ด้านปนัสยาโพสต์ว่าเช้าวันที่ 21 มิ.ย. มีเจ้าหน้าที่ไม่ทราบสังกัดขับรถสีดำมาเยี่ยมที่บ้านพร้อมถามแม่ของปนัสยาว่า “บ้านเลขที่นี้ใช่ไหม” “ใครเป็นเจ้าของบ้าน” และ “เดี๋ยวนายผมจะโทรมานะ” ซึ่งปนัสยาเห็นว่าเป็นการคุกคามครอบครัว เพื่อหวังให้หยุดดำเนินกิจกรรม
เมื่อกิจกรรมวันที่ 24 มิ.ย.เสร็จสิ้นลง กลุ่มของพริษฐ์และปนัสยาถูกเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบมากกว่า 5 นายเดินตามและขับรถติดตามประกบ โดยมีทั้งรถมอเตอร์ไซค์ขนาบข้างทั้งสองข้าง และรถยนต์ไม่ทราบเลขทะเบียนตามหลังอีกหนึ่งคัน ท่ามกลางข่าวลือว่าจะมีการสั่งอุ้มนักกิจกรรม 4 คน รวมทั้งพริษฐ์
ส่วนด้าน ‘ทัตเทพ เรืองประไพกิจเสรี’ จากกลุ่มเยาวชนปลดแอก (Free YOUTH) ได้มาร่วมอ่านประกาศคณะราษฎรฯ ด้วย ได้แจ้งว่ามีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบตามกลุ่มผู้จัดกิจกรรมมายังจุดนัดหมายของตนเอง โดยถ่ายรูปเก็บข้อมูลตลอดเวลา และเมื่อออกจากพื้นที่มีรถโตโยต้าฟอร์จูนเนอร์ขับตามมาอีกหนึ่งคันจนกระทั่งเอาของเข้าไปเก็บในอาคารแห่งหนึ่งจึงเลิกตาม
เจ้าหน้าที่เร่งเครื่องตามติดกลุ่มเยาวชนปลดแอกหลังกิจกรรม ‘ฉายไฟไล่ความมืดมิด’
ภาพรถยนต์ที่ติดตามกลุ่มเยาวชนปลดแอก จากเพจเยาวชนปลดแอก – Free Youth
เมื่อช่วงค่ำของวันที่ 7 ก.ค. สมาชิกกลุ่มเยาวชนปลดแอก 6 คนได้จัดกิจกรรม ‘ฉายไฟไล่ความมืดมิด’ ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ระหว่างทำกิจกรรม มีเจ้าหน้าที่ตำรวจ 2-3 นาย เข้ามาสอบถามรายละเอียดการทำกิจกรรม ถามว่ามาทำอะไรและถามย้ำว่ามาฉายรูปอะไรหรือไม่ เมื่อจบกิจกรรมมีตำรวจนอกเครื่องแบบตามถ่ายรูประหว่างสมาชิกกลุ่มฯ รอรถแท็กซี่ เมื่อโบกแท็กซี่ได้แล้ว มีสารวัตรตำรวจขับมอเตอร์ไซค์ปาดหน้าพร้อมตะโกนว่า “เดี๋ยวก่อน” และ “ภัยมั่นคง” เจ้าหน้าที่ พยายามขัดขวางไม่ให้นักศึกษาขึ้นรถแท็กซี่ได้ จากนั้นจึงมี เจ้าหน้าที่ ตำรวจในเครื่องแบบประมาณ 20 นายจาก สน.สำราญราษฎร์ และ สน.ชนะสงคราม เข้ามาล้อมเพิ่มไม่ให้นักศึกษาไปไหนและซักถามประวัติ พร้อมขอดูบัตรประชาชนและจดข้อมูลของสมาชิกกลุ่มฯ ไป จากคำบอกเล่าของทัตเทพ เจ้าหน้าที่มีท่าทีคล้ายจะจับกุมพวกตน แต่จากประวัติของสมาชิกกลุ่มฯ ไม่มีใครเคยได้รับหมายจับมาก่อน เขาสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นสาเหตุที่ทำให้เจ้าหน้าที่คลายท่าทีลง
หลังจากสมาชิกกลุ่มฯ แยกย้ายกันที่หน้าวัดบวรนิเวศ ราชวรวิหาร เจ้าหน้าที่ ยังตามถ่ายรูปเป็นระยะ และขับมอเตอร์ไซค์ตาม ทัตเทพกล่าวว่าเมื่อขึ้นรถแท็กซี่แล้วตนยังถูกติดตามโดยรถยนต์ฮอนด้าหมายเลขทะเบียน 5กม 9004 ตั้งแต่บริเวณหน้าวัดบวรฯ จนถึงบริเวณจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แม้จะให้คนขับจะขับวนบริเวณจุฬาฯ หลายรอบ แต่รถยนต์คันนั้นเร่งเครื่องตามรถของตนตลอดเวลา จนกระทั่งตนให้คนขับเข้าไปจอดที่ห้างละแวกนั้น และวิ่งเข้าไปหลบในอาคารอยู่พักใหญ่ รถที่ติดตามจึงกลับไป
เจ้าหน้าที่บุกคอนโดฯ ศิลปิน Headache Stencil
ภาพกล้องวงจรปิดเผยเจ้าหน้าที่ใต้คอนโดฯ ของ Headache Stencil จากเพจของศิลปิน
ช่วงตีหนึ่งของวันที่ 24 มิ.ย. ศิลปินกราฟิตี้ Headache Stencil ได้ฉายภาพปรีดี พนมยงค์ บนกำแพงวัดราชนัดดา แล้วถ่ายรูปลงแฟนเพจ จากนั้น 26 มิ.ย. เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ติดต่อเข้ามาทางแฟนเพจเพื่อสอบถามรายละเอียดของกิจกรรม แต่ศิลปินไม่ตอบและถามเจ้าหน้าที่กลับว่าตนทำอะไรผิดกฎหมาย ซึ่งได้คำตอบว่า “ไม่ได้ทำอะไรผิด”
เมื่อเห็นว่าศิลปินไม่ให้ข้อมูล เจ้าหน้าที่ไม่ลดละและมาเฝ้าที่หน้าคอนโดฯ โดยไม่แสดงบัตรประจำตัวต่อ รปภ. และไม่แสดงหมายเรียกหรือหมายจับ ศิลปินกล่าวว่าเมื่อตนเห็นท่าไม่ดีจึงขับรถออกมาจากคอนโดฯ ภายหลังสอบถามกับนิติบุคคลของคอนโดฯ ได้ความว่าน่าจะเป็นเจ้าหน้าที่จาก สน.พระโขนง เพราะนิติฯ ได้เคยติดต่อประสานงานกับตำรวจมาก่อน ต่อมาศิลปินสืบทราบจากการโทรศัพท์สอบถามไปยังหมายเลขของ เจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งเจ้าหน้าที่ใช้ติดต่อกับนิติฯ จนได้ความว่า ผู้ที่นำกลุ่มบุคคลมาติดตามตนในคืนนั้นคือ พ.ต.ต.ชัยวิรัตน์ ชาติสันติกุล
วันที่ 12 ก.ค. ศิลปินทวีตแจ้งว่า เจ้าหน้าที่ เข้ามาถ่ายรูปบริเวณหน้าคอนโดฯ ของตนอีกครั้ง และวันต่อมามีรถโตโยต้าฟอร์จูนเนอร์สีขาวขับติดตามรถของตนหลังตนให้สัมภาษณ์ข่าวย่านแจ้งวัฒนะเสร็จสิ้น
>>ศิลปินสตรีตอาร์ท ‘Headache Stencil’ ถูกเจ้าหน้าที่เยี่ยมกลางดึก จับตาเคลื่อนไหว 24 มิ.ย.
ทั้งหมดคือการใช้อำนาจโดยชอบจริงหรือ?
นอกจากกรณีข้างต้น เจ้าหน้าที่ยังใช้วิธีสอบถามประชาชนทั่วไปอย่างกว้างขวางโดยปราศจากกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจน เพื่อตามหาผู้เกี่ยวข้องกับ ‘คณะปฏิรูปไทสยาม’ ที่แอบอ้างสถาบันกษัตริย์เพื่อเรียกรับผลประโยชน์ โดยเจ้าหน้าที่ได้ติดตามประชาชนที่มีประวัติเดินทางไปวัดพระแก้ว แม้ว่าไม่มีประวัติการเคลื่อนไหวทางการเมืองมาก่อนและไม่เคยให้ข้อมูลส่วนตัวกับเจ้าหน้าที่โดยตรง
ดังนั้นจึงเห็นได้ว่าเจ้าหน้าที่เร่งเสริมมาตรการเชิงรุกโดยเฉพาะมาตรการนอกกฎหมายหรือมาตรการที่เกินกว่าเหตุจำเป็น เพื่อหยุดการเคลื่อนไหวทางการเมือง แต่ยิ่งเจ้าหน้าที่สรรหามาตรการมากมายเพียงใดเข้ามากดดัน ปิดปาก หรือทำให้ประชาชนหวาดกลัว ยิ่งเปิดเผยความเปราะบางของรัฐบาลต่อคำวิพากษ์วิจารณ์จากประชาชนมากขึ้นเท่านั้น