88 ปี 24 มิ.ย.: ‘วันประวัติศาสตร์ชาติ’ที่ถูกห้ามรำลึกถึง กิจกรรม 21 จุดถูกปิดกั้นคุกคามทั่วไทย

24 มิถุนายนปีนี้ นับได้ว่าเป็นปีที่มีการจัดกิจกรรมรำลึกเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครองสยามที่เข้มข้นที่สุดครั้งหนึ่ง ในวาระครบรอบ 88 ปี ประชาชนในหลายพื้นที่ได้จัดกิจกรรมในรูปแบบต่างๆ เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ดังกล่าวอย่างกว้างขวาง มิใช่เพียงรวมศูนย์อยู่เฉพาะพื้นที่ซึ่งเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์โดยตรงอย่างในกรุงเทพฯ เท่านั้น

กระแสความตื่นตัวต่อเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ดังกล่าว เกิดขึ้นภายใต้บริบท การพยายามลบทำลายความทรงจำที่เกี่ยวข้องกับคณะราษฎร โดยเฉพาะการหายไปของอนุสาวรีย์ สิ่งก่อสร้าง และชื่อเสียงเรียงนามต่างๆ เกี่ยวกับคณะราษฎร ซึ่งเกิดขึ้นเป็นระยะในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ขณะเดียวกันก็เกิดขึ้นในบริบทของการให้ความหมายใหม่ และการรื้อฟื้นความสำคัญอีกครั้งของเหตุการณ์ 24 มิ.ย. 2475 อย่างสัมพันธ์กับสถานการณ์ทางการเมืองไทยในปัจจุบัน

ขณะเดียวกันปฏิกิริยาการพยายามปิดกั้นการรำลึกถึงวันที่เคยเป็น “วันชาติไทย” ของฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐ กลับเป็นไปในทิศทางพยายามปิดกั้นขัดขวางไม่ให้เกิดขึ้น มีการข่มขู่กดดันสอดส่องผู้จัดกิจกรรมในแทบทุกพื้นที่ จนทำให้ในบางกิจกรรม ก็ไม่สามารถจัดขึ้นได้ หรือต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบกิจกรรมไป จนราวกับผู้มีอำนาจกำลังทำให้การรำลึกถึงการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิ.ย. กลายเป็น “ประวัติศาสตร์ต้องห้าม” ที่ห้ามรำลึกจดจำ 

รายงานชิ้นนี้ประมวลภาพรวมสถานการณ์สิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 24 มิ.ย. 2563 ครบรอบ 88 ปี การอภิวัฒน์สยาม ที่ดูเหมือนภารกิจครั้งนั้นจะยังไม่สิ้นสุดลง และกำลังกลับมามีชีวิตชีวาใหม่ในปัจจุบัน รวมทั้งอาจจะอีกหลายปีในอนาคตข้างหน้า

.

.

กิจกรรมรำลึก 24 มิ.ย. อย่างน้อย 21 จุดใน 15 จังหวัด

ตลอดทั้งวันของวันที่ 24 มิ.ย. 2563 มีกิจกรรมรำลึก 88 ปี ของเหตุการณ์ 24 มิ.ย. 2475 เกิดขึ้นอย่างน้อย 21 จุดกิจกรรม นับเป็นจำนวน 15 จังหวัด ครอบคลุมแทบทุกภาค มากน้อยแตกต่างกันไป แต่ภูมิภาคที่มีการจัดกิจกรรมจำนวนมากที่สุดคือภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งมีการจัดกิจกรรมถึง 9 จุด ได้แก่ จังหวัดอุบลราชธานี (2 จุด), จังหวัดขอนแก่น (2 จุด), จังหวัดยโสธร, จังหวัดนครราชสีมา, จังหวัดมหาสารคาม, จังหวัดสุรินทร์ และจังหวัดร้อยเอ็ด

ขณะที่ในพื้นที่ภาคกลางและภาคตะวันออก มีการจัดกิจกรรมรวมกัน 7 จุด ได้แก่ ในกรุงเทพมหานคร (4 จุด), จังหวัดพระนครศรีอยุธยา, จังหวัดนครปฐม (ม.มหิดล ศาลายา) และจังหวัดระยอง ขณะที่ภาคเหนือมีกิจกรรมในจังหวัดเชียงใหม่ รวม 2 จุด และพื้นที่ภาคใต้มีกิจกรรม 3 จุด ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี, จังหวัดตรัง และอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา

รูปแบบกิจกรรมที่เกิดขึ้นเป็นไปอย่างหลากหลาย แต่ที่สำคัญคือแทบทุกจุดมีการอ่านหรือเปิดเสียงการอ่านประกาศคณะราษฎรฉบับที่ 1 และการวางหมุดคณะราษฎรจำลองในรูปแบบต่างๆ ในพื้นที่กิจกรรม 

นอกจากนั้น ก็มีการทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ทั้งการทำความสะอาดอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยหรือสถานที่สำคัญที่เกี่ยวข้องกับคณะราษฎร การประดับโบว์สีขาวเรียกร้องความยุติธรรม การถือป้ายข้อความและจุดเทียนรำลึก หรือรูปแบบการแสดงละคร

.

กิจกรรมฉายโฮโลแกรมการอ่านประกาศคณะราษฎร ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ท่ามกลางเจ้าหน้าที่ตำรวจติดตามกดดันจำนวนมาก

.

ในกรุงเทพฯ ยังมีกิจกรรมการทวงถามความคืบหน้าของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ต่อสภาผู้แทนราษฏร ที่ทางคณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน (ครช.) ได้เคยยื่นเรื่องไว้ 

ขณะเดียวกันนอกจากการจัดกิจกรรมในพื้นที่สาธารณะ ยังมีกิจกรรมลักษณะการผูกป้ายข้อความรำลึกถึงเหตุการณ์ 24 มิถุนา หรือสื่อถึงการเรียกร้องประชาธิปไตย ต่อต้านเผด็จการ ตามจุดต่างๆ อาทิเช่น ป้าย “88 ปีประชาธิปไตย อำนาจอยู่ที่ใคร?” ที่บริเวณหน้าคณะนิติศาสตร์ และบนสะพานลอยย่านมหาวิทยาลัยรามคำแหง, ป้าย “สืบทอดมรดกคณะราษฎร พิฆาตเผด็จการ” ที่สะพานลอยหน้ามหาวิทยาลัยขอนแก่น หรือข้อความจากประกาศคณะราษฎรและภาพหมุดคณะราษฎร ที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย อำเภอภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ เป็นต้น รวมทั้งการฉายสไลด์ภาพบุคคลและภาพหมุดคณะราษฎร โดยศิลปิน Headache Stencil 

.

ป้ายข้อความ “88 ปีประชาธิปไตย อำนาจอยู่ที่ใคร?” หน้ามหาวิทยาลัยรามคำแหง

.

ส่วนบนโลกออนไลน์ ยังมีการจัดกิจกรรมไลฟ์ถ่ายทอดสดการพูดคุยเสวนาในหัวข้อต่างๆ เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงการปกครอง มรดกคณะราษฎร ความทรงจำ และการพยายามทำลายความทรงจำ รวมทั้งการเผยแพร่เนื้อหาออนไลน์เกี่ยวกับประเด็น 24 มิ.ย. 2475 อีกจำนวนมาก       

ทั้งนี้ ควรกล่าวด้วยว่าในพื้นที่กรุงเทพ มีประชาชนอย่างน้อย 2 กลุ่ม มาทำกิจกรรมในลักษณะคัดค้านการรำลึกถึงเหตุการณ์ 24 มิ.ย. ในบริเวณใกล้เคียงกับกิจกรรมรำลึก 24 มิถุนา โดยกลุ่มแรกทำกิจกรรมยืนอ่านคำถวายฎีกาไม่เห็นด้วยกับคณะราษฎรจำนวน 51 หน้า ที่หน้าอาคารรัฐสภา และกลุ่มที่สอง เป็นประชาชนราว 4-5 คน เข้ายืนถือป้ายเรียกร้องให้ประเทศเดินหน้าและมีความสามัคคี ที่สกายวอร์ค แยกปทุมวัน ในเวลาเดียวกับกิจกรรมของกลุ่มนักศึกษา

 

กิจกรรมถูกกดดันจัดไม่ได้ถึง 3 จุด ยุติกลางคัน 1 จุด

กิจกรรมซึ่งเป็นการรำลึกวันสำคัญวันหนึ่งในประวัติศาสตร์ไทยในปีนี้ เผชิญกับการพยายามปิดกั้น ควบคุม และคุกคาม อย่างเข้มข้น เมื่อทางฝ่ายเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติได้มีการสั่งการให้ตำรวจติดตามจับตากิจกรรมอย่างใกล้ชิด ทั้งยังมีการจัดกลุ่ม 12 จังหวัดเสี่ยงซึ่งเจ้าหน้าที่จะจับตาอย่างเข้มข้นด้วย และยังอ้างในเชิงข่มขู่ว่าการนัดชุมนุมเชิงสัญลักษณ์ถือเป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย โดยเฉพาะการฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ 

การสั่งการดังกล่าว ทำให้พบเห็นการจัดกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจจำนวนมากประจำการตามจุดสำคัญทางประวัติศาสตร์ต่างๆ รวมทั้งมีการกั้นรั้วเหล็กเพื่อควบคุมพื้นที่เหล่านั้น อาทิเช่น บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้าที่มีการกั้นแนวรั้วเหล็กและมีเจ้าหน้าที่ทหาร-ตำรวจจำนวนมากเฝ้าระวัง ห้ามสื่อมวลชนบันทึกภาพ หรือการตั้งแนวรั้วกั้น พร้อมจัดกำลังเจ้าหน้าที่เฝ้าที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย กรุงเทพ, อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และอนุสาวรีย์จอมพลสฤษดิ์ จังหวัดขอนแก่น ในลักษณะเดียวกัน

ที่ขอนแก่น นอกจากการตั้งแผงเหล็ก ยังมีการนำรถดับเพลิงกว่า 10 คัน มากั้นพื้นที่โดยรอบ พร้อมแขวนป้ายข้อความระบุว่า “ขออภัยในความไม่สะดวก กำลังฝึกซ้อมแนวทางป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย” 

.

นักศึกษาที่ขอนแก่นยังออกมาทำกิจกรรมรำลึก 24 มิ.ย. ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย แม้จะมีเจ้าหน้าที่เข้าล้อมรั้ว และติดป้ายอ้างเรื่องการฝึกซ้อมบรรเท่าสาธารณภัย

.d

การปิดกั้นคุกคามกลุ่มนักศึกษาหรือประชาชนที่ประกาศจัดกิจกรรมยังเป็นไปอย่างเข้มข้น โดยศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนพบว่าจากจำนวน 21 จุดกิจกรรม มีกิจกรรมที่ถูกกดดันสั่งห้ามจนต้องยกเลิกจำนวน 3 จุด ได้แก่ ที่สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร, กิจกรรมที่จังหวัดสุรินทร์ และจังหวัดร้อยเอ็ด

ที่ลาดกระบังนั้น กลุ่มนักศึกษาประกาศนัดทำกิจกรรม “เก็บขยะ” เนื่องใน “วันชาติที่ประชาชนโดนปล้นไป” แต่ต้องยกเลิกไปก่อน ด้วยเหตุเจ้าหน้าที่ฝ่ายกิจการนักศึกษา เจ้าหน้าที่ตำรวจ และเจ้าหน้าที่เขต แจ้งเงื่อนไขการจัดกิจกรรมให้ผู้จัดต้องมีหน้าที่ในการหามาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ให้กับผู้เข้าร่วม ทั้งมีการปรามไม่ให้พูดปราศรัยที่อาจพาดพิงถึงบุคคนอื่นซึ่งอาจถูกดำเนินคดีได้ และขอให้มีการจัดทำรายชื่อผู้ร่วมกิจกรรมเป็นข้อมูลสำหรับป้องกันโรคด้วย โดยทางมหาวิทยาลัยจะนำข้อมูลการเดินทางของผู้เข้าร่วมนี้ส่งต่อให้กับทางราชการ ภาวะดังกล่าว ทำให้กลุ่มนักศึกษาตัดสินใจยกเลิกกิจกรรม และเปลี่ยนเป็นไลฟ์ผ่านเฟซบุ๊กอ่านแถลงการณ์กันเงียบๆ แทน

ทำนองเดียวกับนักศึกษาของมหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ดที่ต้องออกแถลงการณ์ยกเลิกกิจกรรม เนื่องจากสำนักกิจการนักศึกษาของมหาวิทยาลัยมีความกังวลในกิจกรรม ว่าจะเสี่ยงต่อการควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 รวมถึงความคงอยู่ของการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ทำให้กลุ่มนักศึกษาเปลี่ยนเป็นการไลฟ์เฟซบุ๊กอ่านประกาศคณะราษฎรแทน

ส่วนในจังหวัดสุรินทร์ ผู้จัดทนแรงกดดันจากการคุกคามก่อนทำกิจกรรมไม่ไหว เนื่องจากถูกตำรวจนอกเครื่องแบบ 3 นาย และผู้ใหญ่บ้านเดินทางไปพบถึงบ้าน มีการเตือนว่าไม่อยากให้มีกิจกรรมเกิดขึ้น อาจมีการถูกดำเนินคดีหลังกิจกรรม และยกตัวอย่างเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 กรณีนักศึกษาถูกเข่นฆ่า มาพูดในเชิงข่มขู่ด้วย ผู้จัดจึงตัดสินใจยกเลิกกิจกรรมไปก่อน

.

ภาพเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบและฝ่ายปกครองไปบ้านผู้จัดกิจกรรม 24 มิ.ย. ที่จังหวัดสุรินทร์ กดดันจนต้องยกเลิกกิจกรรม

.

ถึงแม้ในทั้งสามจุด จะมีการประกาศยกเลิกกิจกรรม แต่ก็ยังมีเจ้าหน้าที่ทั้งในและนอกเครื่องแบบมาคอยคุมเข้มประจำอยู่ที่จุดประกาศทำกิจกรรมอีกด้วย  

นอกจากนั้นยังมีกิจกรรมเสวนาของสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ (สกต.) ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ในหัวข้อ “ครบรอบ 88 ปี  24 มิถุนายน 2475 จากสมบูรณาญาสิทธิราชย์ สู่ประชาธิปไตย” ได้ถูกเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองอ้างว่าได้รับคำสั่งจากนายอำเภอให้มาติดต่อสอบถามถึงเนื้อหาและกำหนดการจัดเวทีเสวนา เพื่อแจ้งให้ทางการทราบ จนทำให้ผู้จัดต้องยุติการเสวนาลงก่อนกำหนดไปหนึ่งชั่วโมง  

.

เจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบเข้าติดตามกิจกรรมเสวนาที่อ.ชัยบุรี จ.สุราษฎร์ธานี จนผู้จัดต้องยุติกิจกรรมก่อนกำหนด

.

ถูกสั่งห้าม กดดันจนต้องปรับรูปแบบกิจกรรม 3 จุด

นอกจากนั้นยังมีกิจกรรมรำลึก 24 มิ.ย. ที่ผู้จัดถูกเจ้าหน้าที่รัฐกดดัน จนต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบไป 3 จุด ได้แก่ ที่จังหวัดยโสธร จังหวัดนครราชสีมา และมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี 

ที่ยโสธรนั้น เดิมกลุ่มคนรักษ์ประชาธิปไตยประกาศจัดกิจกรรมเวลา 17.30 น. แต่ก่อนงานได้ถูกเจ้าหน้าที่รัฐโทรศัพท์มาข่มขู่ห้ามไม่ให้จัด มิเช่นนั้นจะดำเนินการตามกฎหมาย ทางผู้จัดจึงเปลี่ยนรูปแบบไป ไม่มีการนัดรวมตัวของผู้คน แต่มีสมาชิก 4 รายเดินทางไปถือป้าย “ลบยังไงก็ไม่ลืม” และจุดเทียนตามหาประชาธิปไตย บริเวณลานหน้าอนุสาวรีย์พระสุนทรราชวงศา ในช่วงเช้าแทน

ส่วนที่นครราชสีมา แม้ว่าก่อนหน้ากิจกรรมตำรวจได้โทรศัพท์มาสอบถามแล้ว และผู้จัดแจ้งว่าจะมีการอ่านประกาศคณะราษฎรที่ลานย่าโม โดยตำรวจไม่ได้ห้าม แต่ก่อนเริ่มกิจกรรม ตำรวจกลับสั่งห้ามไม่ให้อ่านประกาศฯ ระบุว่า มีคำสั่งให้เข้าจับกุมทันทีหากมีการอ่าน จนผู้จัดต้องตัดกิจกรรมดังกล่าวออก เหลือเพียงทำบุญอุทิศส่วนกุศลที่วัด และถือป้ายรำลึกพร้อมหมุดคณะราษฎรจำลองเท่านั้น

ด้านกิจกรรมที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ทางมหาวิทยาลัยได้รับการติดต่อจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยมีการอ้างไม่อยากให้จัดกิจกรรม เนื่องจากยังอยู่ภายใต้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ทางมหาวิทยาลัยจึงไม่ให้จัดกิจกรรม แต่ในวันที่ 24 มิ.ย. ได้มีนักศึกษา 1 ราย ทำกิจกรรมยืนนิ่งเป็นเวลา 10 นาที เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครอง พร้อมวางป้ายบอกเหตุผลที่ไม่สามารถจัดกิจกรรมได้ ท่ามกลางเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบจับตา

.

นักศึกษาม.อุบล ยืนถือป้ายรำลึก 24 มิ.ย. และ #Saveวันเฉลิม หลังต้องเปลี่ยนรูปแบบกิจกรรม

 

การคุกคามข่มขู่-จับตา ยังเกิดขึ้นในกิจกรรมแทบทุกจุด

ขณะเดียวกันจากกิจกรรมทั้งหมด ยังพบกรณีการคุกคามผู้จัดรำลึก 24 มิ.ย. ก่อนหน้ากิจกรรมจำนวนอย่างน้อย 12 จุด และการคุกคามระหว่างการทำกิจกรรมอย่างน้อย 5 จุด โดยแทบทุกกิจกรรมที่มีการประกาศจัดสาธารณะล่วงหน้า ก็ได้มีเจ้าหน้าที่รัฐเข้าติดตามข้อมูลผู้จัดกิจกรรมหรือสอดส่องกิจกรรมอย่างใกล้ชิด

การคุกคามและปิดกั้นก่อนทำกิจกรรม เกิดขึ้นอย่างน้อย 12 จุด ได้แก่ ในกรุงเทพมหานคร, ระยอง, อุบลราชธานี, ขอนแก่น, ยโสธร, นครราชสีมา, มหาสารคาม, ร้อยเอ็ด และสุรินทร์    

ในกรุงเทพมหานคร เจ้าหน้าที่นำแผงเหล็กมากั้นรอบอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยพร้อมมีข้อความติดบนแผงเหล็กว่า “ห้ามเข้าก่อนได้รับอนุญาต อยู่ระหว่างการปรับปรุง” และเจ้าหน้าที่ตำรวจตั้งกรวย-แผงเหล็กกั้นเลนถนน ตั้งแต่บริเวณสะพานผ่านฟ้าจนถึงอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย พร้อมนำรถตู้ไม่ต่ำกว่า 3 คัน รถจักรยานยนต์ และกำลังตำรวจประจำการโดยรอบ 

.

เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าติดตามกดดันกิจกรรมทำ “เก็บขยะ” เนื่องใน “วันชาติที่ประชาชนโดนปล้นไป” ที่ลาดกระบัง ทำให้ผู้จัดต้องยกเลิกกิจกรรม

.

ในต่างจังหวัด ลักษณะการคุกคามที่เกิดขึ้นที่สำคัญ คือเจ้าหน้าที่ตำรวจห้ามผู้จัดจัดกิจกรรม โดยอ้างเหตุว่าพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ยังมีผลบังคับใช้ การทำกิจกรรมเสี่ยงที่จะถูกดำเนินคดีตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ได้แก่ ที่ยโสธร ร้อยเอ็ด และอุบลราชธานี  โดยที่มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ได้มีตำรวจนอกเครื่องแบบไปพบอาจารย์ 2 ท่าน เพื่อสอบถามการเข้าร่วมกิจกรรม โดยอ้างความเป็นห่วง กลัวจะมีทหารมาอุ้ม และผู้จัดกิจกรรมก็ได้ถูกเจ้าหน้าที่ไปเฝ้าหน้าบ้านพัก

ในบางจังหวัด ได้แก่ ที่นครราชสีมาและมหาสารคาม เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ได้ห้ามจัดกิจกรรม แต่เข้มงวดว่า ไม่ให้มีการพาดพิงถึงกษัตริย์ที่อาจเข้าข่ายข้อหามาตรา 112 ตามประมวลกฎหมายอาญา    

ในหลายพื้นที่ที่ผู้จัดยังคงจัดกิจกรรมตามเดิมหรือปรับเปลี่ยนรูปแบบไปบ้าง แต่ก็พบว่ามีเจ้าหน้าที่จำนวนมากเข้าติดตามและจับตาสอดส่องอย่างใกล้ชิดในทุกกิจกรรม ทั้งในรูปแบบของการเข้าไปตรวจตราในพื้นที่ชุมนุม ขอตรวจบัตรประชาชนของผู้เข้าร่วม ถ่ายวีดีโอเหตุการณ์ ถ่ายภาพผู้เข้าร่วมกิจกรรม และป้ายข้อความที่มีการแสดงออก 

กิจกรรม “ลบยังไง ก็ไม่ลืม” โดยกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เจ้าหน้าที่ยืนยันไม่อนุญาตทำกิจกรรม เพราะ “เป็นพื้นผิวจราจร จะผิดกฎหมาย” และบอกให้นักกิจกรรมเดินขึ้นไปหลังรั้วกั้นบนฟุตบาทที่เจ้าหน้าที่ตั้งไว้คืนก่อนหน้า เจ้าหน้าที่บางส่วนได้ขัดขวางการติดตั้งอุปกรณ์ผ้าสีขาวผืนใหญ่ เพื่อใช้เป็นฉากกั้นฉายภาพโฮโลแกรมคณะราษฎรอ่านประกาศ 

กิจกรรม “อ่านประกาศคณะราษฎรอีกครั้ง ให้รู้กันไปเลยว่าใครเป็นเจ้าของประเทศ” โดยสหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนท.) และกลุ่มเยาวชนปลดแอก ที่สกายวอล์ค แยกปทุมวัน เจ้าหน้าที่แยกนักข่าวออกจากผู้ร่วมกิจกรรมให้ไปอยู่ในแนวพิเศษที่เจ้าหน้าที่กั้นไว้ให้ อ้างเหตุการระบาดของโควิด และระหว่างที่มีการอ่านประกาศคณะราษฎร พบว่ามีเจ้าหน้าที่เปิดแฟ้มคล้ายเป็นการดูภาพเพื่อระบุตัวผู้ร่วมกิจกรรมที่มีประวัติเคยร่วมกิจกรรมหรือชุมนุมมาก่อน หลังกิจกรรมสิ้นสุดกลุ่มผู้จัดยังถูกเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบมากกว่า 5 นาย ติดตามไปยังร้านอาหารและลานจอดรถ 

.

กิจกรรมที่สกายวอร์คปทุมวัน เจ้าหน้าที่พยายามกั้นรั้วแยกกลุ่มผู้ร่วมกิจกรรมกับสื่อมวลชนออกจากกัน และมีการติดตามผู้จัด แม้หลังกิจกรรมเสร็จสิ้น

.

ที่ขอนแก่น ตำรวจนอกเครื่องแบบเข้าสอบถามมาตรการป้องกันโควิดและข้อความในป้ายที่ผู้จัดกิจกรรมเตรียมมาว่า เกี่ยวข้องกับ 112 หรือไม่ ก่อนปล่อยให้กลุ่มผู้จัดเข้าไปจัดกิจกรรมบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย 

ที่จังหวัดเชียงใหม่ กลุ่มลานยิ้มได้ทำกิจกรรม Art Performance รำลึก 24 มิ.ย. ที่ลานประตูท่าแพ โดยมีเจ้าหน้าที่ทั้งในและนอกเครื่องแบบคอยติดตามจับตาถ่ายรูปมากกว่า 20 นาย ทั้งที่มีนักแสดงทำกิจกรรมราว 4-5 คนเท่านั้น

นอกจากนั้นในพื้นที่ซึ่งไม่ได้มีการประกาศจัดกิจกรรม ก็มีรายงานกรณีนักกิจกรรมถูกเข้าติดตามและสอบถามเรื่องกิจกรรม 24 มิ.ย. ด้วย ได้แก่ ประเสริฐ หงวนสุวรรณ นักกิจกรรมในจังหวัดแพร่ ได้ถูกเจ้าหน้าที่หลายฝ่ายติดต่อทั้งเฟสบุ๊กส่วนตัว ไลน์และโทรศัพท์ ทั้งยังมาเฝ้าใกล้บ้านพัก อ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่สันติบาลต้องการสอบถามข้อมูลและถ่ายภาพเพื่อรายงาน “นาย” 

.

กิจกรรมแสดงละครที่ลานประตูท่าแพ จังหวัดเชียงใหม่ มีเจ้าหน้าที่เข้าติดตามมากกว่า 20 นาย โดยมีผู้แสดงละครราว 4-5 คน

.

กิจกรรมเสร็จ แต่การคุกคามยังไม่จบ: จับตาสถานการณ์หลังผ่านเดือน มิ.ย.

ทันทีที่กิจกรรมรำลึกวันแห่งประวัติศาสตร์จบลง ในหลายพื้นที่ก็ปรากฏการติดตามและคุกคามผู้ออกมาทำกิจกรรม หรือปรากฏข่าวการหาทางดำเนินคดี รวมทั้งรองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติเองก็ให้สัมภาษณ์บีบีซีไทยว่า ขณะนี้ฝ่ายกฎหมายและพนักงานสอบสวนที่เกี่ยวข้องกำลังพิจารณาว่า กิจกรรมวันครบรอบ 24 มิถุนา ที่จัดทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดอีก 15-16 จังหวัด มีส่วนใดที่ละเมิดกฎหมายข้อใดบ้าง 

ในกรุงเทพฯ กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย ผู้จัดกิจกรรม “ลบยังไงก็ไม่ลืม” ทราบว่าตำรวจจะนำคลิปคำประกาศคณะราษฎรไปถอดเทปว่า เข้าข่ายความผิดใด เช่นเดียวกับกิจกรรมที่สะพานเสรีประชาธิปไตย จ.อุบลฯ ที่มีการอ่านประกาศคณะราษฎร ซึ่งมีข่าวว่า เจ้าหน้าที่มีการสืบค้นกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาทางดำเนินคดี 112 กับแกนนำทั้งหมด 

เจ้าหน้าที่ตำรวจในอำเภอภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ หลายนายยังไปพบนักกิจกรรมกลุ่มที่เคยจัดแฟลชม็อบ “ภูเขียวจะไม่ทน” รวม 2 คน  เพื่อสอบถามว่าใครเป็นคนนำป้ายข้อความและภาพหมุดคณะราษฎรจำลองไปติดที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อทั้งสองปฏิเสธว่าไม่รู้ ตำรวจยังบอกให้หาคนที่แปะกระดาษดังกล่าวมารับผิดชอบด้วย 

.

ป้ายข้อความจากประกาศคณะราษฎรและหมุดคณะราษฎรซึ่งพบที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จังหวัดชัยภูมิ ก่อนที่ในวันถัดมาจะมีเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าติดตามกลุ่มนักศึกษาที่เคยทำกิจกรรมแฟลชม็อบ อ้างให้หาผู้ติดป้ายมารับผิดชอบ

.

ลักษณะการติดตามกลุ่มผู้ทำกิจกรรมเริ่มปรากฏให้เห็นตั้งแต่กลุ่มนักศึกษา สนท. ถูกนอกเครื่องแบบติดตามออกจากพื้นที่จัดกิจกรรมบริเวณสกายวอล์คแยกปทุมวันไปที่ร้านอาหาร ทั้งยังขับรถติดตาม คืนเดียวกัน ศิลปินสตรีตอาร์ต Headache Stencil ซึ่งทำการฉายสไลด์ภาพบุคคลและภาพหมุดคณะราษฎรบนกำแพง ก็ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจำนวน 4 นาย เดินทางไปเฝ้าที่คอนโดฯ ที่พักเป็นเวลาหลายชั่วโมง จนทำให้เขาต้องตัดสินใจไปพักที่อื่นในคืนนั้น 

เช้าวันต่อมา หลังกิจกรรมเสวนาของสหพันธ์เกษตรภาคใต้ที่ชุมชนคลองไทรพัฒนา จ.สุราษฎร์ธานี มีรายงานว่า นายอำเภอชัยบุรี พร้อมเจ้าหน้าที่อีก 4 นาย ได้เดินทางเข้าไปที่ชุมชนคลองไทรฯ ระบุว่าเป็นการมาตรวจเยี่ยมตามปกติ แต่ก็เป็นครั้งแรกที่นายอำเภอคนนี้เดินทางมาที่ชุมชนดังกล่าว และที่สงขลา มีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบ 3 นาย ติดตามไปที่บ้าน 1 ในกลุ่มนักศึกษาที่ทำกิจกรรมขัดทำความสะอาดอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยที่คลองหวะ อ.หาดใหญ่

จากการคุกคามผู้ทำกิจกรรมที่ปรากฏให้เห็น โดยเฉพาะคำให้สัมภาษณ์ของรองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ทำให้ยังต้องติดตามจับตาดูปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่รัฐในช่วงเวลาต่อจากนี้อีกว่า จะมีการใช้ทั้งกฎหมายและวิธีการที่ไม่เป็นไปตามกฎหมายตอบโต้อย่างไรต่อประชาชนที่ออกมาแสดงออกเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย และแสดงความ “ไม่ลืม” ประวัติศาสตร์การก่อกำเนิดประชาธิปไตยในประเทศไทย ทั้งที่รัฐไม่อยากให้จำ

 

 

X