มรดกที่ถูกอุ้มหาย ประชาธิปไตยที่ถูกจองจำ: ประมวลคดี-การคุกคาม ‘ผู้ตามหา’ มรดกคณะราษฎร

24 มิ.ย. 2563 ครบรอบ 88 ปี การเปลี่ยนแปลงการการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เป็นระบอบประชาธิปไตย แม้ประชาธิปไตยไทยยังคงลุ่มๆ ดอนๆ และยังอยู่ภายใต้คลื่นลม แต่คณะราษฎรก็ได้ทิ้งมรดกซึ่งย้ำเตือนถึงความเปลี่ยนแปลงที่ได้เกิดขึ้นแล้วให้ประชาชนรุ่นหลังได้พบเจอ ทั้งอนุสาวรีย์ สิ่งก่อสร้าง สิ่งของต่างๆ และสิ่งที่อยู่ในจิตสำนึก หรือความรู้สึกนึกคิดของผู้คนจนถึงปัจจุบัน

นับจากปี 2560 อาจกล่าวได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของปรากฎการณ์ “อุ้มหาย” และทุบทำลายมรดกสิ่งปลูกสร้างที่เกี่ยวข้องกับคณะราษฎรครั้งใหญ่ ซึ่งยังดำเนินต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน โดยเมื่อราววันที่ 1 เมษายน 2560 หมุดคณะราษฎร ซึ่งเป็นหลักบอกตำแหน่งที่พระยาพหลพลยุหเสนาอ่านประกาศคณะราษฎรฉบับที่ 1 ในวันเปลี่ยนแปลงการปกครอง ได้ล่องหนหายไปจากบริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า

ไม่เพียงเท่านั้น คืนวันที่ 28 ธันวาคม 2561 มีประชาชนได้พบเห็นการเคลื่อนย้ายอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ หรือ “อนุสาวรีย์ปราบกบฏ” ซึ่งอุทิศให้กับการปราบกบฏบวรเดชเมื่อปี 2476 ที่เคยตั้งอยู่บริเวณวงเวียนหลักสี่ โดยอ้างว่าเป็นการเคลื่อนย้ายเพื่อการก่อสร้างสถานีรถไฟฟ้าของกรุงเทพมหานคร จนปัจจุบันอนุสาวรีย์ดังกล่าวก็ไม่ถูกพบเห็นอีกเลย และไม่ทราบแน่ชัดว่าถูกย้ายไปไว้ที่ใด

กระทั่งล่าสุดในปี 2563 ยังปรากฎว่าหน่วยงานภาครัฐได้มีการเปลี่ยนแปลงป้ายชื่อสถานที่ ซึ่งมีความเกี่ยวข้องหรือสื่อถึงคณะราษฎร อาทิ ค่ายพหลโยธิน ค่ายพิบูลสงคราม เป็นชื่ออื่นๆ

นับตั้งแต่การหายไปของหมุดคณะราษฎร ต่อเนื่องมาถึงอนุสาวรีย์และชื่อเสียงเรียงนามที่มีความเกี่ยวข้องกับคณะราษฎร ได้มีประชาชนจำนวนหนึ่งพยายามลุกขึ้นออกตามหาสิ่งเหล่านั้น ทั้งการติดตามหาตัว “ผู้บังคับอุ้มหาย” และดำเนินการทวงคืนวัตถุทางประวัติศาสตร์เหล่านั้นกลับคืน แต่ไม่เพียงไม่ได้รับความร่วมมือจากเจ้าหน้าที่ของรัฐในการตามหาวัตถุเหล่านั้น กลับปรากฎว่าในหลายกรณี ประชาชนผู้ออกมาติดตามตั้งคำถามถึงการสูญหายของวัตถุเหล่านั้น ได้ถูกเจ้าหน้าที่ปิดกั้น จับกุม ควบคุมตัวในค่ายทหาร หรือกระทั่งดำเนินคดีจากความพยายามดังกล่าวเสียเอง

 

ภาพขณะเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวเอกชัย หงส์กังวานไป มทบ.11

การจับกุมผู้ติดตามหาหมุดคณะราษฎรเข้าค่ายทหาร

หลังจากข่าวการหายไปของหมุดคณะราษฎร พร้อมการปรากฏแทนที่ของ “หมุดหน้าใส” ในเดือนเมษายน 2560 ได้มีประชาชนหลายกลุ่มพยายามติดตามสืบหา แต่กลับถูกควบคุมตัวไปค่ายทหาร ในช่วงที่ยังมีคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติอยู่ ได้แก่ กรณีของศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เมื่อวันที่ 18 เม.ย. 60 ได้เดินทางไปยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ขอให้มีการสอบสวนการเปลี่ยนแปลงหมุดคณะราษฎร และนำหมุดกลับมาที่เดิม ผ่านศูนย์รับเรื่องร้องเรียนทำเนียบรัฐบาล แต่ได้ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารประมาณ 6-7 นาย เข้าควบคุมตัวจากศูนย์บริการประชาชน ไปยังกองบัญชาการกองพลที่ 1 รักษาพระองค์  ก่อนได้รับการปล่อยตัวหลังถูกควบคุมตัวนานกว่า 10 ชั่วโมง

กรณีของบุญสิน หยกทิพย์ ฝ่ายประสานงานชมรมธรรมาธิปไตยแห่งชาติ เดินทางเข้าแจ้งความร้องทุกข์ที่ สน.ดุสิต เพื่อลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐาน ให้ช่วยติดตามหมุดคณะราษฎรที่หายไป แต่หลังเจ้าหน้าที่ตำรวจสอบปากคำเขา ได้มีเจ้าหน้าที่ทหารมาควบคุมตัวบุญสินไปที่มณฑลทหารบกที่ 11 โดยไม่มีข้อมูลหลังจากนั้น

 

ภาพหมุดคณะราษฎรจำลองของเอกชัย หงส์กังวาน

ความพยายามติดตาม ‘หมุด’ ของ ‘เอกชัย’: ถูกคุมตัวเข้าค่ายทหาร 2 ครั้ง-ศาลปกครองไม่รับฟ้อง

กรณีของเอกชัย หงส์กังวาน นักกิจกรรมและอดีตนักโทษการเมือง เมื่อวันที่ 25 เม.ย. 60 เขาได้เดินทางไปยังทำเนียบรัฐบาล เพื่อยื่นคำร้องให้รื้อถอน “หมุดหน้าใส” ที่ถูกนำมาติดตั้งไว้แทนหมุดคณะราษฎร แต่กลับถูกเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจล้อมจับ โดยอ้างว่าจะพาไป สน.ลาดพร้าว แต่กลับถูกนำตัวไปที่ มทบ.11 ก่อนจะได้รับการปล่อยตัวในเวลาประมาณ 16.30 น. โดยต้องลงชื่อในเงื่อนไขการปล่อยตัวของ คสช. ว่าจะไม่เดินทางออกนอกประเทศก่อนได้รับอนุญาต และไม่เคลื่อนไหวทางการเมืองอีก หากฝ่าฝืนเงื่อนไขดังกล่าวจะถูกดำเนินคดี

จากนั้นวันที่ 24 มิ.ย. 60 เอกชัยได้พยายามนำหมุดคณะราษฎรจำลองไปติดตั้งกลับคืน ที่เดิมบริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า แต่กลับถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าจับกุมตัว และควบคุมตัวเขาไปที่ มทบ.11 อีก ตั้งแต่ช่วงเช้าจนถึงเย็น พร้อมยึดหมุดคณะราษฎรจำลอง โดยไม่มีการอ้างกฎหมายใดๆ ในการควบคุมตัวและยึดหมุดจำลองไป

หลังจากนั้น เอกชัยยังได้พยายามยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองกลาง โดยฟ้องกรุงเทพมหานครและผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เรื่องการจงใจละเลยต่อหน้าที่ตามกฎหมายกำหนดในการดูแลหมุดคณะราษฎร และร้องขอให้ศาลมีคำพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องได้ดำเนินการเคลื่อนย้าย “หมุดหน้าใส” ออกไป และให้ดำเนินการจำลองหมุดคณะราษฎรนำไปติดตั้งไว้ที่ตำแหน่งเดิม ซึ่งศาลปกครองกลางมีคำสั่งไม่รับฟ้องของเอกชัย ด้วยเหตุผลว่าแม้คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลปกครอง แต่ศาลเห็นว่าเอกชัยไม่ใช่ผู้ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหาย ทำให้ไม่มีสิทธิฟ้องคดีนี้ต่อศาลปกครอง

 

วัฒนา เมืองสุข (ภาพจาก iLaw)

ผู้ถูกดำเนินคดีจากการโพสต์และแชร์ติดตามหาหมุดคณะราษฎร

ไม่เพียงการพยายามปิดกั้นการพยายามต่างๆ ในพื้นที่สาธารณะ ในโลกออนไลน์เอง ผู้โพสต์ตั้งคำถามต่อการหายไปของหมุดคณะราษฎรยังเผชิญกับคดีความติดตามมาอีกด้วย

กรณีของวัฒนา เมืองสุข อดีต ส.ส. พรรคเพื่อไทย ได้โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวเมื่อวันที่ 16 เม.ย. 60 มีใจความว่า หมุดของคณะราษฎรเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ของการอภิวัฒน์สยาม เมื่อ 24 มิ.ย. 2475 ผู้นำหมุดออกไปมีความผิดฐานลักทรัพย์ในเวลากลางคืน ส่วนข้อความบนหมุดใหม่ ผู้ทำมีความผิดฐานปลอมเอกสารราชการ ตามมาตรา 265 เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงต้องดำเนินคดีและไปขุดเอาหมุดที่ทำปลอมออกมาเพื่อเป็นของกลางในคดีอาญา

จากการโพสต์ดังกล่าวของวัฒนา ตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) ได้เข้าร้องทุกข์กล่าวโทษเขาในข้อกล่าวหาตามมาตรา 116 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 ซึ่งภายหลังจากต่อสู้คดีเป็นเวลากว่า 1 ปีครึ่ง  ปลายปี 2561 ศาลอาญาได้มีคำพิพากษายกฟ้อง โดยเห็นว่าข้อความที่วัฒนาโพสต์ เป็นเพียงการการแสดงความคิดเห็นทางวิชาการด้านกฎหมาย และเป็นการติชมการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐโดยสุจริตย่อมได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ ไม่มีข้อบ่งชี้ว่าจำเลยได้ยุยงปลุกปั่นชักชวนให้ประชาชนตื่นตระหนก ออกมาชุมนุมก่อความวุ่นวายกระทบหรือกระด้างกระเดื่องต่อความมั่นคงของรัฐแต่อย่างใด

นอกจากนั้น ยังมีกรณีของประชาชน 5 ราย ที่ถูกจับกุมจากบ้านพักในพื้นที่ต่างๆ และนำตัวมาควบคุมไว้ใน มทบ.11 เป็นเวลา 5 วัน จากการแชร์และแสดงความคิดเห็นในโพสต์เฟซบุ๊กของ “Somsak Jeamteerasakul” ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับหมุดคณะราษฎร และสถาบันกษัตริย์ในช่วงเดือนเมษายน 2560 ก่อนทั้งหมดจะถูกนำตัวมาฝากขังต่อศาลอาญาในข้อกล่าวหาตามมาตรา 112 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ โดยผู้ต้องหาทั้ง 5 รายไม่ได้รับการประกันตัว  จนกระทั่งได้ถูกฝากขังจนครบ 7 ผัด เป็นเวลา 84 วันแล้ว อัยการได้มีคำสั่งไม่ฟ้องคดี ทำให้ทั้งห้าคนได้รับการปล่อยตัวออกมาจากเรือนจำและคดีสิ้นสุดลง

 

ภาพกาณฑ์ พงษ์ประภาพันธ์ หลังได้รับโทรศัพท์มือถือคืนจากตำรวจสน.บางเขน

ผู้ติดตามอนุสาวรีย์ปราบกบฏถูกคุมตัวไปสถานีตำรวจ ยึดมือถือไปตรวจสอบ

ไม่เพียงหมุดคณะราษฎร ผู้ติดตามการเคลื่อนย้ายอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ หรืออนุสาวรีย์ปราบกบฏที่วงเวียนบางเขน ยังเผชิญกับการถูกควบคุมตัวเช่นกัน ได้แก่ กรณีของกาณฑ์ พงษ์ประภาพันธ์ นักกิจกรรม และบัณฑิตจากคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 28 ธ.ค. 61 เขากับเพื่อนได้เดินทางไปติดตามการย้ายอนุสาวรีย์ดังกล่าว ซึ่งไม่ได้มีการประกาศแจ้งล่วงหน้า และไม่ทราบแน่ชัดว่าเกิดจากการดำเนินการของหน่วยงานใด แต่ได้เริ่มมีผู้พบเห็นการรื้อถอนและเคลื่อนย้าย จึงมีข่าวเปิดเผยในโลกออนไลน์

แต่ระหว่างที่กาณฑ์ทำการถ่ายรูปและไลฟ์ถ่ายทอดสดการดำเนินการดังกล่าวทางเฟซบุ๊กส่วนตัว กลับมีเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารเข้ามาทำการตรวจสอบ และขอควบคุมตัวทั้งสองคนไปยัง สน.บางเขน โดยระบุสาเหตุว่าการไลฟ์ถ่ายทอดสดการเคลื่อนย้ายอนุสาวรีย์นั้น “น่าจะใช้ข้อมูล ภาพในโทรศัพท์ไปใช้ในทางที่อาจก่อให้เกิดภัยต่อความมั่นคง ซึ่งเป็นความผิดตามกฎหมายได้” พร้อมทั้งทำการตรวจยึดโทรศัพท์ทั้งสองคน และลบภาพการเคลื่อนย้ายอนุสาวรีย์ออกจากโทรศัพท์

หลังจากการพูดคุยที่สถานีตำรวจ ตำรวจยังได้นัดทั้งสองคนมารับโทรศัพท์คืนในเย็นวันถัดมา แต่เมื่อกาณฑ์และเพื่อนได้ไปพบตำรวจที่สน.บางเขนอีกครั้ง ทางตำรวจได้ให้ทั้งสองเปิดมือถือตรวจสอบอีกครั้งว่ามีการติดต่อพูดคุยเพื่อล้มล้างใดๆ หรือไม่ เมื่อทั้งสองคนยินยอมให้มีการตรวจสอบและไม่พบการกระทำความผิดใด เจ้าหน้าที่จึงได้คืนโทรศัพท์ให้ แต่อนุสาวรีย์ปราบกบฏดังกล่าวก็สูญหายไปในที่สุด

 

ภาพซ้ายคือภาพที่ปรากฎในโซเชียลเน็ตเวิร์คแสดงให้เห็นว่ามีการดำเนินการอะไรบางอย่างเกี่ยวกับอนุสาวรีย์จอมพล ป. จนมีข่าวลือว่าจะรื้อ / ภาพขวา ภาพถ่ายอนุสาวรีย์จอมพล ป. ถ่ายเมื่อวันที่ 23 ม.ค.2563 เวลา 15.30 น. (ภาพจากประชาไท)

นักศึกษาถูกห้ามถ่ายรูปอนุสาวรีย์ จอมพล ป. ที่มีข่าวจะรื้อถอน

ล่าสุด ยังมีกรณีที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้รับรายงานว่า เมื่อวันที่ 24 ม.ค. 63 นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์รายหนึ่ง ได้ทราบข่าวว่าอาจจะจะมีการรื้อถอนอนุสาวรีย์จอมพล.ป. พิบูลสงคราม ที่ตั้งอยู่บริเวณด้านหน้าอาคารสถาบันวิชาการป้องกันประเทศ บก.สปท. จึงได้เดินทางไปดูอนุสรณ์ดังกล่าว แต่เขาได้ถูกเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยห้ามไม่ให้เข้าไปภายในสถานที่ดังกล่าว โดยระบุเพียงว่า “นาย” สั่งไม่ให้ใครเข้าไปภายใน

เมื่อเข้าไปดูไม่ได้ นักศึกษารายดังกล่าวจึงได้ทำการถ่ายรูปบริเวณด้านหน้ารั้วของสถาบันวิชาการป้องกันประเทศ จากนั้นเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยจึงได้เดินมาถ่ายรูปเขาไว้ นักศึกษาคนดังกล่าวจึงถ่ายรูปเจ้าหน้าที่ไว้ด้วย แต่เขากลับถูกเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยอีกรายเข้ามากระชากคอเสื้อ พร้อมสั่งให้ลบภาพที่ได้ถ่ายไว้ออกไปด้วย เขาจึงต้องยินยอมเดินทางกลับไป

กระทั่งวันที่ 26 ม.ค. มีรายงานว่าอนุสาวรีย์จอมพล ป. ดังกล่าวถูกรื้อถอนออกไปแล้ว แต่ไม่ทราบว่าย้ายไปที่ใด

 

การอุ้มหายอนุสาวรีย์และสิ่งของ จะลบประวัติศาสตร์ได้ฤๅ?  

จนถึงปัจจุบัน มีรายงานอนุสาวรีย์ สถานที่ หรือชื่อเสียงเรียงนาม ซึ่งเปรียบเสมือนมรดกของคณะราษฎรได้ถูกรื้อถอน เปลี่ยนแปลง หรือ “ถูกอุ้ม” สูญหายไป เท่าที่ประชาชนทำการติดตามและรวบรวมได้จำนวน 9 รายการ ได้แก่ ศาลาเฉลิมไทย, อนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญจังหวัดบุรีรัมย์, หมุดคณะราษฎร, อนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ, อนุสาวรีย์จอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่สถาบันวิชาการป้องกันประเทศ, อนุสาวรีย์พระยาพหลฯ ที่ศูนย์การทหารปืนใหญ่ จังหวัดลพบุรี, ป้ายชื่อบ้านจอมพล ป. ที่จังหวัดเชียงราย, ชื่อค่ายพหลโยธิน ที่ถูกเปลี่ยนเป็น “ค่ายภูมิพล” และค่ายพิบูลสงคราม ที่ถูกเปลี่ยนเป็น “ค่ายสิริกิติ์” โดยในจำนวนนี้ 2 รายการแรกเกิดขึ้นก่อนปี 2560 แต่ 7 รายการหลังล้วนเกิดขึ้นในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา

ทั้งนี้ ยังคงเป็นที่น่าสงสัยและต้องจับตามองว่าเหตุใดหน่วยงานของรัฐจึงได้มีนโยบายที่เปรียบเสมือนการ “อุ้มหาย” ร่องรอยทางประวัติศาสตร์ของคณะราษฎรเหล่านี้ หรือไม่ได้มีความพยายามในการติดตามการสูญหายไปแต่อย่างใด มิหนำซ้ำบางหน่วยงานยังพยายามปิดกั้น คุกคาม และดำเนินคดีประชาชนที่พยายามติดตามมรดกเหล่านี้เสียเอง ราวกับพยายามลบล้างช่วงประวัติศาสตร์แห่งการเปลี่ยนแปลงนี้ออกไปจากสังคมไทย

คำถามสำคัญถัดมา คือประวัติศาสตร์นั้นหาใช่เพียงจารึกอยู่บนสิ่งของและสถานที่เพียงอย่างเดียว หากยังสัมพันธ์กับความคิด ความรู้ เรื่องราว หรืออุดมการณ์ซึ่งเป็นนามธรรม การทำลายมรดกในแง่รูปธรรม ถึงที่สุดแล้ว จะสามารถทำลายมรดกในแง่นามธรรมของคณะราษฎรลงไปได้ด้วยหรือไม่

 

X