ฟ้อง 112 “โตโต้” หลังปราศรัย “พระราชอํานาจกษัตริย์” ม็อบ22สิงหา63 ที่อุบลฯ ก่อนศาลให้ประกันไม่กำหนดเงื่อนไข

2 ก.ย. 2564 พนักงานอัยการจังหวัดอุบลราชธานีเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง “โตโต้” ปิยรัฐ จงเทพ แกนนำมวลชนอาสา We Volunteer หรือ “วีโว่” ในฐานความผิด ร่วมกันหมิ่นประมาทกษัตริย์, ร่วมกันทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวิธีใดๆ เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบ หรือเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมาย และร่วมกันนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, 116(2)(3) และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(3) จากการปราศรัยประเด็น “พระราชอํานาจของพระมหากษัตริย์กับบทบาทของกองทัพไทย” และข้อเสนอปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ในการชุมนุม #เด็กพูดผู้ใหญ่ฟัง ที่ศาลหลักเมืองอุบลฯ เมื่อวันที่ 22 ส.ค. 2563 และมีการไลฟ์สดในเฟซบุ๊กเพจ “คณะอุบลปลดแอก” 

หลังศาลรับฟ้อง ทนายความได้ยื่นประกันด้วยเงินสด 200,000 บาท ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ประกัน วงเงินประกัน 100,000 บาท โดยไม่ได้กำหนดเงื่อนไขอื่นใด ทำให้ปิยรัฐได้รับการปล่อยตัว เดินทางกลับในเวลาประมาณ 11.30 น. โดยศาลนัดคุ้มครองสิทธิในวันที่ 14 ธ.ค. 2564 และนัดตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 25 ม.ค. 2565

อัยการยื่นฟ้องทันที แม้เป็นนัดส่งตัวให้อัยการ แต่ไม่ค้านการประกันตัว 

วันนี้ (2 ก.ย. 2564) เวลา 9.30 น. ปิยรัฐเดินทางจากกรุงเทพฯ เพื่อไปพบพนักงานสอบสวนตามที่พนักงานสอบสวนนัดส่งตัวผู้ต้องหาทั้งสอง คือ ปิยรัฐ และ “เพนกวิน” พริษฐ์ ชิวารักษ์ พร้อมสำนวนการสอบสวนให้อัยการ ซึ่งได้ขอเลื่อนมาจากเมื่อวันที่ 5 ส.ค. ที่ผ่านมา ขณะที่พริษฐ์ถูกขังในคดีชุมนุมหน้า บก.ตชด.ภาค 1 เมื่อวันที่ 2 ส.ค. 2564 และคดี #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร โดยยังรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลราชทัณฑ์ หลังติดโควิดระหว่างการถูกขังอยู่ที่เรือนจำชั่วคราวรังสิต

อย่างไรก็ตาม พนักงานสอบสวนได้นัดหมายให้ปิยรัฐไปที่ศาลจังหวัดอุบลราชธานี ระบุว่า อัยการจะยื่นฟ้องเลยในวันนี้ 

ประมาณ 10.00 น. เมื่ออัยการเดินทางมายื่นฟ้องปิยรัฐ และศาลรับฟ้อง ปิยรัฐถูกนำตัวไปที่ห้องควบคุมตัวเพื่อรอยื่นประกันซึ่งอยู่ใต้ถุนศาล โดยทนายความได้ยื่นคำร้องขอประกันตัวในระหว่างพิจารณาคดี เสนอหลักประกันเป็นเงินสด 200,000 บาท ระบุเหตุผลโดยสรุปว่า พฤติการณ์ในคดีนี้เป็นเพียงการใช้เสรีภาพในการแสดงความเห็น จำเลยมีเจตนาเพียงแสดงความเห็นวิพากษ์วิจารณ์เพื่อให้เกิดการปฏิรูปสถาบันหลักของชาติให้ดำรงอยู่ในสังคมไทยสืบเนื่องต่อไป ไม่ได้มีพฤติการณ์ร้ายแรง โดยจำเลยขอปฏิเสธข้อกล่าวหาที่โจทก์ฟ้องทุกประการ และประสงค์ต่อสู้คดีเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ อีกทั้งจำเลยไม่ได้มีพฤติการณ์หลบหนี ก่อนหน้านี้จำเลยก็ถูกฟ้องในฐานความผิดเดียวกันนี้ที่ศาลจังหวัดกาฬสินธุ์ และศาลได้อนุญาตให้ประกันมาแล้ว 

ต่อมา ศาลได้อ่านและอธิบายคำฟ้องโดยสรุปให้ปิยรัฐฟังผ่านวีดิโอคอนเฟอเรนซ์จากห้องเวรชี้  พร้อมทั้งถามคำให้การเบื้องต้น ปิยรัฐให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา ศาลจึงนัดคุ้มครองสิทธิในวันที่ 14 ธ.ค. 2564 และตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 25 ม.ค. 2565 

คำฟ้องของอัยการไม่คัดค้านการประกันตัว ระบุว่าให้อยู่ในดุลพินิจของศาล

เวลา 11.10 น. ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ประกันโดยให้วางหลักประกันเป็นเงิน 100,000 บาท โดยไม่ได้กำหนดเงื่อนไขอื่นใด หลังนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยอุบลฯ เป็นนายประกันวางเงินประกันจากกองทุนราษฎรประสงค์ ปิยรัฐก็ได้รับการปล่อยตัว 

คดีนี้ซึ่งสืบเนื่องมาจากการชุมนุม #เด็กพูดผู้ใหญ่ฟัง ที่ศาลหลักเมื่องอุบลฯ เมื่อวันที่ 22 ส.ค. 2563 สนับสนุนข้อเรียกร้องของเยาวชนปลดแอก และแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม สภ.เมืองอุบลฯ ได้ดำเนินคดีผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องรวม 4 ราย ได้แก่ ฉัตรชัย แก้วคำปอด ผู้แจ้งการชุมนุม, วิศรุต สวัสดิ์วร พิธีกร 2 นักกิจกรรม คณะอุบลปลดแอก, พริษฐ์และปิยรัฐ ผู้ปราศรัย โดยในชั้นสอบสวน พนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อกล่าวหาทั้งสี่เพียงมาตรา 116 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 

ต่อมา เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ ประกาศดำเนินการบังคับใช้กฎหมายทุกมาตรากับผู้ชุมนุม พนักงานสอบสวนจึงได้แจ้งข้อกล่าวหาตามมาตรา 112 เพิ่มเติมกับพริษฐ์ ซึ่งปราศรัยเรื่อง “กษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ” ในการชุมนุมดังกล่าว อีกทั้งเมื่อพนักงานสอบสวนส่งสำนวนการสอบสวนให้อัยการ พนักงานอัยการจังหวัดอุบลฯ ได้ส่งสำนวนให้อัยการสูงสุดพิจารณา สำนักงานอัยการสูงสุดมีความเห็นให้แจ้งข้อกล่าวหามาตรา 112 กับปิยรัฐอีกคน

ทั้งนี้ อัยการได้ยื่นฟ้องฉัตรชัยและวิศรุตไปก่อนหน้านี้แล้วเมื่อวันที่ 11 พ.ย. 2563 และยื่นฟ้องปิยรัฐในวันนี้ โดยไม่ได้ยื่นฟ้องพริษฐ์มาพร้อมกัน แม้ว่าจะสามารถทำได้ เนื่องจากพริษฐ์ถูกคุมขังอยู่ในอำนาจของศาลอาญาและศาลจังหวัดธัญบุรีอยู่แล้ว 

     ดูฐานข้อมูลคดีนี้>> คดี 112,116 พริษฐ์-ปิยรัฐ ชุมนุมอุบลฯ 22 สิงหา อีก 2 คน ถูกฟ้อง 116

.

อัยการบรรยายฟ้องระบุ คำปราศรัยของโตโต้เรื่อง “พระราชอํานาจของพระมหากษัตริย์กับบทบาทของกองทัพไทย” เป็นความเท็จและข่มขู่รัชกาลที่ 10

คำฟ้องของอัยการมีเนื้อหาโดยสรุปดังนี้

เมื่อวันที่ 22 ส.ค. 2563 จําเลยกับพริษฐ์ ชิวารักษ์ ซึ่งยังไม่ได้ตัวมาฟ้อง ได้ร่วมกันหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ และจําเลยกับพวกคือ ฉัตรชัยและวิศรุต ซึ่งถูกฟ้องเป็นจําเลยแล้วในคดีของศาลนี้ ได้ร่วมกันกระทําให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวิธีใดๆ อันมิใช่เป็นการกระทําภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบ หรือเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมาย และจําเลยกับพวกดังกล่าวแล้วได้ร่วมกันนําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงตามประมวลกฎหมายอาญา ด้วยการร่วมกันโพสต์ข้อความและภาพในเฟซบุ๊กชื่อเพจคณะอุบลปลดแอก – Ubon New Gen Democracy นัดหมายชุมนุมที่ศาลหลักเมือง ระบุว่า พริษฐ์ได้รับเชิญมาปราศรัยด้วย

หลังจากนั้นได้มีประชาชนประมาณ 200 คน ได้ร่วมกันไปชุมนุมฟังปราศรัย ซึ่งจําเลยกับพริษฐ์ได้ร่วมกันพูดปราศรัยหมิ่นประมาท ดูหมิ่น และแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อรัชกาลที่ 10 ด้วยการพูดใส่ความและถ่ายทอดภาพและเสียงคําปราศรัยทางเพจ คณะอุบลปลดแอก ให้คนจํานวนมากที่ชุมนุมอยู่และประชาชนจํานวนมากซึ่งเป็นบุคคลที่สามได้รับฟัง

โดยคําพูดปราศรัยใส่ความของจําเลยกับพริษฐ์ดังกล่าว น่าจะทําให้รัชกาลที่ 10 เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง และเป็นคําพูดปราศรัยในลักษณะที่ไม่บังควรต่อสถาบันกษัตริย์ ยุยงปลุกปั่นเพื่อให้ประชาชนละเมิดกฎหมาย เกิดความกระด้างกระเดื่องถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบ 

จากนั้นโจทก์ได้ยกคำปราศรัยบางตอนของพริษฐ์ ซึ่งกล่าวถึงปัญหาของรัฐธรรมนูญ มาตรา 6 ที่บัญญัติว่า พระมหากษัตริย์อยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพและสักการะ ผู้ใดจะล่วงละเมิดหรือฟ้องร้องมิได้ ทำให้ประชาชนวิพากษ์วิจารณ์ไม่ได้ และกษัตริย์อยู่เหนือกฎหมาย ทำผิดได้โดยไม่ถูกฟ้องร้อง รวมทั้งกล่าวถึงข้อเสนอในการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ 10 ข้อ

และยกคำปราศรัยบางตอนของปิยรัฐ ซึ่งกล่าวถึงพระราชอํานาจของพระมหากษัตริย์กับบทบาทของกองทัพไทย โดยระบุว่า เป็นหัวใจสําคัญของปัญหาโครงสร้างการเมืองของไทย เนื่องจากมีบทบาทในการเซ็นรับรองรัฐประหารที่ผ่านมาในอดีต อีกทั้งมีการโอนย้ายกำลังพลและงบประมาณของกรมทหารราบที่ 11 และกรมทหารราบที่ 1 ให้เป็นส่วนราชการในพระองค์ ซึ่งที่ผ่านมามีบทบาทเป็นกำลังหลักในการรัฐประหาร พร้อมทั้งเสนอการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ โดยให้แยกพระราชอํานาจของพระมหากษัตริย์ออกจากกองทัพอย่างเด็ดขาดทั้งทางตรงและทางอ้อม 

โจทก์ระบุข้างท้ายว่า คําปราศรัยของจําเลยกับพวกเป็นการดูถูกเหยียดหยาม เสียดสี ประชดประชัน สบประมาท ก้าวร้าว จาบจ้วงรัชกาลที่ 10 ทําให้ประชาชนที่ได้ยินได้ฟังหลงชื่อว่าเป็นความจริงตามที่จําเลยกับพวกกล่าวอ้าง อันความเป็นเท็จ และเป็นการแสดงถึงความอาฆาตมาดร้ายด้วยการข่มขู่รัชกาลที่ 10 

โดยโจทก์ถือว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐาน ร่วมกันหมิ่นประมาทกษัตริย์, ร่วมกันทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวิธีใดๆ เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบ หรือเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมาย และร่วมกันนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, 116(2)(3) และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(3)

ท้ายคำฟ้อง อัยการได้แนบเอกสารการถอดคําปราศรัยพริษฐ์และปิยรัฐ ซึ่งถอดโดย จ.ส.อ.อภิชาติ ผิวผ่อง เจ้าหน้าที่ฝ่ายงานการข่าว กอ.รมน.จ.อุบลฯ

.

ภาพประจำเรื่องจากเฟซบุ๊ก Witsarut Sawatworn

X