เปิดข้อกล่าวหา ม.112 เยาวชน – ผู้แต่งคอสเพลย์ชุดไทย เหตุเดินพรมแดงม็อบแฟชั่นโชว์ที่สีลม

17 ธันวาคม 2563 – วันนี้ที่ สน.ยานนาวา ผู้ต้องหา 2 ราย ได้แก่ จตุพร แซ่อึง และ สายน้ำ (นามสมมติ) เยาวชนอายุ 16 ปี ได้เดินทางมารับทราบข้อกล่าวหาท่ามกลางมวลชนด้านหน้า สน. ที่เดินทางมาเพื่อให้กำลังใจ โดยทั้งคู่ถูกกล่าวหาว่า ร่วมกันกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, ฝ่าฝืนข้อกำหนดของ พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ, พ.ร.บ. โรคติดต่อฯ, พ.ร.บ. ชุมนุมฯ และ พ.ร.บ. ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงฯ จากการเข้าร่วมการชุมนุมที่สีลมเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2563 และได้แต่งกายด้วยชุดไทยและชุดเสื้อยืดเอวลอยเดินพรมแดงบริเวณด้านหน้าวัดแขก ถนนสีลม โดยในคดีนี้มีนางสาว วริษนันท์ ศรีบวรธนกิตติ์ แอดมินเพจ #เชียร์ลุง เป็นผู้กล่าวหา ภายหลังจากรับทราบข้อกล่าวหา ทั้งคู่ได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา

ในส่วนของจตุพร ผู้ต้องหาประสงค์ขอยื่นคำให้การเป็นหนังสือภายในวันที่ 11 มกราคม 2564 โดยพนักงานสอบสวนนัดหมายส่งตัวพร้อมสำนวนการสอบสวนให้อัยการในวันที่ 20 มกราคม 2564 และได้ปล่อยตัวผู้ต้องหาโดยไม่ได้นำตัวไปยื่นคำร้องขอฝากขังต่อศาลแต่อย่างใด

ขณะที่ในส่วนของสายน้ำ หลังจากเสร็จกระบวนการแจ้งข้อกล่าวหาและสอบปากคำแล้ว พ.ต.ท.อินศร อุดติ๊บ พนักงานสอบสวนได้นำตัวสายน้ำไปยังศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง เพื่อให้ศาลตรวจสอบการจับกุมและการแจ้งข้อกล่าวหาว่าเป็นไปโดยชอบหรือไม่ นอกจากนี้ พนักงานสอบสวนยังได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลออกหมายควบคุมตัวสายน้ำ โดยอ้างว่ายังมีพยานบุคคลที่ยังสอบสวนไม่เสร็จ และเกรงว่าผู้ต้องหาจะไปกระทำความผิดอีก ที่ปรึกษากฎหมายจึงได้ยื่นคำร้องคัดค้านการออกหมายควบคุมตัวผู้ต้องหา โดยให้เหตุผลว่า การแสดงออกของผู้ต้องหาเป็นสิ่งที่สามารถกระทำได้ตามหลักการประชาธิปไตย และได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญและมาตรฐานสิทธิมนุษยชนสากล

ต่อมา ศาลให้ออกหมายควบคุมตัว เนื่องจากเป็นคดีที่มีโทษสูงเกิน 10 ปี ที่ปรึกษากฎหมายจึงได้ยื่นคำร้องขอประกันตัว โดยศาลกำหนดวงเงินประกันที่ 8,000 บาท ครอบครัวได้ใช้ตำแหน่ง ส.ส. ของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล เป็นหลักทรัพย์ประกันแทนเงินสด ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวผู้ต้องหาในชั้นนี้ ทำให้สายน้ำได้รับการปล่อยตัวในช่วงเย็น แต่เขายังต้องไปรายงานตัวที่สถานพินิจต่อไปในอนาคตตามที่ศาลกำหนด

อย่างไรก็ตาม ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนตั้งข้อสังเกตในกรณีของสายน้ำซึ่งเข้าพบพนักงานสอบสวนตามหมายเรียก ไม่ได้เป็นการจับกุมตามหมายจับ และตัวสายน้ำซึ่งเป็นเยาวชนไม่ได้มีพฤติการณ์หลบหนี จึงไม่มีความจำเป็นที่พนักงานสอบสวนจะต้องขอให้ศาลออกหมายควบคุมตัวไว้ในระหว่างสอบสวน เช่นเดียวกับในกรณีของแกนนำหรือผู้ร่วมชุมนุมคนอื่นๆ ที่ไปพบพนักงานสอบสวนตามหมายเรียกในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ซึ่งยังไม่พบว่ามีกรณีใดที่พนักงานสอบสวนนำตัวไปขออำนาจศาลฝากขัง

สำหรับในคดีนี้ สายน้ำถือเป็นเยาวชนรายแรกที่ถูกดำเนินคดีด้วยมาตรา 112 และเป็นรายที่ 2 ที่ถูกตั้งข้อหาในหมวดที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของรัฐ รวมทั้งเป็นเยาวชนรายที่ 6 ที่ถูกดำเนินคดีจากการเข้าร่วมชุมนุมทางการเมืองโดยสงบ สันติฃ

บันทึกแจ้งข้อกล่าวหา: เมื่อการสวมชุดไทยกลายเป็นภัยความมั่นคง

ในบันทึกการแจ้งข้อกล่าวหาของสายน้ำและจตุพร ได้บรรยายถึงการกระทำที่เป็นมูลเหตุของคดีว่า ในการชุมนุมที่บริเวณหน้าวัดพระแม่อุมาเทวี (วัดแขก) ถนนสีลม เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2563 ตั้งแต่ราวห้าโมงเย็นถึงสองทุ่มครึ่ง พบว่าผู้ต้องหาทั้งสองได้เข้าร่วมในการชุมนุมซึ่งจัดขึ้นในระหว่างที่ประเทศกำลังเผชิญกับโรคระบาด โควิด 19 ซึ่งในพื้นที่ชุมนุมเองก็ไม่ได้มีมาตรการในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคตามที่ทางราชการกำหนด อีกทั้งการชุมนุมดังกล่าวยังมีกิจกรรมที่มีลักษณะดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินีฯ

ในส่วนของจตุพร พบว่า ผู้ต้องหาได้เดินบนพรมแดงโดยแต่งกายด้วยชุดเสื้อกระโปรงแบบชุดไทยสีชมพู ถือกระเป๋าขนาดเล็ก และแสดงท่าทางประกอบให้ประชาชนผู้พบเห็นเข้าใจว่าเป็นการแสดงการเสด็จเยี่ยมพสกนิกรของราชินี พร้อมทั้งมีชายไม่ทราบชื่อแต่งกายด้วยชุดไทย นุ่งโจงกระเบนสีเหลืองทอง เดินตามจตุพร ทำหน้าที่คอยกางร่มให้ และยังมีหญิงไม่ทราบชื่อเดินตามพร้อมถือพานทองและโทรโข่งเปิดเพลงช่วงข่าวพระราชสำนักประกอบการเดิน ระหว่างการเดินบนพรมแดง มีผู้ชุมนุมบริเวณโดยรอบที่ชมการแสดงได้แสดงท่าทางหมอบกราบ จตุพรจึงได้ก้มลงไปจับมือกับกลุ่มผู้ชุมนุมที่เข้าชมการแสดง จนมีผู้ชุมนุมที่บริเวณนั้นตะโกนเรียกว่า “พระราชินี” ตลอดการเดิน จึงเชื่อว่าผู้ต้องหามีเจตนาล้อเลียนราชินี ทำให้ประชาชนทั่วไปรู้สึกเป็นการดูหมิ่น เกลียดชัง

ส่วนของสายน้ำ พบว่าผู้ต้องหาแต่งกายด้วยชุดเสื้อกล้ามแบบครึ่งตัวสีดำ สวมกางเกงยีนส์ขายาว บริเวณผิวหนังด้านหลังปรากฏข้อความ “พ่อกูชื่อมานะ” “ไม่ใช่ วชิราลงกรณ์” ซึ่งปรากฏพระนามของรัชกาลที่ 10 เป็นการแสดงเจตนาให้ประชาชนทั่วไปรู้สึกดูหมิ่น หรือเกลียดชังสถาบันพระมหากษัตริย์ ประกอบกับแสดงกิริยาท่าทางประกอบโดยการเดินบนพรมสีแดง โดยมีผู้ชุมนุมรอบข้างที่ชมการแสดงอยู่ตะโกนว่า “ทรงพระเจริญ” พร้อมทั้งแสดงท่าทางคล้ายการหมอบกราบ โดยมีเจตนาแสดงให้ประชาชนทั่วไปทราบว่าตนแสดงกิริยาท่าทางล้อเลียนกษัตริย์

ที่ปรึกษากฎหมายยื่นคำร้องคัดค้านการควบคุมตัวเยาวชน ชี้เสรีภาพในการแสดงออกย่อมได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย

ในส่วนของคำร้องคัดค้านการออกหมายควบคุมตัวผู้ต้องหาซึ่งที่ปรึกษากฎหมายของสายน้ำได้ยื่นต่อศาล ได้ชี้แจงเหตุผลในการคัดค้านโดยมีรายละเอียด ดังนี้

  1. พฤติการณ์และข้อกล่าวหาในคดีเกี่ยวข้องกับเสรีภาพในการแสดงออกและการแสดงความคิดเห็นซึ่งได้รับการรับรองไว้ตามรัฐธรรมนูญ ไม่มีเหตุความวุ่นวาย หรือความเสียหายต่อทรัพย์สินหรือร่างกายของผู้ใด อีกทั้งพนักงานสอบสวนยังได้สอบสวนผู้ต้องหาเสร็จสิ้นแล้ว หากผู้ต้องหาต้องอยู่ในความควบคุมระหว่างการสอบสวนของพนักงานสอบสวน ย่อมจะเป็นการควบคุมตัวที่เกินจําเป็น และอาจกระทบต่อจิตใจของผู้ต้องหาซึ่งเป็นเพียงเยาวชน
  2. ผู้ต้องหาเป็นนักเรียนซึ่งศึกษาอยู่ชั้น ม. 5 มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง ไม่ได้มีพฤติการณ์หลบหนีหรือมีพฤติการณ์ที่อาจเป็นภัยต่อบุคคลอื่น ไม่สามารถยุ่งเกี่ยวกับพยานหลักฐาน เพราะไม่ว่าจะเป็นภาพถ่ายหรือภาพบันทึกวีดีโอล้วนอยู่ในความครอบครองของพนักงานสอบสวนแล้ว ส่วนพยานบุคคลที่พนักงานสอบสวนอ้างว่ายังสอบสวนไม่เสร็จ ผู้ต้องหาก็ไม่ทราบว่าคือผู้ใด การตรวจสอบประวัติต่าง ๆ ก็เป็นขั้นตอนการดำเนินการภายในของเจ้าหน้าที่ การปล่อยตัวผู้ต้องหาจึงไม่เป็นอุปสรรค และไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อการสอบสวน
  3. เสรีภาพในการแสดงออกและการแสดงความคิดเห็นเป็นองค์ประกอบหลักของประเทศที่ปกครองในระบอบประชาธิปไตย นอกจากจะเป็นสิทธิมนุษยชนตามกฎหมายและมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศคือ ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนสากลและกติกาสากลว่าสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ยังเป็นสิทธิที่ได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญเช่นกัน
    ที่มากไปกว่านั้น การดำเนินคดีอาญากับผู้ต้องหายังขัดกับอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (Convention on the Rights of the Child – CRC) ซึ่งรับรองสิทธิในการมีส่วนร่วมของเด็ก เสรีภาพในการแสดงออก รวมถึงการชุมนุมอย่างสันติ ทั้งนี้ ไทยได้ให้สัตยาบันในอนุสัญญาดังกล่าว ซึ่งทำให้รัฐบาลมีหน้าที่ต้องปกป้องคุ้มครองต่อสิทธิในการแสดงความคิดเห็นของเด็ก อีกทั้งลำพังการใช้สิทธิเสรีภาพดังกล่าวมิใช่การกระทำความผิดในตัวเอง หากแต่เป็นสิ่งที่กฎหมายรับรองคุ้มครองไว้ใหทำได้
    หากพนักงานสอบสวนเกรงว่าผู้ต้องหาจะไปใช้เสรีภาพทำกิจกรรมใดต่อไปในอนาคตอันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย สามารถใช้อำนาจในการจับกุม ออกหมายเรียก หรือดำเนินการตามกฎหมายเป็นคดีอื่นได้อยู่ ไม่มีความจําเป็นที่จะต้องนําตัวผู้ต้องหามาขอศาลออกหมายควบคุมหรือหมายขังในคดีนี้แต่อย่างใด

อ่านเรื่องราวที่เกี่ยวข้อง:

สถิติผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ปี 2563

ตร.แจ้ง “ม.112” อานนท์ ส่วนเพนกวินโดน “พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ” กรณีชุมนุม #ม็อบ14ตุลา

“สมบัติ” อดีตการ์ดเสื้อแดง ถูกดำเนินคดี “ม.112” หลังโพสต์ข้อความ “กล้ามาก เก่งมาก ขอบใจ”

X