ย้อนทวน 9 นักกิจกรรมอีสานสู้คดี หลังชุมนุมใน มข. เรียกร้อง ตร.หยุดใช้ความรุนแรง ปฏิเสธเป็นผู้จัด-ไม่ได้ทำโควิดแพร่-ใช้เสรีภาพการชุมนุมตามปกติ 

27 ธ.ค. 2565 ศาลแขวงขอนแก่นนัดนักกิจกรรม 9 ราย ฟังคำพิพากษาคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อีกคดี เป็นคดีจากการชุมนุม “ผู้พิทักษ์ทรราช ผู้พิฆาตประชาชน” เมื่อวันที่ 1 มี.ค. 2564 ประณามตำรวจที่ใช้ความรุนแรงสลายการชุมนุมในกรุงเทพฯ 

การรวมตัวของนักศึกษา ประชาชน เปิดปราศรัยประณามการกระทำของตำรวจหน้าคอมเพล็กซ์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ก่อนเดินเท้าไปวางหรีดหน้า สภ.ย่อย มหาวิทยาลัยขอนแก่น เพื่อส่งสัญญาณให้รัฐยุติการใช้ความรุนแรงและประกันสิทธิการชุมนุมอย่างสันติให้กับประชาชนที่ออกมาเรียกร้องประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 1 มี.ค. 2564 มีเหตุมาจากการที่ตำรวจใช้กระสุนยางและแก๊สน้ำตาสลายการชุมนุมของกลุ่ม REDEM ที่หน้ากรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ในวันที่ 28 ก.พ. 2564 ก่อนใช้ความรุนแรงจับกุมประชาชนจำนวนหนึ่ง 

ภายหลังการแสดงออกเรียกร้องรัฐและตำรวจให้ทำหน้าที่คุ้มครองประชาชนแทนการละเมิดสิทธิมนุษยชน ตำรวจกลับตอบโต้ด้วยการดำเนินคดีนักกิจกรรม 9 ราย ในจำนวนนี้เป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่น 5 ราย ได้แก่ “เซฟ” วชิรวิทย์ เทศศรีเมือง, “เข้ม” ศิวกร นามนวด, วีรภัทร ศิริสุนทร, วิศัลยา งามนา, ศรายุทธ นาคมณี, อิศเรษฐ์ เจริญคง, พชร สารธิยากุล, “นิวส์” จตุพร แซ่อึง และธนศักดิ์ โพธิเตมิย์ ใน 4 ข้อกล่าวหา คือ ร่วมกันจัดกิจกรรมซึ่งมีผู้เข้าร่วมจำนวนมากในสถานที่แออัดในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่โรคหรือยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย, จัดกิจกรรมซึ่งอาจก่อสภาวะที่ไม่ถูกสุขลักษณะ เป็นเหตุให้โรคแพร่ระบาดออกไป, เดินขบวนกีดขวางจราจร และใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต 

แม้ว่าในชั้นอัยการ ทั้งหมดจะได้ยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมต่ออัยการให้มีคำสั่งไม่ฟ้องคดี เนื่องจากเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงความเห็นโดยสงบปราศจากอาวุธ ซึ่งได้มีการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ ไม่ได้ยุยงปลุกปั่นหรือก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยในบ้านเมือง แต่ในที่สุด รณกร ภูดิฐวัฒนโชค อัยการจังหวัดผู้ช่วย สำนักงานอัยการคดีศาลแขวงขอนแก่น ก็มีคำสั่งฟ้องและยื่นฟ้องต่อศาลแขวงขอนแก่นในวันครบรอบ 1 ปีของการชุมนุม 

“รู้สึกผิดหวังที่การออกมาเรียกร้องชีวิตที่ดีเพื่อใครหลายๆ คน กลับได้คดีตอบแทน” 

นิวส์จตุพร แซ่อึง นักกิจกรรมบุรีรัมย์ปลดแอก

คำฟ้องกล่าวถึงการกระทำของนักกิจกรรมทั้งเก้าที่เป็นความผิดว่า

จําเลยได้ร่วมกันจัดให้มีการชุมนุมสาธารณะ โดยประกาศนัดหมายผ่านสื่อสังคมออนไลน์ และร่วมกันอภิปรายทางการเมืองด้วยเครื่องขยายเสียง บริเวณหน้าธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาคอมเพล็กซ์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ต่อมาจําเลยได้ปลุกระดมผู้ชุมนุมให้เดินขบวนไปตามถนนสาธารณะ แล้วพากลุ่มผู้เข้าร่วมชุมนุมฝ่าแนวกั้นเข้าไปในบริเวณสถานีตํารวจภูธรย่อยมหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวปราศรัยโจมตีการทํางานของตํารวจ พร้อมกับใช้ดอกไม้จันทน์และพวงหรีดประกอบกิจกรรม 

การร่วมกันจัดชุมนุมดังกล่าวมีประชาชนเข้าร่วมจำนวนมากในลักษณะมั่วสุมกัน เป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย และเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรคโควิด-19 โดยจำเลยไม่จัดให้มีมาตรการป้องกันโรคที่จำเป็นสำหรับพื้นที่เฝ้าระวัง ตามที่กำหนดไว้ในข้อกำหนด (ฉบับที่ 18) และไม่ปฏิบัติตามคําสั่งเจ้าพนักงานควบคุมโรคตามประกาศจังหวัดขอนแก่น (ฉบับที่ 29) อันเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ

อีกทั้งจําเลยยังร่วมกันใช้เครื่องขยายเสียงป่าวประกาศโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ก่อนทําการโฆษณา และร่วมกันพากลุ่มผู้ชุมนุมเดินแถวลงไปบนถนนสาธารณะในลักษณะปิดช่องทางการจราจร อันเป็นการกีดขวางการจราจรโดยไม่ได้รับอนุญาต

ทั้งนี้ มีเพียง 7 คน ที่ถูกฟ้องใน 4 ข้อหาเหมือนทึ่ตำรวจแจ้งในชั้นสอบสวน ส่วนวิศัลยาและศรายุทธซึ่งติดภารกิจได้มาตามนัดส่งฟ้องภายหลังคนอื่น ทำให้ข้อหากีดขวางจราจรและใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งมีเพียงโทษปรับ หมดอายุความไปแล้ว

“เรายืนยันในจุดยืนและอุดมการณ์ เห็นความไม่เป็นธรรมในสังคมที่มาจากการใช้อำนาจกดขี่ของรัฐ เราก็แค่ลุกขึ้นสู้ ก็เตรียมใจว่าจะโดนดำเนินคดีตั้งแต่แรกแล้ว”

“เข้ม” ศิวกร นามนวด นักศึกษาวิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น

สืบพยานโจทก์จำเลยเกือบ 20 ปาก ข้อเท็จจริงตรงกันว่า ที่ชุมนุมเป็นที่โล่ง ผู้ชุมนุมสวมหน้ากากอนามัย จำเลยเพียงปราศรัยวิจารณ์ตำรวจ

ในชั้นศาล อัยการนำพยานบุคคลเข้าเบิกความพิสูจน์ความผิดของจำเลยรวม 7 ปาก ได้แก่ สารวัตรและรองสารวัตรสืบสวน สภ.เมืองขอนแก่น ซึ่งลงพื้นที่หาข่าวและทำรายงานการสืบสวน, สารวัตรจราจร สภ.เมืองฯ, หัวหน้างานรักษาความปลอดภัยและจราจร มข., เจ้าหน้าที่ตำรวจที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ที่ สภ.ย่อย มข., นักวิชาการสาธารณสุขซึ่งให้ความเห็นเรื่องความเสี่ยงต่อการแพร่โควิด สุดท้ายคือพนักงานสอบสวนในคดี 

ผู้กล่าวหาและพยานตำรวจพยายามชี้ว่า จำเลยซึ่งขึ้นปราศรัยเป็นผู้จัดการชุมนุม โดยการชุมนุมเสี่ยงแพร่โควิด เนื่องจากสถานที่ชุมนุมคับแคบ ไม่มีการตั้งจุดคัดกรอง และเว้นระยะห่าง ขณะสาธารณสุขยืนยันว่า ช่วงเกิดเหตุไม่มีผู้ติดเชื้อ และผู้ชุมนุมสวมหน้ากากอนามัย พยานโจทก์ยังเบิกความไปในทางเดียวกันว่า ขบวนผู้ชุมนุมกีดขวางจราจร และผู้กล่าวหาระบุว่า การใช้เครื่องขยายไม่ได้ขออนุญาต 

แต่เมื่อทนายจำเลยถามค้าน พยานโจทก์ต่างรับว่า ที่ชุมนุมเป็นที่โล่ง ไม่แออัด ทางเขาอาคารคอมเพล็กซ์และ สภ.ย่อย มีจุดคัดกรอง ชุดสืบรับด้วยว่า ไม่มีหลักฐานว่าจำเลยเป็นผู้โพสต์ชวนชุมนุม จำเลยเพียงแต่ปราศรัยวิจารณ์ตำรวจ โดยไม่มีพฤติการณ์อื่นที่แสดงว่าเป็นผู้จัดชุมนุม นอกจากนั้น ขณะผู้ชุมนุมเคลื่อนขบวนรถยังสัญจรได้ โดยมีตำรวจ, รปภ.มข. รวมถึงนักศึกษาอาสาสมัครมาดูแลการจราจร ยิ่งไปกว่านั้น หัวหน้า รปภ.มข. ระบุว่า นักศึกษาสามารถจัดกิจกรรมเดินขบวนบนถนนและใช้เครื่องขยายเสียงในมหาวิทยาลัยได้โดยไม่ต้องขออนุญาต

ภาพเหตุการณ์ชุมนุมจากไลฟ์สดของ The Isaan Record

ฝ่ายจำเลยมีพยานบุคคลรวม 10 ปาก คือตัวจำเลย 8 ราย, นักศึกษาอาสาสมัครงานรักษาความปลอดภัยและจราจร มข. ซึ่งได้รับมอบหมายให้ไปดูแลความเรียบร้อยและการจราจร และอาจารย์คณะมนุษยศาสตร์ฯ ซึ่งไปสังเกตการณ์การชุมนุมด้วย โดยนักกิจกรรม 8 ราย เบิกความเป็นพยานให้ตนเองยืนยันว่า ไม่ใช่ผู้จัดให้มีการชุมนุม การร่วมชุมนุมและปราศรัยวิพากษ์วิจารณ์เจ้าหน้าที่รัฐเป็นการใช้เสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ อีกทั้งการชุมนุมเป็นไปโดยสงบ แต่ละคนมีการป้องกันโควิด และสถานที่ชุมนุมมีจุดคัดกรอง การเดินขบวนก็ไม่ถึงขนาดทำให้การจราจรไม่สะดวก 

สอดคล้องที่นักศึกษาอาสาสมัครเบิกความว่า วันเกิดเหตุมีนักศึกษาอาสาสมัครและ รปภ.มข.ดูแลให้การจราจรคล่องตัว ทำให้รถยังสัญจรไปมาได้ ด้านนักวิชาการยืนยันว่า การใช้เสรีภาพการชุมนุมเป็นเรื่องปกติในสังคมประชาธิปไตยและเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะในมหาวิทยาลัยเป็นพื้นที่เสรีภาพ อีกทั้งการทำกิจกรรมในมหาวิทยาลัยขอนแก่นก็เป็นเรื่องปกติ โดยไม่ต้องขออนุญาตใช้ถนนหรือเครื่องเสียง กิจกรรมอื่นๆ ก็มีการจัดในช่วงเดียวกัน  

รายละเอียดคำเบิกความของพยานทั้งสองฝ่ายมีดังนี้

.

ชุมนุมแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ประณามตำรวจสลายการชุมนุม จำเลยทั้งเก้าปราศรัย-เป็นการ์ด-ไลฟ์สด

พ.ต.ต.ธีรภัทร์ วงศ์วิลาศ สว.สส.สภ.เมืองขอนแก่น ผู้กล่าวหา, ร.ต.อ.ประยุทธ เมณกุล ชุดสืบ และ ร.ต.อ.สุรศักดิ์ กล้าจอหอ ตำรวจซึ่งปฏิบัติหน้าที่อยู่ที่ สภ.ย่อย รวมทั้ง มรกต สุบิน หัวหน้า รปภ.มข. เบิกความถึงเหตุการณ์วันเกิดเหตุสรุปได้ว่า ช่วงบ่ายวันที่ 1 มี.ค. 2564 ชุดสืบสวนทราบว่าจะมีการจัดชุมนุมเพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ที่คอมเพล็กซ์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จากเพจขอนแก่นพอกันที, ดาวดิน สามัญชน และภาคีนักเรียน KKC ผู้บังคับบัญชาจึงมีคำสั่งให้ลงพื้นที่ตรวจสอบ 

พ.ต.ต.ธีรภัทร์ และ ร.ต.อ.ประยุทธ ไปถึงลานหน้าคอมเพล็กซ์ในเวลาประมาณ 18.00 น. พบผู้ชุมนุม 10 – 20 คน โดยจำเลย 7 ราย ผลัดกันปราศรัยโดยใช้เครื่องขยายเสียงวิจารณ์รัฐบาลและตำรวจถึงการสลายการชุมนุมที่กรุงเทพฯ โดยวิศัลยาและศิวกรทำหน้าที่เป็นพิธีกรด้วย มีอิศเรษฐ์เป็นการ์ดรักษาความปลอดภัย และวีรภัทรไลฟ์สดการชุมนุม 

ต่อมาเวลา 19.00 น. มีคนพูดผ่านไมค์ชวนให้ผู้ชุมนุมลงถนนเพื่อเดินไปที่ สภ.ย่อย มข. ขณะนั้นมีผู้ชุมนุม 150 – 200 คน เดินใน 2 เลน ด้านขวา ทำให้รถไม่สามารถสัญจรได้ เมื่อขบวนเดินถึง สภ.ย่อย มีแผงเหล็กพร้อมแถวตำรวจปิดกั้นทางเข้า ผู้ชุมนุมจึงเจรจาขอเข้าด้านใน ก่อนตำรวจถอยให้ผู้ชุมนุมเข้าไปในลานจอดรถ จากนั้นผู้ชุมนุมได้ทำกิจกรรมวางพวงหรีดและดอกไม้จันทน์ ปราศรัยวิจารณ์การสลายการชุมนุม เมื่อเสร็จกิจกรรมผู้ชุมนุมก็เดินกลับไปที่คอมเพล็กซ์และยุติการชุมนุมเวลา 21.00 น. 

มรกตเบิกความด้วยว่า ก่อนเกิดเหตุ ผู้กำกับ สภ. เมืองขอนแก่น ไปพบวชิรวิทย์ที่ร้านกาแฟเพื่อสอบถามเกี่ยวกับรูปแบบกิจกรรมที่จะจัด ซึ่งตนได้เดินทางไปด้วย 

ภาพเหตุการณ์ชุมนุมจากไลฟ์สดของ The Isaan Record

ตำรวจชี้ ชุมนุมเสี่ยงแพร่โควิด แต่รับว่าชุมนุมในที่โล่ง ไม่แออัด ขณะสาธารณสุขยืนยัน ช่วงเกิดเหตุไม่มีผู้ติดเชื้อ ผู้ชุมนุมสวมหน้ากากอนามัย 

ตำรวจที่ปฏิบัติหน้าที่ในวันชุมนุมเห็นทำนองเดียวกันว่า การชุมนุมเสี่ยงต่อการแพร่โควิด เนื่องจากสถานที่ชุมนุมแออัดคับแคบ ไม่มีการตั้งจุดคัดกรองและเว้นระยะห่างตามที่กฎหมายกำหนด ผู้ชุมนุมครึ่งหนึ่งไม่สวมหน้ากากอนามัย ขณะหัวหน้า รปภ.มข.เบิกความว่า เห็นเจลแอลกอฮอล์บริเวณทางขึ้นบันไดหน้าคอมเพล็กซ์ แต่ไม่เห็นเครื่องตรวจวัดอุณหภูมิ ผู้ชุมนุมมีการเว้นระยะห่าง รวมทั้งในขณะเดิน แต่บริเวณหน้า สภ.ย่อย มีลักษณะแออัด

ส่วนวัฒนา นิลบรรพต  นักวิชาการสาธารณสุข สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดขอนแก่น ซึ่งดูแลงานด้านระบาดวิทยา เบิกความว่า ช่วงเกิดเหตุเดือนมีนาคม 2564 เป็นช่วงผ่อนปรน และในจังหวัดขอนแก่นไม่มีรายงานผู้ติดเชื้อโควิด ตามภาพและวีดิโอพยานไม่เห็นจุดตรวจวัดอุณหภูมิ แต่ผู้ชุมนุมส่วนมากสวมหน้ากากอนามัย  ถ้ามีผู้ติดเชื้อไม่ได้สวมหน้ากากอนามัยแล้วผู้ชุมนุมอื่นไม่ได้สวมหน้ากากอนามัยเช่นกัน เผชิญหน้ากันเป็นระยะเวลาเกิน 5 นาที จึงจะมีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อสูง

อย่างไรก็ตาม พยานตำรวจและหัวหน้า รปภ.มข.ตอบทนายจำเลยสอดคล้องกันว่า ที่ชุมนุมทั้งลานหน้าคอมเพล็กซ์และ สภ.ย่อย เป็นที่โล่ง อากาศถ่ายเท ไม่มีบริเวณที่เป็นจุดสัมผัสนอกจากราวบันได โอกาสที่จะสัมผัสติดเชื้อโควิดมีน้อย ตามรายงานการสืบสวนผู้ชุมนุมส่วนใหญ่สวมหน้ากากอนามัย เครื่องตรวจวัดอุณหภูมิและเจลแอลกอฮอล์จะวางตั้งบริเวณทางเข้าอาคารในมหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งรวมถึงคอมเพล็กซ์และ สภ.ย่อย การชุมนุมไม่แออัด ผู้ชุมนุมสามารถเดินเคลื่อนย้ายไปมาได้สะดวก

นอกจากนี้ หัวหน้า รปภ.มข.รับกับทนายจำเลยด้วยว่า ช่วงปี 2564 ในมหาวิทยาลัยขอนแก่นก็มีการจัดกิจกรรมกลุ่มย่อยๆ รวมถึงมีกิจกรรมอื่นๆ ของคณะ เช่น บุญสงกรานต์ ตามภาพที่ทนายจำเลยให้ดูก็เป็นกิจกรรมวันเกิดซึ่งจัดให้เจ้าหน้าที่ช่วงเดือนมีนาคม 2564  

ภาพเหตุการณ์ชุมนุมจาก The Isaan Record

.

ไม่มีหลักฐานว่าจำเลยเป็นผู้โพสต์ชวนชุมนุม ทั้งจำเลยเพียงปราศรัยวิจารณ์ตำรวจ ไม่มีพฤติการณ์อื่นว่าเป็นผู้จัดชุมนุม

นักกิจกรรมทั้งเก้ายังถูกกล่าวหาว่า เป็นผู้จัดให้มีการชุมนุมโดยไม่จัดให้มีมาตรการป้องกันโรค แต่ผู้กล่าวหาและชุดสืบตอบทนายจำเลยว่า ตามรายงานการสืบสวนไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งเก้าเป็นผู้โพสต์เชิญชวนชุมนุมในเพจตามฟ้อง รวมทั้งในเฟซบุ๊กส่วนตัว ทั้งไม่ปรากฏว่า จำเลยทำอย่างอื่นนอกจากปราศรัย บางคนก็ไม่ได้ขึ้นปราศรัย บางคนเพียงแต่ไลฟ์สด ซึ่งก็มีมีสำนักข่าวอื่นมาไลฟ์สดด้วย เช่น อีสานเรคคอร์ด 

รวมทั้งเนื้อหาที่จำเลยปราศรัยก็เป็นการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลและตำรวจที่สลายการชุมนุมด้วยความรุนแรง ซึ่งเป็นสิทธิของประชาชนทั่วไปที่จะทำได้ พยานโจทก์ส่วนใหญ่รับด้วยว่า ผู้ชุมนุมต้องการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์เท่านั้น ไม่มีการใช้อาวุธ ไม่มีความวุ่นวาย ซึ่งรัฐธรรมนูญรับรองให้ทำได้

นอกจากนี้ บรรดาประกาศและข้อกำหนดที่ใช้บังคับในคดีนี้ไม่มีนิยามคำว่า “ผู้จัดการชุมนุม” การตีความจึงเป็นดุลพินิจของเจ้าพนักงานเอง อีกทั้งประกาศจังหวัดขอนแก่นฉบับที่ 29 ยังกำหนดให้เจ้าของสถานที่เป็นผู้จัดมาตรการป้องกันโควิด 

.

ตำรวจ-รปภ.มข.อ้างขบวนผู้ชุมนุมกีดขวางจราจร ก่อนรับว่า รถยังสัญจรได้- พ.ร.บ.จราจรฯ ไม่บังคับใช้ในมหาลัย  

ในข้อกล่าวหาจำเลยทั้งเก้าว่ากีดขวางจราจรนั้น พ.ต.ต.ธีรภัทร์ ผู้กล่าวหาระบุว่า การเคลื่อนขบวนของผู้ชุมนุมทำให้รถไม่สามารถสัญจรได้ เป็นการกีดขวางการจราจร โดยที่ไม่ได้ขออนุญาตต่อผู้มีอำนาจรับผิดชอบ  

โจทก์ยังมี พ.ต.ท.ปรีชา พลพงษ์ สว.จราจร สภ.เมืองขอนแก่น มาเบิกความว่า วันเกิดเหตุพยานและพวกได้รับคำสั่งไปดูแลถนนด้านนอกมหาวิทยาลัยขอนแก่น ต่อมาได้รับแจ้งว่า ผู้ชุมนุมจะเคลื่อนขบวนไปที่ สภ.ย่อย พยานกับพวกจึงขับรถไปบริเวณดังกล่าวเพื่อดูแลการจราจร โดยระบายรถที่จะผ่านหน้า สภ.ย่อย ให้ไปเส้นทางอื่น พยานบริหารจัดการจราจรจนจนกระทั่งผู้ชุมนุมกลับออกจาก สภ.ย่อย และการจราจรปกติ ทั้งนี้ การเคลื่อนขบวนของผู้ชุมนุมทำให้รถไม่สามารถสัญจรได้ จึงเป็นการกีดขวางจราจรโดยไม่ได้รับอนุญาต 

ขณะพยานโจทก์ปากหัวหน้า รปภ.มข.เบิกความว่า ขณะผู้ชุมนุมเคลื่อนขบวนผ่านศูนย์ควบคุมฯ ตนได้ออกมาช่วยดูแลการจราจร และเดินตามผู้ชุมนุมไปเพื่ออำนวยความสะดวกให้รถสัญจรผ่านได้ โดยระหว่างผู้ชุมนุมเดินรถยังสามารถขับผ่านได้ 

แต่เมื่อทนายจำเลยถามค้าน พ.ต.ท.ปรีชา กล่าวว่า ขณะพยานผ่านผู้ชุมนุมซึ่งยังเดินอยู่ในมหาวิทยาลัย พยานได้สั่งการให้ตำรวจจราจรบริหารการจราจรด้านหัวขบวน โดยยังมีรถสัญจรบนท้องถนนได้ สอดคล้องกับที่ ร.ต.อ.ประยุทธ และมรกตตอบทนายจำเลยว่า ระหว่างเคลื่อนขบวนไปที่ สภ.ย่อย มีตำรวจ, รปภ.มข. รวมทั้งนักศึกษาอาสาสมัคร (TSI) คอยอำนวยความสะดวกด้านจราจร 

ส่วนที่ถนนโนนม่วงจากประตูยูเซ็นเตอร์ถึง สภ.ย่อย นั้น พยานโจทก์หลายปากตอบทนายจำเลยตรงกันว่า ถนนบริเวณนั้นมี 2 เลน มีฟุตบาทด้านขวาเพียงด้านเดียว ปกติมีรถจำนวนมากจอดกีดขวางถนนอยู่แล้วเป็นประจำ อีกทั้งการที่ตำรวจนำเหล็กมาวางปิดกั้นลานจอดรถทำให้ผู้ชุมนุมเข้าไปที่ลานจอดรถไม่ได้และกีดขวางการจราจร หากตำรวจให้ผู้ชุมนุมเข้าไปในลานจอดรถ การจราจรก็จะไม่ติดขัด 

นอกจากนี้ สารวัตรจราจรยังรับกับทนายจำเลยว่า มหาวิทยาลัยขอนแก่นเป็นนิติบุคคล การบังคับใช้ พ.ร.บ.จราจรฯ ต้องได้รับความยินยอมจากมหาวิทยาลัยด้วย ซึ่งโดยปกติตำรวจจะไม่เข้าไปบังคับใช้ พ.ร.บ.จราจรฯ ในถนนของมหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นหน้าที่ของ รปภ.มข. ด้านหัวหน้า รปภ.มข.ก็ระบุเช่นกันว่า มหาวิทยาลัยขอนแก่นส่งเสริมกิจกรรมนักศึกษา การจัดกิจกรรมที่มีการเคลื่อนขบวนลงถนนก็สามารถทำได้ โดยพยานมีหน้าที่อำนวยความสะดวกด้านการจราจร หากนักศึกษาทำผิดกฎจราจร มหาวิทยาลัยจะใช้ระเบียบวินัยนักศึกษามาลงโทษแทนการดำเนินคดี

.

กล่าวหาใช้เครื่องขยายไม่ได้รับอนุญาต ขณะ จนท.มข.ระบุ ในมหาลัยไม่ต้องขออนุญาต

พ.ต.ต.ธีรภัทร์ ผู้กล่าวหาระบุด้วยว่า จำเลยใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้ขออนุญาตต่อผู้มีอำนาจรับผิดชอบ แต่ต่อมา มรกตตอบทนายจำเลยว่า มหาวิทยาลัยขอนแก่นส่งเสริมให้นักศึกษามีการจัดกิจกรรม การใช้เครื่องขยายเสียงในมหาวิทยาลัยก็ทำได้โดยไม่ต้องขออนุญาต โดยที่ สภ.ย่อย ก็อยู่ในพื้นที่ของมหาวิทยาลัยขอนแก่น

อีกทั้งชุดสืบสวน 2 นาย ก็รับว่า จากการสืบสวนก็ไม่รู้ว่าไมค์และเครื่องขยายเสียงเป็นของใคร และใครเป็นคนนำมา

.

จำเลยสู้ ไม่ได้โพสต์นัดหมาย ไม่ใช่ผู้จัด เพียงใช้เสรีภาพร่วมชุมนุม-ปราศรัย โดยมีการป้องกันโควิด  

นักกิจกรรม 8 ราย ยกเว้นจตุพร เบิกความเป็นพยานให้ตนเองเช่นเดียวกันว่า ทราบข่าวการชุมนุมจากเฟซบุ๊ก จึงไปเข้าร่วม โดยไม่ได้เป็นแอดมินเพจที่โพสต์นัดหมายชุมนุม รวมถึงไม่ได้โพสต์เชิญชวนในเฟซบุ๊กส่วนตัว การร่วมชุมนุมและปราศรัยวิพากษ์วิจารณ์เจ้าหน้าที่รัฐเป็นการใช้เสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ อีกทั้งการชุมนุมเป็นไปโดยสงบ แต่ละคนมีการป้องกันโควิด ผู้ชุมนุมคนอื่นก็สวมหน้ากากอนามัย รวมทั้งสถานที่ชุมนุมทั้งทางเข้าคอมเพล็กซ์และ สภ.ย่อย มีจุดคัดกรอง ทั้งยังเป็นที่โล่ง จุคนได้หลายร้อยคน แต่ผู้ชุมนุมมีประมาณ 100 คน ทำให้ไม่แออัด นอกจากนี้ ไม่มีใครติดเชื้อโควิดจากการชุมนุม

ในการเดินขบวนไป สภ.ย่อย มี รปภ.มข.และตำรวจ รวมทั้งนักศึกษาอาสาสมัครมาดูแลจราจร โดยรถยังสัญจรไปมาได้ วชิรวิทย์และศิวกรซึ่งเป็นสมาชิกสภานักศึกษาเบิกความด้วยว่า การจัดกิจกรรมและการใช้เครื่องขยายเสียงในมหาวิทยาลัยไม่จำเป็นต้องขออนุญาต อีกทั้งเมื่อแต่ละคนไปถึงที่ชุมนุมพบเครื่องเสียงจัดวางอยู่แล้ว โดยไม่รู้ว่าใครนำมา

ภาพเหตุการณ์ชุมนุมจาก The Isaan Record

ทั้งแปดยังเบิกความในรายละเอียดดังนี้

วชิรวิทย์ นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ เบิกความว่า ตนเชื่อในระบอบประชาธิปไตยและทำงานส่งเสริมประชาธิปไตย โดยไปร่วมกิจกรรมในมหาวิทยาลัยเป็นปกติ วันเกิดเหตุตนก็ไปร่วมชุมนุมและไปดูแลความเรียบร้อยให้กับนักศึกษาในฐานะสภานักศึกษาด้วย 

ก่อนเกิดเหตุหัวหน้า รปภ.มข.ได้โทรบอกให้ตนไปพบผู้กำกับ สภ.เมืองฯ โดยผู้กำกับฯ สอบถามเรื่องกิจกรรมดังกล่าว ตนปฏิเสธว่าไม่รู้ เนื่องจากไม่ใช่ผู้จัด จากนั้นตนเข้าไปที่คอมเพล็กซ์ หลังการชุมนุมเริ่มแล้วประมาณ 1 ชั่วโมง ตรวจคัดกรองที่ทางเข้าคอมเพล็กซ์ สวมหน้ากากอนามัย และเว้นระยะห่าง 

ภาพที่ตนไม่ได้สวมหน้ากากอนามัยขณะปราศรัยเนื่องจากอยู่ห่างจากคนอื่นประมาณ 10 เมตร ใช้เวลาพูด 3-4 นาที เมื่อพูดเสร็จก็ใส่หน้ากากอนามัยตามปกติ การปราศรัยก็เป็นการวิจารณ์รัฐบาลโดยสุจริตตามสิทธิที่รัฐธรรมนูญรับรอง

เหตุที่ผู้ชุมนมเดินขบวนไปที่ สภ.ย่อย เนื่องจากไม่พอใจการสลายการชุมนุมโดยใช้ความรุนแรงที่กรุงเทพฯ ตามรายงานการสืบสวนที่มีข้อความว่า ตนเจรจากับตำรวจที่หน้า สภ.ย่อย นั้น ความจริงตนยืนคุยกับเพื่อน แล้วผู้กำกับฯ ได้เข้ามาพูดคุย

ศิวกร นักศึกษาวิทยาลัยการปกครอง เบิกความว่า วันเกิดเหตุตนเห็นโพสต์ผ่านเพจขอนแก่นพอกันที จึงไปร่วมกิจกรรมหลังเรียนเสร็จขณะที่ไปถึงคอมเพล็กซ์กิจกรรมก็เริ่มแล้ว มีลำโพงตั้งอยู่ ตนเห็นว่ามีคนน้อย บรรยากาศไม่คึกคัก จึงไปจับไมค์พูดประณามการสลายการชุมนุม ในวันนั้นใครอยากแสดงความคิดเห็นก็ขึ้นไปพูดได้ จากนั้นได้ร่วมเดินขบวนไปที่ สภ.ย่อย ด้วย สำหรับตนก็มีการป้องกันโควิดโดยรักษาระยะห่าง ใส่หน้ากากอนามัย วัดอุณหภูมิ และใช้เจลแอลกอฮอล์เป็นระยะ

อิศเรษฐ์ เบิกความว่า ตนเห็นว่าจะมีการชุมนุมเป็นการแสดงความไม่พอใจการใช้ความรุนแรงสลายการชุมนุมที่กรุงเทพฯ จากเพจดาวดิน สามัญชน จึงไปร่วมชุมนุม โดยไม่ได้ปราศรัย และไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการรักษาความปลอดภัย ซึ่งในวันเกิดเหตุตนเห็นว่ามี TSI มาทำหน้าที่ดูแลความปลอดภัยของผู้ชุมนุมอยู่แล้ว ขณะเข้าร่วมกิจกรรมตนสวมหน้ากากอนามัยและพกเจลแอลกอฮอล์ตลอดเวลา  

พชร นักศึกษาปริญญาโท มหาวิทยาลัยฉางอัน ประเทศจีน (เรียนออนไลน์) เบิกความว่า วันเกิดเหตุ หลังตนเห็นโพสต์ชวนชุมนุมจากเพจดาวดิน สามัญชน จึงเดินทางจากบ้านที่อุดรฯ มาร่วมชุมนุม เมื่อถึงคอมเพล็กซ์ ตนผ่านจุดคัดกรองบริเวณทางเข้า มีผู้ชุมนุมอยู่แล้วหลายคน มีการปราศรัยเรื่องการสลายการชุมนุมด้วยความรุนแรง และเปิดให้ผู้ชุมนุมร่วมแสดงความเห็น ตนจึงได้พูดแสดงความเห็นไป 

ภาพเหตุการณ์ชุมนุมจาก The Isaan Record

ธนศักดิ์ เบิกความว่า ตนสนใจการแสดงออกทางการเมืองอยู่ก่อนแล้ว วันเกิดเหตุเห็นโพสต์ในเฟซบุ๊กว่าจะมีการนัดรวมตัวกันแสดงออกที่คอมเพล็กซ์ จึงเดินทางมาจากกาฬสินธุ์หลังเสร็จงาน เมื่อถึงคอมเพล็กซ์มีคนเพียงไม่กี่คน จากนั้นตนได้ร่วมแสดงความเห็น โดยเรียกร้องให้ตำรวจขอโทษที่สลายการชุมนุมด้วยความรุนแรง

ตนไม่ได้ทำหน้าที่เป็นการ์ด แต่เนื่องจากมีอายุมากกว่าคนอื่น ขณะเดินขบวนจึงช่วยอำนวยความสะดวกให้นักศึกษาและประชาชน ส่วนการป้องกันโควิดนั้น ตนอยู่ในธุรกิจเครื่องมือแพทย์ บริษัทมีระเบียบให้ใส่หน้ากากอนามัย พกเจลแอลกอฮอล์ และตรวจ ATK ก่อนเข้าทำงานทุกวัน 

วีรภัทร นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ เบิกความว่า วันเกิดเหตุตนขับมอเตอร์ไซค์ออกจากบ้านเพื่อไปรับน้องสาวที่คลินิกทันตกรรมแถว สภ.ย่อย เมื่อผ่าน สภ.ย่อย เห็นกลุ่มผู้ชุมนุม และมีตำรวจตั้งแถวกั้น ตนจอดดูอยู่สักครู่ จึงขับรถไปให้น้อง ก่อนเดินกลับมาดูเหตุการณ์ที่ สภ.ย่อย อีก และยืนคุยกับเพื่อน ระหว่างนั้นมีสื่อไลฟ์สดการชุมนุมอยู่หลายคน รวมถึงสำนักข่าวอีสานเรคคอร์ด จากนั้นเพื่อนอีกคนก็ส่งโทรศัพท์มาให้ตนช่วยไลฟ์สด ไม่นานผู้ชุมนุมก็เดินกลับไปคอมเพล็กซ์ ในวันนั้นตนเห็นผู้ชุมนุมจำนวนมากสวมหน้ากากอนามัย รวมทั้งตนด้วย

วิศัลยาเบิกความว่า ขณะเกิดเหตุตนเรียนปี 4 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ทราบข่าวการชุมนุมจากเพจภาคีนักเรียน KKC จึงไปร่วมชุมนุม เมื่อถึงคอมเพล็กซ์มีการตั้งเครื่องขยายเสียงแล้ว มีกิจกรรมในผู้ชุมนุมร่วมพูดแสดงความเห็นก็สามารถพูด โดยไม่มีการจัดลำดับหรือกำหนดการ ตนก็ได้ปราศรัยเรื่องการสลายการชุมนุม ในวันนั้นตนสวมหน้ากากอนามัยและพกสเปรย์แอลกอฮอล์ หลังเกิดเหตุตนติดตามข่าวไม่พบว่ามีรายงานผู้ติดเชื้อในจังหวัดขอนแก่น 

ศรายุทธเบิกความว่า ขณะเกิดเหตุตนเรียนปี 4 คณะนิติศาสตร์ วันเกิดเหตุตนจัดกลุ่มศึกษาเกี่ยวกับกฎหมายและการเมืองอยู่ที่คณะนิติศาสตร์ จากนั้นได้ไปทำธุระส่วนตัวที่คอมเพล็กซ์ เห็นมีกิจกรรมจึงเข้าไปร่วม เนื่องจากปกติตนจะเข้าร่วมกิจกรรมการแสดงออกทางการเมืองทุกกิจกรรม 

ในช่วงการระบาดของโควิด ตนใส่หน้ากากผ้าและพกสเปรย์แอลกอฮอล์ติดตัว ระหว่างวันก็ผ่านการคัดกรองตรวจอุณหภูมิที่หน้าห้องบรรยายและหน้าห้องอ่านหนังสือของคณะนิติศาสตร์

การปราศรัยในวันเกิดเหตุนั้นไม่มีการจัดคิวหรือพิธีกร ใครอยากแสดงความเห็นก็จับไมค์ไปพูดได้ ตนปราศรัยเรื่องความรุนแรงโดยรัฐ เนื่องจากตนเป็นพลเมืองมีส่วนได้เสียกับการกระทำของรัฐ จึงใช้เสรีภาพตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญ 

ในรายงานการสืบสวนภาพที่นำมาเทียบกับจำเลยนั้นมีอายุ, เลขประจำตัว, ที่อยู่ ไม่ตรงกับตน ชี้ให้เห็นว่า รายงานการสืบสวนที่ใช้เป็นหลักฐานดำเนินคดีมีความบกพร่อง 

ภาพเหตุการณ์ชุมนุมจาก The Isaan Record

.

อาจารย์ – อาสาสมัครรักษาความปลอดภัย มข. ยืนยัน เดินขบวน-ใช้เครื่องเสียงไม่เคยต้องขออนุญาต มีกิจกรรมอื่นจัดได้ในช่วงเดียวกัน ชี้มหาลัยเป็นพื้นที่เสรีภาพ 

รศ.ดร.พรอัมรินทร์ พรหมเกิด เบิกความเป็นพยานจำเลยว่า ตนเป็นอาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และเขียนตำราวิชา สังคมวิทยาการเมือง ที่ใช้อ้างอิงในวงวิชาการทั่วประเทศ เนื้อหาหลักเป็นเรื่องประชาธิปไตยซึ่งอ้างอิงมาจากตำราต่างประเทศ สิทธิเสรีภาพ ความเสมอภาค คุณค่าของมนุษย์ และส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน

ในฐานะที่พยานสอนเรื่องดังกล่าวจึงไปสังเกตการณ์ในวันเกิดเหตุด้วย โดยทราบว่า มีการจัดกิจกรรมจากการเห็นโพสต์ในเพจเฟซบุ๊ก ทั้งนี้ การใช้เสรีภาพการชุมนุมในโลกสากลเป็นเรื่องปกติ โดยเฉพาะในมหาวิทยาลัยเป็นพื้นที่เสรีภาพ หรือนอกมหาวิทยาลัยก็สามารถทำได้ เป็นการใช้เสรีภาพในการชุมนุมตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 44 

สถานที่ชุมนุมอยู่ที่ด้านหน้าคอมเพล็กซ์เป็นพื้นที่เปิดโล่ง ใครก็เข้าร่วมได้ นักศึกษาและผู้ชุมนุมสวมหน้ากากอนามัย ก่อนเกิดเหตุก็เคยใช้ชุมนุมมีคนเข้าร่วมเป็นจำนวนนับพันคน ช่วงเวลาใกล้เคียงกับเวลาเกิดเหตุมีกิจกรรมตามคณะ เป็นเรื่องเกี่ยวกับประชาธิปไตย ในมหาวิทยาลัยอื่นๆ ทั่วประเทศก็มีการจัดกิจกรรมเป็นเรื่องปกติเพื่อคัดค้านรัฐบาล

นอกจากกิจกรรมทางการเมืองมหาวิทยาลัยขอนแก่นก็มีกิจกรรมอื่น รวมทั้งกิจกรรมที่ใช้ถนน เช่น งานวิ่ง กีฬาสี งานศิลปวัฒนธรรม งานลอยกระทง การจัดกิจกรรมดังกล่าวไม่จำเป็นต้องขออนุญาต การใช้เครื่องเสียงก็ไม่ต้องขออนุญาตเพราะเป็นเรื่องเดียวกับการจัดกิจกรรม พยานมีประสบการณ์เป็นอาจารย์ที่ปรึกษามายาวนานก็ไม่เคยต้องขออนุญาตใช้เครื่องเสียง ทั้งงานเลี้ยงรุ่น ฉลองปริญญา 

พยานจำเลยอีกปาก คือ รัชชัย บุญลือ นักศึกษาอาสาสมัครงานรักษาความปลอดภัยและจราจร (TSI) มหาวิทยาลัยขอนแก่น เบิกความสอดคล้องกับ อ.พรอัมรินทร์ ว่า กิจกรรมพาน้องใหม่ไปไหว้เจ้าพ่อมอดินแดง และวิ่งมาราธอน ซึ่งมีการปิดกั้นถนนเช่นเดียวกับการชุมนุมในคดีนี้ก็สามารถทำได้ รวมทั้งกิจกรรมที่มีการใช้เครื่องขยายเสียง เช่น ซ้อมลีด ซ้อมกีฬา ก็ไม่ต้องขออนุญาตใช้เครื่องขยายเสียง

รัชชัยยืนยันด้วยว่า ตนทำหน้าที่เป็นอาสาสมัครประมาณ 3 ปี ไม่เคยเห็นตำรวจมาดูแลการจราจรในเขตมหาวิทยาลัยขอนแก่น ถ้ามีการทำผิดกฎจราจร รปภ.จะรายงานกองพัฒนานักศึกษาเพื่อหักคะแนนความประพฤติ  

ทั้งนี้ ในวันเกิดเหตุตนและเพื่อนอาสาสมัครได้มอบหมายจากหัวหน้างานรักษาความปลอดภัยฯ ให้ไปดูแลความเรียบร้อยและการจราจรบริเวณหน้าคอมเพล็กซ์ในช่วงเย็น เนื่องจากจะมีการรวมกลุ่มจัดกิจกรรม 

เมื่อผู้ชุมนุมเคลื่อนขบวน หัวหน้างานฯ ได้สั่งให้นักศึกษาอาสาสมัครดูแลขบวนไม่ให้มีการเฉี่ยวชน โดยขับมอเตอร์ไซค์ติดไซเรนและเดินเป็นแนวกั้นให้ผู้ชุมนุมอยู่ในเลนเดียว เพื่อให้การจราจรคล่องตัว ส่วนการปิดแยกต่างๆ และเปลี่ยนให้รถวิ่งในเส้นทางอื่น ดำเนินการโดย รปภ.มข.

.

X