ยกฟ้อง! 5 นักกิจกรรม-หมอลำ ไม่ผิด พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ศาลขอนแก่นชี้ เพียงร่วมปราศรัยไม่ถือเป็นผู้จัด – การชุมนุมเสี่ยงแพร่โรคน้อย 

19 ธ.ค. 2565 – หลังเลื่อนมาจากวันที่ 15 ธ.ค. 2565 เนื่องจาก “เพนกวิน” พริษฐ์ ชิวารักษ์ นักกิจกรรม 1 ในจำเลย ติดนัดในคดีอื่น วันนี้ (19 ธ.ค. 2565) ศาลแขวงขอนแก่นนัดอ่านคำพิพากษาในคดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ และ พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงฯ จากการที่นักศึกษา-นักกิจกรรม-หมอลำ รวม 5 ราย เข้าร่วมชุมนุม “อีสานบ่ย่านเด้อ” ที่สวนรัชดานุสรณ์ หน้าศาลากลางจังหวัดขอนแก่น เมื่อวันที่ 23 ก.ค. 2563 

หลังจำเลยทั้งห้ายืนยันให้การปฏิเสธและต่อสู้คดีมาเนิ่นนานกว่า 2 ปี ในที่สุด ศุภกร โกจารย์ศรี ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวน อ่านคำพิพากษายกฟ้อง ทำให้  “ไผ่” จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา, “อาร์ตยุ่น” ธนภณ เดิมทำรัมย์, “หมอลำแบงค์” ปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม, “เซฟ” วชิรวิทย์ เทศศรีเมือง และเพนกวิน จำเลยนักกิจกรรมทั้ง 5 ราย เดินทางออกจากศาลด้วยความดีใจ พร้อมกับหมดภาระทางคดีไป 1 คดี   

ก่อนหน้าเข้าห้องพิจารณา เพนกวินเอ่ยขึ้นอย่างทำใจว่า คดีแกนนำศาลพิพากษาลงโทษทั้งหมด เนื่องจากก่อนหน้านี้ ในคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการชุมนุม #Saveวันเฉลิม ที่สกายวอล์กปทุมวัน ศาลแขวงปทุมวันพิพากษาจำคุกเพนกวินและ “อั๋ว” จุฑาทิพย์ ศิริขันธ์ คนละ 2 เดือน ปรับคนละ 10,000 บาท โดยโทษจำคุกให้รอลงอาญา และชุมนุม #ม็อบมุ้งมิ้ง ที่หน้ากองทัพบก ศาลแขวงดุสิตพิพากษาให้ปรับเพนกวินและนักกิจกรรมอีก 4 คน คนละ 20,200 บาท แต่ลดโทษให้ 1/4 เหลือปรับคนละ 15,150 บาท ทั้งยังมีคดี พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ จากการชุมนุมหน้า สน.บางเขน ศาลแขวงดอนเมืองลงโทษจำคุกเพนกวินกับอีก 3 นักกิจกรรมคนละ 2 เดือน ปรับคนละ 11,300 บาท โทษจำคุกให้รอลงอาญา  

คำพิพากษายกฟ้องคดีนี้จึงเป็นคดีแรกของเพนกวินในท่ามกลางคดีจากการชุมนุมที่ถูกกล่าวหาว่า ฝ่าฝืน พ.ร.กฉุกเฉินฯ โดยไม่มีข้อหา 112 อีกกว่า 20 คดี เช่นเดียวกับไผ่ ซึ่งถือเป็นคดีจากการชุมนุมตั้งแต่ปี 63 คดีแรกของไผ่ที่มีคำพิพากษา 

คำพิพากษายกฟ้องมีใจความโดยสรุปใน 3 ประเด็น ดังนี้

.

พยานหลักฐานโจทก์ไม่อาจรับฟังว่า จำเลยร่วมกันจัดการชุมนุม จึงไม่มีหน้าที่จัดมาตรการ 

เมื่อพิเคราะห์พยานหลักฐานตามทางนำสืบของโจทก์ เห็นว่า ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ (ฉบับที่ 11) ข้อ 6 กำหนดให้เจ้าของ ผู้จัดการสถานที่ หรือผู้จัดให้มีกิจกรรมใด ๆ ทางธุรกิจการคมนาคม มหรสพ สนามกีฬา สถานบันเทิง สถานบริการ ที่สาธารณะ หรือแหล่งอื่น ๆ ซึ่งมีการรวมกลุ่มหรือร่วมกิจกรรมลักษณะที่เสี่ยงต่อการใกล้ชิด สัมผัสและแพร่เชื้อโรคโควิด-19 จัดให้มีมาตรการป้องกันโรคแก่ผู้ร่วมกิจกรรมนั้น ๆ เป็นการบังคับให้เฉพาะเจ้าของผู้จัดการสถานที่หรือผู้จัดให้มีกิจกรรมเป็นผู้มีหน้าที่ในการจัดมาตรการป้องกันโรค 

แต่เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏจากทางนำสืบของโจทก์เพียงว่า ก่อนเกิดเหตุมีการประกาศให้ประชาชนมาร่วมชุมนุมทางเพจเฟซบุ๊ก เช่น ขอนแก่นพอกันที, ดาวดิน สามัญชน โดยไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า จำเลยทั้งห้ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการประกาศเชิญชวนทางเพจดังกล่าวนั้นแต่อย่างใด แม้โจทก์จะนำสืบว่าจำเลยทั้งห้าร่วมปราศรัย แต่การที่บุคคลจะขึ้นปราศรัยก็อาจจะเนื่องจากเป็นบุคคลที่มีความสามารถหรือเป็นที่รู้จักของสาธารณะ ไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นผู้จัดให้มีการชุมนุมเท่านั้น ส่วนที่โจทก์นำสืบว่า จําเลยที่ 1 กับพวกร่วมกันปิดป้ายกระดาษ เตรียมไฟ และติดป้ายผ้า ก็หาใช่เป็นเรื่องผิดปกติวิสัยของผู้เข้าร่วมชุมนุมทั่วไปไม่ ข้อเท็จจริงดังกล่าวไม่ได้บ่งชี้ว่า จำเลยทั้งห้าเป็นผู้ร่วมกันจัดให้มีการชุมนุม 

.

แม้ไม่สวมแมสก์ขณะปราศรัย แต่เสี่ยงน้อย เหตุอยู่ห่างผู้ชุมนุม อีกทั้งประกาศขอนแก่นไม่เคร่งครัด ตำรวจ – สาธารณสุข ร่วมกิจกรรมโดยไม่สวมแมสก์เช่นกัน

ส่วนข้อที่ว่าจำเลยทั้งห้าฝ่าฝืนประกาศจังหวัดขอนแก่น ฉบับที่ 8 ที่กำหนดให้ประชาชนทุกคนสวมหน้ากากอนามัยทุกครั้งก่อนออกจากบ้าน เห็นว่าโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานว่า ขณะออกจากบ้านจำเลยทั้งห้าได้ฝ่าฝืนประกาศจังหวัดขอนแก่นดังกล่าวโดยการไม่สวมหน้ากากอนามัยหรือไม่ แม้มีภาพจำเลยขณะขึ้นปราศรัยบนเวทีที่ไม่สวมหน้ากากอนามัย แต่ พ.ต.ท.วิโรจน์ ตอบคำถามค้านของทนายจำเลยว่า ตามภาพถ่ายก่อนเกิดเหตุ ซึ่งเป็นภาพการประชุมของตํารวจที่มีผู้บังคับการตํารวจภูธรจังหวัดขอนแก่นเป็นประธาน โดยตํารวจที่ร่วมประชุมสวมหน้ากากอนามัยไว้ใต้คาง บางคนไม่ได้สวมหน้ากากอนามัย เนื่องจากในขณะประชุมบางครั้งต้องพูดใส่ไมค์ ทำให้ต้องถอดหน้ากากอนามัยเพื่อความสะดวก แต่ไม่แน่ใจว่าจะคล้ายคลึงกันกับขณะที่จําเลยทั้งห้าปราศรัยโดยใช้ไมค์หรือไม่ 

นอกจากนี้ นพ.สมชายโชติ ตอบคำถามทนายจำเลยเกี่ยวกับการจัดกิจกรรมของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดขอนแก่นซึ่งพยานเข้าร่วมกิจกรรมโดยไม่สวมหน้ากากอนามัยว่า เป็นการถ่ายภาพซึ่งใช้ระยะเวลาเพียงเล็กน้อย และในขณะที่ไม่สวมหน้ากากอนามัยนั้น มีข้อตกลงร่วมกันว่าจะต้องกลั้นลมหายใจ  เห็นได้ว่า การประชุมที่หน่วยงานดังกล่าวจัดขึ้นในช่วงเวลาใกล้เคียงกับขณะเกิดเหตุนั้นสามารถจัดขึ้นได้ ประกอบกับตามข้อกำหนด (ฉบับที่ 11) ข้อ 2 (2) กำหนดว่า สถานบริการ สถานประกอบการที่มีลักษณะคล้ายสถานบริการ ผับ บาร์ คาราโอเกะ ผ่อนผันให้เปิดดำเนินการได้ ซึ่งหากประชาชนไปใช้บริการในสถานที่ดังกล่าว และมีการรับประทานอาหารก็ต้องถอดหน้ากากอนามัยขณะรับประทานอาหาร เห็นได้ว่า ประกาศจังหวัดขอนแก่นไม่ได้เคร่งครัดถึงขนาดให้ประชาชนต้องสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา เพียงระมัดระวังให้มีการสวมหน้ากากอนามัยขณะออกจากบ้านและสามารถถอดได้ในบางขณะ 

นอกจากนี้ พ.ต.ท.วิโรจน์ ยังเบิกความตอบทนายจำเลยด้วยว่า ในช่วงระยะเวลาเกิดเหตุนั้น ประชาชนที่อาศัยอยู่ในจังหวัดขอนแก่นเวลาจะเดินทางออกจากบ้านพักอาศัยนั้นจะสวมใส่หน้ากากอนามัยอยู่แล้ว และในการสวมหน้ากากอนามัยนั้น บางครั้งเพื่อเป็นการคลายความอึดอัด อาจจะต้องเลื่อนหน้ากากอนามัยลงบ้าง หรือบางครั้งหน้ากากอนามัยอาจเลื่อนตกหล่นมาโดยไม่ตั้งใจก็เป็นได้ 

สวนรัชดานุสรณ์ที่เกิดเหตุเป็นคอนกรีตโล่งและมีต้นไม้ขึ้นบางส่วน อากาศถ่ายเทสะดวก เป็นสถานที่ที่ประชาชนทั่วไปมานั่งเล่น ออกกําลังกายในช่วงเย็น เวลากลางวันมีแสงแดดส่อง สามารถบรรจุคนได้เป็นจํานวนประมาณ 30,000 คน ซึ่งในวันเกิดเหตุมีผู้เข้าร่วมชุมนุมประมาณ 1,500-1,800 คน ไม่ถือว่าแออัด สอดคล้องกับภาพถ่ายของจำเลยทั้งห้าขณะร่วมกิจกรรมบนเวทีซึ่งมีการเว้นระยะห่างระหว่างกัน และทิ้งระยะห่างจากผู้ชุมนุม โดยสภาพทั่วไปมีความเสี่ยงต่อการแพร่โควิดน้อย ประกอบกับพศวัตตอบทนายจำเลยว่า ผู้เข้าร่วมชุมนุมในที่เกิดเหตุนั้นมีการนั่งและยืนกระจายไปตามส่วนต่าง ๆ ของสวนรัชดานุสรณ์ อีกทั้งจากทางนำสืบของโจทก์ไม่ปรากฏว่ามีจำเลยคนใดติดโควิดภายหลังการเข้าร่วมชุมนุม

พยานหลักฐานของโจทก์จึงไม่อาจรับฟังได้ว่าจำเลยทั้งห้าร่วมกันจัดให้มีกิจกรรมที่มีการรวมกลุ่มในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโควิด-19 โดยไม่จัดให้มีมาตรการป้องกันโรคแก่ผู้เข้าร่วมกิจกรรมตามที่กฎหมายกําหนด

.

จำเลยใช้ไมค์ปราศรัย แต่ไม่มีหลักฐานว่าเกี่ยวข้องกับการจัดเตรียมเครื่องเสียง 

ส่วนข้อที่ว่าจำเลยทั้งห้าร่วมกันโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต แม้ข้อเท็จจริงปรากฏว่าจำเลยทั้งห้าเป็นผู้ใช้ไมค์ในการกล่าวปราศรัยในวันเกิดเหตุ แต่หาได้ปรากฏว่าจำเลยทั้งห้ามีส่วนรู้เห็นหรือเกี่ยวข้องในการจัดหาหรือจัดเตรียมเครื่องเสียงดังกล่าว ประกอบกับพศวัต นิติกรชํานาญการพิเศษ สํานักงานเทศบาลนครขอนแก่น เบิกความตอบทนายจำเลยว่า พยานไม่ทราบว่าจะมีบุคคลอื่นซึ่งเจ้าของเครื่องขยายเสียงมอบหมายให้มาขออนุญาตใช้เครื่องขยายเสียงในที่ชุมนุมในวันเกิดเหตุหรือไม่ 

เมื่อเนื้อหาเกี่ยวกับการขออนุญาตใช้เครื่องขยายเสียงมีลักษณะเป็นการบัญญัติให้ผู้ที่ประสงค์จะทำการโฆษณาโดยการใช้เครื่องขยายเสียงในครั้งนั้นเป็นผู้ดำเนินการขออนุญาต ซึ่งเมื่อได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานแล้ว บุคคลอื่นใดย่อมสามารถใช้เครื่องขยายเสียงในครั้งนั้นได้โดยไม่จำเป็นต้องขออนุญาตเป็นรายบุคคลอีก ดังนั้น การที่บุคคลใดซึ่งเป็นเพียงผู้ใช้เครื่องขยายเสียงหากมิได้มีส่วนรู้เห็นเกี่ยวข้องกับการจัดหาและนำเครื่องขยายเสียงมาใช้ในวันดังกล่าวด้วยแล้ว ย่อมไม่มีความผิดเกี่ยวกับการใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต 

พยานหลักฐานโจทก์ตามที่นำสืบมาในส่วนนี้จึงยังไม่มีน้ำหนักเพียงพอให้รับฟังได้ว่าจำเลยทั้งห้ากระทำความผิดฐานร่วมกันโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาตตามที่โจทก์ฟ้อง 

กรณีจึงไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยพยานหลักฐานของฝ่ายจำเลยทั้งห้าต่อไป พิพากษายกฟ้อง.

อ่านประมวลคดีและบันทึกสืบพยาน 

5 นักกิจกรรม-หมอลำ รวม “ไผ่-เพนกวิน” ยืนยันไม่ใช่ผู้จัดชุมนุม #อีสานบ่ย่านเด้อ ปี 63 ทั้งผู้ชุมนุมสวมแมสก์-ไม่มีผู้ติดโควิด-ใช้สิทธิเรียกร้องรัฐบาล

อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง

รู้จักอาร์ตยุ่น: วันวานนักเรียนรางวัลพระราชทาน วันนี้พิธีกรม็อบ ต้องคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

X