คดี #ม็อบมุ้งมิ้ง ศาลลงโทษปรับ 5 นักกิจกรรม คนละ 20,200 บาท ระบุไม่มีการจัดมาตรการป้องกันโรคอย่างเพียงพอ

17 ต.ค. 2565 ศาลแขวงดุสิตนัดคำฟังคำพิพากษาในคดี #ม็อบมุ้งมิ้ง ชุมนุมปราศรัยหน้ากองทัพบก เมื่อวันที่ 20 ก.ค. 2563 ซึ่งมีนักกิจกรรม 5 ราย ได้แก่ อานนท์ นำภา, ‘ไมค์’ ภาณุพงศ์ จาดนอก, ‘เพนกวิน’ พริษฐ์ ชิวารักษ์, สุวรรณา ตาลเหล็ก และ ‘โตโต้’ ปิยรัฐ จงเทพ ถูกฟ้องในข้อหาตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, กีดขวางทางสาธารณะ, กีดขวางการจราจร และใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต 

>> ประมวลคดี “ม็อบมุ้งมิ้ง” ปราศรัยหน้ากองทัพบก ก่อนฟังคำพิพากษา 17 ต.ค. 65 

ช่วงเช้าวันนี้ที่ห้องพิจารณาคดี 501 มีคดีความที่ศาลต้องพิจารณาจำนวนมากถึง 14 คดี ทำให้การอ่านคำพิพากษาต้องล้าช้าออกไป โดยศาลได้เริ่มอ่านคำพิพากษาในเวลา 11.40 น.

เนื้อหาคำพิพากษาโดยสรุประบุว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า อานนท์ นำภา (จำเลยที่ 1) ได้โพสต์เฟซบุ๊กนัดหมายชุมนุมบริเวณหน้ากองทัพบก เมื่อวันที่ 20 ก.ค. 2563 โดยมีจำเลยอีก 4 คนและผู้ร่วมการชุมนุมอีกราว 40 คน ตั้งเวทีและลำโพงเครื่องขยายเสียงขนาดเล็กบนพื้นผิวถนน

โจทก์มีเจ้าหน้าที่ตำรวจฝ่ายต่างๆ จาก สน.นางเลิ้ง จำนวน 8 ปาก เบิกความว่าเหตุที่มีการนัดชุมนุมเนื่องจากผู้ชุมนุมเกิดความไม่พอใจต่อ พ.อ.หญิง นุสรา วรภัทราทร อดีตรองโฆษกกองทัพบก ที่ให้สัมภาษณ์ระบุว่า การชุมนุม “เยาวชนปลดแอก” เมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2563 นั้น เป็น “ม็อบมุ้งมิ้ง”

ในวันดังกล่าวมีตำรวจจาก สน.นางเลิ้ง ประมาณ 20 นาย ทั้งในและนอกเครื่องแบบไปสังเกตการณ์  โดยผู้ชุมนุมเริ่มเข้ามาในพื้นที่เวลาประมาณ 15.30 น. พ.ต.ท.ธนเดช ทีนาคะ ได้ประกาศข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และประกาศให้เลิกการชุมนุม แต่ผู้ชุมนุมไม่ได้เลิกการชุมนุม 

สุวรรณา ตาลเหล็ก (จำเลยที่ 5) เป็นผู้ดำเนินรายการ ซึ่งได้ใช้เครื่องขยายเสียงวางบนพื้นผิวถนนราชดำเนินนอก ทำให้รถสัญจรไม่ได้ การชุมนุมไม่มีเหตุกระทบกระทั่ง และผู้ชุมนุมเลิกชุมนุมไปเองในเวลาประมาณ 19.30 น. 

โจทก์ยังมี ส.ท.สุริยา เพ็งพิน สารวัตรทหาร เบิกความว่า ผู้ชุมนุมราว 40 คน ทยอยเดินทางมาบริเวณประตูทางเข้าหน้ากองทัพบก ทำให้ผู้บังคับบัญชาต้องปิดประตูทางเข้าและผู้ที่ทำงานในกองทัพบกต้องใช้ประตูทางออก 3 เพื่อการเข้าออก นอกจากเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ปิดทางคู่ขนานทำให้รถสัญจรไม่ได้

พัชรมล วัฒนสุข ฝ่ายสิ่งแวดล้อมและสุขาภิบาล เขตพระนคร ได้เบิกความว่า ขณะเกิดเหตุมีคำสั่งให้ปิดสถานที่ต่างๆ เป็นการชั่วคราว โดยเป็นการอาศัยอำนาจจาก พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ และ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มีการกำหนดข้อปฏิบัติโดยศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ให้ประชาชนเว้นระยะห่าง ล้างมือ และสวมหน้ากากอนามัย พนักงานสอบสวนได้สอบถามมายังสำนักงานเขตว่าการชุมนุมดังกล่าวเป็นการชุมนุมมั่วสุมและเสี่ยงต่อการแพร่โรคหรือไม่ โดยหลังจากดูภาพเคลื่อนไหวและภาพนิ่งของการชุมนุม พบว่าสถานที่ชุมนุมแออัด จำเลยไม่ได้จัดให้มีมาตรการป้องกันโรคติดต่ออย่างครบถ้วน การที่ผู้ชุมนุมสวมหน้ากากอนามัย ก็เป็นเพียงมาตรการป้องกันส่วนหนึ่งเท่านั้น 

ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า แม้บริเวณหน้ากองทัพบกจะเป็นพื้นที่เปิดโล่ง แต่การชุมนุมไม่ได้เว้นระยะห่าง ไม่มีการคัดกรอง ไม่มีการจัดให้มีการล้างมือ ผู้ขึ้นปราศรัยไม่ได้สวมหน้ากากอนามัย พิจารณาจากคำปราศรัยยังเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกทางการเมือง เป็นสิทธิที่ย่อมทำได้ แต่หากกระทำผิดข้อกฎหมายอื่นที่กระทบต่อประชาชนทั่วไป ย่อมหลีกเลี่ยงที่จะรับผิดไม่ได้

การที่จำเลยต่อสู้ว่าในเดือนกรกฎาคม 2563 ซึ่งมีการจัดการชุมนุม ไม่ปรากฎยอดผู้ติดเชื้อในประเทศไทย ไม่ได้เป็นเหตุที่จะได้รับการละเว้นจากแนวปฎิบัติข้างต้น สำหรับมาตรการการผ่อนคลายของกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ที่อนุญาตให้มีการจัดแสดงคอนเสิร์ต หรือ เปิดสถานบริการอาบอบนวดในช่วงเวลาดังกล่าว ก็ยังมีการควบคุม กำหนดมาตรการ ให้ผู้ประกอบการจัดให้มีการตรวจวัดอุณหภูมิคัดกรองผู้ใช้บริการ จัดให้มีการเว้นระยะห่าง ล้างมือ และสวมหน้ากากอนามัย เป็นสำคัญ

คำเบิกความของพยานโจทก์รับฟังได้เพียงพอ โดยจำเลยไม่ได้นำสืบอย่างชัดเจนว่าไม่เกี่ยวข้องกับการจัดวางเวทีบนพื้นผิวถนนซึ่งกีดขวางทางจราจร  

เห็นว่าจำเลยทั้ง 5 คน มีความผิดฐานฝ่าฝืนประกาศและข้อกำหนดที่ออกตามมาตรา 9 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, กีดขวางทางสาธารณะ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 385, กีดขวางจราจร ตาม พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ มาตรา 114 และ ร่วมกันโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงด้วยกำลังไฟฟ้าโดยไม่ได้รับอนุญาต ตาม พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาฯ มาตรา 4 เนื่องจากจำเลยไม่ได้มีการขออนุญาตจากสำนักงานเขตพระนคร

อาศัยความตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 การกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ใช้กฎหมายบทที่มีอัตราโทษหนักที่สุดลงโทษแก่ผู้กระทำความผิด ปรับจำเลยคนละ 20,000 บาท และปรับข้อหาใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาตคนละ 200 บาท รวมปรับคนละ 20,200 บาท เนื่องจากจำเลยให้การเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา จึงลดโทษให้ 1 ใน 4 คงเหลือโทษปรับคนละ 15,150 บาท

หลังอ่านคำพิพากษา จำเลยทั้ง 5 ได้ชำระค่าปรับตามคำพิพากษา รวมกันเป็นเงินทั้งหมด 75,750 บาท โดยได้รับความช่วยเหลือจากกองทุนราษฎรประสงค์ เบื้องต้นจะมีการอุทธรณ์คำพิพากษานี้ต่อไป

สำหรับคดี #ม็อบมุ้งมิ้ง จัดขึ้นเพื่อตอบโต้คำปรามาสของ พ.อ.หญิง นุสรา วรภัทราทร อดีตรองโฆษกกองทัพบก ที่ให้สัมภาษณ์ระบุว่า การชุมนุม “เยาวชนปลดแอก” เมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2563 เป็น “ม็อบมุ้งมิ้ง” พร้อมทั้งตั้งคำถามกับการจัดสรรงบประมาณของกองทัพบก หลังมีข่าวว่ากองทัพบกอนุมัติจัดซื้ออาวุธและเครื่องบิน VIP เป็นราคา 1,348 ล้าน ในเวที มีสุวรรณาเป็นพิธีกรดำเนินรายการ ส่วนอานนท์, พริษฐ์, ปิยรัฐ, และภาณุพงศ์ เป็นผู้ร่วมขึ้นปราศรัย

จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน คดีนี้นับเป็นคดีที่ 9 ที่เป็นคดีจากชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ปี 2563 ซึ่งถูกกล่าวหาในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ รวมทั้งมีการต่อสู้คดีในชั้นศาล แล้วศาลชั้นต้นพิพากษาไปแนวว่าเป็นความผิด ขณะที่แนวคำพิพากษาส่วนใหญ่นั้น ศาลวินิจฉัยยกฟ้องไปแล้วไม่น้อยกว่า 31 คดี (ดูสถิติคดีที่ศาลยกฟ้อง)

X