ระหว่างวันที่ 18-20 พ.ค., 15-17, 22, 24 มิ.ย. 2565 ศาลแขวงดุสิตนัดสืบพยานคดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากเหตุ “ม็อบมุ้งมิ้ง” ชุมนุมปราศรัยหน้ากองทัพบก เมื่อวันที่ 20 ก.ค. 2563 ซึ่งมีนักกิจกรรมตกเป็นจำเลยรวม 5 คน ประกอบด้วย อานนท์ นำภา, ‘ไมค์’ ภาณุพงศ์ จาดนอก, ‘เพนกวิน’ พริษฐ์ ชิวารักษ์, สุวรรณา ตาลเหล็ก และ ‘โตโต้’ ปิยรัฐ จงเทพ
.
การชุมนุมปราศรัยหน้ากองทัพบกนี้จัดขึ้นเพื่อตอบโต้คำปรามาสของ พ.อ.หญิง นุสรา วรภัทราทร อดีตรองโฆษกกองทัพบกว่า การชุมนุม “เยาวชนปลดแอก” เมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2563 เป็น “ม็อบมุ้งมิ้ง” พร้อมทั้งตั้งคำถามกับการจัดสรรงบประมาณของกองทัพบก หลังมีข่าวว่ากองทัพบกอนุมัติจัดซื้ออาวุธและเครื่องบิน VIP เป็นราคา 1,348 ล้าน ในวันนั้นสุวรรณาเป็นพิธีกรดำเนินรายการ ส่วนอานนท์, พริษฐ์, ปิยรัฐ, และภาณุพงศ์เป็นผู้ปราศรัย ภายหลังการชุมนุมทั้ง 5 คนถูก ตำรวจ สน.นางเลิ้ง ดำเนินคดี โดยได้ทยอยเดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหา เมื่อวันที่ 25 ส.ค. และ 2 ก.ย. 2563
นักกิจกรรมทั้ง 5 คน ถูกพนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีศาลแขวง 3 ดุสิต ยื่นฟ้องต่อศาลแขวงดุสิตเมื่อวันที่ 8 ก.ค. 2564 ใน 4 ข้อหา ได้แก่
1. ร่วมกันเป็นผู้จัดให้มีการชุมนุม จัดกิจกรรม หรือมั่วสุม ณ ที่ใดๆ ในสถานที่แออัดในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่ของเชื้อโรค ฝ่าฝืนประกาศและข้อกำหนดที่ออกตามมาตรา 9 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ
2. ร่วมกันเป็นผู้จัดให้มีการชุมนุมกีดขวางทางสาธารณะ จนอาจเป็นอุปสรรคต่อความปลอดภัยหรือความสะดวกในการจราจร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 385
3. วาง ตั้ง ยื่น หรือแขวนสิ่งใดสิ่งหนึ่ง หรือกระทำประการใดๆ ในลักษณะเป็นการกีดขวางจราจร ตาม พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ มาตรา 114
4. ร่วมกันโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงด้วยกำลังไฟฟ้าโดยไม่ได้รับอนุญาต ตาม พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาฯ มาตรา 4
คดีนี้มีการสืบพยานโจทก์ 15 ปาก ประกอบด้วย ผู้กล่าวหา, ชุดสืบสวน, รองผู้กำกับการจราจร สน.นางเลิ้ง, ตำรวจผู้ถอดเทปคำปราศรัย, พนักงานสอบสวน, เจ้าหน้าที่สาธารณสุข และทหารซึ่งปฏิบัติหน้าที่รักษาความปลอดภัยในวันเกิดเหตุ ด้านจำเลยมีพยานเข้าเบิกความเพียง 1 ปาก คือ อานนท์ นำภา จำเลยที่ 1
ระหว่างการสืบพยาน ทนายจำเลยได้รับข้อเท็จจริงตามคำให้การชั้นสอบสวนของพยานตำรวจที่ถอดเทปการปราศรัยจำนวน 5 ปาก ทำให้พยานโจทก์ทั้ง 5 ปากนี้ไม่ต้องเข้าเบิกความต่อศาล อย่างไรก็ตาม รายละเอียดของคำปราศรัยดังกล่าวไม่ได้ถูกระบุมาในพฤติการณ์คดีตามฟ้องของอัยการโจทก์หรือเป็นประเด็นในคดีนี้แต่อย่างใด
คำเบิกความของพยานโจทก์มีประเด็นสำคัญโดยสรุปดังนี้
.
ชุมนุมปราศรัยเหตุไม่พอใจ “อดีตรองโฆษกกองทัพบก” ที่ชุมนุมโล่งกว้าง ไม่มีเหตุวุ่นวาย
พยานปาก พ.ต.ท.สมศักดิ์ ใหม่บุญมี รองผู้กำกับการสืบสวน สน.นางเลิ้ง ผู้กล่าวหา, พ.ต.ท.ธนเดช ทีนาคะ รองผู้กำกับการปราบปราม สน.นางเลิ้ง, พ.ต.ท.ภูวดล อุ่นโพธิ รองผู้กำกับการจราจร สน.นางเลิ้ง, พ.ต.อ.ประสบโชค เอี่ยมพินิจ ผู้กำกับ สน.นางเลิ้ง, พ.ต.ท.บุญโปรด แสงทับทิม, ด.ต.พจน์ และ ร.ต.อ.อุทัย สารวัตรสืบสวน สน.นางเลิ้ง รวมถึง พ.ต.อ.อาทิตย์ พนักงานสอบสวน เบิกความถึงเหตุการณ์การชุมนุมตรงกันว่า เมื่อวันที่ 20 ก.ค. 2563 มีการชุมนุมบริเวณหน้าป้ายที่ทำการกองทัพบก ถนนราชดำเนินนอก โดยเหตุที่มาร่วมชุมนุมกันเกิดจากความไม่พอใจ พ.อ.หญิง นุสรา วรภัทราทร อดีตรองโฆษกกองทัพบกว่า การชุมนุม “เยาวชนปลดแอก” เมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2563 เป็น “ม็อบมุ้งมิ้ง”
พ.ต.อ.ประสบโชค เอี่ยมพินิจ ขณะเกิดเหตุดำรงตำแหน่ง ผู้กำกับ สน.นางเลิ้ง เบิกความว่า วันดังกล่าวมีการประกาศจากผู้ดูแลรับผิดชอบพื้นที่การชุมนุม โดยรองผู้กำกับ สน.นางเลิ้ง ให้ผู้ชุมนุมยุติการชุมนุมเนื่องจากการรวมตัวชุมนุมอาจเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนกฎหมายได้ และขณะนั้นมีการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ โดยมีข้อกำหนดห้ามชุมนุมหรือรวมตัวทำกิจกรรม แต่ผู้ชุมนุมไม่ได้เลิกชุมนุมตามที่ตำรวจประกาศแจ้งเตือน นอกจากนี้ พ.ต.อ.อาทิตย์ พนักงานสอบสวน ยังได้เบิกความว่า ตนได้ตรวจสอบไปที่สำนักงานเขตพระนครแล้วพบว่า ผู้ชุมนุมไม่ได้ขออนุญาตใช้เครื่องขยายเสียง
ผู้ชุมนุมตั้งเวทีโดยหันหน้าออกมาทางถนนและมีการนำเครื่องเสียงที่เคลื่อนย้ายได้มา มีมวลชนนั่งและยืนบริเวณเกาะกลางถนนและบนถนน โดยมีผู้เข้าร่วมชุมนุมประมาณ 40 คน พื้นที่ชุมนุมบริเวณนั้นเป็นพื้นที่โล่ง อากาศถ่ายเทสะดวก มวลชนบางส่วนสวมหน้ากาก จำเลยทั้งห้าสลับกันขึ้นปราศรัย การชุมนุมเริ่มในเวลา 17.00 น. และเลิกเวลา 19.00 น. ตามที่กำหนดไว้ ไม่มีเหตุวุ่นวาย
.
รถยังคงสัญจรได้สะดวกแม้มีการชุมนุม
พ.ต.อ.ประสบโชค เบิกความว่า เมื่อตนไปถึงที่ชุมนุมพบว่ามีการตั้งเวทีบนถนนราชดำเนินนอก และประชาชนบางส่วนอยู่บนเกาะกลางถนน ตนเข้าเจรจากับอานนท์ให้ผู้ชุมนุมหลีกทางให้ใช้รถได้ 1 ช่องทางจราจรคู่ขนาน ซึ่งได้รับความร่วมมือเปิดเส้นทาง นอกจากนั้นตนได้ใช้กำลังตำรวจวางแนวเพื่อเปิดช่องทางจราจรด้วย ขณะที่ พ.ต.ท.ภูวดล รองผู้กำกับการจราจร สน.นางเลิ้ง ตอบทนายจำเลย สอดคล้องกับคำเบิกความของ พ.ต.ท.บุญโปรด ชุดสืบสวน ว่า ในวันดังกล่าว ตำรวจเป็นผู้จัดระเบียบโดยการนำแผงกั้นมากั้น 1 ช่องทางจราจร และกั้นประตูทางเข้ากองทัพบก ทั้งยังมีตำรวจคอยโบกให้รถสัญจรผ่านโดยเลี้ยวขวาออกไปได้ โดยผู้ชุมนุมให้ความร่วมมือ และไม่มีการปิดถนนราชดำเนินซึ่งเป็นทางหลัก
.
.
การชุมนุมไม่มีมาตรการป้องกันโควิด แต่ขณะเกิดเหตุไม่มีการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด
พยานปากผู้กล่าวหา และพยานตำรวจอีก 4 ปาก รวมทั้ง ส.ท.สุริยา เพ็งพิน สารวัตรทหาร ซึ่งเห็นเหตุการณ์การชุมนุมต่างก็เบิกความว่า โดยรวมผู้ชุมนุมไม่ได้มีมาตรการป้องกันการระบาด แม้มีการสวมหน้ากากอนามัยบ้าง
พัชรมล วัฒนสุข ฝ่ายสิ่งแวดล้อมและสุขาภิบาล เขตพระนครได้เบิกความว่า ขณะเกิดเหตุมีคำสั่งให้ปิดสถานที่ต่างๆ เป็นการชั่วคราว โดยเป็นการอาศัยอำนาจจาก พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ และ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มีการกำหนดข้อปฏิบัติโดยศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ให้ประชาชนเว้นระยะห่าง ล้างมือ และสวมหน้ากากอนามัย ทั้งนี้ ในวันเกิดเหตุหน่วยงานของตนไม่ได้ลงพื้นที่ แต่พนักงานสอบสวนให้ดูภาพเคลื่อนไหวและภาพนิ่ง พบว่าสถานที่ชุมนุมแออัด จำเลยไม่ได้จัดให้มีมาตรการป้องกันโรคติดต่อ การที่ผู้ชุมนุมสวมหน้ากากอนามัย ก็เป็นเพียงมาตรการป้องกันส่วนหนึ่งเท่านั้น
ต่อมา พัชรมลตอบคำถามค้านของทนายจำเลยถึงคำนิยามของคำว่า “แออัด” ว่าหมายถึง สภาวะที่ต้องเว้นระยะห่างไม่ได้ แต่จากภาพถ่ายวันเกิดเหตุ ผู้ชุมนุมสามารถเดินไปมาได้ และรับว่าช่วงเดือน มิ.ย. 2563 มีการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด โดยเปิดให้สามารถประชุม สัมมนา แสดงดนตรี และแสดงสินค้า รวมถึงเปิดห้างสรรพสินค้าและอาบอบนวดได้
เจ้าหน้าที่เขตฝ่ายสิ่งแวดล้อมฯ ยังรับกับทนายจำเลยว่า ตนไม่ได้ส่งรายงานตรวจสอบเกี่ยวกับผู้ติดเชื้อจากการชุมนุมดังกล่าว และข้อมูลจากเว็บไซต์ของ ศบค.ที่ทนายจำเลยเปิดให้ดู ปรากฏว่าไม่มีผู้ติดเชื้อโควิดช่วงเดือน ก.ค.- ส.ค. 2563 โดย พ.ต.ท.สมศักดิ์ ผู้กล่าวหา ก็รับเช่นกันว่า ช่วงเกิดเหตุไม่มีผู้ติดเชื้อโควิดในประเทศ
ด้าน พ.ต.ท.ธนเดช รองผู้กำกับการปราบปราม สน.นางเลิ้ง เบิกความตอบทนายจำเลยว่า โพสต์เชิญชวนชุมนุมในเฟซบุ๊กของอานนท์ นำภา มีข้อความแจ้งให้ผู้มาร่วมชุมนุมสวมหน้ากากอนามัยด้วย และรับว่าคำว่า “มั่วสุม” มีความหมายตามที่ปรากฏในพจนานุกรมว่า ชุมนุมกันกระทำในทางไม่ดี เช่น มั่วสุมกันเล่นพนัน
.
.
คำเบิกความอานนท์: ขณะจัดกิจกรรมไม่มีผู้ติดเชื้อในไทย – ประกาศตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ออกเกินกว่าอำนาจที่กฎหมายกำหนด
ในส่วนของพยานจำเลยนั้น อานนท์ได้ยื่นคำให้การเป็นเอกสารต่อศาล มีเนื้อหาดังนี้
เมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2563 ได้มีการชุมนุมของนิสิต นักศึกษา และประชาชนจำนวนมาก บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย โดยมีข้อเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออกและให้มีการร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่เพื่อให้เป็นประชาธิปไตย
ต่อมาวันที่ 19 ก.ค. 2563 พ.อ.หญิง นุสรา วรภัทราทร รองโฆษกกองทัพบกได้โพสต์แสดงความเห็นทางเฟซบุ๊ก มีลักษณะเป็นการด้อยค่า เหยียดหยามการชุมนุมของเยาวชนคนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะข้อความที่ระบุว่า
“…3.ต้องเลิกคุกคามประชาชน เอิ่มม น้องคะ ถ้าประชาชนไม่ทำผิดกฎหมาย ใครหน้าไหนก็ทำอะไรไม่ได้นะคะ ยุคนี้ขนาดบางคน โกหก ปั้นข่าวปลอม ด่าตั้งแต่เจ้าลงมา ยังใช้มาตรการเบาไปหาหนักอยู่เลย นี่จนเริ่มลำไยเจ้าหน้าที่แล้วเหมือนกัน เจอพวกโพสต์หมิ่นทุกวัน แต่อย่างว่านะ ส่วนใหญ่เป็นอวทาร์ หรือคนไหนถูกจับได้ก็มักจะลงเอยด้วย รู้เท่าไม่ถึงการณ์ มีประวัติป่วยทางจิต ฯลฯ
ม็อบเสื้อเหลือง >> ตำรวจสลายการชุมนุม
ม็อบเสื้อแดง >> ทหารสลายการชุมนุม
ม็อบมุ้งมิ้งของน้องๆ เนี่ย ตีกันเอง ระแวงกันเอง จนสลายการชุมนุม
วิธีคิดของพวกที่อยู่เบื้องหลังของม็อบน้อง ก็แค่ต้องการให้มีเคสบูชายัญเท่านั้นแหละ จะได้มีเหตุออกมาเรียกร้องต่อ…” นั้น เป็นข้อความยั่วยุให้มีการสลายการชุมนุม
การโพสต์ข้อความดังกล่าวของ พ.อ.หญิง นุสรา เป็นการแสดงออกถึงการไม่เห็นด้วยต่อการแสดงออกทางการเมือง อันเป็นการด้อยค่าและเหยียดหยามการชุมนุมของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ ประชาชนจึงได้นัดชุมนุมเพื่ออภิปรายแสดงความคิดเห็นต่อรองโฆษกกองทัพบกและกองทัพไทยในวันเกิดเหตุ โดยในวันดังกล่าวได้มีการแจ้งถึงสถานที่ในการอภิปราย หัวข้อ เวลาเริ่มต้นและเวลาเลิกการอภิปราย รวมทั้งได้ขอให้ผู้เข้าร่วมรับฟังปฏิบัติตามกฎหมายและมาตรการป้องกันโรคแล้ว
พยานเดินทางไปถึงที่เกิดเหตุเวลาประมาณ 17.00 น. มีนักศึกษาและประชาชนอยู่ในบริเวณที่เกิดเหตุก่อนแล้ว โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.นางเลิ้ง ได้เข้ามาอำนวยความสะดวก จัดระเบียบการจราจร และได้นำแผงกั้นเหล็กมาวางเพื่อกำหนดพื้นที่สำหรับการอภิปราย โดยมีนักศึกษาเข้าไปจัดเตรียมสถานที่ มีการวางลำโพงและติดตั้งเวทีไว้หลังแนวกั้นเหล็กของตำรวจ โดยประสานกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจและผู้จัดกิจกรรมได้ให้ความร่วมมือกันเป็นอย่างดี
จากนั้นได้มีการผลัดเปลี่ยนกันอภิปรายประมาณ 4 คน และยุติกิจกรรมเวลาประมาณ 20.00 น. ตลอดการชุมนุมไม่มีการกระทำหรือถ้อยคำปราศรัยที่ผิดกฎหมาย ไม่มีการยั่วยุให้ก่อความไม่สงบ ผู้ร่วมกิจกรรมก็ล้วนชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ อันเป็นการใช้เสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR)
ระหว่างการทำกิจกรรมผู้ร่วมชุมนุมทุกคนต่างสวมหน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันโรค และพยายามรักษาระยะห่าง รวมทั้งได้ใช้แอลกอฮอล์ที่พกพามาล้างมือเป็นระยะ
ทั้งนี้ บริเวณที่จัดกิจกรรมเป็นที่โล่งกว้าง อากาศถ่ายเท ไม่แออัด ประกอบกับในช่วงเวลาเกิดเหตุในประเทศไทยไม่มีผู้ติดเชื้อโควิคแม้แต่คนเดียว การปฏิบัติตัวของผู้ร่วมกิจกรรมจึงเป็นการป้องกันตนตามสมควรแก่สถานการณ์และเพียงพอต่อการป้องกันแล้ว อีกทั้งไม่ปรากฏว่ามีผู้ใดติดเชื้อจากการร่วมกิจกรรมในวันดังกล่าว ซึ่งในคดีที่มีข้อเท็จจริงใกล้เคียงกัน ศาลแขวงนครราชสีมา ศาลแขวงอุดรธานี ศาลแขวงลพบุรี และศาลจังหวัดพะเยาได้เคยมีคำพิพากษายกฟ้องไปแล้ว
นอกจากนี้ การออกประกาศหัวหน้าผู้รับชอบแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงเป็นการออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ออกเกินกว่าอำนาจที่กฎหมายกำหนด ทั้งนี้ในปัญหาข้อกฎหมายนี้ ศาลแขวงลพบุรีและศาลจังหวัดพะเยาได้วินิจฉัยไว้โดยละเอียดแล้ว
ในการตอบคำถามค้านของอัยการ อานนท์เบิกความว่า ในวันเกิดเหตุไม่ได้มีการยื่นหนังสือถึง พ.อ.หญิง นุสรา ขณะที่ตนเดินทางมาถึงกองทัพบกพบว่ามีตำรวจวางกำลังไว้อยู่ก่อนแล้ว ทั้งนี้ ตนทราบดีว่า ขณะนั้นมีการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ซึ่งตนและผู้ชุมนุมก็ได้ป้องกันโรคโดยการสวมหน้ากากอนามัย อย่างไรก็ตาม สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดในประเทศไทยช่วงเวลานั้นยังมีจำนวนผู้ติดเชื้อเป็นศูนย์
อานนท์ยังตอบอัยการเกี่ยวกับพื้นที่เวทีที่ใช้ปราศรัยว่า มีพื้นที่จำกัด ขึ้นไปปราศรัยได้เพียงครั้งละ 1 คน และมีเพียงจำเลย 5 คนตามฟ้องที่ขึ้นไปพูดบนเวที การปราศรัยกระทำผ่านลำโพงแบบชาร์จไฟด้วยแบตเตอรี่ เสียงดังกว่าโทรโข่ง แต่พูดได้ยินในระยะ 20-30 เมตรเท่านั้น โดยตนไม่ได้เป็นผู้ขออนุญาตใช้เครื่องขยายเสียงดังกล่าว
เกี่ยวกับคำพิพากษาคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ของศาลแขวงลพบุรี ศาลแขวงโคราช ศาลแขวงอุดรธานี และศาลจังหวัดพะเยา ที่ตนได้อ้างส่งศาลนั้น อานนท์ตอบอัยการว่า พฤติการณ์ในคดีเหล่านั้นเกิดขึ้นต่างเวลาและสถานที่กับคดีนี้ โดยคดีที่มีคำพิพากษายกฟ้องในกรุงเทพฯ และที่ศาลแขวงดุสิตก็มีเช่นกัน แต่ตนไม่ได้อ้างส่งมาในคดีนี้
.
หลังเสร็จการสืบพยานจำเลยในวันที่ 24 มิ.ย. 2565 ศาลได้นัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 17 ต.ค. 2565 เวลา 10.00 น.
ทั้งนี้ คดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ทั้งจากการชุมนุมซึ่งมีผู้ร่วมชุมนุมจำนวนมาก และจากคาร์ม็อบในจังหวัดต่างๆ ศาลได้มีคำพิพากษายกฟ้องไปแล้วอย่างน้อย 31 คดี
>> สถิติคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่ศาลยกฟ้อง-อัยการสั่งไม่ฟ้อง
.